ร้านน้ำชา : สภาของมิตรที่สะท้อนชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน

ร้านน้ำชากับตลาดสด เป็นพื้นที่สาธารณะทั้งคู่แต่แยกไม่ค่อยออกว่า ที่ไหนสะท้อนความเป็นอยู่ วัฒนธรรม และประเพณีท้องถิ่นได้มากกว่ากัน ร้านน้ำชา สถานที่พบปะพูดคุย มีความแตกต่าง มีความหลากหลาย มีมิตรภาพ ในแต่ละวันผู้คนมากมาย เรื่องราวหลากหลาย เกิดขึ้นที่นี่ จากพื้นที่เฉพาะกลุ่มคนในหมู่บ้าน พัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ ผู้คนเดินทางผ่านไป-มา แวะเวียนเข้ามากินอาหาร นั่งพัก ฟังเสียงพูดคุยจนบางครั้งชอบใจนั่งนานไปกว่าที่คิด  ภาคใต้ของไทยพบร้านน้ำชาได้แทบทุกพื้นที่ นครศรีธรรมราชก็มีร้านน้ำชาทุกพื้นที่ ทั้งแบบเดิม และแบบใหม่

  • แบบใหม่ หลายรูปแบบ เป็นซุ้ม ร้านค้า คาเฟ่ ร้านอาหารและร้านกาแฟ ร้านกาแฟ แต่ทั้งหมดนี้มีเมนูชา ชาร้อน ชาเย็น ฯลฯ ชอบแบบไหนก็เลือกได้ตามความต้องการทั้งสถานที่ และเมนู
  • แบบเดิม ร้านเปิดโล่ง ใช้เตาถ่านบ้าง ใช้แก๊สบ้าง โต๊ะเก่า เก้าอี้ตัวยาวก็เก่าอีกนั่นแหละ ผู้คนที่เข้าไปนั่งมีทุกวัย ทุกศาสนา เสียงพูดคุย ทักทาย ให้สลาม เมื่อเจอคนรู้จัก คุยกันได้ทุกเรื่องขึ้นอยู่กับเทศกาล ข่าวสารในช่วงเวลานั้น ๆ  จากเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เรื่องผู้คน นกกรง ไก่ชน ฯลฯ จนไปถึงเรื่องการเมือง สถานการณ์บ้านเมือง และที่แปลกที่สุด เสียงดังแต่ไม่เคยเห็นใครทะเลาะกัน ใครที่บอกคนคอนดุ น่าจะไม่จริง (รึป่าว..)

ชื่อ “ชา” มีที่มา

ชื่อเรียกของชาที่เราได้ยินกันมักจะมีแค่ 2 คำ คือ “cha” และ “ tea หรือ te” ทั้ง 2 คำมาจากภาษาจีน อ่านออกเสียงแตกต่างกันตามพื้นที่ 

  • ชา (Cha): ออกเสียงแบบกวางตุ้ง ใช้กันในแถบมณฑลกวางโจว ฮ่องกงและมาเก๊า ซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับชาวโปรตุเกส และชาวโปรตุเกสก็ได้นำไปเผยแพร่ต่อในประเทศอินเดีย ประเทศในแถบบนี้จะเรียก ชา
  • Te: สำเนียงฮกเกี้ยน ใช้ในแถบเซี่ยเหมิน มณฑลฝูเจี้ยน และฉวนโจว ภาคใต้ของมณฑลฝูเจี้ยน ติดต่อค้าขายกับชาวยุโรปตะวันตก รวมไปถึงชาวดัตช์ และได้นำคำนี้ไปเผยแพร่ต่อในชวา มาเลย์ และยุโรปตะวันตก จนทำให้ชาวอังกฤษรับมาใช้เป็นคำว่า “tea” ในปัจจุบัน

สรรพคุณของ “ชา”

  • ชามีคุณสมบัติในการแยกองค์ประกอบของเนื้อและไขมัน ดังนั้นจึงมีส่วนช่วยเรื่องการย่อยอาหาร 
  • ใบชามี กรดแทนนิค คุณสมบัติต่อต้านการอักเสบและการติดเชื้อ นอกจากนี้ยังมีสารอัลคาลอยด์ (ส่วนใหญ่จะเป็นคาเฟอีน) ซึ่งมีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของระบบประสาทส่วนกลางและระบบเมตาบอลิซึ่ม

ร้านน้ำชาเมืองคอน

เคยกินชาร้อนที่คอนม่าย กินหลังสุดเมื่อไหร่ ที่ไหน… ร้านน้ำชา อยู่ในชุมชน เปิดขายตลอดวัน คนคอนนิยมกินน้ำชาเป็นอาหารเช้า และแกล้มด้วยอาหารที่มีในร้านน้ำชา ถ้านั่งทานตอนเช้าอาหารแกล้มก็จะมีเยอะหน่อย ข้าวเหนียวหัวต่าง ๆ ข้าวยำ ขนมจีน ข้าวมันแกง จาโกย ติ่มซำ ข้าวต้ม โจ๊ก ขนมครก ข้าวเหนียวไก่ทอด เนื้อทอด โรตี มะตะบะ ขนมประจำถิ่น ขนมพื้นถิ่นต่าง ๆ มีให้เลือกทาน ถ้าเป็นตอนเที่ยง อาจจะเจอน้อยกว่าตอนเช้า ส่วนมากจะเป็นขนมประจำถิ่น ขนมปัง ขนมไข่ ขนมแห้ง ๆ ที่เก็บได้ไม่เสีย ตอนเย็นถึงค่ำ อาจจะมีเหมือนตอนเช้าหรือมีให้เลือกเยอะกว่า ลองเข้าไปนั่งดูทั้งสามช่วงเวลาก็ได้แล้วลองตอบว่าชอบเวลาไหนที่สุด … ไม่ต้องถามกลับนะคะ ผู้เขียนชอบตอนเช้าค่ะ ออกกำลังกายเสร็จ ก็เข้าร้านน้ำชา ซื้อแขวนแฮนด์จักรยานกลับมาทานที่บ้าน

“เหมือนเดิม” เสียงที่มักได้ยินในร้านน้ำชา เป็นเสียงสั่งชาร้อนของลูกค้า หรือบางทีเสียงคนชงร้องทักลูกค้า พร้อมกับโบกมือทักทาย ชาร้อนสำหรับบางคนกินวันละหลายรอบ กินได้ทั้งวัน คนชงชา ต้องชงให้ถูกปากแต่ละคน ตรงกับความชอบของคนกิน เพราะเมนู “เหมือนเดิม” ของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกันสักคน บ่อยครั้งที่ได้ยินคนชงบอก “ถ้าเดียว” คำใต้ หมายถึง ต้องรอชาที่ถูกคอลูกค้าคนนั้น ๆ อาจจะเป็นหัวชา หรือ ลบหนึ่ง (ชงหัวชาไปหนึ่งแก้ว) แล้วชาในถุงไม่สามารถชงชาร้อน “เหมือนเดิม” ให้ได้

ร้านน้ำชา
ร้านน้ำชา

ความลับร้านน้ำชา

จะแอบบอกว่า ร้านน้ำชาแต่ละร้าน

  • มีสูตรผสมผงชาที่ใช้ชง ชาร้อน แหล่งที่มาของผงชา ไม่เหมือนกัน จึงทำให้แต่ละร้านมีลูกค้าประจำ ร้านน้ำชาที่ถูกใจก็ไปบ่อย ร้านน้ำชาที่เกรงใจก็ไปบ้าง ขาประจำจะห่างหายไปบ้างแต่คนชงจะจำได้ตลอดว่ากินรสชาติไหนนั่นละที่มาของเมนู “เหมือนเดิม” และที่สำคัญไม่แนะนำ “เหมือนเดิม” ให้ใครก็ตามที่ไม่ใช่คนภาคใต้ ถึงแม้ว่าเพื่อนคุณคนนั้นจะเป็นผู้หญิงก็ตาม “เหมือนเดิม” ใช้ไม่ได้กับทุกคน
  • ถุงชา คืออีกหนึ่งความลับ ปริมาณผงชาที่ชงชาร้อนในถุงชา จำนวนแก้วที่ชงต่อชาหนึ่งถุง
  • น้ำร้อน การอุ่นแก้วให้ร้อน และสุดท้ายน้ำชาในชากา
  • คนชงชา นั่นแหละที่สำคัญที่สุด น่าจะเป็น “man of the rannamcha”

สภาของมิตร (ภาพ)

ร้านน้ำชา แหล่งรวมมิตรภาพ เสียงพูดคุย ทักทาย ถาม-ตอบ เล่าเรื่องราว ไต่ถามสารทุกข์สุกดิบ หรือแม้กระทั่งการให้สลาม ทุกคนในร้านน้ำชาไม่ใช่คนแปลกหน้า ในร้านน้ำชาทุกคนสามารถพูดคุยทักทาย แสดงความคิดเห็น เล่าเรื่องราว ถึงกันได้หมด ถึงขนาดว่าบางคนกินน้ำชาเสร็จจะจ่ายเงิน ไม่ต้องจ่ายค่าน้ำชา ค่าอาหารที่กิน แล้วที่ตลกกว่านั้นคือ ไม่รู้ว่าใครจ่ายให้ “มีคนจ่ายให้แล้ว” ??? “ไปแล้ว” ??? “ไม่ผิดคน” ??? “เออ กลับไปตะ” ??? แล้วเขาจ่ายเงินกันตอนไหน ส่งสัญญาณกันยังไง ขาประจำเท่านั้นที่รู้…

สภาของมิตร เฉพาะในร้านน้ำชาหรือเปล่า ถ้าสำหรับคนต่างถิ่นคนเดินทางที่แวะเวียนเข้ามาอาจจะใช่ สภาของมิตรเฉพาะช่วงเวลานั้น ๆ แต่สำหรับขาประจำแล้วนั้น ร้านน้ำชา คือจุดเริ่มต้นของมิตรภาพความเชื่อมโยง “… ไปไหนมา ไม่มาหลายวันแล้ว เป็นไหรมั่งม่าย” “ยางแบน…ยกขึ้นรถ…ไปร้านว่าไปบ้านเดียวไปส่ง” ฉันยกจักรยานใส่พ่วงข้าง (มอเตอร์ไซค์พ่วง) กว่าจะถึงบ้านมีเสียงทักทาย เสียงถามตลอดทาง “พรือไม่ถีบ” ทุกคนเหมือนญาติมีความห่วงใย มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันตามกำลังที่มี เสนอข้อคิดเห็น เสนอทางเลือก เสนอตัวช่วย ฯลฯ สภาของมิตร ที่มีอยู่จริงในร้านน้ำชา

การทานน้ำชา ทานอาหารในร้านน้ำชา เป็นเรื่องรอง  การได้นั่งพูดคุยกับคนถูกคอ ได้พูดเรื่องถูกใจ ได้ฟังเรื่องที่ชอบ เท่ากับเป็นการพักผ่อนหย่อนใจ นั่นคือประเด็นหลัก เพราะฉะนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าชาร้อนหนึ่งจอก ชากาหรือชาเฉย อีกหลาย ๆ กา (หมายถึงชาเฉยใส่กาน้ำ) แล้วนั่งยาว ๆ ไป ร้านน้ำชา … หลากเรื่องเล่า … หลายผู้คน … ต่างความคิด … สภาของมิตรภาพ

แหล่งข้อมูล

Visits: 98

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.