“โบราณสถานตุมปัง” สิ่งศักดิ์สิทธิ์ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

โบราณสถานตุมปัง สิ่งศักดิ์สิทธิ์คู่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

โบราณสถานตุมปัง  ตั้งอยู่ในพื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ได้ขึ้นประกาศขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 118 ตอนพิเศษ 33ง เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2544 มีพื้นที่ 80 ไร่ 3 งาน 80 ตารางวา คำว่า “ตุมปัง” มีสำเนียงคล้ายกับภาษายาวีว่า “ตุมปัส” ซึ่งแปลว่า “ที่อยู่” โบราณสถานแห่งนี้ได้รับขุดค้นขุดแต่งทางโบราณคดีเมื่อ พ.ศ. 2545 – 2546 พบอาคารโบราณสถานก่ออิฐ จำนวน 4 หลัง ล้อมรอบด้วยแนวกำแพงแก้ว มีซุ้มประตูทางเข้าอยู่ด้านทิศตะวันออก ถัดออกมามีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จำนวน 2 สระ ตั้งขนาบแนวทางเดินเข้าสู่โบราณสถาน 

พื้นที่ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ นั้นตั้งอยู่บริเวณตำบลไทยบุรี อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีตำนานกล่าวขานกันมานานถึงความเชื่อความศรัทธาของชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้มานานว่า “พื้นที่แห่งนี้เคยมีประวัติศาสตร์อันยาวนานกับความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่มีชื่อเรียกขานนามว่า “โบราณสถานตุมปัง” ซึ่งตำนานของที่นี่ ได้กล่าวไว้ในบางส่วนของหนังสือ “โบราณสถานตุมปัง  โบราณสถานและโบราณวัตถุ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช” เขียนโดย อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หน้า 69-70 ดังข้อความที่กล่าวว่า

ตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับทวดที่คนในภาคใต้ได้ยึดถือสืบทอดต่อ ๆ กันมามีเป็นจำนวนมากและกระจายอยู่ในหลายจังหวัด ซึ่งในอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีตำนานและความเชื่อเกี่ยวกับทวดอย่างแพร่หลาย เช่น ทวดกลาย ทวดเกียบ ทวดทอง และอีกหนึ่งในความเชื่อเรื่องทวดเหล่านั้นมี “ทวดตุมปัง” ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกปักรักษาโบราณสถานตุมปังมาจนถึงปัจจุบันรวมอยู่ด้วย 

ทวดตุมปังเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบ้านในแถบอำเภอท่าศาลาเชื่อว่าเป็นงูบองหลา หรืองูจงอางเผือก (สีขาว) ที่คอยปกปักรักษาไม่ให้ใครเข้าไปทำลายแหล่งโบราณสถานที่ชาวบ้านเรียกว่า “วัดร้างตุมปัง” ซึ่งชาวบ้านเล่าว่า  ผู้ที่เข้าไปขโมยสิ่งของในวัดร้างดังกล่าวไม่สามารถหาทางออกจากป่าได้ เดินหลงอยู่เป็นวัน จนเมื่อนำสิ่งของที่ขโมยกลับไปคืนไว้ที่เดิม และตั้งจิตอธิษฐานขอขมาทวดตุมปัง จึงสามารถหาทางออกจากป่าได้  (าศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, ปี, 69-70) 

ตัวอย่างของบุคคลที่เคยประสบเหตุการณ์ “นายสุวัฒน์ สังคภิรมณ์” ได้เล่าว่า “เมื่อตอนหนุ่มๆ ได้เข้าไปล่าสัตว์ป่าในเขตพื้นที่โบราณสถานตุมปังกับเพื่อนสองคน ในขณะที่เดินป่าอยู่ได้ยินเสียงสุนัขเห่า พร้อมกับเสียงเหมือนกิ่งไม้หักผสมกับเสียงเหยียบใบไม้แห้งดังอยู่อีกฟากใกล้ ๆ ตนจึงตัดสินใจยืนบนตอไม้เพื่อสังเกตว่าต้นเสียงดังกล่าวคืออะไร เมื่อชะเง้อคอดูก็ต้องตกใจเพราะเห็นงูตัวใหญ่ที่มีลำตัวเท่าต้นหมากได้ชูคอจะทำร้ายสุนัขที่เห่าอยู่ ตนและเพื่อนจึงวิ่งหนีกันสุดชีวิต และก็ไม่กล้าที่จะเข้าไปล่าสัตว์ในเขตพื้นที่ป่าดังกล่าวอีกเลย เพราะคิดว่างูดังกล่าวเป็นงูทวดเพราะตนเห็นลักษณะที่มุมปากของงูมีสีขาว ๆ ดวงตาโตเท่าผลมะเขือ ตนจึงคิดว่าทวดได้ออกมาเตือนไม่ให้มาล่าสัตว์ในเขตโบราณสถานตุมปัง และอีกหลาย ๆ คนที่เข้าไปเพื่อประสงค์ล่าสัตว์หรือนำพาสิ่งของออกจากวัดร้างตุมปังดังกล่าวมักจะพบเจอกับเหตุการณ์ประหลาด บ้างก็เดินหลงทางหาทางออกไม่เจอต้องวางสิ่งของที่หยิบมาไปวางคืนที่เดิมพร้อมตั้งจิตอธิษฐานขอขมาแก่ทวดตุมปังให้เมตตา จึงสามารถหาทางออกจากป่ากลับบ้านได้” (สัมภาษณ์, 17 กุมภาพันธ์ 2533) 

นอกจากนี้ยังได้รับคำบอกเล่าจากคนเฒ่าคนแก่โบราณ กล่าวว่า “ตุมปัง” เป็นวัดในศาสนาพราหมณ์ มีป่ารกทึบ โดยบริเวณที่ตั้งเป็นที่ลุ่มน้ำ มีแม่น้ำลำคลองล้อมรอบสถานที่ตั้งวัด สถานที่แห่งนี้ถูกทิ้งร้างมายาวนาน  มีเรื่องเล่าของผู้พบเห็น ทวดเกียบ ที่เป็นงูจงอางเผือกหงอนสีแดงสดตัวยาว จะล่องมาตามลำคลอง (คลองเกียบ)  เมื่อวันเพ็ญ เดือนสิบสอง ยามเกือบจะเที่ยงคืน  เพื่อมาหา ทวดตุมปัง  ที่เป็นเสือ บำเพ็ญศีลอยู่ที่วัดตุมปัง เล่ากันว่า ท่านสามารถแปลงร่างเป็นงูเหลือมขนาดใหญ่ เมื่อทวดเกียบมาหา มีสระน้ำใส ๆ ไว้เล่นน้ำเมื่อมาเจอกัน  “ตามตำนานความเชื่อของคนโบราณ ที่ร่ำเรียนวิชาอาคมทางไสยศาสตร์ “บางคนที่เชื่อและศรัทธา จะบนบานศาลกล่าว ขอไห้ ทวดเกียบ ทวดทุมปังช่วย เมื่อท่านได้ตามปรารถนา คนโบราณ จะแก้บนด้วย ข้าวต้มน้ำกะทิ  2 ถ้วย เรียกว่า 1 หาบ (อ้างตามคำกล่าวของคุณปู่คง เมฆหมอก ชาวบ้านหมู่ที่ 5 ตำบลหัวตะพาน)

และยังมีการสร้างศาลาทวดตุมปังซึ่งมี “ทวดตุมปัง” ที่มีรูปปั้นเสือเป็นสัญลักษณ์ และ “ทวดเกียบ” ที่มีสัญลักษณ์เป็นพญางูขาว มีหงอนสีแดง ซึ่งจริง ๆ ก็คือพญานาค ซึ่งจากคำบอกเล่าของผู้มีความรู้ในเรื่องนี้ได้กล่าวไว้ว่า บริเวณด้านหลังของมหาวิทยาลัยก็จะมีคลองเกียบอยู่ด้วย เสมือนว่าเป็นการจับคู่ความสัมพันธ์ว่า “พญานาคกับน้ำ”  

นอกจากนี้ในช่วงเดือนห้าของทุกปีจะมีการทำพิธี “เชื้อทวดตุมปัง” ซึ่งเป็นพิธีเซ่นสรวงบูชาทวดตุมปัง โดยจะมีชาวบ้านที่ได้รับการคัดเลือกเป็นร่างทรงทำพิธีกรรมและมีการเดินลุยกองไฟ แต่ที่น่าประหลาดใจคือ ผู้ที่เป็นร่างทรงนั้นไม่มีบาดแผลหรือได้รับบาดเจ็บจากการทำพิธีกรรมดังกล่าวแต่ประการใด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อเรื่องทวดที่ปรากฏให้เห็นในชุมชนท่าศาลามาตั้งแต่ครั้งอดีตนั่นเอง
และการจัดให้มีประเพณีการทำบุญทวดตุมปังขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนห้าของทุกปี (เดือนมีนาคม) เพื่อสืบทอดประเพณีความเชื่อในการบูชาโบราณสถานตุมปัง และเพื่อส่งเสริม ปลูกฝัง คุณค่าด้านคุณธรรมจริยธรรม และกระตุ้นให้นักศึกษาและบุคลากรได้เล็งเห็นถึงคุณค่าของแหล่งโบราณสถาน เรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัดนครศรีธรรมราช

โบราณสถานตุมปัง

โบราณสถานตุมปัง

และในขณะนี้มีหน่วยงานของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ดูแลอยู่ คือ ศูนย์กีฬาและวัฒนธรรม และสามารถอ่านเรื่องทั้งหมดของ โบราณสถานตุมปัง ได้ที่นี่ เพิ่มเติม

แหล่งที่ตั้ง

ตั้งอยู่ในเขต มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ หมู่ที่ 6 ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช

การเดินทาง

เดินทางโดยรถยนต์ จากตัว อ. เมือง จ. นครศรีธรรมราช ไปตามถนนเส้นทางสู่ อ.ท่าศาลา ก่อนถึงตัวอำเภอท่าศาลา ประมาณ 2 ก.ม.จะพบเส้นทางเข้าไปยังมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ (ตั้งอยู่ทางซ้ายมือ) เลี้ยวเข้าไปตามถนนภายในมหาวิทยาลัย มุ่งหน้าไปสู่ถนนวลัยตุมปัง ซึ่งเป็นถนนเส้นเดียวกับที่ตั้งโรงผลิตน้ำประปาของมหาวิทยาลัย แหล่งโบราณคดี ตั้งอยู่ บริเวณสุดถนน ก่อนจะออกสู่แหล่งชุมชน สภาพทั่วไปของแหล่งเมื่อมองจากด้านนอกยังเห็น เป็นดงไม้หนาทึบ

Contact

สอบถามข้อมูลรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ อาศรมวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ อาคารพละศึกษา สถานกีฬาและสุขภาพ ต.ไทยบุรี อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช 80160 โทร. 075-672508 – 10 โทรสาร 075-672507

Visits: 756

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.