สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเมืองนครศรีธรรมราช

ความเกี่ยวโยงกันระหว่างเมืองนครศรีธรรมราช กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดูจะเป็นเรื่องที่เหมาะเจาะลงตัว จนบางครั้งดูเป็นเรื่องบังเอิญที่ลงตัว แต่ยากที่จะอธิบายด้วยเหตุผล เริ่มด้วยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สมัยดํารงตําแหน่งพระยาตาก (สิน) ได้ มีความเกี่ยวข้องกับภูมิภาคครบทั้ง 5 ภูมิภาคของประเทศ นับตั้งแต่กําเนิดขึ้นในภาคกลาง แล้วไปเป็นพระยาตากที่ภาคเหนือ ต่อมาไปตั้งชุมชุมเจ้าตากที่ภาคตะวันออก แล้วไปรบชนะข้าศึกที่มาจากภาคตะวันตก และสุดท้ายได้กลับมาใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายที่ภาคใต้ และในภาคใต้นี่เอง ชะตาได้กําหนดให้พระองค์มาพบกับความสงบสุขในบั้นปลาย ชีวิตที่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งคงไม่เป็นเรื่องบังเอิญอีกเช่นกัน ที่เมืองนี้ มีพระมหากษัตริย์ที่เลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา เช่นเดียวกับ พระองค์ ได้สร้างเมืองไว้รอต้อนรับพระองค์ถึง 300 ปี ก่อนหน้าที่ พระองค์จะเสด็จมาถึง เรื่องนี้คงไม่สามารถอธิบายด้วยเหตุผลได้ นอกจากการอธิบายด้วยความศรัทธาที่มีต่อ อดีตพระมหากษัตริย์ทั้งสองพระองค์ ที่ทรงคุณูปการต่อเมืองนครศรีธรรมราชอย่างใหญ่หลวง

จุดเริ่มต้นของความเกี่ยวโยงกันระหว่างเมืองนครศรีธรรมราช กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เริ่มขึ้น เมื่อคราวเสียกรุงศรีอยุธยา แก่พม่าครั้งที่ 2 ในปี พ.ศ. 2310 ขณะนั้นตําแหน่งเจ้าพระยา ซึ่งเป็นปลัด นครศรีธรรมราชว่างอยู่ หลวงสิทธิ นายเวรมหาดเล็ก (หนู) ซึ่งเป็นปลัด เมืองทําหน้าที่รักษาการแทนอยู่ ครั้งทราบข่าวว่า เสียกรุงแก่พม่าแล้ว ไม่มีเจ้านายปกครองบ้านเมือง จึงตั้งตัวเป็นเจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราช เป็นอิสระขึ้นมาอีกหนึ่งในบรรดาสี่ก๊กที่ตั้งตัวเป็นอิสระในสมัยนั้น (กรมศิลปากร, 2505)

ในปี พ.ศ. 2319 เจ้าผู้ครองนครศรีธรรมราชถึงแก่พิราลัย สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีพระราชดําริว่า เจ้านคร (หนู) ได้เข้า มารับราชการ มีความจงรักภักดี เป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยเป็นอย่าง ยิ่ง จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้านคร (หนู) ออกไปครองเมืองนครศรีธรรมราช และสถาปนาขึ้นเป็น พระเจ้านครศรีธรรมราช เจ้าขันฑสีมา (หนู) ในปีนั้น (กรมศิลปากร, 2505)

ในคราวที่เสด็จมาปราบก๊กเจ้านคร (หนู) ในปี พ.ศ. 2312 ในครั้งนั้น หลังจากจับเจ้านคร (หนู) ได้แล้ว สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงใช้เวลาพักผ่อนอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชนานถึง 3 เดือน ในระหว่างที่อยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชนี้เอง พระองค์ได้เสด็จไปกราบ พระบรมธาตุที่วัดพระมหาธาตุ ทรงเห็นวัดพระมหาธาตุเสื่อมโทรม จึงทรงบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์บูรณะปฏิสังขรณ์ วัดพระมหาธาตุครั้งใหญ่ และระหว่าง 3 เดือนที่อยู่ในเมืองนครศรีธรรมราชนี้ พระองค์ใช้เวลาส่วนใหญ่ปฏิบัติธรรม โดยโปรดให้สร้างทางเดินจรงกรมส่วนพระองค์ใต้ฐานพระบรมธาตุขึ้น เพื่อใช้สําหรับปฏิบัติธรรมส่วนพระองค์ด้วย (ว.วรรณพงษ์ และ ภมรพล ปริเชฏฐ์, 2558)

ความสัมพันธ์ระหว่างสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเมืองนครศรีธรรมราช นอกจากจะมีความสัมพันธ์เพราะเหตุการณ์ทางการเมืองดังได้กล่าวไปแล้ว ความสัมพันธ์อีกประการหนึ่งที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชมีความใกล้ชิดกับเมืองนครศรีธรรมราชกว่าเมืองอื่น ๆ ที่พระองค์เคยเสด็จไป ซึ่งความสัมพันธ์นี้เป็นเหตุ ให้พระองค์ตัดสินใจเลือกเมืองนครศรีธรรมราชเป็นที่พักพิงสุดท้าย

ในคราวที่เสด็จออกจากรุงธนบุรีหลังจากสละราชสมบัติแล้ว ความสัมพันธ์ที่ว่านั้นคือ ความเกี่ยวดองกับเมืองนครศรีธรรมราชในทางสังคม ความสัมพันธ์นี้เกิดขึ้นเมื่อ เจ้านคร (หนู) ที่สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชยกทัพมาปราบสมัยที่ตั้งตนเป็นอิสระ แต่ด้วยการตั้งตนเป็นอิสระดังกล่าว กระทําไปด้วยความจงรักภักดี ไม่ได้คิดการกบฏแต่อย่างใด สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชจึงทรงไว้ชีวิต และนําตัวเจ้านคร (หนู) กลับกรุงธนบุรีไปด้วยเพื่อช่วยราชการ เจ้านครหนู จึงถวายธิดาทั้งสอง มีหม่อมนิ่ม และหม่อมปราง ให้เป็นบาทบริจาริกา ในราชสํานัก กรุงธนบุรี เจ้านคร (หนู) ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยานครในปี พ.ศ. 2319 (ธัณธร ณ นคร, สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 5 มีนาคม 2561)

