หอพระพุทธบาทจำลอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร

สถานที่ตั้ง

พระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่ทางด้านทิศตะวันออกของพระมหาธาตุเจดีย์ และเขตพุทธาวาส ติดกับบริเวณที่จอดรถของวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

พระพุทธบาทจำลอง ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารเป็นศาสนสถานทางพระพุทธศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราชซึ่งผู้นำฝ่ายสงฆ์ คือ พระศิริธรรมมุนี (ม่วง) และผู้นำฝ่ายฆราวาส คือ พระยาตรังคภูมาภิบาล (ถนอม) ผู้ว่าราชการเมืองนครศรีธรรมราช ร่วมกับพุทธบริษัทได้สร้างขึ้นเพื่อสักการะบูชาตั้งแต่ครั้งพระพุทธเจ้าหลวง พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังครองราชย์อยู่ (สมพุทธ ธุระเจน, 2558, น. 15)

ความเข้าใจเกี่ยวกับพระพุทธบาท

“พระพุทธบาท” เป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธองค์อย่างหนึ่ง บางครั้งเรียกว่า “รอยพระพุทธบาท” และ บางครั้งเรียกง่ายๆ ว่า “ฝ่าพระบาท” เมื่อประเทศไทยรับพระพุทธศาสนาเข้ามา จึงรับเอาวัฒนธรรมเกี่ยวกับพระพุทธบาทเข้ามาปฏิบัติด้วย การรับพระพุทธศาสนา ซี่งกำเนิดในประเทศอินเดีย จากประเทศอินเดียสู่ประเทศไทยโดยตรงหรือผ่านทางลังกาและพม่า ทำให้ความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธบาทแตกต่างกัน ฝ่ายลังกาเชื่อว่าเป็นรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์ทรงประทับไว้ตามที่ต่างๆ จริง ตามตำนานอ้างว่า มีรอยพระพุทธบาทที่พระพุทธองค์เสด็จประทับไว้ 5 แห่ง ได้แก่ เขาสุวรรณมาลิก เขาสุวรรณบรรพต เขาสุมนกูฏ และหาดทรายในลำน้ำนัมมทานที แต่ทางอินเดียถือพระพุทธบาทเป็นสิ่งที่สร้างขึ้นไว้เคารพสักการะแทนพระพุทธองค์มาตั้งแต่ครั้งยังไม่มีการสร้างพระเจดีย์หรือพระพุทธรูป แม้เมื่อมีพระพุทธรูปแล้ว ก็ยังมีความนิยมสร้างพระพุทธบาทอยู่

พระพุทธบาทจำลองบางแห่งสร้างเป็นรอยพระพุทธบาทคู่ แต่ส่วนใหญ่เป็นรอยพระพุทธบาทเดี่ยว ถ้าเป็นพระพุทธบาทเดี่ยวจะเป็นพระพุทธบาทเบื้องขวา มีขนาดใหญ่กว่าพระพุทธบาทจริงเป็นอันมาก

ภายในฝ่าพระบาทจำลองจะสลักเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปพระพรหม เทวดา ปราสาท รูปช้าง ม้า แก้วแหวนเงินทองของมีค่าต่างๆ หมายความว่า ความเป็นพรหม เป็นเทวดา เป็นพระราชา และของมีค่าอื่นๆ ที่คนส่วนใหญ่ปรารถนา อยากจะเป็น อยากจะเอาไว้ครอบครองเอาเป็นของตนนั้น พระพุทธองค์ทรงเหยียบอยู่ใต้ฝ่าพระบาทหมดแล้วหรือยืนอยู่เหนือสิ่งเหล่านั้นทั้งสิ้น เรียกว่าทรงยืนอยู่เหนือความอยากเป็นนั่นอยากเป็นนี่ โดยประการทั้งปวง

พระองค์ทรงรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกสอนบุคคลที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยพระธรรม และทรงเป็นผู้จำแนกธรรมสั่งสอนของโลกอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์โดยสิ้นเชิง ไพเราะงดงาม ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด ด้วยพระหฤทัยอันบริสุทธิ์ เปี่ยมล้นด้วยพระมหากรุณาธิคุณอันหาประมาณมิได้ ชาวโลกทั้งหลายจึงกราบไว้บูชา แม้เพียงรอยพระบาทพระศาสดา นับเวลาผ่านมาสองพันห้าร้อยกว่าปีไม่มีเสื่อมคลาย และสืบต่อไปตราบนานเท่านาน ชั่วนิจนิรันดร

พระพุทธบาทในประเทศไทย มีกระจายอยู่ทุกภูมิภาคของประเทศ บางแห่งเชื่อว่า เป็นรอยพระพุทธบาทของพระองค์จริงๆ โดยสร้างเป็นตำนานย้อนไปถึงครั้งพุทธกาล เช่น พระพุทธบาทที่สระบุรี พระพุทธบาทตากผ้าที่จังหวัดลำพูน และพระพุทธบัวบกที่จังหวัดอุดรธานี และบางแห่งมีหลักฐานชัดเจนว่านำมาจากพุทธคยา ประเทศอินเดีย เช่น พระพุทธบาทจำลองที่เกาะสีชัง เป็นต้น

พระพุทธบาทในประเทศไทย โดยทั่วไปสร้างขึ้นเป็นวัตถุที่เคารพสักการะแทนพระพุทธรูป มิได้อ้างว่าพระพุทธองค์ ได้ทรงเหยียบรอยพระพุทธบาทไว้ เช่น พระพุทธบาทจำลองที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารที่จังหวัดนครศรีธรรมราช (สมพุทธ ธุระเจน, 2558, น. 15-17)

ลักษณะของพระพุทธบาทจำลอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

มณฑปพระพุทธบาทจำลอง ตั้งอยู่บนเนินภายในบริเวณวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่ทางทิศเหนือของเขตพุทธาวาส มองเห็นได้ชัดเจนจากถนนราชดำเนิน มณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลองสร้างบนเนินดินรูปสี่เหลี่ยมมีกำแพงกั่นไว้อย่างมั่นคง ลักษณะของมณฑปเป็นอาคารคอนกรีตสี่เหลี่ยมหลังคาซ้อนเป็น 2 ชั้น หลังคาบนยอดสูง มีประตูเข้าออกทั้ง 4 ด้าน ไม่มีหน้าต่างแต่มีช่องลม ระดับหน้าต่างข้างละ 2 ช่อง เพดานเป็นไม้ มีสายประจำยามตกแต่ง ตรงกลางภายในมณฑปสร้างเป็นแท่นหินอ่อนรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ยาว 74 นิ้ว กว้าง 44 นิ้ว เป็นที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทจำลอง หันพระบาทไปทางทิศตะวันออก ด้านขวาและด้านซ้ายของพระพุทธบาทจำลอง มีคำจารึกถึงประวัติการสร้างและวัตถุประสงค์ไว้อย่างชัดเจน คือ

ด้านซ้ายมือ (ทิศเหนือ) ได้ลงมือทำพระพุทธบาทจำลองนี้ ในวันที่ 1 มกราคม รัตนโกสินทร์ 126 พระพุทธศาสนยุคกาลล่วงแล้ว 2450 ปีมะแม จุลศักราช 1269 นพศก ตรงกับเดือนอ้าย แรมสิบค่ำ วันพุธ พระศิริธรรมมุนี (ม่วง) พระครูกาแก้ว (สี) พระยาตรังคภูมาภิบาล (ถนอม) พร้อมด้วยผู้มีศรัทธาเป็นอันมากได้จำลองแผ่นศิลา ของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พร้อม)

ด้านขวามือ (ทิศใต้) มีคำจารึกไว้ที่รอยพระพุทธบาทว่า “รอยพุทธบาทนี้ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ เป็นที่นำมาซึ่งความเชื่อและความเลื่อมใสในพระพุทธเจ้าซึ่งดับขันธ์สู่พระนฤพานล่วงลับไปแล้วสู่กาลนาน กุศลอันยิ่งใหญ่ จงมีแก่ท่านทั้งหลายผู้เป็นศาสนิกชน ผู้ได้ทำการสักการะ ซี่งจะนำมาซึ่งความสุข และประโยชน์เกื้อกูล ให้สำเร็จวิบูลผลจนสิ้นกาลนาน” (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช, 2567)

ภายในรอยพระพุทธบาทจำลอง นอกจากแกะสลักเป็นนิ้วพระบาทแล้ว ได้แกะสลักเป็นตารางรวม มี 108 ตาราง แต่ละตารางสลักเป็นรูปต่างๆ เช่น พระพุทธรูป รูปครุฑ รูปช้างสามเศียร รูปพานพุ่ม รูปบาตรใส่พระคัมภีร์ ตรงกลางฝ่าพระบาทแกะสลักเป็นรูปกลมขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 28 เซนติเมตร ลักษณะคล้ายดอกไม้ (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช, 2567)

ซึ่งภายในรอยพระพุทธบาทของพระพุทธเจ้า ชาวบ้านเชื่อว่ามีลักษณะเป็นมงคล 108 ที่เรียกว่า “อัฏฐสตมงคล” ซึ่งพรรณนาไว้ปฐมสมโพธิกถาดังที่ ประยูร อุลุชาฏะ ได้กล่าวสรุปไว้ว่า มงคล 108 มีดังนี้

1.ทอง2.แว่นส่องพระพักตร์3.ดอกพุดซ้อน
4.สายสร้อย5.สังวาล6.ถาดทอง
7.ตั่ง8-9.มัจฉา10.ปราสาท
11.ขอ12.เศวตฉัตร13.พระขรรค์
14.บัดหางนกยูง15.พัดวาลวัชนี16.บาตร
17.ดอกมะลิ18.ดอกนิลอุบล19.ดอกบัวบาน
20.หม้อเต็มด้วยน้ำ21.ถาดเต็มด้วยน้ำ22-25.มหาสมุทรทั้ง 4
26.เขาจักรวาล27.ป่าหิมพานต์28.เขาพระสุเมรุ
29.พระจันทร์30.พระอาทิตย์31.หมู่ดาวนักขัตฤกษ์
32-35.ทวีปทั้ง 4 ทวีปน้อยทั้งพัน36.บรมจักรพรรดิทั้งราชบริพาร37.สังข์ทักษิณาวัตร
38.สุวรรณมัจฉา39.จักรวาล40-46.คงคาทั้งเจ็ด
47-53.สระใหญ่ทั้งเจ็ด54-60.เขาบริภัณฑ์ทั้งเจ็ด61.พญาครุฑ
62.จระเข้63.ธงชายธงผ้าทั้งผืน64.รัตนบัลลังค
65.เก้าอี้66.เขาไกรลาศ67.พระยาราชสีห์
68.ช้างเอราวัณ69.พระยาม้าพลาหก70.พระยาสุกรีนาคราช
71.พระยาหงส์72.ไก่เถื่อน73.อุสุภราช
74.พระยาช้างอุโบสถ75.พระยาช้างฉัททันต์76.มังกรทอง
77.มหาพรหมสี่หน้า78.เรือทอง79.เต่าทอง
80-81.แม่โคกับทั้งบุตร82.กินนรผู้83.นางกินรี
84.นกการะเวก85.นกกระเรียน86.นกยูง
87.นกจากพราก88.นกพริก 
89-92.ฉกามาพจรเทวโลกทั้ง 4 ชั้น93-108.โสฬสมหาพรหมทั้ง 16 ชั้น 
มงคล 108 ที่เรียกว่า “อัฏฐสตมงคล”

ชาวบ้านเชื่อกันว่ารอยพระพุทธบาทจำลองเป็นวัตถุแทนองค์พระพุทธเจ้า การได้กราบไหว้บูชารอยพระพุทธบาทจึงเปรียบเสมือนได้บูชาพระพุทธองค์ ซึ่งจะเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตที่จะดลบันดาลให้ประสบกับความสุขความเจริญตลอดไป ที่ใกล้บันไดทางขึ้นไปพระบาท มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ในซุ้มองค์หนึ่ง เรียกว่า “พระบุญมาก” ขนาดหหน้าตักกว้าง 3 ศอก 3 นิ้ว สูง 1 วา 12 นิ้ว เชื่อกันว่ามีความศักดิ์สิทธิ์มากสามารถบันดาลบุตรให้แก่ผู้ที่ไปขอได้ (พระครูสิริธรรมาภิรัต, 2554, น. 103-105)

รอยพระพุทธบาทจำลองที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารแห่งนี้ มีประวัติการสร้างมานับร้อยปีแสดงถึงความเลื่อมใสศรัทธาของผู้นำในการสร้างและพุทธศาสนิกชนทั่วไปในยุคนั้นได้มอบไว้เป็นมรดกของชาวพุทธในปัจจุบันและต่อไป ควรที่พุทธศาสนิกชนจะได้ไปสักการะบูชาเพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชีวิตสืบไป (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช, 2567)

จะเห็นได้ว่าหอพระพุทธบาทจำลอง เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อีกที่หนึ่งที่เหล่าพุทธศาสนิกชนทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมากมายที่มาเยือนวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช จะต้องแวะเวียนมากราบสักการะรอยพระพุทธบาทจำลองนี้เพื่อความเป็นสิริมงคลด้วยทุกครั้งไป

บรรณานุกรม

พระครูสิริธรรมาภิรัต. (2554). หอพระพุทธบาทจำลอง. ประวัติวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. กรุงเทพฯ : เม็ดทราย.

สมพุทธ ธุระเจน. (2558). พระพุทธบาทจำลอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร. สารนครศรีธรรมราช, 45(3),

(15-23).

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด. (2567). มณฑปพระพุทธบาทจำลอง วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร. สืบค้นเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567. จาก https://www2.m-culture.go.th/nakhonsrithammarat/ewt_dl_link.php?nid=1866

Series Navigation<< ศาลาศรีพุทธิสาร วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารจ.นครศรีธรรมราชพระอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าศรีธรรมโศกราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช >>

Views: 805

This entry is part 15 of 21 in the series วัดพระธาตุ

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.

วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร