วัดเขาขุนพนม

วัดเขาขุนพนม

ที่อยู่ : ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช (ห่างจากตัวเมือง 24 กิโลเมตร) เนื้อที่ประมาณ 27 ไร่ 1 งาน

นิกาย : ธรรมยุต

ประเภทวัด : วัดราษฎร์

ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด : เมื่อปีพุทธศักราช 2330

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : เมื่อปีพุทธศักราช 2360

ประวัติวัด

วัดเขาขุนพนม จะสร้างเมื่อใดยังไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีอันได้แก่ โบราณสถาน และโบราณวัตถุในบริเวณวัด สันนิษฐานว่าสคร้างชึ้นในสมัยอยุธยา ประมาณพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นอย่างน้อย    และจากประวัติศาสตร์คำบอกเล่าของชาวนครบางส่วน ทำให้รู้ว่าวัดและเชาขุนพนมเป็นวัดที่ประทับของพระเจ้าตากสินในจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นวัดที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี มีถ้ำซึ่งมีกำแพงก่ออิฐถือปูนและในเสมาเช่นเดียวกับกำแพงเมือง ในถ้ำมีพระพุทธรูปสำริดประมาณ 30 องค์และมีหลายถ้ำทะลุถึงกัน อย่างไรก็ตามเป็นที่เชื่อกันในหมู่คนท้องถิ่นว่า เป็นที่ประทับของพระเจ้าตากสินขณะทรงผนวช  ภายหลังจากสิ้นรัชกาลของพระองค์ มีผู้สันนิษฐานว่าพระเจ้าตากสินทรงมิได้ถูกประหารชีวิต อย่างที่พงศาวดารกล่าวอ้าง แต่ได้ทรงสับเปลี่ยนพระองค์กับพระญาติหรือทหารคนสนิท แล้วเสด็จมายังนครศรีธรรมราช มีการเตรียมการโดยมีการสร้างป้อมปราการ ทำเชิงเทิน ป้อมวงกลมตามชะง่อนผา เพื่อให้พระเจ้าตากสินได้ประทับเมื่อทรงผนวชเจริญวิปัสนากรรมกรรมฐาน ณ วัดเขาขุนพนม จนเสด็จสวรรคต แต่บางกระแสกล่าวว่าเขาขุนพนม สร้างโดยพระยาตรังภูมาภิบาลเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช สำหรับพักตากอากาศที่เขาขุนพนมจึงมีการสร้างป้อมปราการคอยป้องกันอย่างแน่นหนา และเป็นวัดที่เคยเป็นวัดร้างมาก่อน และมีการบูรณะใหม่ในปี พ.ศ. 2475 และมีพระสงฆ์จำพรรษาเรื่อยมา (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น. 58-59)  

ชื่อเดิมคือ “วัดคุมพนม ตามหลักฐาน วัดสร้าง (ผูกพัทธสีมา) เมื่อปี พ.ศ.  2330 ได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ. 2360 วัดเขาขุนพนม วัดนี้ทั้งส่วนที่ตั้งอยู่บนพื้นราบและส่วนที่ตั้งอยู่ในถ้ำบนเขาขุนพนม  (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 169) และวัดเขาขุนพนมเป็นวัดที่มีเสนาสนะสมบูรณ์ คือ มีพระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ และบริเวณวัดยังมีโรงเรียนระดับประถมศึกษา อาคารศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา และหอสมุดเฉลิมราชกุมารีที่มึความพิเศษในด้านรูปลักษณ์และประโยชน์ใช้สอย ได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่เมื่อปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา  ด้วยเหตุที่วัดเป็นวัดเก่าแก่ สะสมเรื่องราวทางประวัติศาตร์ของบ้านเมืองแถบนี้ไว้หลายร้อยปี และมีลักษณะเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่มีอนาคตจึงมีการพัฒนาและให้ดำรงศูนย์กลางทางพุทธศาสนาาของชุมชนแห่งนี้อย่างสมบูรณ์ (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น. 58) 

