แม่น้ำปากพนัง : สายน้ำแห่งวิถีชีวิตและภูมิปัญญา

         “แม่น้ำปากพนัง” คือสัญลักษณ์สำคัญของอำเภอปากพนัง ซึ่งเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช ในสมัยรัชการที่ 5 มีชื่อทางราชการว่าอำเภอเบี้ยซัด คำว่า “เบี้ยซัด” เล่ากันว่า เป็นเพราะบริเวณฝั่งแม่น้ำปากพนังเป็นสถานที่ที่คลื่นมักจะซัดเอาเปลือกหอยหรือเบี้ยหอยขึ้นมากจากทะเลตรงนั้น เบี้ยหอยเป็นเปลือกหอยที่หลวงนำมาใช้เป็นสกุลเงินในสมั้ยนั้น และที่เบี้ยซัดนี้ทางราชการได้ตั้งกรมการผู้ปกครองท้องที่ขึ้นไว้ดูแล โดยจะเป็นผู้ที่มีบรรดาศักดิ์เป็นเมืองรามธานี ถึงแม้ว่าทางราชการจะตั้งชื่อว่า อำเภอเบี้ยซัด แต่ราษฎรในท้องที่ยังคงเรียกพื้นที่นี้ว่าปากพนัง ก่อนที่ภายหลังจะถูกเปลี่ยนชื่อเป็น อำเภอปากพนัง

        เดิมทีพื้นที่อำเภอปากพนังนั้นเป็นทะเล แต่ต่อมาในภายหลังได้ตื้นเขินขึ้นเป็นดินดอน  และมี แม่น้ำปากพนัง ไหลผ่าน ซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทุ่งนาและป่าจาก ปากพนังถูกแบ่งออกเป็นสองฝั่งตามลำน้ำปากพนังที่ไหลผ่าน เป็นฝั่งตะวันตกและฝั่งตะวันออก ปากแม่น้ำนั้นมีแหลมจะงอยยื่นออกไปกลางทะเลชาวบ้านเรียกพื้นที่บริเวณนั้นว่า “แหลมตะลุมพุก” แม่น้ำปากพนัง  ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขาบรรทัด ในเขตอำเภอวังอ่าง อำเภอชะอวด ไหลผ่านอำเภอเชียรใหญ่ อ.ปากพนัง ลงสุ่อ่าวไทย บริเวณอ่าวปากพนัง แหลมตะลุมพุก มีความยาวประมาณ 25 กิโลเมตร อดีตลุ่มน้ำปากพนัง มีความอุดมสมบูรณ์ทางเกษตรกรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของภาคใต้ ซึ่งเปรียบเสมือนอู่ข้าว อู่น้ำ ของเมืองนครศรีธรรมราช และยังมีความสำคัญทางด้านพาณิชกรรม ซึ่งเป็นเส้นทางในการลำเลียงสินค้าออกสู่ทะเลเพื่อติดต่อกับเมืองอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ ดังบันทึก เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2448 พระพุทธเจ้าหลวง (ร.5) เสด็จปากพนัง ได้ทรงบันทึกว่า “บรรดาเมืองท่าในแหลมมาลายูฝั่งตะวันออก เห็นจะไม่มีเมืองใดดีกว่าปากพนัง”

ภาพลำน้ำปากพนังในอดีต แม่น้ำใหญ่ที่เป็นเสมือนสายโลหิตของลุ่มน้ำปากพนัง (ภาพจากหนังสือ 100 ปี โรงเรียนปากพนัง)
ภาพอดีต ภาพปากพนังฝั่งตะวันออก และปากพนังฝั่งตะวันตกของลำน้ำปากพนัง จากหนังสือนิราสปากพนัง โดยหลวงประคองคดี ถ่ายเมื่อ พ.ศ. 2482

          ปากพนังเคยเป็นศูนย์กลางของความเจริญแห่งหนึ่งของภาคใต้ เป็นเมืองท่าศูนย์กลางการค้าและศูนย์การคมนาคม ปากพนังจึงมีความสำคัญทางเศรษฐกิจและด้านยุทธนาวี คำว่า “ปากพนัง”นั้นอาจมาจากคำว่าปากน้ำพนัง คำว่า “พนัง”นั้นแปลได้ว่า “กำบัง” ดังนั้นคำว่าปากพนังจึงตีความได้สองสาเหตุ

        สาเหตุแรก ตีความได้จากการที่เปลือกหอยหรือเบี้ยหอยถูกซัดขึ้นมาจากทะเลและไปติดอยู่ที่พนังดินซึ่งมีลักษณะเป็นสันดินยาวที่ตื้นเขินสูงเหนือน้ำทะเลบริเวณปากอ่าวพนัง

       สาเหตุที่สอง ตีความได้จากการที่ปากพนังมีความสำคัญทางด้านยุทนาวีของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งการยกกองทัพเรือจากนครศรีธรรมราชไปฝ่ายใต้นั้นสามารถยกกองทัพไปทางแม่น้ำพนังทางหนึ่ง และทางทะเลนอกอีกทางหนึ่ง กองเรือที่ยกออกมาจากเมืองนครฯมาสู่ทะเลจะหาที่กำบังคลื่นลมที่ปากพนังนี้ ซึ่งคำว่าพนังที่แปลว่ากำบังจึงเป็นชื่อแม่น้ำ คือแม่น้ำพนังซึ่งไหลผ่านอำเภอเบี้ยซัด และที่บริเวณปากแม่น้ำสายนี้จึงถูกเรียกว่าปากแม่น้ำพนังหรือปากพนังที่เราเรียกกันอยู่ในทุกวันนี้

ภาพอดีตหมู่บ้านริมน้ำและห้างอีสอาเซียติ๊ก ที่ลำน้ำปากพนัง ภาพจากอาจารย์พวงผกา ตลึลงจิตต์ โรงเรียนเบญจมราชูทิศและคุณจรัส ยกถาวร ถ่ายเมือ พ.ศ.2448

        ลุ่มน้ำปากพนัง ซึ่งมีแม่น้ำปากพนังเป็นแม่น้ำสายหลักที่คอยหล่อเลี้ยงชีวิตประชาชนคนใช้น้ำ และสรรพชีวิตในพื้นที่ให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจของอำเภอปากพนังนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรประมง ซึ่งเป็นแหล่งอาหารและรายได้หลักของประชาชนจำนวนมากในพื้นที่ (ณรงค์ บุญสวยขวัญ, 2544) โดยมีแม่น้้าปากพนังเป็นแม่น้้าสายหลัก และมีลำน้้าสาขาที่สำคัญ ได้แก่ คลองลาไม คลองถ้้าพระ คลองรากไม้ คลองฆ้อง คลองพรุ คลองเชียรใหญ่ คลองเสาธง คลองชะเมา คลองหัวไทร คลองท่าพญา คลองบางไทรปก คลองบางทราย และคลองบางโค เป็นต้น (กองอำนวยการโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้้าปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ, 2552) เป็นระบบนิเวศแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตและขยายพันธุ์ของสัตว์น้ำต่าง ๆ โดยพิจารณาได้จากปริมาณการจับสัตว์น้ำจืดในอำเภอปากพนังระหว่าง ปี 2531 -2535 ซึ่งเทียบได้เป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 4 ของทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราช (สำนักวิจัยและพัฒนา, 2537)

ภาพปัจจุบัน การทำประมงพื้นบ้านของชาวบ้านลุ่มน้ำปากพนังที่ยังคงใช้หล่อเลี้ยงชีวิตและความเป็นอยู่

        ด้วยอำเภอปากพนัง มีแม่น้ำปากพนังกั้นกลางทำให้แบ่งปากพนังเป็น 2 ฝั่ง เรียกว่าปากพนังฝั่งตะวันออก และปากพนังฝั่งตะวันตก โดยที่แต่ละฝั่งจะมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน เดิมทีการข้ามฝั่งต้องใช้แพขนานยนต์เพื่อขนส่งรถต่าง ๆ และมีเรือเมล์ เรือหางยาวสำหรับผู้คนโดยสาร ปัจจุบันมีการสร้างสะพานเพื่อใช้เชื่อมระหว่างสองฝั่ง ทำให้การเดินทางสะดวกมากขึ้น เและมีการคมนาคมทางน้ำ จะมีเรือข้ามฟากคอยให้บริการ มีเรือข้ามฝากรอคอยผู้คนที่จะข้ามไปอีกฝั่ง (ฝั่งตะวันออก – ฝั่งตะวันตก) ซึ่งท่าเรือรับจ้างแห่งนี้มีมาเป็นร้อยปีแล้วค่าโดยสารเที่ยวล่ะ 1 บาท เท่านั้น

        บริเวณท่าเรือข้ามฟากจะเป็นตลาดร้อยปี  มีบ้านเรือนเก่า ทั้งบ้านไม้ และตึกที่่อายุนับร้อยปี รวมทั้งมีพ่อค้าแม่ค้านำอาหารสด อาหารแห้งมาวางจำหน่ายกันริมแม่น้ำกันอย่างคึกคัก เมื่อได้นั่งเรือชมแม่น้ำปากพนัง จะได้สัมผัสบรรยากาศเมืองปากพนังอย่างแท้จริง เพราะแม่น้ำปากพนัง มีต้นน้ำอยู่บนเทือกเขาบรรทัด ในตำบลวังอ่าง อำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนจะไหลผ่านอำเภอเชียรใหญ่ และคลองสาขาจากอำเภอหัวไทรมารวมกันที่บ้านปากแพรก จนกลายเป็นแม่น้ำปากพนังหล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนมาจนวันนี้         

        ซึ่งตลอดเส้นทางการล่องเรือในแม่น้ำ จะทำให้ได้เห็นทั้งภาพวิถีชีวิตผู้คน อาคารบ้านเรือน เรือประมงจอดเรียงราย ภาพชาวบ้านในขณะกำลังแล่นเรือออกหาปลา บ้านเรือนริมน้ำบางหลังยังมีกระชังปลา มียออยู่หน้าบ้าน และยังได้เห็นบ้านนก หรือคอนโดนกนางแอ่นตามริมแม่น้ำเป็นตึกใหญ่โต มีช่องเล็กๆ ให้นกซึ่งจะส่งเสียงเจื้อยแจ้วดังไปทั่วเมืองในยามเย็นที่บินกลับรังในคอนโดฯ ถึงแม้วันนี้จำนวนนกนางแอ่นจะลดน้อยลง ทำให้ธุรกิจผลิตรังนกไม่รุ่งเรืองเหมือนก่อน แต่ยังถือว่าเป็นแหล่งรายได้ และสัญลักษณ์อีกอย่างหนึ่งของปากพนัง สายน้ำที่มากไปด้วยเรื่องราวชีวิตแห่งนี้

เจ้าของเรื่อง

เจ้าของภาพ

นัสราห์ จำปากลาย

บรรณารักษ์นักออกแบบกราฟิก

นันทพร ขันธศุภหิรัญ

ช่างภาพมือโปร

Visits: 455

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.