ผ้ายกเมืองนคร : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรมอันลำ้ค่าของ “ชาวนคร”

ผ้ายกเมืองนคร : มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรมอันลำ้ค่าของ “ชาวนคร”

ผ้ายกเมืองนคร

ประวัติของผ้ายกเมืองนคร

ผ้าทอพื้นเมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราชที่ทอสืบต่อกันมาแต่โบราณ คือ ผ้ายกเมืองนคร เป็นผ้าที่ได้รับการยกย่องมาแต่โบราณว่า สวยงามแบบอย่างผ้าชั้นดี สันนิษฐานว่า มีการสืบทอดภูมิปัญญาการทอผ้ามาตั้งแต่ในสมัยอาณาจักรตามพรลิงค์หรือตัมพะลิงค์ ซึ่งเป็นอาณาจักรโบราณที่มีมาตั้งแต่ก่อนสมัยพุทธศตวรรษที่ 7 และมีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราชในปัจจุบัน เป็นเมืองท่าศูนย์กลางการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม จึงมีการแลกเปลี่ยนรับเอาศิลปวัฒนธรรมจากจีน อินเดีย และอาหรับ ซึ่งชาติต่างๆ เหล่านี้ได้นำเอาวิชาการทอผ้ามาถ่ายทอดไว้ ซึ่งทำให้ชาวพื้นเมืองรู้จักการทอผ้าทั้งผืนเรียบและผ้ายกดอก ส่วนการทอผ้ายกที่มีลวดลวดลาย สีสันวิจิตรงดงาม คงเพิ่งจะเริ่มทำกันในสมัยอยุธยาตอนปลาย หรือรัตนโกสินทร์ตอนต้น กล่าวกันว่า ชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้แบบอย่างการทอผ้ามาจากแขกเมืองไทรบุรี โดยในปี พ.ศ. 2354 เมื่อครั้งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ยกกองทัพไปปราบกบฏ ขากลับได้กวาดต้อนครอบครัวเชลย ได้นำช่างทอผ้ายกมา ด้วยเหตุนี้เองจึงเกิดการผสมผสานทางวัฒนธรรมกับความรู้ดั้งเดิมโดยใช้กรรมวิธีการทอที่สลับซับซ้อนด้วยความพิถีพิถัน ประกอบกับวัสดุที่นำมาทอเป็นสิ่งที่สูงค่า มีราคา ดังปรากฏในเพลงร้องเรือที่ว่า

ผ้ายกเมืองนคร

“...ไปเมืองคอนเหอ ไปซื้อผ้าลายทองสลับ ซื้อมาทั้งพับ สลับทองห่างห่าง หยิบนุ่งหยิบห่มให้สมขุนนาง สลับทองห่าง ห่าง ทุกหมู่ขุนนางนุ่ง เหอ...”

จากข้อความในบทเพลงนี้ สื่อให้เห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีผ้ายกทอง จึงถือได้ว่าผ้ายกเมืองนครเป็นงานประณีตศิลป์ชั้นเยี่ยมตั้งแต่รัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จนเป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้ายกเมืองนครที่ขึ้นชื่อผ้ายกเมืองนครเป็นของที่พระมหากษัตริย์พระราชทานให้กับบุคคลสำคัญ เจ้านายและข้าราชบริพารชั้นสูง ใช้สวมใส่เวลาเข้าเฝ้าเป็นการแสดงสถานะของบุคคลนั้นๆ

นอกจากนั้นในวรรณคดีเรื่องขุนช้าง ขุนแผนก็ยังได้กล่าวถึงผ้ายกเมืองนครตอนหนึ่งกล่าวว่า ขุนช้างเศรษฐีเมืองสุพรรณบุรีนุ่งผ้ายกไปเป็นเพื่อนเจ้าบ่าว เมื่อครั้งพลายแก้วแต่งงานกับนางพิม ดังบทเสภาที่ว่า 

คิดแล้วอาบน้ำนุ่งผ้ายกทองของพระยานครให้” คำว่า “พระยานคร” ในที่นี้คือเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชนั่นเอง แสดงให้เห็นว่าเมืองนครศรีธรรมราชมีฝีมือทางการทอผ้ามาก และเป็นผ้ายกที่จัดได้ว่ามีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง เป็นงานฝีมือช่างชั้นสูง

