
สถานที่ตั้ง
วัดคงคาเลียบ เป็นวัดที่อยู่ริมคลองท่าซัก หากเข้าเมืองนครศรีธรรมราชมาทางปากคลองปากพญา จะพบวัดคงคาเลียบอยู่ทางด้านซ้ายมือเป็นวัดแรก
ที่อยู่ของวัด ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ต.ท่าซัก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช 80000
นิกาย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ประเภทวัด วัดราษฎร์
ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด : เมื่อปีพุทธศักราช 2375
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : เมื่อปีพุทธศักราช 2503
เจ้าอาวาสท่านปัจจุบัน พระครูสมุห์พิสิทธิ์ อนาลโย
(พระสังฆาธิการ, ม.ป.ป.)
ประวัติวัด
วัดคงคาเลียบแห่งนี้ ในสมัยก่อนเป็นท่าเรือ ด้วยความที่เป็นท่าเรือตั้งแต่สมัยโบราณนี่เอง ทำให้มีเรื่องราวเกี่ยวกับบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ อีกท่านหนึ่งคือ หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด ในอดีตมีตำนานเล่าสืบกันต่อมาว่า เมื่อครั้งที่หลวงปู่ทวดจะเดินทางไปกรุงศรีอยุธยา ท่านได้มานั่งรอขึ้นเรืออยู่ที่ใต้ต้นไม้โพธิ์ที่วัดคงคาเลียบแห่งนี้ ปัจจุบันต้นโพธิ์นี้ก็ยังอยู่แต่ว่าเป็นต้นที่แตกขึ้นมาแทนต้นเก่าที่ตายไปแล้ว ปัจจุบันมีศาลหลวงปู่ทวดสร้างไว้ให้ชาวบ้านได้สักกาะกราบไหว้ไว้เป็นสัญลักษณ์ด้วยว่า หลวงปู่ทวดเคยมานั่งรอเรืออยู่ที่นี่
เมื่อครั้งที่กรุงศรีอยุธยาเสียงกรุงครั้งที่ 2 พระเจ้าตากสินได้รวบรวมไพร่พลตีฝ่าวงล้อมข้าศึกออกมาและพยายามที่จะรวบรวมไพร่พลกลับไปกู้กรุงศรีอยุธยา โดยตระเวนตีหัวเมืองสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะได้มาตั้งฐานทัพที่วัดคงคาเลียบเพื่อเข้าตีเมืองนครศรีธรรมราช โดยพระเจ้าตากสินได้ลงสระน้ำและทรงซักเสื้อผ้าที่ท่าน้ำ คลองหน้าวัดคงคาเลียบ เมื่อเข้าตีเมืองนครศรีธรรมราชและรวบรวมไพล่พลกู้กรุงศรีอยุธยาเรียบร้อยแล้วชาวบ้านจึงเรียกท่าน้ำที่พระเจ้าตากสินลงสรงน้ำและทรงซักผ้าหน้าวัดคงคาเลียบว่า “ท่าซัก” มาจนถึงปัจจุบันนี้ (พระบาทแรกสู่เมืองนครศรีธรรมราช, 2565)
นอกจากนี้แล้วประวัติของตำบลท่าซักจะมีความสัมพันธ์กับประวัติของวัดคงคาเลียบ จึงน่าจะมีมาตั้งแต่สมัยนครดอนพระ (ตรงกับสมัยอยุธยา) แต่ได้ร้างราไป และมีการสถาปนาขึ้นมาใหม่ประมาณสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ คนเฒ่าคนแก่ที่อยู่ใกล้วัดนี้บอกว่า เดิมทีบริเวณวัดนี้เป็นที่ลาดกว้างริมคลองท่าซัก เป็นที่หยุดพักของเรื่อก่อนออกปากอ่าวนคร และมีชุมชมอยู่ใกล้วัดค่อนข้างแน่นมาช้านานแล้ว คลองท่าซักเป็นคลองสำคัญที่เป็นทางออกสู่ทะเลของเมืองนครฯ มีด่านขนอน (ด่านแรก) ที่ใกล้วัดท่าโพธิ์ (ด่านยุคหลังอยู่ใกล้สะพานราเมศวร์) จะเห็นได้ว่าคลองเส้นนี้เป็นคลองสำคัญทั้งทางเศรษฐกิจและการเมืองของเมืองนคร ในสมัยนครดอนพระจนมาถึงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เล็กน้อย
