สิบสองนักษัตร : เงินนะโมที่เมืองนครศรีธรรมราช

นักษัตรจอ
ตราประจำจังหวัด

นครศรีธรรมราช (Nakhon Si Thammarat) เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตราประจำจังหวัดในปัจจุบันเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงความเป็นมหานครในอดีต ตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวงกลม 2 ชั้น

  • ชั้นในเป็นรูปพระบรมธาตุเจดีย์เปล่งรัศมีโดยรอบ หมายถึง พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ปูชนียสถานสำคัญ
  • ชั้นนอกมี 12 นักษัตรล้อมรอบ หมายถึง เมืองบริวาร 12 เมือง ของอาณาจักรนครศรีธรรมราชในอดีต

ปีนักษัตร ที่หมายถึง กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 “นักษัตร [นักสัด] น. ชื่อรอบเวลา กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายในปีนั้น ๆ คือ ชวด-หนู ฉลู-วัว ขาล-เสือ เถาะ-กระต่าย มะโรง-งูใหญ่ มะเส็ง-งูเล็ก มะเมีย-ม้า มะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-หมา กุน-หมู” พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผู้ตั้งเมืองนครศรีธรรมราช พระนามเดิมว่า “อโศก” เป็นชาวอินเดียที่มีความเลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์ จึงทำให้ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์เป็นที่แพร่หลายในเมืองนครศรีธรรมราช พระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของนครศรีธรรมราช เป็นผู้สร้างอาณาจักร ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1098 โดยสร้างกำแพงป้อมปราการโดยรอบทั้งชั้นนอกชั้นใน ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นมหานครใหญ่และมีอำนาจมาก มีเมืองขึ้นสิบสองหัวเมืองเรียกว่าเมือง สิบสองนักษัตร ตั้งอยู่โดยรอบและกำหนดให้ใช้สัตว์ประจำปีเป็นตราประจำเมือง

พุทธศตวรรษที่ 18-19 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์แล้วเสร็จและศาสนจักรมั่นคงแล้ว ทางด้านอาณาจักรก็ต้องจัดการปกครองหัวเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงแข็งแรงเช่นเดียวกัน ทรงวางรูปแบบการปกครองแบบ “เมือง สิบสองนักษัตร” คือ กำหนดให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลาง มีเมืองบริวารอยู่โดยรอบสิบสองเมือง แต่ละเมืองมีฐานะเป็นหัวเมืองหรือเมืองขึ้น และได้กำหนดตราสัญลักษณ์ประจำเมืองเป็นรูปประจำปีนักษัตร เพราะเมืองบริวารมีสิบสองเมืองเท่ากับปีนักษัตร จึงเป็นชื่อเรียกเมืองบริวารว่า “เมืองสิบสองนักษัตร” ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีอำนาจอิทธิพลมากที่สุดบนคาบสมุทรเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

สิบสองนักษัตร

เมือง 12 นักษัตร
แผนที่จาก Googlemap

นครศรีธรรมราช กับสิบสองหัวเมือง

  1. เมืองสายบุรี หัวเมืองที่ 1 ถือตราหนู (ชวด) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดปัตตานี
  2. เมืองปัตตานี หัวเมืองที่ 2 ถือตราวัว (ฉลู) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดปัตตานี
  3. เมืองกลันตัน หัวเมืองที่ 3 ถือตราเสือ (ขาล) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
  4. เมืองปะหัง หัวเมืองที่ 4 ถือตรากระต่าย (เถาะ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งในประเทศมาเลเซีย
  5. เมืองไทรบุรี หัวเมืองที่ 5 ถือตรางูใหญ่ (มะโรง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ชื่อว่า “รัฐเคดาห์”
  6. เมืองพัทลุง หัวเมืองที่ 6 ถือตรางูเล็ก (มะเส็ง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดพัทลุง
  7. เมืองตรัง หัวเมืองที่ 7 ถือตราม้า (มะเมีย) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดตรัง
  8. เมืองชุมพร หัวเมืองที่ 8 ถือตราแพะ (มะแม) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดชุมพร
  9. เมืองบันทายสอ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองไชยา หัวเมืองที่ 9 ถือตราลิง (วอก) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
  10. เมืองสะอุเลา สันนิษฐานว่าเป็นเมืองท่าทองอุแทหรือกาญจนดิษฐ์ ซึ่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าทอง และลุ่มคลองกะแดะ หัวเมืองที่ 10 ถือตราไก่ (ระกา) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
  11. เมืองตะกั่วป่า หัวเมืองที่ 11 ถือตราสุนัข (จอ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
  12. เมืองกระบุรี หัวเมืองที่ 12 ถือตราสุกร (กุน) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดระนอง (พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช, 2561) (ที่มา: https://www.nakhoncity.org/img/museum/10-1262.pdf)

ความเป็นมา

  • พุทธศตวรรษที่ 17-19 นครศรีธรรมราชปกครองโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด
  • เป็นสถานีการค้าสําคัญของคาบสมุทรไทย เป็นจุดพักถ่าย ซื้อสินค้าระหว่าง ตะวันออกกับตะวันตก
  • เป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ความศรัทธาและ ความเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นปัจจัยหลัก ทำให้ผู้คนจากทุกสารทิศในภาคใต้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในนครศรีธรรมราชอย่างหนาแน่น
  • ราว พ.ศ. 1700 เศษ ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ก็สามารถจัดการปกครอง หัวเมืองรายรอบ ได้สําเร็จถึงสิบสองเมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร

สิบสองนักษัตร เป็นชั้นวงกลมชั้นนอกของตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เมืองที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นจุดศูนย์กลางของสิบสองเมืองบริวารที่ช่วยกันทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา แม้รูปแบบการปกครองเปลี่ยน แต่ศรัทธาที่มีต่อพระบรมธาตุเจดีย์ยังคงอยู่ ปัจจุบันจะเห็นนักษัตรทั้งสิบสอง อยู่บนหัวเสาไฟกลางถนนบ้าง ข้างถนนบ้าง ในเขตเทศบาลจังหวัดจังหวัดนครศรีธรรมราช และที่เสาไฟจะมีหัวนะโม อักษรปัลลวะ “นะ” ลอลิงกลับหลัง สัญลักษณ์ที่มีความหมายต่อนครศรีธรรมราชเช่นกัน

เงินนะโม เมืองนครศรีธรรมราช

หัวนะโม

เงินตราของอาณาจักรตามพรลิงค์ ในช่วงที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดทั้งด้านการปกครองและศาสนาบนคาบสมุทรมลายู ราวพุทธศตวรรณที่ 17-18 เงินนะโม เม็ดเล็กกลม ด้านหนึ่งมีอักษร นะ ซึ่งอาจจะเป็นที่มาของชื่อ นะโม

เงินนะโม ความเป็นมา

  • ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 หัวนะโมเป็นเบี้ย ที่ไว้ใช้แทนเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยน ของอาณาจักรตามพรลิงค์ ทำจากโลหะ ในรัชสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
  • เหตุที่ชื่อว่าหัวนะโมนั้น มาจากการจารึกอักษรปัลลวะหรืออักษรอินเดียโบราณ ที่เรียกว่า ตัว “นะ” ไว้บนเม็ดเงินที่มีลักษณะกลม
  • สมัยของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาด จึงได้มีการทำพิธีปลุกเสกหัวนะโม ด้วยพิธีกรรมแบบพราหมณ์โดยอัญเชิญเทพเจ้าสามพระองค์ซึ่งได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม มาสถิตในหัวนะโม แล้ว นำไปหว่านยังจุดที่มีโรคระบาด และรอบเมืองปรากฏว่าโรคระบาดหายไปจากเมืองนครศรีธรรมราช
  • โรงพิธีปลุกเสกหัวนะโม ทำในบริเวณวัดพระมหาธาตุด้านบูรพา (ทิศตะวันออก) ภิกษุสงฆ์และพราหมณ์เข้าพิธีปลุกเสกตามศาสนาของตน
  • ในสมัยรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์ได้เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดในเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง จึงได้ทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมเพื่อนำไปหว่านรอบเมือง และในครั้งนี้โรคระบาดก็หายไปเหมือนเดิม

วิธีการทำ

  • เงินยวง (โลหะเงินไม่ผสมโลหะอื่น ที่มีความขาวและนิ่ม) มาตอกอักขระ “นะ” และขึ้นรูปเป็นเม็ดกลมเล็ก
  • นวโลหะ (โลหะเก้าอย่าง) หรือสัตตโลหะ (โลหะเจ็ดอย่าง) มาตอกอักขระ “นะ” และขึ้นรูป
  • ใส่แร่ปรอทเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าปรอทเป็นธาตุศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีการซัดว่านยาเพื่อเป็นการใช้สมุนไพรกำราบพิษจากปรอทควบคู่กันไปด้วย
  • ขนาดไม่ใหญ่ ปรอทที่ถูกในภายในหัวนะโมมีขนาดประมาณเมล็ดถั่วเขียว
  • มีความเชื่อว่า หัวนะโม ป้องกันอันตราย หรือป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้
  • เปรียบได้กับเบี้ยแก้ โดยลักษณะการทำ ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ คล้ายกัน

ความหมาย

  • อักขระ “นะ” เป็นอักษรปัลลวะของอินเดียโบราณ ร่องบากของอักษร นะ มีลักษณะคล้ายร่องโยนิ เงินตรานะโมจึงน่าจะเป็นการนมัสการเทพของพราหมณ์ไศวนิกาย
  • ตัว “นะ” ลอลิงหัวกลับ นะโม ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นอักษรตัวแรก แห่งพระคาถาในพระไตรปิฎก
  • อาจมาจากคำว่า “นมะ” หรือ “นมัส” เป็นคำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงออกถึงความเคารพต่อพระผู้เป็นเจ้า สัญลักษณ์ของนะโมในตอนนั้นน่าจะมีความหมายเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย
  • นะโม อาจหมายถึงความนอบน้อมหรือหมายถึงหัวใจของคาถาพุทธศาสนา “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทธสฺส”

วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์คู่เมือง นครศรีธรรมราช เป็นวัตถุทรงกลมขนาดเล็กสร้างด้วยเนื้อโลหะผสม มีตัวอักษรขอมอยู่ตรงกลาง อ่านว่าตัว “นอ” หรือตัว “นะ” ด้านหลังจะมีตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ แบบโบราณดั้งเดิมคือ

  • หลังดอกจัน มีกลีบดอก 8 กลีบ เปรียบได้กับ ธรรมจักรมีกำ 8 ซี่ หมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 ในทางพระพุทธศาสนา และมีความเชื่อว่าป้องกันภัยได้ทั้งแปดทิศ
  • หลังดอกพิกุล ตามคติแต่โบราณเชื่อกันว่าดอกพิกุล เป็นดอกไม้มงคลของต้นไม้ในสวนสวรรค์

หัวนะโม ยังคงสืบทอดและมีอยู่ในสังคมภาคใต้ เกิดจากศรัทธาและความเชื่อ สร้างขึ้นเพื่อป้องกันอันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นศรัทธา เป็นความเชื่อ ที่ผ่านประวัติศาสตร์มาเนิ่นนาน “หัวนะโม” ถือเป็นเครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลชิ้นเอกของนครศรีธรรมราช เงินตราที่แสดงถึงศาสนจักรแห่งพราหมณ์และพุทธ ปัจจุบันปรับเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็นเครื่องประดับเพื่อให้พกติดตัวได้ง่าย บางบ้านเวลาจะอวยพรคู่บ่าวสาว หรือให้พรลูกหลานจะเอาหัวนะโมที่ผ่านพิธีกรรมเรียบร้อยแล้ว นำมาใส่ขันทำน้ำมนต์รดให้เป็นสิริมงคล หัวนะโม หนึ่งในสัญลักษณ์อันทรงคุณค่าของนครศรีธรรมราช “คนคอนถ้าไม่โร้จักหัวนะโม ก่าเหมือนไม่โร้จักตัวเอง”

  • นครศรี           นครอันสง่า
  • ธรรมราชา     พระราชาผู้ทรงธรรม
  • นักษัตร           เมืองบริวารสิบสองเมืองของอาณาจักร
  • นะโม             เดิมอยู่ในฐานะเงินตราในอาณาจักรตามพรลิงค์

ทั้งนักษัตรและนะโม คือประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราช มีมา มีอยู่ และมีตลอดไป

ข้อมูลอ้างอิง:

Views: 961

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.

นักษัตรจอ