วัดอินทคีรี (วัดบ้านนา) อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช

ถานที่ตั้ง       

ตั้งอยู่ที่ บ้านนา หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสามารถเดินทางจากเส้นทางถนนนครศรีฯ – พรหมคีรี จากทางแยกพรหมคีรี (สี่แยกน้ำแคบ) เข้ามาใช้เวลาประมาณ 15 นาที ก็จะถึงวัดอินทคีรี ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ตรงทางโค้ง และมีโรงเรียนชุมชนวัดอินทคีรี ตั้งอยู่ติดกันด้วย

ที่อยู่ของวัด      บ้านนา หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช 80320

นิกาย             สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย

ประเภทวัด       วัดราษฎร์

ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด : เมื่อปีพุทธศักราช 2375

ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : เมื่อปีพุทธศักราช 2470

เจ้าอาวาส        พระครูภาวนาโสภณ วิ. เตชปญฺโญ

(ญาณวุฒิ แก้ววิหค (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7), 2567)

ประวัติวัด

วัดอินทคีรี ตั้งอยู่ที่ บ้านนา หมู่ที่ 7 ตำบลบ้านเกาะ อำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช วัดแห่งนี้เป็นวัดเก่าแก่ อายุร่วม 200 ปี ตามจารึกบนแผ่นป้ายหน้าวัดระบุว่า “สร้างเมื่อปี พ.ศ.2375” วัดนี้นอกจากจะมีตำนานเกี่ยวกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแล้ว ยังเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ องค์ที่สองในเมืองนครศรีธรรมราชด้วย (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 210-211)

ในตำนานกล่าวว่า พระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชถูกนำมาเก็บไว้ที่วัดอินทคีรี ก่อนที่จะอัญเชิญไปประกอบพิธีปลงพระบรมศพในเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งตำนานดังกล่าว ได้มีกล่าวไว้ที่วัดอินทคีรีเท่านั้นที่ระบุว่า เก็บไว้ที่วัดอินทคีรี กล่าวคือ ภาพลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในตำนานวัดอินทคีรี มีลักษณะเป็นนักเดินทาง หรือนักผจญภัย มากกว่าภาพลักษณ์ของนักปกครอง ทำให้มีการผูกโยงเรื่องเล่าให้เข้ากับการออกเดินทางค้นหาพระพุทธสิหิงค์องค์ที่ประดิษฐานอยู่ที่วัดอินทคีรีในปัจจุบัน วัดนี้จึงเป็นวัดที่นักประวัติศาสตร์ให้ความสนใจอยู่ไม่น้อยเลย (ศานติ โบดินันท์, 2561, หน้า 429-430)

และจากรูปแบบทางศิลปะของแหล่งศิลปกรรมที่ปรากฏน่าจะอยู่ในพุทธศตวรรษที่ 12-14 และต่อเนื่องมาในสมัยทางอยุธยา จากการพบพระพุทธรูปศิลปะภาคใต้ ภายในวัดอินทคีรี สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวพุทธศตวรรษ ที่ 12-14 แหล่งศิลปกรรมวัดอินทคีรี ที่พบภายในวัด มีเมรุเผาศพ อุโบสถ กุฏิ หอพระ กระจัดกระจาย รอบบริเวณวัด (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 2556)

พื้นที่ต่างๆ ภายในวัดอินทคีรี

วัดแห่งนี้มีการจัดภูมิทัศน์ของวัดไว้อย่างเป็นระเบียบ ประตูทางเข้าวัดมีปูนปั้นรูปพญาครุฑ อยู่บริเวณด้านบนประตู และ มีท่านท้าวเวสสุวรรณ 2 องค์ ซ้ายขวา รักษาประตูดังกล่าว

“พระพุทธสิหิงค์องค์สีดำ” ตั้งเด่นเป็นสง่าอยู่ระหว่างศาลาการเปรียญ กับ อุโบสถหลังเดิมหลังเล็ก และ “กุฏิตึกอินทคีรีสมานคุณ ที่สร้างเมื่อ พ.ศ. 2530 ซึ่งเป็นอาคารที่เก็บรักษาพระพุทธสิหิงค์องค์สำคัญ (องค์ที่สองของเมืองนครศรีธรรมราช)” ไว้มายาวนานที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายต้องไปกราบสักการะเพื่อความเป็นสิริมงคลยิ่ง

“อุโบสถ” ที่สวยงาม มีประตูหน้าต่างไม้ที่ยังคงไว้ในแบบโบราณ รอบๆ อุโบสถ จะมีตัวเลข ๙ ประทับไว้บนประตูหน้าต่างในทุกบาน ภายในมี พระประธานองค์สีเหลืองทองอร่าม เป็น “พระปางมารวิชัย (สะดุ้งมาร)” ที่ได้บูรณะขึ้นมาใหม่” หลังจากที่อุโบสถได้ถูกไฟไหม้และทำให้พระพุทธรูปเสียหายเกือบทั้งหมด เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2559  (พระครูวินัยถาวรการ (เจ้าคณะตำบลพรหมโลก), ผู้ให้ข้อมูล)

รวมถึงยังมี “ศาลาพ่อท่านเรือง” หรือ “พระครูอินทคีรีสมานคุณ” (เรือง ปุญญโชโต) อดีตเจ้าอาวาส ที่ได้สร้างไว้เพื่อให้ผู้คนได้ระลึกถึงและกราบสักการะด้วย

ลักษณะเด่น

หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญของทางวัด ได้แก่

โยนิ ทำด้วยหินทรายสีแดง เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาดกว้าง 80 x 98 เซนติเมตร ตรงกลางมีการเจาะรูเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส สำหรับการประดิษฐานศิวลึงค์ ด้านข้างมีการสลักยกเป็นขอบขึ้นมาสูงประมาณ 2 เซนติเมตร สลักตลอดจนถึงร่องน้ำมนต์ ซึ่งมีขนาดยาว 26 เซนติเมตร กว้าง 24 เซนติเมตร โยนิ ชิ้นนี้ วางอยู่ข้างบ่อน้ำภายในวัดอินทคีรี (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 2556)

พระพุทธสิหิงค์ วัดอินทคีรี เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ทำด้วยสำริด เป็นพระพุทธรูปประทับนั่ง ขัดสมาธิเพชรบนฐานทรงสูง พระหัตถ์แสดงภูมิสปรศพุทรา มีลักษณะแสดงให้เป็นถึงศิลปภาคใต้ในสกุลช่างนครศรีธรรมราช ที่เรียกว่า “พระพุทธสิหิงค์”หรือ “พระขนมต้ม” โดยมีลักษณะพระพักตร์ค่อนข้างกลม เม็ดพระศกเป็นรูปก้นหอย ยอดพระเมาลีขึ้นมาไม่มากนัก พระพุทธรูปลักษณะนี้นิยมสร้างกันในเฉพาะภาคใต้ ตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 22 เป็นต้นมา เป็นพระคู่วัดมาช้านานตั้งแต่สมัยโบราณ มีเครื่องประดับต่าง ๆ แสดงลักษณะเอกลักษณ์ศิลปภาคใต้อย่างเด่นชัด ทั้งมงกุฎกรองคอ ทับทรวง ชายไหว ชายแครง อันเป็นเครื่องประดับของผู้เล่นโนราสมัยโบราณ พระพุทธรูปประทับนั่งปางมารวิชัย อยู่ในพระอิริยาบถ นั่งขัดสมาธิ พระหัตถ์ซ้ายหงายวางบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาวางที่พระชานุ นิ้วพระหัตถ์ชี้ลงที่พื้นธรณี พระรัศมีบนพระเศียรหักหายไป หน้าตักกว้าง 50 เซนติเมตร สูง 50 เซนติเมตร อยู่ในสภาพสมบูรณ์ (ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม, 2556)  

 ขอขอบคุณภาพจากคุณธนาภรณ์ มีภพ

โบราณวัตถุที่สำคัญ

พระพุทธสิหิงค์ (วัดอินทคีรี) เป็นพระพุทธสิหิงส์อีกหนึ่งองค์ ในขณะนี้อยู่ที่วัดอินทคีรี ต.บ้านเกาะ อ. พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีความศักดิ์สิทธิ์ ความงดงามอันล้ำค่าอีกองค์หนึ่ง  สำหรับประวัติของพระพุทธสิหิงค์โดยละเอียด อยู่ในเรื่องราว “ สิหิงคะนิทาน ” รจนาโดย พระมหาเถรโพธิรังสีชาวล้านนา ได้รจนาขึ้นในราวพุทธศตวรรษที่ 19-20 เล่าความหลังจากพุทธศาสนาล่วงผ่านไป 700 ปี พระราชาแห่งราชอาณาจักรสิงหล ๓ พระองค์ และ พระอรหันต์ทั้งหลายร่วมกันหล่อพระพุทธรูปจากสำริด เมื่อได้เททองหล่อและทุบเบ้าออกมาแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้มีทรวงทรงดั่งพญาราชสีห์ จึงมีพระนามว่า พระพุทธสิหิงค์ เมื่อพระราชาทั้งสามได้สมโภชเสร็จสรรพ จึงอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานในห้องเดียวกับพระทาฐธาตุแห่งสิงหลเป็นเวลาช้านาน จนกระทั่งผ่านมาหลายร้อยปี ที่อาณาจักรสุโขทัย พระร่วงเป็นจอมกษัตริย์ผู้มีเดชานุภาพเกรียงไกร วันหนึ่งพระองค์เสด็จประพาสผ่านแดนใต้ พระร่วงจึงกล่าวกับพระเจ้านครศิริธรรมราช หรือ พระเจ้าศรีธรรมโศกราช ให้ไปเชิญพระพุทธสิหิงค์จากพระเจ้าสิงหลมาสู่กรุงสุโขทัย พระเจ้านครศิริธรรมราช สามารถอัญเชิญพระพุทธสิหิงค์กลับมาสู่เมืองนครศรีธรรมราช ก่อนจะเดินทางไปสู่กรุงสุโขทัย จากรัชกาลสมัยพระร่วง ไปสู่รัชกาลสมัยพระเจ้าฤๅไทย พระรามาธิบดีทรงตีเมืองสองแควได้ จึงอัญเชิญไปสู่กรุงอโยธยา ก่อนที่ต่อมาพระพุทธสิหิงค์จะถูกอาราธนาไปยังเมืองกำแพงเพชร เมืองเชียงราย เมืองเชียงใหม่ เรื่องราวในสิหิงคะนิทาน จบลงที่พระพุทธสิหิงค์ประดิษฐานที่นครเชียงใหม่ แต่เรื่องราวหลังจากนั้นพระพุทธสิหิงค์ก็ถูกอาราธนาโยกย้ายไปอีกหลายครั้ง จนสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ทรงอาราธนาพระพุทธสิหิงค์มาประดิษฐานในพระบรมมหาราชวัง

นั่นคือตำนานพระพุทธสิหิงค์ในกระแสหลัก แต่สำหรับตำนานพื้นเมืองของนครศรีธรรมราช ยังยึดถือกันว่า พระพุทธสิหิงค์ ยังคงอยู่คู่กับเมืองนครศรีธรรมราชโดยตลอดมา ซึ่งพระพุทธสิหิงค์ที่อยู่คู่เมืองนครศรีธรรมราช ได้ถูกอพยพโยกย้ายอยู่หลายครั้ง ด้วยเหตุผลทางความมั่นคง

จากบทสัมภาษณ์ พระครูวิมลอินทโชติ ( พระปรีชา วิมโล ) ได้สัมภาษณ์และลงนิตสารสิริบันยันเมื่อปี  พ.ศ. 2560 หรือราว 8 ปีที่แล้ว คำบอกเล่าของท่านพระครูวิมลอินทโชติ อดีตเจ้าอาวาสผู้ล่วงลับ เป็นตำนานพระพุทธสิหิงค์สำนวนของชาวนครศรีธรรมราช ในคำสั่งเสียของพระยานครในแต่ละรุ่นได้สั่งเสียสืบต่อกันมา “เสียบ้านเสียเมือง ไม่ยอมเสียพระ ลูกหลานจะไปไหว้พระ ให้ไปประตกเมือง” ท่านพระครูวิมลอินทโชติ เมื่อครั้งผู้เขียนไปสัมภาษณ์ ท่านได้เล่าเรื่องราวหลาย ๆ อย่างให้ผู้เขียนทราบ ท่านเป็นพระที่สมถะ ดูเป็นพระธรรมดารูปหนึ่ง แต่ภาระที่ท่านรับสืบทอดนั้นสำคัญยิ่ง คือการเฝ้าองค์พระพุทธสิหิงค์ ปีหนึ่งท่านแทบไม่รับนิมนต์กิจที่ห่างไกลจากพื้นที่วัดเลย ท่านพระครูวิมลอินทโชติเองฯ ได้ประสบพลานุภาพของพระพุทธสิหิงค์หลายประการ จนท่านกล้ายืนยันว่า พระพุทธสิหิงค์แห่งวัดอินทคีรี คือพระพุทธสิหิงค์ในตำนานที่อยู่คู่บ้านเมืองนครศรีธรรมราชมาอย่างยาวนาน (ภูมิ จิระเดชวงศ์ อ้างอิงตำนานสิหิงคะนิทาน (ภูมิ จิระเดชวงศ์, 13 เมษายน 2567)

จะเห็นได้ว่า “วัดอินทคีรี” นั้นมี “พระพุทธสิหิงค์” สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวอำเภอพรหมคีรีและจังหวัดนครศรีธรรมราชของเรามาช้านาน รวมถึงวัดแห่งนี้ยังมีประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ในการเป็นสถานที่เก็บพระบรมศพของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนที่จะอัญเชิญไปประกอบพิธีปลงพระบรมศพในเมืองนครศรีธรรมราชด้วย ซึ่งนับว่าเป็นวัดที่มีความน่าสนใจไปเยี่ยมชมมากวัดหนึ่งของจังหวัดนครศรีธรรมราช

ข้อมูลอ้างอิง

ญาณวุฒิ แก้ววิหค (ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 7). (2567). ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัดและได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา. ผู้ให้ข้อมูลวัด.

พระครูวินัยถาวรการ (เจ้าคณะตำบลพรหมโลก). (2567). ข้อมูลทั่วไปของวัด. พระผู้ดูแลวัดอินทคีรีผู้ให้ข้อมูลวัด.

ภูมิ จิระเดชวงศ์. (13 เมษายน 2567). ประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567. จาก  https://www.facebook.com/groups/771841749673718

ศานติ โบดินันท์, สวัสดิ์ กฤตรัชตนันต์ และ ดำรง โยธารักษ์. (2561). วัดอินทคีรี. ในพระเจ้าตากสินมหาราชไม่ได้สิ้นพระชนม์ที่กรุงธนและที่เมืองคอน. หน้า 210-211, 429-430. โรงพิมพ์อักษรการพิมพ์.

ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม. กระทรวงวัฒนธรรม. (2556). พระพุทธสิหิงส์ วัดอินทคีรี . สืบค้นเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567. จาก m-culture.in.th/album/185644/วัดอินทคีรี

Series Navigation<< วัดวังตะวันออก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราชวัดคงคาเลียบ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช >>

Views: 761

This entry is part 8 of 9 in the series ตามรอยพระเจ้าตาก

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.

You are currently viewing วัดอินทคีรี (วัดบ้านนา) อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช