จาก : สารพัดประโยชน์มากคุณค่า

จาก เป็นพืชที่มีประโยชน์มาก แต่ละส่วนของจาก สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย

– ใบจาก ในส่วนของใบจากอ่อนนำมาตากให้แห้งและนำมาใช้มวนยาสูบสำหรับสูบ ใบจากแก่นำมาเย็บกับไม้ไผ่ เรียกว่า “ตับจาก” ใช้สำหรับมุงหลังคา หรือนำมาทำหมวก เรียกว่า “เปี้ยว” ทำที่ตักน้ำ เรียกว่า “หมาจาก” ใช้ห่อขนมต้ม ห่อขนมจาก นำมาสานเป็นตะกร้อหรือฟุตบอลทำเป็นของเล่นเด็ก (วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี, 2565)

– ลูกจาก นำมาทำเป็นผักเคียงกินกับข้าว หรือนำไปทำขนมหวาน ทำลูกจากเชื่อม หรือลูกจากลอยแก้ว

– นกจาก หรือทะลายจาก จะให้น้ำตาล นำมาทำน้ำตาลจาก น้ำตาลจากสด (puechkaset)น้ำตาลเกล็ด  หรือนำไปหมักทำเป็นน้ำส้มสายชูใช้ในการทำกับข้าว

– ทางจาก นำมากั้นทำรั้วบ้าน หรือใช้รองทำเป็นทางเดินบริเวณที่มีโคลนตม (puechkaset)

– พอนจาก นำมาทำเป็นแพ ทำจุกปิดขวดน้ำ หรือนำมาทำเป็นเชื้อเพลิง (puechkaset)

– ดอกจาก ดอกจากอ่อนนำมาต้มเป็นผักจิ้มน้ำพริก (puechkaset)

น้ำตาลที่ได้จากต้นจาก เรียกว่า น้ำตาลจาก หรือน้ำผึ้งจาก มีขั้นตอนการทำหลายขั้นตอน การทำน้ำตาลเพื่อส่งขายเพื่อนำไปหมักเป็นเหล้า และการทำน้ำตาลเพื่อแปรรูปเป็นน้ำตาลสำหรับรับประทาน จะมีความแตกต่างในการเก็บน้ำตาล การทำน้ำตาลเพื่อส่งขายจะเก็บน้ำตาลโดยการปาดจากตอนหัวค่ำ และรองน้ำตาลไว้ ค่อยมาเก็บในตอนเช้า การใส่ไม้เคี่ยมในกระบอกเก็บน้ำตาลก็จะค่อนข้างเยอะ น้ำตาลที่ได้จะมีรสฝาด แต่การทำน้ำตาลเพื่อแปรรรูปเป็นน้ำตาลสำหรับรับประทานจะปาดจากตอนเช้ามืด และใส่ไม้เคี่ยมน้อย

กระบอกไม้ไผ่เก็บน้ำตาล

การทำน้ำตาลจาก สามารถทำได้ตั้งแต่ช่วงนกจาก จนถึงช่วงตาค่าง สามารถทำได้หลายช่วงวัตถุประสงค์ในการทำน้ำตาลจากทำเพื่อ

1. ใช้ในครัวเรือน

2. ทำเพื่อส่งขาย

ช่วงที่จากให้น้ำตาลมาก คือ ช่วง ลูกจากหัวเสี้ยน ลูกจากซามกิน และเป็นช่วงที่นิยมทำกันมาก

การทำน้ำตาลเกล็ด คือการเอาน้ำตาลสดที่ผ่านการเคี่ยวให้ข้น จากหางไหล มาเคี่ยวจนกลายเป็นน้ำตาลเกร็ด น้ำตาลต้องคัดคุณภาพ จึงจะสามารถนำมาเคี่ยวเป็นน้ำตาลเกร็ดที่อร่อย ต้องเก็บน้ำตาลตอนเช้า น้ำตาลจะหอม และหวาน ถ้าน้ำตาลข้นไม่ได้คุณภาพ จะได้น้ำตาลที่เปรี้ยว และได้น้ำตาลเกร็ดที่ไม่ได้คุณภาพ จะไม่ร่วน ไม่แห้ง

การทำน้ำตาลเกล็ด

การทำน้ำตาลจากจะเป็นการทำตามภูมิปัญญาที่ปู่ย่าตายายถ่ายทอดกันกันมามีขั้นตอน คือ

1. ปอกตาล โดยใช้ทับ กับพร้า โดยการปอกกาบของก้านออก ให้เหลือก้านดอก หรืองวง เป็นการปอกสิ่งกีดขวางออก ขั้นตอนนี้ต้องเลือกทะลายจากที่สมบูรณ์

การแต่งทะลาย

การเตรียมทะลายตาล

2. การตีงวง หรือตีตาล วิธีการคือ ใช้ไม้เนื้อแข็งตีที่งวงจาก ซึ่งมีหลายวิธี เช่น ตี 10 ที/1 วัน หรือเรียกว่า มื้อ เช่น มื้อละ 10 ที มื้อละ 20-30-40 ไปจนถึง 90 ที การตีบางคนตี 3 มื้อ หรือ 5 มื้อ แล้วพักไว้ ซึ่งการพักก็พักไม่เท่ากัน อาจจะพักแค่ 15 วัน 1 เดือน หรือ 2 เดือน การตีงวงหรือตีตาล เพื่อให้น้ำหวานมาคั่งอยู่ที่งวงจาก เพื่อกระตุ้นน้ำหวาน (MGR Online, 2560) เมื่อตีเสร็จจะทำการนวดตาล คือการโยก และเขย่างวงจาก ก่อนตัดลูกจาก

3. การเลือกลูกตาลเพื่อทำตาลเลือกช่วงหัวเสี้ยนไปจนถึงซามกิน ลูกตาต่างจะไม่นิยมทำ แต่จะไม่เลือกลูกหัวพองหรือซามแกง เพราะเมื่อตีทะลายจะระเบิด

4. การตัดตาล คือการใช้พร้าฟันโคนทะลายที่ต่อกับงวงเป็นการฟันทะลายลูกทิ้ง โดยให้เหลืองวงยาวที่สุด การตัดต้องฟันครั้งเดียวให้ขาด ไม่อย่างนั้นงวงจะฉีก พร้าต้องคม แรงต้องพอดี ฟันครั้งเดียวขาด

การบ่มตาล

การบ่มตาล คือการเอาดินเหนียวในแปลงมาทาไว้ที่หน้างวง บ่มทิ้งไว้ 1 คืน กับ  1 วัน เพื่อป้องกันหน้าตาลแห้ง ทำให้หน้าเย็น ต้องใช้ดินที่มีความชื้น ปิดท่อน้ำหวานไว้ กันปากท่อน้ำหวานแห้ง ตอนเช้าก็ปาดออก แล้วเอากระบอกรองน้ำตาล ลูกตาลที่ตัดออก ถ้ากินได้ก็เอาไปกิน ถ้าแก่เกิน ก็นำไปทำเชื้อเพลิง ระยะที่กินไม่ได้เรียกตาค่าง เพราะจะมีสีขาวตรงกลาง เหมือนตาของค่าง   

5. ตอนเช้าจะทำการปาดทิ้ง เรียกการล้างหน้าตาล การปาดตาลตอนเช้า เรียกว่าล้างหน้าตาล แต่ถ้าปาดตอนบ่าย-เย็น เรียกว่าการปาดตาล แต่ใช้วิธีการเดียวกัน การปาดจากจะปาดแค่ครั้งเดียว เพราะฉะนั้นมีดปาดจากต้องคม แล้วเอากระบอกมารองน้ำตาล ในกระบอกก็ใส่ไม้เคี่ยมไว้ เพื่อไม่ให้น้ำตาลเปรี้ยวหรือบูด (MGR Online, 2560) มีดปาดน้ำตาลจาก เรียก ทับ เป็นศัพท์เฉพาะ การปาด จะปาดแค่ 1 ครั้ง หรือไม่เกิน 3 ครั้ง เมื่อปาดเสร็จน้ำตาลจะซึมออกมา ปริมาณน้ำตาล การเก็บจะเก็บวันต่อวัน ปาดตอนเย็น เก็บตอนเช้า

6. การรองน้ำตาล วันแรกจะได้น้ำหวานน้อย ประมาณครึ่งแก้ว และค่อยๆ เพิ่มปริมาณมากขึ้น จนถึงวันที่ 5-7 ถึงจะทราบปริมาณผลผลิตต่องวง ซึ่งผลผลิตแต่ละงวงจะไม่เท่ากัน โดยประมาณจะได้ 1.5 ลิตร/1 คืน(18 ชั่วโมง)

การปาดจาก

7. การเคี่ยวน้ำตาล คือการแปรรูปจากน้ำหวานดิบ นำน้ำหวานที่ได้มากรอง และเอาไปเคี่ยวจนน้ำตาลงวด (MGR Online, 2560) ในการเคี่ยวจะเคี่ยวในกระทะใบใหญ่ และใช้มอ ซึ่งเป็นไม้ไผ่สานกันน้ำตาลจากล้นจากกระทะ วางลงไปในกระทะ นอกจากมอ ก็ใช้ใบจากใส่ลงไปในน้ำตาลที่กำลังเคี่ยวและกำลังจะล้น จะช่วยให้น้ำตาลที่กำลังเดือดฟูยุบตัวลง ไม่ฟูล้นกระทะ ไม่ต้องคนตลอดเวลา และใช้ไม้กวาดต้นจาก ซึ่งการทำไม้กวาดจากต้นจาก ก็นำมาเหลา และทุบให้เป็นเส้น ใช้ในการกวาดข้างกระทะตอนเคี่ยวน้ำตาล

8. น้ำหวานดิบเมื่อนำมาเคี่ยวจนเดือดจะได้เป็นน้ำหวานพร้อมดื่ม

9. เคี่ยวประมาณ 1 ชั่วโมง จะได้น้ำหวานที่เรียกว่า เยี่ยววัว หรือปัสสาวะวัว เพราะมีลักษณะมีสีเหมือนปัสสาวะวัว

10. เคี่ยวอีกครึ่งชั่วโมงสีจะเข้มขึ้น เรียกว่าน้ำผึ้งใส

11. เคี่ยวอีกครึ่งชั่วโมง จะได้น้ำผึ้งข้น หรือเรียกว่าน้ำผึ้งหางไหล มีลักษณะเหมือนหางปลาไหล เมื่อรินจะไม่ขาด

12. เคี่ยวอีกครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง และนำไปโซม ในอดีตใช้ไม้โซม ปัจจุบันใช้เครื่องโซม ก็จะได้เป็นน้ำตาลปี๊บพร้อมขาย การตักน้ำตาลใส่ปี๊บต้องใช้ไม้พายตักน้ำผึ้ง ใช้การปาดน้ำตาลในกระทะ ไม่ใช้ทัพพี เพราะน้ำตาลจะติดและตักยาก ป้องกันการหกเลอะเทอะ ไม้พายตักน้ำผึ้งทำจากกระทะที่ชำรุด ที่ทะลุ และไม่สามารถใช้งานได้แล้ว นำมาใส่ด้าม ใช้ได้ทั้งด้ามไม้และด้ามเหล็ก ส่วนมากจะทำเอง ประยุกต์ใช้งานเอง น้ำตาลจากสามารถนำไปดองผัก ทำขนมหวาน ทำขนมลาซึ่งต้องการมากในช่วงเดือน 9 หรือเดือน 10 ในช่วงนี้น้ำตาลจากจะมีราคาแพง แต่ส่วนใหญ่น้ำตาลจากที่ผลิตได้ในปัจจุบันจะนำไปใช้ทำสุรา

 

การโซมน้ำตาล

13. ถ้าเป็นน้ำตาลจากที่มีคุณภาพจะมีการพัฒนาไปทำน้ำตาลเกล็ด ซึ่งจะสามารถขายได้ราคาที่สูงขึ้น

ปัจจัยทางการตลาดที่กำหนดราคาของน้ำตาลขึ้นอยู่กับผลิตภัณฑ์ที่ได้ หากสามารถกระจายการผลิต และผลิตผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลาย เช่น หากแบ่งสัดส่วนการทำน้ำตาลและทำน้ำส้มเพื่อการบริโภค จะทำให้ราคาน้ำตาลไม่ตก สามารถขายได้ราคาดีขึ้น และสามารถรักษาสมดุลย์การตลาดได้

 

ข้อมูลอ้างอิง

MGR Online. (2560). หวานๆ ด้วย ‘น้ำตาลจาก’ ที่ไร่จันทรังษี ปากพนัง. Retrieved 28 เมษายน from https://mgronline.com/travel/detail/9600000117757

puechkaset. ต้นจาก และประโยชน์ต้นจาก. Retrieved 24 เมษายน from https://puechkaset.com/%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81/

จาก : พืชเศรษฐกิจเงินล้าน.  Retrieved 24 เมษายน from https://www.kasetnumchok.com/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%B9%E0%B8%81%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81/

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี. (2565). จาก. มูลนิธิวิกิมีเดีย. Retrieved 27 เมษายน from https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81

Visits: 102

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.