เมื่อเจ้าหนูถึงแก่พิราลัย อุปราชพัฒน์ บุตรเขยของเจ้าพระยา นคร (หนู) จึงได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพระยานครสืบต่อจากเจ้าพระยา นคร (หนู) ต่อมา เจ้าหญิงนวล ภริยาของเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ถึงแก่ อสัญกรรม ความทราบถึงสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์จึง ทรงประทานเจ้าหญิงปราง พระสนมเอกซึ่งพระองค์มารู้ภายหลังว่า ตั้ง ครรภ์แล้วสามเดือน แต่ด้วยลั่นวาจาไว้แล้วไม่สามารถกลับคําได้ จึงได้ ส่งเจ้าหญิงปรางมาให้เป็นภริยาของเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ฝ่าย เจ้าพระยานคร (พัฒน์) ก็ทราบเรื่องนี้ดี แต่ไม่กล้าขัดพระทัยด้วยเกรง พระอาญา จึงรับเจ้าหญิงปรางมาแต่งตั้งให้เป็นเจ้านางนั่งเมือง โดยไม่ได้ยุ่งเกี่ยวในเรื่องชู้สาวแต่อย่างใด เจ้าหญิงปรางได้ให้กําาเนิดโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ซึ่งต่อมาคือเจ้าพระยานคร (เจ้าน้อย) ที่ทราบดีว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชคือพระบิดาด้วยสายเลือดของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราชนี่เอง ทำให้พระองค์ตัดสินใจที่จะมาอยู่กับลูกด้วยการใช้ชีวิตช่วงสุดท้ายในการแสวงหาโมกขธรรมที่เมืองนครศรีธรรมราช ในการเสด็จมาเยือนนครศรีธรรมราชในช่วงสุดท้ายของชีวิต (ธัณธร ณ นคร. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 5 มีนาคม 2561)

สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เสด็จมาเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้งในช่วงบั้นปลายชีวิตของพระองค์  ตามที่ปรากฎในวรรณกรรมประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชส่วนใหญ่ ที่ตีพิมพ์ยุคหลัง พ.ศ. 2475 ประมวลได้ว่า เมื่อครั้งที่พระองค์ทรงสละราชบัลลังก์เมื่อคราวเกิดจลาจลขึ้นในกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2324 (ปฐมพงษ์ สุขเล็ก, 2560) ในวรรณกรรมดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า พระองค์ทรงมาปฏิบัติธรรมและทรงผนวชเป็นพระภิกษุ จนกระทั่งเสด็จสวรรคตในราวปี พ.ศ. 2368 เมื่อบวกกับพระชนมายุ 91 ปี ของพระองค์ตามตำนานในท้องถิ่น

พิธีปลงพระศพของพระองค์ถูกจัดขึ้นในบริเวณที่เป็นที่ตั้งของหอพระสูงที่ถูกสร้างขึ้นภายหลังในปี พ.ศ. 2377 โดยเจ้าพระยานคร (น้อย) หอพระสูงนี้ ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน อัฐิบางส่วนของพระองค์ถูกบรรจุไว้ในเจดีย์ดำ ที่มีต้นหว้าหกต้นล้อมรอบ เจดีย์นี้ยังตั้งอยู่ในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจนถึงปัจจุบัน (ทศยศ กระหม่อมแก้ว, 2553; ว.วรรณพงษ์ และ ภมรพล ปริเชฏฐ์, 2558)

(อ้างอิงจากหนังสือ “เรื่องเล่าการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในเมืองนครศรีธรรมราช”, (ศานติ โบดินันท์, สวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ และ ดำรง โยธารักษ์, 2561 หน้า 9-13)

และเหตุที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ทรงมีความเกี่ยวข้องกับนครศรีธรรมราช จึงได้มีปรากฏโบราณสถานหลายแห่งที่มีการกล่าวอ้างว่า พระองค์ได้เคยเสด็จไปเยือนในสถานที่ต่าง ๆ หลายแห่งด้วยกัน จึงขอนำมาเรียบเรียงตามลำดับพื้นที่ดังนี้ คือ

1. วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

: บำเพ็ญกุศล ปฏิบัติธรรม ผนวช   ด้วยเหตุว่าเมื่อครั้งที่พระองค์เสด็จมานครศรีธรรมราช พระองค์มีโอกาสได้มากราบพระบรมธาตุที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทำให้พระองค์ได้สร้างประวัติศาสตร์ที่สำคัญกับวัดแห่งนี้ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เล่าขาน โดยการที่พระองค์ทรงบูรณะพระบรมธาตุ และวัดพระมหาธาตุในปี พ.ศ. 2312 กล่าวคือ เมื่อพระองค์ปราบก๊กเจ้านคร (หนู) ที่เมืองนครศรีธรรมราชได้แล้ว ก็โปรดให้ทหารได้ผ่อนคลาย โดยทรงให้มีการละเล่นกำถั่วหน้าพระพักตร์ การทำบุญถวายทานแด่พระสงฆ์ และโปรยทานแก่คนขอทาน แล้วจึงโปรดให้มีการบูรณะวัดวาอารามในเมืองนครศรีธรรมราช

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า การบูรณะวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารในสมัยของพระองค์นั้น แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ตอนที่พระองค์เสด็จมาบูรณะพระบรมธาตุครั้งแรกในปี พ.ศ. 2315 หลังจากนั้น มีความเกี่ยวข้องครั้งที่ 2 เกิดขึ้นตอนที่พระองค์เสด็จหนีราชภัยมาจากรุงธนบุรีหลังปี พ.ศ. 2525 เพื่อมาสร้างกำแพงแก้วล้อมองค์พระบรมธาตุ และอุปสมบทที่วัดพระมหาธาตุก่อนที่จะเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่วัดเขาขุนพนม และสุดท้ายความเกี่ยวข้องครั้งที่ 3 เป็นคำสั่งของพระองค์ที่ต้องการให้ลูกหลานนำอัฐิของพระองค์มาบรรจุไว้ที่วัดพระมหาธาตุ โดยลูกหลานได้นำอัฐิของท่านมาบรรจุไว้ที่เจดีย์ดำ ในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  

ได้มีผู้เล่าสืบต่อกันมาว่า ได้มีการสร้างทางจงกรม ที่เรียกว่า “ทางเดินพระเจ้าตาก” ใต้วิหารทับเกษตร เป็นทางเดินที่ยกขึ้นสูงจากพื้นประมาณ 1 เมตร มีความยาวตลอด 3 ด้านของวิหารทับเกษตร ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางต่าง ๆ รวมทั้งประดิษฐานรูปปั้นพระอาจารย์สี สมเด็จพระสังฆราชองค์แรกของกรุงธนบุรีด้วย และยังเป็นผู้สร้างกำแพงแก้วรอบพระบรมธาตุในคราวที่เสด็จมานครศรีธรรมราชครั้งสุดท้าย หลังกรุงธนบุรีแตกด้วย

ส่วน “เจดีย์หกหว้า หรือ เจดีย์ดำ” ที่ตั้งอยู่เยื้องกับวิหารหลวงในวัดพระมหาธาตุ เป็นเจดีย์ที่บรรจุอัฐิสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เจดีย์มีต้นหว้าหกต้นล้อมรอบ เพื่อเป็นการโกหกว่า หรือ “หกว่า” ในภาษาใต้ หมายถึง โกหกว่า อัฐิที่บรรจุในเจดีย์ดำเป็นของเจ้าเมืองนคร แต่ความจริงคือเป็นอัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (บัณฑิต สุทธมุสิก, สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 28 กุมภาพันธ์ 2561) (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 45-95) 