แม้ว่าจะมีหลักฐานตั้งแต่สมัยต้นรัตนโกสินทร์ว่าบางตอนของคลองโดยเฉพาะตั้งแต่ด่านขนอนขึ้นมาถึงสันทรายของเมืองจะตื้นเขินในฤดูแล้งก็ยังต้องใช้ เพราะเป็นเส้นทางออกสู่ทะเลที่ใกล้ เป็นไปได้ว่าการเดินทางออกสู่ทะเลด้วยเรือใหญ่ในสมัยนั้น จะต้องมาขึ้นเรือที่บริเวณวัดคงคาเลียบ ซึ่งอยู่ใกล้ปากอ่าวนครเพราะคลองที่จะออกสู่ทะเลส่วนนี้ คงจะไม่มีการติดสันดอนหรือตื้นเขินในบริเวณใกล้ ๆ กันนี้ จึงมีการพบซากเรือสมอเรือ หรือชิ้นส่วนของเรือขนาดใหญ่มากมายเป็นหลักฐานสำคัญที่จะพิสูจน์ถึงความเป็นไปได้ในข้อสัณนิษฐานดังกล่าวได้ดี (วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี, 2565)
พื้นที่ต่างๆ ภายในวัดคงคาเลียบ
เมื่อท่านมาถึงวัดคงคาเลียบ จะพบกับ “รูปปั้นพระสิวลี พร้อมกับท้าวเวสสุวรรณ” ตั้งอยู่ด้านซ้ายและขวา ขององค์พระสิวลี และเมื่อมองไปทางด้านซ้ายมือ จะมี “ศาลาที่ประดิษฐานหลวงปู่ทวด พระสิวลี และเจ้าแม่กวนอิม” ให้พุทธบริษัทได้สักการะบูชา ติดกันนั้นจะเป็นบริเวณกุฏิพระสงฆ์
และบริเวณลานตรงกลางของวัด จะมีการจัดสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปางทรงม้าออกศึก” ซึ่งได้มีพิธีอัญเชิญ เมื่อวันอังคารที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา เวลา 09.56 น. มาไว้บนแท่น เพื่อไว้ให้ผู้มาเยี่ยมเยียนได้ไหว้ขอพร
โดยด้านหลังของอนุสาวรีย์ของพระองค์นั้น มีการสร้างวิหาร 2 ชั้น ที่กำลังดำเนินการจัดสร้าง ซึ่งบริเวณชั้นบน จะเป็นอุโบสถที่มีพระประธานองค์ใหญ่ประดิษฐานอยู่ และบริเวณชั้นล่าง จะใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา ภายในวิหารด้านล่างนั้นจะมีพระพุทธรูปหลายองค์จัดเรียงไว้โดยรอบ บริเวณด้านหลังจะมี “รูปปั้นพระพิฆเนศ กับเจ้าแม่สร้อยมาลา” ที่ตั้งไว้ให้ผู้คนได้ไหว้ขอพร และ ติดกันจะมี “รูปปั้นของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” ประดิษฐานอยู่ และมีพระแท่นบรรทมของพระองค์ ตั้งไว้ด้านหลังพระบรมรูปของพระองค์ด้วย
และเมื่อมองไปทางฝั่งของคลองท่าซักนั้น จะมี “ท่าน้ำที่ในตำนานกล่าวว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้ทรงหยุดขึ้นมาแวะพักตั้งพลับพลาที่ประทับก่อนจะเสด็จไปยังวัดเขาขุนพนม” บริเวณท่าน้ำจะมี “ศาลาหลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด” ตั้งอยู่ ใกล้ๆ กันจะมีต้นโพธิ์ และเมื่อจะออกไปยังประตูทางเข้าวัด จะมี “ตำหนักสมเด็จพระราชมุนีสามีรามคุณูปมาจารย์ (หลวงปู่ทวด เหยียบน้ำทะเลจืด)” ที่สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546 แล้วเสร็จในปี 2551 ที่จัดสร้างโดย พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก และคณะพุทธบริษัท ไว้ให้พุทธศาสนิกชนได้สักการะหลวงปู่ทวดด้วย



ลักษณะเด่น
ย้อนไปเมื่อพระองค์สถาปนากรุงธนบุรี เป็นราชธานีแล้ว ทรงดำริที่จะรวมหัวเมืองต่างๆ ที่แบ่งเป็นก๊กเป็นเหล่า ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสิน ทรงดำริที่จะรวมหัวเมืองนครศรีธรรมราช จึงส่งกองทัพ ยกมานครศรีธรรมราช เพื่อปราบเมืองนครศรีธรรมราช แต่ทัพบกที่ยกมาในครั้งแรกยังปราบหัวเมืองนครศรีธรรมราช ไม่สำเร็จ
สมเด็จพระเจ้าตากสิน จึงยกทัพเรือ มาปราบเมืองนครศรีธรรมราช ด้วยพระองค์เอง พร้อมกับนำทัพทหารกองทัพเรือ ในปี พ.ศ. 2312 และปราบเมืองนครศรีธรรมราช สำเร็จได้ในที่สุดอย่างไรก็ตาม หลักฐานที่ปรากฏ ณ วัดคงคาเลียบ ต.ท่าซัก นครศรีธรรมราช ทำให้ทราบว่าเรือพระที่นั่ง สมเด็จพระเจ้าตากสิน เมื่อเข้ามาในเขตเมืองนคร ได้ต่อสู้กับกองกำลังริมฝั่งน้ำ ที่รักษาการเมืองนคร ได้ชัยชนะในที่สุด แต่ปรากฏว่า เรือพระที่นั่ง โดนกระสุนปืนใหญ่ นายท้ายเรือ ได้ประคองเรือพระที่นั่ง มาจอดเทียบท่า ณ วัดคงคาเลียบ ต.ท่าซัก นครศรีธรรมราช
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช จึงเสด็จขึ้นฝั่งเมืองนครศรีธรรมราช พระบาทแรกของพระองค์ เสด็จขึ้นฝั่ง ณ วัดคงคาเลียบ แห่งนี้ เมื่อ ปี พ.ศ. 2312 สมเด็จพระเจ้าตากสินทรงรับสั่ง ให้นายท้ายเรือ ขึ้นมาบนฝั่ง แต่พันท้ายเรือพระที่นั่ง ยอมตายพร้อมกับเรือพระที่นั่ง ตามกฎมณเฑียรบาล สละชีพเป็นชาติพลี เมื่อปี พ.ศ. 2312 ศึกครั้งนี้ พระองค์ต้องสูญเสียทหารกล้าไปด้วยเช่นกัน รวมทั้งพันท้ายเรือพระที่นั่ง พระองค์จึง สร้างพระพุทธรูป ขึ้นมาองค์หนึ่ง เสร็จใน 1 วัน เพื่ออุทิศถวายบุญให้ทหารที่ต้องล้มตายในครั้งนี้
เรื่องราว เรือพระที่นั่ง เคยปรากฏ ณ แม่น้ำแห่งนี้ ด้วย ผู้คนมักจะเห็นงูใหญ่บ้าง พญานาคสีทองบ้าง พญานาคสีเขียวบ้าง พันหัวเรือที่จมใต้น้ำแห่งนี้มายาวนาน กระทั่ง เมื่อปี พ.ศ. 2551 นายพันท้ายเรือพระที่นั่ง สมเด็จพระเจ้าตากสิน (ชาวบ้านเรียกขานว่า ทวดราย) ได้มาเข้าฝัน พระปลัดเสกสรรค์ มหิทโก อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคาเลียบว่า ให้ท่านช่วยอัญเชิญ เรือพระที่นั่ง ขึ้นมาบนฝั่ง และให้สร้างศาลนายท้ายเรือพระที่นั่ง (ศาลทวดราย) ณ วัดคงคาเลียบ แห่งนี้ ศาลพันท้ายเรือพระที่นั่ง สมเด็จพระเจ้าตากสิน (ทวดราย) ได้สร้างแล้วเสร็จ เมื่อปี พ.ศ. 2552 ยังคงปรากฏ ณ วัดคงคาเลียบ ต.ท่าซัก อ.เมือง นครศรีธรรมราช แห่งนี้ ถึงปัจจุบัน (ว.วรรณพงษ์, 2565)
โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ
พระแท่นบรรทมจำลอง ที่ประดิษฐานไว้ในศาลาริมน้ำ ริมคลองท่าซัก เพื่อสื่อถึงผู้มาสักการะสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่วัดคงคาเลียบแห่งนี้ว่า สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเคยเสด็จมาตั้งพลับพลาที่ประทับที่นี่ ซึ่งพระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก อดีตเจ้าอาวาสวัดคงคาเลียบ ได้เล่าว่า คนโบราณมักจะเล่าต่อๆ กันว่า พระเจ้าตากลงซักผ้าหน้าท่าวัด ชาวบ้านจึงเรียกว่าท่าซัก ภายหลังพระองค์จึงได้ยกทัพไปปราบเมืองนครศรีธรรมราชต่อไป (พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 15 พฤษภาคม 2561)
พระจัน เป็นพระพุทธรูปที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชโปรดให้สร้างขึ้นเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้อุปราชจัน ที่เสียชีวิตในการรบในวัดคงคาเลียบแห่งนี้ พระจันเป็นพระพุทธรูปดินปั้น ขนาดหน้าตักกว้างประมาณสองคืบ สูงประมาณสามคืบ เป็นพระพุทธรูปองค์กลาง ที่ตั้งอยู่หน้าพระนอนขนาดใหญ่ที่ประดิษฐานในศาลาโรงธรรม
พระองค์นุ้ย เมื่อคราวที่อุปราชจัน ได้รับคำสั่งจากเจ้าพระยานคร (หนู) ให้ยกทับมารับทัพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชที่ด่านหน้าวัดคงคาเลียบ การรบครั้งนั้นเป็นการรบแบบโจมตีเร็วแบบกองโจร ทำให้ทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินตั้งรับไม่ทัน จึงทำให้เกิดความโกลาหล และ ทำให้โอรสพระองค์หนึ่งของพระองค์ ถึงแก่พิราลัยในครั้งนั้นด้วย พระปลัดเสกสรรค์ ได้เล่าเรื่องราวให้ฟังว่า “ลูกหรือพระโอรสของพระองค์ อันเกิดจากพระสนมที่ติดตามมานั้น เสียชีวิต ก็มีการปั้นพระขึ้น พระองค์อยากจะอุทิศบุญให้กับพระโอรส ก็เลยรับสั่งให้ทหาร เอาดินเหนียวมาปั้นเป็นพระ แล้วให้ทำเป็นพระดินเผา แล้วก็อุทิศบุญกุศลให้กับพระโอรสของพระองค์ ตามที่เรียกกันว่า พระองค์เล็ก ตามตำนาน กาลต่อมาชาวบ้านก็ยังเรียกว่า พระองค์นุ้ย (พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 15 พฤษภาคม 2561)
พระตำหนักพระเจ้าตาก ตามตำนานกล่าวว่า เป็นตำหนักที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นที่พำนักของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช สำหรับการเสด็จมาเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งที่สอง เมื่อคราวเปลี่ยนแผ่นดินจากกรุงธนบุรีเป็นกรุงรัตนโกสินทร์ พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก ได้เล่าให้ฟังว่า “ก่อนที่พระองค์จะเสด็จไปประทับที่วัดเขาขุนพนมนั้น พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่วัดคงคาเลียบเหมือนกัน ประทับเป็นครั้งแรกก็มาประทับที่วัดคงคาเลียบ แล้วมีการสร้างตำหนัก ถ้าเราเรียกให้สมพระเกียรติว่าสร้างตำหนัก แต่คนสมัยก่อนในถิ่นนี้ คนแก่ๆ ที่เขาเรียกกัน ก็จะเรียกแบบบ้านๆ ว่า วังพระยาตาก แต่ถ้าจะมาเปรียบเทียบกัน อาตมาก็เห็นว่าควรจะเรียกว่า ตำหนัก พระตำหนัก ส่วนที่เป็นตำหนักก็เป็นบริเวณตั้งแต่ต้นไทรหน้ากุฏิเจ้าอาวาสในปัจจุบันไปจนถึงริมคลองท่าซัก ริมคลองปากพญาที่อยู่หน้าวัดนี่” (พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 15 พฤษภาคม 2561) และแม้ว่าจะไม่เห็นร่องรอยในปัจจุบัน แต่ก็พอจะเห็นภาพได้ว่ามีตำหนักอยู่ เพราะท่านเจ้าอาวาสได้พาไปดูไม้ที่เคยเป็นไม้สำหรับสร้างตำหนัก ซึ่งปัจจุบันได้นำไปสร้างกุฏิหลังเล็กสำหรับพระภิกษุจำพรรษาเรียบรายอยู่สี่หลัง
พระบรมอัฐสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช มีเรื่องเล่าว่า “เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ เมื่อกล่าวถึงวัดคงคาเลียบว่า พระบรมอัฐิ พระสรีรังคาร ได้มีการแบ่งเป็นสามส่วน ส่วนหนึ่งให้นำไปทางกรุงเทพ ไปไว้ที่วัดหนึ่งที่กรุงเทพ ส่วนหนึ่งอยู่ในวัดที่อยู่ในตัวเมืองนคร แต่ส่วนหนึ่งได้มีการนำมาไว้ที่การสร้างตำหนักในบริเวณวัดคงคาเลียบ” (พระปลัดเสกสรรค์ มหิทธิโก. สัมภาษณ์ส่วนบุคคล 15 พฤษภาคม 2561) (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 123-141)


วัดคงคาเลียบ ถือเป็นวัดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในคราวเสด็จมาเมืองนครศรีธรรมราชในครั้งที่สอง ซึ่ง “ท่าน้ำวัดคงคาเลียบถือเป็นสถานที่แรก” ที่พระองค์ทรงแวะขึ้นมาพักเป็นที่ตั้งพลับพลาที่ประทับเพื่อเป็นจุดรวมพล ก่อนจะเสด็จไปยังวัดเขาขุนพนม ในปัจจุบันยังคงมีร่องรอยหลักฐานปรากฎให้เห็นอยู่ดังที่กล่าวมาข้างต้น และในช่วงเวลาที่ผ่านมานั้นทางวัดคงคาเลียบก็ได้มี “โครงการพระบาทแรกสู่เมืองนครศรีธรรมราช” เป็นการก่อสร้าง “พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปางทรงม้าออกศึก” ไว้ที่นี่เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของพระองค์ท่านนั่นเอง
ข้อมูลอ้างอิง
พระบาทแรกสู่เมืองนครศรีธรรมราช. (2565). ประวัติวัดคงคาเลียบ. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567. จาก https://www.facebook.com/photo/?fbid=120400390770220&set=a.100724639404462 และ
https://www.facebook.com/photo/?fbid=121193944024198&set=a.118030191007240
พระสังฆาธิการ. (ม.ป.ป.) วัดคงคาเลียบ. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567. จาก https://sangkhatikan.com/wat_view.php?ID=วัดคงคาเลียบ%20(นศ.%20เมืองนครศรีธรรมราช)#google_vignette
ว.วรรณพงษ์. (2565). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตอน รอยพระบาทแรกที่พระองค์ เสด็จมานครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567. จาก https://www.facebook.com/Tanompong181
วิกิพีเดียสารานุกรมเสรี. (2565). ตำบลท่าซัก. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ตำบลท่าซัก
ศานติ โบดินันท์, สวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ และ ดำรง โยธารักษ์. (2561). สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับโบราณสถานในเมืองนครศรีธรรมราช. ในพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงธนและที่เมืองคอน. หน้า 43-227. โรงพิมพ์อักษรการพิมพ์.
Views: 507
- วัดเขาขุนพนม
- พระเจ้าตากสินกับวัดเขาขุนพนม
- หอพระสูง (พระวิหารสูง) : โบราณสถานสำคัญบนถนนราชดำเนิน
- วัดแจ้งวรวิหาร
- วัดประดู่พัฒนาราม
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเมืองนครศรีธรรมราช
- วัดวังตะวันออก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
- วัดอินทคีรี (วัดบ้านนา) อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช
- วัดคงคาเลียบ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช