อุทยานแห่งชาติเขาหลวง : จากผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์สู่แหล่งต้นน้ำสำคัญของแดนใต้ตอนกลาง

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง : จากผืนป่าอันอุดมสมบูรณ์สู่แหล่งต้นน้ำสำคัญของแดนใต้ตอนกลาง

“อุทยานแห่งชาติเขาหลวง” เมื่อเอ่ยถึงคำนี้ ทำให้เรานึกถึงยอดเขาเขียวชอุ่ม และสูงมาก  เป็นแหล่งกำเนิดและตั้งอยู่ของผืนป่าใหญ่ในบริเวณดินแดนคาบสมุทรทางภาคใต้ของประเทศไทยในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซี่งมีสภาพภูมิศาสตร์เป็นเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดตัวเป็นแนวยาวไปในหลายพื้นที่ของนครศรีธรรมราช  และเขาหลวง ก็เป็นหนึ่งในของยอดเขาที่อยู่ใน “เทือกเขานครศรีธรรมราช” ซึ่งเป็นเทือกเขาที่แบ่งเขตจังหวัดนครศรีธรรมราชและสุราษฎร์ธานี แต่หากลงไปทางใต้ก็จะอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช และแบ่งนครศรีธรรมราชเป็นออกเป็นที่ราบด้านชายฝั่งทะเลตะวันออก และที่ราบด้านตะวันตก โดยละมียอดเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้ คือ เขาหลวง และเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธารเกือบทุกสายของจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงแม่น้ำตาปี ซี่งไหลลงอ่าวบ้านดอนในจังหว้ดสุราษฎร์ธานีอีกด้วย เทือกเขาหลวงเป็นเขตป่าที่อุดมสมบูรณ์ มีพืชพันธุ์หลากหลาย และมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่มากมาย (วิเชียร ณ นคร และคณะ, 2521)

“อุทยานแห่งชาติเขาหลวง” เป็นมรดกทางธรรมชาติที่สำคัญที่สุด ประกอบด้วย “ยอดเขาหลวง” เป็นยอดเขาที่สูงที่สุดในภาคใต้ สูงประมาณ 1,835 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล เรียกได้ว่า เขาหลวง คือแหล่งกำเนิดสรรพชีวิตของภาคใต้ เพราะสภาพภูมิศาสตร์ที่เต็มไปด้วยภูเขาสูงชันตั้งขวางกึ่งกลางแผ่นดินด้ามขวาน รอรับมรสุมจากทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน  มีสภาพธรรมชาติที่สมบูรณ์และสวยงาม  ก่อให้เกิดป่าดงดิบชื้นหนาทึบ มีพืชพันธุ์และสัตว์ป่าอีกกว่า 300 ชนิด และเป็นต้นธารของลำธารและลำคลอง 15 สาย  ที่ไหลหล่อเลี้ยงผืนแผ่นดินภาคใต้ตอนกลาง ด้วยธรรมชาติที่สวยงาม ร่มรื่น ทำให้สถานที่ทางธรรมชาติของอุทยาน ไม่ว่าจะเป็น น้ำตก ภูเขา ยอดเขา แม่น้ำ หรือทิวทัศน์ กลายเป็นที่ท่องเที่ยว ผจญภัย และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ เหมาะมาก ๆ กับสายรักธรรมชาติ และสายผจญภัย  และที่สำคัญมีคุณค่าอันแท้จริงที่จะอำนวยประโยชน์ต่อมนุษยชาติ คือ มีความหลากหลายทางชีวภาพที่สูงยิ่ง ควรค่าแก่การดำรงอยู่ของผืนป่าแห่งนี้ให้คงอยู่ตลอดไป

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง

ภาพจาก มูลนิธิโลกสีเขียว

ยอดเขาแห่งนี้ทำหน้าที่เป็นจุดจดจำหลัก หรือ landmark ในการเดินทางของผู้คนทั้งทางบกและทางทะเลมาสู่จังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่นี่ยังมีแร่ธาตุหลายชนิด ที่หล่อเลี้ยงอาชีพให้กับผู้คน โดยเฉพาะแร่ดีบุก ซึ่งสามารถหาได้บริเวณพบในแถบอำเภอต่าง ๆ  นอกจากนี้ยังมีป่าฝนเขตร้อนที่อุดมสมบูรณ์ที่เต็มไปด้วยของป่าหายาก ทั้งที่เป็นพืช สัตว์ และแร่ธาตุต่าง ๆ (วัณณสาส์น นุ่นสุข, 2559)

ลักษณะภูมิประเทศ

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง  มีพื้นที่ครอบคลุมอยู่ในท้องที่อยู่หลายแห่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช  ได้แก่

  • ตำบลท่าดี ตำบลกำโลน ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา
  • ตำบลละอาย อำเภอฉวาง
  • ตำบลท่างิ้ว อำเภอเมือง
  • ตำบลยางค้อม ตำบลพิปูน ตำบลเขาพระ อำเภอพิปูน
  • ตำบลทอนหงส์ ตำบลบ้านเกราะ ตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี
  • ตำบลช้างกลาง ตำบลสวนขัน กิ่งอำเภอช้างกลาง
  • ตำบลกรุงชิง ตำบลนบพิตำ ตำบลนาเหรง กิ่งอำเภอนบพิตำ 

หรือระหว่างเส้นรุ้งที่ 08 องศา 22 ลิบดา – 08 องศา 45 ลิบดา เหนือ และอยู่ระหว่างเส้นแวงที่ 99 องศา 37 ลิบดา – 99 องศา 51 ลิบดา ตะวันออก พื้นที่อุทยานแห่งชาติครอบคลุมเทือกเขานครศรีธรรมราชตอนกลาง ประกอบด้วยเทือกเขาสูงสลับซับซ้อนทอดยาวเหนือจรดใต้ขนานไปกับชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก มีที่ราบตามหุบเขาเล็กน้อย ดินบนภูเขาเป็นดินที่เกิดจากการผุสลายของหินแกรนิต มียอดเขาสูงสุดคือ ยอดเขาหลวง สูงจากระดับน้ำทะเล 1,835 เมตร เป็นต้นกำเนิดของต้นน้ำลำธารหลายสาย ซึ่งแหล่งน้ำเหล่านี้ ถือเป็นแหล่งน้ำที่สำคัญของพื้นที่โดยรอบอุทยานแห่งชาติเขาหลวง (สำนักอุทยานแห่งชาติ, 2558)  เช่น

  • แม่น้ำตาปี
  • แม่น้ำปากพนัง
  • คลองกรุงชิง
  • คลองเขาแก้ว
  • คลองท่าแพ
  • คลองระแนะ
  • คลองละอาย
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
แม่น้ำปากพนัง
เขาหลวง
คลองท่าแพ

พื้นที่บริเวณอุทยานฯ มีฝนตกตลอดปี สภาพป่าเป็นป่าดิบชื้น ด้วยศักยภาพทั้งทางชีวภาพและกายภาพ อุทยานแห่งชาติเขาหลวงจึงได้รับการขนานนามว่า “หลังคาสีเขียวแห่งภาคใต้”  

พืชพันธุ์บนเขาหลวง

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
เฟิร์นมหาสดำ
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง

เนื่องจากพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาหลวง มีพื้นที่ส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนเทือกเขาสูง โดยอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ประมาณตั้งแต่ 100 เมตรขึ้นไปถึง 1,835 เมตร มีสภาพภูมิอากาศแบบคาบสมุทร มีฝนตกตลอดปี ทำให้ได้รับน้ำฝนจากมรสุมทั้งสองด้าน คือ ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ส่งผลทำให้ความชื้น และปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยสูง พืชพรรณไม้ที่ขึ้นส่วนใหญ่จึงเป็นสังคมพืชป่าดงดิบชื้น (Tropical Rain Forest) เป็นพืชที่เกิดขึ้นเองโดยธรรมชาติ 

      + ทั้งประเภทป่าดงดิบชื้น หรือป่าดงดิบ ซึ่งเป็นป่าไม้ที่มีใบสีเขียวตลอดทั้งปี สภาพป่ารกทึบทั้งในเรือนยอดของไม้ใหญ่ และชั้นไม้พื้นล่าง ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของอุทยานแห่งชาติทั้งหมด พันธุ์พืชซึ่งเป็นพืชประจำถิ่นที่สำคัญ และเป็นไม้ที่มีค่าที่สำคัญทางเศรษฐกิจ มีทั้งไม้ในตระกูลยาง ได้แก่ ตะเคียนทอง ไข่เขียว ตะเคียนทราย สยาขาว กระบากดำ กระบากขาว พันจำ และพันธุ์พืชในวงศ์อื่นๆ ได้แก่ หลุมพอ เอียน เชียด อบเชย  เทพธาโร จำปาป่า  สังโต้ง  แดงควน ชุมแพรก รวมถึงพันธุ์พืชที่หายาก ได้แก่ เต่าร้างยักษ์  รวมทั้งหวายชนิดต่าง ๆ พืชตระกูลไผ่ เป็นต้น
      + ป่ารุ่นหรือป่าเหล่า เป็นสังคมพืชที่เกิดขึ้นทดแทนสภาพธรรมชาติเดิม ภายหลังการทำลายของมนุษย์  ได้แก่ สอยดาวหรือแสด กะลอขน หัวกา กะลอเกลี้ยง ปอหูช้าง ล่อ พังแหรใหญ่  และเหยื่อจง 

และยังเป็นสังคมพืชที่เกิดขึ้นโดยการกระทำของมนุษย์  ได้แก่ พืชที่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ได้แก่ สวนยางพารา  นอกจากนี้ยังมีการปลูก หมาก  มะพร้าว ทุเรียน กาแฟ  มังคุด  ขนุน จำปาดะ  เงาะ  ลางสาด  สะตอ พริกไทย  (สำนักอุทยานแห่งชาติ, 2558)

สัตว์ป่า และสัตว์อื่น ๆ

ผลการสำรวจชนิด และประชากรสัตว์ป่าในอุทยานแห่งชาติเขาหลวง พบว่า อุทยานแห่งชาติเขาหลวง เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าไม่น้อยกว่า 327 ชนิด เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์หลายประเภท (สำนักอุทยานแห่งชาติ, 2558) ทั้ง

           1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งมีทั้งที่เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม  สัตว์ป่าสงวน  สัตว์ป่าคุ้มครองประเภทที่ 1  สัตว์ป่าคุ้มครองประเภททที่ 2 และสัตว์ที่กำลังจะสูญพันธุ์  

          2. สัตว์จำพวกนก เป็นนกประจำถิ่น  และเป็นนกอพยพย้ายถิ่น ซึ่งจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง และสัตว์ป่าท้่วไป 
          3. สัตว์เลื้อยคลาน  โดยมีการสำรวจพบว่ามีสัตว์เลื้อยคลานที่พบเฉพาะในบริเวณเขาหลวงแห่งเดียวในประเทศไทย 1 ชนิด คือ งูลายสาปมลายู  เต่าจักร งูหลามปากเป็ด  งูหลามเหลียมหัวหางแดง 
          4. สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พบสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติเขาหลวงจำนวน 5 วงศ์ 12 ชนิด จากการสำรวจ พบว่ามีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่พบเฉพาะบริเวณเขาหลวงแห่งเดียวในประเทศไทยจำนวน 1 ชนิด คือ กบเขาท้องลาย (Rana luctuosa) ชนิดที่หายากคือ กบตะนาวศรี (Ingerna tasanae) และชนิดที่พบเฉพาะในประเทศไทยจำนวน 1 ชนิด ได้แก่ เขียดงูศุภชัย (Ichthyophis supachaii
           5. สัตว์น้ำ พบว่ามีหลากหลาย แต่ไม่เยอะ เนื่องจากแหล่งน้ำบนพื้นที่อุทยานฯ เป็นแหล่งต้นน้ำลำธารปริมาณสารอาหารในน้ำยังมีน้อย กระแสน้ำไหลแรง และพื้นท้องน้ำเป็นพื้นหินและทรายเป็นส่วนมาก ไม่เหมาะกับการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำโดยส่วนรวม ทำให้มีสัตว์น้ำเพียงบางชนิดสามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมดังกล่าวได้ 

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
มดชิด
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
ปลาพลวง

แหล่งน้ำ และสถานที่ท่องเที่ยว

ในป่าเขาหลวง   มีจุดเด่นที่สำคัญ และน่าสนใจสำหรับการท่องเที่ยวที่เป็นภูเขา แม่น้ำลำคลองและน้ำตกหลายแห่ง ซึ่งเกิดจากต้นน้ำลำคลองต่าง ๆ ซึ่งมีน้ำไหลตลอดปี สิ่งที่น่าสนใจ คือ 

  • ยอดเขาหลวง   เขาลูกนี้เป็นยอดเขาที่มีความสำคัญมากและมีความสูงที่เห็นเด่นชัดจากเทือกเขาที่มีอยู่อย่างสลับซับซ้อน ยอดเขาหลวงนี้ตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของเนื้อที่มีอยู่ 3 ยอดด้วยกัน ยอดเขาหลวงนี้อยู่อำเภอลานสกา มีความสูง 1,435 เมตร จากระดับน้ำทะเล  อีกสองตอนที่อยู่ใกล้เคียงก็มีความสูงลดลั่นกันลงมา นอกจากนี้ยังมีเขามหาชัย  เขากล้วยไม้  เขาขี้แรด เขาไปร์ห เขาอบ เขาสำโรง  เขาปริง  เป็นต้น ซึ่งเขาเหล่านี้รวมกันเป็นเทือกเขาหลวงนั่นเอง
  • คลองกลาย ต้นน้ำเกิดจากเทือกเขานครศรีธรรมราชในเขตพื้นที่อำเภอนบพิตำ ไหลไปออกทะเลที่อำเภอท่าศาลา คลองกลายเป็นที่รู้จักของชาวนครศรีธรรมราช เพราะมีสะพานที่ยาวที่สุดในจังหวัด
  • คลองกรุงชิง คลองพิตำ และคลองเขาแก้ว  
  • คลองกะโรม ต้นกำเนิดของน้ำตกกะโรม อันสวยงามมากอยู่ในบริเวณส่วนหนึ่งของน้ำตก  
  • น้ำตกกะโรม อยู่ที่ตำบลเขาแก้ว  อำเภอลานสภา เป็นน้ำตกที่สวยงามมากแห่งหนึ่ง ด้านตะวันตกมีคลองจันดี  คลองท่าแพ  คลองเลาะ  คลองละลาย คลองใหญ่  คลองรอแนะและคลองดินแดง คลองทั้งหมดนี้ไหลไปรวมกันเป็นแควคีรีรัตน์ซึ่งเป็นต้นน้ำสาขาหนึ่งของแม่น้ำตาปี
  • คลองละอายใหญ่และคลองละอายน้อย    อยู่ในท้องที่ตำบลละอาย อำเภอฉวาง
  • น้ำตกท่าแพ   อยู่ในท้องที่ตำบลช้างกลาง อำเภอฉวาง
  • น้ำตกพรหมโลก   อยู่ในตำบลพรหมโลก อำเภอเมือง
  • น้ำตกอ้ายเขียว หรือน้ำตกคลองในเขียว   อยู่ในเขตแดนท้องที่อำเภอเมือง และอำเภอท่าศาลา
  • น้ำตกกรุงชิง อยู่ในตำบลพิตำ อำเภอท่าศาลา  มีความสวยงาม และมีจำนวนชั้น หรือหนานหลายชั้น แต่ละชั้นมีความสวยงามแตกต่างกันไป และยังมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติอีกด้วย
  • ถ้ำแก้วสุรกานต์  อยู่ในท้องที่ตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา
  • น้ำตกเหนือฟ้า อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาหลวง ห่างจากอุทยานฯ ไป 70 กิโลเมตร  อยู่ในท้องที่ตำบลพิปูน อำเภอพิปูน และถูกประกาศให้เป็นแหล่งน้ำที่สะอาดที่สุดของประเทศไทย 

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
ยอดเขาหลวง
อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
น้ำตกกรุงชิง หนานฝนแสนห่า
ติดต่อขอรายละเอียด

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
หมู่ที่ 4 บ้านร่อน ต.เขาแก้ว  อ. ลานสกา  
จ. นครศรีธรรมราช   80230
โทรศัพท์ 0 7530 0494  
โทรสาร 0 7530 0494, 08 6866 6520  
อีเมล reserve@dnp.go.th

อุทยานแห่งชาติเขาหลวง
ภาพจาก สำนักอุทยานแห่งชาติ
พิกัดที่ตั้งอุทยานแห่งชาติเขาหลวง
ทรัพยากรธรรมชาติมีความสำคัญและจำเป็นต่อการดำเนินชีวิตของมนุษย์ รวมถึงอุทยานแห่งชาติเขาหลวง แห่งนี้ ที่ถือเป็นหลังคาสีเขียวที่ให้ความชุ่มชื้นและหล่อเลี้ยงชีวิตของชาวนครศรีธรรมราชและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงแหล่งธรรมชาติอื่น ๆ เราต้องช่วยกันอนุรักษ์ ดูแล และรักษา เพื่อให้การใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืนและยาวนานที่สุดและได้ประโยชน์สูงสุด

ข้อมูลอ้างอิง

วัณณสาส์น นุ่นสุข. ( 2559). พัฒนาการของบ้านเมืองบนหาดทรายแก้วนครศรีธรรมราชจากหลักฐานทางโบราณคดี. มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช.

วิเชียร ณ นคร, สมพุทธ ธุระเจนฐ ชวน เพชรแก้ว, ฉัตรชัย ศุกระกาจน์ และ ปรีชา นุ่นสุข. (2521). นครศรีธรรมราช. อักษรสัมพันธ์.

จังหวัดนครศรีธรรมราช. (ม.ป.ป.). แหล่งน้ำธรรมชาติ. จังหวัดฯ. https://pimnatnicha14.wordpress.com/แหล่งน้ำธรรมชาติ

สำนักงานจังหวัดนครศรีธรรมราช. (ม.ป.ป.). จังหวัดนครศรีธรรมราช. สำนักงานฯ. http://www.nakhonsithammarat.go.th/web_52/geography.php

 

Series Navigationเส้นทางศึกษาธรรมชาติ เดินป่าหน้าฝน – น้ำตกกรุงชิง >>

Visits: 194

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.