วิหารพระแอด เป็นวิหารหลังใหม่ที่ประดิษฐานพระแอด พระสีทองเหลืองทองอร่าม องค์อ้วนใหญ่ ซึ่งเป็นชาวบ้านมีความเชื่อและความศรัทธาในการขอพรเรื่องสุขภาพให้หายปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง ซึ่งเมื่อขอพรเสร็จจะนำไม้ค้ำยันไปค้ำยันไว้ด้านหลังพระแอด และ การขอพรเรื่องการให้มีลูกสำหรับคนที่มีลูกอยาก ซึ่งจะเห็นได้จากในวิหารพระแอดจะมีรูปถ่ายของเด็กทั้งชายหญิงวางไว้ในตู้จำนวนมาก
วิหารพระมหากัจจายนะ หรือ วิหารพระแอด วิหารนี้เรียกชื่อตามพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารหลังนี้ คือ “พระกัจจายนะ” หรือ “พระสังกัจจายน์” หรือ “พระสุภูตเถระ” แต่คนทั่วไปมักเรียกวา “พระแอด” พระรัตนรัชมุนี (แบน คณฐภรโณ) เจ้าอาวาสได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารพระสุภูตเถระ (พระแอด) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมธาตุเจดีย์ และมอบให้ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ พระพุทธิสารเถระ (ผุด สุวฑฺฒโน) สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นคือพระครูพุทธิสารเจติยาภิวัฒน์ เป็นผู้การดำเนินการก่อสร้าง เมื่อการบูรณะปฏิสังขรณ์ จึงได้อัญเชิญ “พระแอด” ประดิษฐาน ณ วิหารหลังนี้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา

ที่มาของคำว่า “พระแอด”
“พระแอด” ขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า เอเต ที่กร่อนมาจากคำว่า เอ้เต้ นั่งขัดสมาธิเอนตัวไปข้างหลัง (เรียกว่านั่งเอ้เต้) อย่างไรก็ดี เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า “เอธ” ซึ่งเป็นภาษาสันสกฤต แปลว่า จำเริญรุ่งเรือง อ้วนพี อุดมสมบูรณ์
สถานที่ตั้งและการบูรณะปฏิสังขรณ์วิหารพระแอด
เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช ได้สรุปเนื้อหาเกี่ยวกับ “พระแอด” ซึ่งเขียนโดย บาราย จากคอลัมน์ “คัมภีร์จากแผ่นดิน” ในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ประจำวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 5 ไว้ดังนี้
สถานที่ตั้งอยู่ต่อกับวิหารสามจอมไปทางด้านเหนือ แต่เดิมนั้นวิหารพระแอดอยู่ภายนอกเขตพระระเบียงใกล้กับวิหารธรรมศาลา ซึ่งเป็นโรงหลังคามุงจากเล็ก ๆ ไม่มีฝากั้น

ภาพพระแอด ในอดีต ที่ยังไม่มีวิหารพระแอด ในบริเวณพระบรมธาตุเจดีย์ ถ่ายเมื่อประมาณ พ.ศ.2497
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2462-2463 พระยารัษฎานุประดิษฐ์ (สิน เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผู้ว่าราชการจังหวัดได้รับคำสั่งจากผู้ใหญ่ระดับ“สมเด็จอุปราชมณฑลปักษ์ใต้” ให้อัญเชิญพระแอดเข้าไปประดิษฐานในโรงกำมะลอ ซึ่งสร้างไว้ใน พระวิหารคด ทางทิศอีสานของวิหารโพธิ์ลังกา
พระรัตนรัชมุนี (แบน คณฐภรโณ) เจ้าอาวาสได้บูรณะปฏิสังขรณ์พระวิหารพระสุภูตเถระ (พระแอด) เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ภายในบริเวณพระบรมธาตุเจดีย์ และมอบให้ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ พระพุทธิสารเถระ (ผุด สุวฑฺฒโน) สมัยดำรงสมณศักดิ์เป็นคือพระครูพุทธิสารเจติยาภิวัฒน์ เป็นผู้การดำเนินการก่อสร้าง
