วิหารสามจอม หรือวิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช

 

 

วิหารหลังเล็กอีกหลังซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตพุทธาวาส ใกล้กับวิหารพระแอด และวิหารพระด้าน (วิหารคด) แม้จะสร้างขึ้นหลังวิหารอื่น ๆ แต่ก็เป็นที่รู้จักกันกว้างขวาง ในฐานะเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปทรงเครื่องขนาดใหญ่ ซึ่งได้รับการขนานนามว่า “พระพุทธรูปพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” อันเป็นพระนามของปฐมกษัตริย์แห่งรัฐนครศรีธรรมราช เรียกว่า “วิหารสามจอม” หรือเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “วิหารพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, 2015)

ประวัติ

เล่ากันว่าเหตุที่ได้ชื่อเช่นนี้ก็เพราะ “นายสามจอม” เป็นผู้สร้างขึ้นในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ แต่บางท่านก็บอกว่าเป็นการสร้างถวายแด่จอมกษัตริย์สามพี่น้องผู้ครองนครศรีธรรมราช ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 18 คือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ จึงเรียกชื่อวิหารนี้ว่า “วิหารสามจอม” ประกอบกับมาในชั้นหลังมีผู้สร้างพระพุทธรูปทรงเครื่องไว้ สมมติเป็นพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ซึ่งเป็นกำลังหลักในการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นที่หาดทรายแก้ว (เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร, 2015)

วิหารสามจอม หรือวิหารพระเจ้าศรีธรรมโศกราช อยู่ทางด้านตะวันออกของพระบรมธาตุเจดีย์ “วิหารสามจอม” เล่าสืบต่อกันมาว่าสร้างพร้อมกันกับเจดีย์ใหญ่ (เจดีย์บริวารองค์หนึ่งที่รายล้อมองค์พระธาตุ) ซึ่งอยู่ด้านหลังของวิหาร ก่อนเข้าสู่วิหารสามจอมจะมีรูปปั้นพระธรณีกำลังบีบมวยผมที่ด้านหน้าของวิหาร ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นเรียกว่า “พระเจ้าศรีธรรมโศกราช” ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นผู้ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ บางครั้งก็เรียกวิหารสามจอมนี้ว่า “วิหารพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” แต่ก็ไม่ทราบว่าคือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชองค์ไหนใน 3 องค์ โดยรอบผนังด้านในวิหารสามจอม ทำเป็นช่องตู่มีรูปเทพประทับนั่งบนหลังสัตว์กำกับแต่ละช่อง (วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร, 2018)

พื้นที่ของวิหารสามจอมประกอบด้วยสองส่วน คือส่วนหน้าและส่วนหลัง พื้นที่ส่วนหน้าประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัย ทรงเครื่องต้นบริบูรณ์อย่างกษัตริย์โบราณ สวมชฎายอดสูง เป็นฝีมือช่างสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จารึกชื่อพระพุทธรูปว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” พื้นที่ส่วนหลัง ทำเป็นซุ้มเรือนแก้วประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย และเป็นที่เก็บอัฐิของเจ้านายเชื้อพระวงศ์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และอัฐิเจ้านายในสกุล ณ นคร เช่น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพย์ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์ พระองค์เจ้าปัทมราช เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กและเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม) เป็นต้น (กระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 2565)

 

ซุ้มประติมากรรมประดับวิหารสามจอมมี 3 ซุ้ม ซุ้มด้านในเป็นซุ้มเรือนแก้วซึ่งมีภาพปูนปั้นพระพุทธประวัติ ตอนพระสิทธัตถะทรงตัดเมาฬีเพื่อออกบรรพชา ในซุ้มนี้มีรูปปั้นพระพรหมอยู่ข้างขวา มีรูปปั้นม้ากัณฐกะอยู่ข้างซ้าย ส่วนซุ้มนอกซึ่งอยู่ด้านหน้าวิหาร (ระหว่างประตูซุ้มบันแถลงทั้งสอง) เป็นซุ้มรูปปั้นพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งเกี่ยวข้องกับพุทธประวัติตอนพระสิทธัตถะประทับนั่งใต้ร่มพระศรีมหาโพธิที่พุทธคยา มีท้าววัสวดีมารพาไพร่พลมาขัดขวางการตรัสรู้ พระแม่ธรณีจึงมาบีบมวยผมจนน้ำท่วม เป็นเหตุให้ไพร่พลของพญามารส่วนหนึ่งล้มตายและส่วนหนึ่งหนีหายไป (กระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 2565)

 

 

 

ข้อมูลอ้างอิง

วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร (Wat Phramahathat Woramahawihan). (2018). https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/e8f57532

กระทรวงวัฒนธรรม ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. (2565). วิหารศรีธรรมโศกราช วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร. http://www.m-culture.in.th/album/196545/วิหารศรีธรรมโศกราช_วัดพระมหาธาตุ_วรมหาวิหาร

เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช. (2015, ตุลาคม 4). วิหารสามจอม (Vihara Sam Chom) วิหารหลังเล็กอีกหลังซึ่งอยู่ในพื้นที่เขตพุทธาวาส … [ภาพ]. Facebook. https://www.facebook.com/media/set/?set=a.1703722276513246.1073741836.1697657507119723&type=3

 

Visits: 218

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.