ปั้นดินสู่ดาว : เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง

ปั้นดินเป็นดาว : เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง เป็นหัตถกรรมพื้นบ้านที่อยู่คู่กับชุมชนบ้านปากมะยิง อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเวลาหลายร้อยปี  ดังคำกล่าวที่ว่า

“ตั้งดินตั้งฟ้า ตั้งหญ้าเข็ดมอญ โมคลานตั้งก่อน เมืองคอนตั้งหลัง ข้างหน้าพระยัง ข้างหลังพระภูมิ ศรีมหาโพธิ์ เจ็ดโบสถ์แปดวิหาร เก้าทวารสิบเจดีย์”

ความเป็นมา

จากบทกลอนนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเก่าแก่ของบ้านโมคลาน ซึ่งจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ทำให้ทราบว่าชุมชนโบราณแห่งนี้มีเก่าแก่ประมาณ 4000-5000 ปีมาแล้ว (วัดโมคลาน (Wat Mokkhalan), 2019) ชุมชนโบราณแห่งนี้มีทั้งโบราณสถาน และโบราณวัตถุมากมาย มีภูมิปัญญาที่ตกทอดมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ด้วยลักษณะทางกายภาพที่มีแม่น้ำขนาดใหญ่ไหลผ่าน ซึ่งมีผลต่อการติดต่อการเดินทางไปมาหาสู่กัน ทั้งภายในชุมชนเอง และระหว่างชุมชนต่าง ๆ

โบราณสถานโมคลาน อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

ลักษณะที่ตั้งที่มีคลอง 2 สายไหลผ่าน ทั้งคลองมะยิง และคลองโต๊ะแนง (หัตถกรรมพื้นบ้าน เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง, 2563) ส่งผลต่อวิถีชีวิต และการประกอบอาชีพของผู้คนในชุมชน ซึ่งคลองทั้ง 2 สาย เป็นแหล่งทรัพยากรและวัตถุดิบที่สำคัญ ทั้งในด้านการประกอบอาชีพที่อิงอาศัยกับคลองทั้ง 2 สาย ไม่ว่าจะเป็นการทำนา การทำสวนยางพารา การทำสวนมะพร้าว การทำสวนผลไม้ และการทำเครื่องปั้นดินเผา (วัดโมคลาน (Wat Mokkhalan), 2019)

“บ้านมะยิงทำหม้อ เกาะยอทำเบื้อง” (วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช และ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม, 2563) เป็นคำกล่าวตั้งแต่โบราณ ที่สะท้อนให้เห็นถึงประวัติอันยาวนานของการทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงเป็นวิถีการประกอบอาชีพของชาวบ้านในชุมชน ที่มีมายาวนาน อยู่คู่โมคลานมาตั้งแต่ในอดีต และสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
นางจำเป็น รักษ์เมือง หรือป้าเอียด

จากการสัมภาษณ์นางจำเป็น รักษ์เมือง หรือป้าเอียด ซึ่งอาศัยอยู่บ้านเลขที่ 18 หมู่ 6 ต.โพธิ์ทอง อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ข้อมูลที่ได้ ทำให้ทราบว่า ได้มีการทำเครื่องปั้นดินเผามาตั้งแต่ในอดีต แต่มีบางช่วงที่ได้หยุดทำเครื่องปั้นดินเผา เนื่องจากไม่มีผู้รับช่วงต่อ จนกระทั่งป้าเอียดได้เข้ามาศึกษา และสานต่อความรู้ในการทำเครื่องปั้นดินเผา การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงจึงได้รับการฟื้นฟูใหม่

ทรัพยากรในการทำเครื่องปั้นดินเผาในปัจจุบัน มีการเปลี่ยนแปลงแหล่งวัตถุดิบ เนื่องจากในปัจจุบัน ดินเหนียวจากแหล่งเดิมไม่เพียงพอ และพื้นที่ที่เป็นแหล่งวัตถุดิบเดิมถูกน้ำไปใช้ในการปลูกปาล์ม จึงต้องมีการซื้อดินเหนียวจากแหล่งใหม่ เช่น จากบ้านบ่อนนท์

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
ดินเหนียวสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง

จุดเริ่มต้น

         การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง ทำกันมานานกว่า 100 ปี (วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช & สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม, 2563) โดยการทำเครื่องปั้นดินเผาในสมัยโบราณ เน้นการทำภาชนะที่ใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น หม้อสำหรับหุงข้าว ทำแกง หม้อใส่น้ำ หม้อต้มยา กระถางต้นไม้ แจกัน (เครื่องปั้นดินเผาและเตาเผาพื้นเมือง ในภาคใต้) แต่ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ โดยเพิ่มลักษณะชิ้นงานให้มีความหลากหลายมากขึ้น และปรับให้เข้ากับความต้องการของตลาด เพิ่มผลิตภัณฑ์ขนาดเล็ก เพื่อจำหน่ายเป็นของที่ระลึก (ธีรภัทร อินทะวงศ์, 2563) การผลิตเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงในปัจจุบัน ได้รับการสนับสนุน และส่งเสริมทั้งในด้านการผลิต การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการจำหน่าย โดยหน่วยงานต่างๆ ทั้งมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทำให้รูปแบบชิ้นงานมีความหลากหลายมากขึ้น มีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต ทำให้สามารถผลิตสินค้าได้มากขึ้นในระยะเวลาที่น้อยลง มีช่องทางการขายที่หลากหลาย ทั้งการขายหน้าร้าน การขายส่ง และการขายผ่านทางช่องทางโซเชียลมีเดีย (ศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง)  การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง มี 4 ขั้นตอน (ธีรภัทร อินทะวงศ์, 2563) คือ

วิธีการทำ

การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง มี 4 ขั้นตอน (ธีรภัทร อินทะวงศ์, 2563) คือ

  1. การเตรียมวัตถุดิบ หรือเตรียมดิน
เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
ดินเหนียวสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง

2. การปั้นขึ้นรูป

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
การปั้นดินเผาบ้านมะยิง

2. การตกแต่ง

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
การปั้นดินเผาบ้านมะยิง

4. การเผา

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
เตาเผาสำหรับเผาเครื่องปั้นดินเผา

การเตรียมวัตถุดิบ

      การเตรียมวัตถุดิบ (หรือเตรียมดิน) เป็นการเตรียมวัตถุดิบซึ่งประกอบด้วย ดินเหนียว ทราย และน้ำ เพื่อเตรียมพร้อมในการทำเครื่องปั้นดินเผา ดินเหนียวในอดีตจะได้มาจาก “ทุ่งน้ำเค็ม” แต่ในปัจจุบัน ได้มีการซื้อมาจากนอกพื้นที่ เช่น จากบ่อนนท์ หรือจากอำเภอลานสกา โดยดินจากอำเภอลานสกาจะเป็นดินเหนียวมีสีดำ ดินจากนอกพื้นที่จะซื้อมาทีละคันรถ เอามาพักไว้ในในโรงเรือน เพื่อรอการเตรียมดิน (ธีรภัทร อินทะวงศ์, 2563) ในส่วนของทรายที่ใช้ผสม ปัจจุบันก็ซื้อมาจากนอกพื้นที่เช่นกัน โดยลักษณะเด่นของเครื่องปั้น ดินเผาบ้านมะยิง จะใช้ทรายเป็นส่วนผสม ไม่ได้ใช้แกลบเป็นส่วนผสมซึ่งต่างจากการทำเครื่องปั้น ดินเผาที่อื่น (หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา) เมื่อได้วัตถุดิบที่ต้องการครบแล้ว ก็นำไปสู่ขั้นตอนการหมักดิน โดยนำวัตถุดิบมาผสมกัน และทำการนวดดิน โดยสัดส่วนของวัตถุดิบจะขึ้นอยู่กับความชื้นของดิน และในปัจจุบันการนวดดินก็เปลี่ยนมาใช้เครื่องนวดดิน (วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช & สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม, 2563) ทำให้ช่วยทุ่นแรง และทำงานได้สะดวกมากขึ้น

        การเตรียมดินในปัจจุบันได้มีการประยุกต์นำเครื่องจักรสมัยใหม่เข้ามาใช้งานมากขึ้น ช่วยทุ่นแรง และลดการใช้แรงงานคน ทำให้สามารถทำเครื่องปั้นดินเผาได้ปริมาณที่มากขึ้น ใช้เวลาน้อยลง และใช้แรงงานคนน้อยลง  

การปั้นขึ้นรูป

          การปั้นขึ้นรูป การทำเครื่องเผาบ้านมะยิงมีการขึ้นรูป 2 แบบ คือการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุน ใช้สำหรับทำภาชนะขนาดเล็ก เช่น หม้อ แจกัน  และการขึ้นรูปแบบขด สำหรับการทำภาชนะขนาดใหญ่ เช่น กระถางขนาดใหญ่ โอ่ง (วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช & สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม, 2563) การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง ปัจจุบันเน้นการทำชิ้นงานขนาดเล็ก ส่วนชิ้นงานขนาดใหญ่ เนื่องจากประสบปัญหาในการจัดจำหน่าย จึงเน้นการผลิตตามความต้องการของผู้ซื้อ ดังนั้นการปั้นขึ้นรูปในปัจจุบันก็เป็นการขึ้นรูปด้วยแป้นหมุนเป็นส่วนมาก เป็นแป้นหมุนที่ใช้พลังงานไฟฟ้าในการทำงาน สามารถขึ้นรูปได้รวดเร็ว สามารถผลิตชิ้นงานได้จำนวนมากในเวลาที่รวดเร็วขึ้น โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติสถานการณ์โควิดที่ผ่านมา ชิ้นงานประเภทกระถางปลูกต้นไม้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก สามารถสร้างรายได้ให้กับผู้ผลิตเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงได้จำนวนมาก

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
การปั้นเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง

การตกแต่งชื้นงาน

การตกแต่งชิ้นงานในการทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง เมื่อขึ้นรูปชิ้นงานเสร็จก็จะมีการนำไปตากเพื่อให้ดินหมาด และมีการเก็บรายละเอียด ตกแต่งชิ้นงานตกแต่ง และตีลายให้สวยงาม เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงไม่มีการระบายสี หรือเคลือบชิ้นงานเพื่อตกแต่งชิ้นงาน ใช้การสร้างลายเพื่อตกแต่งชิ้นงาน โดยการสร้างลายมี 4 วิธี (ธีรภัทร อินทะวงศ์, 2563) คือ

  1. การขูดขีดลาย
  2. การฉลุลาย
  3. การกดลาย
  4. การตบตีลาย

รูปแบบชิ้นงานและการตกแต่งในปัจจุบัน จะใช้ลูกกลิ้งสำหรับกลิ้งลาย ทำให้ได้ลายที่สวยงาม และ รวดเร็ว การขึ้นรูปชิ้นงาน และการตกแต่งชิ้นงาน มีความรวดเร็วมากขึ้น ทำให้ได้ชิ้นงานปริมาณมาก ในระยะเวลาอันสั้น สามารถส่งขายได้ทันกับความต้องการของตลาด โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตโควิด-19 ความต้องการเครื่องปั้นดินเผาประเภทกระถางปลูกต้นไม้ ตลาดมีความต้องการสูงมาก สามารถขายสินค้าได้จำนวนมาก เป็นรายได้หลักที่ทำให้สมาชิกในกลุ่มได้มีรายได้มาเลี้ยงดูครอบครัว

การเผา

    การเผา การเผาเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง เป็นการเผาดิบ ไม่ใช่การเผาเคลือบ  (วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช และ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม, 2563) ก่อนการเผาจะต้องมีการไหว้สังเวยเตาเผา เนื่องจากเป็นความเชื่อที่สืบต่อกันมา ถ้าหากไม่มีการไหว้สังเวยเตาก่อนเผา จะทำให้เครื่องปั้นดินเผาแตกเสียหาย โดยเตาเผาในอดีต จะใช้วิธีการขุดโพรงเข้าไปในจอมปลวก เพื่อทำเตาเผา แต่ในปัจจุบันพัฒนามาเป็นการสร้างเตาเผาโดยการก่อจากอิฐ  (ธีรภัทร อินทะวงศ์, 2563) เตาเผาในปัจจุบันมีความแข็งแรงสามารถใช้งานได้นานกว่า 10 ปี ในส่วนของเชื้อเพลิงที่ใช้ ใช้ไม้ยางพารา และเปลือกมะพร้าว โดยเปลือกมะพร้าวที่ใช้จะส่งผลต่อสีของชิ้นงานที่ได้ สัดส่วนของเปลือกมะพร้าวแห้งและเปลือกมะพร้าวสด จะทำให้ได้สีชิ้นงานที่แตกต่างกัน และเป็นเอกลักษณ์ของเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง (จำเป็น รักษ์เมือง 2566)

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
กาบมะพร้าว เชื้อเพลิงสำหรับทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง

การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงในปัจจุบัน มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็น กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้าน มะยิง มีเจ้าหน้าที่เข้ามาแนะนำในเรื่องของการดำเนินงาน มีเงินทุนในการดำเนินงาน และมีการช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม ในเรื่องค่าใช้จ่าย และการให้ความรู้ในการทำเครื่องปั้นดินเผา มีการแบ่งงานในเรื่องการผลิตสินค้า และดูแลในส่วนของการควบคุมราคาขายเพื่อป้องกันการตัดราคาของสมาชิกในกลุ่ม

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
ความรู้ในการทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง

ผลิตภัณฑ์เครื่องปั้นดินเผา

        การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง เป็นวิถีชีวิตที่สืบทอดกันมาจากรุ่นสู่รุ่น เป็นอาชีพที่ใช้หาเลี้ยงครอบครัว และช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกได้มีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ได้มีความรู้ ได้มีการศึกษาที่สูงๆ ลูกหลานสามารถเรียนจบปริญญา สมดังคำกล่าวของป้าเอียดที่ว่า “ปั้นดินให้เป็นดาว”

เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง
เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง

 

ข้อมูลอ้างอิง

 

เครื่องปั้นดินเผาและเตาเผาพื้นเมือง ในภาคใต้.  https://www.tungsong.com/NakhonSri/manufacture/%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B9%88%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%9B%E0%B8%B1%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%A5%E0%B8%B0%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%9C%E0%B8%B2%E0%B8%9E%E0%B8%B7%E0%B9%89%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87%20%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%84%E0%B9%83%E0%B8%95%E0%B9%89.doc

จำเป็น รักษ์เมือง (2566). การทำเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง [Interview].

ธีรภัทร อินทะวงศ์. (2563). การศึกษาและพัฒนาอัตลักษณ์กลุ่มอาชีพเครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิงเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีชุมชน มหาวิทยาลัยศิลปากร]. นครปฐม.

วัดโมคลาน (Wat Mokkhalan). (2019).  https://clib.psu.ac.th/southerninfo/content/1/6521da71

วิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช, & สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม. (2563). การจัดการความรู้ด้านการจัดการเรียนการสอน ประจำปีงบประมาณ 2563 เรื่อง เทคนิคการจัดการเรียนการสอนโดยบูรณาการกับเครื่องปั้นดินเผาโมคลาน. http://media.bpi.ac.th/admin/attach/w2/f20220825112138_B8i6gMNb3r.pdf

ศูนย์การเรียนรู้เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง.  https://www.facebook.com/profile.php?id=100076293755635

หัตถกรรมเครื่องปั้นดินเผา.  Retrieved 13 มีนาคม from https://www.tungsong.com/NakhonSri/manufacture/machin_din/index_machin.html

หัตถกรรมพื้นบ้าน เครื่องปั้นดินเผาบ้านมะยิง. (2563).  Retrieved 13 มีนาคม from https://thaisynergy.org/2020/09/07/1758/

Visits: 2022

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.