ปล่องโรงสีไฟโบราณ : สัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำปากพนัง

ปล่องโรงสีไฟโบราณ ที่ตั้งตระหง่านอยู่ริมแม่น้ำปากพนัง มีประวัติความเป็นมายาวนาน  เป็นสัญลักษณ์ทีแสดงถึงความอุดมสมบูรณ์ของลุ่มน้ำปากพนังในฐานะเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้ในอดีตที่ผ่านมา 

            ปากพนัง เป็นอำเภอที่มีสภาพภูมิประเทศเป็นแหลมยื่นออกไปในทะเล และมีอ่าวภายในบริเวณปากแม่น้ำปากพนังด้วยสภาพพื้นที่มีความเหมาะสม จึงกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญ เป็นเมืองท่ามาตั้งแต่ครั้งอดีต เหมาะแก่การเดินเรือและการกระจายสินค้าต่อไปยังหัวเมืองสำคัญอื่น ๆ ทำได้ง่าย ส่งผลให้สภาพเศรษฐกิจสมัยก่อนเฟื่องฟูมาก เนื่องจากมีสำเภาจากเมืองจีนและเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่มาเทียบท่าและกระจายสินค้า และนอกจากนี้ยังปรากฏในพระราชหัตเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินเปิดโรงสีไฟแห่งแรกในอำเภอปากพนังของนายโค้ว ฮักหงี ในวันที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ.2448 ความตอนหนึ่งว่า…

        “วันที่ 8 เวลา 3 โมง ได้ลงเรือมาต ไม่ใช่เพราะน้ำตื้น เพราะเพื่อจะหาความสุขถึงปากพนัง แม่น้ำโตราวสักแม่น้ำเจ้าพระยากรุงเทพฯ…ถึงโรงสีไฟจีนโก๊หักหงีซึ่งตั้งใหม่ มีความปรารถนาจะให้ไปเปิดโรงสีนั้น เมื่อไปถึงจีนหักหงีน้องแลบุตรหลายคน และราษฎรซึ่งอยู่ในคลองริมโรงสีนั้นเปนอันมาก ได้ต้อนรับโดยแขงแรง เวลาบ่าย 3 โมงครึ่ง จึงได้ลงเรือกลับมาถึงเรือมหาจักรี..

ภาพอดีตการรับเสด็จในคราวรัชกาลที่ 5 เสด็จทรงเปิดโรงสีไฟแห่งแรกของอำเภอปากพนัง เมือวันที 8 กรกฏาคม 2448     
ภาพ/ข้อมูลจาก คุณสารัท ชลอสันติสกุล ศิลปากรที่ 14  เมืองคอน อาจารย์พวงผกา ตลึงจิตต์ หนังสือลุ่มน้ำปากพนัง หนังสืออุทกวิภาชประสิทธิ คืนความสมบูรณ์สู่..ปากพนัง

        “อำเภอปากพนังนี้ได้ทราบอยู่แล้วว่าเป็นที่สำคัญอย่างไร แต่เมื่อไปถึงที่ยังรู้สึกว่าตามที่คาดคะเนนั้นผิดไปเป็นอันมาก ไม่นึกว่าจะใหญ่โตมั่งคั่งถึงเพียงนี้…เป็นที่นาอุดมดีข้างจีนกล่าวกันว่าดีกว่านาคลองรังสิตแลมีที่ว่างเหลืออยู่มากจะทำนาได้ใหญ่กว่าที่มีอยู่แล้วเดี๋ยวนี้อีก 10 เท่า เขากะกำลังทุ่งนั้นว่าถ้ามีนาบริบูรณ์จะตั้งโรงสีไฟได้ประมาณ 10 โรง…นาทั้งมณฑลนครศรีธรรมราชไม่มีที่ไหนสู้…บรรดาเมืองท่าในแหลมมลายูฝั่งตะวันออกเห็นจะไม่มีแห่งใดดีเท่าปากพนัง”
โรงสีไฟจีนโก๊หักหงี ที่รัชกาลที่ 5 เสด็จ เมื่อ 100 กว่าปีก่อน

           ปัจจุบันหากใครเดินทางไปอำเภอปากพนัง ก็จะสังเกตเห็นปล่องไฟอิฐสูงตั้งโดดเด่นริมแม่น้ำปากพนังอยู่หลายจุด ปล่องไฟดังกล่าวคือ ปล่องโรงสีข้าวเก่า ซึ่งอดีตปากพนังมีความเจริญสูงสุดในยุคทำนาข้าว มีความอุดมสมบูรณ์ในฐานะอู่ข้าวอู่น้ำของภาคใต้  มีโรงสีข้าว (โรงสีไฟ) จำนวนมาก หลายโรงนับตั้งแต่ปากคลองบางไทร (ปัจจุบันกั้นเป็นชลประทาน) ปากแพรก บางนาว จนถึงตลาดปากพนังมี 5-6 โรง เช่น โรงสีแม่หนูพิณ (ปากคลองบางไทร) โรงสีหนึ่ง โรงสีแม่ครูและที่เรียกเป็นตัวเลขอีกหลายโรง  โรงสีเหล่านี้จะรับซื้อข้าวเปลือก จากชาวนาลุ่มน้ำปากพนัง ทั้งหมด นับตั้งแต่ชะอวด หัวไทร เชียรใหญ่ และปากพนัง  ที่โรงสีไฟโรงใดก็เลือกได้ตามความชอบใจ โดยโรงสีข้าวจะส่งต่อเป็นสินค้าส่งออกไปขายยังแรงงงานชาวจีนที่เข้ามาทำเหมืองแร่และยางพาราบริเวณหัวเมืองชายฝั่งและตะวันออก อย่างเมืองตรัง พังงา กระบี่ ภูเก็ต ไปจนถึงเกาะปีนังและสิงค์โปร์  มีเรือสำเภาจีนและเรือกลไฟจากบริษัทต่างมาชุมนุมเต็มหน้าอ่าวปากพนังรอขนส่งข้าวสารไปจำหน่ายเพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศ จำนวนมากในแต่ละปี

          การสืบสานงานโรงสีไฟจากทายาทรุ่นใหม่ของปากพนังกิจการงานโรงสีไฟในอำเภอปากพนัง มีการถ่ายทอดธุรกิจกันตามวงศ์ตระกูล และเปลี่ยนแปลงไปตามหลักธุรกิจเสรี มีการซื้อขายหุ้น ร่วมลงหุ้น และถอนหุ้น ขายกิจการกันต่อลดเวลาเป็นไปตามระบบเศรษฐกิจของไทยภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ปัจจุบัน มีทายาทน้อยรายที่ดูแลกิจการ หรือดำเนินกิจการต่อ จึงค่อนข้างยากในการหาข้อมูลจากทายาทโดยตรง แต่คณะยุววิจัยโรงเรียนสตรีปากพนัง ได้ศึกษาผลการวิจัยของ คุณชวลิตร อังวิทยาธร ประกอบกับสัมภาษณ์นักวิชาการท้องถิ่น ปราชญ์ชาวบ้าน ได้ข้อมูลเพิ่มเติมเป็นแนวทางให้ทราบถึงประวัติความเจริญของโรงสีไฟตั้งแต่ พ.ศ. 2477-2510 พบว่ามีโรงสีไฟในลุ่มน้ำปากพนัง( รวม4 อำเภอ คือ อำเภอปากพนัง อำเภอหัวไทร อำเภอเชียรใหญ่ และอำเภอชะอวด) มีจำนวน 19 โรง แต่ที่อยู่ในลำดับบัญชีของบริษัทข้าวไทยปักษ์ใต้ จำกัด ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่ปากพนังเมื่อ พ.ศ. 2482 มีเพียง 14 โรง และ มีโรงสีที่อยู่ในเขตอำเภอปากพนังและรอยต่อของเขตอำเภอ มีเพียง 11 โรงสี ซึ่งจัดลำดับในภายหลังจากปากแม่น้ำขึ้นไปทางต้นน้ำมีโรงสี ดังนี้

 

โรงสีบริษัทข้าวไทยปักษ์ใต้ หรือโรงสี 9 ห้อง เป็นโรงสีข้าวและโกดังใหญ่ที่สุดในภาคใต้ขณะนั้น
ภาพอดีตโรงสี 1 (โรงสีเอี่ยมเส็ง) ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำปากพนังบริเวณปากบางไซนัง
ภาพอดีตโรงสี 2 ( โรงสีเอียะหลี) ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ ในเขตเทศบาลเมืองปากพนัง ฝั่งซ้ายของแม่น้ำปากพนัง
ภาพอดีตโรงสี 3 (โรงสีเอี๊ยะเซียง) ตั้งอยู่ที่บ้านใหม่ ถนนพานิชย์สัมพันธ์ ติดกับโรงสี 2 (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งโรงน้ำปากพนัง) คนท้องถิ่นจึงเรียกสองโรงสีนี้ว่า ”โรงสีแฝด”
ภาพอดีตโรงสี 4 (โรงสีไฟหมงฮวด) ยุคแรก โรงสีไฟกิมโจนเส็ง ยุค 2 โรงสี 4 ตั่งตรงข้ามกับโรงสี 2 เขตเทศบาลอำเภอปากพนัง
ภาพอดีตโรงสี 5 (โรงสีกวงฮั่ว) ตั้งอยู่ฝั่งฟ้าแม่น้ำปากพนัง เขตเทศบาลอำเภอปากพนัง
ภาพอดีตโรงสี 6 (โรงสีฮงเซียงเฮง) ตั้งฝั่งขวาแม่น้ำปากพนัง เขตเทศบาลอำเภอปากพนัง
ภาพอดีตโรงสี 7 (โรงสีหยิกเส็งจั่น) ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำปากพนังบริเวณบ้านบางนาว ยุคแรกเรียกว่าโรงสีไทนำฟง เป็นของชาวจีนไหหลำ ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2465
ภาพอดีตโรงสี 8 (โรงสีแม่ครู) ในอดีต.. ที่ตั้ง ริมแม่น้ำปากพนังฝั่งซ้ายใกล้ทางเข้าประตูระบายน้ำอุทกวิภาชน์ประสิทธิ์
ภาพอดีตโรงสี 11 (โรงสีไฟวลีย์) ตั้งอยู่ที่ ต.ปากแพรก ฝั่งขวาแม่น้ำปากพนัง เป็น โรงสีที่เลิกกิจการหลังสุด ผู้ตั้งเดิมคือชาวไหหนำ ราว พ.ศ. 2472
ภาพอดีตโรงสี 12 (โรงสีไฟเฮียบเส็งฮง) ยุค 2 โรงสีไฟแสงไทย ยุค 3 ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปากพนังช่วงตลาดเชียรใหญ่ อำเภอเชียรใหญ่
ภาพอดีตโรงสี 13 (โรงสีล่วนเอ็กเชียง) ตั้งอยู่ลำน้ำปากพนังช่วงบ้านปากบาง เขตอำเภอหัวไทร
ภาพอดีตโรงสี 14 (โรงสีบริษัทข้าวไทยปักษ์ใต้) หรือโรงสีเก้าห้อง ตั้งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำปากพนัง ปัจจุบันเหลือแต่ปล้องตั้งใกล้หัวงานโครงการพัฒนาลุ่มน้ำปากพนัง เป็นโรงสีที่ใหญ่ที่สุดในภาคใต้ ถ่ายเมือ ประมาณ พ.ศ.2491

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก คุณบัณฑิต พูลสุข หอจดหมายเหตุนายกรัฐมนตรี /คุณชวลิต อังวิทยาธร การแลกเปลี่ยนและการค้าข้าวบริเวณชุมชนรอบทะเลสาบสงขลา/

คุณสารัท ชลอสันติสกุล ศิลปากรที่ 14/หนังสือรัตนานุสรณ์ /เรืองเล่าของแม่ ลูกสาวขุนบวร ที่เมืองนคร/สารนครศรีธรรมราช/ หนังสือบ้านพ่อที่ลุ่มน้ำปากพนัง

        ในปัจจุบันอำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ยังคงเหลือปล่องควันโรงสี อยู่เพียง 4 ปล่อง จากจำนวน 11 โรงสีในพื้นที่ปากพนัง คือ ปล่องควันโรงสี 6, 7, 8 และ 9 ซึ่งอยู่บริเวณใกล้ ๆ กันทั้ง 4 ปล่อง ดังนี้

โรงสี 6 ฮงเซี่ยงเฮง

              ฮงเซี่ยงเฮง  ที่ตั้ง  อยู่ฝั่งขวาแม่น้ำปากพนังข้างปากคลองหอยราก (คลองศรีสมบูรณ์) แต่อยู่ทิศเหนือของบริษัทข้าวไทยปักษ์ใต้ (บริษัทข้าวไทยปักษ์ใต้อยู่ติดกับสะพานข้ามแม่น้ำปากพนัง) ผู้ก่อตั้งคือ นายเซี่ยง โกฎิกุล บุตรขุนพรหมเสนา นายเซี้ยงจบการศึกษาจากเมืองปีนัง และเป็นหลงจู้อยู่ที่โรงสี 7 ต่อมาแต่งงานกับลูกสาวกิมฟอง ลักษณา โรงสีนี้ปล่องเป็นเหล็ก กำลังผลิตวันละ 50 เกวียนคนงาน 30 กว่าคน ต่อมานายโชคชัย โกฏิกุล ดำเนินกิจการสืบทอดถึง พ.ศ. 2500 จึงหยุดกิจการ  

โรงสี 7 (โรงสีหยิกเส็งจั่น)

               หยิกเส็งจั่น  ที่ตั้ง อยู่ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำปากพนังบริเวณบ้านบางหญ้า ยุคแรกเรียกว่าโรงสีไทนำฟง เป็นของชาวจีนไหหนำ (มาจากเกาะไหหลำ) ตั้งเมื่อ พ.ศ. 2465 ต่อมาขายกิจการให้เถ้าแก่ฝาง ชาวสิงคโปร์ เปลี่ยนชื่อเป็นโรงสีฮะเซ่งเพ้ง และขายต่อให้ขุนบวรรัตนรักษ์ (ตั้น หยิกเส็ง) โดยให้บุตรชื่อ นายยุตติ บวรรัตนรักษ์ ดำเนินกิจการ ต่อมานายยุตติ แต่งงานกับนางจันทร์พริ้ง (โคว้จังพิ้ง) บวรรัตนรักษ์ บุตรสาวของโคว้เซี่ยงฮ่าว และเป็นน้องสาวของนายพวง (โคว้จังพวง) สุชาโต เจ้าของโรงสี 1 โรงสีนี้หยุดกิจการราว พ.ศ. 2505 และทายาทได้ย้ายไปทำกิจการอื่นที่เมืองนครศรีธรรมราช แต่พื้นที่โรงสียังมีผู้ดูแล และสภาพปล่องโรงสีเห็นได้ชัดอยู่ริมถนนปากพนัง-ปากแพรก แถวบ้านบางหญ้า 

โรงสี 8 ( โรงสีแม่ครู)

             โรงสีแม่ครู  ที่ตั้ง ริมแม่น้ำปากพนังฝั่งซ้ายใกล้ทางเข้าประตูระบายน้ำอุทกวิภาชน์ประสิทธิ์ ด้านตะวันออก ริมถนนปากพนัง-ปากแพรกเช่นกัน ห่างจากโรงสี 7 ประมาณ 1 กิโลเมตร
             ผู้ก่อตั้งยุคแรก คือ จีนโคว้ ฮักหงี เป็นโรงสีแห่งแรกในภาคใต้สมัย รัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 5 ได้เสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีเปิดกิจการโรงสี เมื่อ พ.ศ. 2447 เนื่องจากจีนโคว้ฮักหงี ได้กู้เงินจากพระคลังข้างที่ ( ปัจจุบันคือ สำนักทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์) ทำสัญญากัน 25 ปี จดทะเบียนชื่อว่า “ โรงสีเตาเส็ง” มีน้องและหลานมาช่วยงานหลายคนเช่น โคว้ เป็งจือ ต่อมาได้บรรดาศักดิ์ เป็น ขุนนครกิจจีนนิเทศ (ต้นสกุลโรจนกิจ) อีกคนหนึ่งคือ โคว้เซี่ยงงี้(ต้นสกุลศิริธรรมวัฒน์) เป็นบุตรชายคนโตของโคว้ฮักหงี คนที่สามชื่อ โคว้ เสี่ยง ห่าว (ต้นสกุล สุชาโต) เป็นน้องชายของ โคว้เซี่ยงงี่ คนที่ 4 ชื่อ โคว้ เซี่ยงหยู ( ต้นสกุล โฆษิตสกุล) เป็นน้องโคว้เสี่ยงห่าว 

            – ยุคที่ 2 พ.ศ. 2471 ผู้ดำเนินกิจการขายให้ชาวจีนสิงคโปร์ชื่อ โฮฮอง และดำเนินกิจการโดยเจ้าหน้าที่ คนงานเดิมแต่จ้างหลงจู้ใหม่มาบริหาร ทำให้ขาดทุนและล้มละลาย มีนายลิ้มซุ่นหวานดูแลกิจการ จนถูกธนาคารสยามกัมมาจล เข้ายึดทรัพย์ใน พ.ศ. 2475เพราะไม่มีเงินชำระหนี้

            – ยุคที่ 3 พ.ศ. 2478 นางกอบกาญจน์ ชัยสวัสดิ์ ชาวเมืองกาญจนดิษฐ์ ได้มาหาซื้อหม้อน้ำเครื่องจักรไอน้ำ และสนใจโรงสี จึงเจรจาขอซื้อจากธนาคารสยามกัมมาจล ธนาคารให้ในราคาถูกเพียง 5,000 บาท(ชาวปากพนังไม่มีใครทราบเรื่องนี้ ) ซึ่งถือว่าราคาถูกมาก นางกอบกาญจน์ ได้ฟื้นกิจการโรงสีขึ้นมาอีกครั้งโดยจดทะเบียนตั้งชื่อใหม่ว่า “ โรงสีกอบกาญจน์” คนปากพนังเรียกว่าโรงสีแม่ครู เนื่องจากนางกอบกาญจน์ รับราชการเป็นครูด้วย และเป็นที่รักของคนละแวกนั้น ในระยะนี้มีนายกิ้มซุ่น เป็นหลงจู๊ การบริหารเป็นไปด้วยดี มีกำไร ประกอบกับเครื่องจักรมีกำลังสูงจึงเปิดกิจการโรงน้ำแข็งควบคู่กันไปด้วย ( ปัจจุบันยังมีร่องรอยห้องที่ผลิตน้ำแข็งให้เห็น) ต่อมาได้ดำเนินกิจการเรือยนต์โดยสาร ชื่อ เรือท่าทอง ด้วย มีเรือท่าทอง 2 และท่าทอง3 ( เรือท่าทอง 1 อยู่ที่กาญจนดิษฐ์ บ้านเดิมของนางกอบกาญจน์) ครั้นสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงสีทุกโรงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัทข้าวไทย ปักษ์ใต้ ซึ่งรัฐบาลเป็นหุ้นส่วน ข้าวสารที่สีได้ในลุ่มน้ำปากพนังทั้งหมดต้องขายให้บริษัทข้าวไทยปักษ์ใต้แห่งเดียว พ.ศ. 2489 บริษัทข้าวไทยหยุดกิจการ โรงสีกอบกาญจน์ จึงหยุดไปด้วย

            – ยุคที่ 4 พ.ศ. 2491 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สหกรณ์จังหวัดสุราษฏร์ธานีมาเช่าดำเนินกิจการต่อ ในชื่อเดิม ในระยะนี้โรงสี 8 รุ่งเรืองมากเพราะมีทุนรับซื้อไม่จำกัด แม้ประกาศห้ามซื้อขายข้ามเขตสมัยสงครามโลกยังมีอยู่ แต่สหกรณ์ที่ดำเนินการอยู่ในรูปกึ่งรัฐกึ่งเอกชน จึงได้รับสิทธิพิเศษ ขายข้าวข้ามเขตได้ ในขณะที่โรงสีอื่นทำไม่ได้

            – ยุคที่ 5 พ.ศ. 2495 รัฐบาลผ่อนปรนให้ขายข้าวข้ามเขตได้ มีการแข่งขันกันอีกครั้งโรงสีหลายโรงกลับมาดำเนินกิจการอีก ประกอบกับมีโรงสีข้าวเครื่องยนต์ขนาดเล็กเกิดขึ้นในหมู่บ้านมากมาย ข้าวที่มาขายโรงสีไฟจึงน้อยลง โรงสีขนาดเล็กเคยเป็นพ่อค้าคนกลางที่นำข้าวมาขายโรงสีไฟ ก็รับซื้อเสียเอง หรือบริการสีให้ฟรี ๆ เอาแต่แกลบและรำ ทำให้โรงสีไฟแข่งขันไม่ได้ เพราะโรงสีไฟต้องลงทุนสูง และต้องมีวัตถุดิบป้อนตลอดเวลาจึงจะคุ้มทุน ในขณะที่โรงสีเครื่องยนต์ หยุดสีก็ได้ไม่ต้องลงทุนมาก โรงสีไฟจึงหยุดกิจการไปโดยปริยาย 

โรงสี 9 โรงสีง่วนไถ่

              โรงสีง่วนไก่  ที่ตั้ง ตั้งอยู่ฝั่งขวาแม่น้ำปากพนัง ตรงกันข้ามกับโรงสี 8 ( ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ประตูระบายน้ำระหว่างคลองเก่า กับคลองใหม่ที่ขุดเป็นทางลัดเพื่อสร้างประตูระบายน้ำอุทกวิภาชน์ประสิทธิ์ ) เจ้าของ คือ โคว้ง่วนไถ่ ชาวจีนแต้จิ๋ว เมืองเดียวกับโคว้ฮักหงี ตอนแรกจะมาซื้อกิจการโรงสี 8 แต่ตกลงราคากันไม่ได้จึงซื้อที่ฝั่งตรงกันข้ามตั้งโรงสี 9 ในพ.ศ. 2480 ให้บุตรคนที่ 7 ชื่อ โคว้หยิกซ้อเป็นผู้ดำเนินกิจการกำลังผลิต 50-70 เกวียนข้าวเปลือก มีคนงาน 40 คน โรงสีนี้ทุนเยอะจึงซื้อข้าวเงินสด กลายเป็นที่พึงของโรงสีอื่น เช่นโรงสีเล็ก ๆ ซื้อข้าวสินเชื่อมาก่อนแล้วมาขายต่อให้โรงสี 9 พ.ศ. 2496-2503 ได้ขยายกิจการเช่าโรงสี 2 และโรงสีที่ปากแพรกมาดำเนินกิจการด้วยจน พ.ศ. 2505 เกิดมหาวาตภัยเสียหายมาก จึงหยุดกิจการไป 

           ถึงแม้วันนี้ภาพความยิ่งใหญ่ของแหล่งผลิตข้าวเพื่อการส่งออกในปากพนังจะได้จางหายไปตามกาลเวลา ท้องทุ่งนาได้แปรเปลี่ยนเป็นสวนและนากุ้ง กิจการโรงสีไฟที่เคยเจริญรุ่งเรืองเหลือแค่เพียงซากปล่องไฟโรงสีที่ตั้งตระหง่าน จนมีต้นไม้เล็ก ๆ งอกขึ้นอนุสรณ์รำลึกถึงยุคทองของเมือง ซึ่ง ม.ร.ว คึกฤทธิ์ ปราโมช เรียก ปล่องโรงสีไฟโบราณ ว่า “กระถางต้นไม้ที่สูงสุดในโลก”  ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันความเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำของปากพนัง และเป็นอนุสรณ์แห่งอดีตที่ชาวปากพนังภาคภูมิใจ ดังจะเห็นได้จากการสร้าง“อนุสาวรีย์ปล่องโรงสีข้าวโบราณ” ณ บริเวณที่ตั้งพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติ โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังฯ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าในอดีตปากพนังมีความอุดมสมบูรณ์ในฐานะอู่ข้าวอู่น้ำแห่งหนึ่งของเมืองไทย และนี่คือความสำคัญของ ปล่องโรงสีไฟโบราณ แห่งลุ่มน้ำปากพนัง

             คุณค่าจะยังคงอยู่เสมอ  แม้ว่าในวันนี้ สภาพแวดล้อมของปากพนังจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างมากน้อย  เพื่อจุดมุ่งหมายในการพัฒนาเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น  แต่ก็ยังรักษา ปล่องโรงสีไฟโบราณ ทั้งหลายไว้ เพื่อให้เป็นกลิ่นไอการเรียนรู้ของเจริญรุ่งเรืองในอดีตที่ควรค่าแก่การภาคภูมิใจให้กับลุ่มน้ำปากพนังแห่งนี้ให้ยาวนานสืบไป

นัสราห์ จำปากลาย

เรียบเรียงเนื้อหา

นันทพร ขันธศุภหิรัญ

ช่างภาพมือโปร

Visits: 465

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.