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารได้ที่

https://library.wu.ac.th/NST_localinfo/wat-phramahat%e0%b9%89at/
https://library.wu.ac.th/NST_localinfo/viharn-po-praderm/
https://library.wu.ac.th/NST_localinfo/viharn-po-lanka/

2. วัดสระเรียง : พลับพลาที่ประทับ

วัดสระเรียง เป็นวัดขนาดเล็ก เส้นทางถนนราชดำเนิน อ.เมือง ตั้งอยู่ตรงข้ามกับวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้มีการสันนิษฐานว่า วัดสระเรียงน่าจะสร้างในสมัยที่ท่านปานบูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ เมื่อปี พ.ศ. 2433 ในความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า “บริเวณที่เป็นวัดสระเรียงก่อนจะมาเป็นวัดสระเรียงนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสินเคยใช้เป็นบริเวณสำหรับสร้างพลับพลาที่ประทับ เมื่อคราวเสด็จมาปราบก๊กเจ้านคร (หนู) ในปี พ.ศ. 2312 ระหว่างติดมรสุม เพื่อใช้เป็นที่ทรงงานบูรณะพระบรมธาตุในคราวนั้นด้วย (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. 11 กรกฎาคม 2560) (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 96-98)

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดสระเรียงได้ที่

 

3. หอพระพุทธสิหิงค์

หอพระพุทธสิหิงค์ คือ หอพระของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราชในอดีต เป็นพระพุทธรูปที่นำมาจากลังกาโดยทางเรือ ในประเทศไทยมีพระพุทธสิหิงค์อยู่ 3 องค์ คือ องค์ที่นครศรีธรรมราช น่าจะเป็นองค์แรกที่มาประดิษฐานในประเทศไทย ส่วนอีก 2 องค์ น่าจะเป็นการสร้างจำลองขึ้นจากองค์นี่ (อาณัต บำรุงวงศ์, สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 24 มีนาคม 2561)  ซึ่งเมื่อออกจากหอพระพุทธสิหิงค์ แล้วเดินอ้อมออกมาทางเดินรอบหอพระไปด้านหลัง จะเป็นหอบรรจุอัฐิบรรพชนของตระกูล ณ นคร ซึ่งเป็นทายาทของสมเด็จพระเจ้าตากสิน ในเมืองนครศรีธรรมราช และบรรพชนในราชวงศ์จักรีที่มีความเกี่ยวข้องกับราชวงศ์ธนบุรี ซึ่งมีความเกี่ยวดองกัน อันเป็นสิ่งที่ยืนยันความเกี่ยวดองกันอย่างแนบแน่นระหว่างราชวงศ์ธนบุรีกับราชวงศ์จักรี ผ่านการเกี่ยวดองทางลูกสาว ซึ่งน่าจะเป็นเหตุที่ทำให้กรุงรัตนโกสินทร์ ยอมรับโดยพฤตินัยถึงการปลงพระศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่หอพระสูงในเมืองนครศรีธรรมราช ในปี พ.ศ. 2358 โดยการส่งช่างหลวงมาช่วยงานปลงประศพในครั้งนั้นด้วย (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 98-99)

4. หอพระสูง

เมื่อเดินทางออกจากหอพระพุทธสิหิงค์ ออกมาทางถนนราชดำเนิน แล้วเลี้ยวขวาขึ้นไปทางเหนือ จนถึงสนามหน้าเมือง พอถึงสี่แยกหอจดหมายเหตุ เลี้ยวซ้ายผ่านศาลหลักเมืองที่ตั้งอยู่ขวามือ เลยจากศาลหลักเมืองไประมาณ 100 เมตร จะเป็นที่ตั้งของหอพระสูง ที่นี่จะมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสิน มีเรื่องเล่าไว้ตรงกันว่า เป็นที่ปลงพระศพของสมเด็จพระเจ้าตากสิน เพียงแต่ปกปิดว่าเป็นศพของเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ที่เจ้าพระยานคร (น้อย) เรียกว่า “พ่อ” ซึ่งมีคำกล่าวอ้างไว้ว่า

“ต่อมาเมื่อพระเจ้าตากสิน สิ้นพระชนม์ที่วัดเขาขุนพนม ก็ได้มีการปรับแต่งพื้นที่ ปลูกสร้างวิหารชั่วคราวบนเนินดินสูง แล้วมีการจัดขบวนแห่พระบรมศพมายังสนามหน้าเมือง และได้พักระบรมศพไว้ที่วิหารสูงแห่งนี้  ภายหลังเมื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพที่สนามหน้าเมืองเสร็จแล้ว เมรุที่ใช้เผาก็ถูกรื้อออกตามประเพณีโบราณ และเมื่อวิหารชั่วคราวได้ผุพังไป หอพระสูงหรือวิหารสูงก็ได้ถูกปลูกสร้างขึ้นมาหลังจากได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพเสร็จสิ้นแล้วนั่นเอง และด้วยเหตุว่าบริเวณนี้เป็นที่พักพระบรมศพของพระเจ้าแผ่นดิน เพื่อป้องกันไม่ให้ใครมาใช้สถานที่ซ้ำกับบริเวณดังกล่าว ก็เลยสร้างวิหารคร่อมเอาไว้ และต่อมาได้สร้างพระพุทธรูปไว้องค์หนึ่ง และที่สำคัญในวิหารสูงจะมีลักษณะพิเศษคือจะเป็นโบสถ์มหาอุด” (ทศยศ กระหม่อมแก้ว, 2553 หน้า 59) (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 99-106) 

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของหอพระสูงได้ที่

https://library.wu.ac.th/NST_localinfo/phrawihan-sung_nst/

5. วัดประดู่พัฒนาราม

การเดินทางมายังวัดประดู่เมื่อออกจากหอพระสูงนั้น ให้เลี้ยวซ้ายไปทางทิศเหนือ ผ่านสี่แยกตลาดแขก   สี่แยกท่าวัง แยกท่าโพธิ์ ข้ามสะพานข้ามคลองไปประมาณ 100 เมตร ก็จะพบกับวัดประดู่พัฒนาราม ซึ่งตั้งอยู่ทางด้านขวามือ เป็นวัดที่มีอายุหลายร้อยปี มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน คือ

