พระเจ้าตากสินกับวัดเขาขุนพนม


พระเจ้าตากสิน
กับวัดเขาขุนพนม

ที่อยู่ : หมู่ที่ 3 ที่ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช (ห่างจากตัวเมือง 24 กิโลเมตร)

เนื้อที่ : มีเนื้อที่ทั้งหมด 35 ไร่ 

นิกาย : มหานิกาย

ประเภทวัด : วัดราษฎร์

ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด : เมื่อปีพุทธศักราช 2330

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : เมื่อปีพุทธศักราช 2360

ประวัติวัด

วัดเขาขุนพนม ชื่อเดิมคือ “วัดคุมพนม ตามหลักฐาน วัดสร้าง (ผูกพัทธสีมา) เมื่อปี พ.ศ.  2330 ที่ตั้งของวัดมีทั้งส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นราบ และส่วนที่ตั้งอยู่ในถ้ำบนเขาขุนพนม ดังนั้น  หากใช้คำว่า “วัดเขาขุนพนม” ก็จะกินความรวมไปถึงถ้ำบนเขาขุนพนม หรือเวลาใช้คำว่า “เขาขุนพนม” ก็จะหมายความถึงส่วนที่เป็นวัดที่ตั้งอยู่บนพื้นราบด้วย เพราะอยู่ในบริเวณเดียวกัน คือ ในบริเวณเขาขุนพนม (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 169) วัดแห่งนี้มีเสนาสนะสมบูรณ์ คือ มีพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น. 56) มีเจ้าอาวาสเริ่มตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบันจำนวน 11 รูป ได้แก่

  1. พระอธิการกัณฑ์      พ.ศ. 2475-2476 
  2. พระศรีทอง              พ.ศ. 2476-2477
  3.  พระเนื่อง                  พ.ศ. 2477-2480
  4.  พระเป้า บุปผโก       พ.ศ. 2480-2489
  5.  พระหลับ                  พ.ศ. 2489-2491
  6.  พระดาบ                  พ.ศ. 2491-2493   (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น. 56) 
  7. พระครูวิบูลย์พนมรักษ์ หรือ “พ่อท่านกลาย” มีนามเดิมว่า “กลาย มณีสุวรรณ” เกิดเมื่อวันพุธ ปีขาล เดือนห้า พุทธศักราช 2444 ที่บ้านเพชรจริก ตำบลศาลามีชัย อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช โยมบิดามารดาชื่อนายรอด และนางสีเงิน มณีสุวรรณ มีพี่สาวร่วมบิดามารดาเพียงคนเดียว คือนางสายทอง (มณีสุวรรณ) คล้ายจินดา อาชีพทำนาความรู้สามัญชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ความรู้ทางธรรมสอบได้นักธรรมโท เคยศึกษาสายสามัญชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่โรงเรียนเบญจมราชูทิศอยู่ระยะหนึ่ง แต่มีเหตุต้องหยุดกลางคัน (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น. 179-180) ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสในปี พ.ศ. 2493-2540 และเริ่มบูรณะวัดเขาขุนพนมอีกครั้งในปี พ.ศ. 2498 และในสมัยท่านนั้นเอง วัดเขาขุนพนมเริ่มเป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอก หลังจากที่ถูกปกปิดมาตลอดตั้งแต่หลังจากที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสิ้นพระชนม์ไป นอกจากการเริ่มบูรณะวัดแล้ว พ่อท่านกลายยังได้ออกสำรวจวัตถุโบราณในถ้ำบนเขาขุนพนมด้วย เมื่อเรื่องที่ท่านพบวัตถุโบราณได้ทราบถึงบุคคลภายนอก ก็เริ่มมีผู้คนหลั่งไหลกันเข้ามากราบไหว้บูชาขอพร  และนอกจากท่านจะได้เป็นผู้สำรวจถ้ำบนเขาขุนพนมเป็นคนแรกๆ แล้ว หลังจากท่านได้พบวัตถุโบราณเป็นจำนวนมากบนเขาขุนพนม ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 ท่านได้รวมศรัทธาญาติโยมสร้างบันได 245 ขั้น ขึ้นเขาขุนพนม และต่อมาในปี พ.ศ. 2535 ท่านก็ได้สร้างราวบันไดพญานาค ขึ้นสู่เขาขุนพนมจนเสร็จสมบูรณ์ดังที่ปรากฏอยู่ทุกวันนี้ ทำให้การขึ้นไปกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในถ้ำบนเขาขุนพนม ทำได้สะดวกอย่างที่เป็นอยู่จนกระทั่งปัจจุบัน และในปี พ.ศ. 2538 ท่านสัมพันธ์ ทองสมัคร ก็ได้สร้าง ตำหนักนั่งบัลลังก์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บริเวณด้านซ้ายของซุ้มประตูพญานาคที่จะขึ้นไปบนเขา เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่า บริเวณลานหินแห่งนี้ เชื่อกันว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยออกนั่งบัลลังก์สมัยที่เสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม
  8. พระครูธรรมธรจักรี (จักร ขันติพโล) ช่วงประมาณหลัง พ.ศ. 2540
  9. พระครูสมุห์ธงชัย ช่วงประมาณก่อน พ.ศ. 2545     
  10. พระครูปิยะคุณาธาร  เป็นเจ้าอาวาสที่มีความเกี่ยวพันกับวัดมากอีกหนึ่งท่าน ซึ่งท่านมารับหน้าที่เป็นเจ้าอาวาส ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2545 เป็นต้นมา จุดเริ่มต้นในการมาที่วัดแห่งนี้ เต็มไปด้วยเรื่องที่อธิบายไม่ได้ด้วยเหตุผลเชิงประจักษ์แบบวิทยาศาสตร์เก่า  นับตั้งแต่ท่านได้รับนิมิตครั้งแรก สมัยเป็นทหารเกณฑ์ จนกระทั่งการสร้างพระบรมราชานุสาวรรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่เกิดขึ้นในสมัยที่ท่านมาดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ตลอดจนการมาถึงของคณะผู้ที่เลื่อมใสศรัทธาองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่หลั่งไหลมาจากทั่วสารทิศทั้งในประเทศและต่างประเทศมากกว่า 200 คณะ จึงอาจกล่าวได้ว่า วัดเขาขุนพนมในยุคปัจจุบัน เป็นยุคที่พระราชประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้รับการเผยแพร่ออกสู่สังคมภายนอกมากที่สุด  ท่านพระครูปิยะคุณาธาร พื้นเพเป็นคนกระบี่ โดยการเกิด โยมพ่อเป็นคนสงขลา โยมแม่เป็นคนนครศรีธรรมราช แต่ท่านไปเกิดที่กระบี่ ในวัยเกณฑ์ทหาร ได้ประจำการเป็นทหารเรือที่สัตหีบ หลังปลดประจำการได้ทำงานที่มาบตาพุด ระยอง แต่ในช่วงทำงานได้ลาบวช 15 วัน แต่การบวชในครั้งนั้น ก็ทำให้ท่านบวชยาวนานมาก (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 177-178) 
  11. พระครูธรรมธร (แมน จนทธมโม)  เจ้าอาวาสคนปัจจุบันของวัดเขาขุนพนม ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

วัดเขาขุนพนม เป็นวัดที่ประทับของพระเจ้าตากสินในจังหวัดนครศรีธรรมราช วัดนี้เป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติ ศาสตร์และโบราณคดี มีถ้ำซึ่งมีกำแพงก่ออิฐถือปูนและในเสมาเช่นเดียวกับกำแพงเมือง ในถ้ำมีพระพุทธรูปสำริดประมาณ 30 องค์และมีหลายถ้ำทะลุถึงกัน อย่างไรก็ตามเป็นที่เชื่อกันในหมู่คนท้องถิ่นว่า เป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินขณะทรงผนวช

ตามประวัติเชื่อกันว่า เขาขุนพนม เคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายหลังจากสิ้นรัชกาลของพระองค์ มีผู้สันนิษฐานว่าพระเจ้าตากสินทรงมิได้ถูกประหารชีวิต อย่างที่พงศาวดารกล่าวอ้าง แต่ได้ทรงสับเปลี่ยนพระองค์กับพระญาติหรือทหารคนสนิท แล้วเสด็จมายังนครศรีธรรมราช มีการเตรียมการโดยมีการสร้างป้อมปราการ ทำเชิงเทิน ป้อมวงกลมตามชะง่อนผา เพื่อให้พระเจ้าตากสินได้ประทับเมื่อทรงผนวชเจริญวิปัสนากรรมกรรมฐาน ณ วัดเขาขุนพนมจนเสด็จสวรรคต แต่บางกระแสกล่าวว่าเขาขุนพนม สร้างโดยพระยาตรังภูมาภิบาลเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สำหรับพักตากอากาศที่เขาขุนพนมจึงมีการสร้าง ป้อมปราการคอยป้องกันอย่างแน่นหนา

ชาวเขาขุนพนมมีความเชื่อเรื่องพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จหนีมาประทับที่เขาขุนพนม จึงได้ร่วมมือกันสร้างพระตำหนักสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บริเวณชะง่อนหินเชิงเขา ซึ่งเป็นบริเวณที่เชื่อว่าพระองค์ ประทับขณะผนวชอยู่ ประชาชนที่ยังระลึกถึงวีรกรรม และความกล้าหาญในการกู้เอกราชชาติไทยในสมัยเสีย กรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 ได้ร่วมกันสร้างพระบรมสาทิสลักษณ์ ทั้งในเพศบรรชิต และชุดฉลองพระองค์นักรบ แล้วอัญเชิญมาไว้ในศาลให้ผู้คนที่ศรัทธาได้มากราบไหว้ ปัจจุบันจึงมีประชาชนจากทั่วสารทิศมาเขาขุนพนมอยู่เสมอ เพื่อตามรอยพระเจ้าตากสินมหาราช

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเขาขุนพนม มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดเตี้ย ๆ มีต้นไม้ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น บนภูเขามีถ้ำหินปูน ที่มีโพรงหินงอกหินย้อย ลักษณะของภูเขาวางตัวอยู่ในแถบเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 750 เมตร กว้างตามแนวทางทิศตะวันออก-ตะวันตก ประมาณ 500 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 43 เมตร ส่วนยอดเขาสูง จากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 165 เมตร ทางทิศใต้ของภูเขาเป็นทางลาดชัน ทางทิศเหนือเป็นไหล่เขา ทางทิศตะวันตกเป็นสวนมังคุดและสวนยางพารา ทางทิศตะวันตกเป็นโรงเรียนและวัดเขาขุนพนม เขาขุนพนมมีจุดเด่นอยู่ที่วัดเขาขุนพนมซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของเขาขุนพนม ประวัติการก่อสร้างไม่ปรากฏ แต่หลักฐานประเภทโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ สามารถบ่งชี้ได้ว่า วัดเขาขุนพนม น่าจะสร้างขึ้นในตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา,  2564)

ลักษณะเด่น

วัดเขาขุนพนม มีความสำคัญทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์เนื่องจากมีถ้ำที่มีกำแพงก่ออิฐเหมือนกำแพงสมัยโบราณ -ผนังของวัดด้านหน้าเป็นลวดลายปูนปั้นประดับด้วยเครื่องลายครามของจีน -ในบริเวณถ้ำมีพระพุทธรูป 30 องค์และพระพุทธบาทสำริด (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2564)

โบราณวัตถุสำคัญในบริเวณวัดเขาขุนพนม  มีโบราณวัตถุจำนวนมาก ดังนี้ (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 238-282)

1. รอยพระพุทธบาทจำลองเขาขุนพนม  เป็นรอยพระพุทธบาทที่แกะสลักไว้บนไม้เนื้อแข็ง สองแผ่นมาประกบกัน นักโบราณคดียืนยันตรงกันว่า เป็นไม้เทพทาโร รอยพระพุทธบาทนี้น่าจะเป็นโบราณวัตถุเพียงชิ้นเดียว ซึ่งในตำนานเล่าว่า มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เมืองนครศรีธรรมราชที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยสำนักศิลปากรที่ 12 จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้โบราณวัตถุชิ้นนี้ เป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักที่สุด ที่สามารถยืนยันได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมาประทับที่เมืองนครศรีธรรมราช จนกระทั่งสิ้นพระชนม์จริงๆ

รอยพระพุทธบาทเขาขุนพนม หากจะนับเฉพาะลายที่เป็นภาพเล็ก มีทั้งหมด 108 แต่หากรวมลายที่เป็นภาพใหญ่อีก 2 ภาพ คือ ภาพวงปี 15 วง และ ภาพมณฑล กลางรอยพระพุทธบาทส่วนล่างอีก 1 ภาพ ก็จะทำให้รอยพระพุทธบาทเขาขุนพนม มีภาพทั้งหมด 110 ภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่เกี่ยวกับตำนานการเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม เมืองนครศรีธรรมราช

รอยพระพุทธบาทนี้ในปัจจุบันได้เก็บไว้ที่อาคารพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช

2. ยักษ์แคระบนเขาขุนพนม ตั้งอยู่หน้าทางเข้าห้องกรรมฐานบนลานหน้าพระ เขาขุนพนม ตำนานเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้ช่างที่ติดตามพระองค์มาปั้นขึ้น

3. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในห้องบรรทม บนลานหน้าพระ บนเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำมาจากกรุงธนบุรี เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

4. พระนอนบนเขาขุนพนม ประดิษฐานอยู่ในห้องกรรมฐาน ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บนลานหน้าพระ บนเขาขุนพนม ตำนานเล่าว่าเป็นพระประจำวันเกิดของพระองค์ที่ทรงให้ช่างปั้นขึ้น

5. พระยอดธงวัดเขาขุนพนม พบในถ้ำบนถ้ำตากฟ้า บนเขาขุนพนม ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน ใช้เป็นพระประจำยอดธงไชยเฉลิมพลเวลาออกรบ

6. เครื่องทองเหลืองโบราณ พบในถ้ำบนถ้ำตากฟ้า บนเขาขุนพนม ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า เป็นเครื่องใช้ในห้องเครื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม

7. เครื่องลายครามโบราณ พบในถ้ำบนถ้ำตากฟ้า บนเขาขุนพนม ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า เป็นเครื่องใช้ในห้องเครื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม

8. กระด้งไม้ไผ่โบราณ พบในถ้ำบนถ้ำตากฟ้า บนเขาขุนพนม ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า เป็นเครื่องใช้ในห้องเครื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม

 

สถานที่สำคัญต่างๆ ของวัดเขาขุนพนม

1. ซุ้มประตูวัดเขาขุนพนม หรือ เรียกว่า ซุ้มประตูสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ซุ้มประตูดังกล่าวจะมีขนาดกว้าง 5 เมตร สีขาว ตั้งตระหง่านตรงทางเข้าวัดเขาขุนพนม ด้านบนตรงกลางซุ้มประตูใหญ่ เป็นรูปเจดีย์ทรงระฆังคว่ำ มีเจดีย์ใหญ่ตรงกลาง แล้วมีเจดีย์บริวาร 4 องค์ ส่วนด้านบนทางเข้าเล็กทั้งสองด้าน มีเจดีย์ทรงระฆังคว่ำข้างละ 1 องค์ ใต้ฐานเจดีย์บนซุ้มประตูใหญ่ มีพญานาคข้างละ 4 เศียร ประดับไว้อยู่ เจดีย์นี้สร้างเมื่อปี พ.ศ. 2555 สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2559 เพื่อถวายสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพื่อถวายเกียรติแด่พระองค์ท่าน เพื่อให้สมฐานะกับเขาขุนพนมเป็นเมืองสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ข้างบนซุ้มประตูได้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้ด้วย นอกจากนั้นกำแพงประตูทางด้านซ้ายมือ ยังออกแบบให้เหมือนกำแพงเมืองสมัยโบราณ มีป้อมปราการ และปืนใหญ่โบราณประจำการไว้ด้วย 1 กระบอก (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 189)

 

ซุ้มประตูวัดเขาขุนพนม หรือ เรียกว่า ซุ้มประตูสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

2. สระน้ำพระเจ้าตาก  เมื่อเดินผ่านซุ้มประตูเข้าไป จะพบสระน้ำโบราณอยู่ทางด้านซ้ายมือ สระนี้ขุดตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนมเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว สำหรับเป็นที่สรงน้ำของสมเด็จพระเจ้าตากสินและข้าราชบริพาร สระน้ำโบราณนี้จึงมีความเกี่ยวข้องกับพระองค์โดยตรง (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 190)

3. หอพระพระเจ้าตาก เป็นหอพระที่สร้างขึ้นมาในภายหลัง แต่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เพราะเป็นสถานที่ที่มีผู้เข้ามากราบไหว้เพื่อระลึกถึงพระคุณของพระองค์อีกที่หนึ่ง และนับว่าเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา  หอพระพระเจ้าตากสินนี้จะอยู่ห่างจากสระน้ำพระเจ้าตากไปอีกราว 50 เมตร จะเป็นอาคารแบบชั้นเดียว อยู่ด้านซ้ายมือ ทอดยาวไปริมเชิงเขา ในหอพระนี้จะมีพระพุทธรูปปางจักรพรรดิ รูปปั้นเกจิอาจารย์ หลวงปู่ดู่ หลวงปู่เทพโลกอุดร ปู่ชีวก และพระพุทธรูปปางต่างๆ ที่ผู้มีศรัทธานำมาถวาย (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 190-191)

4. บ่อน้ำพระเจ้าตาก เมื่อเดินสุดหอพระไป จะพบบ่อน้ำโบราณ อยู่เยื้องกับหอพระทางด้านขวามือ เป็นบ่อน้ำโบราณที่ขุดขึ้นตั้งแต่สมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมาประทับอยู่ที่เขาขุนพนมเมื่อ 200 กว่าปีมาแล้ว เพื่อใช้ดื่มในสมัยนั้น ปัจจุบันกลายเป็นบ่อน้ำมนต์ไปแล้ว เวลามีพิธีศักดิ์สิทธิ์ที่จัดขึ้นในเมืองนครศรีธรรมราช ก็จะใช้น้ำจากบ่อน้ำนี้ไปร่วมพิธีด้วย ตามตำนานกล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นเดือนเมษายน น้ำก็ไม่แห้ง เป็นน้ำที่มีแร่ธาตุถึง 6 ชนิด มีความเกี่ยวข้องกับพระองค์ในเรื่องการค้นหาแหล่งน้ำเพราะพระองค์ทรงเป็นผู้อธิษฐาน แล้วเสี่ยงทายหาที่ขุดบ่อน้ำนี้ (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 191-192)

5. สถูปเจดีย์เก็บอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช   เป็นสถานที่เก็บอัฐิของพระองค์ ได้มีการจัดสร้างขึ้นมาใหม่ มีพิธีวางศิลาฤกษ์สถูปเจดีย์นี้พร้อมกับฐานอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อวันอาทิตย์ที่ 22 เดือนมีนาคม พ.ศ. 2563 ตรงกับแรม 4 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด (ข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของวัดเขาขุนพนม) ภายในสถูปมีความสวยงาม และพระบรมรูปรูปปั้นของพระองค์ไว้เพื่อให้ประชาชนได้กราบสักการะบูชา และได้แล้วเสร็จเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

สถูปเจดีย์บรรจุอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

พระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในสถูปเจดีย์บรรจุอัฐิของพระองค์

6. อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ถัดจากบ่อน้ำศักดิ์สิทธิ์ ทางด้านทิศตะวันตก จะเป็นที่ตั้งของพระบรมราชานุสาวรีย์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งอนุสาวรีย์เดิมนั้นสร้างแล้วเสร็จ และมีการประดิษฐานพระบรมรูปของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในปี พ.ศ. 2554 (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 193)  และในปี 2563 ที่ผ่านมาได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ขึ้นมาใหม่ และได้แล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนี้ นับว่าเป็นสถานที่สักการะ รำลึงถึงพระมหากรุณาธิคุณของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และขุนทหารของพระองค์ที่ได้เสียสละแก่ชาติบ้านเมืองอย่างใหญ่หลวง

อนุสาวรีย์ที่สร้างขึ้นใหม่แทนที่เดิมนั้น ตั้งอยู่บริเวณลานวัดติดกับสถูปเจดีย์เก็บอัฐของสมเด็จพระเจ้าตากสิน (แต่เดิมนั้นสร้างไว้ติดกับมณฑปพ่อท่านกลาย) ซึ่งพระบรมรูปทรงม้านี้ ได้จัดสร้างขึ้นใหม่แทนตำแหน่งเดิม เพื่อความหมาะสมมากขึ้น  ลักษณะของพระบรมรูปทรงม้านี้จะมีรูปปั้นของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ ทหารองครักษ์คนสนิททั้ง 4 ท่าน ล้อมรอบพระองค์อยู่ ได้แก่ หลวงพรหมเสนา พระยาเชียงเงิน สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และ พระยาพิชัยดาบหัก

 

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (อยู่ติดกับสถูปเจดีย์เก็บอัฐิของพระองค์)

สำหรับพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินในการเสด็จมาพำนัก ณ วัดเขาขุนพนม ได้มีตำนานกล่าวไว้ดังนี้ คือ (ข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของวัดเขาขุนพนม)

พุทธศักราช 2277 สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช  ทรงพระราชสมภพในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ บิดาไทฮอง มารดาชื่อนางนกเอี้ยง ในวันคลอดปรากฏว่า อสุนีบาท ฟ้าผ่าลงมาที่เสาตั้งของเรือน คลอดอายุ 3 วัน มีงูเหลือมขนาดใหญ่เข้าไปขดอยู่ในกระด้งมีลักษณะเป็น ทักษิณาวรรตเวียนไปทางขวา อายุ 4 วัน เจ้าพระยาจักรีโรงฆ้อง ตำแหน่งราชการ สมุหนายก ผู้มีอำนาจสูงสุดในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ รับไปอุปการะเป็นบุตรบุญธรรม ตั้งชื่อให้ว่า สิน พุทธศักดราช 2284 อายุ 7 ปี เข้าสำนักการศึกษากับ พระอาจารย์มหาเถร ทองดี แห่งวัดโกษาวาสนี้ พุทธศักราช 2293 เจ้าพระยาจักรีโรงฆ้อง นำเด็กชายสินเข้าถวายตัวเป็นมหาดเล็ก รับราชการอยู่เวรหลวงนายศักดิ์ ในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกษฐ์ พุทธศักราช 2298 อายุ 21 ปี อุปสมบท ณ วัดโกษาวาสนี้

พุทธศักราช 2301 ขณะจาริกรับบาตร ซินแสทำนายว่า พระภิกษุสิน จะได้เป็นกษัตริย์ ลาสิกขาบทบวช 3 พรรษา แล้วกลับเข้ารับราชการตามตำแหน่งเดิมมหาดเล็ก พุทธศักราช 2302 มหาดเล็กรายงานสิน อายุ 25 ปี ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานตำแหน่งเลื่อนยศ หลวงยกกระบัตรเมืองตากสินเป็นเจ้าตาก พุทธศักราช 2309 นำทหาร 500 คน ตีฝ่าวงล้อมพม่า ออกจากกรุงศรีอยุธยา มุ่งหน้าสู่เมืองจันทบูร

พุทธศักราช 2310 เสียกรุงศรีอยุธยาให้แก่พม่า เมื่อวันที่ 7 เมษายน พุทธศักราช 2310 นพศก จุลศักราช 1129 กอบกู้เอกราชชาติไทยได้สำเร็จ เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2310 ตรงกับวันศุกร์ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน จุลศักราช 1129 เวลาบ่ายโมงเศษ อพยพผู้คนมาสร้างเมืองใหม่ที่ ตำบลบางกอก เมืองธนบุรี ยกทัพไปปราบพม่า ณ ค่ายจีนบางกุ้ง สมุทรสงคราม พุทธศักราช 2311 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แห่งกรุงธนบุรีศรีมหาสมุทร แก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ ปราบชุมนุมเจ้าพิมายสำเร็จเป็นชุมชนแรก พุทธศักราช 2323 โปรดให้เจ้าฟ้ากรมขุนอินทรพิทักษ์ เจ้าจุ้ย สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก เจ้าพระยาสุรสีห์ ยกทัพไปปราบจราจลในเขมร พุทธศักราช 2324 กล่าวอ้าง สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีมหาราช ทรงมีสัญญาวิปลาส ทำบ้านเมืองและระส่ำ สมณะพราหมณ์ชี ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชน ได้รับความเดือดร้อนทั่วทุกหย่อมหญ้า พุทธศักราช 2327  มีเรื่องราวปรากฎ “ตาแป๊ะหนวดยาว” บำเพ็ญสมณะธรรม ณ ถ้ำเขาขุนพนม ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช ความเชื่อของชาวบ้านว่าภายหลังได้ทรงพระผนวชเป็นภิกษุ จนสิ้นพระชนม์ในบั้นปลายชีวิต พระราชศรัทธาที่มีต่อพุทธศาสนา ทรงสร้างพระอุโบสถมหาอุตม์ พระนอนปางสีหไสยาสน์ ศิลปะภาพวาดในถ้ำที่มีพระองค์ทรงนั่งพระกรรมฐาน

สำหรับประวัติของทหารเอกทั้ง 4 ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น ได้แก่ (ข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของวัดเขาขุนพนม)

หลวงพรหมเสนา เกิดเมื่อวันอังคาร เดือน 6 ปีมะโรง พุทธศักราช 2279 ณ บ้านเชียงของ จ.ตาก บิดาท่านสืบเชื้อสายมาจากเมืองเชียงของ หลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตย ประชาชนลาว หลวงพรหมเสนารับราชการมีความสามารถและได้ใกล้ชิดสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีที่ร่วมรบกันมาตั้งแต่แหกค่าย หลวงพรหมเสนาเป็นนักรบที่มีความสามารถสูงและไม่ย่อท้อในการศึก ภายหลังสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีได้ทรงตั้งกรุงธนบุรีเป็นราชธานีก็ทรงพระราชทานยศบรรดาศักดิ์ให้เป็น “พระพรหมเสนา” เมื่อเสร็จศึกเจ้าฝาง บ้านเมืองเริ่มเป็นปึกแผ่น สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เสด็จพระราชดำเนินกลับลงมายังเมืองพิษณุโลก ทรงได้จัดพิธีสมโภชพระมหาธาตุและพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ ร่วมสามวัน แล้วจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งข้าหลวงเดิม ซึ่งมีความชอบในการสงคราม

พระยาท้ายน้ำ (พระเชียงเงิน) เดิมเป็นเจ้าเมืองเชียงเงิน หัวเมืองชั้นจัตวาขึ้นกับเมืองระแหง พระยาเชียงเงินมีเชื้อสายจีนเข้ามาสวามิภักดิ์พระยาตาก และร่วมรบตั้งแต่ครั้งตีฝ่าทัพพม่าออกมาจนถึงจันทบุรี และเป็นเจ้าเมืองคนหนึ่งที่โปรดปรานให้มาเฝ้าเพื่อทรงสั่งสอน “วิธีการ” ต่อสู้กับศัตรู ในคราวที่ทรงต่อสู้กับอริราชศัตรูที่เมืองระยองนั้น ได้มีบันทึกว่า “พระยาเชียงเงิน” เป็น “พระยาท้ายน้ำ” ครั้นเมื่อปราบปรามก๊กต่างๆ ทางเมืองเหนือได้ราบคาบแล้วทรงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้พระยาท้ายน้ำรั้งเมืองสุโขทัย ท่านเป็นทหารหาญคนสนิทที่ได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยยิ่ง พระเชียงเงินไม่ได้หนีออกจากกรุงศรีอยุธยามาพร้อมกับพระเจ้าตากแต่มาพบในภายหลัง พระเชียงเงินน่าจะมีทรัพย์สิน ศฤงคารและบริวารมากพอสมควร มีช้างมาถวายพระเจ้าตากมีบรรดาศักดิ์เป็น “พระ” ก็สูงกว่าบริวารทั้งหมดของพระเจ้าตาก

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระนามเดิมว่า “บุญมา” บุตรคนเล็กของพระพินิจอักษร (ทองดี) และคุณดาวเรือง ประสูติเมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2286 ในแผ่นดินพระบรมโกศ เป็นสมเด็จพระอนุชาร่วมพระชนกชนนี ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงเริ่มรับราชการครั้งกรุงศรีอยุธยา ข้าศึกเกรงขาม และขนานนามว่า “พระยาเสือ” มาตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ถึงรัชกาลที่ 4 สวรรคตวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2346 ด้วยพระโรคนิ่ว

เป็นขุนพลคู่พระทัย ได้ตรากตรำทำศึกขับเคี่ยวข้าศึก ด้วยความเด็ดเดี่ยว เข้มแข็ง กล้าหาญ ตอนนั้นได้ขยายอาณาเขตไปกว้างขวางกว่าสมัยใดๆ ด้านศาสนาทรงสังคายนา พระไตรปิฎก ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ ทรงผนวชวัดนี้ 7 ราตรี เป็นแม่กองสร้างมณฑป พระพุทธบาท ตรงอัญเชิญพระพุทธสิหิงส์ จากจังหวัดเชียงใหม่ มาประดิษฐาน ณ พระราชวังบวรฯ พ.ศ. 2330

พระยาพิชัยดาบหัก เดิมชื่อ “จ้อย” บิดามารดาทำนาอยู่บ้านห้วยคาหลังเมืองพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ มีพี่น้องร่วมกัน 4 คน เสียชีวิตที่เดียว 3 คน ด้วยโรคไข้ทรพิษ นิสัยชอบชกมวย วัยเรียนบิดาฝากกับพระครูวัดมหาธาตุ (เมืองพิชัย) พลาดพลั้งต่อยบุตรเจ้าเมืองเสียชีวิตจึงหนี ได้เปลี่ยนชื่อเป็น “ทองดี” ฝึกมวยกับครูเที่ยง วัดท่าเสา สมญานามว่า “นายทองดีฟันขาว” (เนื่องจากไม่กินหมาก) ได้ไปเรียนฟันดาบที่เมืองสวรรคโลก ฝึกจนเชี่ยวชาญ จึงเดินทางไปสุโขทัยต่อเมืองตาก ระหว่างทางเกิดเหตุให้ต้องฆ่าเสือด้วยมืดเพียงเล่มเดียว ต่อมาชกมวยคาดเชือกดังโจษขาน  ได้ยินไปถึงเจ้าเมืองตาก ท่านจึงชักชวนให้เข้ามารับใช้ใกล้ชิด เมื่ออายุครบก็บวชเรียนให้ นายทองดีเทิดทูนเจ้าเมืองตากเป็นบิดาคนที่ 2 ทัพพม่าเข้าตีเมือง นายทองดีติดตามเจ้าเมืองตากตีฝ่าทหารพม่า ตั้งฐานทัพที่วัดพิชัยนอกเมือง หลังจากนั้นกรุงศรีอยุธยาก็แตกเสียกรุง วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2310 ต่อมาทัพเจ้าเมืองตากยกทัพจากเมืองจันทบูรณ์ โดยทางน้ำเข้าทางปากน้ำสมุทรปราการขึ้นไปตีเมืองธนบุรีที่มั่นสุดท้ายของพม่าจนได้ชัยชนะ เจ้าเมืองตากขึ้นเป็นสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สร้างพระนครที่เมืองธนบุรี ปลายปี พ.ศ. 2310 และราชาภิเษก พ.ศ. 2311 โปรดเกล้าแต่งตั้งพระยาพิชัยเป็น “พระยาศรีหราชเดโช” หรือเรียก “ออกญาศรีสุริยะราชาไชย” จนสิ้นแผ่นดินพระเจ้ากรุงธนบุรี ในสงครามรักษาหน้าที่ในการรบ แม้ดาบจะหักก็ต่อสู้จนทัพพม่าแตกพ่ายนับตั้งแต่นั้นจึงได้ชื่อว่า “พระยาพิชัย (ดาบหัก)”

 

7. มณฑปพ่อท่านกลาย   บริวเณด้านหลังพระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจะเป็นที่ตั้งของมณฑปพ่อท่านกลาย ชาวบ้านเรียกว่ามณฑปหลวงปู่กลาย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548  มณฑปนี้มีการเก็บสรีระสังขารของหลวงปู่กลายไว้ในโลงแก้วไม่เน่าเปื่อย เหมือนคนกำลังนอนหลับปกติ ซึ่งหลวงปู่กลาย ท่านเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดเขาขุนพนมแห่งนี้ ท่านมรณภาพสิริอายุรวม 94 ปี  กล่าวกันว่าท่านเป็นผู้ที่สามารถรับนิมิตร และก็พบสิ่งที่ติดตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมา ก็คือสิ่งของเครื่องใช้ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็จะเป็นวาจาสิทธิ์ด้วยเช่นกัน  และด้วยเหตุว่าท่านเป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกการเปิดเผยเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสู่โลกภายนอกเขาขุนพนม จนกระทั่งมาถึงยุคที่พระครูปิยะคุณาธารมาสานต่อ จนกระทั่งมีบุคคลจากทั่วสารทิศทั้งในและต่างประเทศเดินทางมาที่วัดเขาขุนพนมเป็นจำนวนมากในปัจจุบันนั่นเอง (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 194-195)

8. โบสถ์มหาอุตม์  ทางด้านหลังของมณฑปพ่อท่านกลาย จะเป็นที่ตั้งของโบสถ์มหาอุตม์ ซึ่งเป็นโบสถ์โบราณแบบไม่มีหน้าต่าง มีแต่ช่องลม และมีประตูทางเข้าทางด้านข้างเพียงประตูเดียว ซึ่งผิดกับโบสถ์ทั่วไป ที่จะมีประตูเข้าจากด้านหลัง และมีหน้าต่าง โบสถ์นี้เป็นโบสถ์ที่พระเจ้าตากสินทรงออกแบบสร้างตามตำราพิชัยยุทธ์ด้วยพระองค์เอง เมื่อ 200 กว่าปี มาแล้ว โบสถ์นี้เป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินอย่างมาก ด้วยเมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ พระองค์ได้สร้างโบสถ์ด้วยพระองค์เอง แล้วเป็นผู้ใช้โบสถ์นี้ คือใช้ปฏิบัติธรรม เมื่อทรงสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ยังเป็นที่พักพระสรีระของพระองค์ด้วย (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 195-197)

9. ถ้ำเหวตากฟ้า อยู่บริเวณภายในวัดเขาขุนพนม อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ต้องเดินขึ้นบันไดพญานาคไปจำนวน 245 ขั้น ก่อนจะแยกเข้าไปในถ้ำที่ต้องลงบันไดไปอีกครั้งหนึ่ง
          บริเวณถ้ำจะอยู่ทางลงจากบริเวณหน้าถ้ำและภายในถ้ำ ระดับความลึกประมาณ 20 เมตร สามารถจุคนได้ประมาณ 1,000 คน ลักษณะภายในถ้ำจะมีปล่องแสงส่องลงให้ความสว่างภายในถ้ำและอากาศถ่ายเทได้สะดวก มีความกว้างโถง มีความสวยงามและน่าอัศจรรย์ เงียบสงบร่มเย็นเหมาะแก่การเจริญวิปัสสนากรรมฐานซึ่งในสมัยพระองค์ทรงประทับอยู่จะใช้ประชุมเหล่าทหารและใช้ในการปฏิบัติวิปัสนากรรมฐานซึ่งภายในถ้ำจะมีปล่องระบายอากาศ สามารถออกได้หลายทางและสามารถมองเห็นทางออกถ้ำทางด้านบนและทางด้านข้างได้ ซึ่งมีความปลอดภัย มีทหารยามคอยเฝ้าดูแลอยู่ด้านล่างถ้าหากมีศัตรูขึ้นมาก็จะเห็น  และทางวัดได้ค้นพบอิฐมอญโบราณและพระพุทธรูปโบราณต่างๆ เช่น พระพุทธรูปทองคำ พระพุทธรูปบุเงินบุทองเป็นเนื้อเงินยวง เนื้อสำริด ทั้งขนาดเล็กขนาดใหญ่ เป็นจำนวนมาก ประมาณเป็นพันๆ กว่าองค์ ค้นพบในถ้ำด้านบนและได้นำมาเก็บในพิพิธภัณฑ์เป็นบางส่วน ปัจจุบันได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา และใช้ประกอบกิจพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยเป็นองค์ประธานสูง 9 เมตร เป็นองค์ประธานพระนามว่าพระพุทธรูปตากสินศรีสรรเพชญ์ธรรมมิราชมหาราชา และมีพระพุทธรูป 2 องค์ ด้านซ้ายเป็นพระพุทธรูปองค์ปฐม สูง 5 เมตร ส่วนด้านขวาเป็นพระพุทธรูปเชียงแสน สูง 5 เมตร (ข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของวัดเขาขุนพนม)

ตามตำนานเชื่อว่าถ้ำเหวตากฟ้า คือถ้ำที่อยู่ของพญานาค และเป็นถ้ำที่สามารถเชื่อมต่อกับเมืองลับแลได้ ซึ่งที่นี่จะเป็นที่บูชา พญานาคราช บริเวณถ้ำจะมีงูบองหลา (หรืองูจงอาง) มีหงอนสีดำ สีขาว อาศัยอยู่ ใครมานั่งสมาธิถ้ามีญาณหยั่งรู้ก็จะเห็น และใครมีบุญวาสนาหรือมีสัมพันธ์กับสมเด็จพระเจ้าตากสินก็จะหยั่งรู้หรือระลึกชาติในลักษณะของการนิมิตรและชี้จุดการเกิดเหตุในช่วงเวลาต่าง ๆ ที่ผ่านมาภายในถ้ำได้ เคยมีคนมาขโมยพระพุทธรูปและตัดเคียรพระพุทธรูป เพราะนึกว่ามีของดีอยู่ในพระแต่คนเหล่านั้นก็มีอันเป็นไปหรือไม่ของที่ขโมยไปทุกชิ้นก็ต้องนำมาคืนทุกครั้งเนื่องจากเกิดอาถรรพ์กับสิ่งต่าง ๆ ที่ขโมยไปจนไม่สามารถครอบครองสิ่งของที่ขโมยไปเป็นสมบัติส่วนตัวได้ ครั้งหนึ่งได้มีพระท่านหนึ่งมานั่งปฏิบัติวิปัสนากรรมฐาน แล้วเห็นเป็นลำแสง ทอดไปด้านบน พอขึ้นไปดู มีเป็นห้องโถง เก็บพระเก่าโบราณ และเก็บไว้ในกรมศิลปากร เป็นของเขาวัดเขาขุนพนม

          นอกจากนี้ในปัจจุบันทางวัดเขาขุนพนมได้ทำการปรับปรุงบันไดทางลงไปถ้ำเหวตากฟ้า ด้วยการก่อบันไดเป็นอิฐถือปูน ให้มีความแข็งแรง สะดวกและปลอดภัยในการขึ้นลงมากขึ้น และเมื่อลงไปถึงถ้ำก็จะเจอกับพระพุทธรูปพระมหาจักรพรรดิ องค์สีขาวที่ได้จัดสร้างไว้ด้วย ตั้งตะหง่านอยู่ด้านข้างใกล้ๆ กับบันได เพื่อสักการะขอพร ก่อนจะเดินลงไปยังลานกว้างภายในถ้ำ  สิ่งที่เป็นจุดสนใจอีกอย่างของถ้ำเหวตากฟ้านี้ นอกจากพระพุทธรูปทั้งหมดแล้ว ก็คือ น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลลงมาจากด้านบนของหินน้ำย้อยที่มีลักษณะคล้ายกับกรดพระสงฆ์ไหลลงมา อย่างไม่ขาดสาย ทางวัดได้นำโอ่งดินเผา มาวางไว้รับน้ำมนต์เพื่อให้ผู้เข้าไปชมได้นำไปบูชา ปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายตามความเชื่อ และภายในถ้ำมีการนำอิฐ หิน ดิน ทรายหล่อพระพุทธรูปปางมารวิชัยเพิ่มบริเวณผนังถ้ำจำนวนหลายรูป และคนที่ได้ลงไปภายในน้ำจะมีการนำหินภายในถ้ำที่มีลักษณะต่าง ๆ มาจัดเรียงทำเป็นพีระมิด คล้าย ๆ ทหารหลายนายยืนเรียงกันบริเวณโถงถ้ำเพราะมีความเชื่อว่าการได้ก่อหินในลักษณะดังกล่าวจะเป็นมงคลชีวิตกับตนเอง ทำให้หน้าที่การงานสูงขึ้น

 

พระพุทธรูปสีเหลืองทอง ปางมารวิชัยเป็นองค์ประธานสูง 9 เมตร เป็นองค์ประธานพระนามว่าพระพุทธรูปตากสินศรีสรรเพชญ์ธรรมมิราชมหาราชา
และมีพระพุทธรูป 2 องค์ ด้านซ้ายเป็นพระพุทธรูปองค์ปฐม สูง 5 เมตร ส่วนด้านขวาเป็นพระพุทธรูปเชียงแสน สูง 5 เมตร

 

บริเวณภายในถ้ำที่มองจากด้านนอกก่อนเข้าไปภายในถ้ำ

 

น้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ที่ไหลลงมาจากผนังด้านบนของหินน้ำย้อยในถ้ำ

 

บันไดที่ได้ปรับปรุงให้สะดวกในการขึ้นลงภายในถ้ำมากขึ้น

10. ลานหน้าพระสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่บนเขาบริเวณใกล้หน้าผาหินเป็นสุดปลายทางของบันไดพญานาค จากด้านล่างถึงด้านบนจำนวนขั้นบันได 245 ขั้น เป็นเพิงผาหินขนาดใหญ่ ปากถ้ำหันไปทางทิศเหนือ บริเวณในถ้ำสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ เป็นถ้ำขนาดเล็กมีพระพุทธรูปแกะสลักลงหิน ปางสีไสยาสน์สมัยพระองค์มาประทับอยู่เพื่อในการปฏิบัติกรรมฐานและมีร่องรอยภาพวาดมังกรวาดด้วยหมึกจีน ด้านนอกถ้ำมีกระเบื้องลายครามจีนสมัยราชวงศ์ชิงค์ได้นำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์เป็นบางส่วนและมีรูปปั้นราหูอมจันทร์อยู่ฝาผนังกำแพงหลัง พระพุทธรูปซึ่งเป็นส่วนเขตพระราชฐานและมียักษ์บริวารถือกระบอกเข้าหน้าถ้ำ 2 ตน เป็นศิลปะแบบจีนแต่ในปัจจุบันได้ถูกทำลายไปหลายส่วน ด้านขวา มีกำแพงก่ออิฐถือปูนสูงประมาณ 2 เมตร ภายในมีพระพุทธรูป ปางมารวิชัย สมัยอยุธยา ส่วนด้านนอกซ้ายมือ ได้สร้างเพิ่มเติมเป็นขั้นบันได ทางขึ้นเพื่อใช้ในการกราบสักการะรอยพระบาทของพระสัมมาพระพุทธเจ้าซึ่งจะมีระฆังอยู่ทางขึ้นบันไดเป็นขั้นๆ ปัจจุบันบริเวณลานหน้าถ้ำใช้ในกิจของพระสงฆ์ในการปฏิบัติกรรมฐานและใช้ในการกราบสักการะสำหรับประชาชนผู้มีศรัทธาต่อพระองค์ท่าน (ข้อมูลการประชาสัมพนธ์ของวัดเขาขุนพนม)

 

ลานหน้าพระของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

บริเวณห้องบรรทมหลังลานหน้าพระของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

บริเวณห้องปฏิบัติกรรมฐานของลานหน้าพระสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

บริเวณลานหน้าพระสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

 

11. พระตำหนักทรงศีล  ตั้งอยู่บริเวณใกล้หน้าผาหิน ระยะทางจากบันไดพญาญาคด้านล่างถึงตำหนักทรงศีล 177 ขั้น ซึ่งบริเวณแห่งนี้ในสมัยที่องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงประทับอยู่ ได้มีคณะของเจ้าจอมมารดาปราง (มารดาของพระยานครศรีธรรมราช (น้อย)) ในเมืองนครศรีธรรมราชได้นำเครื่องคาวหวาน จัดสำรับด้วยถ้วยลายครามโบราณ นำถวายพระองค์ท่านด้านบน ซึ่งเป็นเขตพระราชฐานและทางวัดได้ค้นพบถ้วยเมื่อ พ.ศ.2515 (สมัยหลวงปู่กลาย) และเป็นที่ปฏิบัติธรรมของแม่ชีพราหมณ์ ตำหนักทรงศีลสร้างขึ้น พ.ศ. 2548 เป็นศิลปะแบบกรุงธนบุรี ปัจจุบันเป็นที่ประทับของพระพุทธรูป องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แบบทรงศีลขาว-ห่มขาว เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงในสมัยที่พระองค์ปกครองกรุงธนบุรี เมื่อถึงวันพระ 8 ค่ำ 15 ค่ำ พระองค์จะทรงถือศีลพระอุโบสถ เพื่อปฏิบัติพระกรรมฐาน (ข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของวัดเขาขุนพนม)

 

พระตำหนักทรงศีล

 

12. พระตำหนักทรงบัลลังก์องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตั้งอยู่บริเวณชะง่อนหินใกล้เชิงเขา บริเวณแห่งนี้เชื่อกันว่าเป็นที่ประทับขณะทรงผนวชอยู่ แต่กุฏิหลังเดิมหักพังจนไม่สามารถสันนิษฐานสภาพเดิมได้ ในปี พ.ศ. 2538 ทางวัดได้ก่อสร้างพระตำหนักขึ้นใหม่เป็นศาลาโถง ภายในประดิษฐานพระบรมรูปองค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงบัลลังก์เพื่อสักการะบูชาและระลึกถึงพระราชกรณียกิจที่พระองค์ทรงพระกรุณาต่อไพล่ฟ้าประชาชนให้เกิดความร่มเย็นเป็นสุข ตลอดระยะเวลา 15 ปี เช่น ทรงบูรณะวัดวาอารามต่าง ๆ ทรงสังคายนาพระไตรปิฎกที่ถูกพม่าเผาทำลาย และด้านการค้าขายติดต่อกับต่างประเทศ (ข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของวัดเขาขุนพนม)

 

พระตำหนักทรงบัลลังก์องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (มองจากทางด้านหลัง)

 

พระตำหนักทรงบัลลังก์องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช

13. พระบรมรูปทรงม้า ตั้งอยู่บริเวณก่อนขึ้นบันไดพญานาค จะพบพระบรมรูปทรงม้าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ประดิษฐานอยู่ทางด้านซ้ายของบันไดพญานาค พระบรมรูปทรงม้านี้เกิดจากการที่มีพุทธบริษัทผู้มีจิตศรัทธาได้นำมาถวายเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2558 (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 207)

14. เตาหุงข้าวโบราณ  พอเดินผ่านหน้าพระบรมรูปทรงม้า ผ่านทางขึ้นพระตำหนักทรงบัลลังก์ไปแล้ว จะได้พบกับหลักฐานสำคัญอีกชิ้นหนึ่งอยู่ทางด้านขวามือที่ยืนยันการเสด็จมาถึงเขาขุนพนมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช นั่นคือ เตาหุงข้าวโบราณขนาดใหญ่ที่ก่อด้วยอิฐ (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 208)

15. สระน้ำโบราณ หรือ สระนางเลือดขาว ลักษณะรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้างประมาณ 5 เมตร ความยาวประมาณ 10 เมตร อยู่ติดกับซุ้มประตูเจดีย์ห้า  พระองค์ตากสินรานุสรณ์ ตามตำนานกล่าวว่าสระน้ำแห่งนี้ มีไว้สำหรับบาทบริจาริกา (หญิงที่มีหน้าที่รับใช้ปฏิบัติ พระเจ้าแผ่นดิน) นางสนมกรมใน หรือที่ชาวบ้านเรียกอีกอย่าง ว่านางเลือดขาว ซึ่งเป็นหญิงที่ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใช้ชำระร่างกายกัน และเชื่อว่า นางเลือดขาว หรือ หม่อมปราง นั้นเอง ที่เชื่อเช่นนั้น เพราะมีผิวขาวเป็นเพราะมีเชื้อสายจีนฝ่ายมารดา คันน้ำถูกปล่อยลงมาทางเชิงเขาขุนพนมนั้นเอง ด้วยเหตุนี้ผู้มีจิตศรัทธาต่อหม่อมปราง ได้ร่วมสร้างพลับพลาถวายให้เป็นที่ประดิษฐานรูปหล่อให้ประชาชนได้มากราบไหว้บูชาจนถึงปัจจุบันนี้ (ข้อมูลการประชาสัมพันธ์ของวัดเขาขุนพนม)

16. พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช : ตำหนักประมุขสงฆ์ อาคารดังกล่าวตั้งอยู่บริเวณด้านตรงข้ามกับศาลาการเปรียญ ติดกับบริเวณร้านขายสินค้า หากเข้าไปจากซุ้มประตูเข้าวัด จะอยู่ทางด้านขวามือ ตรงกับลานจอดรถ ซึ่งการก่อสร้างพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช ณ วัดเขาขุนพนม เป็นความคิดริเริ่มของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อคราวเดินทางมาปฏิบัติสังฆกิจแทนพระองค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 โดยได้เสนอแนะผ่านนายสัมพันธ์ ทองสมัคร ว่าในเมื่อมีการก่อสร้างพระตำหนักน้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี (พระยศในขณะนั้น) ณ สถานที่ใกล้เคียงกับวัดเขาขุนพนมอยู่แล้ว สมควรจะได้จัดสร้างพระตำหนักถวายสมเด็จพระสังฆราชอีกหลังหนึ่ง เพื่อความสอดคล้องและเสริมส่งซึ่งกันและกันของมหามงคลสถานทั้งสอง เมื่อความแห่งข้อเสนอแนะดังกล่าวทราบถึงพุทธศาสนิกชนต่างก็ยินดี ประกอบกับพิจารณาแล้วเห็นว่าหากมีการจัดสร้างพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราชที่วัดเขาขุนพนม ก็จะเป็นถาวรวัตถุที่ก่อสร้างในมงคลวโรกาสเฉลิมฉลองพระชนมายุ 84 พรรษา แห่งองค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกอีกด้วย ทุกฝ่ายจึงสนับสนุนความดำริของเจ้าประคุณพุฒาจารย์ จึงได้ดำเนินการก่อสร้างพระตำหนักดังกล่าวขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2541  (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น.90-91)

17. พิพิธภัณฑ์วัดเขา : คลังมรดกช่างท้องถิ่น  อาคารพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนมตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระอุโบสถ เป็นอาคารคอนกรีต (ค.ส.ล.) ชั้นเดียว หลังคาทรงจั่วออกมุขคู่ ด้านหน้ายกพื้นสูง ปัจจุบันได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ และมีคุณค่าตามประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลายชิ้นซึ่งล้วนพบที่เขาขุนพนม โบราณวัตถุส่วนใหญ่ได้มาจากถ้ำพระยาตากและถ้ำข้างเคียง จัดเก็บรวบรวมไว้โดยไม่ได้จำแนกหมวดหมู่ และไม่ได้จัดแสดงบนแท่นฐานหรือตู้ถาวร (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น.115) ปัจจุบันจะเปิดให้ชมเฉพาะในกรณีพิเศษเท่านั้น แต่สามารถมองผ่านกระจกชมโบราณวัตถุได้

ปูชนียวัตถุ ที่ได้มาจากถ้ำบนภูเขาขุนพนม ประกอบด้วย (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น.115-120)

1. พระพุทธรูปปางประทานอภัย ประทับยืนบนฐานบัวหงาย รองด้วยฐานแปดเหลี่ยม ยกพระหัตถ์หนี่งข้าง ห่มคลุม มีไรพระศก รัศมีเป็นเปลวติดเศียร ฐานทำใหม่ ซ่อมที่ด้านหลัง ขนาดสูง 122 ซม. ทำด้วยสำริด สร้างโดยฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

2. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบ นิ้วพระหัตถ์ขวามีเส้นพาด ข้อพระกรเป็นสันคู่พาดผ่านตักถึงฐาน  มีเส้นคาดเอวสังฆาฏิเป็นรอยขีดยาวจรดเอว ด้านหลังถึงเอว ไม่มีไรพระศก สภาพชำรุด ซ่อมที่เศียรฐานไม่มี ขนาดหน้าตัก 19 ซม. สูง 31 ซม. ทำด้วยสำริด สร้างโดยฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

3. พระพุทธรูปทรงเครื่องเล็ก ปางสมาธิราบ ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานปัทม์ มีลวดลายชำรุด ยอดมงกุฏหัก ด้านหลังมีรอยแตกขนาดหน้าตัก 135 ซม. ฐานกว้าง 16 ซม. สูง 26 ซม. ทำด้วยสำริด สร้างโดยฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์

4. พระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานปัทม์สังฆาฆิเป็นรอยชัด ยาวจดพระนาภี มีไรพระศก เม็ดพระศกเป็นเม็ดสาคูรัศมีเป็นเปลว เศียรด้านหลังชำรุด ด้านหลังมีรอยแตกตั้งแต่ฐานขึ้นไปจนถึงเข่าด้านขวา ขนาดหน้าตัก 11 ซม. ฐานกว้าง 12 ซม. สูง 21.5 ซม. ทำด้วยสำริด สร้างโดยฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

5. พระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งบนฐานปัทม์ สังฆาฏิหยักมีรอยหลุด แยกเป็นชายผ้าพาดผ่านแขนลงจดฐาน ชำรุด เศียรหัก ตักด้านขวาแตก ฐานหักหาย ขนาดหน้าตักกว้าง 14 ซม. ฐานกว้าง 14 ซมงบ ฐานกว้าง 14 ซม. สูง 25 ซม. ทำด้วยสำริด ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

6. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานสูงซ้อนกันสามชั้น มีลวดลายตรงข้างๆ ของแขนทั้งสองข้างผ่านเอว รัศมีเป็นบัวตูมชำรุด รัศมีหลุด หูหักหาย หน้าตักกว้าง 8 ซม. ฐานกว้าง 11.5 ซม. สูง 20 ซม. เป็นพระพุทธรูปบุเงิน ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

7. พระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานปัทม์ ชายสังฆาฏิเป็นรอยตัดยาวจดพระนาภี ด้านหลังยาวเกือบจดฐาน ชำรุด คอหัก หูขวาหักหาย ทำด้วยสำริด ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

8. พระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานปัทม์ ชายสังฆาฏิเป็นรอยตัดยาวจดพระนาภี ด้านหลังยาวเกือบจดฐานชำรุด หูหักหายสองข้าง รัศมีหลุด ขนาดหน้าตักกว้าง 75 ซม. ฐานกว้าง 12 ซม. ฐานสูง 21 ซม. เป็นพระพุทธรูปบุเงิน ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

9. พระพุทธรูปปางสมาธิ ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานปัทม์ ชายสังฆาฏิเป็นรอยตัดยาวจดพระนาภี ด้านหลังยาวเกือบจดฐานชำรุด เศียรหักโกสินทร์หน้าตักกว้าง 21 ซม. ทำด้วยสำริด ฝีมือช่างสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

10. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบ สังฆาฏิเป็นรอยขีดยาวเฉียงกลางองค์ หน้ามีเส้นนูน ปากกว้าง ชำรุด รัศมีหักหาย ฐานไม่มี ขนาดหน้าตักกว้าง 12.5 ซม. ฐานกว้าง 12 ซม. สูง 22 ซม. ทำด้วยสำริด ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

11. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบ มีเส้นของสบงและเส้นพาดแขนนูนผ่านลงจดฐานสังฆาฏิ เป็นรอดตัดยาวจดพระนาภี ด้านหลังเกือบจดฐาน มีไรพระศก รัศมีเป็นตัวตูม ติดเศียรชำรุด ฐานหลุดหาย ขนาดหน้าตักกว้าง 83 ซม. ฐานกว้าง 14 ซม. ทำด้วยทองเหลือง ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย

12. พระพุทธรูปปางห้ามพระแก่นจันทน์ ประทับยืนยกพระหัตถซ้ายห่มคลุม ชำรุด หูขวาหักหาย ขนาดสูง 30.5 ซม. ทำด้วยสำริด ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

13. พระพุทธรูปปางประทานอภัย ประทับยืน ยกพระหัตถ์ขวาห่มคลุมชำรุดหักเป็นสามท่อน คอหัก ข้อพระบาทหัก ขนาดสูง 30 ซม. ทำด้วยสำริด ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงศรีอยุธยา

14. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานบัวคว่ำบัวหงาย มัดองค์รองกับฐานบุเงินอีกชั้นหนึ่ง มีลวดลายตรงเอวผ่าพลอยชำรุด รัศมีหลุดหาย พลอยหลุดหาย มีรอยแตกที่ข้างซ้ายและแนวแขนขวา ประดับทอง ฐานบุเงิน ขนาดหน้าตักกว้าง 9 ซม. ฐานกว้าง 12.5 ซม. สูง 19 ซม. เป็นพระพุทธรูปบุเงิน ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

15. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานบัวหงาย มีลายฐานสิงห์รองรับ บุทองทั้งองค์ ชำรุด มีรอยฉีก ด้านหน้าตลอดถึงแขนบุบทั้งองค์ ขนาดหน้าตักกว้าง 5.3 ซม. ฐานกว้าง 8 ซม. สูง 12.5 ซม. บุทองทั้งองค์ ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

16. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานบัวหงายรองกับฐานเขียง ชำรุดทั้งองค์ มีรอยฉีกตั้งแต่รัศมีลงมาถึงฐานล่างลึกเป็นแอ่งเล็กๆ ขนาดหน้าตักกว้าง 5.5 ซม. ฐานกว้าง 6.5 ซม. สูง 12.5 ซม. บุทองทั้งองค์ ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

17. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานบัวหงาย ชำรุดมีรอยบุบด้านหลัง เข่าซ้ายฉีก รัศมีหลุดหาย ขนาดหน้าตักกว้าง 4 ซม. ฐานกว้าง 4 ซม. สูง 7 ซม. บุทองทั้งองค์ ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น

18. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งบนฐานบัวหงานย ชำรุด บุบทั้งองค์ รัศมีหลุดหาย ขนาดหน้าตักกว้าง 4.2 ซม. ฐานกว้าง 4.2 ซม. สูง 6.3 ซม. บุทองทั้งองค์ ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น

19. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประทับนั่งสมาธิราบอยู่บนฐานเขียงลายบัว ชำรุด นิ้วซ้ายหัก รัศมีหัก มีรอยขีดกลางองค์ที่เอว ขนาดหน้าตักกว้าง 13.5 ซม. ฐานกว้าง 13 ซม. สูง 27 ซม. ทำด้วยหินฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

20. พระพุทธบาท ทำด้วยไม้ มีลวดลายมงคล 108 ประการ ประกอบด้วยไม้สองแผ่น มีลวดลายเป็นโลหะฝังในเนื้อไม้ ขอบสีฟ้า ขนาดสูง 172 ซม. กว้าง 63.5 ซม. ทำด้วยไม้ ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงรัตนโกสินทร์

21. พระพุทธรูปปางประทานอภัย ประทับยืน ยกพระหัตถ์ขวา หินคลุมไม่มีไรพระศก ชำรุด ท่อนพระบาทและปลายนิ้วพระหัตถ์ขวาหักหาย ขนาดสูง 45.5 ซม. ทำด้วยสำริด ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงศรีอยุธยา

22. พระพุทธรูปปางประทานอภัย ประทับยืน ยกพระหัตถ์ขวาห่อคลุม มีไรพระศก รัศมีเป็นเปลวติดเศียร ชำรุด พระหัตถ์ขวาและยอดรัศมีหักหาย ขนาดสูง 30.5 ซม. ทำด้วยสำริด ฝีมือช่างท้องถิ่นสมัยกรุงศรีอยุธยา 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

ศานติ โบดินันท์, สวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ และ ดำรง โยธารักษ์. (2561). พระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงธนและที่เมืองคอน. หน้า 152-282

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช. (2541).  เขาขุนพนม : ชีวิตและวัฒนธรรม. หน้า 50-183

Thailand Tourism Directory กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). วัดเขาขุนพนม.  https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/1872

TourWatThai.com. (2023) ทัวร์วัดไทย.   https://tourwatthai.com/region/south/nakhonsithammarat/watkhaokhunphanom/

ข้อมูลการให้สัมภาษณ์ของคุณจิระ อนุฤทธิ์ เจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของวัดเขาขุนพนม. (สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 3 มีนาคม 2566)

Series Navigation<< วัดเขาขุนพนมหอพระสูง (พระวิหารสูง) : โบราณสถานสำคัญบนถนนราชดำเนิน >>

Visits: 956

This entry is part 2 of 6 in the series ตามรอยพระเจ้าตาก

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.