เขาคา :  ดินแดนแห่งพระศิวะ

เขาคา เทวสถานศาสนาพราหมณ์ ไศวนิกาย สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 เขาคาเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา และเป็นที่อยู่อาศัยของพราหมณ์ผู้ประกอบศาสนพิธี

  • เขาคามี 2 ยอดเขา ยอดเขาทิศเหนือมี สวยัมภูลึงค์ ยอดเขาทิศใต้มีบราณสถานตามแนวสันเขา 4 แห่ง สระน้ำ 3 แห่ง มีโบราณสถานกระจายอยู่โดยรอบ จากการขุดค้นทางโบราณคดีพบโบราณวัตถุที่ใช้ประกอบพิธีกรรม เช่น ฐานโยนิ ศิวลึงค์ ท่อโสมสูตร (ท่อน้ำมนต์)
  • เขาคาเป็นแหล่งโบราณคดีแหล่งใหญ่และสำคัญที่สุด เป็นศูนย์กลางของเทวสถานพราหมณ์ จากการขุดค้นทางโบราณคดี พบซากโบราณสถานที่เกี่ยวเนื่องในศาสนาพราหมณ์กระจัดกระจายอยู่รอบเขาคา
  • เทวสถานถอดแบบการสร้างมาจากอินเดียใต้ นักวิชาการทางโบราณคดีได้ให้ความเห็นว่าเทวาลัยบนเขาคามีแผนผังคล้ายกับเทวาลัย Lad Khan เมืองไอโหเฬ ประเทศอินเดีย
  • เขาคาเป็นสถานที่แสวงบุญบนเส้นทางการค้าคาบสมุทรมลายูที่ตัดจากอ่าวไทย ข้ามเทือกเขาบรรทัดไปยังฝั่งอันดามัน
  • ชุมชนตั้งบ้านเรือนอยู่ตามพื้นที่ราบรอบ ๆ เขาคา จากหลักฐานทางโบราณคดีจำนวนมากที่พบในชุมชน ทำให้เชื่อว่าเคารพนับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด โดยเทวสถานเขาคาเป็นศูนย์กลางของ “ไศวภูมิมณฑล”  หมายถึง ศูนย์กลางแห่งมณฑลของพราหมณ์ ไศวนิกาย เป็นแห่งเดียวในจังหวัดนครศรีธรรมราช และอาจจะเป็นแห่งเดียวในคาบสมุทรภาคใต้

ที่ตั้ง:

หมู่ที่ 11 ตำบลเสาเภา อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช

ภูมินาม:

  • ตามลักษณะที่ตั้ง ความเชื่อของพราหมณ์ ไศวนิกาย คลองท่าทน ผ่านทางทิศเหนือไหลลงสู่อ่าวไทย ตามความเชื่อถือว่าเป็นแม่น้ำคงคาอันศักดิ์สิทธิ์ ภูเขาลูกนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “เขาแห่งแม่น้ำคงคา” และเป็น “เขาคา” ในปัจจุบัน
  • นิทานพื้นบ้าน นางชีเป็นเจ้าของภูเขาลูกนี้ เดิมเรียกว่า เขาของข้า นานไปก็สั้นลงและเพี้ยนเป็น เขาคา
  • บริเวณภูเขาลูกนี้เมื่อโค่นต้นไม้ใหญ่ลงหมด เหลือแต่หญ้าคาเป็น ภูเขาหญ้าคา และเป็น เขาคา

ภูมิสันฐาน:

เขาคาเป็นภูเขาลูกโดดกลางพื้นราบ ทอดตัวอยู่ในแนวทิศเหนือ-ใต้ บนภูเขามีที่ราบตลอดแนวสันเขา เป็นภูเขาที่ไม่สูงมากนัก มียอดเขา 2 ยอด มีคลองท่าทนไหลผ่านทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ และทิศเหนือ

  • บริเวณเขาคา และลุ่มน้ำคลองท่าทน ที่ราบรอบเขาคา = ดินแดนแห่งพระศิวะ
  • ลึงคบรรพต = พระศิวะ
  • หมู่โบราณสถานที่เรียงตัว ทิศเหนือ-ทิศใต้ บนเขาคา = วิมานพระศิวะ
  • ภูเขาคา = เขาไกรลาศ ที่ประทับพระศิวะ
  • คลองท่าทน ไหลผ่านทางทิศเหนือเขาคา = แม่น้ำคงคา
  • เขาหลวง ต้นกำเนิดคลองท่าทน = เขาพระสุเมรุ (เขาหลวงมียอดเขาชื่อ “เขาเหมน”)
  • แม่น้ำท่าทนไหลลงสู่ อ่าวไทย = เกษียรสมุทร ที่ประทับพระนารายณ์
  • เทือกเขานครศรีธรรมราช ทิศตะวันตก = เขาพรหมโลก ที่ประทับพระพรหม

พื้นที่ ไศวภูมิมณฑลเขาคา จึงสอดคล้องกับคติการสถาปนาภูเขาศักดิ์สิทธิ์ตามหลักไศวนิกาย

เขาคา โบราณสถานหมายเลข 2
เขาคา โบราณสถานหมายเลข 2 บันไดเข้า-ออก ด้านทิศตะวันตก

เทวสถานเขาคา

เทวสถานเพื่อประกอบพิธีกรรม พราหมณ์ในสมัยนั้นได้สร้างเทวาลัย

1.สวยัมภูลึงค์บนยอดเขาทิศเหนือ เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีลักษณะคล้ายกับศิวลึงค์ ลักษณะของหินบริเวณรอบสวยัมภูลึงค์เป็นหินตามธรรมชาติ ทิศตะวันตกระหว่างสวยัมภูลึงค์และโบราณสถานหมายเลข 1 เป็นทางขึ้นโบราณจากคลองท่าทน (ปัจจุบันไม่ได้ใช้ทางขึ้นนี้แล้ว) ทิศตะวันออกเป็นสระน้ำหมายเลข 3

2.กลุ่มโบราณสถานบนยอดเขา ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง เรียงตามลำดับจากทิศใต้-ทิศเหนือ โดยเริ่มจากทางขึ้นปัจจุบันด้านทิศใต้ อยู่บนยอดเขาทิศใต้

เขาคา บันไดทางขึ้นทิศใต้
เขาคา บันไดทางขึ้นทิศใต้
  • โบราณสถานหมายเลข 4 เป็นอาคารชั้นแรกหากขึ้นจากทางขึ้นใหม่ด้านทิศใต้ ตั้งอยู่บนยอดเนิน ทิศใต้สุด มีกำแพงอิฐ ภายในเป็นลาน ประตูเข้าทางทิศเหนือ โบราณวัตถุที่พบได้แก่ ธรณีประตู กรอบประตู ฐานเสา ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรมทำจากหินปูน โบราณวัตถุที่สำคัญ คือ ฐานโยนิหินอายุพันกว่าปี ฐานโยนิลักษณะเหมือนธรรมชาติส่วนบนโค้งกลมมน ส่วนปลายเรียวเซาะเป็นร่องน้ำ สลักจากหิน พบจากการขุดแต่งโบราณสถานหมายเลข 4 วางอยู่ทิศใต้สุดของตัวอาคาร ฐานโยนิหิน สันนิษฐานว่าเป็นที่สรงน้ำเทวรูปหรือรูปเคารพที่มากับเรือ
  • โบราณสถานหมายเลข 3 เดินขึ้นไปทางทิศเหนือจากโบราณสถานหมายเลข 4 พบกับอาคารขนาดเล็ก สำหรับประกอบพิธีกรรมหรือประดิษฐานรูปเคารพ บริเวณนี้พบฐานเสาอาคารเป็นฐานเสาหิน ประตูเข้าทิศเหนือ เดินขึ้นไปทางทิศเหนือ พบสระน้ำหมายเลข 2 อยู่ทิศตะวันออกก่อนขึ้นบันไดเข้าสู่โบราณสถานหมายเลข 2 อาคารประธาน
  • โบราณสถานหมายเลข 2 อาคารประธาน เทวาลัย เทวสถานสูงสุด ตั้งอยู่บนยอดสูงสุดของสันเขา ตัวอาคารก่อล้อมด้วยกำแพง มีประตูและบันไดเข้า-ออก ด้านทิศตะวันตก และถ้าหันหน้ามองจากจุดหน้าอาคารนี้ไปทางทิศตะวันตกจะเห็นยอดเขาในอุทยานแห่งชาติน้ำตกสี่ขีด 2 ยอด ตรงกับบันไดทางขึ้นอาคารเทวสถานสูงสุดนี้พอดี เป็นการวางแนวอาคารเทวาลัยหลักของพราหมณ์หรือเปล่า (เป็นคำถามไว้ให้คิด ให้เป็นจุดสังเกตหากมีโอกาสไปเยี่ยมชมเทวสถานของพราหมณ์) ด้านหน้าเป็นมุข กึ่งกลางเป็นบันไดทางขึ้นจากพื้นลานสู่โถงภายใน ด้านทิศตะวันออกเป็นมุขลดระดับ มีบันไดลงสู่ลานมุข 3 ขั้น มีฐานศิวลึงค์หิน รูปสีเหลี่ยมจตุรัสคล้ายฐานบัว ส่วนบนเจาะเป็นรูสี่เหลี่ยมจตุรัสไว้ตรงกลาง ด้านหน้าเป็นแท่งยื่นออกมา เป็นหินปูนสีขาว พบบริเวณไหล่เขาทิศตะวันออกของโบราณสถานหมายเลข 2 ปัจจุบันนำมาวางไว้บนตัวอาคารด้านทิศตะวันออก บริเวณไหล่เขาด้านทิศตะวันออกเป็นหินสลักเป็นรางระบายน้ำ สองรางทิศเหนือ-ใต้ ภายในอาคารมีฐานเสาหิน กรอบประตู ทำจากหินสลัก บ่อรูปสีเหลี่ยมใช้เป็นบ่อรับน้ำมนต์จากท่อโสมสูตร ทิศเหนือของตัวอาคารเป็นมุขลดระดับ จากอาคารประธานด้านทิศเหนือลงบันไดเพื่อเข้าสู่ลานโบราณสถานหมายเลข 1 พบสระน้ำหมายเลข 1 อยู่ทิศตะวันออกก่อนเข้าสู่โบราณสถานหมายเลข 1
  • โบราณสถานหมายเลข 1 อาคารที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือเป็นอาคารแรกที่พบหากขึ้นจากทางขึ้นคลองท่าทนที่สมมติเป็นแม่น้ำคงคา (ปัจจุบันไม่ได้ใช้ทางขึ้นนี้แล้ว) ปัจจุบันคงเหลือแค่กำแพงล้อมรอบ มีร่องรอยอาคารภายใน มีฐานเสาหิน กรอบประตูทำจากหิน วางรวมกัน โบราณสถานหมายเลข 1 ถูกทำลายค่อนข้างมาก พื้นหินเดิม ร่องรอยตัวอาคารแทบจะไม่มีให้เห็น ออกจากตัวอาคารเดินลงบันไดหินธรรมชาติพบสระน้ำหมายเลข 1 อยู่ทิศตะวันออก เดินไปทางทิศเหนืออีกนิดจะพบทางขึ้น-ลงโบราณ อยู่ทางทิศตะวันตก เดินขึ้นไปเหนือสุดของสันเขาพบ สวยัมภูลึงค์
  • ทางขึ้น-ลงโบราณ แนวบันไดเดิม เริ่มจากริมตลิ่งคลองท่าทน บันไดทำด้วยหินปูนวางเป็นขั้นต่อเนื่อง เมื่อสุดบันได เดินขึ้นไปทิศเหนือจะพบ สวยัมภูลึงค์ อยู่เหนือสุดของสันเขา หากเดินขึ้นบันไปทางทิศใต้จะพบโบราณสถานหมายเลข 1-4 และสระน้ำหมายเลข 3,1,2 ตามลำดับ
เขาคา ทางขึ้นลงโบราณ
เขาคา ทางขึ้น-ลงโบราณ

3.สระน้ำโบราณ สระน้ำบนยอดเขาเกิดจากการปรับแต่งร่องเขาขนาดเล็กระหว่างลาดเขาใช้เป็นแหล่งเก็บน้ำ มี 3 สระ มีหินกรุขอบสระเพื่อใช้เก็บกักน้ำ ตั้งอยู่ทิศตะวันออกทั้งหมด เรียงลำดับทิศใต้-ทิศเหนือ ได้แก่

เขาคา สระน้ำโบราณ หมายเลข 1
เขาคา สระน้ำโบราณ หมายเลข 1
  • สระน้ำหมายเลข 2 อยู่ระหว่างโบราณสถานหมายเลข 3 กับโบราณสถานหมายเลข 2
  • สระน้ำหมายเลข 1 อยู่ระหว่างโบราณสถานหมายเลข 2 กับโบราณสถานหมายเลข 1
  • สระน้ำหมายเลข 3 อยู่บนสันเขาที่แยกระหว่างสวยัมภูลึงค์ กับโบราณสถานหมายเลข 1 เยื้องกับทางขึ้น-ลงโบราณจากคลองท่าทน

4.โบราณวัตถุที่ค้นพบบางส่วนจัดแสดงไว้ที่อาคารนิทรรศการถาวร ริมบันไดทางขึ้นด้านทิศใต้ (สิ้นสุดเขตกำแพงวัดเขาคา) ชิ้นที่สำคัญ ได้แก่

เขาคา โบราณวัตถุ
เขาคา โบราณวัตถุจัดแสดงที่อาคารนิทรรศการถาวร
  • ศิวลึงค์ เป็นรูปเคารพในลัทธิไศวนิกายมีเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่รูปแบบที่นิยมมีสามส่วนคือ ส่วนฐาน เป็นรูปสี่เหลี่ยม เรียกว่า พรหมมภาค หมายถึงพระพรหม ส่วนกลาง เป็นรูปแปดเหลี่ยม เรียกว่า วิษณุภาค หมายถึง พระวิษณุ ส่วนยอด เป็นทรงกลมโค้งมน เรียกว่า รุทรภาค หมายถึง พระศิวะ
  • ฐานโยนิโทรณหรือฐานศิวลึงค์ พบเป็นจำนวนมาก ทำมาจากหินปูน มีลักษณะรูปแบบแตกต่างกันหลายรูปแบบและหลายขนาด
  • ชิ้นส่วนสถาปัตยกรรม ที่พบมากมีธรณีประตู โสมสูตร ฐานเสา ขึ้นส่วนกรอบประตูทำมาจากหินปูน
  • เทวรูปและชิ้นส่วนเทวรูป มีการขุดพบหลายชิ้น ทำมาจากหินปูน

สวยัมภูลึงค์

เขาคาเป็นลิงคบรรพต ศิวลึงค์พิเศษประเภทสวยัมภูวลึงค์ คือศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะพิเศษ

  1. มีความสูงเหนือศรีษะมนุษย์
  2. ตั้งอยู่บนยอดสันเขา
  3. ภูเขาที่มีลิงคบรรพต จะต้องมีแม่น้ำ หรือ สายน้ำสำคัญไหลผ่าน

ลักษณะพิเศษทั้ง 3 ประการ โดยการนำเขาไกรลาศมาเป็นตัวพิจารณา ลิงคบรรพตที่โบราณสถานเขาคา ถือว่ามีครบตามคุณสมบัติ กล่าวคือ

  • ลิงคบรรพตของไศวภูมิมณฑลตั้งบนสันเขาทางตอนเหนือสุดของเขาคา
  • ขนาดของลิงคบรรพตใหญ่กว่ามนุษย์
  • คลองท่าทนไหลผ่านที่ราบทางตอนเหนือของเขาคา

พระสวยัมภูลึงค์แห่งเขาคา

สวยัมภูลึงค์

สวยัมภูลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติมีลักษณะคล้ายกับศิวลึงค์ มีการปรับแต่งแนวกำแพงเพื่อกำหนดขอบเขต และปรับบริเวณองค์สวยัมภูลึงค์เพื่อยกพื้นให้สูงขึ้น หินบริเวณนี้เป็นหินธรรมชาติทั้งหมด พระสวยัมภูลึงค์ ได้รับการสถาปนาเป็นศาสนวัตถุมาตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 12 โดยคณะพราหมณ์จากชมพูทวีปที่เดินทางเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในสมัยนั้น ปัจจุบันองค์สวยัมภูลึงค์ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์

ความสำคัญของพระสวยัมภูวลึงค์

  • สวยัมภู แปลว่า ผู้เป็นเอง เป็นพระศิวลึงค์ที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ มีลักษณะเป็นอจลลึงค์ หรือสถาวรลึงค์ คือลึงค์ที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ เป็นรูปเคารพสูงสุดของศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย มีความศักสิทธิ์เหมือนองค์มหาเทพปรากฏ ต้องบูชาและดูแลรักษา
  • เป็นสิ่งศักดิ์ิสิทธิ์มีเพียงหนึ่งเดียวในประเทศไทย ในประเทศอินเดียมี 68 แห่ง ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แม้จะพบหลายที่ แต่พระสวยัมภูลึงค์แห่งเขาคา มีความชัดเจนมากกว่าที่อื่น
  • มีความเชื่อว่าหากพระสวยัมภูวลึงค์นี้ถูกเคลื่อนย้าย หรือถูกทำลายเสียหายต้องซ่อมด้วยทองคำหรือทองแดงเท่านั้น
  • นักวิชาการตั้งสมมติฐานว่า พระสวยัมภูลึงค์แห่งเขาคา น่าจะเป็นที่มาของชื่อแรก “ตามพรลิงค์” ลึงค์สีแดงหรือลึงค์ทองแดง

ไศวภูมิมณฑลเขาคา ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรภาคใต้ และเป็นแหล่งของพราหมณ์ไศวนิกายที่สำคัญในช่วงพุทธศตวรรษที่ 12-14 ยาวนานถึง 400 ปี ที่ดินแดนแห่งพระศิวะเจริญรุ่งเรือง ก่อนที่อิทธิพลของพุทธศาสนานิกายมหายานจะแผ่ขยายเข้ามาแทนที่สมัยนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองมีอิทธิพลครอบคลุมเมืองสิบสองนักษัตร เมื่อได้สถาปนาอาณาจักรตามพรลิงค์ ผู้คนย้ายถิ่นเข้ามาอยู่ที่ศูนย์กลางความเจริญแห่งใหม่ทำให้ไศวภูมิมณฑลเขาคาลดระดับความรุ่งเรืองลง

ที่มาของชื่ออาณาจักรตามพรลิงค์

ศิวลึงค์ คือที่มาของชื่ออาณาจักรตามพรลิงค์

  • ตามพรลิงค์ ก็คือเมืองที่ประชาชนตามพระศิวลึงค์มาจากเทวสถานเขาคา เพราะในขณะที่อพยพย้ายเข้าเมืองได้นำพระศิวลึงค์เข้าไปก่อน แล้วประชาชนก็อพยพตามหลังพระศิวลึงค์ เมืองนครศรีธรรมราชจึงได้ชื่อว่า เมืองตามพรลิงค์
  • เขาคารุ่งเรืองในพุทธศตวรรษที่ 12-14 ลิงคบรรพตถือเป็นสิ่งเคารพสูงสุดของอาณาจักรตามพรลิงค์ ลิงคบรรพต มีสถานะเปรียบได้ดั่งองค์พระศิวะบนโลกมนุษย์ พราหมณาจารย์และผู้ปกครองตามพรลิงค์จึงบูชาลิงคบรรพต ด้วยการหุ้มทองแดงถวายจนเป็นที่มาของชื่อ “ตามพรลิงค์”
  • ตามพรลิงค์ ตามรากศัพท์ ลึงค์ทองแดง ไข่แดง นิมิตทองแดง แผ่นดินผู้ที่นับถือศิวลึงค์ แสดงถึงการนับถือศาสนาพราหมณ์

พุทธศตวรรษที่ 12-14 ศาสนาพราหมณ์ทั้งสองนิกาย (ไศวนิกาย นับถือพระศิวะหรือพระอิศวรเป็นเทพเจ้าสูงสุด และไวษณพนิกาย นับถือพระวิษณุหรือพระนารายณ์เป็นเทพเจ้าสูงสุด) และพุทธศาสนาได้กลมกลืนผสานกันเป็นอย่างดี เมื่อได้สถาปนาอาณาจักรตามพรลิงค์ พราหมณ์ก็ยังคงรุ่งเรืองหลักฐานสำคัญที่เห็นได้ชัดคือ เงินตราสำหรับแลกเปลี่ยนสินค้าของอาณาจักรตามพรลิงค์จารึกอักษรปัลลวะตัว “นะ” ไว้บนเม็ดเงิน เรียกขานกันว่าเบี้ยหัวนะโม และเมื่อเกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดสมัยของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ ก็ได้มีการทำพิธีปลุกเสกหัวนะโม ด้วยพิธีกรรมแบบพราหมณ์ แล้วนำไปหว่านรอบเมือง ปรากฎว่าโรคระบาดหายไปหมด (อีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 4 ของกรุงรัตนโกสินทร์ได้เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดในเมืองนครศรีธรรมราช ได้ทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมเพื่อนำไปหว่านและโรคระบาดก็หายไปเหมือนเดิม)

ไศวภูมิมณฑลเขาคา สร้างด้วยศรัทธาของพราหมณ์ไศวนิกาย ลักษณะภูมิประเทศ การวางแนวเทวาลัย เทวสถานหลัก ไม่ใช่ความบังเอิญแต่อย่างใด จากบันไดทางขึ้น-ลงโบราณคลองท่าทน เดินไปยอดเขาทางทิศใต้หรือขวามือ สระน้ำหมายเลข 3 เป็นสถานที่แรกที่พบอยู่บนสันเขาระหว่างสองยอดเขา สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ชำระทำความสะอาดร่างกาย เดินขึ้นบันไดไปจะพบกับโบราณสถานหมายเลข 1 อาคารแรกบนยอดเขาทางทิศใต้สันนิษฐานว่าเป็นอาคารที่ใช้สำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย หลังจากชำระร่างกายที่สระน้ำ เดินขึ้นบันไดเข้าสู่โบราณสถานหมายเลข 2 เทวาลัย เทวสถานหลักเพื่อประกอบพิธีกรรม เดินลงไปทิศใต้มีอาคารโบราณสถานหมายเลข 3 และเดินลงไปใต้สุดพบอาคารโบราณสถานหมายเลข 4 อยู่ที่ต่ำสุดของยอดเขาทิศใต้ (แต่หากขึ้นจากทางขึ้นปัจจุบันจะเป็นอาคารแรกที่พบ) สวยัมภูลึงค์ ตั้งอยู่บนยอดเขาทิศเหนือ จากบันไดทางขึ้น-ลงโบราณคลองท่าทน เดินไปยอดเขาทิศเหนือหรือซ้ายมือจะพบ สวยัมภูลึงค์ โดดเด่น เห็นชัดอยู่บนยอดเขาทิศเหนือเพียงหนึ่งเดียว

ปัจจุบัน “ไศวภูมิมณฑลเขาคา” สถาปัตยกรรมแห่งศรัทธาของพราหมณ์ ยังคงมีร่องรอยเป็นหลักฐานยืนยันความเจริญรุ่งเรือง และยังคงมีพราหมณ์ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา พราหมณ์ในนครศรีธรรมราชยังคงรุ่งเรืองจวบจนปัจจุบัน พิธีพราหมณ์ปรากฏอยู่ในพิธีกรรม ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ รูปแบบศิลปะและวรรณกรรม ถ้าจะบอกว่าพราหมณ์มีอิทธิพลต่อประเพณีวัฒนธรรมและความเชื่อของชาวนครศรีธรรมราชและของชาวไทยด้วยก็คงไม่ผิดนัก

เขาคา ฐานศิวลึงค์หิน รูปสีเหลี่ยมจตุรัสคล้ายฐานบัว
เขาคา โบราณสถานหมายเลข 2 ฐานศิวลึงค์หิน รูปสีเหลี่ยมจตุรัสคล้ายฐานบัว

ข้อมูลอ้างอิง

  1. คณะกรรมการฝ่ายประมวลเอกสารและจดหมายเหตุในคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ.(2542).วัฒนธรรม พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ เอกลักษณ์และภูมิปัญญาจังหวัดนครศรีธรรมราช.https://www.tungsong.com/Culture_nakorn/3.pdf
  2. ดำรง กาญจนเวชกุล, ศุภลักษณ์ ทิพย์กำจรวงศ์, อนุรุทธ เกียรติวุฒิ. (2532). เอกสารประกอบการสัมมนาเรื่อง การศึกษาโบราณสถานเขาคา ต.เสาเภา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช (ศึกษาเฉพาะกรณีเนินโบราณสถานหมายเลข 2). http://www.thapra.lib.su.ac.th/objects/thesis/fulltext/bachelor/a12532004/Fulltext.pdf
  3. โบราณสถานเขาคา (Khao Ka Ancient Remains). https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/fed36e4d
  4. ภัคพดี อยู่คงดี, นงคราญ ศรีชาย. (2540). โบราณสถานเขาคา.https://finearts.go.th/storage/contents/2023/04/file/wLtxUJ6bDVO9011cjlqMjEDEVmZzz9Vs1YX7cBa9.pdf
  5. สวยัมภูลึงค์บนเขาคา : ลิงคบรรพตแห่งไศวภูมิมณฑล เมืองนครศรีธรรมราช. https://www.nakhononline.com/24173/
  6. สุขกมล วงศ์สวรรค์. (2563). สวยัมภูลึงค์แห่งเขาคา : ไศวภูมิมณฑล แห่งนครศรีธรรมราช. https://www.finearts.go.th/promotion/view/28300-สวยัมภูลึงค์แห่งเขาคา—ไศวภูมิมณฑล-แห่งนครศรีธรรมราช
  7. สุพัตรา สำอางศรี. (2556). ประเพณีแห่นางดาน: กรณีศึกษาจังหวัดนครศรีธรรมราช. https://opac01.stou.ac.th/multim/thesis/2556/142713/fulltext.pdf หน้า 187-189
  8. Hatyai Focus. (2563). โบราณสถานอายุกว่า 1,000 ปี โบราณสถานเขาคา อ.สิชล จ.นครศรีธรรมราช. https://www.hatyaifocus.com/บทความ/2331-เรื่องราวหาดใหญ่-โบราณสถานอายุกว่า%2B1%2C000%2Bปี%2Bโบราณสถานเขาคา%2Bอ.สิชล%2Bจ.นครศรีธรรมราช/
  9. Wannasan Nunsuk. (2013). Tambralinga and Nakhon Si Thammarat : early kingdoms on the Isthmus of Southeast Asia. Nakhon Si Thammarat Rajabhat University

Visits: 517

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.