ภายในบริเวณวัดประดู่พัฒนารามนั้น เป็นที่ตั้งของเก๋งจีน ที่คนในท้องถิ่นรู้จักกันในชื่อ “เก๋งจีนพระเจ้าตาก” เชื่อกันว่า อัฐิของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช พระองค์จริง บรรจุไว้ในเจดีย์บัว ภายในเก๋งจีนวัดประดู่พัฒนารามแห่งนี้ ซึ่งแตกต่างจากอัฐิที่เจดีย์ดำ และอัฐิที่เก๋งจีนวัดแจ้ง ที่คนในท้องถิ่นเล่าขานกันมาว่า เป็นอัฐิที่ส่งมาจากกรุงธนบุรีที่เป็นการปลงพระศพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระองค์ปลอมที่ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ในปี พ.ศ. 2325 นั่นเอง (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 106-110) 

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดประดู่พัฒนารามได้ที่

https://library.wu.ac.th/NST_localinfo/watpraduupattanaram/

6. วัดแจ้งวรวิหาร

เมื่อออกจากวัดประดู่พัฒนาราม มาทางถนนราชดำเนิน แล้วเลี้ยวขวาไปทางทิศเหนืออีกประมาณ 50 เมตร ก็จะพบวัดแจ้งวรวิหาร ที่ตั้งอยู่ทางฝั่งเดียวกันกับวัดประดู่พัฒนาราม วัดแจ้งนี้ จะเป็นวัดที่มีรั้วติดกันกับวัดประดู่ และมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสิน คือ

เมื่อผ่านซุ้มประตูของวัดแจ้งวรวิหารเข้าไป ด้านซ้ายมือจะเป็นสวนธรรม พ้นจากสวนธรรมไป จะเป็นที่ตั้งของเก๋งจีน ที่ชาวบ้านเรียกว่า “เก๋งจีนวัดแจ้ง” ซึ่งมีเรื่องเล่าว่า อัฐิส่วนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ที่ส่งมาจากเมืองหลวงเมื่อคราวปลงพระศพพระองค์ที่วัดอินทารามในปี พ.ศ. 2327 ถูกส่งมาให้เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (พัฒน์)  ซึ่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (พัฒน์) ได้แบ่งอัฐิส่วนหนึ่งมาบรรจุไว้ในเก๋งจีนแห่งนี้ แต่ช่วงนั้นยังคงปกปิดเป็นความลับ (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 110-115) 

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดแจ้งวรวิหารได้ที่

https://library.wu.ac.th/NST_localinfo/wat-chang-worawihan/

7. วัดท่าโพธิ์วรวิหาร 

เมื่อออกจากวัดแจ้งวรวิหาร แล้วเลี้ยวซ้ายลงไปทางใต้ตามถนนราชดำเนิน ผ่านหน้าวัดประดู่พัฒนารามไป พอผ่านสะพานข้ามคลองไป จะพบแยกท่าโพธิ์ เลี้ยวซ้ายไปประมาณ 50 เมตร จะพบทางแพร่ง วิ่งเบี่ยงไปทางซ้าย จะเป็นทางไปสู่วัดท่าโพธิ์วรวิหาร จากทางแพร่งไปประมาณ 30 เมตร จะมีประตูเข้าวัดท่าโพธิ์อยู่ทางด้านขวามือ  ณ ที่นี่มีเรื่องเล่ากันว่า ในสมัยที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชหลบออกจากกรุงธนบุรีในปี พ.ศ. 2325 ขบวนเรือสำเภาของพระองค์ได้มาขึ้นเทียบท่าที่ท่าโพธิ์แห่งนี้

“มีเรื่องเล่าว่า พระเจ้าตากเสด็จขึ้นฝั่งที่ท่าโพธิ์นี่แหละ แล้วก็เดินทัพช้างไปที่เขาขุนพนม ในย่านวัดท่าโพธิ์ จึงปรากฏถนนตากสิน และแยกตากสิน ดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้” (พระราชญาณวรมุนี วิ. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล (26 กุมภาพันธ์ 2561) และอีกเรื่องเล่า “ตามที่เล่าสืบต่อกันมาในตระกูลกรดกลางกั้น คนเฒ่าคนแก่ เล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ท่านขึ้นจากสำเภาที่ท่าโพธิ์ แล้วก็ลงแพล่องมาตามคลอง จนมาถึงเขาขุนพนม สมัยก่อนคนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า น้ำในคลองยังมีมาก คลองก็กว้าง แพล่องมาได้สบายๆ เลย แล้วก็มาขึ้นฝั่งตรงคลองนอกท่าในปัจจุบัน ใกล้กับสะพานที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้” (สำเริง กรดกลางกั้น. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 8 มีนาคม 2561) (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 115-122)

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดท่าโพธิ์วรวิหารได้ที่

8. วัดคงคาเลียบ

เป็นวัดที่อยู่ริมคลองท่าซัก หากเข้าเมืองนครศรีธรรมราชมาทางปากคลองปากพญา จะพบวัดคงคาเลียบอยู่ทางด้านซ้ายมือเป็นวัดแรก ก่อนจะถึงวัดท่าโพธิ์ในตัวเมืองนครศรีธรรมราช 

ซึ่งอดีตท่านเจ้าอาวาสวัดคงคาเลียบ ได้เล่าให้ฟังว่า “ตอนยุคนั้น เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้มาตั้งพลับพลาที่ประทับ วัดคงคาเลียบ เท่าที่อาตมาได้ศึกษาได้พยายามรวบรวมมา มีเหตุการณ์สำคัญ ช่วงที่พระองค์ตั้งพลับพลาที่ประทับ พักรวมพลที่วัดคงคาเลียบ เพื่อหยั่งศึก ว่าเจ้าพระยานคร (หนู) จะเป็นภัยอย่างไร เจ้าพระยานคร (หนู) ได้มีบัญชาให้ทหารกลุ่มหนึ่ง มาลอบปลงพระชนม์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโดยมารบแบบกองโจร เมื่อมีการจู่โจมแบบกองโจรเพื่อที่จะให้ทัพของพระเจ้าตากสินนั้นแตกกลับไป หรือว่าไม่ต้องการต่อกรกับเมืองนคร ตามที่เจ้าพระยานคร (หนู) ท่านต้องการไม่ให้มีการมาปราบตัวท่านเองนี่ ทัพของพระเจ้าตากสินที่ตั้งอยู่ในวัดคงคาเลียบนี่ก็ตั้งตัวไม่ทัน เตรียมการรบไม่ทับ เมื่อมีการรบแบบกองโจร ก็มีการรบเรียกว่า กะทันหัน ก็มีการเสียชีวิตเกือบร้อยคน ซึ่งถ้าเรามาดูพื้นที่จริง ก็จะมีความเชื่อกันว่า ในวัดคงคาเลียบจะมีดวงวิญญาณเหล่าทหารผู้กล้า ที่ได้พลีชีวิตด้วยการจู่โจม รบแบบกองโจรของเจ้าพระยานคร (หนู) เกือบร้อยนี่ (พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 15 พฤษภาคม 2561)

ในวัดคงคาเลียบนี้ มีโบราณสถาน/โบราณวัตถุที่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช อันได้แก่

พระแท่นบรรทมจำลอง ที่ประดิษฐานไว้ในศาลาริมน้ำ ริมคลองท่าซัก เพื่อสื่อถึงผู้มาสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วัดคงคาเลียบแห่งนี้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยเสด็จมาตั้งพลับพลาที่ประทับที่นี่ ซึ่งพระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคาเลียบ ได้เล่าว่า คนโบราณมักจะเล่าต่อๆ กันว่า พระเจ้าตากลงซักผ้าหน้าท่าวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่าท่าซัก ภายหลังพระองค์จึงได้ยกทัพไปปราบเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป (พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 15 พฤษภาคม 2561)

พระจัน เป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้อุปราชจัน ที่เสียชีวิตในการรบในวัดคงคาเลียบแห่งนี้ พระจันเป็นพระพุทธรูปดินปั้น ขนาดหน้าตักกว้างประมาณสองคืบ สูงประมาณสามคืบ เป็นพระพุทธรูปองค์กลาง ที่ตั้งอยู่หน้าพระนอนขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานในศาลาโรงธรรม

พระองค์นุ้ย เมื่อคราวที่อุปราชจัน ได้รับคำสั่งจากเจ้าพระยานคร (หนู) ให้ยกทับมารับทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ด่านหน้าวัดคงคาเลียบ การรบครั้งนั้นเป็นการรบแบบโจมตีเร็วแบบกองโจร ทำให้ทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินตั้งรับไม่ทัน จึงทำให้เกิดความโกลาหล และ ทำให้โอรสพระองค์หนึ่งของพระองค์ ถึงแก่พิราลัยในครั้งนั้นด้วย พระปลัดเสกสรรค์ ได้เล่าเรื่องราวให้ฟังว่า “ลูกหรือพระโอรสของพระองค์ อันเกิดจากพระสนมที่ติดตามมานั้น เสียชีวิต ก็มีการปั้นพระขึ้น พระองค์อยากจะอุทิศบุญให้กับพระโอรส ก็เลยรับสั่งให้ทหาร เอาดินเหนียวมาปั้นเป็นพระ แล้วให้ทำเป็นพระดินเผา แล้วก็อุทิศบุญกุศลให้กับพระโอรสของพระองค์ ตามที่เรียกกันว่า พระองค์เล็ก ตามตำนาน กาลต่อมาชาวบ้านก็ยังเรียกว่า พระองค์นุ้ย (พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 15 พฤษภาคม 2561)

พระตำหนักพระเจ้าตาก ตามตำนานกล่าวว่า เป็นตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สำหรับการเสด็จมาเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งที่สอง เมื่อคราวเปลี่ยนแผ่นดินจากกรุงธนบุรีเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก ได้เล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่พระองค์จะเสด็จไปประทับที่วัดเขาขุนพนมนั้น พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่วัดคงคาเลียบเหมือนกัน ประทับเป็นครั้งแรกก็มาประทับที่วัดคงคาเลียบ แล้วมีการสร้างตำหนัก ถ้าเราเรียกให้สมพระเกียรติว่าสร้างตำหนัก แต่คนสมัยก่อนในถิ่นนี้ คนแก่ๆ ที่เขาเรียกกัน ก็จะเรียกแบบบ้านๆ ว่า วังพระยาตาก แต่ถ้าจะมาเปรียบเทียบกัน อาตมาก็เห็นว่าควรจะเรียกว่า ตำหนัก พระตำหนัก ส่วนที่เป็นตำหนักก็เป็นบริเวณตั้งแต่ต้นไทรหน้ากุฏิเจ้าอาวาสในปัจจุบันไปจนถึงริมคลองท่าซัก ริมคลองปากพญาที่อยู่หน้าวัดนี่” (พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 15 พฤษภาคม 2561)  และแม้ว่าจะไม่เห็นร่องรอยในปัจจุบัน แต่ก็พอจะเห็นภาพได้ว่ามีตำหนักอยู่ เพราะท่านเจ้าอาวาสได้พาไปดูไม้ที่เคยเป็นไม้สำหรับสร้างตำหนัก ซึ่งปัจจุบันได้นำไปสร้างกุฏิหลังเล็กสำหรับพระภิกษุจำพรรษาเรียบรายอยู่สี่หลัง

พระบรมอัฐสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  มีเรื่องเล่าว่า “เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อกล่าวถึงวัดคงคาเลียบว่า พระบรมอัฐิ พระสรีรังคาร ได้มีการแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งให้นำไปทางกรุงเทพ ไปไว้ที่วัดหนึ่งที่กรุงเทพ ส่วนหนึ่งอยู่ในวัดที่อยู่ในตัวเมืองนคร แต่ส่วนหนึ่งได้มีการนำมาไว้ที่การสร้างตำหนักในบริเวณวัดคงคาเลียบ” (พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 15 พฤษภาคม 2561) (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 123-141) 

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดคงคาเลียบได้ที่

9. วัดน้ำสรงธาราราม

วัดนี้ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.นาทราย อ.เมือง ตามคำบอกเล่าของท่านเจ้าอาวาสเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2561 ได้เล่าว่า วัดนี้สร้างเพื่อเป็นอนุสรณ์สมัยที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช แห่งอาณาจักรศรีวิชัย ยกทัพไปรบแล้วได้รับชัยชนะกลับมา และได้มีเรื่องเล่าเท่าที่ปราฏในตำนานของตระกูลฝั่งชลจิตร กล่าวว่า หากไปดูสิ่งปลูกสร้างที่คาดว่าน่าจะเกี่ยวข้องคงจะได้แก่ เจดีย์ขนาดเล็กสำหรับบรรจุอัฐิ 4 หลัง ซึ่งมีลักษณะแตกต่างจากเจดีย์อื่นๆ ในวัดนี้ คือมีลักษณะคล้ายเกี้ยวจีน แต่ไม่มีใครสามารถให้ข้อมูลได้เลย นอกจากนี้ยังมีคำบอกเล่าจากหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดโยธาธรรม เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ได้เล่าให้ฟังว่า เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชสรงน้ำในคลองบริเวณท่าน้ำข้างวัดน้ำสรงเสร็จแล้ว ขบวนเสด็จของพระองค์ได้ออกเดินทางต่อ โดยเลี้ยวซ้ายไปตามทางเดิน แล้วไปสว่างบริเวณวัดแจ้งวรารามในปัจจุบัน ซึ่งอยู่ห่างจากวัดน้ำสรงประมาณ 3 กิโลเมตร (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 141-142) 