ผ้ายกเมืองนคร
ผ้ายกเมืองนคร

ลักษณะและความโดดเด่นของผ้ายกเมืองนคร

การทอผ้ายกมีกระบวนการทอโดยเพิ่มลวดลายผ้าให้เป็นพิเศษขึ้น มีขั้นตอนและวิธีการทอ คล้ายการทอผ้าขิดหรือผ้าจก แต่ต่างกันที่บางครั้งผ้ายกจะทอเป็นลายพิเศษ มีตะกอเขาลอยยกดอกแยกเส้นยืนต่างหาก จะยกครั้งละกี่เส้นก็ได้ ขึ้นอยู่กับการออกแบบลายทอต้องการลวดลายอย่างไร มีลายมีเชิงที่แปลกออกไป การทอจึงต้องใช้ขั้นตอนและวิธีการเก็บลายด้วยไม้เรียวปลายแหลม ตามลวดลายที่กำหนดจนครบ คัดยกเส้นยืนขึ้นเ ป็นจังหวะมีลวดลายเฉพาะส่วนสอดเส้นพุ่งไปสานขัดตามลายที่คัดไว้ การเก็บตะกอเขาลอยยกดอกเพื่อผู้ทอจะได้สะดวกไม่ต้องคัดเก็บลายทีละเส้น เป็นความสามารถและเทคนิคเฉพาะตัวของช่างแกะดอกผูกลาย ซึ่งการร้อยตะกอเขาลายนี้ใช้เวลามาก เพราะต้องทำด้วยมือทั้งหมด บางลายเสียเวลาหลายเดือนกว่าจะมัดเขาเสร็จ และเมื่อร้อยตะกอเสร็จแล้ว ถ้าเป็นกี่กระตุกก็จะทอได้รวดเร็วแต่ถ้าเป็นกี่โบราณก็จะทอได้ช้า การทอผ้ายกดอกนี้สามารถตกแต่งลวดลายให้สวยงาม และทอออกมาได้หลายสีลักษณะผ้ายกเมืองนคร มี 3 ลักษณะแตกต่างกันในการทอและการนำไปใช้งานดังนี้

ผ้ายกเมืองนคร

ลักษณะที่ 1

กรวยเชิงซ้อนหลายชั้น เป็นผ้าสำหรับเจ้าเมือง ขุนนางชั้นสูงและพระบรมวงศานุวงศ์ นิยมทอผ้าด้วยเส้นทอง ลักษณะกรวยเชิงจะมีความละเอียดอ่อนช้อย ลวดลายหลายลักษณะประกอบกัน ริมผ้าจะมีลายขอบผ้าเป็นแนวยาวตลอดทั้งผืน กรวยเชิงส่วนใหญ่มีตั้งแต่ 2 ชั้นและ 3 ชั้น ลักษณะพิเศษของกรวยเชิงรูปแบบนี้คือ พื้นผ้าจะมีการทอสลับสีด้วยเทคนิคการมัดหมี่เป็นสีต่างๆ เช่น แดง น้ำเงิน ม่วง ส้ม น้ำตาล ลายท้องผ้าพับ นิยมทอผ้าพื้นและยกดอก เช่น ยกดอกลายเกร็ดพิมเสน ลายดอกพิกุล เป็นต้น

ลักษณะที่ 2

มีลักษณะเป็นกรวยเชิงชั้นเดียว นิยมทอผ้าด้วยเส้นทองหรือเส้นเงิน จะพบในผ้ายกเมืองนครซึ่งเป็นผ้าสำหรับคหบดีและเจ้านายลูกหลานเจ้าเมือง ลักษณะกรวยเชิงจะสั้น ทอคั่นด้วยลายประจำยามก้ามปู ลายประจำยามเกลียวใบเทศ ไม่มีลายขอบในส่วนของลายท้องผ้านิยมทอด้วยเส้นไหมเป็นลวดลายต่างๆ เช่น ลายดอกพิกุลลายก้านแย่ง ลายดอกเขมร ลายลูกแก้วฝูง เป็นต้น

ลักษณะที่ 3

เป็นกรวยเชิงขนานกับริมผ้าผ้ายกเมืองนครลักษณะนี้ เป็นผ้าสำหรับสามัญชนทั่วไปใช้นุ่ง  ลวดลายกรวยเชิงถูกดัดแปลงมาไว้ที่ริมผ้าด้านใดด้านหนึ่ง โดยผสมดัดแปลงนำลายอื่นมาเป็นลายกรวยเชิง เพื่อให้สะดวกในการทอและการเก็บลายสามารถทอได้เร็วขึ้น ผ้าลักษณะนี้มีทั้งทอด้วยไหม ทอด้วยฝ้ายหรือทอผสมฝ้ายแกมไหม ที่พบจะเป็นผ้านุ่ง สำหรับสตรี หรือใช้เป็นผ้านุ่งสำหรับเจ้านาคในพิธีอุปสมบทสำหรับลวดลายผ้ายกเมืองนครที่ทอกันมาแต่โบราณ มักเป็นลวดลายที่พบเห็นได้อยู่รอบตัวของช่างทอผ้า ลวดลายเหล่านี้ถูกถ่ายทอดต่อๆกันมา ด้วยวิธีการจดจำหรือทอลอกเลียนแบบอย่างไว้ นับเป็นภูมิปัญญาและฝีมือของช่างทอผ้าอย่างแท้จริง ลวดลายผ้ายกเมืองนครแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้

1) กลุ่มลายพันธุ์ไม้เป็นลวดลายจากดอกไม้และต้นไม้ ได้แก่ ลายดอกพิกุล ลายดอกพิกุลแก้ว ลายดอกพิกุลเถื่อน ลายดอกพิกุลล้อม ลายดอกพิกุลก้านแยก ลายดอกพิกุลสลับลายลูกแก้ว ลายดอกมะลิร่วง ลายดอกมะลิตูมก้านแย่ง ลายดอกเขมร ลายดอกไม้ ลายใบไม้ ลายตาย่านัด ลายหัวพลู เม็ดพริกไทย ลายเครือเถา

(2) กลุ่มลายสัตว์ ได้แก่ ลายม้า ลายหางกระรอก ลายหิ่งห้อยชมสวน ลายแมงมุมก้านแย่ง 

(3) กลุ่มลายเรขาคณิต ได้แก่ ลายเกล็ดพิมเสนทรงสี่เหลี่ยม ลายเกล็ดพิมเสนรูปเพชรเจียระไน ลายก้านแย่ง ลายราชวัตร ลายเก้ากี่ ลายดาสมุก ลายตาราง ลายลูกโซ่ ลายลูกแก้ว ลายลูกแก้วฝูง

(4) กลุ่มลายเบ็ดเตล็ด ได้แก่ ลายไทยประยุกต์ ลายไทยประยุกต์ผสม ลายพิมพ์ทอง และลายอื่น ๆ

เครื่องมือเครื่องใช้ทอผ้ายกเรียกว่า ‘เครื่องทอหูก’ หรือ ‘เก’ เหมือนกับท้องถิ่นอื่นโดยทั่วไป เกมี 2 ชนิด คือ เกยก ชนิดหนึ่ง กับ เกฝัง อีกชนิดหนึ่ง ชาวบ้านที่มีอาชีพทอผ้ามักสร้างเกไว้ใต้ถุนบ้านแทบทั้งสิ้น เครื่องทอ

  1. ฟืม ลักษณะคล้ายกับหวี ยาวเท่าความกว้างของหน้าผ้า ทำหน้าที่ตบหรือกระแทกให้เส้นด้ายซึ่งสานขัดกันเป็นลายเนื้อผ้าแน่นติดกัน พบว่าเครื่องทอผ้าพื้นเมืองรุ่นเก่าบางเครื่องมีตัวฟืมอย่างประณีตมีลวดลายเป็นรูปต่าง ๆ
  2. ตีนฟืม มีลักษณะเป็นไม้สองอันผูกเชือกห้อยอยู่ตรงหน้า เป็นที่สำหรับใช้เท้าเหยียบเพื่อขยับยกเขาเหยียบให้ขึ้น ๆ ลง ๆ เวลาขัดลายดอกของเนื้อผ้า
  3. ลูกพัน แผ่นไม้อยู่ตอนหัวสุดของเครื่องทอและอยู่ตรงที่หน้าตักของคนทอ ใช้สำหรับพันเส้นด้ายที่จะทอและพันผืนผ้าที่ทอเสร็จแล้ว
  4. เขา มี 2 อย่าง คือ เขายกดอกกับเขาเหยียบ
  5. ลูกตุ้ง คือที่แขวนกระดานม้วนด้ายหักเก มี 2 ลูก ซ้ายขวา
  6. ลูกสวย หรือกระสวย คือที่ใส่หลอดด้าย รูปคล้ายเรือสำหรับพุ่งขวางไปมาเพื่อให้เกิดเนื้อผ้าขึ้น นอกจากที่กล่าวมายังมีส่วนประกอบอื่น ๆ อีก เช่น ลูกกะหยก นัด ผัง ตรน และคานเก เป็นต้น
  7. ผัง เป็นไม้ที่ใช้ดึงให้ริมผ้าที่ทอเสร็จใหม่ทั้งสองข้างตึงเท่ากัน (หัวท้ายไม้ผูกเข็มสอดอยู่ใต้ผืนผ้า) เพื่อไม่ให้เส้นด้ายยุ่ง อันจะทำให้ฟันฟืมหักด้วยการทอผ้า

วัสดุอุปกรณ์หลักที่ใช้ในการทำผ้ายกเมืองนคร

ผ้ายกเมืองนคร
ผ้ายกเมืองนคร
ผ้ายกเมืองนคร
ผ้ายกเมืองนคร

ขั้นตอนในการทอผ้า

  1. สืบเส้นด้ายยืนเข้ากับแกนม้วนด้ายยืน และร้อยปลายด้ายแต่ละเส้นเข้าในตะกอแต่ละชุดและฟันหวีดึงปลายเส้นด้ายยืนทั้งหมดม้วนเข้ากับแกนม้วนผ้าอีกด้านหนึ่ง ปรับความตึงหย่อนให้พอเหมาะ กรอด้ายเข้ากระสวยเพื่อใช้เป็นด้ายพุ่ง
  2. เริ่มการทอโดยกดเครื่องแยกหมู่ตะกอ เส้นด้ายยืนชุดที่ ๑ จะถูกแยกออกและเกิดช่องว่าง สอดกระสวยด้ายพุ่งผ่านสลับตะกอชุดที่ ๑ ยกตะกอชุดที่ ๒ สอดกระสวยด้ายพุ่งกลับทำสลับกันไปเรื่อยๆ
  3. การกระทบฟันหวี (ฟืม) เมื่อสอดกระสวยด้ายพุ่งกลับก็จะกระทบฟันหวี เพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกันได้เนื้อผ้าที่แน่นหนา
  4. การเก็บหรือม้วนผ้า เมื่อทอผ้าได้พอประมาณแล้วก็จะม้วนเก็บในแกนม้วนผ้า โดยผ่อนแกนด้ายยืนให้คลายออกและปรับความตึงหย่อนใหม่ให้พอเหมาะ
ผ้ายกเมืองนคร

ผ้ายกเมืองนคร ถือเป็นศิลปหัตถกรรมอันล้ำค่าของชาวนครศรีธรรมราช นอกจากจะเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของคนในท้องถิ่นแล้ว ยังแสดงถึงวิถีชีวิตในมุมอื่นๆ ของแต่ละท้องถิ่นได้เป็นอย่างดีอีกด้วย ได้แก่ ภูมิปัญญา ความคิดสร้างสรรค์ ค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี สังคม ศิลปะ รวมทั้งอาชีพ ศิลปหัตถกรรมแขนงนี้จึงควรค่าแก่การศึกษา อนุรักษ์ และพัฒนาเป็นอย่างยิ่ง

ผ้ายกเมืองนคร
ผ้ายกเมืองนคร

อ้างอิง 

กรมหม่อมไหม. ผ้ายกเมืองนคร.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์.  http://www.qsds.go.th/silkcotton/k_15.php (16 ตุลาคม 2560).

นพพล เจริญสุข. (2557). ผ้าทอภาคใต้: ความหมายและพลวัตของผ้าทอในมิติของเจ้าของวัฒนธรรม. 

วารสารมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ. 9(1), 147-165.

วิมล ดำศรี. (2535). ผ้าทอพื้นเมือง ศิลปหัตถกรรมอันล้ำค่าของเมืองนคร : ที่ระลึกในการจัดงานประเพณี เทศกาลเดือนสิบ ประจำปี 2535 จังหวัดนครศรีธรรมราช, 45-49 

 วิมลพรรณ ปีตธวัชชัย (2519). ศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านของภาคใต้, 17-23 

Visits: 1374

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.