พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เทวดาเมืองคอน

พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เทวดาเมืองคอน

ประวัติ

พ่อท่่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เทวดาเมืองคอน

หลวงพ่อคล้าย จันทสุวัณโณ  หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” นามตามสมณศักดิ์ท่านคือ “พระครูพิศิษฐ์อรรถการ” ถือเป็นบุคคลสำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช  เคยเป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดสวนขัน จังหวัดนครศรีธรรมราช สิ่งที่ทุกคนรู้จักเมื่อเอ่ยถึงท่าน คือ “วาจาสิทธิ์”  ไม่ว่าท่านจะพูดสิ่งใดออกมาล้วนเป็นจริงดั่งวาจาที่กล่าว” จนได้รับการขนานนามว่า “พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์” ท่านมักจะให้พรกับทุกคนว่า “ขอให้เป็นสุข เป็นสุข” ซึ่งในทางกลับกันทุกคนจะกลัวคำตำหนิของของท่าน เพราะท่านมี “วาจาสิทธิ์” คำพูดของท่านไม่ว่าจะเป็นคำพร หรือคำตำหนิ จะเป็นจริงดั่งคำที่ท่านพูด นอกจากนั้นท่านยังเป็นนักพัฒนาบำเพ็ญประโยชน์แก่บ้านเกิดเมืองนอน ตลอดจนจังหวัดและประเทศอื่น ๆ ท่านได้เข้าเป็นช่วยเหลือสร้างวัดวาอาราม สร้างถนน สร้างสะพาน เป็นต้น จนได้รับการยกย่องว่าเป็น “เทวดาเมืองคอน”

 หลวงพ่อคล้าย ท่านไม่ใช่คนธรรมดา อาจเป็นเทวดามาเกิดก็ได้


(สมเด็จพระสังฆราชอยู่ ญาโณทโย วัดสระเกศ  กล่าวถึงพ่อท่านคล้าย ไว้ในหนังสือ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์  เขียนโดย ษรวัฒน์ หน้า 36)

ชาติกำเนิด

มีชื่อ-สกุลเดิมว่า “คล้าย สีนิล” เกิดวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419, จ.ศ. 1238 และ ร.ศ.95  ตรงกับวันอังคารขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด ซึ่งในปีนั้นตรงกับวันมาฆบูชา สำหรับเรื่อง วัน เดือน ปี เกิด ของพ่อท่านคล้ายนั้นข้อมูลจากหลาย ๆ แห่ง มีความไม่ตรงกันในเรื่องเดือนเกิด บางตำราว่า ท่านเกิดเดือนมีนาคม บางตำรากล่าวว่าท่านเกิดเดือน กุมภาพันธ์ จึงเป็นที่สับสนกัน  มากว่าท่านเกิดเดือนไหนกันแน่ ซึ่งจากหนังสือเรื่อง “พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ เขียนโดย ษรวัฒน์ (หน้าที่ 37-45)” ได้รวบรวมข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง และจากหนังสือประวัติพ่อท่านคล้ายของพระราชวราภรณ์ (เจิม กันตสีโล) วัดราชาธิวาส กรุงเทพมหานคร ซึ่งเขียนไว้เมื่อ 10 กันยายน พ.ศ. 2521 ซึ่งถือว่าเป็นหนังสือประวัติของพ่อท่านคล้ายเล่มแรก ๆ และได้สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมจาก “นายสิริ พาณิชย์กุล ซึ่งเป็นฆารวาสที่ใกล้ชิดพ่อท่านคล้ายระบุไว้ว่า พ่อท่านคล้ายเกิดวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419 พร้อมหลักฐานสนับสนุนจากอีกหลาย ๆ แหล่ง และมีข้อสรุปได้ว่า พ่อท่านคล้ายเกิด “เกิดวันอังคารที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2419 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด ซึ่งในปีนั้นตรงกับวันมาฆบูชา””

พ่อท่านคล้าย
ปฏิทินจันทรคติไทยเป็น ปีอธิกมาศ (เดือนแปดสองหน) ซึ่งวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำเดือนสี่ (๔) เป็นวันวันมาฆบูชา

สถานที่เกิด : บ้านโคกทือ หมู่ที่ 2 ตำบลช้างกลาง  กิ่งอำเภอช้างกลาง (สมัยปัจจุบันคือ ตำบลหลักช้าง อำเภอช้างกลาง) จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายอินทร์ นางเหนี่ยว สีนิล ท่านมีพี่สาว 1 คน ชื่อนางเพ็ง สีนิล ซึ่งต่อมาได้แต่งงานกับนายซ้าย เพ็ชรฤทธิ์ แต่ไม่มีบุตรสืบสกุล มีแต่บุตรบุญธรรมท่านหนึ่งชื่อว่า นายครื้น เพ็ชรฤทธิ์

อุปนิสัย : มีลักษณะเป็นเอกบุรุษครบถ้วน คือเป็นคนมีมานะอดทน ขยันหมั่นเพียร อยู่ในศีลในธรรม อยู่ในโอวาทคำสั่งสอนของบิดามารดาและครูบาอาจารย์อย่างเคร่งครัด สุภาพ เรียบร้อย ว่านอนสอนง่าย นิสัยอ่อนโยนละมุนละไม จึงเป็นที่รักของบิดามารดา ครูอาจารย์และญาติมิตรเป็นอันมาก

เมื่ออายุประมาณ 15 ปี ได้เกิดเหตุการณ์สำคัญขึ้นในชีวิตของท่าน จากการที่พ่อท่านคล้ายได้เดินทางไปอยู่กับพี่เขยคือ นายซ้าย เพ็ชรฤทธิ์ ที่บ้านมะม่วงเอน อำเภอคลองท่อม จังหวัดกระบี่ และได้ช่วยงานถางป่า ทำไร่ กับพี่เขย ซึ่งในขณะที่พี่เขยได้โค่นต้นไม้ “บุกหยวก” ได้เกิดอุบัติเหตุคือไม้ล้มลงไปทางพ่อท่านคล้ายและได้ทับเท้าซ้ายขตั้งแต่ตาตุ่มลงไป ทำให้กระดูกนิ้วเท้า สามนิ้วแตกละเอียดรักษาไม่หาย เป็นหนอง ด้วยกำลังใจที่เด็ดเดี่ยว พ่อท่านคล้ายได้ใช้มีดปาดตาลตัดปลายเท้าออกด้วยตัวเองและใช้ยาพอกจนหายเป็นปกติ ซึ่งยาสมุนไพรที่ใช้พอก คือ ต้นหงส์เทศ และ ใบสาบเสือ เมื่อรักษาแผลหายดีแล้วท่านได้ตัดกระบอกไม้ไผ่ใส่แทนเท้าซ้ายที่ตัดไป

การศึกษา

เมื่อท่านอายุได้ 10 ขวบ ได้รับการศึกษาในเบื้องต้นที่บ้านโดยมีบิดาเป็นผู้สอน ได้เรียนวิชาคำนวณตลอดถึงวิชาอักษรโบราณภาษาขอม เพราะสมัยก่อนตำราต่าง ๆ มักจะจดบันทึกเป็นภาษาขอม เช่น ตำราอักขระนอโมกอขอ  หนังสือปฐมกอกา และหนังสือปฐมมาลา เป็นต้น จนสามารถอ่านออกเขียนได้อย่างชำนาญ ทั้งหนังสือไทยและหนังสือขอม ต่อมาบิดาของพ่อท่านคล้ายได้นำไปฝากให้ศึกษาต่อในสำนักนายขำ ที่วัดทุ่งปอน บ้านโคกทือ จนจบหลักสูตร

พ่อท่านคล้ายได้ฝึกหัดเล่นหนังตะลุงกับนายทองสาก ประกอบกับท่านมีหน้าตาดี น้ำเสียงไพเราะ จึงมีคนติดใจการเล่นหนังตะลุงของท่านมาก ตัวอย่างบทกลอนที่ใช้เล่นหนังตะลุง มีดังนี้ (ษรวัฒน์, [2555], น. 48)

 “เอาใบยอมาห่อให้นาง                เอาใบยางมากางให้นุช

สัพพะลอกอกวน                      นะแม่นวลเนื้อหงส์….เชิดบท

“ไปดูหน้าทรงศักดิ์  ทรงศักดิ์ พระจักรพงศ์ พระสุวรรยะหงส์ พี่ทองเหอ เขาจะงามปานไหน”

อุปสมบท

ท่านได้บวชเป็นสามเณร ณ วัดวังม่วง ตำบลฉวาง อำเภอฉวาง โดยมีอาจารย์ทอง ปทุมสุวัณโณ เจ้าอาวาสวัดวังม่วง เป็นอาจารย์สอนให้เรียนหนังสือไทย หนังสือขอมและวิชาเลข จนมีความเชี่ยวชาญ พ่อท่านคล้ายได้บวชเป็นสามเณอยู่ 2 พรรษา แล้วลาสิกขาออกไปอยู่บ้านประกอบกิจการงานต่าง ๆ

ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ อุทกุกเขปสีมา หรือศาลาน้ำ วัดวังม่วง ได้รับฉายาว่า “จันทสุวรรณโณ” หมายถึง ผู้มีวรรณะงดงามดุจพระจันทร์ โดยมีพระครูกราย คงคสุวณฺโณ เจ้าอาวาสวัดหาดสูงเป็นพระอุปัชฌาย์  พระอาจารย์สังข์ สิริรัตตโน เจ้าอาวาสวัดไม้เรียง เป็นพระกรรมวาจารย์   พระอาจารย์ทอง ปทุมสุวัณโณ วัดวังม่วงเป็นพระอนุสาวจารย์ และมีพระอาจารย์ล้อม ถิรโชโต เป็นผู้ให้สรณคมและศีล หลังจากอุปสมบทได้แล้วได้ไปจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งปอนหรือวัดจันดี การศึกษาสมัยอุปสมบทตามลำดับดังนี้  :

  • พุทธศักราช 2441 ได้เข้าศึกษาพระปริยัติธรรม แผนกบาลี เรียนมูลกัจจายนะ ในสำนักพระครูกาแก้ว (ศรี) ณ วัดหน้าพระธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช จบหลักสูตรมูล แปลบาลีได้ศึกษาอยู่เป็นเวลา 2 พรรษา

  • พุทธศักราช 2443 ได้ศึกษาทางวิปัสสนากัมมัฏฐานที่วัดสามพัน  ตำบลอีปัน อำเภอพระแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยมีอาจารย์หนูเจ้าอาวาสเป็นผู้สอน

  • พุทธศักราช 2445 พ่อท่านคล้าย ได้กลับมาอยู่จำพรรษาวัดหาดสูง ใกล้ตลาดทานพอ ตำบลไม้เรียง อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมีพระครูกราย ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของพ่อท่านคล้าย เพื่อศึกษาวิปัสสนาและไสยศาสตร์ โดยเหตุที่พระครูกราย เป็นอาจารย์ฝ่ายวิปัสสนาและทรงวิชาคุณทางไสยศาสตร์ในสมัยนั้น จนพ่อท่านคล้ายมีความรู้ความชำนาญเป็นอย่างดีโดยได้รับการถ่ายทอดวิชาความรู้จากพระครูกรายในทุก  ๆ ด้าน ดังนี้ การทดสอบด้านอารมณ์ การนั่งวาสหรืออยู่วาส การถ่ายทอดดวงวิญญาณ และ สามารถห้ามฝนไม่ให้ตกในสถานที่ที่จำกัดได้ นอกจากนั้นในช่วงที่พ่อท่านคล้าย ได้จำพรรษาที่วัดหาดสูง พ่อท่านได้ช่วยสร้างพระประธาน พร้อมพระโมคคัลลานะและพระสารีบุตรพระอัครสาวก ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถวัดหาดสูง

  • พุทธศักราช 2447 พ่อท่านคล้าย ได้ไปจำพรรษาที่วัดมะขามเฒ่า อำเภอระโนด จังหวัดสงขลาเพื่อศึกษาบาลีและพระอภิธรรมเพิ่มเติม และพ่อท่านได้ใช้เวลาว่างซ่อมแซมปฏิสังขรณ์พระพุทธรูปเก่าแก่ที่ปรักหักพังในวัดมะขามเฒ่าให้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

  • พุทธศักราช  2448  พ่อท่านคล้ายกลับจากวัดมะขามเฒ่า มาจำพรรษาอยู่ที่วัดทุ่งปอน (จันดี) ตลอดเวลาที่ท่านจำพรรษา ณ ที่ใดก็ตาม ท่านได้ศึกษาค้นคว้าภาษาบาลี วิชาโหราศาสตร์ และเจริญวิปัสสนากรรมฐาน ติดต่อกันมาโดยมิได้ประมาท ด้านการก่อสร้างก็ได้สร้างวัดและปูชนียวัตถุตามวัดต่าง ๆ ไว้มากมาย

  • พุทธศักราช  2448   พระปลัดคงเจ้าอาวาสวัดสวนขันได้ลาสิกขาบท คณะอุบาสกอุบาสิกาขอวัด ได้ร่วมกันเสนอไปยังพระครูกลาย เจ้าคณะแขวงฉวาง ขอให้แต่งตั้งพ่อท่านคล้ายเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ตำบลละอาย อำเภอฉวาง ซึ่งพระครูกลายได้เสนอไปยังเจ้าคณะเมือง คือ ท่านเจ้าคุณพระรัตนรัชมุนี จึงได้แต่งตั้งพ่อท่านคล้ายเป็นเจ้าอาวาสวัดสวนขัน ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งมรณภาพ

สมณศักดิ์

  • พุทธศักราช 2498   พ่อท่านคล้ายได้รับการสถาปนาสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นตรี มีราชทินนามว่า “พระครูพิศิษฐ์อรรถการ”

  • พุทธศักราช  2445    ได้รับพระราชทานเลื่อนสมณศักดิ์เป็นพระครูชั้นพิเศษในนามสมณศักดิ์เดิม คือ “พระครูพิศิษฐ์อรรถการ” (พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์) 

  • พุทธศักราช   2500  เป็นเจ้าอาวาสวัดธาตุน้อย อันเนื่องจากมีการสร้างถนนผ่ากลางวัดจันดีหรือวัดทุ่งปอน ทำให้วัดถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนประชาชนได้ประชุมตกลงสร้างวัดใหม่ในเนื้อที่ที่แยกออกไป เรียกว่าวัดธาตุน้อย และแต่งตั้งให้ท่านเป็นเจ้าอาวาส เมื่อท่านมรณภาพไปแล้ววัดนี้ก็เป็นที่ประดิษฐานสรีระของท่านไว้ในโลงแก้ว
พ่อท่านคล้าย
องค์เจดีย์ วัดธาตุน้อย

มรณภาพ

พุทธศักราช  2513

         เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2513 ตรงกับแรม 9 ค่ำ เดือน 12 ปีจอ พ่อท่านคล้ายได้มรณะภาพลงด้วยอาการสงบ รวมสิริอายุได้ 96 ปี เมื่อบำเพ็ญกุศลศพครบ 100 วัน ทางคณะศิษยานุศิษย์จึงได้บรรจุสรีระของท่านไว้ในโลงแก้ว โดยประดิษฐานอยู่ในองค์พระเจดีย์ในวัดธาตุน้อยจนถึงปัจจุบันนี้

พ่อท่านคล้าย
สรีระ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ณ องค์เจดีย์ วัดธาตุน้อย
พ่อท่านคล้าย
สรีระ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ ณ องค์เจดีย์ วัดธาตุน้อย

ทุกคนมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่ง
ทำกรรมดีก็ได้ดี ทำกรรมชั่วก็ได้ชั่ว

(คำสอนของพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ : ภูวิทิต อำนักมณี  จากบทนำหนังสือ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์  เขียนโดย ษรวัฒน์)

หลวงพ่อคล้าย ท่านไม่ใช่คนธรรมดา อาจเป็นเทวดามาเกิดก็ได้

(สมเด็จพระสังฆราชอยู่ ญาโณทโย วัดสระเกศ  กล่าวถึงพ่อท่านคล้าย ไว้ในหนังสือ พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์  เขียนโดย ษรวัฒน์ หน้า 36)

ผลงานของท่าน

พ่อท่านคล้ายเป็นพระนักพัฒนา นักบำเพ็ญประโยชน์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้นำในการสร้างวัด พระเจดีย์ พระพุทธรูป ปฏิสังขรณ์บูรณะศาสนสถานเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น สร้างวัด พ่อท่านคล้ายเห็นความสำคัญของปูชนียสถาน จึงได้สร้างวัดขึ้นหลายแห่ง ได้แก่ วัดมะปรางงาม ตำบลละอาย อำเภอฉวาง วัดสวนขัน วัดพระธาตุน้อย หรือคนทั่วไปเรียกว่า วัดพ่อท่านคล้าย เป็นต้น  พ่อท่านทำงานโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย  ทำทุกอย่างเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ท่านได้พัฒนาสิ่งต่าง ๆ มากมาย ในหลาย ๆ สถานที่ อาทิเช่น สร้างถนน สร้างสะพาน สร้างบ่อน้ำ เป็นต้น ประชาชนชาวนครศรีธรรมราชเลื่อมใสศรัทธาพ่อท่านคล้ายมากและยกย่องให้เป็น “เทวดาเมืองคอน” ซึ่งผลงานของพ่อท่านคล้ายพอสรุปดั้งนี้

    • สร้างถนนทั้งหมด 20  สาย

    • สร้างสะพานจำนวน  15  แห่ง

    • สร้างพระพุทธปฏิมากร เป็นพระประธานในพระอุโบสถจำนวน  10 องค์

    • สร้างโรงพระอุโบสถ   15  แห่ง

    • ช่วยจัดการเป็นประธานในการผูกพัทธสีมา ฝังลูกนิมิต  14  วัด

    • สร้างวัดจำนวน  4  วัด

    • สร้างพระเจดีย์    9  เจดีย์

ลักษณะของพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ เทวดาเมืองคอน เป็นพระนักสร้าง พระนักพัฒนา ท่านจะสร้างสาธารณประโยชน์ สาธารณกุศล สร้างวัด สร้างถนน สร้างโรงเรียน สร้างสะพาน ไว้ให้กับคนหมู่มากทั้งทางโลกและทางธรรม   มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านภาษา การคิดคำนวณ ด้านการสวดปาฏิโมกข์ ด้านวิปัสสนาและทรงวิชาคุณทางไสยศาสตร์  มีสัจจะวาจาสิทธิ์ เมื่อได้กล่าว พูด สิ่งใดออกไปแล้วจะเป็นจริงตามนั้นทุกประการ  สามารถหยุดรถไฟไม่ให้ออกจากชานชลาได้ สามารถห้ามฝนไม่ให้ตกในสถานที่ที่จำกัดได้ ทุก ๆ คนที่ไปกราบไหว้ท่านนอกจากการไปกราบไหว้ท่านเพื่อขอพรแล้ว  ก็หวังจะได้สิ่งมงคลจากท่าน ไม่ว่าจะเป็น  ชานหมาก เหรียญ ผ้ายันต์ น้ำมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต และพ่อท่านคล้ายจะสอนทุกคนว่า “ทุกคนมีกรรมเป็นแดนเกิด มีกรรมเป็นผู้ติดตาม มีกรรมเป็นที่พึ่ง ทำกรรมดีก็ได้ดี ทำกรรมชั่วก็ได้ชั่ว”  และจะให้พรกับผู้ที่ไปกราบไหว้ ด้วยหน้าตาที่ยิ้มแย้มแจ่มใส สงบ เยือกเย็น ว่า “ให้เป็นสุข เป็นสุข”

ข้อมูลอ้างอิง

ดำรงธรรม. [2552]. ตามรอยพระอริยเจ้า พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์. ไทยควอลิตี้บุ๊คส์

วิโรจน์ คงจันทร์. พ่อท่านคล้าย อมตมหาเถราจารย์ เทวดาแห่งเมืองคอน. https://travel.trueid.net/detail/7jKNN4m7rON3

มัสการขอพรหลวงพ่อคล้าย วาจาสิทธิ์ วัดธาตุน้อย จ.นครศรีธรรมราช (ไปเช้า-เย็นกลับ)https://pantip.com/topic/ 36239885?fbclid=IwAR3iZ2FYXz7HIM Selb1snax00qkwCzdWK9-lzCZ4wC-7Bj9q1legF05iWYY

พ่อท่านคล้าย เทพเจ้าแดนใต้. https://siamrath.co.th/n/334303

ประวัติตำนาน พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิเทพเจ้าแห่งเมืองนคร. https://www.komchadluek.net/amulet/542619

ประวัติพ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์. (2562). https://www.mokkalana.com/5794/

ประวัติ “พ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์” ตอนที่ 2 วิธีการสร้างปลอกเท้า. https://www.komchadluek.net/amulet/542990

ประวัติโดยสังเขป เทพเจ้าแห่งตลาดคลองจันดี พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์. https://www.facebook.com/photo/?fbid=385179164965834&set=a.385179148299169

ษรวัฒน์. [2555]. พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์. คณะบุคลกัลปพฤกษ์.

อนุสรณ์เมืองนคร พ่อท่านคล้าย วาจาสิทธิ์ : เนื่องในวโรกาศ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พระชนมายุ 84 พรรษา. [2555]. องค์การบริหารส่วนจังหวัด

               นครศรีธรรมราช

Visits: 2255

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.