ขนมขึ้น เป็นเมนูอาหารถิ่นของจังหวัดนศรศรีธรรมราช ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ซึ่งเมนูอาหารถิ่นของจังหวัดนศรศรีธรรมราชประเภทขนมที่มีการเสนอเพื่อคัดเลือกมี 3 เมนู คือ ขนมน้ำดัง ขนมขึ้นและยาหนม ซึ่งผลการคัดเลือก “ขนมขึ้น” ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเป็นเมนูอาหารถิ่นของจังหวัดนศรศรีธรรมราช
ขนมพื้นบ้านโบราณของภาคใต้ ทำจากแป้งข้าวเจ้า น้ำตาลโตนด และขี้มัน ( ขี้มัน คือส่วนที่ เหลือจากการเคี่ยวกะทิจนแตกมันจะได้น้ำมันพร้าวลอยอยู่ข้างบน ส่วนที่เหลือก้นกระทะเป็นกากหรือตะกอนสีน้ำตาลเข้ม ภาคใต้เรียกว่า ขี้มัน) ทำให้ขนมสุกโดยการนึ่ง เนื้อขนมมีลักษณะฟู เนื้อนุ่ม รสชาติหวานนุ่มละมุนลิ้น มีกลิ่นหอม ของน้ำมันมะพร้าว
โดยเฉพาะที่อำเภอหัวไทร มีความโดดเด่น ที่แตกต่างจากขนมขึ้นที่อื่น เพราะหัวไทรมีการทำนา ทำสวน มีต้นมะพร้าว และต้นตาล จำนวนมาก ซึ่งถือเป็นวัตถุดิบพื้นฐานในการทำขนมของอำเภอหัวไทร จึงมีลักษณะที่ขึ้นฟู นุ่ม หอม อร่อย ขั้นตอนการทำพิถีพิถัน ลักษณะเด่นคือ มีขี้มันที่ได้จากการเคี่ยวกะทิสดจากน้ำตาลโตนด ผสมอยู่ในแป้งจากข้าวสายพันธ์พื้นเมือง จนได้ขนมที่เป็นเอกลักษณ์ที่เป็นเมนูอาหารถิ่นของจังหวัดนครศรีธรรมราช


วิธีการและขั้นตอนการปรุง ขนมขึ้น
- นำข้าวสารที่ล้างสะอาดมาแช่น้ำประมาณ 3-5 ชั่วโมง แล้วล้างให้สะอาดนำมาโม่ด้วย “ครกบก” ขณะบดแป้งจะต้องเติมน้ำลงไปด้วย โดยจะต้องกะปริมาณน้ำให้พอดีกับแป้ง “ไม่ให้เหลวหรือแห้ง จนได้แป้งข้าวเจ้าเนื้อขาวเนียนพักแป้งไว้ 1 ชั่วโมง”
- นำหัวกะทิสดมาเคี่ยวด้วยไฟปานกลางค่อนข้างอ่อน จนหัวกะทิแตกมัน เคี่ยวไปเรื่อย ๆ จนกะทิเป็นสีน้ำตาลแยกชั้นกับน้ำมันเรียกว่า “ขี้มัน” อย่าให้มีกลิ่นไหม้ จากนั้นกรอง ขี้มันออกจากน้ำมันที่แตกตัวออกมา แต่ควรหลงเหลือน้ำมันไว้เมื่อบรรจุลงภาชนะ เพื่อไม่ให้ขี้มันแห้ง จนเกินไป และน้ำมันที่เหลือสามารถนำไปปรุงอาหารต่อได้
- เคี่ยวน้ำตาลโตนด หรือ น้ำผึ้งโหนด แล้วพักไว้ให้เย็น
- นำแป้งข้าวจ้าวที่พักไว้ครบ 1 ชั่วโมงแล้ว มาผสมกับน้ำผึ้งโหนด แป้งหัวเชื้อ เกลือคนให้เข้ากันแล้วกรอง 1 รอบ เพื่อให้ได้แป้งเนื้อละเอียด เสร็จแล้วพักแป้งไว้อย่างน้อย 8 ชั่วโมง
- เมื่อครบเวลาพักแป้งแล้ว ให้นำแป้งที่พักไว้มาผสมกับน้ำมันและขี้มันที่เคี่ยวไว้ มาคนรวมกัน นำมาเทใส่ภาชนะ แล้วนำไปนึ่ง โดยใช้ไฟกลางค่อนแรง นึ่งประมาณ 30-45 นาที
- เมื่อขนมสุกแล้วพักไว้ให้เย็นก่อน ที่จะนำมาตัดแบ่งเป็นชิ้น
ขนมขึ้น เคล็ดลับในการทำ
แป้งที่นำมาทำขนมขึ้นต้องเป็นแป้งที่โม่จากข้าวเจ้าพันธ์พื้นเมือง เพื่อทำให้ขนมขึ้นฟู
หลังจากพักแป้ง 8 ชั่วโมงต้องดูว่ามีฟองอากาศบนผิวแป้งหรือไม่ หากไม่มีฟองอากาศถือว่าขนมจะไม่ขึ้น และต้องดูว่าแป้งกับน้ำแยกชั้นหรือไม่ ถ้าแยกชั้นขนมจะไม่ขึ้นฟูเช่นกัน
การเตี่ยวขี้มัน หรือ ขี้โล้ ต้องหมั่นคนอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้ขี้มันไหม้
น้ำตาลโตนดที่ได้มาจากช่อดอกโตนดที่ตัดปลายแล้วเอากระบอกไปรองที่ก้นกระบอกจะมีไม้เคี่ยมรองรับน้ำตาลเพื่อช่วยรักษาน้ำตาลไม่ให้บูดเร็ว
ขนมขึ้น : คุณค่าทางโภชนาการ



เกร็ดความรู้เกี่ยวกับขนมไทย
ประเภทของขนมไทย
ประเภทของขนมแบ่งตามประเภทของการทำให้สุก สามารถแบ่งได้เป็น 6 ประเภทดังนี้
- ขนมที่ทำให้สุกด้วยการกวน เช่น ข้าวยาโค ข้าวเหนียวกวน ขนมกวนขาว ขนมเปียกปูน ขนมขี้มัน ผลไม้กวนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมังคุด ทุเรียน กล้วย มะม่วงกวน หรือ สับปะรดกวน นำมาทำไส้ขนม
- ขนมที่ทำให้สุกด้วยการนึ่ง เช่น ต้ม ปัด ขนมชั้น ขนมตาล ขนมเทียน ขนมสอดไส้
- ขนมที่ทำให้สุกโดยการเชื่อม เช่น ทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง
- ขนมที่ทำให้สุกโดยการทอด เช่น ขนมปะดา จำปาดะทอด ข้าวเม่าทอด กล้วยทอด ขนมด้วง ขนมเจาะหู ขนมกรอก
- ขนมที่ทำเราให้สุกด้วยการนึ่งและอบ เช่น ขนมรังผึ้ง ขนมหม้อแกง ขนมครก
- ขนมที่ทำเราให้สุกด้วยการต้ม เช่น ขนมโค กล้วยต้ม มันต้ม

วัตถุดิบพื้นฐานที่ใช้ในการทำขนมพื้นบ้านภาคใต้
วัตถุดิบที่ใช้ในการทำขนม วัตถุดิบพื้นฐาน ๆ ที่นิยมนำมาใช้ทำขนม เช่น
ข้าวและแป้ง
การนำข้าวมาทำขนมของคนไทยเริ่มตั้งแต่ข้าวไม่แก่จัด ข้าวอ่อนที่เป็นน้ำนม นำมาทำเป็นข้าวยาโค เมื่อข้าวแก่จัดเป็นสีเขียว นำมาทำเป็นข้าวเม่า ข้าวที่แก่จัดแล้วนำมาสี เป็นข้าวสาร นำมาทำเป็นแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว เป็นต้น
มะพร้าว
- มะพร้าวอ่อน ใช้เนื้อผสมในขนม เช่น ขนมบ้าบิ่น
- มะพร้าวทึนทึก นำมาขูด โรยหน้าขนมต่าง ๆ เช่น ขนมโค ขนมเปียกปูน ขนมตาล
- มะพร้าวแก่ ใช้ในการทำขนมดังนี้ นำมาเคี่ยวเป็นขี้มัน ไว้สำหรับใส่หน้า ขนมขึ้น ขนมกวนขี้มัน หรือนำมาขูดแล้วคั้นเป็นน้ำกะทิ เป็นส่วนผสมของขนมต่าง ๆ หรือนำมาราด หรือ นำหัวกะทิ มาราดบนขนมต่าง ๆ เช่น สาคู เหนียวเปียก
กล้วย
กล้วย เป็นส่วนผสมหลักของขนมไทย หลากหลายชนิด ขนมกล้วย กล้วยกวน กล้วยเชื่อม กล้วยแขกทอด หรือใช้เป็นไส้ข้าวเหนียวปิ้ง ข้าวเม่าทอด เหนียวห่อ ซึ่งกล้วยที่ใช้ทั้งกล้วยน้ำหว้า และ กล้วยไข่
ถั่วและงา
- ถั่วเขียว จะนำมาเป็นส่วนผสมของขนมไทยหลายชนิด เช่น ขนมไข่ปลา ซึ่งเป็นขนมสำคัญในสารทเดือนสิบ ขนมโคหัวล้าน ขนมหม้อแก้งถั่ว
- ถั่วดำและถั่วขาว นำมาใส่ในขนมใส่ทั้งเม็ด เช่น ข้าวต้มมัด ข้าวหลาม ปัด ต้ม ถั่วดำต้มน้ำตาล ขนมถั่วดำ
- งาขาวและงาดำ โดยมากนำมาโรยบนขนม เช่น ขนมไข่หงส์ หรือเป็นส่วนผสมหลัก เช่นขนมงาตัด ขนมงาทอด ขนมงาอบ
ไข่:
- ส่วนมากใช้ไข่แดง ในการทำขนม เช่น ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง หรือใช้ทั้งไข่ขาวและไข่แดง เช่น ขนมหม้อแกง
น้ำตาล:
- น้ำตาลทรายแดง น้ำตาลมะพร้าว
พืชให้สี
พืชให้สี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ผสมลงในขนมไทย เพื่อให้มีสีสัน สวยงามมากยิ่งขึ้น เช่น
- สีเหลือง : จากขมิ้นหรือฟักทอง
- สีแดง : จากดอกกระเจี๊ยบ
- สีเขียว : จากใบเตย
- สีม่วงอมน้ำเงิน : จากดอกอัญชัน
- สีดำ : จากการเผากาบมะพร้าว

ขนมขึ้น ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้านภาคใต้ นอกจากเป็นขนมที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านแล้ว ยังเป็นขนมที่แสดงให้เห็นถึงวิถีชีวิตที่งดงาม ประณีต ของคนในสมัยก่อน และถ่ายทอดมาจากรุ่นสู่รุ่น ให้คงอยู่กับคนใต้ จากขนมในประเพณี เทศกาลงานบุญต่าง ๆ มาสู่เมนูที่สามารถนำมาพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอน และมีการวิจัยและพัฒนาต่อยอดเทคโนโลยี เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์อาหารเป็นเมนูที่สามารถพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการ เป็นสร้างอาชีพ สร้างรายได้ หากมีการส่งเสริมการตลาดและเผยแพร่ประชาสัมพันธ์อาหารไทยสู่สากลในการการพัฒนาธุรกิจอาหารไทย และการรณรงค์การบริโภคอาหารไทย ขนมขึ้นก็จะยังคงอยู่กับคนใต้ตลอดไป

แหล่งข้อมูลอ้างอิงและภาพประกอบจาก
- จังหวัดนครศรีธรรมราช คัดเลือก ขนมขึ้น เป็นเมนูอาหารถิ่นของจังหวัดนศรศรีธรรมราช ตามโครงการส่งเสริมและพัฒนายกระดับอาหารถิ่นสู่มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ความเป็นไทย (Thailand Best Local Food) “รสชาติ…ที่หายไป The Lost Taste” ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567https://nakhonsithammarat.prd.go.th/th/content/category/detail/id/13/cid/9/iid/
- https://nakhonsithammarat.prd.go.th/th/content/category/detail/id/13/cid/9/iid/315569
- ขนมขึ้น จังหวัดนครศรีธรรมราช https://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=7936
- http://food.culture.go.th/67/67.pdf
- ขนมขึ้น บ้านป้าทัย หัวไทร
- ประกาศกรมส่งเสริมวัฒนธรรมเรื่อง ผลการคัดเลือกกิจกรรม ๑ จังหวัด ๑ เมนู เชิดชูอาหารถิ่น “รสชาติ..ที่หายไป The Lost Taste”ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๖๗ จาก ๗๖ จังหวัด และกรุงเทพมหานคร https://www.culture.go.th/culture_th/download/newdata/image1174.pdf
- อาหารถิ่น Thailand Best Local Food “รสชาติ..ที่หายไป The Lost Taste” https://www.culture.go.th/culture_th/ewt_news.php?nid=7843&filename=index
- สิริกาญจน์ พิมพงศ์ไพศาล. ขนมไทยพื้นบ้านภาคใต้ | Southern Thailand’s traditional dessert https://learn.thaimooc.ac.th/courses/course-v1:HU+00192+0/about
- ขนมพื้นบ้านภาคใต้จากภูมิปัญญาชาวบ้านสู่รายวิชา Thai MOOC https://library.wu.ac.th/km/traditional-dessert/
Views: 86