
สถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระบรมธาตุ ติดกับพระวิหารหลวง กำแพงด้านหลังติดกับถนนพระบรมธาตุ อนุสาวรีย์ของพระองค์จะอยู่บนฐานเดียวกันกับพระนางเลือดขาว ผู้เป็นพระมเหสี จะตั้งอยู่ภายในบริเวณของสวนพุทธิสารเถร บริเวณนั้นจะมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ศาลาศรีพุทธิสาร และลานธรรมวิปัสสนา อยู่ในบริเวณเดียวกัน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ความหมายของคำว่า “ศรีธรรมาโศกราช”
“ศรีธรรมาโศกราช” หมายถึง “ตำแหน่งของกษัตริย์ผู้ปกครองนครศรีธรรมราช” และเป็นผู้อุปถัมภ์พุทธศาสนา เช่นเดียวกับพระเจ้าอโศกมหาราช มีการสืบทอดอำนาจต่อเนื่องมาจนกระทั่งกลายเป็น “ราชวงศ์” ผู้ครองนครศรีธรรมราช ในชั้นหลังเมื่อนครศรีธรรมราชถูกรวบไว้ในอำนาจของกรุงศรีอยุธยา คำว่า “ศรีธรรมาโศกราช” ก็ได้กลายมาเป็นทำเนียบนามของเจ้าเมืองต่างๆ ทั้งที่ “นครศรีธรรมราช” และ “ไม่ใช่นครศรีธรรมราช” ไปด้วย (ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์, 2548)
ซึ่งในอดีตมีชื่อเรียกดินแดนแถบทางภาคใต้หลายชื่อ ที่ชาวตะวันตกนิยมเรียกกันมาจนกระทั่งต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 คือ “ลิกอร์” สันนิษฐานว่า ชาวโปรตุเกสที่เข้ามาติดต่อค้าขายในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้นเป็นผู้เรียกก่อน โดยเพี้ยนมาจากคำว่า “นคร” ส่วนชื่อ “นครศรีธรรมราช” มาจากพระนามของกษัตริย์ผู้ครองนครในอดีต ทรงมีพระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” (ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช) มีความหมายว่า “นครอันงามสง่าแห่งพระราชาผู้ทรงธรรม” หรือ “เมืองแห่งพุทธธรรมของพระราชาผู้ยิ่งใหญ่” (พระครูสิริธรรมาภิรัต, 2554, น. 6)
ความเป็นมาของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช
ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช มีที่มาจากกษัตริย์ผู้สถาปนาอาณาจักรศรีธรรมราช (จังหวัดนครศรีธรรมราช) คือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช จากหลักฐานที่พบจดบันทึกไว้ในสมุดข่อยโบราณในหอสมุดแห่งชาติ มีชาวนครศรีธรรมราชท่านหนึ่งซึ่งสนใจศึกษาวิชาโหราศาสตร์ ได้ค้นคว้าพบดวงชะตาเมืองนครศรีธรรมราชสถาปนาขึ้นเมื่อวันพฤหัสบดี แรม 12 ค่ำ เดือน 3 ปีเถาะ จุลศักราช 649 ตรงกับ พ.ศ. 1830 ซึ่งเป็นการสถาปนาหลังจากอาณาจักรศรีวิชัยได้ล่มสลายไปแล้ว เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัย มีอายุอยู่ในช่วง พ.ศ. 1000-1800
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช มีพระอนุชา 2 พระองค์ องค์แรกพระนาม พระเจ้าจันทรภาณุ และพระเจ้าพงษาสุระ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ทรงสถาปนา พระนามฐานันดรตำแหน่งพระมหาอุปราช ให้พระเจ้าจันทรภาณุ เป็นพระมหาอุปราช เมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระเชษฐาสวรรคต องค์รอง พระเจ้าจันทรภาณุ ขึ้นเสวยราชย์แทน เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากพระมหากษัตริย์แห่งอาณาจักรศรีธรรมราช พระองค์ก่อนสวรรคต กษัตริย์พระองค์ต่อมาก็เป็นพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแทน ดังเช่นเมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช พระองค์พี่สวรรคต พระเจ้าจันทรภาณุ ก็ได้รับพระนามว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เช่นเดียวกัน แต่คนทั่วไป ก็มักจะเรียกจนติดปากว่า พระเจ้าจันทรภาณุ หรือในบางตำราใช้ พระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราช
ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช หรือราชวงศ์ปัทมวงศ์ เป็นราชวงศ์หนึ่ง ของสยามประเทศที่เคยมีอำนาจปกครอง อาณาจักรศรีธรรมราช ซึ่งปกครองเมืองใหญ่ต่าง ๆ ในคาบสมุทรมลายู จำนวน 12 เมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร เมื่อสมัยสุโขทัยเรืองอำนาจ เป็นอาณาจักรไทยทางภาคเหนือและภาคกลาง อาณาจักรศรีธรรมราช ก็มีอำนาจรุ่งเรืองทางภาคใต้ อาณาจักรศรีธรรมราชเป็นมิตรที่ดีต่ออาณาจักรสุโขทัย มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมโดยเฉพาะพระพุทธศาสนา มีการส่งพระสงฆ์ไปยังอาณาจักรสุโขทัย เพื่อเผยแพร่พระพุทธศาสนา ปรากฏหลักฐานเป็นที่แน่ชัดว่า อาณาจักรศรีธรรมราชยอมเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับอาณาจักรกรุงศรีอยุธยา ในสมัยราชวงศ์สุพรรณภูมิ ที่มีราชธานีกรุงอโยธยาศรีรามเทพนคร เริ่มสถาปนาราชวงศ์ พ.ศ. 1913-1931, 1952-2112 ราชวงศ์สุโขทัย พ.ศ. 2112 อาณาจักรนครศรีธรรมราชสมัยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชที่มีพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เป็นพระมหากษัตริย์ หลังทรงประกาศเอกราชจากอาณาจักรศรีวิชัย ใน พ.ศ. 1773 ทรงสถาปนาเมืองหลวงแห่งใหม่แทนกรุงตามพรลิงก์ (เมืองพระเวียง) คือ นครศรีธรรมราชมหานคร ใน พ.ศ. 1830 ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช (ปัทมวงศ์) ปกครองอาณาจักรนครศรีธรรมราชอยู่ร้อยกว่าปีก็ได้ล่มสลายลงจากโรคห่าระบาดและสงครามกับพวกชวา สมัยท้าวอู่ทองแห่งอโยธยาที่ได้สถาปนาเป็นพระญาติกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้ส่งพระราชโอรสและไพร่พลจากเมืองพริบพรีมาฟื้นเมืองเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองบริวารใหม่ และได้สถาปนาราชวงศ์ศรีธรรมโศกราชมาอีกครั้งที่มีเชื้อสายจากท้าวอู่ทองแห่งอโยธยา ในต้นพุทธศตวรรษที่ 19 สมเด็จพระไชยราชาธิราช ราชวงศ์สุพรรณภูมิ โดยสมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้าทรงมีพระราชบิดา สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 ราชวงศ์พระร่วง พระราชมารดา ราชวงศ์สุพรรณภูมิ สมเด็จพระไชยราชาธิราชเจ้า พระองค์มีพระมเหสี 4 พระองค์ มีตำแหน่ง ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ ราชวงศ์พระร่วง ท้าวศรีสุดาจันทร์ ราชวงศ์อู่ทอง ท้าวศรีอินทรมหาเทวี ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ท้าวอินทรสุเรนทร ราชวงศ์สุพรรณภูมิ หนึ่งในนั้นคือพระมเหสีมาจากราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติตั้งแต่สมัยโบราณ ที่จะให้อาณาจักรของตน มีความสัมพันธ์กันกับอีกราชอาณาจักรหนึ่ง เพื่อเป็นหนึ่งเดียวกันจะได้เกื้อหนุน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ในสมัยราชวงศ์สุพรรณภูมิแสดงให้เห็นว่า อาณาจักรนครศรีธรรมราชได้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรอยุธยาแล้วแต่ยังสามารถปกครองตนเองอย่างเบ็ดเสร็จและต้องถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ต่อพระมหาษัตริย์ของอาณาจักรอยุธยาด้วย (สารานุกรมเสรี, 2565)
การสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช
“พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” เป็นองค์ปฐมกษัตริย์ และเป็นผู้สร้างบ้านแปงเมืองของนครศรีธรรมราช โดยจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า พระองค์ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1098 โดยได้สร้างกำแพงป้อมปราการโดยรอบทั้งชั้นนอกชั้นใน ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นมหานครใหญ่และมีอำนาจมาก มีเมืองขึ้น 12 หัวเมือง เรียกว่า 12 นักษัตร ตั้งอยู่โดยรอบพระราชอาณาเขต โดยกำหนดให้ใช้สัตว์ประจำปีเป็นตราเมืองแต่ละเมือง (พระครูสิริธรรมาภิรัต, 2554, น. 108)
“พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” เป็นปฐมกษัตริย์ผู้ครองนครศรีธรรมราช เป็นต้นราชวงศ์ปัทมวงศ์ผู้สร้างเมืองนครศรีธรรมราช จากชุมชนเดิมซึ่งมีชื่อเรียกว่า “ตามพรลิงค์” บนหาดทรายแก้ว บริเวณตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชในปัจจุบัน เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 17 จนกลายเป็นอาณาจักรใหญ่ในคาบสมุทรไทย ก่อนที่จะเข้ารวมอยู่ในราชอาณาจักรไทย สมัยกรุงศรีอยุธยาในต้นพุทธศตวรรษที่ 20
จาก “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช” ฉบับที่พบที่วัดเวียงสระ อำเภอเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กับฉบับที่พบที่ทุ่งตึก อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา กล่าวความตรงกันว่า พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชนั้นเป็นพราหมณ์ชาวอินเดีย เดิมชื่อว่า “พราหมณ์มาลี” ได้อพยพพรรคพวกลงเรือสำเภาหลายร้อยลำ หนีการรุกรานพวกอิสลามจากอินเดียมาขึ้นบกที่บ้านทุ่งตึก ใกล้เมืองตะกั่วป่า ฝั่งทะเลตะวันตก ในชั้นแรกได้ตั้งบ้านเมืองขึ้นที่นั่น อภิเษกพราหมณ์มาลีขึ้นเป็นกษัตริย์ถวายพระนามว่า “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” พราหมณ์มาลาผู้เป็นน้องเป็นพระมหาอุปราช “พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” ทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ขึ้นบนหาดทรายแก้ว ซึ่งนับเป็นปูชนียสถานอันสำคัญในสมัยต่อมาตราบจนปัจจุบัน (Postjung, 2564)
และมีการกล่าวไว้ว่า ใน ปี พ.ศ. 1719 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ปฐมกษัตริย์ราชวงษ์ปทุมวงศ์ แห่งอาณาจักรตามพรลิงก์ ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นพร้อมกับการก่อสร้างองค์เจดีย์ขึ้นใหม่เป็นแบบเจดีย์ศาญจิ ต่อมาพระเจ้าจันทรภาณุศรีธรรมาโศกราชกษัตริย์พระองค์ที่ 2พระอนุชาของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ได้บูรณะพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นแบบลังกาทรงระฆังคว่ำ หรือโอคว่ำ มีปล้องไฉน (ฉัตรวลี) 52 ปล้อง สูงจากฐานถึงยอดปลี 37 วา 2 ศอก ยอดปลีของปล้องไฉนหุ้มทองคำเหลืองอร่าม สูง 6 วา (2 เมตร) 1 ศอก (0.50 เมตร) แผ่เป็นแผ่นหนา เท่าใบลานหุ้มไว้น้ำหนัก 141.987 กิโลกรัม (หรือ 9,341.31 บาททอง หรือ 114.2 ชั่ง) รอบพระมหาธาตุ มีองค์เจดีย์ล้อมรอบ 158 องค์ (ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, 2561)
อนุสาวรีย์รูปหล่อของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช
พระราชานุสาวรีย์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช นั้น “ผู้ใหญ่ชะลอ เอี่ยมสุทธิ์” เป็นผู้สร้างถวาย ซึ่งก่อนหน้านั้น “พระเทพวินยาภรณ์เจ้าอาวาส” วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ได้สร้างแท่นประดิษฐานไว้ บริเวณหน้าพิพิธภัณฑ์วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (พระครูสิริธรรมาภิรัต, 2554, น. 108)
แต่ในปัจจุบันได้ย้ายไปประดิษฐาน ณ บริเวณด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของพระบรมธาตุ ติดกับพระวิหารหลวง กำแพงด้านหลังติดกับถนนพระบรมธาตุ อนุสาวรีย์ของพระองค์จะอยู่บนฐานเดียวกันกับพระนางเลือดขาว ผู้เป็นพระมเหสี จะตั้งอยู่ภายในบริเวณของสวนพุทธิสารเถร บริเวณนั้นจะมีต้นพระศรีมหาโพธิ์ ศาลาศรีพุทธิสาร และลานธรรมวิปัสสนา อยู่ในบริเวณเดียวกัน ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
ทั้งนี้ในทุกปีทางวัดจะมีพิธีถวายสักการะพระองค์อย่างถูกต้องตามประเพณี รวมถึงตลอดทั้งปีจะมีคณะต่างๆ มาทำพิธีบวงสรวงถวายสักการะแสดงถึงความจงรักภักดีต่อพระองค์มากมายหลายคณะ และยังมีผู้ที่มาบนบานขอพรในสิ่งที่ปรารถนาก็จะมีการมาแก้บนกันโดยตลอดด้วย
และจากพระมหากรุณาธิคุณมากมายของพระองค์ “สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช” แสดงให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นบุคคลสำคัญมากของจังหวัดนครศรีธรรมราช เราควรระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์อย่างหาที่สุดมิได้ และที่สำคัญมากคือ ทรงพระกรุณาสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เมืองนครศรีธรรมราช ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และทรงสร้างบ้านสร้างเมือง ให้เราได้อยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขจนถึงทุกวันนี้
บรรณานุกรม
ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. (2548). พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567. จาก
dspace.nstru.ac.th:8080/dspace/bitstream/123456789/337/1/พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช.pdf
ฐานข้อมูลท้องถิ่นภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์. (2561). วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร (Wat Phramahathat Woramahawihan. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567. จาก https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/e8f57532
พระครูสิริธรรมาภิรัต. (2554). รูปหล่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชและพระนางเลือดขาว. ประวัติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. กรุงเทพฯ : เม็ดทราย.
สารานุกรมเสรี. (2565). ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช. สืบค้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567. จาก https://th.wikipedia.org/wiki/ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช
Postjung. (2564). ตำนานพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช. สืบค้นเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2567. จาก https://board.postjung.com/1362515
Views: 549
- วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร : มรดกแห่งความศรัทธาอันล้ำค่าของนครศรีธรรมราช
- วิหารโพธิ์พระเดิม วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
- วิหารโพธิ์ลังกา
- วิหารธรรมศาลา : พระวิหารสมัยอยุธยาที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางมารวิชัย
- วิหารทับเกษตร ระเบียงรอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์
- วิหารพระทรงม้า : วิหารแห่งประติมากรรม “มหาภิเนษกรมณ์”
- เจดีย์หกหว้า : เครื่องหมายแทนความกตัญญู ความเชื่อ และความศรัทธาที่ผูกพันอยู่กับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
- พระวิหารหลวง มรดกอันงดงามเคียงคู่พระบรมธาตุ นครศรีธรรมราช
- เจดีย์พระปัญญา : สถูปแห่งพระสารีบุตร
- เจดีย์ราย รอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ : เจดีย์แห่งองค์พระมหาสาวก
- พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมโศกราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช
- ประตูเยาวราช ประตูแรกที่สร้างตั้งแต่ ร.ศ. 128
- วิหารเขียน : จากสถานที่ฝีกเขียนหนังสือและจดจาร คัดลอก เขียนพระไตรปิฎก สู่พิพิธภัณฑ์ของวัด
- วิหารพระมหากัจจายนะ (Vihara Phra Maha Kaccayana) หรือวิหารพระแอด
- ศาลาศรีพุทธิสาร วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจ.นครศรีธรรมราช
- หอพระพุทธบาทจำลอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
- วิหารคต หรือพระระเบียง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
- พระนางเหมชาลา และเจ้าชายทนทกุมาร : ผู้นำพระบรมสารีริกธาตุสู่ดินแดนนครศรีธรรมราช
- อนุสาวรีย์แม่เจ้าอยู่หัว (พระนางเลือดขาว) ผู้ที่เป็นสัญลักษณ์แห่งความดีงาม ความใจบุญมีกุศลในการบำรุงพระศาสนา
- ต้นพระศรีมหาโพธิ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช