จักสาน : จากภูมิปัญญาสู่วัฒนธรรมร่วม

จักสาน : จากภูมิปัญญาสู่วัฒนธรรมร่วม

จักสาน หรือเครื่องจักสานมีมานาน มีหลักฐานว่ามีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ และจนถึงปัจจุบันก็ยังใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน ภูมิปัญญาการใช้วัสดุจากธรรมชาติ มาถัก ทอ สาน เป็นภาชนะ เครื่องมือ เครื่องใช้ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน ลักษณะ รูปร่าง ขึ้นรูป ต่างกันไปตามลักษณะการใช้งาน ของแต่ละท้องถิ่น แต่ละอาชีพ รูปร่าง ลวดลาย และวัสดุ แตกต่างกัน ทำให้เครื่องจักสานแต่ละท้องถิ่นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

ประเภทเครื่องจักสาน

  1. เครื่องมือประกอบอาชีพ เกษตรกรรม
  2. เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ในครัวเรือน
  3. เครื่องมือล่าสัตว์ เครื่องมือจับสัตว์น้ำ
  4. เครื่องมือ เครื่องใช้ในพิธีกรรม

--จักสาน : ที่บ้านฉัน @NST

กลุ่มจักสานคลุ้มบ้านทุ่ง

ชุมชนที่ประกอบอาชีพนี้ คือกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จักสานคลุ้มบ้านทุ่งใน ในอำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นชุมชนสร้างสรรค์ เพื่อพัฒนาพืชต้นน้ำ “ต้นคลุ้ม” ด้วยแนวคิดใช้ทุนน้อยผลตอบแทนคุ้ม ด้วยการสร้างของใช้ประเภท จักสาน ที่ทำมาจากต้นคลุ้ม ที่มีคุณสมบัติ

  • ปลูกได้ดีในพื้นที่ลาดเชิงเขา สามารถปลูกในสวนยางพารา สวนผลไม้ได้โดยไม่ต้องโค่นต้นไม้ ปรับพื้นที่ เพื่อปลูกคลุ้ม
  • พืชคลุมหน้าดิน ป้องกันการกัดเซาะตลิ่ง การพังทลายของดิน อุ้มน้ำสร้างความชุ่มชื้นให้กับดิน และดูดซับสารเคมี
  • ลักษณะเด่นของเส้นคลุ้ม คือความเหนียว ทน ใช้ได้นาน ไม่ขึ้นรา ไม่เป็นมอด ปลอดสารเคมี และรักษ์สิ่งแวดล้อม
  • ลำต้นตรง ไม่มีข้อ สีสวย เหนียว ทน ชุมชนสร้างสรรค์เครื่องจักสาน ประณีต งดงาม มีเอกลักษณ์ สร้างรายได้

คลุ้ม พืชพื้นถิ่นขึ้นในพื้นที่อำเภอนบพิตำ เป็นพืชยืนต้นชนิดเดียวกับคล้า ต่างกันที่ 

  • คล้าขึ้นในที่ลุ่ม ใกล้น้ำ เนื้ออ่อน มักนำมาสานเป็นเสื่อ สาด 
  • คลุ้มขึ้นตามเนินเขา ไกลน้ำได้ เนื้อเหนียว แข็ง ทน นิยมสานเป็นวัสดุใช้สอย

อ่านเรื่องเดียวกัน ได้ที่นี่

นอกจากนี้คุณค่าของ “คลุ้ม” พืชพื้นถิ่นมีศักยภาพในการสร้างความสมดุลทางระบบนิเวศให้กับผืนป่าต้นน้ำ ช่วยดักตะกอน ดูดซับสารเคมีในแหล่งน้ำ กักเก็บน้ำ ลดการกัดเซาะและการพังทะลายของหน้าดิน โดยเฉพาะบริเวณป่าเชิงเขาที่มีความลาดชันสูง รู้คุณ รู้ค่าพร้อมอนุรักษ์ผืนป่าต้นน้ำ ควบคู่ไปกับงานอาชีพ งานจักสานจากภูมิปัญญาชาวบ้าน จักสานคลุ้ม บ้านทุ่งใน อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช หนึ่งการเลือกซื้อคือแรงหนุนรักษาป่าต้นน้ำ
คลุ้ม

ที่อยู่:

จักสานบ้านทุ่งใน 188/1 หมู่ 8 ตำบลนบพิตำ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช

มะพร้าว พืชเศรษฐกิจ พบได้ทั่วไป  และหากชุมชนมีต้นมะพร้าวเป็นพืชเศรษฐกิจ นอกจากจะใช้ประกอบอาชีพแล้ว ยังสร้างสรรค์งานจากทางมะพร้าว มาใช้ประโยชน์ด้วยการเป็นของใช้ ของประดับได้อีกทาง เช่น สานทางมะพร้าวเป็นภาชนะ หลังคา ฝาบ้าน สานเพื่อประดับตกแต่ง หรือแม้กระทั่งห่อผลผลิตทางการเกษตร เป็นวิถีชุมชน ที่มีให้เห็นเป็นปกติทั่วไป เคยใช้บ้าง ทำเป็นบ้าง  ผลิตภัณฑ์อีกอย่างที่มาจากการสร้างสรรค์จากทางมะพร้าว ที่มีลักษณะแปลก ตั้งแต่ชื่อเรียก ยันการใช้งาน 

โคระ

โคระ

“โคระ” คืออะไร?  โคระ เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่เกิดจากการนำทางมะพร้าวสด นำมาสานลายให้ชัด และนำมาเป็นภาชนะ สำหรับใช้ห่อพืชผลทางการเกษตร เช่น ขนุน จำปาดะ และผลไม้อื่น ๆ ตามถนัด ใช้เพื่อป้องกันหนอน แมลง ศัตรูพืช ทำให้ผลไ่ม้ เช่น ขนุนที่ห่อด้วยโคระ จะมีสีสวยไม่เป็นแผล

1. วิธีการใช้งาน 

  • ห่อขนุนทางปาก
  • ใช้เถาวัลย์ผูกช่วยรั้งโคระให้ติดอยู่กับขนุน โคระใช้ได้ครั้งเดียว
  • เริ่มห่อตอนทางมะพร้าวเขียว ใบแห้งสีน้ำตาล ขยายขนาดตามผลขนุน เมื่อทางมะพร้าวเริ่มแห้งเปื่อย ผลขนุนก็สุกพอดี
  • ฉีกโคระเอาขนุนออกมาได้ง่าย ทิ้งโคระไว้ใต้โคนขนุนเป็นปุ๋ยธรรมชาติต่อไป

2. จุดเด่น:
       สิ่งที่น่าสนใจของ โคระ นอกจากจะเป็นชื่อที่ส่งผลต่อความอยากรู้ของคนทั่วไปแล้ว ว่าคืออะไรกันแน่? แล้ว ยังเป็นการสร้างสรรค์เครื่องใช้ที่ สานจากทางมะพร้าว เพราะหาง่ายจากชุมชน สะดวก มีความเหนียว แต่รูปร่างยืดหยุ่นได้ สามารถขยายรูปร่างและขนาดตามขนาดผลไม้ตามต้องการ

3. ส่วนประกอบ

  • ทางมะพร้าว
  • ก้านมะพร้าว สำหรับทำไม้กลัด 2 ก้าน
  • เถาวัลย์สำหรับร้อยพวงโคระ

4. วิธีทำ       

  • เตรียมทางมะพร้าวแก่พอดี
  • นำมาสับให้ได้ทางละ 2 ชิ้น  และสับต่อชื้นเล็ก ๆ อีกชื้นละ 5 ใบ

โคระ

  • หลังจากนั้นประกบทางมะพร้าวเข้าด้วยกัน
  • สานทางมะพร้าวเป็นลาย

      – ขั้นที่หนึ่ง สานลายขัดจนครบทั้ง 4 ใบ พลิกสานด้านตรงข้ามจนครบ

โคระ


    –
ขั้นที่สอง สานขัดจนครบทำเหมือนกับขั้นที่หนึ่ง

  • เมื่อสานเรียบร้อยแล้ว ให้รวบปลายสองด้านของทางมะพร้าว แล้วนำมาม้วนเพื่อผูกเป็นปม
  • เราจะได้โคระ 1 ลูกสำหรับเป็นภาชนะใส่ผลไม้ที่ต้องการ

โคระ

  • นำไปใช้งานได้ตามต้องการ เช่น ห่อขนุน เมื่อผลไม้สุก นำโคระทิ้งเป็นปุ๋ยให้ต้นไม้ต่อไปได้อีก

อ่านเรื่องเดียวกัน ได้ที่นี่

ชะ : ตะกร้าทางมะพร้าว

“ชะ” คืออะไร?  ชะ หรือตะกร้าที่ทำจากทางมะพร้าว เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่นำทางมะพร้าวมาสาน สำหรับใส่ผลไม้ หรืออื่น ๆ ตามความชอบ ถือเป็นบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก ทดแทนและลดการใช้พลาสติกได้เป็นอย่างดี

ชะ
  1. จุดเด่น:
    ผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์จากวัสดุธรรมชาติ ที่เรียกว่า “ชะ” มีความสวยงาม ประณีต ใช้ประโยชน์ได้หลากหลายและหาง่ายจากชุมชน สะดวก มีความเหนียว และเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทดแทนการใช้ถุงพลาสติกได้เป็นอย่างดี

2. ส่วนประกอบ

  • ทางมะพร้าว
  • ก้านมะพร้าว สำหรับทำไม้กลัด 2 ก้าน

3. วิธีทำ       

  • ตรียมทางมะพร้าวแก่พอดี
  • นำมาสับให้ได้ทางละ 2 ชิ้น  และสับต่อชื้นเล็ก ๆ อีกชื้นละ 8 ใบ

ชะ

  • หลังจากนั้นให้นำทางมะพร้าว 1 ทาง นำมาสานลายขัด 4 ใบบน-ล่าง 

ชะ

  • หักใบบนสานเข้ากับใบล่างทั้งสองด้าน ทำเหมือนกันทั้งสองอัน
  • แล้วนำทางมะพร้าวที่สาน 2 อันมาประกบกัน สานขั้นที่สอง สานลายขัดจนครบทั้ง 4 ใบ บน-ล่าง พลิกสานด้านตรงข้ามจนครบ

โคระ

  • ต่อจากนั้นให้นำทางมะพร้าวมาสานก้น  โดยสานเป็นลายขัดเก็บก้นตะกร้า เก็บปลายใบเข้าในตะกร้า ม้วนผูกปมให้เรียบร้อย
  • ขั้นที่สาม สานปากตะกร้า และสอดเก็บปลายใบ เก็บปลายไว้ในตะกร้าม้วนผูกปม 

ชะ

  • จะได้ผลิตภัณฑ์ ชะ 1 ใบ 

จักสาน คืองานฝีมือที่นำสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติมาประยุกต์ให้เป็นของใช้ที่มีสามารถใช้งานได้จริง และนอกเหนือจากการทำเป็นตะกร้า โคระ และ ชะ แล้ว เรายังดัดแปลงมาใช้งานอื่น ๆ ให้เกิดความสะดวกได้อีกหลายประเภท แต่หากจะนำมาสร้างสรรค์และเน้นการรักษ์โลกไปด้วยควบคู่กันไปแล้ว จะยิ่งเพิ่มมูลค่าของพืชธรรมดา ให้กลายเป็นพืชที่มีคุณค่าได้อีกมาก

ติดตามอ่านเรื่องเดียวกัน ได้ที่นี่

--จักสาน เป็นภูมิปัญญา เป็นวัฒนธรรม เป็นจิตวิญญาณ เป็นอัตลักษณ์ เป็นอะไรอีกมากมายของชุมชน เคยมีมา เคยใช้มา จะดีกว่าหากได้อนุรักษ์ สานต่อให้มีอยู่ และสืบต่อให้คนรุ่นต่อ ๆ ไปได้เห็น ได้ใช้ด้วย “เพราะวิถี และชุมชน … มีเราอยู่ในนั้น”--
จักสาน

Visits: 844

Comments

comments

This Post Has One Comment

  1. M.Asmarah

    รักษ์โลก รักราก รักวัฒนธรรม และรักบ้านเกิด

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.