หอพระสูง (พระวิหารสูง) : โบราณสถานสำคัญบนถนนราชดำเนิน

      หอพระสูง หรือพระวิหารสูง  เป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งในเมืองนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่นอกกำแพงเมืองโบราณนครศรีธรรมราชด้านทิศเหนือ บริเวณสนามหน้าเมือง ใกล้ศาลหลักเมือง ถนนราชดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช หอพระสูง หรือพระวิหารสูง เรียกชื่อตามลักษณะของการก่อสร้างของพระวิหาร ซึ่งสร้างบนเนินดินที่ขุดจากคลองควน สูงกว่าพื้นปกติถึง 2.10 เมตร ด้านหน้าทางเข้าเป็นบันไดทางขึ้น เลียนแบบตามคติจีนลัทธิเต๋า เป็นพุทธสถานผสมผสานกับเทวสถานหอกราบไหว้ฟ้าดิน ของจักรพรรดิหรือฮ่องเต้หรือกษัตริย์ ซึ่งเปรียบว่าเป็นโอรสสวรรค์ ภายในหอพระสูง (พระวิหารสูง) ประดิษฐานองค์พระพุทธรูปประธาน ปางมารวิชัย พระพุทธรูปปูนปั้นแกนดินเหนียว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 23–24 หรือในสมัยอยุธยาตอนปลาย (สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2562)

        และที่สำคัญ หอพระสูง หรือพระวิหารสูง ยังเป็นสถานที่ที่ชาวนครศรีธรรมราชมีความเชื่อกันมาตั้งแต่อดีตว่า มีความเกี่ยวข้องกับการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้าตากสินมหาราชอีกด้วย 

ประวัติ

        พระวิหารสูง หรือ หอพระสูง ไม่ปรากฏหลักฐานแสดงประวัติอย่างแท้จริง แต่สามารถสันนิษฐานจากลักษณะของสถาปัตยกรรม และจิตรกรรมฝาผนังว่าสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ภายในพระวิหารประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นแกนดินเหนียว สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพุทธศตวรรษที่ 23–24 หรือในสมัยอยุธยาตอนปลาย และมีเรื่องเล่าของชาวบ้านที่บอกเล่าต่อ ๆ กันมาว่า เนินดินขนาดใหญ่เป็นที่ประดิษฐานหอพระสูงนั้น ชาวบ้านได้ช่วยกันขุดดินจากบริเวณคลองหน้าเมืองมาถมเป็นเนินขนาดใหญ่เพื่อใช้ตั้งปืนใหญ่ในการสกัดกั้นทัพพม่า ในคราวที่ได้มีการยกทัพใหญ่ลงมาตีหัวเมืองหน้าด่านต่าง ๆ ทางภาคใต้ ตั้งแต่มะริด ถลาง ไชยา จนถึงนครศรีธรรมราช เมื่อครั้งสงคราม 9 ทัพใน พ.ศ. 2328 บริเวณสนามหน้าเมืองน่าจะเป็นสนามรบและตั้งทัพตามกลยุทธ์ในการจัดทัพออกศึกเพื่อต่อสู้ประจัญบาน  (สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2562)

หอพระสูง
ภาพจากสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช

        ภายหลังเนินดินแห่งนี้ได้กลายเป็นที่รกร้าง มีต้นไม้ขึ้นปกคลุมหนาแน่น ราว พ.ศ. 2377 เจ้าพระยานคร (น้อย) เห็นว่าควรจะสร้างขวัญกำลังใจให้แก่ชาวเมือง จึงให้สร้างพระพุทธรูปขนาดหน้าตักประมาณ 5 ศอก สูงประมาณ 8 ศอกขึ้นบนเนินนั้น และสร้างวิหารสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปด้วยหลังหนึ่ง เรียกว่า “หอพระสูง” และเรียกสถานที่แห่งนี้ว่าหอพระสูงมาตั้งแต่บัดนั้น  (สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2562)       

หอพระสูง
หอพระสูง

ภาพจาก เมืองคอน.com

        เมื่อคราวสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาพันธุวงศ์วรเดช เสด็จเมืองนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2427 ก็ทรงเห็นว่ามีวิหารอยู่บนเนินแล้ว ปรากฏความในหนังสือชีวิวัฒน์ตอนหนึ่งว่า “…ระยะทาง ตั้งแต่ท่าวังมาประมาณ 30 เส้น ถึงที่ปลูกพลับพลาหน้าเมือง มีพลับพลาหักพังทิ้งเก่าอยู่ ที่มุมค่ายทิศตะวันตกเฉียงเหนือ มีโคกดินสูงขึ้นไปประมาณ 7-8 วา มีวิหารสูงบนโคกหลังหนึ่งเป็นวัดเก่า…”  (สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2562)

หอพระสูง

                                                                    หอพระสูงเก่า สมัยรัชกาลที่ 5                                                                                         (ภาพจากหนังสือ “พิธีประดิษฐานและสมโภชพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช)

รูปแบบสถาปัตยกรรม

        ลักษณะวิหาร เป็นอาคารทรงไทยรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่ออิฐเป็นกำแพงโดยรอบขึ้น เป็นชั้น ๆ โดยก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 5.90 เมตรยาว 13.20 เมตร สูง 3.50 เมตร ผนังทั้งภายนอกและภายในฉาบปูนเรียบ และเป็นผนังทึบ 3 ด้าน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก หลังคาเป็นเครื่องไม้มุงกระเบื้องดินเผา ผนังด้านหน้าเยื้องมาทางด้านหน้าทั้งสองด้าน เจาะเป็นกรอบหน้าต่างทำช่องแสงรับ ในกรอบเป็นรูปกากบาท 2 ช่อง ฐานชั้นล่างก่อด้วยอิฐเป็นตะพัก 4 ชั้น ด้านหน้าทางขึ้นเป็นบันไดต่อจากเนินเขาไปยังพระวิหารตามแบบคติลัทธิเต๋า เป็นทั้งพุทธสถานและเทวสถานหอกราบไหว้ฟ้าดินแบบกษัตริย์ โดยด้านหลังติดน้ำ ด้านหน้าติดลม และมีทางขึ้นและลง 2 ทาง (กองทัพภาคที่ 4, 2558, น.50-51)

รูปแบบประติมากรรม

  • ภายในหอพระสูง ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ลงรักปิดทอง แกนพระพุทธรูปทำด้วยดินเหนียวโบกปูนปั้น องค์พระภายนอกขนาดหน้าตักกว้าง 2.40 เมตร สูง 2.80 เมตร ลักษณะอวบอ้วน พระพักตร์เป็นรูปสี่เหลี่ยม พระขนงโก่ง พระนาสิกงุ้ม พระโอษฐ์เป็นรูปคันศร พระศอเป็นริ้ว พระกรรณห้อยต่ำอยู่ใต้พระศก พระเกศาเกล้าเป็นมวย เม็ดพระศกเป็นขมวดปมเล็ก ยอดพระเกตุมาลาอาจหักหายไปครองผ้าสังฆาฏิเฉียงจากพระอังสาซ้ายมาจรดพระนาภี กำหนดอายุพุทธศตวรรษที่ 23 – 24 สมัยอยุธยาตอนปลาย ถึงสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2562)
หอพระสูง
พระประธานปางมารวิชัย ภายในหอพระสูง
  • พระพุทธรูปหินทรายแดงปางมารวิชัย ที่ฐานมีจารึกอักษรขอม ภาษาบาลี ความว่า “นิพฺพาณปจฺจโยโหตุ” หมายถึง ขอให้เหตุนี้ (ผลบุญที่ทำ) เป็นปัจจัยส่งให้ถึงนิพพาน (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในคลังโบราณวัตถุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช) (สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2562)
พระพุทธรูปหินทรายแดงปางมารวิชัย (ภาพจากสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช)
  • พระพุทธรูปประทับยืน ทำจากหินปะการัง สภาพชำรุด พระเศียร พระหัตถ์ และพระบาททั้งสองหักหาย จำนวน 2 องค์ (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในคลังโบราณวัตถุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช) (สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2562)
หอพระสูง

พระพุทธรูปประทับยืน จำนวน 2 องค์ (ภาพจากสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช)

  • ศียรพระพุทธรูป ทำจากหินปะการัง สภาพชำรุด (ปัจจุบันเก็บรักษาอยู่ในคลังโบราณวัตถุพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ นครศรีธรรมราช) (สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช, 2562)
หอพระสูง
เศียรพระพุทธรูป (ภาพจากสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช)

รูปแบบจิตรกรรมฝาผนังและลวดลายบนฐานพระ

        ผนังทั้ง 4 ด้านภายในหอพระสูง เขียนเป็นรูป “ดอกไม้ร่วง” กลีบดอกเขียนสีน้ำตาลจำนวน 8 กลีบ ก้านดอกเขียนสีน้ำเงินหรือคราม ส่วนก้านเกสรเป็นลายไทย ดูอ่อนช้อยสวยงาม จำนวน 210 ดอก เป็นแบบโบราณ ตามหลักพระวินัยบัญญัติว่าด้วยเสนาสนะในพระพุทธศาสนามีศิลปะภาพวาดสีจีน

        ส่วนฐานพระด้านหน้าและหลัง มีศิลปะลวดลายปูนปั้นกลีบบัวคว่ำและบัวหงาย แบบกาบบัวซ้อนกัน โดยด้านหลังจะสลับกับปูนปั้นลายลูกแก้ว ด้านหน้าฐานพระ มีศิลปะภาพวาดสีจีน เช่น “ลายเมฆและพระอาทิตย์” ตรงกลางเป็นภาษาจีนกลาง เป็นรูประอาทิตย์อ่านว่า “ฝู” และคำว่า “ฮก” ในภาษาแต้จิ๋ว หมายถึงผู้สูงศักดิ์ มากด้วยอำนาจบารมี และบุญวาสนาบนสวรรค์ แผ่สว่างไสวไปทุกทิศทางดั่งแสงพระอาทิตย์ และรูปดอกโบตั๋นจีน รูปนกไก่ฟ้าจีน รูปกระรอกขาว  อันเป็นสัญลักษณ์หมายถึงจักพรรดิ หรือฮ่องเต้ หรือกษัตริย์ ผู้เป็นโอรสสวรรค์ (กองทัพภาคที่ 4, 2558, น.51)

  ผนังวิหารทั้ง 4 ด้านเขียนเป็นรูปดอกไม้ร่วง

     ดอกโบตั๋น” ภาษาจีน (หมู่ตาน) เป็นสัญลักษณ์ด้านจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของจีน มีรูปทรงสวยงาม สีสันสดใส และมีกลิ่นหอมรัญจวน คนจีนจึงขนานนามว่าดอกไม้แห่งความมั่งคั่งร่ำรวย มีเกียรติ ความสง่างามและความสูงส่ง  อำนาจวาสนาและมั่งมีศรีสุข เป็นดอกไม้ที่นิยมใช้งานซิลปะมาอย่างยาวนาน และเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ประจำชาติของจีน คนจีนยกให้เป็นดอกไม้ของจักรพรรดิ ถือเป็นดอกไม้แห่งเกียรติยศ ในปี ค.ศ. 1903 สมัยราชวงศ์ชิงได้ประกาศให้เป็นดอกไม้ประจำชาติ

        “นกไก่ฟ้า” ภาษาจีน (จิ่นจี) หรือนกไก่ฟ้าจีน คือความสง่างาม บารมี ความมั่งมีศรีสุขและบุญวาสนา ตามความเชื่อของเมืองจีน เป็นสัตว์มงคลของจักพรรดิจีนหรือฮ่องเต้หรือกษัตริย์

        “กระรอกขาว” ภาษาจีน (ซงสู่) คือความบริสุทธิ์ บุญวาสนา สติปัญญา ฉลาดว่องไว (กองทัพภาคที่ 4, 2558, น.52-53)

หอพระสูง
ลายดอกไม้ร่วง
หอพระสูง
ลายเมฆและพระอาทิตย์
ดอกโบตั๋นด้านขวาพระประธาน
ดอกโบตั๋นด้านซ้ายพระประธาน
หอพระสูง
ภาพวาดจีนนกไก่ฟ้า
หอพระสูง
ภาพวาดกระรอกขาว

  ศิลปะภาพวาดสีจีนบริเวณฐานพระ 
      (ภาพจากหนังสือที่ระลึก “พิธีประดิษฐานและสมโภชพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช”)

สัญลักษณ์และปริศนาที่ฝากไว้

        สัญลักษณ์ต่าง ๆ ของวิหารที่ปรากฏ ชี้ให้เห็นว่าผู้สร้างมีความตั้งใจที่จะแสดงความระลึกถึงและทำปริศนาลวดลายภาพ เพื่อสื่อถึงบุคคลอันเป็นที่รักและเป็นบุคคลผู้สูงศักดิ์ที่สำคัญยิ่งต่อแผ่นดินไทย และฝากปริศนาเอาไว้ เพื่อให้บุคคลได้พบเห็นได้ง่าย แม้นเวลาจะผ่านมาเกือบ 200 ปี มีความหมายโดยสรุปคือ 

        “ผู้มากด้วยบารมีและสูงศักดิ์ ความสง่างาม บารมี ความมั่งมีศรีสุข ความบริสุทธิ์ สติปัญญา ฉลาดว่องไว สื่อความหมายถึง จักรพรรดิหรือฮ่องเต้หรือกษัติย์หรือโอรสสวรรค์” (กองทัพภาคที่ 4, 2558, น.54)

หอพระสูง

        สถานที่แห่งนี้ (หอพระสูงหรือพระวิหารสูง) มีการอธิบายตามความเชื่อในศาสตร์ฮวงจุ้ยจีน ว่ามีพลังมหาศาลที่ครอบคลุมอยู่โดยรอบ คือพลังงานมหาศาลแห่งบุญ ความสงบเย็น ความยิ่งใหญ่ ความดีงาม พลังอำนาจบารมี และบุญวาสนา จะแผ่ไปรอบ ๆ สถานที่ ทำให้เกิดความสงบ ความเย็น ความสบาย ตามศาสตร์ฮวงจุ้ยจีน คือ ฮก ลก ซิ่ว และที่เกิดจากการสะสมกุศลกรรมของบุคคลที่อยู่สถานที่แห่งนี้

        สิ่งที่ผู้สร้างตั้งใจทำสัญลักษณ์ไว้นั้น เพื่อเป็นการถวายความเคารพสูงสุด แบบอย่าง” จักรพรรดิจีนหรือฮ่องเต้หรือกษัตริย์” อย่างชัดเจน และแสดงออกถึงความรักความห่วงใยที่มีต่อบุคคลอันเป็นที่รัก มีความละเอียดและรู้ถึงศาสตร์ฮวงจุ้ยอย่างแตกฉาน เป็นสถานที่ที่มีการผสมผสานด้านศาสนาพุทธ ลัทธิเต๋า มีศิลปะภาพวาดจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่มีความหมายบ่งบอกถึงกษัตริย์ ซึ่งมีอายุราวสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ที่มีอิทธิพลศิลปะจีนเข้ามาปะปนผสมกับลวดลายศิลปะไทย (กองทัพภาคที่ 4, 2558, น.55)

บริเวณพลับพลาค่ายหลวง รัชกาลที่ 4
พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฐาภรโณ)
หอพระสูง
สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส

        พระรัตนธัชมุนี (แบน คณฐาภรโณ) อดีตเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร กล่าวถึงเหตุการณ์ เมื่อปี พ.ศ. 2402 รัชกาลที่ 4 เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราช โดยเรือพระที่นั่งมณีเมขลา และทรงตั้งพลับพลาค่ายหลวงใกล้ “หอพระสูง” ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของสนามหน้าเมือง และคณะเจ้าจอมมารดาแพ ร่วมตามเสด็จฯ ด้วย ได้เดินทางไปกราบพระประธาน ณ หอพระสูง เพื่อขอบุตร ซึ่งต่อมาได้ให้กำเนิดพระโอรส คือพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้า “มนุษยนาคมานพ” ได้ทรงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ และต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2453 ในรัชกาลที่ 6 ได้รับถวายสถาปนาสมณศักดิ์เป็น “สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส” สมเด็จพระสังฆราช พระองค์ที่ 10 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สถิต ณ วัดบวรนิเวศราชวรมหาวิหาร (กองทัพภาคที่ 4, 2558, น.56)

หอพระสูงมีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างไร 

         “หอพระสูง” เป็นสถานที่ที่ชาวนครศรีธรรมราชมีความเชื่อว่า มีความสัมพันธ์กับการสิ้นพระชนม์ของพระเจ้า ตากสิน ที่เมืองนครศรีธรรมราช  คนในตระกูล ณ นคร ซึ่งเป็นสกุลผู้ปกครองเมืองนครศรีธรรมราชในยุคธนบุรี – ยุคกลางกรุงรัตนโกสินทร์ เชื่อกันว่าสมัยอยุธยา นครศรีธรรมราชเป็นเมืองในลักษณะประเทศราช เป็นศูนย์กลางการปกครองภาคใต้ไปตลอดมลายู มีการติดต่อซื้อขายสินค้ากับฝรั่งโปรตุเกสเป็นอิสระ โดยจะต้องส่งส่วยให้กับทางอยุธยาทุกปี ตัวกำแพงเมืองจึงมีอิทธิพลของโปรตุเกสอยู่สูง เพราะก่อนมีการบูรณะกำแพงเมืองนั้น ลักษณะกำแพงเมืองที่มีคูเมืองขวางกั้น มีเชิงเทินสำหรับตั้งรับข้าศึก และมีประตูกลแบบซ่อนทางเข้าไว้ ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากโปรตุเกสทั้งสิ้น

        “เนินดิน” ที่ก่อขึ้นสูงบริเวณสนามหน้าเมืองนั้น คือกองอิฐและมูลดินที่เหลือจากการซ่อมแซมกำแพงที่ทรุดโทรมลงมาในสมัยธนบุรี ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสินสิ้นพระชนม์ที่เขาขุนพนม ก็ได้มีการปรับแต่งพื้นที่ปลูกวิหารบนเนินสูงดังกล่าว แล้วมีการจัดขบวนแห่พระศพมายังสนามหน้าเมือง และได้พักพระบรมศพไว้ที่วิหารสูงแห่งนี้ ภายหลังเมื่อฌาปนกิจพระบรมศพที่สนามหน้าเมืองเสร็จ เมรุที่ใช้เผาก็ถูกรื้อออกตามประเพณีโบราณ

        ส่วนหอพระสูงหรือวิหารนั้นถูกปลูกสร้างขึ้นมาระหว่างพักพระบรมศพนั่นเอง เพราะที่บริเวณนั้นเป็นที่พักพระบรมศพของพระเจ้าตาก ซึ่งถือว่าเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาใช้สถานที่ซ้ำกับบริเวณดังกล่าว ก็เลยสร้างและตกแต่งวิหารเพิ่มเติมครอบเอาไว้ และสร้างพระพุทธรูปไว้องค์หนึ่ง และที่สำคัญในวิหารสูงจะมีลักษณะพิเศษคือจะเป็นโบสถ์ทรงมหาอุตต์ (ทศยศ กระหม่อมแก้ว, 2550, น.67-68)     

หอพระสูง ที่พักพระบรมศพของพระเจ้าตาก (ภาพจาก เมืองคอน.com)
พระบรมรูปพระเจ้าตาก ที่เขาขุนพนม (ภาพจากหนังสือ พระเจ้าตากฯ สิ้นพระชนม์ที่เมืองนคร)

        จากเรื่องเล่าข้างต้น เป็นคำบอกเล่าท้องถิ่นด้วยการสัมภาษณ์บุคคลในสมาชิกของตระกูล ณ นคร ที่อาศัยในนครศรีธรรมราช ซึ่งจากคำบอกเล่าได้มีความสัมพันธ์กับโบราณสถาน 2 แห่ง คือ “วิหารสูง” และ “วัดเขาขุนพนม” โดยเฉพาะวัดเขาขุนพนมที่มีความเชื่อว่าเป็นที่อาศัยของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจนสวรรคต วัดเขาขุนพนมแห่งนี้ ได้พบโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น พระพุทธรูป อาวุธ ของใช้ต่าง ๆ และที่สำคัญคือพระพุทธบาทที่มีลวดลายแปลกกว่าลายพระพุทธบาททั่วไป โดยเฉพาะเป็นศิลปะจีน หลักฐานเหล่านี้จึงเป็นการสนับสนุนคำบอกเล่าท้องถิ่นเมืองนครศรีธรรมราชของตระกูล ณ นคร

        ถึงแม้เรื่องราวในข้างต้น จะเป็นเพียงเรื่องราวที่ปรากฏกันภายในตระกูล ณ นคร และมีปรากฎประปรายกันในหมู่ชนพื้นเมืองนครศรีธรรมราช แต่ก็ไม่สามารถละเลยเรื่องราวและที่มาได้ ในภายหลังได้มีการตีแผ่เรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสิน และ ตระกูล ณ นคร กว้างขวางขึ้น จึงทำให้หอพระสูงรู้จักกันว่าเป็นหนึ่งในสถานที่เกี่ยวเนื่องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินด้วย ตามธรรมเนียมของตระกูล ณ นคร แล้ว จะต้องมีการนิมนต์พระสงฆ์ มาทำบุญอุทิศส่วนกุศลกันบนหอพระสูงแห่งนี้ เป็นประจำทุกปี (ภูมิ จิระเดชวงศ์, 2564)    

ความเชื่อและความศรัทธาต่อหอพระสูง

        จากบทความเรื่อง “ ความรู้เรื่อง พระสูงเมืองนคร ” ที่เขียนโดย ครูน้อม อุปรมัย ศิษย์เก่าและอดีตครูโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ได้บันทึกในบทความว่า ในยุครัชกาลที่ 5 ศาลตัดสินคดีถูกย้ายมาอยู่ด้านหน้าหอพระสูงอยู่ระยะหนึ่ง ได้มีการให้ผู้ที่มีคดี หรือมีความวิวาทบาดหมางกันให้มาสบถสาบานต่อหน้าองค์พระสูง ซึ่งการสาบานก็เป็นที่เห็นผลปาฎิหาริย์กันโดยตลอด จึงยกกันว่า พระสูง เป็นพระพุทธรูปที่ใช้สำหรับการสาบาน

        ต่อมาในยุคมหาสงครามเอเชียบูรพา ( พ.ศ. 2484 ) ก่อนที่กองทัพของจักรวรรดิญี่ปุ่นจะยกพลขึ้นบกที่เมืองนครศรีธรรมราช องค์พระสูงได้หลั่งน้ำตาออกมา ทำให้คนในเมืองทราบถึงลางร้ายที่กำลังจะเกิดขึ้น และในปี พ.ศ. 2505 มหาวาตภัยได้เข้ากระหน่ำเมืองนครศรีธรรมราช ได้มีผู้คนส่วนหนึ่งได้วิ่งไปอาศัยหลบภัยที่หอพระสูง ซึ่งภายหลังพายุผ่านไป หอพระสูงยังคงปลอดภัย ไม่ได้รับอันตรายจากภัยในครั้งนี้แต่อย่างใด (ภูมิ จิระเดชวงศ์, 2564)

ภาพจาก Facebook โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช

        ล่วงเลยมาจนถึงในยุคที่มีการใช้พื้นที่ด้านข้างของหอพระสูงเป็นโรงเรียน ในยุคเริ่มต้นให้เป็นโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ก่อนที่ในกาลต่อมาจะเป็นโรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช ในทุกครั้งที่มีการจับฉลากเพื่อเข้าเป็นนักเรียน จะมีผู้ปกครองและนักเรียนจากทั่วสารทิศภายในจังหวัดนครศรีธรรมราช เข้ามาขอพรจากองค์พระสูง เพื่อให้สอบเข้าเรียนในสถานศึกษาได้ และในทุก ๆ วันที่ 1 มิถุนายน ของทุกปี โรงเรียนกัลยาณีนครศรีธรรมราชจะทำบุญอุทิศส่วนกุศลที่บนหอพระสูงเป็นประจำ (ภูมิ จิระเดชวงศ์, 2564)

        ในปัจจุบัน กรมศิลปากร ประกาศขึ้นทะเบียนหอพระสูง (พระวิหารสูง) เป็นโบราณสถานแห่งชาติ ตามที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 98 ตอนที่ 63 วันที่ 8 เมษายน 2524 

ภาพเปรียบเทียบหอพระสูงในอดีตและปัจจุบัน

หอพระสูง
หอพระสูง
หอพระสูง
หอพระสูง
หอพระสูง
หอพระสูง
หอพระสูง

 ภาพเปรียบเทียบหอพระสูง ก่อนได้รับการบูรณะ ในปี พ.ศ. 2525 – พ.ศ. 2542 และปัจจุบัน   
(
ภาพในอดีตจาก Facebook โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช)

  • กองทัพภาคที่ 4.(2558). หนังสือที่ระลึก พิธีประดิษฐานและสมโภชพระบรมรูปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช. หน้า 50-56. นครศรีธรรมราช : กองทัพภาคที่ 4
  • น้อม อุปรมัย (ม.ป.ป.) ความรู้เรื่อง พระสูงเมืองนคร.   
  • ภูมิ จิระเดชวงศ์. (2564). พระวิหารสูง (หอพระสูง) จ.นครศรีธรรมราช จากพื้นที่วัดชายดังสู่เนินเลือดแห่งการสู้รบและพื้นที่ถวายพระเพลิง.https://www.facebook.com/jiradejwong/posts/1779265228931360?_rdc=1&_rdr
  • โรงเรียนกัลยาณีศรีธรรมราช. (2554).  หอพระวิหารสูง.https://www.facebook.com/KANLAYANEE.SI.THAMMARAT.SCHOOL.OFFICIAL/photos/a.197155833698864/379361828811596/
  • สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช. (2562). โบราณสถานหอพระสูง (พระวิหารสูง). https://www.facebook.com/nakonsrifad14/posts/530001227599463/

 

Series Navigation<< พระเจ้าตากสินกับวัดเขาขุนพนมวัดแจ้งวรวิหาร >>

Visits: 2008

This entry is part 3 of 6 in the series ตามรอยพระเจ้าตาก

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.