พลูดีนครศรีธรรมราช : พลูปากหราม พลูวังโหล

พลูดีนครศรีธรรมราช
พลูดีนครศรีธรรมราช

พลู (Betel) เป็นไม้เถา และเป็นพืชวงศ์เดียวกับพริกไทย จัดเป็นไม้เถาเลื้อยเนื้อแข็ง ลำต้นเกลี้ยงเป็นปล้อง และมีข้อ และเวลาแตกออกตามข้อของลำต้น ก็จะยึดเกาะวัสดุสำหรับช่วยพยุงลำต้นเลื้อยขึ้นที่สูงได้ และทำให้ลำต้นไม่หลุดร่วงลงสู่พื้นได้ง่าย ใบเป็นใบเลี้ยงเดี่ยว ออกสลับกัน รูปหัวใจหรือกลมแกมรูปไข่ ปลายใบแหลมหรือเรียวแหลม เนื้อใบค่อนข้างเป็นมันสด ใบอ่อนมีสีเหลืองอ่อน และค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียวอ่อน และสีเขียวเข้ม เมื่อแก่เต็มที่จะมีสีเหลือง มีกลิ่นหอมเฉพาะ รสเผ็ดร้อน เส้นใบนูนเด่นทางด้านล่าง ก้านใบยาว ดอกพลู มีสีขาว ออกรวมกันเป็นช่อ มีช่อดอกแบ่งเพศกันอยู่คนละต้น ประกอบด้วยช่อดอกตัวเมีย และดอกตัวผู้ มีใบประดับดอกขนาดเล็กรูปวงกลม ดอกมักบานไม่พร้อมกัน จึงทำให้ไม่ค่อยพบเห็นผลของพลู เพราะมีโอกาสผสมเกสรน้อย ดังนั้นเวลาปลูกจะต้องยึดกับเสาหรือต้นไม้อื่นเป็นหลักเรียกว่า ค้างพลู โดยทั่วไปจะเห็นต้นหมากเป็นค้าง (พลู ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่น ๆ และข้อมูลงานวิจัย, ม.ป.ป.)

พลู ลักษณะเฉพาะ

พลูเป็นพันธุ์ไม้เถาใบมีสีเขียวหลายระดับ การปรับระดับสีของใบพลูเป็นไปตามระยะเวลาของธรรมชาติ เนื้อใบของพลูผลิใบออกมาเป็นสีเขียวอ่อนสว่างปนเหลืองและจะค่อย ๆ เปลี่ยนจากใบอ่อนมีสีเขียวอ่อนสว่าง จนเป็นใบแก่มีสีเขียวเข้มแก่จัด

  • ใบเป็นรูปหัวใจขนาดต่าง ๆ กันตามความแก่อ่อน
  • พลูแตกยอดเป็นช่อและเติบโตตามแขนงของลำต้นอย่างมั่นคง แข็งแรง
  • เส้นของใบเป็นเส้นคู่สับหว่างบรรจบกันที่แกนกลางของใบ
  • เถาพลูจะยืดออกเกาะติดพื้นด้วยรากอ่อนเลื้อยไปตามระดับพื้น พลูบางเถายึดต้นไม้ทำหลักแต่จะไม่ทำให้หลักหรือค้างพลูเสียหาย ต้นพลูยิ่งแตกใบมาก ต้นไม้หลักก็จะดีไปด้วยกัน พลูช่วยห่อลำต้นไม้หลักให้อบอุ่น

พลูเป็นพืชที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยมาช้านาน ในลักษณะการบริโภคกับหมากหรือที่เรียกกันว่า “การกินหมาก” ทั้งนี้เพราะในพลูมีสารชนิดหนึ่งที่ทำให้ผู้บริโภคมีอาการกระปรี้กระเปร่า สมองแจ่มใส นอกจากนี้พลูยังสรรพคุณรักษาโรคได้หลายชนิด ทำให้พลูเข้ามามีส่วนกับศิลปะวัฒนธรรม และขนบธรรมเนียม ประเพณี และวิถีชีวิตประจำวัน ดังนั้นการปลูกพลูจึงมีอยู่ทั่วไป นครศรีธรรมราชปลูกพลูเฉพาะเชิงเขา นิยมกินพลูหนัก ที่นิยมกินมีหลายชนิด พลูวังโหล พลูปากหราม พลูจำปา และพลูคลองงา แต่ที่นิยมกินกันมากที่สุดคือพลูปากหราม จนมีสำนวนถึงของดีเมืองนครศรีธรรมราชว่า “เคยปากพนัง ยากลาย ดีปลีกลาย พลูปากหราม ควายงามสิชล คนงามฉลอง”

พลู ที่นิยมปลูกในจังหวัดนครศรีธรรมราช:

  • พลูปากหราม ปลูกแถบอำเภอพรหมคีรี
  • พลูวังโหล ปลูกแถบอำเภอลานสกา
  • พลูจำปา ปลูกแถบอำเภอทุ่งสง
  • พลูคลองงา ปลูกแถบอำเภอช้างกลาง 

หลักฐานจากศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราช สมัยสุโขทัยมีกล่าวถึงพลูไว้ว่า “ป่าหมาก ป่าพลู พ่อเชื้อมันไว้แก่ลูกมันสิ้น” คำว่า ป่าหมาก ป่าพลู น่าจะมีที่มาจากภาษานครศรีธรรมราช เนื่องจากสุโขทัยมีสัมพันธ์อันดีกับนครศรีธรรมราช จึงน่าจะรับประเพณี วัฒนธรรมและภาษา จากนครศรีธรรมราชไปบ้าง

พลู ดีที่นครศรีธรรมราชกับบทบาทต่อประเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่น

พลูมีประวัติความเป็นมายาวนานมีบทบาทต่อการบริโภคและเป็นยาสมุนไพร ในอดีตชาวบ้านมักพกพลูติดตัวหากเกิดอุบัติเหตุจะใช้พลูห้ามเลือด พอกแผลสด นอกจากนี้แล้วพลูยังมีบทบาทต่อประเพณีและวัฒนธรรมพื้นถิ่นของนครศรีธรรมราชอีกด้วย

ประเพณีและพิธีกรรม

ประเพณีที่มักจะใช้พลูเป็นส่วนสำคัญ และขาดไม่ได้ ได้แก่

  • ประเพณีการแต่งงาน ใช้หมากพลูจัดขันหมาก
  • ประเพณีสารทเดือนสิบใช้หมากพลูใส่หฺมฺรับ
  • พิธีไหว้ครูโนรา โนราโรงครู พิธีครอบริดผูกผ้าใหญ่ ใช้หมากพลู และกรวยพลู
  • พิธีทำขวัญเด็กใช้ใบพลูเจิมหน้าเด็ก
  • พิธีกรรมอื่น ๆ ที่ใช้กรวยหมากพลู เช่น พิธีอุปสมบท พิธีวางศิลาฤกษ์ พิธีบวงสรวงต่าง ๆ
  • และรวมถึงวัฒนธรรมการกินหมากมีใบพลูเป็นเครื่องเคียงด้วย
พลูดีที่นครศรีธรรมราช
พลูดีที่นครศรีธรรมราช

วัฒนธรรมการกินหมากและพลู

คนไทย โดยเฉพาะคนไทยสมัยโบราณมีวัฒนธรรมการกินหมากมีใบพลูเป็นเครื่องเคียงด้วย แต่ในปัจจุบันความนิยมการกินหมากพลูลดลงมากแล้ว แต่ยังคงมีการปลูกหมาก ปลูกพลู และยังขายได้ ปลูกต้นหมาก และปลูกพลูให้พันต้นหมาก

พลู เฉพาะถิ่นนครศรีธรรมราช

พลูปากหราม

ปากหราม เป็นชื่อเดิมของบ้านนอกท่า อยู่ในเขตตำบลพรหมโลก อำเภอพรหมคีรี พื้นที่บ้านปากหราม ตั้งอยู่เชิงเขาใกล้แหล่งน้ำ มีความชุ่มชื้นตลอดทั้งปี ทำให้พลูเจริญงอกงาม รสชาติดีเป็นพิเศษกว่าที่อื่น และถูกปากชาวนครศรีธรรมราช พลูปากหราม ปลูกมากที่ตำบลพรหมโลก และตำบลทอนหงส์ ชื่อเรียกมาจากภาษาพื้นบ้านนครศรีธรรมราชเรียกคนที่กินหมากจนปากเป็นสีแดงว่า ปากหราม และพื้นที่ในเขตภูเขาเรียกว่า เหนือ ชื่อโบราณนี้จึงสะท้อนลักษณะทางวัฒนธรรมและทำเลที่ตั้งของชุมชน “เหนือปากหราม” ต่อมาเปลี่ยนชื่อชุมชนเป็น “พรหมโลก” ตามชื่อของผู้ปกครอง คือ ขุนพรหมโลก

พลู ปากหราม
พลูปากหราม ใบสีเขียวอ่อน รูปใบคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลม

ลักษณะพลูปากหราม

มีลักษณะเด่นคือ ใบสีเขียวอ่อน รูปใบคล้ายใบโพธิ์ ปลายใบแหลม ขนาดใบไม่เล็กไม่ใหญ่ ไม่หนาเกินไปมีขนาดพอดีคำ ใบพลูกรอบ รสเผ็ดพอดี ไม่เผ็ดมากเหมือนพลูเผ็ด และไม่จือเหมือนพลูก้านยาว มีกลิ่นหอม

สวนพลูปากหราม

ชาวสวนปลูกพลูปากหรามในสวนสมรมที่มีต้นไม้ใหญ่ ให้เถาพลูยึดเกาะกับต้นไม้ใหญ่ในสวนเป็นหลัก เรียกว่าค้างพลู การเก็บใบพลูสามารถเก็บได้ตลอดทั้งปี อาจมีทิ้งช่วงสามถึงสี่เดือนให้พลูแตกยอดใหม่บ้าง ชาวสวนพลูปากหรามสามารถสร้างรายได้เสริมได้อีกทางหนึ่ง
      พลูดีต้อง “พลูปากหราม” รสชาติดี ถูกปาก สมัยก่อนชาวนครศรีธรรมราชนิยมกินหมาก ในแต่ละวันกินไม่น้อยกว่าสามคำ บางคนก็กินไม่ขาดปาก จนปาก ลิ้น ฟันแดง นาน ๆ เข้าจากฟันแดงก็กลายเป็นฟันดำ ซึ่งในสมัยนั้นเรียกฟันดำว่า “ฟันงาม” ผู้ที่นิยมกินหมากก็อยากจะให้ฟันของตนงาม ก็จะเสาะหาหมากและพลูที่มีคุณภาพและรสชาติดี ถูกปาก นั่นก็คือ “พลูปากหราม”
      สวนพลูปากหราม พบได้มากในพื้นที่ริมคลองในเขียว ริมคลองชุมขลิง ตำบลทอนหงส์ ทั้งสองคลองไหลลงสู่ คลองปากพยิง และออกทะเลที่ปากน้ำปากพยิง ในอดีตการค้าขายพลู ผัก ผลไม้ ก็ใช้เส้นทางนี้และเป็นที่มาของ “เกลอเขา-เกลอเล” หรือหากเคยเดินทางไปเที่ยวน้ำตกอ้ายเขียวสองข้างทางในสวนสมรมทางเข้าก่อนถึงน้ำตกจะปลูกพลูปากหรามเช่นกัน ปัจจุบันพบการปลูกพลูปากหรามในหลายพื้นที่ของจังหวัดนครศรีธรรมราช มักจะเป็นพื้นที่ใกล้เคียงอำเภอพรหมคีรี ได้แก่ อำเภอท่าศาลา และอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช แต่รสชาติ และความกรอบอาจจะไม่เหมือนปลูกที่ปากหรามเสียทีเดียว 

พลู ปากหราม
พลู วังโหล
พลูวังโหล ใบใหญ่ หนา กรอบ

พลูวังโหล

สวนพลูวังโหล ปลูกมากที่ ตำบลกำโลน และตำบลเขาแก้ว อำเภอลานสกา เป็นพลูที่ได้รับความนิยมมากจนได้รับฉายาว่าเป็น “พลูเทวดา” หรือ “พลูขุนน้ำ” ตามประวัติเล่าว่า พลูวังโหล นำพันธุ์พลูปากหรามมาปลูกที่บ้านวังโหล ได้รสชาติ สีของใบพลู ความหนาของใบพลูและความกรอบที่แตกต่างกันจนได้เป็นพลูพันธุ์ใหม่ขึ้นมาที่บ้านวังโหล เรียกตามชื่อสถานที่ว่า พลูวังโหล และได้รับความนิยมว่าเป็นพลูชั้นดีของนครศรีธรรมราชมีใบใหญ่ หนา กรอบ ใบเกลี้ยงเป็นมัน

ลักษณะเด่นพลูวังโหล

  • ใบใหญ่ หนา กรอบ เกลี้ยง เป็นมัน สีเขียวเข้ม ใบรูปไข่ ปลายใบแหลม โคนมน ก้านใบยาว
  • ทนต่อโรคและแมลงศัตรูพืช
  • เป็นพลูหนัก พลูดี มีราคา เป็นที่นิยม พลูหนัก คือ พลูใบหนา ใบเรียวได้รูปสวยงาม โคนใบเป็นสีเขียวเข้ม แล้วสีจะไล่เป็นเขียวอ่อน จนเป็นสีเหลืองที่ปลายใบ ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ต้องใช้พลูหนัก
  • รสชาติเผ็ดร้อน ปนหวานเล็กน้อยในเนื้อใบ
  • นิยมใช้กินกับหมาก และใช้ในการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ

พลู เป็นยาสมุนไพร

  • แก้คัน แมลงกัดต่อย ลมพิษมีฤทธิ์ยับยั้งเชื้อโรค ฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และลดการอักเสบของแผล
  • บรรเทาอาการปวด เคล็ดขัดยอก ทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว
  • มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อรา กลาก เกลื้อน
  • มันหอมระเหย ลดอาการเกร็งของลำไส้ รักษาอาการปวดท้อง ท้องเสีย
  • รักษาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย
  • เป็นยาถ่ายพยาธิ (คั้นน้ำจากใบพลูสด)
  • มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง ทำให้สดชื่น กระปรี้กระเปร่า
  • ป้องกันโรคหวัด
  • กำจัดกลิ่นปาก
  • ห้ามเลือด

นอกจากนี้ พลูมีความสัมพันธ์เชิงสัญลักษณ์ในมิติวัฒนธรรมมลายู ได้สื่อความหมายและให้คุณค่าของพลูมากกว่าความเป็นพืชสมุนไพร บายศรีพลู วัฒนธรรมมลายูแบบดั้งเดิม บุหงาซีเระ ภาษามลายู บุหงา หมายถึง ดอกไม้ ซีเระ หมายถึง พลู รวมเรียกว่า บายศรีพลู คือการนำใบพลูเรียงซ้อนสลับด้วยดอกไม้โดยใช้ยอดกล้วยเป็นแกนกลาง ประดิษฐ์ในลักษณะต่าง ๆ ให้สวยงาม นิยมทำในงานมงคล งานแต่งงานที่ฝ่ายเจ้าบ่าวนำไปมอบให้ฝ่ายเจ้าสาว ปัจจุบันบายศรีพลูมีขบวนร่วมในประเพณีการแห่นก

การทำสวนพลู เป็นอาชีพที่สำคัญอาชีพหนึ่งของชาวบ้านทั้งสองพื้นที่ในอดีต เป็นพืชเศรษฐกิจ และเป็นสื่อสำคัญทำให้เกิดวัฒนธรรมต่าง ๆ มากมาย ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตของชาวสวนพลูทั้งสองพื้นที่ว่า มีความผูกพันกับทุกเพศทุกวัย และพลูเป็นเหตุปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดหน้าที่การงาน ความเชื่อ ค่านิยม และการดำรงชีพในวิถีชีวิตของกลุ่มชนตั้งแต่เกิดจนตาย แต่ปัจจุบันพลูมีบทบาทลดลง จึงส่งผลต่อวัฒนธรรมต่าง ๆ ถูกลดบทบาทลงไปด้วย

พลูปากหราม และพลูวังโหล เป็นพลูที่ได้รับความนิยมสูงสุดจากบรรดาพลูในพื้นที่ต่าง ๆ ของจังหวัดนครศรีธรรมราช และในปัจจุบันพื้นที่ทั้งสองแห่งยังคงมีชาวบ้านประกอบอาชีพทำสวนพลู พลูปากหรามนิยมปลูกในสวนสมรม พลูวังโหล ปลูกเป็นสวนสร้างรายได้ให้ครอบครัวอีกทางหนึ่ง พลูนอกจากจะมีบทบาทด้านการบริโภค สมุนไพร ประเพณี วัฒนธรรมแล้ว พลูยังมีบทบาททางเศรษฐกิจอีกด้วย

เอกสารอ้างอิง

Views: 1146

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.

พลูดีนครศรีธรรมราช