
สถานที่ตั้ง
ตั้งอยู่ตรงกันข้ามคนละฝั่งของถนนราชดำเนินกับวัดวังตะวันตก
ที่อยู่ของวัด เลขที่ 1343/5 ถนนราชดำเนิน ตำบลคลัง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80000
นิกาย สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย
ประเภทวัด วัดราษฎร์
ได้รับอนุญาตตั้งเป็นวัด : เมื่อปีพุทธศักราช 2350
ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา : เมื่อปีพุทธศักราช 2496
เจ้าอาวาสท่านปัจจุบัน พระครูการาม
(พระสังฆาธิการ, ม.ป.ป.)

ประวัติวัด
เดิมวัดนี้เป็นที่ตั้งนิวาสถานของคุณหญิงปรางค์ซึ่งเป็นพระมารดาของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) ต้นตระกูล ณ นคร เมื่อตอนต้นกรุงรัตนโกสินทร์นั้น และต่อมาได้เป็นที่ว่างเปล่า เพราะเจ้าพระยานครศรีธรรมราช ได้ไปสร้างวังใหม่ที่ที่ตั้งศาลากลางจังหวัดในปัจจุบันเมื่อปี พ.ศ. 2526 ซึ่งมีพระภิกษุสัญจรไปมาเข้าพักอาศัยเป็นประจำ เพราะเป็นสถานที่ร่มรื่นและสงบ เจ้านครศรีธรรมราชจึงยกถวายให้เป็นวัดในราวปี พ.ศ. 2350 เป็นต้นมา โดยอาศัยเหตุที่ว่าสถานที่ดังกล่าวนี้เนื้อที่มาก และมีเส้นทางเดินอยู่ระหว่างกลางเนื้อที่ดิน เพราะประชาชนอาศัยเส้นทางเข้าออกจากตัวเมืองสู่ชนบท จึงทำให้พื้นที่ดังกล่าวแยกออกเป็นสองส่วนเพราะเส้นทางเดินเหนือ ใต้ ส่วนที่หนึ่งกลายเป็นวัดวังตะวันตก อีกส่วนหนึ่งกลายเป็นวัดวังตะวันออก เพราะเส้นทางดังกล่าว และต่อเส้นทางนี้ได้เป็นถนนใหญ่ชื่อว่า ถนนราชดำเนินในปัจจุบันอยู่ระหว่างกลางของวัดทั้งสอง
หลังจากปี พ.ศ. 2350 ได้มีพระภิกษุเข้าจำพรรษาอยู่ตลอดมาหลายสิบปี ในตอนหลังได้ทราบว่ามีพระอาจารย์เอี่ยม ปรากฎว่าเป็นคนชาวนครศรีธรรมราชแต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าอุปสมบทมาจากที่ไหน ได้เข้ามาจำพรรษาและปกครองวัดนี้ ประมาณปี พ.ศ. 2411 และท่านก็ได้พัฒนาวัดให้เจริญขึ้นตามลำดับ เมื่อท่านได้ถึงแก่มรณภาพแล้วราว พ.ศ. 2411 ได้มีอาจารย์ใสซึ่งเป็นศิษย์ของอาจารย์เอี่ยมได้อยู่ต่อมา เมื่ออาจารย์ใสถึงแก่มรณภาพราวปี พ.ศ. 2416 ได้มีอาจารย์หนูเข้ามาอยู่แทน เมื่ออาจารย์หนูออกไปโดยไม่ทราบสาเหตุว่ามรณภาพหรือลาสิกขาบท ประชาชนได้นิมนต์พระอาจารย์พัฒน์ ธมฺมโชโต เป็นพระลูกวัดแห่ง วัดวังตะวันตกมาอยู่เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2435 ต่อมาท่านย้ายไปอยู่วัดพัฒนาราม (ยวนแหล) ตำบลโพธิ์เสด็จ ได้เป็นพระสมณศักดิ์ว่าที่พระครูพิศาลวิหารธรรม เป็นเจ้าคณะตำบลวัดโพธิ์เสด็จในเวลาต่อมา เมื่อพระครูพิศาลวิหารธรรมย้ายไปแล้ว ได้มีอาจารย์บึ้ง วลฺสโภ เป็นพระภิกษุมาจากวันสวนขัน อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราชมาอยู่ ครั้นถึงวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2468 ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดวังตะวันออก ครั้นถึง พ.ศ. 2487 พระอธิการบึ้ง วลฺลโภ ก็ได้ลาสิกขาบทออกไป ต่อมาได้มีพระอาจารย์กมล อาวิกฺเขโป อยู่มาถึง พ.ศ. 2493 ท่านก็ได้ลาออกไปอยู่ที่อื่น ภายหลังทราบว่าท่านไปอยู่ที่วัดนากลาง (หล่อยูง) จังหวัดพังงา ต่อมาได้เป็นเจ้าคณะตำบลและได้รับสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรที่พระครูสันตยาภินันท์ ที่วัดนากลางจังหวัดพังงานั่นเอง
เมื่อพระครูสัตยาภินันท์ออกไปแล้ว ก็ได้มีพระอาจารย์พระมหาพิศิษฐ์ สุทฺธสีโล เป็นพระภิกษุมาจากวัดสวนขัน อำเภอฉวาง จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้มาอยู่ที่วัดวังตะวันออก ในสมัยพระอธิการบึ้ง วลฺลโภ เป็นเจ้าอาวาส เมื่อว่างเจ้าอาวาสลงเนื่องด้วยพระครูสันตยาภินันท์ ได้ลาไปอยู่เสียที่อื่น ทางคณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้อาจารย์พระมหาพิศิษฐ์ สุทฺธสีโล เป็นเจ้าอาวาสวัดวังตะวันออก ณ วันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2494 ซึ่งต่อมาท่านอาจารย์พระมหาพิศิษฐ์ ได้ทำการพัฒนาวัดสร้างความเจริญรุ่งเรืองขึ้นมาเป็นลำดับ มีการสร้างวัตถุถาวร เช่น อุโบสถ กุฏิ หอฉัน ศาลาการเปรียญ เป็นต้น และได้ส่งเสริมการศึกษาเล่าเรียนแก่พระภิกษุ สามเณร ศิษย์ยานุศิษย์ทั้งชาย และหญิงด้วยดีตลอดมา จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2516 ได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าให้พระอาจารย์พระมหาพิศิษฐ์ สุทฺธสีโล เป็นพระสมณศักดิ์ พระครูปริยัติคุณาทร เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2516 นั่นเอง อยู่ต่อมาครั้นถึงวันที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2520 พระอาจารย์พระครูปริยัติคุณาทร ได้ถึงแก่มรณภาพลงทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งให้พระมหาเทียบ ธนปญโญ ซึ่งเป็นศิษย์ของวัดวังตะวันออกมาแต่เดิมมา พระครูปริยัติคุณาทรยังมีชีวิตอยู่ ให้รักษาการแทนเจ้าอาวาสและเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2521 คณะสงฆ์จึงได้แต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสวัดวังตะวันออก
โดยอาศัยที่ว่าวัดวังตะวันออก ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางย่านชุมชนประกอบด้วยวัดมีเนื้อที่ดินพอจะให้ชาวบ้านตั้งบ้านเรือนอาศัยอยู่ใกล้บริเวณวัดได้ทางวัดจึงได้มอบหมายให้ทางกรมการศาสนาจัดผลประโยชน์ของวัดมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2494 ฉะนั้นทางวัดจึงได้รับผลประโยชน์จากรายได้ดังกล่าวนั้นบ้าง และได้อาศัยความศัทธาจากประชาชนบ้าง และอาศัยตระกูล ณ นคร ซึ่งเป็นต้นตระกูลของเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อย) อันเป็นผู้จัดที่ดินถวายยกให้เป็นวัดมาแต่เดิมบ้าง และตระกูลศุกระกาญจน์อันเป็นสาขาของตระกูล ณ นคร และตระกูลอุปรมัย ได้ให้ความอุปถัมภ์มาโดยตลอด
ทางวัดได้ดำเนินการจัดการปกครองจัดระเบียบตามแนวการปกครองตามระเบียบการของคณะสงฆ์ให้การศึกษาแก่พระภิกษุ สามเณรและศิษย์วัดที่มาอาศัย จัดโครงการพัฒนาวัดให้เข้ารูปแบบตามแผนใหม่ของกรมการศาสนาฝ่ายคณะสงฆ์และฝ่ายราชอาณาจักรเพื่อจะยกระดับความเจริญรุ่งเรืองทั้งทางด้านคุณธรรม ศีลธรรม จรรยาธรรม วัฒนธรรมประเพณีสืบต่อไป ทั้งนี้ทางวัดได้ร่วมจัดตั้งกรรมการจัดผลประโยชน์วัดโดยได้ขอถอนคืนการจัดผลประโยชน์จากกรมการศาสนามาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2523 เป็นต้นมา ขณะนี้ ยังเตรียมโครงการพัฒนาวัดโดยการทำแผนผังวัด จัดให้มีระเบียบดีขึ้นกว่าเดิม เพราะสิ่งก่อสร้างเก่าๆ ได้ชำรุดทรุดโทรมเสียเป็นส่วนมากต้องการจะสร้างถาวรวัตถุใหม่ขึ้นแทนของเดิม ที่ชำรุด เช่น อุโบสถ ศาลาการเปรียญ หอฉันและกุฏิ เป็นต้น ให้เข้ากับสถานการณ์ในปัจจุบันแต่เป็นเพียงโครงการเท่านั้น เพราะยังขาดดำเนินการอยู่ ทางวัดคาดว่าจะดำเนินการเป็นขั้นตอนตามแต่โอกาสจะอำนวยต่อไป (หนังสือพิมพ์ คัมภีร์นิวส์ สื่อลึกวงการสงฆ์ เจาะตรงพระเครื่องดัง, 2559)

ลักษณะเด่น
มีสิ่งสำคัญเกิดขึ้นที่นี่ 2 ประการด้วยกัน คือ “เป็นวังของเจ้าจอมมารดาปราง พระสนมของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และ เป็นวัดที่พ่อท่านคล้ายได้สร้างโบสถ์ไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2502”
โบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญ
“อุโบสถ” ที่พ่อท่านคล้ายได้สร้างไว้ ท่านสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2502 และฝังลูกนิมิตเมื่อปี พ.ศ. 2503 ซึ่งเมื่อก่อนเป็นโบสถ์ไม้ รวมทั้งเมื่อก่อนนั้นมีหลา (ศาลา) พ่อท่านคล้ายตั้งอยู่ด้วย กล่าวกันว่า พ่อท่านคล้ายจะปลุกเสกพระ ณ สถานที่แห่งนี้ทั้งหมด โดยอุโบสถหลังนี้มีลักษณะพิเศษ เรียกขานกันตามภาษาใต้ จะเรียกว่า “สร้างขวางหวัน” คือ จะไม่สร้างให้หันไปตามทิศตะวันออกและทิศตะวันตก เหมือนกับที่อื่นๆ นั่นเอง
“พระปางมารวิชัย” สีเหลืองทองอร่าม สร้างตั้งแต่ปี 2502 เป็นพระประธานในอุโบสถที่สวยงามมาก

“ภูมิวัด” ลักษณะเหมือนกับบ้าน ถ้าเป็นบ้านคนทั่วไปก็จะเรียกว่า “ศาลพระภูมิ” ซึ่งได้จำลองขึ้นมาใหม่ เพราะของเก่าชำรุดเสียหายไปตามกาลเวลา
“ศาลาพ่อท่านคล้าย” อยู่ติดกับอุโบสถ พุทธศาสนิกชนสามารถมาขอพรพ่อท่านคล้ายเพื่อความเป็นสิริมงคลได้ตลอดทุกวัน
“รูปหล่อของพระเจ้าตากสินมหาราช, เจ้าจอมมารดาปราง และ เจ้าพระยานคร (น้อย)” ตั้งอยู่บริเวณศาลาเรือนไทย
ซึ่งผู้ที่มีความเคารพศรัทธา สามารถมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในวัดวังตะวันออกได้ตลอดทุกวัน (ข้อมูลจากทางวัดวังตะวันออก, 2566)



และในอนาคตทางวัดมีโครงการจะจัดสร้างจำลองศาลาเรือนไทยของพ่อท่านคล้าย และปรับปรุงภูมิทัศน์ของวัดให้สวยงามมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อจะได้ธำรงรักษาไว้ให้พวกเราคนรุ่นหลังได้มองเห็นถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ของเมืองนครศรีธรรมราชที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงจะได้มีความรู้สึกภาคภูมิใจในความเป็นเมืองเอกสำคัญของชาติไทยเรามาตั้งแต่โบราณนานกาลด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
ข้อมูลจากทางวัดวังตะวันออก. (2566). สอบถามข้อมูลเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2566.
พระสังฆาธิการ. (ม.ป.ป.). วัดวังตะวันออก. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567. จากhttps://sangkhatikan.com/wat_view.php?ID=วัดวังตะวันออก%20(นศ.)
หนังสือพิมพ์ คัมภีร์นิวส์ สื่อลึกวงการสงฆ์ เจาะตรงพระเครื่องดัง. (2559). วัดวังตะวันออก. สืบค้นเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567. จาก https://www.facebook.com/KampeenewsTu/posts/วัดวังตะวันออก-เดิมวัดนี้เป็นที่ตั้งนิวาสถานของคุณหญิงปรางค์ซึ่งเป็นพระมารดาของเ/553885301464533/?locale=th_TH
Views: 199
- วัดเขาขุนพนม
- พระเจ้าตากสินกับวัดเขาขุนพนม
- หอพระสูง (พระวิหารสูง) : โบราณสถานสำคัญบนถนนราชดำเนิน
- วัดแจ้งวรวิหาร
- วัดประดู่พัฒนาราม
- สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชกับเมืองนครศรีธรรมราช
- วัดวังตะวันออก อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
- วัดอินทคีรี (วัดบ้านนา) อ.พรหมคีรี จ.นครศรีธรรมราช
- วัดคงคาเลียบ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช