สถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระบรมธาตุ ติดกับพระวิหารหลวง กำแพงด้านหลังติดกับถนนพระบรมธาตุ อนุสาวรีย์ของพระองค์จะอยู่บนฐานเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผู้เป็นพระสวามี จะตั้งอยู่ภายในบริเวณของสวนพุทธิสารเถร บริเวณนั้นจะมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ศาลาศรีพุทธิสาร และลานธรรมวิปัสสนา อยู่ในบริเวณเดียวกัน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ความเป็นมาของแม่เจ้าอยู่หัวคือ พระนางเลือดขาวแห่งเมืองนครฯ
งานการค้นคว้าของชาวแม่เจ้าอยู่หัวเพื่อค้นหา “แม่เจ้าอยู่หัว” ได้บทสรุปว่าคือพระนางเลือดขาว มีเรื่องราวสรุปย่อได้ว่าเป็นบุตรีคหบดีมีอาชีพค้าขาย ณ ชุมชนสุดสายหาดทรายแก้วนครศรีธรรมราช (สันทรายเชียรใหญ่) บิดาเป็นชาวพัทลุงเชื้อสายลังกา (คุลา) มารดาเป็นชาวบ้านเก่าหรือบ้านฆ็อง (บริเวณที่ตั้งวัดแม่เจ้าอยู่หัวปัจจุบัน) เกิดเมื่อประมาณ พ.ศ. 1745 ไม่ปรากฏพระนามเดิมนอกจากบางกระแสเรียกชื่อว่า “กังหรี” มีพี่ 2 คน คือ ทวดชีโป (มีรูปปั้นที่วัดพังยอม ตำบลสวนหลวง อำเภอเฉลิมพระเกียรติ) และพ่อท่านขรัว (มีรูปปั้นที่วัดบ่อล้อ ตำบลแม่เจ้าอยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่)
พระนางเลือดขาวเป็นคนงามด้วยเบญจกัลยาณี คือ ผมงาม เนื้องาม ฟันงาม ผิวงามและวัยงาม มีนิสัยโอบอ้อมอารี เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นที่รักของบุคคลโดยทั่วไป มีเลือดสีขาวแต่กำเนิดจนเป็นที่รับรู้เมื่อคราวช่วยงานในหมู่บ้าน ทำหน้าที่เจียนหมากพลูจนกรรไกรหนีบนิ้วมีเลือดไหลออกมาปรากฏเป็นสีขาวต่อหน้าผู้คนที่มาร่วมงาน จนร่ำลือถึงพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ 5 หรือพระเจ้าสีหราช แห่งนครศรีธรรมราช (ตามพรลิงค์) ณ เมืองพระเวียง จนคราวศึกเมืองทะรังหรือเมืองกันตังแข็งข้อ หลังชนะศึกชนช้าง (ที่บ้านทุ่งชนในเขตอำเภอทุ่งสงปัจจุบัน) และรับบรรณาการที่นำมาถวายแล้ว (จนได้ชื่อว่าทุ่งสง-ส่งเครื่องบรรณาการ)
ระหว่างพักแรมกลางทางกลับ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงพระสุบินเห็นสตรีมีลักษณะงดงามตามเบญจกัลยาณี มีใจกุศล เป็นคู่บุญบารมี พำนักอยู่ทางทิศใต้ตามเส้นทางหาดทรายแก้ว และมีเลือดสีขาว จึงเมื่อเข้าเมืองนครศรีธรรมราช นมัสการพระบรมธาตุแล้วจึงจัดขบวนเสด็จออกค้นหาจนถึงสำนักพ่อท่านขรัว ได้พบพระนางเลือดขาวที่มารับเสด็จ โดยขณะทอผ้าถวายได้ทำตรน (อุปกรณ์ที่ทำจากไม้ไผ่มีความคมมาก) บาดนิ้วเลือดออกเป็นสีขาว จึงขอพระนางไปเป็นพระนางเมือง เมื่อเสด็จกลับแล้วจึงให้พราหมณ์ปุโรหิตจัดขบวนหลวงสู่ขอรับเข้าวัง ปรนนิบัติรับใช้ด้วยความจงรักภักดี ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ทำคุณประโยชน์ให้บ้านเมืองมากมาย เป็นที่รักของไพร่ฟ้าแต่ถูกกลั่นแกล้งกล่าวหาต่างๆ นานาจากพระสนมอื่น
พระนางเลือดขาวได้รับสถาปนาเป็นแม่เจ้าอยู่หัวหรือพระนางเลือดขาวอัครมเหสี จนเป็นที่เรียกโดยทั่วไปว่า พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว หรือแม่เจ้าอยู่หัวพระนางเลือดขาว (บัญชา พงษ์พานิช, 2546, น. 155-156)
พระนางเลือดขาวนั้นเป็นอัครมเหสีของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ด้วยเหตุนี้จึงเรียกโดยทั่วไปว่า พระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัว หรือแม่เจ้าอยู่หัวพระนางเลือดขาว หมายถึงผู้อยู่ในฐานะพระมเหสีเอกของพระเจ้าอยู่หัว พระนางมีนิสัยโอบอ้อมอารีเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา เป็นที่รักของบุคคลโดยทั่วไปตั้งแต่เยาว์วัย ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งอัครมเหสี พระนางทรงทำนุบำรุงศาสนาโดยการสร้างและปฏิสังขรณ์วัดต่างๆ ไว้มากมาย ทั้งในเมืองนครศรีธรรมราช (เมืองตามพรลิงค์) และเมืองใกล้เคียงประมาณปี พ.ศ. 1790 พระชนมายุ 45 ปี พระนางได้ปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระเจ้าศรีธรรมโศกราช โดยการเสด็จไปประเทศลังกา เพื่อทรงรับพระพุทธสิหิงค์มายังนครศรีธรรมราช ปี พ.ศ. 1799 พระนางมีพระชนมายุ 55 ปี ได้เสด็จไปยังเมืองสุโขทัย เพื่อจัดระเบียบสงฆ์ฝ่ายฆราวาส ประทับอยู่ที่สุโขทัยนาน 5 ปี จึงเสด็จกลับเมืองนครศรีธรรมราช (พระครูสิริธรรมาภิรัต, 2554 น. 109)
พระนางเลือดขาวได้ขอต่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชว่าหากสิ้นพระชนม์ลงขอให้นำศพกลับบ้านเกิด ต่อมาข่าวความเดือดร้อนที่พระนางถูกกลั่นแกล้งทราบถึงพ่อท่านขรัว พ่อท่านขรัวได้เดินทางมาขอบิณฑบาตรับแม่เจ้าอยู่หัวกลับบ้านเดิม และทรงอนุญาตพร้อมทั้งให้สร้างวังขึ้น ณ ริมฝั่งแม่น้ำปากพนัง (บ้านในวัง ตำบลแม่เจ้าอยู่หัวปัจจุบัน) แต่การสร้างล่าช้าเพราะพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงประวิงเวลาไว้ไม่อยากให้พระนางกลับบ้านเดิม
จนกระทั่งคราวเสด็จไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่เมืองทะรัง (ตรัง) ได้สิ้นพระชนม์ระหว่างทางขณะประทับแรมด้วยกลด (บ้านควนกลด อำเภอทุ่งสงปัจจุบัน) ในปี พ.ศ. 1814 พระศพถูกอัญเชิญกลับสู่เมืองนครศรีธรรมราช (เมืองพระเวียง) ตั้ง ณ วัดท้าวโคตร แล้วจัดขบวนทางน้ำตามลำคลองท่าเรือ ออกทะเลปากนคร เข้าแม่น้ำปากพนัง (ปากพระนาง) มาขึ้นฝั่งที่บ้านหน้าโกศ จนถึงสำนักพ่อท่านขรัว (บริเวณวัดบ่อล้อปัจจุบัน) ถวายพระเพลิงแล้วนำพระอัฐิและพระอังคารประดิษฐานในมณฑปสูง 12 วา มีเจดีย์บริวารโดยรอบ ณ วัดแม่เจ้าอยู่หัว
พร้อมกับยังมีสรุปพระกรณียกิจที่สำคัญในตอนท้ายอีกว่า ทรงเป็นผู้นำเสด็จพระพุทธสิหิงค์ พระบรมสารีริกธาตุจากลังกา ทรงสมโภชพระบรมธาตุนครศรีธรรมราช ฐานะพระอรหันต์ฆราวาส (?-ผู้เขียน) ทรงเป็นอรหันต์ฝ่ายฆราวาสแห่ง 12 หัวเมืองนักษัตร เสด็จไปสุโขทัยในนามกษัตริย์นครศรีธรรมราชวางแผนนโยบายด้านศาสนาฝ่ายฆราวาส ทรงปกครองเมืองนครศรีธรรมราชช่วงศึกลังกา (ที่พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงยกทัพไปลังกา) ทรงปฏิสังขรณ์และสร้างวัดมากมายทั่วทั้งจังหวัดนครศรีธรรมราชถึง 54 วัด กับในจังหวัดพัทลุง สงขลา ตรัง สตูล ภูเก็ต ชุมพรอีกถึง 23 วัด (บัญชา พงษ์พานิช, 2546, น. 157)
ลักษณะที่แสดงถึงความเป็นพระนางเลือดขาว แม่เจ้าอยู่หัว พระมเหสีของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
- เป็นเหตุการณ์ยุค พ.ศ. 1790 ประมาณ 754 ปีก่อน
- เสด็จไปถึงลังกา
- พุทธศาสนิกชนนิกายเถรวาท ลัทธิลังกาวงศ์
- เลือดขาวมาแต่กำเนิด
- สิ้นพระชนม์ด้วยโรคชรา พระชนมายุ 70 พรรษา
- เป็นมเหสีของกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราช
- เกล้ามวยผมทรงสูง
- เดินทางมาสร้างวัดพระนางสร้างที่ภูเก็ต ปี พ.ศ. 1790
- ปี พ.ศ. 1793 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชที่ 5 ฉลองสมโภชพระพุทธสิหิงค์รวมกับพระบรมธาตุเจดีย์ โดยมีพระนางเลือดขาวแม่เจ้าอยู่หัวฐานะอรหันต์ฝ่ายฆราวาสแห่งภาคใต้
(บัญชา พงษ์พานิช, 2546, น. 158)
อนุสาวรีย์รูปหล่อของพระนางเลือดขาว ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
พระอนุสาวรีย์พระนางเลือดขาว นั้น “ผู้ใหญ่ชะลอ เอี่ยมสุทธิ์” เป็นผู้สร้างถวาย ซึ่งก่อนหน้านั้น “พระเทพวินยาภรณ์เจ้าอาวาส” วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้สร้างแท่นประดิษฐานไว้ บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (พระครูสิริธรรมาภิรัต, 2554, น. 108)
แต่ในปัจจุบันได้ย้ายไปประดิษฐาน ณ บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระบรมธาตุ ติดกับพระวิหารหลวง กำแพงด้านหลังติดกับถนนพระบรมธาตุ อนุสาวรีย์ของพระองค์จะอยู่บนฐานเดียวกันกับสมเด็จพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผู้เป็นพระสวามี จะตั้งอยู่ภายในบริเวณของสวนพุทธิสารเถร บริเวณนั้นจะมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ศาลาศรีพุทธิสาร และลานธรรมวิปัสสนา อยู่ในบริเวณเดียวกัน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ดังที่ทราบกันว่า ตลอดทั้งปีจะมีคณะต่างๆ มาถวายการแสดง “โนรา” ต่อหน้าพระอนุสาวรีย์ของพระนางอยู่อย่างต่อเนื่อง อันมาจากการที่ชาวบ้านเชื่อกันว่าการแสดงโนราเป็นการแสดงที่พระนางโปรดปรานเป็นพิเศษ รวมถึงการมาขอพรกับพระนางจะต้องนำ “ดอกบัว” ดอกไม้ที่ทรงโปรดปรานที่สุดเช่นกันมาถวาย พรที่ได้ก็จะสำเร็จดังปรารถนา
ซึ่งจะเห็นได้ว่า ตำนานของพระนางเลือดขาว ที่เล่าถึงความดีงาม ความใจบุญมีกุศลในการบำรุงพระศาสนาของหญิงผู้มีบุญ โดยเปรียบเทียบความดีของพระนางด้วยเลือดสีขาว ที่แตกต่างจากผู้อื่น จนกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในท้องถิ่นต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมืองนครศรีธรรมราช ไว้อย่างมากมาย จึงขอระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่านไว้ตลอดไป
บรรณานุกรม
บัญชา พงษ์พานิช. (2546). แม่เจ้าอยู่หัวที่เมืองนครฯ อีกหนึ่ง “นางเลือดขาว” ที่ชาวบ้านช่วยกันเขียนเป็นตำนานของท้องถิ่น. ศิลปวัฒนธรรม, 24(7), 155-158.
พระครูสิริธรรมาภิรัต. (2554). รูปหล่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชและพระนางเลือดขาว. ประวัติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. กรุงเทพฯ : เม็ดทราย.