10. วัดแจ้งวราราม

วัดนี้ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.ท่างิ้ว อ.เมือง เมื่อเดินทางจากวัดน้ำสรงธาราราม มาตามทางเดิน พอข้ามคลองขนาดเล็กไปราว 50 เมตร ก็จะพบกับวัดแจ้งวรารามอยู่ทางขวามือ ปัจจุบันวัดแจ้งปูลานวัดด้วยทรายเกือบทั้งลานวัด ศาสนสถานที่ปรากฏปัจจุบัน ได้รับการสร้างขึ้นมาใหม่ มีเพียงเจดีย์โบราณ 2 องค์ที่ตั้งอยู่ด่านหลังพระอุโบสถ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นศาสนสถานที่เก่าแก่ที่สุด  ตามตำนานที่เล่าว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จผ่านมาทางวัดแจ้ง และมาสว่างที่นี่ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังวัดโรงฆ้อง ซึ่งมาจากคำบอกเล่าของหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดโยธาธรรม ที่เล่าไว้ในวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 เช่นเดียวกัน (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 143) 

11. วัดโรงฆ้อง

วัดนี้ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ต.ท่างิ้ว อ.เมือง เป็นวัดที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จผ่านมาเมื่อครั้งผลัดแผ่นดินจากกรุงธนบุรี เป็นกรุงรัตนโกสินทร์  ซึ่ง “จ่ายิ้ม ชำนาญคำ” ได้เล่าให้ฟังเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ได้ความว่า สมัยเป็นเด็ก พ่อเคยเล่าให้ฟังว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเดินทัพผ่านมาทางวัดโรงฆ้อง และได้ตั้งค่าย แล้วก็ให้ทหารรักษาค่ายไว้ เวลามีคนแปลกหน้าผ่านมา ก็ให้ตีฆ้องส่งสัญญาณให้ทางเขาขุนพนมทราบ หรือว่าหากมีคนขอความช่วยเหลือก็ให้ตีฆ้องส่งสัญญาณไปให้ค่ายใหญ่ที่เขาขุนพนมทราบ จะได้ส่งกำลังมาช่วยเหลือ

ปัจจุบันนี้ วัดโรงฆ้องยังหลงเหลือหลักฐานที่เป็นของโบราณเพียงชิ้นเดียว คือ ยอดเจดีย์โบราณ ที่ฝังอยู่ในดินเกือบถึงยอด นอกจากนี้ สิ่งที่อาจยืนยันความเชื่อของชาวบ้านแถบนี้ได้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินเคยเสด็จผ่านมาทางวัดนี้ ได้แก่ ศาลสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ภายในบริเวณวัดโรงฆ้อง หลวงพ่อเจ้าอาวาสได้เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านจากถิ่นอื่นเขาสร้างมาถวาย โดยเอามาไว้ที่วัดโรงฆ้อง 1 องค์ และที่วัดศาลาไพอีก 1 องค์  (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 144-145) 

12. วัดโยธาธรรม

วัดนี้ตั้งอยู่หมู่ที่ 2 ต.นาเรียง อ.เมือง วัดแห่งนี้มีอายุร่วมสมัยกับวัดพระมหาธาตุ และจากคำบอกเล่าของหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดโยธาธรรม ทำให้ทราบว่า ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จะเสด็จมาตั้งค่ายทหารที่วัดโยธาธรรม หลังจากเสด็จขึ้นบกที่บริเวณท่าน้ำและสรงน้ำที่วัดน้ำสรงแล้ว พระองค์ได้เสด็จผ่านมาทางวัดแจ้ง ซึ่งที่วัดแจ้งวรารามในปัจจุบันอาจจะไม่ได้แวะพัก น่าจะเพียงแค่เสด็จผ่านเพื่อที่จะเดินทางมาพักที่วัดโรงฆ้อง แล้วจึงได้เสด็จต่อมายังวัดโยธาธรรมเพื่อตั้งค่ายทหาร อาจกล่าวได้ว่า ค่ายทหารที่วัดโยธาธรรม เป็นค่ายชั้นนอก ส่วนค่ายทหารบริเวณรอบเขาขุนพนม เป็นค่ายทหารชั้นใน  และหลวงพ่อเจ้าอาวาสยังได้กล่าวถึงเจดีย์โบราณภายในบริเวณวัดโยธาธรรมสององค์ว่า “เจดีย์นี้ หลายๆ คนเข้าใจว่า เป็นสิ่งที่ว่า ไว้สินทรัพย์สมบัติ แต่ที่จริงคือไม่ใช่ เป็นกระดูกของทหารที่ติดตามพระเจ้าตากมาทั้งนั้น และทหารองครักษ์ที่ติดตามมา ก็อยู่รอบๆ นี้ โดยเฉพาะที่วัดนี้ มันจะมีอะไรอยู่มาก ซึ่งถ้าใครมาที่นี้ เขาจะบอกว่า ไม่เหมือนที่อื่น” (พระอธิการอภิชาติ อภิชาโต, สัมภาษณ์ส่วนบุคคล, 21 พฤษภาคม 2561) (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 145-148) 

13. วัดเขาปูน

วัดนี้ตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี วัดนี้น่าจะร่วมสมัยกับการตั้งเมืองนครศรีธรรมราช ในความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนั้น พระอธิการสมพร ได้เล่าว่า วัดเขาปูนนี้ เป็นที่แวะพักรอความพร้อมเพรียงของทัพ หรือเป็นที่หยุดรอให้กองทัพที่เดินตามมาให้มาพร้อมกันก่อน ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยังเขาขุนพนม ซึ่งเป็นจุดหมายปลายทาง

พระอธิการสมพร ได้เล่าถึงเรื่องราวตอนนี้ว่า “ที่วัดเขาปูนแห่งนี้ เคยตั้งแคมป์เป็นการรอกองทัพ หรือว่าตั้งให้กองทัพ มีความพร้อม เมื่อแต่ก่อนนี้ แล้วก็ไปที่เขาขุนพนม ก็ไมได้อยู่นานนักหรอกนะ ที่เขาปูนน่ะ ก็เป็นเพียงผ่านมาตั้งแคมป์แค่นั้นแหละที่ได้ข่าวมา” (พระอธิการสมพร ฐิตธมโม, สัมภาษณ์ส่วนบุคคล, 28 พฤษภาคม 2561) (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 149-151) 

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดเขาปูนได้ที่

 

14. วัดเขาขุนพนม

วัดนี้ตั้งอยู่ที่หมู่ที่ 3 ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี ซึ่งวัดเขาขุนพนม ได้รับการกล่าวขานว่า เป็นเมืองพระเจ้าตาก ดังที่ผู้ที่เดินทางไปถึงเขาขุนพนมจะพบเป็นสิ่งแรกเมื่อข้ามสะพานข้ามคลองนอกท่า เข้าสู่เขตเขาขุนพนมจะพบเห็น คือ ป้ายที่เขียนไว้ว่า ยินดีต้อนรับสู่เขาขุนพนม เมืองพระเจ้าตาก ปักไว้ริมเขาด้านซ้ายมือ โบราณสถานในเขาขุนพนมทั้งหมด จึงถือได้ว่าเป็นสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทั้งนั้น

อาจกล่าวได้ว่า วัดเขาขุนพนมเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจเรื่องประวัติสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชนอกพระราชพงศาวดารหลังยุคเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เป็นต้นมา นับจากเรื่องเล่าของหลวงวิจิตรวาทการที่กล่าวไว้ในเรื่อง “ใครฆ่าพระเจ้ากรุงธน” ว่าสมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ถูกสำเร็จโทษที่กรุงธนบุรี แต่ได้หนีมาอยู่ที่เขาขุนพนม เมืองนครศรีธรรมราช หลังจากนั้น ก็มีเรื่องเล่าอีกหลายเรื่องตามมา จากการศึกษาของ ปฐมพงษ์ สุขเล็ก (2560) ที่รวบรวมเรื่องเล่าของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หลัง พ.ศ. 2475 พบว่า 7 ใน 10 เรื่อง ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินไม่ได้ถูกสำเร็จโทษที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แต่ได้หลบหนีมาอยู่ที่ถ้ำเขาขุนพนม ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบันที่เขาขุนพนมแห่งนี้เอง ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของวัดเก่า ที่มีอายุร่วมสมัยกับยุคที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จยังถ้ำเขาขุนพนม ทำให้มีเรื่องเล่ามากมายที่เกี่ยวข้องกันระหว่างถ้ำเขาขุนพนม วัดเขาขุนพนม และสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 152, 188) 

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดเขาขุนพนมได้ที่

https://library.wu.ac.th/NST_localinfo/wat-khao-khun-phanom-2/

15. วัดอินทคีรี

วัดอินทคีรี ตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ต.บ้านเกาะ อ.พรหมคีรี บริเวณไม่ไกลจากวัดเขาขุนพนมมากนัก ในตำนานกล่าวว่า พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกนำมาเก็บไว้ที่วัดอินทคีรี ก่อนที่จะอัญเชิญไปประกอบพิธีปลงพระบรมศพในเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งตำนานดังกล่าว ได้มีกล่าวไว้ที่วัดอินทคีรีเท่านั้นที่ระบุว่า เก็บไว้ที่วัดอินทคีรี กล่าวคือ ภาพลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในตำนานวัดอินทคีรี มีลักษณะเป็นนักเดินทาง หรือนักผจญภัย มากกว่าภาพลักษณ์ของนักปกครอง ทำให้มีการผูกโยงเรื่องเล่าให้เข้ากับการออกเดินทางค้นหาพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทคีรีในปัจจุบัน วัดนี้จึงเป็นวัดที่นักประวัติศาสตร์ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อยเลย (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 429-430)

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดอินทคีรีได้ที่

16. ภูเขาพระ

ตามตำนานสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ภูเขาพระ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช นั้น มีการกล่าวไว้ว่า พระองค์ทรงเสด็จเข้าฝั่งมาทางปากแม่น้ำตาปี แล้วล่องขึ้นมาประทับที่เขาพระ ดังที่มีข้อมูลหนี่งได้กล่าวไว้ “สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ได้เลือกเอาภูเขาลูกหนึ่งเป็นที่พักเป็นภูเขาหินปูนซึ่งตั้งอยู่ในหุบเขาบ้านฉวาง (ปัจจุบันภูเขาลูกนี้มีชื่อเรียกว่า ภูเขาพระ ตั้งอยู่ในหมู่ที่ 1 ต. เขาพระ อ.พิปูน จ.นครศรีธรรมราช) มูลเหตุที่ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช เลือกเอาภูเขาลูกนี้เป็นที่พัก  เมื่อประมาณ 250-260 ปีที่ผ่านมา ภูเขาลูกนี้ตั้งอยู่เป็นเกาะๆ หนึ่งในหุบเขาบ้านฉวาง พอที่จะสันนิฐานได้จากสภาพพื้นที่ดังนี้ ร่องรอยนี้ ประมาณ 60 ปีย้อนหลัง  ตามที่คนเฒ่าคนแก่เล่าให้ฟังว่า ร่องรอยสภาพพื้นที่

           ทางทิศใต้ มีแหล่งน้ำใหญ่ เริ่มจากคลองฉลองลงไป หนองทุ่งนาปรือ เกล็ดธง ลำใน

           ทิศตะวันออก มีแหล่งน้ำพรุ๊เถี๊ย ลงไปถึงแม่น้ำคลองท้ายสำเภา

           ทิศตะวันตก ติดแม่น้ำคลองดินแดง หนองทิดดำ หนองบัว

           ทิศเหนือ ติดต่อแม่น้ำคลองดินแดง หนองหญ้าปล้อง

เมื่อสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเสด็จมาถึง พร้อมด้วยคณะ ก็ได้เลือกเอาภูเขาลูกนี้เป็นที่ประทับและพักพิง เพราะทรงเห็นว่าเหมาะสมที่สุดในขณะนั้น จึงโปรดให้คณะที่ติดตามสร้างที่พักข้างนอก ส่วนพระองค์ทรงประทับอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่ง ก็ทรงได้ทำพระราชกิจของพระองค์  คือเข้าฌานวิปัสสนากรรมฐาน แต่ในครั้งนี้พระองค์ได้ทรง นุ่งขาว ห่มขาว ผนวชเป็นชีปะขาว ตามที่ได้ทรงโปรดมาแล้ว  ณ พระอุโบสถ วัดบางยี่เรือใต้

ต่อมาได้ทรงโปรด ให้คณะที่ติดตาม นำผ้าขาวผืนหนึ่ง ผูกเสาธงปักไว้บนยอดภูเขา ซึ่งมีความหมายว่า  ธงขาวเป็นอิสระภาพ วางมือจากการสู้รบ  เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแน่วแน่แล้ว ธงขาวโบกสะบัด อยู่บนเสายอดเขาสูง ทำให้เป็นที่แปลกใจ ของผู้คนที่พบเห็น ต่างได้ข่าวว่า มีพระผู้ทรงศีล มาพักอยู่ที่เกาะบนภูเขาแห่งนี้   ผู้ที่ผ่านไปมาก็แวะเข้ามากราบนมัสการ หลวงตาผ้าขาวผู้ทรงศีล  โดยที่ทุกคนหารู้ไม่ว่า นั้นคือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  เพราะพระองค์ได้ทรงปิดพระนามไว้ เนื่องจากพระเจ้ากรุงธนบุรีนั้น  ได้สิ้นบุญไปแล้ว  (คนเฒ่าคนแก่ เล่าให้ฟังว่า ที่รู้ๆ หลวงตาปะขาว หรือพ่อท่านตาขาว เป็นคนมาจากเหนือ ซื่อเดิมนามใดไม่มีใครรู้) เมื่อมีผู้คนเข้ามานมัสการ กราบไหว้ พระองค์ก็ให้โอวาท เมื่อรับฟังแล้ว ทุกคนก็ประทับใจ สบายใจขึ้น คลายทุกข์ คลายโศก   บางคนมีปัญหาในการ ประกอบอาชีพ เมื่อมาพบพระองค์ (หลวงตาปะขาว) ก็สามารถแก้ปัญหาได้อย่างที่กล่าว มาแล้วว่า พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถ ฉลาดหลักแหลม  รู้ทุกข์รู้สุขของพสกนิกรของพระองค์เป็นอย่างดี  เพราะพระองค์เป็นถึงพระมหากษัตริย์  ในที่สุดชาวบ้านได้เรียกนามพระองค์ว่า หลวงตาปะขาว หรือพ่อท่านตาขาว ตามสภาพความเป็นอยู่ของพระองค์

