เดือนสามหลามเหนียว ใส่ข้าวโบสถ์ : ที่นครศรีธรรมราช

       เดือนสามหลามเหนียว ใส่ข้าวโบสถ์  เป็นประเพณีการทำบุญด้วยเหนียวหลาม หรือข้าวหลามของชาวอำเภอท่าศาลา  ในเดือน 3 วันมาฆบูชา ชองทุกปี  เมื่อได้ข้าวหลาม หรือ “เหนียวหลาม” แล้วนอกจากแบ่งปันให้เพื่อนบ้านแล้ว ชาวบ้านจะนำมาเก็บไว้ในโบสถ์หรือ  “ใส่ข้าวโบสถ์” เพื่อถวายพระสงฆ์ เพื่อให้นำเหนียวหลามไว้ฉันได้นานหลายวัน  และเชื่อว่า ประเพณี หลามเหนียว ใส่ข้าวโบสถ์ จะได้บุญกุศลเป็นอย่างมาก 

       การหลามเหนียวหรือข้าวหลาม  เป็นประเพณีการทำเหนียวหลาม เพื่อทำบุญเดือนสาม วันมาฆะบูชา  โดยชาวบ้านแถบอำเภอท่าศาลา จะร่วมกันหลามเหนียว เพื่อนำไปถวายพระที่วัด เรียกกันว่า “เดือนสาม หลามเหนียวข้าวโบสถ์” ชาวบ้านแต่ละบ้านจะช่วยกันตระเตรียมกระบอกไม้ไผ่ ข้าวเหนียว มะพร้าว น้ำตาล ตามแต่กำลังศรัทธา  รวมตัวกันหลามเหนียว นอกจากจะนำไปถวายวัดแล้ว ทีเหลือก็แจกจ่าย แบ่งปันกันรับประทาน เป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงความสามัคคี การช่วยเหลือกันและกัน และความศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา

       การทำบุญเดือนสามหลามเหนียว นั้นเมื่อได้ข้าวหลาม หรือ “เหนียวหลาม” แล้ว  จะมีการแบ่งปันให้เพื่อนบ้านแล้ว ชาวบ้านจะนำมาเก็บไว้ในโบสถ์หรือ  “ใส่ข้าวโบสถ์” เพื่อถวายพระสงฆ์ ให้นำ เหนียวหลามไว้ฉันท์ได้นานหลายวัน  และเชื่อว่า ประเพณี ลามเหนียว ใส่ข้าวโบสถ์ จะได้บุญกุศลเป็นอย่างมาก 

ประวัติและความเป็นมา

        การทำบุญใส่ข้าวโบสถ์เดือนสามหลามเหนียวที่วัดสโมสร ตรงกับวันมาฆบูชา ขี้น 15 คํ่าเดือน 3 ชาวบ้านพื้นถิ่นส่วนใหญ่เรียกว่า “หลามเหนียว” นิยมทำกันปีละครั้ง เป็นประเพณีชุมชนท้องถิ่นของ ต.หัวตะพาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช
สมัยก่อนมีพระธุดงค์จาริกไปทั่ว พระธุดงค์จะแวะวัดที่มีพระอุโบสถไหว้พระสวดมนต์  ชาวบ้านจะทําข้าวหลามไว้ในโบถส์เพื่อให้พระธุดงค์นําติดตัวไปฉันท์ เพราะข้าวหลามสามารถเก็บได้หลายวัน
        แต่ครั้งสมัยพุทธกาลชาวบ้านจะกวนข้าวมธุปยาสไว้ในโบสถ์  แต่มาสมัยนี้จะมีพระอุโบสถทุกวัดชาวบ้านเลยนิยมเป็นประเพณีท้องถิ่นเพื่อให้เกิดความสามัคคีในชุมชน  แขกบ้านแขกเมืองได้มารวมเที่ยวและร่วมบุญในชุมชนบ้านเรา  เพื่อลิ้มรสหลามเหนียวของตําบลหัวตะพานและเป็นการรวมกลุ่มพี่-น้องให้มาพบเจอกันด้วย
การทำบุญใส่ข้าวโบสถ์เดือน 3 วัดแรกของจังหวัดนครศรีธรรมราชคือ วัดสโมสร คิดค้นโดยพระอธิการเสน.สุวรรณโณ. อดีตเจ้าอาวาสวัดสโมสรรูปที่ 1 วัดต่างๆ ก็ทําตามจนถึงทุกวันนี้
อ้างอิงโดย : คุณแม่นับ พนาลี เป็นผู้บอกเล่าประวัติ ผ่านเจ้าอาวาสวัดสโมสร

เดือนสามหลามเหนียว

ความหมายของคำว่า "เหนียวหลาม"

เหนียวหลาม ก็คือ ข้าวหลามในภาษากลาง มีชื่อเรียกได้หลายอย่าง เช่น ข้าวหลาม หลามเหนียว เหนียวหลาม เป็นการนำข้าวเหนียวพร้อมส่วนผสม มาเผาโดยใช้ถ่านเผา หรือไมฟืน โดยมีผู้ที่ชำนาญในการย่างข้าวหลาม และปัจจุบันยังอนุรักษ์วัฒนธรรมการเผาที่มีลักษณะดั้งเดิมที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จึงถือได้ว่าเป็นจุดเด่นของภูมิปัญญาท้องถิ่น ในแถบอำเภอท่าศาลา

ส่วนประกอบสำคัญในการทำข้าวหลาม

         ในสมัยก่อนอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ทำในการทำข้าวหลาม จะใช้แรงงานคนทำทั้งหมด  เช่น ใช้เลื่อยไปตัดไม้ไผ่ที่เป็นลำจากดงไม้ไผ่  หลังจากนั้นนำมาเลื่อยให้เป็นกระบอก ส่วนมะพร้าวขูดมือด้วยกระต่าย คั้นกระทิด้วยมือ แต่ปัจจุบันมีจะมีอุปกรณ์ทุ่นแรง หรือเครื่องมือทันสมัยมาช่วยอำนวยความสะดวก เช่น เลื่อยไฟฟ้าที่ใช้สำหรับตัดกระบอกไม้ไผ่ เครื่องขูดมะพร้าวไฟฟ้า เครื่องคั้นกะทิไฟฟ้า เป็นต้น แต่รสชาติของเหนียวหลามยังคงเดิม 

วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้

    ในการหลามเหนียวแต่ละครั้งจะใช้เวลามาก ตั้งแต่กระบวนการหาส่วนประกอบ  จนกระทั่งเสร็จเรียบร้อย ประกอบไปด้วย

  1. ไม้ไผ่ ที่นำมาหลามเหนียว มีหลายประเภท เช่น ไม้ไผ่บ้าน ไม้ไผ่เถื่อน ไม้ไผ่กำหยัน แต่ต้องคัดเลือกไม้ไผ่ที่ไม่อ่อนและไม่แก่จนเกินไป เพื่อให้มีเยื่อเหนียว หรือที่เราเรียกว่า “เจียก”  เมื่อผ่าออกมาแล้วหุ้มติดข้าวหลาม สวยงาม เม็ดข้าวเหนียวไม่ติดมือ  และที่สำคัญช่วยให้มีรสชาติอร่อย

ไม้ไผ่

2. ทางสาคูเอามาหั่นเป็นท่อนๆ  ยาวประมาณ 5 นิ้ว  สำหรับเป็นจุก กันไม่ให้ข้าวเหนี่ยวและน้ำกะทิไหลออกมา

3. ใบตอง  ใช้สำหรับห่อทางสาคูที่ตัดเป็นท่อนไว้ทำจุกปิดกระบอกข้าวหลาม เพื่อไม่ให้ข้าวหลามติดทางสาคู

ใบตอง

 

 

  1. เตาเผาข้าวหลาม จะต้องทำเป็นเตา โดยการขุดดินให้เป็นร่องยาวพอประมาณใช้ไม้วางตามแนวยาวของเตาสำหรับไว้พิงกระบอกข้าวหลาม ซึ่งสามารถวางข้าวหลามที่จะเผาได้ทั้งสองข้างในลักษณะตั้งกระบอกขึ้นหัวจุกชนกัน
  2. เชื้อเพลิงที่ใช้เผาข้าวหลาม เช่น ถ่านไฟ
เดือนสามหลามเหนียว

ส่วนผสม

 ส่วนผสมประกอบไปด้วย

  1. ข้าวเหนียวขาว หรือขาวเหนียวดำก็ได้
  2. ถั่วดำ
  3. มะพร้าว
  4. น้ำตาลทราย
  5. เกลือ
  6. น้ำสะอาด

วิธีทำ

วิธีทำข้าวหลาม  มีขั้นตอนการทำดังนี้

  1. เลื่อยไม้ไผ่ที่เป็นลำออกเป็นกระบอกยาวพอประมาณโดยใช้ส่วนบน (สำหรับใส่ข้าวเหนียว) กับส่วนล่าง (ใต้ปล้องลงมา) ยาวเท่าๆ กันพอประมาณ เก็บใส่กระสอบมัดให้เรียบร้อยกันมดหรือแมลง
ไม้ไผ่

2. แช่ข้าวเหนียวไว้ประมาณ 2 ชั่วโมงเมื่อได้ที่แล้วยกขึ้นให้สะเด็ดน้ำอย่างเบามือเพื่อไม่ให้เมล็ดข้าวสารหัก

3. นำเมล็ดถั่วดำที่แช่น้ำและต้มสุกแล้วมาผสมกับข้าวเหนียว ถ้าไม่ใส่เมล็ดถั่วก็นำข้าวเหนียวมา     กรอกใส่กระบอกไม้ไผ่ได้เลย

นำข้าวเหนียวที่ผสมเมล็ดถั่วดำกรอกลงในกระบอกไม้ไผ่ กะปริมาณให้พอดีเมื่อข้าวเหนียมเริ่มสุขจะได้เนื้อข้าวเหนียวกับจุกพอดี

4. คั้นกะทิ ปรุงรสด้วยน้ำตาล และเกลือตามสูตรที่กำหนด โดยชิมให้ได้รส หวาน มัน เค็ม พอดี ข้าวหลามจะอร่อยมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับสัดส่วนเครื่องปรุงของแต่ละคน แล้วนำน้ำกะทิใส่ลงในกระบอกข้าวไม้ไผ่ที่มีข้าวเหนียวอยู่แล้วให้ท่วมข้าวเหนียวเล็กน้อย ถ้าใส่น้ำกะทิมากเกินไปข้าวเหนียวจะแฉะ และถ้าใส่น้ำกะทิน้อยเกินไปข้าวเหนียวจะแข็ง

5. นำจุกที่ทำไว้มาอุดให้แน่นเพื่อไม่ให้น้ำกะทิไหลออกแล้วตั้งพักไว้

5. ก่อนเผาข้าวหลามต้องจุดไฟด้วยถ่านทิ้งไว้ประมาณ 30 นาทีเพื่อให้ถ่านไฟคุทั่วกันแล้วนำข้าวหลามที่ปิดจุกไว้มาเรียงเป็นแนวตั้งทั้ง 2 ฝั่งเตา คอยควบคุมความร้อนโดยหมุนกระบอกข้าวหลามตลอดเวลาไม่ให้กระบอกไหม้ ใช้เวลาในการเผาประมาณ 2 ชั่วโมง ข้าวหลามจะสุกพอดี พักไว้ให้เย็น

6. การตกแต่งข้าวหลาม เมื่อข้าวหลามเย็นแล้วนำมีดมาปอกเปลือกชั้นนอกสีเขียวของไม้ไผ่ออกให้หมดเพื่อให้สะอาด พร้อมที่จะเอาไปทำบุญที่วัดที่เหลือก็รับประทาน 

เดือนสามหลามเหนียว
เดือนสามหลามเหนียว

จะเห็นได้ว่าข้าวหลามเป็นของกินเล่น พื้นบ้านที่อร่อย  แต่วิธีการทำ ส่วนผสม จะต้องมีเทคนิคและความชำนาญ  รวมถึงแต่ละขั้นตอนการทำนั้นจะต้องใช้เวลาทั้งนั้น แต่เมื่อเทียบกับรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของคนใต้  ก็สมกับที่รอคอยเวลาให้ข้าวหลามสุก พร้อมไปทำบุญ และแบ่งปันให้ญาติและเพื่อนบ้านกันทีเดียว

หาอ่านเรื่องเดียวกัน เดือนสาม หลามเหนียว ใส่ข้าวโบสถ์ ได้ที่นี่ 

และนอกจากชาวบ้านในอำเภอท่าศาลาที่ดำรงประเพณี เดือนสามหลามเหนียว ใส่ข้าวโบสถ์แล้ว ในอำเภอใกล้เคียงกัน  เช่น อำเภอพรหมคีรี ก็ยังคงสืบสานประเพณีนี้เช่นเดียวกันอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน   แต่อาจจะมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบไปบ้าง เข่น การจัดริ้วขบวนแห่ข้าวหลาม พิธีทอดผ้าป่าเพื่อสมทบทุนสร้างโบราณสถาน โบราณวัตถุ หรือปรับปรุงวัด พิธีฉลองข้าวหลาม และถวายข้าวหลามแก่พระสงฆ์-สามเณร ถวายสังฆทานจากวัดต่าง ๆ ด้วย เป็นต้น  สามารถอ่านเนื้อหาเดียวกันนี้  ได้ที่นี่ 

Visits: 1191

Comments

comments

This Post Has One Comment

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.