รูปร่างพระแอดแต่แรกนั้นไม่ค่อยงาม ขุนอาเทศคดี (กลอน มัลลิกะมาส) ข้าราชการกรมอัยการซึ่งรับราชการที่นครศรีธรรมราชเวลานั้น บันทึกว่า “พระกรทั้งสองข้างสั้นยาวไม่เท่ากัน พระศกโกน (ไม่มีเส้น) พระเนตรหรี่ พระพักตร์แหงนดูฟ้า ทั้งยังประทับนั่งเอนไปทางด้านหลังมาก” ต่อมาในพ.ศ. 2498 พระรัตนรัชมุนี (แบน คณฐภรโณ) เจ้าอาวาสได้บูรณะพระแอดใหม่ โดยให้นายชม เสาวพันธุ์ กับนายแดง เป็นช่างซ่อมขณะที่ช่วยกันซ่อมได้มีชาวจีนคนหนึ่งทักว่า ถ้าพระองค์นี้ลืมพระเนตร บ้านเมืองจะเป็นสุข เกิดลาภสักการะแก่ผู้บูชา ทุกฝ่ายหารือกัน โดยให้เบิกพระเนตรให้กว้าง ทำเม็ดพระศกให้ยาว แต่งพระพักตร์ให้อวบอ้วนขึ้น เข้ากับพระเนตรที่มองไปข้างหน้า ลำพระองค์ก็ทำให้นั่งตรงขึ้น เสร็จเรียบร้อยใน พ.ศ.2500 ก็อัญเชิญเข้าไปประดิษฐานในวิหาร รูปลักษณะของพระแอดจากแบบเดิมมาถึงแบบที่ถูกดัดแปลงใหม่

ความเห็นในเรื่องสถานะของพระแอด
บารายสรุปไว้ว่าน่าจะแบ่งออกเป็นสามกระแส
กระแสแรก เชื่อว่าพระแอดเป็นพระพุทธสาวก ชื่อพระมหากัจจายนะเถระ (หรือที่เรียกกันว่าพระสังขจายน์) พระพุทธสาวกองค์นี้มีรูปลักษณะสง่างดงามคล้ายพระพุทธเจ้า ใครเห็นเป็นหลงใหล ดังเช่นกรณีมีชายหนุ่มคนหนึ่ง เห็นท่านแล้วอยากได้ท่านเป็นภรรยา แต่ด้วยอานุภาพแห่งพระอรหันต์ ชายหนุ่มนั้นจึงกลับกลายเพศเป็นหญิง ได้หนีออกจากหมู่บ้านไปแต่งงานกับชายในบ้านเมืองอื่น ต่อมาได้มากราบขอขมาโทษท่าน ก็ได้กลับเป็นเพศชายเหมือนเดิม พระมหากัจจายนะรู้ว่ารูปลักษณะของท่านสร้างบาปเวรให้ผู้คน จึงแสดงฤทธิ์ลอยขึ้นฟ้าแล้วปล่อยร่างหล่นลงมาถึงดิน รูปร่างของท่านจึงเป็นเช่นที่เห็นกันทุกวันนี้
กระแสสอง เชื่อว่าพระแอดเป็นพระพุทธสาวก ชื่อ “พระสุภูติเถระ” มีประวัติว่าครั้งหนึ่งท่านจาริกไปถึงนครราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารแจ้งกับท่านว่าจะสร้างกุฏิถวายแล้วก็ลืม พระสุภูติต้องบำเพ็ญภาวนาอยู่ตามโคนไม้ ผลที่พระเจ้าพิมพิสารผิดวาจา เมื่อถึงฤดูฝน ฝนจึงไม่ตกต้องตามฤดูกาล ต่อมาเรื่องนี้รู้ถึง พระเจ้าพิมพิสาร ก็โปรดให้เร่งสร้างกุฏิถวาย ทันทีที่พระสุภูติได้เข้าไปอยู่ในกุฏิ ฝนก็ตกลงมาเป็นที่น่าอัศจรรย์ จึงเชื่อกันแต่นั้นว่าพระสุภูติเป็นพระที่มีอานุภาพขอฝนได้
กระแสสาม เยี่ยมยง สุรกิจบรรหาร นักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสงขลา เชื่อว่าเกิดจากการต่อสู้ระหว่างศาสนาพุทธฝ่ายมหายานกับศาสนาพราหมณ์ เนื่องจากฝ่ายพราหมณ์ได้สร้าง “ท้าวกุเวร”รูปร่างอ้วนพีพุงพลุ้ย ให้เป็นเทพเจ้าในทางลาภผล ผู้ใดบูชาจะมั่งมีศรีสุข พระสงฆ์ฝ่ายมหายานจึงสร้างพระแอดขึ้นมาแข่งบารมี เชื่อว่าบูชาแล้วสิริมงคลครอบจักรวาล
ความเชื่อ ความศรัทธา เกี่ยวกับพระแอด

ความเชื่อในด้านสุขภาพ
พระแอดเป็นที่เคารพสักการะและเชื่อถือในเรื่องของการขอพรเรื่องการให้หายปวดหลัง ปวดเอว โดยการนำไม้ไปค้ำยันด้านหลังของพระแอด อาการปวดก็จะหายดั่งประสงค์