(อ้างอิงจาก เขาพระศูนย์วัฒนธรรมอำเภอพิปูน. ใน ประวัติตำนานภูเขาพระ ตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช. หน้า 24-27. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566. https://docs.google.com/document/d/1dIJNlKc-ENF5ceXgA6846dXuvtiuFEmZTVfJGWN0UU0/edit)

และในช่วงสุดท้ายของตำนานพระเจ้าตากสิน ณ เมืองนครศรีธรรมราช ยังได้กล่าวไว้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้เสด็จสวรรคตที่ภูเขาพระ เพราะมีคนเห็นตาผ้าขาวออกจากภูเขาพระไปยังทางทิศตะวันออก และทราบในภายหลังว่า ตาผ้าขาว หรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช  เสด็จไปประทับที่เขาขุนพนม ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออกของภูเขาพระ จึงยิ่งทำให้ชาวบ้านรอบ ๆ ภูเขาพระในปัจจุบันมีความเชื่อว่า ตาผ้าขาวที่เคยมาอยู่ที่ภูเขาพระ อำเภอพิปูน จังหวัดนครศรีธรรมราช  คือ สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชทรงเสด็จสวรรคตที่เขาขุนพนมนั่นเอง (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 226)

17. และนอกจากนี้จะขอกล่าวถึงสถานที่ที่มีความเกี่ยวข้องกับพระสนมของพระองค์ คือเจ้าจอมมารดาปราง นั่นคือ วัดวังตะวันออกและวัดวังตะวันตก

วัดทั้งสองวัดดังกล่าวในอดีตเคยเป็นตำหนักของเจ้าจอมมารดาปราง พระสนมคนหนึ่งของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ดังเรื่องราวตามประวัติศาสตร์ที่กล่าวขานกันว่า  “สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีพระราชทานเจ้าจอมปราง (หรือคุณหนูเล็ก) ธิดาเจ้าพระยานครไปเป็นภริยาเจ้าพัฒน์อุปราชเมืองนครศรีธรรมราชทั้งที่มีครรภ์ไปแล้ว และเจ้าพัฒน์ก็จำต้องรับไว้เป็นศรีเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาได้คลอดบุตรชายที่นครศรีธรรมราชมีชื่อว่า “น้อย”    ในปีมะเมีย พ.ศ.2317 (สังข์ พัฒโนทัย, ม.ป.ป. : 262) แต่เอกสารบางฉบับระบุว่า เจ้าพระยานครน้อย เกิดเมื่อวันจันทร์ ขึ้น 13 ค่ำ เดือน 10 ปีจอ อัฐศก จ.ศ.1138 ตรงกับวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2319 ณ เมืองนครศรีธรรมราช ในขณะที่เจ้าจอมปรางประสูตินั้น สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี โปรดให้อัญเชิญเครื่องยศอย่างพระเจ้าลูกยาเธอไปพระราชทานที่เมืองนครศรีธรรมราช (http://www.navy.mi.th/navy88/files/Nakorn.doc , 31/03/2547)”

หมายเหตุ เมทินี ศรีรุ่งเรือง (2547 : หน้ารองปกหลัง) ได้เขียนถึงนิวาสสถานของเจ้าจอมปรางไว้ในวารสารไทย เรื่อง “กุฏิทรงไทย วัดวังตะวันออก จังหวัดนครศรีธรรมราช” ว่า “…วัดวังตะวันออก ตั้งอยู่ริมถนนราชดำเนิน เดิมชื่อว่าเป็น อุทยานของวังตะวันออก อันเป็นนิวาสสถานของเจ้าจอมปราง ต่อมา เจ้าพระยานคร (น้อย) ยกวังตะวันออกและอุทยานให้เป็นวัดเช่นเดียวกัน บริเวณอุทยานจึงเป็นวัดวังตะวันตก เมื่อ พ.ศ.2431 พระครูกาชาด (ย่อง พร้อมด้วยสานุศิษย์ได้สร้างกุฏิขึ้นหมู่หนึ่ง เป็นเรือนเครื่องสับ 3 หลัง มีหลังคาจั่วแต่ละหลังคลุมเชื่อมต่อกัน ตัวเรือนฝาปะกนตามประตู หน้าต่าง และช่องลมประดับลวดลาย ที่เป็นเอกลักษณ์ของเมืองนคร และปี พ.ศ.2353 สมาคมสถาปนิกสยามคัดเลือกกุฏิวัดวังตะวันออก เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประเภทปูชนียสถานและวัดวาอาราม

(อ้างอิงจาก พระราชวงศ์และตระกูลอันมีเชื้อพระวงศ์. สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566 หน้า 22. https://3king.lib.kmutt.ac.th/KingTarksinCD/chapter18/page22.html)

วัดวังตะวันออก

วัดวังตะวันตก

ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมของวัดวังตะวันออกและวัดวังตะวันตกได้ที่

ข้อมูลอ้างอิง

  • ศานติ โบดินันท์, สวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ และ ดำรง โยธารักษ์. (2561). เรื่องเล่าการเสด็จสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในเมืองนครศรีธรรมราช. ในพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงธนและที่เมืองคอน. หน้า 152-282. โรงพิมพ์อักษรการพิมพ์.
  • ศานติ โบดินันท์, สวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ และ ดำรง โยธารักษ์. (2561). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับโบราณสถานในเมืองนครศรีธรรมราช. ในพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงธนและที่เมืองคอน. หน้า 43-227. โรงพิมพ์อักษรการพิมพ์.
  • เขาพระศูนย์วัฒนธรรมอำเภอพิปูน. (ม.ป.ป.). ประวัติตำนานภูเขาพระ, สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566. จาก https://docs.google.com/document/d/1dIJNlKc-ENF5ceXgA6846dXuvtiuFEmZTVfJGWN0UU0/edit
  • พระราชวงศ์และตระกูลอันมีเชื้อพระวงศ์. (ม.ป.ป.). สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2566. จาก https://3king.lib.kmutt.ac.th/KingTarksinCD/chapter18/page22.html

 

Series Navigation<< วัดประดู่พัฒนาราม

Visits: 625

This entry is part 6 of 6 in the series ตามรอยพระเจ้าตาก

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.