ในภาษาไทย ใช้คำว่า “หีน” หรือย่อเป็นคำว่า “หี” ซึ่งเป็นคำภาษาบาลี แปลว่า เล็ก ต่ำต้อย ด้อยค่า
จากความหมายในข้างต้น ความหมายของคำมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางลบ ขัดแย้งกับอดีตที่เป็นความหมายเชิงบวก รวมไปถึงยังมีการยกย่องและให้ความสำคัญ
ความเชื่อดั้งเดิมในอดีตเชื่อว่า โยนีถือเป็นต้นกำเนิดของสรรพสิ่งทั้งปวง หากไม่มีโยนีซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเพศหญิง ความเป็นเพศชายก็จะไร้ค่าและไร้ความหมาย

โยนี คือ สัญลักษณ์ของความเป็นเพศแม่ ซึ่งถือว่าเพศแม่คือต้นกำเนิดแห่งธรรมชาติ คือครรภ์แห่งสรรพชีวิต แต่ความเชื่อนี้ถูกเปลี่ยนแปลงไปหลังจากการเกิดศาสนาที่นิยมชูเพศชายให้เป็นศาสดา
ในวัฒนธรรมโบราณ ต่างยกย่องให้ผู้หญิงเป็นใหญ่ แม้แต่ในประเทศไทยก็ยกย่องเทพแห่งธรรมชาติ โดยใช้คำว่า “แม่” มานำหน้า เช่น แม่ธรณี แม่โพสพ แม่นำ แม่คงคา หรือแม้กระทั่ง “แม่ทัพ” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย แต่ยังใช้คำว่าแม่นำหน้า
พลังของเพศหญิง หรือเพศแม่ เชื่อกันว่าเป็นพลังแห่งการก่อกำเนิด พลังของการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นการเคารพโยนี เพราะเป็นผลมาจากแนวคิดที่ว่า การก่อกำเนิดต้องอาศัยเชื้อชีวิตของพ่อและครรภ์ของแม่ แต่แม่จะเป็นผู้เก็บเมล็ดพันธุ์แห่งชีวิตไว้ในครรภ์ โอบอุ้มดูแลจนคลอดออกมา และยังต้องดูแลเลี้ยงดูด้วยน้ำนมและรวมไปถึงการฟูมฟักด้วยความรัก ความเอาใจใส่ หน้าที่ในการเลี้ยงดู จนกว่าจะเติบใหญ่ นี่จึงเป็นภาระหน้าที่ที่สำคัญของแม่ ในขณะที่พ่อต้องออกไปทำมาหากินหรือทำกิจกรรมภายนอกจึงต้องทิ้งภาระการดูแลให้แม่เป็นผู้รับผิดชอบ
ดังนั้นโยนีจึงถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อในอดีต เพราะสื่อถึงสัญลักษณ์และพลังของเพศหญิง นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงไปยังเรื่องของประจำเดือน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความพร้อมในการก่อกำเนิด แต่แนวคิดศาสนาชายเป็นใหญ่ได้ด้อยค่า ให้โยนีและสิ่งที่เกี่ยวข้องกับโยนีกลายเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ ต่ำทราม และสกปรก
เมื่อย้อนกลับไปยังความเชื่อดั้งเดิมในอดีต ยังสามารถอธิบายแนวคิดเรื่องประจำเดือน ในความเชื่อใหม่ คือ ประจำเดือนไม่ใช่สิ่งสกปรกที่ทำให้ไสยเวทเสื่อม แต่เพราะพลังที่ยิ่งใหญ่แห่งการก่อกำเนิดที่แฝงอยู่ ทำให้ไม่มีอะไรมาทำลายได้ ดังนั้นนักไสยเวทผู้ชายจึงกลัวว่าประจำเดือนจะมาทำลายพลังไสยเวทของตน
ดังนั้นโยนีจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งผู้หญิงทั้งโลก การเคารพบูชาโยนีนั้น สื่อถึงการเคารพและให้เกิดผู้หญิงอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม เป็นแนวคิดเรื่องสิทธิสตรีที่สืบทอดกันมายาวนาน

สัญลักษณ์ของโยนีปรากฏในหลายรูปแบบ ที่เห็นเด่นชัดที่สุด คือสัญลักษณ์ของโยนีในศาสนาพราหมณ์ ในประเทศไทยก็มีสัญลักษณ์ของโยนีปรากฎให้เห็น โดยเฉพาะจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งถือเป็นเมืองท่าที่สำคัญในอดีตมีการติดต่อค้าขายกับชาวต่างชาติ ในพุทธศตวรรษที่ 12 ได้มีการติดต่อค้าขายกับอินเดีย โดยได้ปรากฎในศิลาจารึกหลักที่ 27 ซึ่งค้นพบที่วัดมเหยงคณ์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ดังนั้นจึงได้รับแนวคิดของศาสนาพราหมณ์เข้าพร้อมกับการติดต่อค้าขาย
โบราณสถานที่เป็นของศาสนาพราหมณ์มีปรากฏอยู่ในหลายอำเภอ โดยเฉพาะที่โบราณสถานเขาคา ซึ่งเป็นที่ตั้งของเมืองโบราณอายุกว่า 1,500 ปี สันนิษฐานว่าโบราณสถานเขาคาเกิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 12-14 โดยโบราณสถานเขาคาจัดเป็นเทวสถานที่มีความสำคัญสูงสุด ในบรรดาเทวสถานพราหมณ์ที่พบในพื้นที่ จังหวัดนครศรีธรรมราช และถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์สำหรับประกอบพิธีกรรมสำคัญทางศาสนา และเป็นที่อยู่อาศัยของพราหมณ์ผู้ประกอบศาสนพิธีอีกด้วย
โบราณวัตถุสำคัญที่พบ คือฐานโยนิ ลักษณะเลียนแบบธรรมชาติที่มีลักษณะสวยงามที่สุดชิ้นหนึ่งที่เคยพบในภาคใต้ ของไทย ฐานโยนิโทรณหรือฐานศิวลึงค์ พบเป็นจำนวนมากทำมาจากหินปูน มีลักษณะรูปแบบแตกต่างกันหลายรูปแบบและหลายขนาด
ที่มา :
‘โยนี’ สัญลักษณ์โบราณอันซ่อนอยู่ในที่ทางปัจจุบัน. https://shorturl.asia/EW7jd
โบราณสถานเขาคา (Khao Ka Ancient Remains). https://shorturl.asia/KGEcY
ผี พราหมณ์ พุทธ : พลังของ ‘กี’ อันศักดิ์สิทธิ์. https://shorturl.asia/tQkUb
รจนา หมาดหล้า. เขาคาดินแดนแห่งพระศิวะ. คลังสารสนเทศทวลัยลักษณ์. https://library.wu.ac.th/NST_localinfo/เขาคา
ว่าด้วยเรื่องแท่นฐานโยนีหรือโยนิโทรณะ https://shorturl.asia/W1CcN
Views: 21