สำหรับวิธีไหว้ขอพรเรื่องสุขภาพ ให้หายปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลังนั้น ให้เข้าไปกราบไหว้ตามปกติ เมื่อ กราบพระเสร็จแล้วให้เดินอ้อมไปบริเวณด้านหลังองค์พระแอด ตั้งจิตมั่นอธิษฐานต่อพระแอดให้ช่วยขจัดปัดเป่าอากาการปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง ที่เป็นอยู่ให้หาย หลังจากนั้นให้หยิบท่อนไม้กลม ๆ ที่ตั้งอยู่ในตระกร้าบริเวณมุมวิหารมลูบตามเนื้อตัวบริเวณที่มีอาการเจ็บปวด หลังจากนั้นให้นำท่อนไม้ไปวางค้ำยันบริเวณด้านหลังพระแอดเป็นอันเสร็จพิธีการขอพร


ความเชื่อในด้านการขอลูก
สำหรับผู้ที่มีลูกยาก มีความเชื่อกันว่า พระแอด ท่านมีความเมตตาบันดาลลูกให้แก่ผู้ที่มีลูกยาก ซึ่ง หากไปกราบไว้พระแอดในวิหาร จะเห็นได้ว่ามีรูปถ่ายเด็กทารกมากมายในวิหารพระแอด ซึ่งเป็นรูปภาพที่พ่อแม่ของเด็กนำมาถวายพระแอดหลังจากกราบขอลูกจากพระแอดและได้ลูกชายลูกหญิงสมหวังดั่งที่ตั้งใจไว้

ความเชื่อในด้านการขอฝน
พระแอด กับ พิธีขอฝนของเมืองนครศรีธรรมราชในอดีต ภูมิ จิระเดชวงศ์ ได้กล่าวไว้ดังนี้
พิธีกรรมขอฝนของชาวนครศรีธรรมราช ที่เกี่ยวเนื่องกับพระแอด ได้ประ กอบพิธีตามคติหลวง ที่ได้รับอิทธิพลมาจากศูนย์กลาง โดยประกอบพิธีกันที่เบื้องหน้า “พระสุภูติ” ( พระแอดในคติเดิม ) ที่อยู่ด้านข้างวิหารธรรมศาลาในอดีต โดยรูปแบบพิธีกรรมนั้น จะเอาเรื่องราว ของพระสุภูติเถระกล่าวขอฝน และ พญาปลาช่อนโพธิสัตว์ขอฝนมาเป็นต้นเค้าของพิธีกรรม เริ่มจากการสร้างโรงหลังคามุงจาก หรือ ศาลาที่มุงด้วยใบไม้ ถวายแก่พระแอด จัดอาสนะพระ จัดขันสาคร ที่บรรจุ ปลาช่อนเงิน เต่าเงิน สำหรับเจริญคาถามัจฉราชจริยา และจัดโรงพิธีกรรม ให้พราหมณ์ ได้ประดิษฐานเทวรูปพระพิรุณ และสวดพระเวท สำหรับขอฝน เมื่อเริ่มพิธี หลังจากจุดเทียนชัยแล้ว พระสงฆ์จะเจริญคาถา “มัจฉราชจริยา” หรือ “คาถาพญาปลาช่อน”“ เพื่อขอฝนต่อ ปัชชุนเทพ และ เทวดาวัสสาวลาหก ซึ่งคติพุทธถือว่า เป็นหมู่เทพที่ประจำอยู่บนเมฆฝน จากนั้นจึงทำการรื้อตับหลังคา ที่อยู่ในระดับสายตาของพระสุภูติเถระ (พระแอด) ออก แล้วจึงสวดคาถา สุภูโต หรือ สุภูติเถระคาถา เพื่อขอฝนให้ตกลงมา ซึ่งการประ กอบพิธี จะทำจนกว่าฝนจะตกลงมา ในส่วนของพราหมณ์นั้นก็จะสวดพระเวทสรรเสริญพระพิรุณ เทพเจ้าแห่งฝน เพื่อขอให้ประทานฝนลงมา
พิธีขอฝน (พิรุณศาสตร์) ได้ห่างหายลงหลังจากยุตรัชกาลที่ 4 เนื่องจากการชลประทานมีความก้าวหน้าขึ้น จึงทำให้การทำพิธีขอฝนในระดับบ้านเมือง ได้ค่อยๆ จางหายไป ส่งผลให้พระแอด ไม่ได้รับการสักการะในด้านการขอฝนอีกต่อไป หลังจากที่ได้มีการเคลื่อนย้ายพระแอด จากด้านข้างวิหารธรรมศาลา มา ยัง วิหารพระแอดในปัจจุบัน ในสมัยที่ พระรัตนธัชมุนี (ท่านเจ้าคุณแบน) เป็นเจ้าอาวาสวัดพระมหาธาตุ จึงได้มีการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์พระแอด จาก “พระสุภูติเถระ” เป็น “พระกัจจายนะเถระ” เพื่อฉลองศรัทธาของสาธุชน ที่ต้องการขอพรทางด้านลาภผลกันมากขึ้น ซึ่งพระกัจจายนะเถระ หรือ พระแอดที่ได้สถาปนาใหม่ ก็ได้ให้อิทธิคุณในทาง “ประทานบุตร” จนเป็นที่ศรัทธา และรู้จักกันดีไปทั่วภาคใต้
ในปัจจุบันวิหารพระมหากัจจายนะ หรือ วิหารพระแอด ตั้งอยู่ทางเหนือของวิหารสามจอม (วิหารพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช) สร้างขึ้นภายในเขตพุทธาวาสของวัดพระมหาธาตุซึ่งสร้างแล้วแสร็จใน พ.ศ.2500 มีชื่อเรียกตามชื่อของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานอยู่ โดยชาวบ้านมีความเชื่อความศรัทธาต่อพระแอดในเรื่องของการช่วยปัดเป่าความปวดเมื่อย ปวดเอว ปวดหลัง และ การขอลูกสำหรับคนที่มีลูกยาก
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
เครือข่ายการท่องเที่ยววัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช. วิหารพระแอด (Vihara Phra Maha Kaccayana)
ภูมิ จิระเดชวงศ์. พระแอด กับ พิธีขอฝนของเมืองนครศรีธรรมราชในอดีต
พัชราภรณ์ สมทรง. วิหารพระมหากัจจายนะ (พระแอด) วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร
Views: 293
- วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร : มรดกแห่งความศรัทธาอันล้ำค่าของนครศรีธรรมราช
- วิหารโพธิ์พระเดิม วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
- วิหารโพธิ์ลังกา
- วิหารธรรมศาลา : พระวิหารสมัยอยุธยาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
- วิหารทับเกษตร ระเบียงรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์
- วิหารพระทรงม้า : วิหารแห่งประติมากรรม “มหาภิเนษกรมณ์”
- เจดีย์หกหว้า : เครื่องหมายแทนความกตัญญู ความเชื่อ และความศรัทธาที่ผูกพันอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- พระวิหารหลวง มรดกอันงดงามเคียงคู่พระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช
- เจดีย์พระปัญญา : สถูปแห่งพระสารีบุตร
- เจดีย์ราย รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ : เจดีย์แห่งองค์พระมหาสาวก
- วิหารพระมหากัจจายนะ (Vihara Phra Maha Kaccayana) หรือวิหารพระแอด
- ประตูเยาวราช ประตูแรกที่สร้างตั้งแต่ ร.ศ. 128
- วิหารเขียน : จากสถานที่ฝีกเขียนหนังสือและจดจาร คัดลอก เขียนพระไตรปิฎก สู่พิพิธภัณฑ์ของวัด
- ศาลาศรีพุทธิสาร วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจ.นครศรีธรรมราช
- หอพระพุทธบาทจำลอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
- พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมโศกราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช
- วิหารคต หรือพระระเบียง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
- พระนางเหมชาลา และเจ้าชายทนทกุมาร : ผู้นำพระบรมสารีริกธาตุสู่ดินแดนนครศรีธรรมราช
- อนุสาวรีย์แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว) ผู้ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงาม ความใจบุญมีกุศลในการบำรุงพระศาสนา
- ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช