พระบรมธาตุเจดีย์ ปูชนียสถานอันเป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนทั้งมวล

ประวัติ

พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช เป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งของชาวภาคใต้และของพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศไทยและประเทศใกล้เคียง 

พระบรมธาตุเจดีย์ นครศรีธรรมราช

ประวัติ

ตำนานการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าสืบต่อกันมาหลายตำรา มีดังนี้

ตำนานการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช เล่าสืบต่อกันมาหลายตำรา ภายหลังจากที่เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทนทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) ได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุจากพระเจ้ากรุงลังกา ได้แบ่งส่วนหนึ่งมาฝังไว้ ณ หาดทรายแก้ว (เมืองนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน) เพื่อรอกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการในอนาคตกาลมาสร้างเมืองใหม่ และสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในระหว่างนั้นมหาพราหมณ์ผู้ติดตามและคอยให้ความช่วยเหลือเจ้าหญิงและเจ้าชาย ได้ผูกกาพยนต์ (กา-พะ-ยน) เป็นฝูงกาที่ผู้มีวิทยาคมปลุกเสกให้มีชีวิตขึ้นด้วยไสยเวทย์ทำหน้าที่เฝ้ารักษาพระบรมสารีริกธาตุไว้มิให้ได้รับอันตราย เหตุที่เจ้าหญิงเหมชาลาและทนทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) แบ่งพระบรมสารีริกธาตุส่วนหนึ่งมาประดิษฐานไว้ ณ ดินแดนหาดทรายแก้วแห่งนี้ มีตำนานบอกเล่าความเป็นมาไว้ว่าย้อนกลับไปเมื่อ พ.ศ. 1 หลังจากที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพาน และถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระเสร็จ มัลลกษัตริย์ทั้งหลายได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุทั้งหมด ใส่ในพระหีบทอง ประดิษฐานไว้ในศาลากลางพระนครกุสินารา จัดให้มีมหรสพสมโภชตลอด 7 วัน ฝ่ายกษัตริย์จากดินแดนแคว้นต่าง ๆ เมื่อทราบข่าวการปรินิพพานของพระพุทธองค์ ต่างก็ส่งราชทูตนำสาส์นมาขอส่วนแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ พร้อมทั้งยกกองทัพติดตามมาด้วย รวม 6 นค รและมีพราหมณ์อีก 1 นคร มัลลกษัตริย์ผู้ครองนครกุสินารา ได้ตรัสปฏิเสธทูตานุทูตทั้ง 7 พระนคร ไม่ยินยอมที่จะแบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุถวายแก่เจ้าองค์ใดเลย ฝ่ายทูตานุทูตทั้ง ๗ พระนครนั้นก็มิได้ย่อท้อเกิดเหตุโต้เถียงกันขึ้น จวนจะเกิดวิวาทเป็นมหาสงครามใหญ่ขณะนั้น มีพราหมณ์ผู้หนึ่งนามว่า “โทณะ” เป็นอาจารย์ของกษัตริย์เหล่านั้น ได้ยินการโต้เถียงกันอย่างรุนแรงขึ้น จึงออกไประงับข้อพิพาทดังกล่าว และประกาศว่าจะแบ่งปันพระบรมสารีริกธาตุออกเป็น ๘ส่วนเท่า ๆ กัน จะได้อัญเชิญไปบรรจุในสถูปทุก ๆ พระนครเพื่อเป็นที่กราบไหว้บูชาของมหาชน กษัตริย์และพราหมณ์ทั้ง 8 พระนครได้ฟังดังนั้นก็ทรงเห็นชอบพร้อมกับมอบธุระให้โทณพราหมณ์แบ่งส่วนพระบรมสารีริกธาตุ ในครั้งนั้นมีพระเถระผู้ทรงอภิญญาสมาบัติ ทราบด้วยอนาคตังสญาณ (ญาณที่ล่วงรู้อนาคต) ว่าพระพุทธศาสนาจะเจริญรุ่งเรืองในภาคกลางและภาคใต้ของชมพูทวีป (ตอนกลางและตอนใต้ของอินเดีย) และจะเคลื่อนเข้าสู่สุวรรณทวีป (ประเทศไทย) จึงกำบังกายอัญเชิญพระเขี้ยวแก้ว (พระทันตธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) ออกจากจิตกาธาน (เชิงตะกอน) นำไปถวายพระเจ้าพรหมทัต กษัตริย์แห่งแคว้นกาลิงคะ ให้เป็นมิ่งขวัญแก่พุทธศาสนิกชน เพราะดินแดนส่วนนั้นมิได้รับแจกพระบรมสารีริกธาตุจากโทณพราหมณ์ พระเขี้ยวแก้วได้เสด็จเคลื่อนย้ายไปยังพระนครต่าง ๆ ในลุ่มน้ำมหานที จนกาลเวลาล่วงไป 800  ปีเศษ เสด็จมาประดิษฐานอยู่ที่เมืองทันทบุรี เจ้าเมืองชื่อท้าวโกสีหราช มีพระอัครมเหสีชื่อนางมหาเทวี มีพระธิดาผู้พี่ชื่อเจ้าหญิงเหมชาลา และพระราชโอรสผู้น้องชื่อทนทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) การเสด็จมาของพระเขี้ยวแก้ว ทราบถึงท้าวอังกุศราชแห่งเมืองขันธบุรี ได้ยกทัพกองทัพใหญ่มาตีเมืองทันทบุรี หมายจะช่วงชิงเอาพระเขี้ยวแก้ว ท้าวโกสีหราชไม่ประสงค์จะให้พระเขี้ยวแก้ว ตกไปอยู่ในมือของพวกทมิฬเดียรถีย์ จึงรับสั่งให้เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) ลอบหนีออกนอกเมืองพร้อมกับอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา  ส่วนตัวพระองค์ได้นำทัพเข้ากระทำยุทธหัตถี แต่เนื่องด้วยพระชันษาย่างเข้าวัยชรา จึงเพลี่ยงพล้ำเสียทีแก่ท้าวอังกุศราช สิ้นพระชนม์บนคอช้างในที่สุด ฝ่ายเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) ได้ปลอมพระองค์เป็นพ่อค้าวาณิช ซ่อนพระเขี้ยวแก้วไว้ในพระเมาลีเหนือเศียรเกล้า โดยสารเรือสำเภากางใบเดินทางไปยังเกาะลังกา ระหว่างทางเรือถูกพายุซัดมาเกยฝั่งเมืองตะโกลา (อำเภอตะกั่วป่า บ้างก็ว่าเป็นเมืองตรัง) เมื่อขึ้นบกที่เมืองตะโกลา ทรงทราบจากชาวเมืองว่าที่หาดทรายแก้ว (นครศรีธรรมราช) มีพ่อค้าวาณิชเดินทางไปมาค้าขายระหว่างสุวรรณภูมิกับลังกาอยู่เป็นประจำ จึงดั้นด้นเดินทางบกต่อมาถึงหาดทรายแก้ว เพื่อรออาศัยเรือสินค้าเดินทางไปลังกาต่อไป ระหว่างนั้นได้อัญเชิญพระเขี้ยวแก้วจากพระเมาลีลงฝังประทับไว้ที่หาดทรายแก้วเป็นการชั่วคราวก่อน แต่ขณะนี้เดียวกันก็มีพระอรหันต์ผู้ทรงอภิญญาชื่อพระมหาเถรพรหมเทพ เหาะผ่านมา เห็นพระเขี้ยวแก้วที่ฝังไว้เปล่งรัศมีโชติช่วงสว่างไสว จึงแวะทำประทักษิณ พร้อมกับทำนายว่าต่อไปเบื้องหน้าจะมีกษัตริย์ผู้มีบุญญาธิการ มาสร้างเมืองใหญ่ณ หาดทรายแก้วแห่งนี้ และจะทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ฝ่ายเจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) หลังจากที่เดินทางถึงลังกา ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงลังกา ถวายพระเขี้ยวแก้วและกราบทูลเรื่องราวความเป็นมาให้ทรงทราบ  พระเจ้ากรุงลังกาทรงดูแลรับรองเจ้าหญิงและเจ้าชายทั้งสองพระองค์เป็นอย่างดี ทรงจัดให้มีพิธีสมโภชพระเขี้ยวแก้วและรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์บนยอดบรรพต เพื่อประดิษฐานพระเขี้ยวแก้วให้เป็นที่สักการบูชาของประชาชนสืบไป ต่อมาเมืองทันทบุรีสามารถกู้อิสรภาพคืนกลับมาได้และสถานการณ์บ้านเมืองได้เข้าสู่ภาวะปรกติสุข เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) จึงทูลลากลับแผ่นดินเกิดพระเจ้ากรุงลังกาทรงมีพระราชสาส์นถึงเจ้าเมืองทันทบุรีให้ต้อนรับอุปถัมภ์เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร(บางตำราทันทกุมาร) ผู้เป็นพระราชธิดาและพระราชโอรสของท้าวโกสีหราช ซึ่งทิวงคตในการสงครามและมีบัญชาให้มหาพราหมณ์อำมาตย์ 4 คน ร่วมเดินทางเพื่อคอยดูแลให้ความช่วยเหลือและทรงพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุให้ 1 ทะนาน เจ้าหญิงเหมชาลาและเจ้าชายทันทกุมาร (บางตำราทันทกุมาร) ได้แบ่งพระบรมสารีริกธาตุที่รับพระราชทานมาจากพระเจ้ากรุงลังกา ออกเป็น ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งนำมาบรรจุไว้ที่หาดทรายแก้ว (นครศรีธรรมราช) และก่อเจดีย์สวมครอบไว้ ณ รอยเดิมที่เจ้าหญิงและเจ้าชายเคยฝังพระเขี้ยวแก้วไว้ชั่วคราวก่อนหน้านี้ พระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนหนึ่งก็อัญเชิญกลับไปยังเมืองทันทบุรี  จากนั้นมหาพราหมณ์ทั้ง 4 ได้ประกอบพิธีไสยเวทย์ผูกพยนต์เป็นกา 4 ฝูง เพื่อให้เฝ้ารักษาพระบรมสารีริกธาตุมิให้เกิดอันตราย ประกอบด้วย กาสีขาว 1 ฝูง เรียกว่า ‘กาแก้ว’ เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศตะวันออก กาสีเหลือง 1 ฝูง เรียกว่า ‘การาม’ เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศใต้ กาสีแดง 1 ฝูง เรียกว่า ‘กาชาด’ เฝ้ารักษอยู่ทางทิศตะวันตกและกาสีดำ 1 ฝูง เรียกว่า ‘กาเดิม’ เฝ้ารักษาอยู่ทางทิศเหนือ ในเวลาต่อมาพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ ได้มาพบและโปรดให้สร้างสถูปขนาดใหญ่ครอบทับพระบรมธาตุเจดีย์เดิมในปีมหาศักราช ๑๐๙๓ (ตรงกับปี พ.ศ. ๑๗๑๙) พร้อมกับสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้น ณ หาดทรายแก้ว พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชที่พระเจ้าศรีธรรมโศกราช สร้างแต่เดิมเป็นเจดีย์แบบอิทธิพลศิลปะศรีวิชัย คือเป็นเจดีย์ทรงมณฑป มีหลังคาเป็นสถูปห้ายอดคล้ายพระบรมธาตุเจดีย์ที่อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี (ประมาณพุทธศตวรรษที่ 13-15) ต่อมาสมัยพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์พระองค์ที่ 2 พระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระสถูปแบบศรีวิชัยทรุดโทรมลง ทรงสั่งให้สร้างเจดีย์องค์ใหญ่แบบลังกาครอบไว้ (เจดีย์องค์ปัจจุบัน) เชื่อกันว่าในขณะนั้นคือราวพุทธศตวรรษที่ ๑๘ อิทธิพลพุทธศาสนาแบบลังกาในดินแดนนครศรีธรรมราชมีความเข้มแข็งมาก เนื่องจากเมืองนครศรีธรรมราชได้รับอิทธิพลททางด้านศาสนาและศิลปกรรมมาจากลังกา  จากตํานานนี้แสดงว่าพระบรมธาตุ เจดีย์แห่งนี้สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2535 (สารานุกรมภาคใต้…. , น. 4995)

 

กล่าวกันมาว่าแต่เดิมนั้นรูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์หาเป็นเช่นทุกวันนี้ไม่ ที่เห็นเป็นพระเจดีย์ที่สร้างขึ้นใหม่เพื่อครอบองค์เจดีย์เก่าไว้ พระเจดีย์องค์เดิมที่อยู่ภายในนั้นสร้างตามความเชื่อของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ในสมัยศรีวิชัยประมาณ พ.ศ. 1300  พระบรมธาตุองค์เดิมจึงสร้างแบบสถาปัตยกรรมศรีวิชัย รูปแบบจึงคล้ายคลึงกับพระบรมธาตุไชยา ครั้นถึงศรีวิชัยตอนปลายประมาณ พ.ศ. 1700 พุทธศาสนานิกายหินยานเจริญมากในลังกา ดังนั้นไทย พม่ และมอญจึงพระภิกษุไปศึกษาพระธรรมวินัยที่ลังกา พระภิกษุสงฆ์จากเมืองเมืองนี่เองที่ไปศึกษาดังกล่าว โดยพระเจ้าจันทภาณุศรีธรรมราชซี่งทรงเป็นศาสนูปถัมภกได้จัดส่งไป เมื่อภิกษุสงฆ์กลับมานครใน พ.ศ. 1770 ก็ชักชวนภิกษุสงฆ์ชาวลังกามาตั้งคณะสงฆ์ที่เมืองนคร เรียกว่า “พุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์” ระยะนั้นพระบรมธาตุของเมืองนครองค์เดิมกำลังชำคุดทรุดโทรมมาก ภิกษุชาวลังกาจึงมาช่วยซ่อมแซมให้เป็นไปตามสถาปัตยกรรมลังกา โดยก่อสถูปแบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิม เจดีย์องค์เดิมนั้นได้ค้นพบเมื่อคราวปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุเจดีย์ในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีหลักฐานยืนยันว่าชาวลังกาเคยมาอยู่เมืองนครจริง ๆ นอกจากพระบรมธาตุเจดีย์แล้ว ยังมีโบราณวัตถุที่ขุดพบด้วย คือใน พ.ศ. 2475 ได้ขุดพบพระพุทธรูปลังกาทำด้วยหินสีเขียวคล้ายมรกต 1 องค์ ฝีมือชาวลังการุ่นเก่า โดยขุดพบบริเวณพระพุทธบาทจำลองในวัดพระมหาธาตุ ปัจจุบันเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521, น. 447)

Series Navigation<< ประตูเยาวราช ประตูแรกที่สร้างตั้งแต่ ร.ศ. 128วิหารเขียน : จากสถานที่ฝีกเขียนหนังสือและจดจาร คัดลอก เขียนพระไตรปิฎก สู่พิพิธภัณฑ์ของวัด >>

Views: 8

This entry is part 10 of 12 in the series วัดพระธาตุ

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.