โดยมีเจ้าอาวาสเริ่มตั้งแต่นั้นจนถึงปัจจุบันจำนวน 11 รูป ได้แก่

  1. พระอธิการกัณฑ์      พ.ศ. 2475-2476 
  2. พระศรีทอง            พ.ศ. 2476-2477
  3.  พระเนื่อง                พ.ศ. 2477-2480
  4.  พระเป้า บุปผโก       พ.ศ. 2480-2489
  5.  พระหลับ                พ.ศ. 2489-2491
  6.  พระดาบ                พ.ศ. 2491-2493   
     (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น. 56) 
  7. พระครูวิบูลย์พนมรักษ์ หรือ “พ่อท่านกลาย” 
  8. พระครูธรรมธรจักรี (จักร ขันติพโล) ช่วงประมาณหลัง พ.ศ. 2540
  9. พระครูสมุห์ธงชัย ช่วงประมาณก่อน พ.ศ. 2545     
  10. พระครูปิยะคุณาธาร 
  11. พระครูธรรมธร (แมน จนทธมโม)  เจ้าอาวาสคนปัจจุบันของวัดเขาขุนพนม ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

ลักษณะเด่น

ลักษณะทางสถาปัตยกรรมเขาขุนพนม มีลักษณะเป็นภูเขาหินปูนลูกโดดเตี้ย ๆ มีต้นไม้ปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น บนภูเขามีถ้ำหินปูน ที่มีโพรงหินงอกหินย้อย ลักษณะของภูเขาวางตัวอยู่ในแถบเหนือ-ใต้ มีความยาวประมาณ 750 เมตร กว้างตามแนวทางทิศตะวันออก-ตะวันตก ประมาณ 500 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 43 เมตร ส่วนยอดเขาสูง จากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 165 เมตร ทางทิศใต้ของภูเขาเป็นทางลาดชัน ทางทิศเหนือเป็นไหล่เขา ทางทิศตะวันตกเป็นสวนมังคุดและสวนยางพารา ทางทิศตะวันตกเป็นโรงเรียนและวัดเขาขุนพนม เขาขุนพนมมีจุดเด่นอยู่ที่วัดเขาขุนพนมซึ่งตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ของเขาขุนพนม ประวัติการก่อสร้างไม่ปรากฏ แต่หลักฐานประเภทโบราณสถานและโบราณวัตถุต่าง ๆ สามารถบ่งชี้ได้ว่า วัดเขาขุนพนม น่าจะสร้างขึ้นในตั้งแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา,  2564)

วัดเชาขุนพนม เป็นวัดเก่าแก่ที่มีความสำคัญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดี เพราะสัณนิษฐานว่าเคยเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงมาพำนักและถือศีลในถ้ำแห่งนี้ และด้านหน้าวัดเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำทิพย์โบราณเชื่อว่าเป็นบ่อน้ำศักสิทธิ์ ที่ถวายแด่พระเจ้าตากสินไว้ใช้ส่วนพระองค์

วัดเขาขุนพนม

โบราณวัตถุที่สำคัญ

วัดเขาขุนพนม มีความสำคัญทางด้านโบราณคดีและประวัติศาสตร์เนื่องจากมีถ้ำที่มีกำแพงก่ออิฐเหมือนกำแพงสมัยโบราณ -ผนังของวัดด้านหน้าเป็นลวดลายปูนปั้นประดับด้วยเครื่องลายครามของจีน -ในบริเวณถ้ำมีพระพุทธรูป 30 องค์และพระพุทธบาทสำริด (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา, 2564)  รวมทั้งมีโบราณวัตถุสำคัญในบริเวณวัดจำนวนมาก ดังนี้ (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 238-282)

1. รอยพระพุทธบาทจำลองเขาขุนพนม  เป็นรอยพระพุทธบาทที่แกะสลักไว้บนไม้เนื้อแข็ง สองแผ่นมาประกบกัน นักโบราณคดียืนยันตรงกันว่า เป็นไม้เทพทาโร รอยพระพุทธบาทนี้น่าจะเป็นโบราณวัตถุเพียงชิ้นเดียว ซึ่งในตำนานเล่าว่า มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่เมืองนครศรีธรรมราชที่ได้รับการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์โดยสำนักศิลปากรที่ 12 จังหวัดนครศรีธรรมราช ทำให้โบราณวัตถุชิ้นนี้ เป็นหลักฐานที่มีน้ำหนักที่สุด ที่สามารถยืนยันได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมาประทับที่เมืองนครศรีธรรมราช จนกระทั่งสิ้นพระชนม์จริงๆ และหากจะนับเฉพาะลายที่เป็นภาพเล็ก มีทั้งหมด 108 แต่หากรวมลายที่เป็นภาพใหญ่อีก 2 ภาพ คือ ภาพวงปี 15 วง และ ภาพมณฑล กลางรอยพระพุทธบาทส่วนล่างอีก 1 ภาพ ก็จะทำให้รอยพระพุทธบาทเขาขุนพนม มีภาพทั้งหมด 110 ภาพ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภาพที่เกี่ยวกับตำนานการเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม เมืองนครศรีธรรมราช  และปัจจุบันได้เก็บไว้ที่อาคารพระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช

2. ยักษ์แคระบนเขาขุนพนม ตั้งอยู่หน้าทางเข้าห้องกรรมฐานบนลานหน้าพระ เขาขุนพนม ตำนานเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงให้ช่างที่ติดตามพระองค์มาปั้นขึ้น

3. พระพุทธรูปปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในห้องบรรทม บนลานหน้าพระ บนเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงนำมาจากกรุงธนบุรี เป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย

4. พระนอนบนเขาขุนพนม ประดิษฐานอยู่ในห้องกรรมฐาน ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช บนลานหน้าพระ บนเขาขุนพนม ตำนานเล่าว่าเป็นพระประจำวันเกิดของพระองค์ที่ทรงให้ช่างปั้นขึ้น

5. พระยอดธงวัดเขาขุนพนม พบในถ้ำบนถ้ำตากฟ้า บนเขาขุนพนม ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสิน ใช้เป็นพระประจำยอดธงไชยเฉลิมพลเวลาออกรบ

6. เครื่องทองเหลืองโบราณ พบในถ้ำบนถ้ำตากฟ้า บนเขาขุนพนม ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า เป็นเครื่องใช้ในห้องเครื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม

7. เครื่องลายครามโบราณ พบในถ้ำบนถ้ำตากฟ้า บนเขาขุนพนม ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า เป็นเครื่องใช้ในห้องเครื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม

8. กระด้งไม้ไผ่โบราณ พบในถ้ำบนถ้ำตากฟ้า บนเขาขุนพนม ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์วัดเขาขุนพนม ในตำนานเล่าว่า เป็นเครื่องใช้ในห้องเครื่องของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เมื่อคราวเสด็จมาประทับที่เขาขุนพนม

สถานที่สำคัญ

9. พระพุทธรูปปางต่าง ๆ  ที่ได้มาจากถ้ำบนภูเขาขุนพนม ได้แก่  พระพุทธรูปปางประทานอภัย  พระพุทธรูปปางมารวิชัย  พระพุทธรูปทรงเครื่องเล็ก พระพุทธรูปปางสมาธิ  พระพุทธรูปปางสมาธิ เป็นต้น

สถานที่สำคัญต่าง ๆ ของวัดเขาขุนพนม ส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องสมเด็จพระเจ้าตากมหาราชและผู้ที่มีบทบาทสำคัญกับวัดเขาขุนพนม ได้แก่  

1. สถานที่ที่เกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้แก่ ซุ้มประตูวัดเขาขุนพนม หรือ เรียกว่า ซุ้มประตูสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  สระน้ำพระเจ้าตาก  หอพระพรพระเจ้าตาก บ่อน้ำพระเจ้าตาก  สถูปเจดีย์เก็บอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช โบสถ์มหาอุตม์ ถ้ำเหวตากฟ้า  อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ลานหน้าพระสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระตำหนักทรงศีล  พระตำหนักทรงบัลลังก์องค์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระบรมรูปทรงม้า เตาหุงข้าวโบราณ เป็นต้น 

1. พระอุโบสถ หรือโบสถ์มหาอุต  เดิมเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน ลักษณะศิลปกรรมชองพระอุโบสถและใบเสมาจัดอยู่ในสมัยอยุธยาตอนกลางถึงตอนปลาย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 22-23

2. มณฑปพ่อท่านกลาย หรือ มณฑปหลวงปู่กลาย สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2548 เป็นสถานที่เก็บสรีระสังขารของหลวงปู่กลายไว้ในโลงแก้วไม่เน่าเปื่อย เหมือนคนกำลังนอนหลับปกติ ซึ่งหลวงปู่กลายเป็นเจ้าอาวาสองค์ที่ 7 ของวัดเขาขุนพนม  มรณภาพสิริอายุรวม 94 ปี  กล่าวกันว่าท่านเป็นผู้ที่สามารถรับนิมิตร และก็พบสิ่งที่ติดตามสมเด็จพระเจ้าตากสินมา คือสิ่งของเครื่องใช้ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  ในขณะที่ท่านยังมีชีวิตอยู่ก็จะเป็นวาจาสิทธิ์ด้วยเช่นกัน  และท่านเป็นบุคคลแรกที่บุกเบิกการเปิดเผยเรื่องราวของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสู่โลกภายนอกเขาขุนพนม จนกระทั่งมาถึงยุคที่พระครูปิยะคุณาธารมาสานต่อ และมีบุคคลจากทั่วสารทิศทั้งในและต่างประเทศเดินทางมาที่วัดเขาขุนพนมเป็นจำนวนมากในปัจจุบัน  (ศานติ โบดินันท์, 2561, น. 194-195)

3. พระตำหนักสมเด็จพระสังฆราช : ตำหนักประมุขสงฆ์  การก่อสร้างพระตำหนักนี้เป็นความคิดริเริ่มของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ เมื่อคราวเดินทางมาปฏิบัติสังฆกิจแทนพระองค์สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปริณายก ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2540 เพื่อถวายสมเด็จพระสังฆราช (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น. 90-91)

4. พิพิธภัณฑ์วัดเขา : คลังมรดกช่างท้องถิ่น มีลักษณะเป็นอาคารคอนกรีต (ค.ส.ล.) ชั้นเดียว หลังคาทรงจั่วออกมุขคู่ ด้านหน้ายกพื้นสูง ปัจจุบันได้เก็บรวบรวมโบราณวัตถุชิ้นสำคัญ และมีคุณค่าตามประวัติศาสตร์และโบราณคดีหลายชิ้นที่พบที่เขาขุนพนม โบราณวัตถุส่วนใหญ่ได้มาจากถ้ำพระยาตากและถ้ำข้างเคียง มีการจัดเก็บรวบรวมอย่างเป็นหมวดหมู่  (ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2541, น. 115) ปัจจุบันจะเปิดให้ชมเฉพาะในกรณีพิเศษเท่านั้น แต่สามารถมองผ่านกระจกชมโบราณวัตถุได้

5. สระน้ำโบราณ  ที่เรียกว่า “สระนางเลือดขาว” ลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 5 เมตร ยาว 10 เมตร ตามตำนานกล่าวว่าสระน้ำแห่งนี้มีไว้สำหรับบาทบริจาริการ นางสนมกรมใน (หญิงที่มีหน้าที่รับใช้ปฏิบัติ พระเจ้าแผ่นดิน)

ปัจจุบันวัดเขาขุนพนม เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวทางประวัติและวัฒนธรรม และมีการสันนิษฐานว่ามีความสัมพันธ์กับประวัติศาสตร์ของเมืองนครโดยตลอดโดยเฉพาะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช วัดเขาขุนพนมเป็นวัดควรแก่การอนุรักษ์และศึกษาอีกวัดหนึ่ง เพราะวัดนี้ชวนให้เกิดข้อสันนิษฐานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์อยู่ไม่น้อย

ข้อมูลอ้างอิง

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.). (ม.ป.ป.). วัดเขาขุนเขาพนม. https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดเขาขุนพนม

ศานติ โบดินันท์, สวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ และ ดำรง โยธารักษ์. (2561). พระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงธนและที่เมืองคอน. หน้า 152-282

ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช สถาบันราชภัฏนครศรีธรรมราช. (2541). เขาขุนพนม : ชีวิตและวัฒนธรรม. ศูนย์วัฒนธรรมฯ.

Thailand Tourism Directory กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. (2564). วัดเขาขุนพนม. https://thailandtourismdirectory.go.th/th/attraction/1872

Series Navigationพระเจ้าตากสินกับวัดเขาขุนพนม >>

Visits: 4996

This entry is part 1 of 6 in the series ตามรอยพระเจ้าตาก

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.