วัดบูรณาราม

วัดบูรณาราม

ที่อยู่ : ตั้งอยู่ ณ  1375 ถนนราชดำเนิน ตำบล ท่าวัง อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช 80000

เนื้อที่ : มีเนื้อที่ทั้งหมด 19 ไร่ 54.7 ตารางวา โฉนดที่ดิน เลขที่ 7062 เล่มที่ 71 หน้าที่ 62 อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช จังหวัดนครศรีธรรมราช

นิกาย : มหานิกาย

ประเภทวัด : วัดราษฎร์

ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด : พุทธศักราช 1815

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : พุทธศักราช 1820

ประวัติ

วัดบูรณาราม เป็นวัดที่ตั้งอยู่ย่านเศรษฐกิจในตัวเมืองนครศรีธรรมราช และเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช  โดยสร้างขึ้นประมาณ 200 ปี เดิมชื่อ “วัดหัวหมฺรอ” เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดบุญนาราม” ในปี พ.ศ. 2470 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “บูรณาราม” เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2480 จนถึงทุกวันนี้

ประวัติวัดบูรณาราม น้อม อุปรมัย (2530, น. 32-35)  ได้กล่าวถึงเรื่องประวัติความเป็นมาของวัดบูรณารามไว้ว่า ในปี พ.ศ. 2141 ในรัชสมัยของสมเด็จพระนเรศวรมหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้พระยาศรีธรรมราชะเดชะ มาเป็นเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อรับมือโจรสลัดที่ยกกองทัพเรือมาจากเมืองยี่หน ( รัฐยะโฮร์ ประเทศมลายู มาเลเซียในปัจจุบัน) เที่ยวปล้นและโจมตีเมืองต่าง ๆ ทางริมฝั่งทะเลทั่วไป มีหัวหน้าชื่อ อุชงตนะ ได้แต่งตั้งให้ ลักปะมาหน่า เข้ามาโจมตีเมืองนครศรีธรรมราช ทหารเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ยกกองทัพออกไปตั้งรับที่ปากน้ำ ปากพญา โดยมี ขุนคำแหงปลักเมือง เป็นหัวหน้า ทหารเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช คาดคะเนกำลังของฝ่ายข้าศึกผิดไป ไม่นึกว่าข้าศึกจะยกมาเป็นขบวนทัพเรือเป็นจำนวนมาก เลยถูกตีแตกกระจาย หัวหน้าคือขุนคำแหงตายในที่รบ ณ ที่รอปากพญา แล้วแตกร่นเข้าเมือง ฝ่ายกองทัพโจรสลัดก็รุกไล่เข้ามาจนถึงตีนกำแพงเมือง ฝ่ายอุดรหรือทิศเหนือ ดังนั้นพระยาศรีธรรมราชะเดชะ จึงยกกองทัพออกต่อสู้ด้วยตนเอง โดยมารวมพลตั้งเป็นหน่วยรบขึ้น ณ ที่สาธารณะอันเป็นลานกว้างใหญ่ คือที่ตั้งของวัดบูรณารามในปัจจุบันนี้ เจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้คุมกำลังทหารขับไล่ข้าศึกออกทะเลไป

 

เมื่อปี พ.ศ. 2144 ได้ข่าวว่าพวกโจรสลัดคณะเดิมจะยกมาปล้นเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง สมเด็จพระนเรศวรมหาราชจึงโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งให้พระยารามราชท้ายน้ำมาเป็นเจ้าเมือง และให้ขุนเยาวราชเป็นปลัดเมือง เจ้าเมืองจึงได้เกณฑ์ประชาชนพลเมืองช่วยป้องกันบ้านเมือง ให้ขุดคูขวางกั้นข้าศึกมิให้ยกกองทัพเข้าถึงตัวเมืองนครศรีธรรมราช เหมือนกับครั้งก่อน โดยสร้างคูเมืองป้องกันเมืองถึง ๒ ชั้น เรียกว่าคูชั้นนอกและคูชั้นใน คูชั้นนอกขุดแยกจากคลองท่าซัก ใกล้กับปากน้ำปากพญาเป็นเส้นตรงไปทางทิศทักษิณไปบรรจบกับแม่น้ำปากนคร ปากทางแยกที่ขุดนั้น เดี๋ยวนี้มีชื่อว่าบ้านศาลาสี่หน้า คูชั้นในนั้นก็ขุดจากลำคลองท่าซักเหมือนกัน แต่ตอนนั้นอยู่ใกล้ตำบลท่าวัง จึงถูกเรียกว่า “คลองท่าวัง” ซึ่งความจริงก็เป็นลำคลองสายเดียวกับคลองท่าซัก ขุดตรงไปทางทิศทักษิณเหมือนกัน ไปบรรจบ “คลองคูพาย” ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำปากนคร คูชั้นในนี้อยู่ห่างจากคูชั้นนอกริมทะเลตะวันออกประมาณหนึ่งโยชน์

 

ในการขุดคูนั้น เจ้าเมืองให้พลเมืองมารวมพลกันที่ปากทางที่จะเดินออกไปยังที่ขุดก่อนเสมอ แล้วค่อยแยกย้ายกันออกไปขุด ที่รวมพลนี้ ชาวบ้านเรียกกันว่า “หัวหมฺรอ” เพราะมีคนมารวมกันมากทุกวันจนกว่าจะขุดคูเสร็จ โดยนัดหมายให้มาพบกันที่หัวหมฺรอ คูชั้นนอกเดี๋ยวนี้กลายเป็นคลอง เรียกว่า “คลองขุด” ส่วนคูชั้นในเรียกกันทั่วไปว่า “คูขวาง” คูทั้งสองนี้ตั้งอยู่ฝ่ายบูรพาหรือทิศตะวันออกของเมืองนครศรีธรรมราช

 

ในปี พ.ศ. 2171 ในปลายรัชสมัยของพระเจ้าทรงธรรม และเริ่มต้นรัชสมัยของสมเด็จพระเชษฐาธิราชแห่งกรุงศรีอยุธยา กองทัพโจรสลัดคณะเดิมมา นำโดยหัวหน้าคือ อุชงตนะ ยกมาโจมตีเมืองนครศรีธรรมราชอีก พระยารามราชท้ายน้ำก็ให้ตั้งค่ายคูฝ่ายอุดรหรือทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองนครศรีธรรมราช บริเวณริมคลองท่าซักเป็นส่วนใหญ่ เป็นระยะมาจนถึงคูขวางชั้นในจนถึงชานเมืองตั้งค่ายทหาร 2 แห่ง คือที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดชุมพูพล (ร้าง) เดี๋ยวนี้แห่งหนึ่ง และที่บ้านหัวหมฺรออีกแห่งหนึ่ง เจ้าเมืองแต่งตั้งกองทัพออกต่อสู้กับกองทัพโจรสลัด โดยแต่งเป็นกอง “เรือหุมเรือพาย” ถือพลประมาณห้าหมื่นเศษ ออกรบกับกองทัพโจรสลัดถึง 7 วัน 7 คืน เลือดไหลนองไปทั่วสนามรบ ซึ่งตั้งอยู่ที่ทุ่งหยาม ระหว่างแม่น้ำปากนครกับคลองท่าซัก ทั้งสองฝ่ายรบกันไม่ได้พักผ่อนนอนหลับ ต่างฝ่ายต่างเหนื่อยเพลียอิดโรย จนในที่สุดพระยารามราชท้ายน้ำถึงแก่ความตายในที่รบ ด้วยความอิดโรยอ่อนเพลียจนหมดแรงสิ้นลมหายใจไปเอง จุดที่ตายของพระยารามราชท้ายน้ำ อยู่ตรงทิศใต้ของวัดนาวงเดี๋ยวนี้ เมื่อเห็นข้าศึกอ่อนเพลียซบเซาลงมากแล้ว ขุนพัญจาแม่ทัพส่วนหน้าก็นำทหารออกหักทัพในเวลากลางคืน ตีฝ่ายกองทัพโจรสลัดที่รุกประชิดเข้ามาถึงวัดท่าโพธิ์จนสุดกำลัง หักโหมชนิดสุดแรงเกิดเป็นครั้งสุดท้าย จนกองทัพโจรสลัดแตกพ่ายหนีไม่เป็นกระบวน แต่ก่อนจะหลบหนีลงทะเลไปนั้น พวกโจรสลัดได้จุดไฟเผาวัดท่าโพธิ์จนพินาศสิ้น ฝ่ายพญาแก้วผู้เป็นหลานของพระยารามราชท้ายน้ำก็ได้นำศพพระยารามราชท้ายน้ำมาพักอยู่ที่บ้านหัวหมฺรอ แล้วตั้งการทำพิธีเผาศพกันที่หน้าเมืองเป็นการมโหฬารสมเกียรติชายชาติทหารของพระยารามราชท้ายน้ำ ผู้ทำการรบจนสุดใจขาดดิ้นแล้ว ภายหลังได้ไปก่อเจดีย์บรรจุอัฐิของพระยารามราชท้ายน้ำไว้ในวิหารพระธรรมศาลา ในวัดพระมหาธาตุเมืองนครศรีธรรมราช ต่อมาทางเทศบาลเมืองนครศรีธรรมราช ได้ตั้งชื่อถนนสายหนึ่งว่า “ถนนรามราชท้ายน้ำ” ตรงหน้าวัดมุมป้อม ซึ่งทหารของท่านได้ใช้เดินทัพไปตีกองทัพโจรสลัดในครั้งนั้นอีกทางหนึ่งด้วย วีรกรรมของพระยารามราชท้ายน้ำ ยังคงกล่าวขวัญถึงอยู่เสมอมา จนกระทั่งถึงวันนี้

 

กาลล่วงเลยมาถึงรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เจ้าพระยานครศรีธรรมาโศกราช (น้อย) คนทั่วไปเรียก “พระยานครน้อย” ซึ่งเป็นพระโอรสของสมเด็จพระเจ้าตากสินที่ได้เกิด แต่เจ้าจอมมารดาปรางสนมคนหนึ่งของพระเจ้าตากสิน ได้ดํารงตําแหน่งเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช ได้ยกกองทัพไปตีเมืองไทรบุรีซึ่งเป็นกบฏ หลังจากปราบเมืองไทรบุรีราบคาบแล้วก็ได้ แบ่งที่ที่รกร้างให้เป็นบําเหน็จ ความชอบแก่นายทหารที่ช่วยปราบกบฏรวมทั้งที่ “บ้านหัวหฺมฺรอ” ซึ่งเคยเป็นที่รวมพลทั้งของพลเรือนและทหารในอดีตส่วนหนึ่งด้วยเพื่อก่อสร้างบ้านเรือน และเป็นที่ทํากิน ครั้นถึง พ.ศ. 2371 เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (เจ้าพระยานครน้อย) จึงบูรณปฏิสังขรณ์วัดหลายแห่ง รวมทั้งสร้างวัดขึ้นใหม่อีกหลายวัด รวมทั้งวัดตามชื่อบ้านว่า “วัดหัวหฺมฺรอ” อีกวัดหนึ่งด้วย ต่อมาประมาณ พ.ศ. 2470 ในสมัยท่านพระครูกาเดิม เป็นเจ้าอาวาส ได้เปลี่ยนชื่อจาก “วัดหัวหฺมฺรอ” มาเป็น “วัดบุณนาราม” และพระครูไพศาลสาธุกิจ เจ้าอาวาสรูปถัดมาได้เปลี่ยนชื่อจาก “วัดบุณนาราม” มาเป็น “วัดบูรณาราม”จนกระทั่งถึงทุกวันนี้ (เฉลียว เรืองเดช, 2542, น. 4111)

ลักษณะเด่น

สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของวัดบูรณาราม คืออุโบสถ มีรูปทรงเรียบง่าย หลังคาทรงจั่วประดับประดาน้อย ทางเข้ามีประตูสองฝั่งซ้ายขวา

อุโบสถวัดบูรณารามถูกสร้างขึ้นในช่วงที่ระบบการก่อสร้างเริ่มเปลี่ยนแปลงจากระบบการขอแรงชุมชนและกำลังพระเณรร่วมกันทยอยสร้าง มาเป็นระบบรับเหมาก่อสร้างโดยช่างจีน โดยใช้เงินกัลปนาของวัดร่วมกับเงินที่ประชาชนและขุนนางร่วมกันสมทบจนสามารถสร้างสำเร็จลุล่วงได้

 

อุโบสถ

พระประธานในอุโบสถ หล่อด้วยโลหะทองสัมฤทธิ์

 

พระประธานในอุโบสถ

โบราณสถาน สถานที่ และสิ่งสำคัญภายในวัด

ใบเสมาคู่ ประดิษฐานอยู่ในบุษบกรูปแบบสถาปัตยกรรมพื้นถิ่น มีความหมายว่า สามารถบวชพระได้ทั้ง 2 นิกาย คือ มหานิกาย และ ธรรมยุติ

 

ใบเสมาคู่ ประดิษฐานอยู่ในบุษบก

ตู้ลายรดน้ำ

พระลาก

ข้อมูลอ้างอิง

เฉลียว เรืองเดช. (2542). บูรณาราม, วัด. ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคใต้. หน้า 4111. มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์.

น้อม อุปรมัย. (2530). ประวัติความเป็นมาของวัดบูรณาราม. ใน อนุสรณ์ในคราวรับพระราชทานแต่งตั้งสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นราช พระราชสิริสัฒน์ พิธีเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม พุทธศักราช 2530 ณ พระที่นั่งอัมรินทรวิอัมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง กรุงเทพมหานคร. หน้า 32-35. [ม.ป.พ.]

ภูมิ จิระเดชวงศ์. (2564). จากที่ตั้งหน่วยรบ “ หัวหมฺรอ ” สู่ วัดบูรณาราม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช ในปัจจุบัน. https://watsritawee.org/article-219/

Visits: 437

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.