นกกรงหัวจุก นกตัวเล็กๆ แต่ได้รับความนิยมในการเลี้ยง เป็นที่นิยมกันแทบจะทุกภาคของประเทศไทย การเลี้ยงนกกรงหัวจุกได้รับความนิยมแพร่หลายในปัจจุบัน มีสนามแข่งขันนกกรงหัวจุกแทบจะทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยเฉพาะภาคใต้ที่เปรียบเสมือนเป็นแหล่งแรกๆ ที่เลี้ยงและนิยมนำมาแข่งขันกัน

ในอดีตตั้งแต่ปี พ.ศ. 2410 นกกรงหัวจุกถูกนำมาเลี้ยงโดยชาวจีนเป็นชนชาติแรก เนื่องจากมีสีสันสวยงาม เป็นนกที่เลี้ยงง่าย มีเสียงที่ไพเราะ ความนิยมในการเลี้ยงนกกรงหัวจุกแพร่หลาย ในแถบประเทศจีน อินเดีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา และภาคใต้ของประเทศไทย แต่ในปัจจุบันแพร่หลายมากขึ้น แทบทุกภาคของประเทศไทยมีการเลี้ยงนกกรงหัวจุกกันอย่างแพร่หลาย
นกกรงหัวจุก หรือชื่อที่เป็นทางการคือ นกปรอดหัวโขน หรือ นกปรอดหัวจุก ภาษาอังกฤษเรียกว่า Red-whiskered bulbul มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ คือ Pycnonotus jocosus เป็นนกที่อยู่ในวงศ์นกปรอด (Pycnonotidae) ซึ่งอยู่ด้วยกันทั้งหมด 109 ชนิด สำหรับในประเทศไทยพบได้ 36 ชนิด
นกกรงหัวจุกจะมีลักษณะที่เห็นได้ชัดคือ ที่แก้มและคอจนถึงหน้าอกจะมีสีขาวและมีสีแดงเป็นเส้นอยู่ข้างหูลงมาถึงหน้าอกเหมือนเป็นเส้นแบ่งขนสีขาวกับสีดำที่มีอยู่ทั่วทั้งตัวขนส่วนหัวจะร่วมกัน เป็นเหมือนหน่อตั้งอยู่บนหัวสูงขึ้นไปเหมือนหัวโขน อันเป็นที่มาของชื่อ ใต้ท้องมีขนสีขาว และทั่วลำตัวจะเป็นสีดำ
นกกรงหัวจุกจัดว่าเป็นนกขนาดเล็ก เมื่อโตเต็มที่จะมีขนาดประมาณ 20 เซ็นติเมตร ลักษณะเด่นที่ทำให้ได้รับความนิยมเพราะมีสีสันสวยงาม เสียงร้องไพเราะ มีความดุดัน มีความเป็นนักสู้ ทำให้เกิดกีฬาการแข่งขันนกกรงหัวจุก มีการแข่งขันที่หลากหลายประเภท หลากหลายกติกา

ในอดีตนกกรงหัวจุกได้รับความนิยมในการเลี้ยงในบริเวณภาคใต้ของไทย เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมการดำรงชีวิตของคนใต้ นกกรงหัวจุกเป็นสื่อช่วยสานสัมพันธ์ รวบรวมผู้คนมากหน้าหลายตาให้มารวมกลุ่มกัน เพราะมีความรักและชื่นชมในสิ่งเดียวกัน ในภาคใต้แหล่งชุมนุมผู้รักนกกรงหัวจุกจะเป็นร้านน้ำชา ในช่วงเช้าจะมีการหิ้วกรงนกไปแขวนตามร้านน้ำชา ทั้งเพื่อพบปะสังสรรค์ เพื่อการซ้อมนก หรือเพื่อการแข่งขันในรายการย่อยๆ กลุ่มผู้เลี้ยงนกกรงหัวจุกมีหลากหลายระดับ ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น แค่หิ้วกรงนกเข้ามา ก็เป็นเสมือนใบเบิกทางในการเข้าร่วมกลุ่ม ทุกคนพูดภาษาเดียวกัน ชอบในสิ่งเดียวกัน เป็นเรื่องง่ายที่จะทำความรู้จักกัน การเลี้ยงนกกรงหัวจุกจัดเป็นงานอดิเรกชนิดหนึ่ง บางคนเลี้ยงเพื่อฟังเสียง ผ่อนคลายและพักผ่อนจากการทำงาน แต่บางคนเลี้ยงเพื่อเป็นอาชีพ เลี้ยงเพื่อขาย หรือเลี้ยงเพื่อแข่งขัน
การเลี้ยงนกกรงหัวจุกในภาคใต้ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลาย นกกรงหัวจุกช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคใต้ เนื่องจากราคาในการซื้อขายค่อนข้างสูง กิจกรรมการแข่งขันนกกรงหัวจุก ช่วยส่งเสริมให้ราคานกกรงหัวจุกพุ่งสูงขึ้น นกกรงหัวจุกที่เก่ง แข่งได้รางวัล ชนะหลายสนาม ช่วยสร้างรายได้ให้กับเจ้าของ ทำให้คนหันมาเลี้ยงนกกรงหัวจุกกันมากขึ้น ทั้งคาดหวังเงินรางวัลจากการแข่งขัน และเงินรายได้จากการขายนกกรงหัวจุก เพราะนกที่เสียงดี ได้รางวัลบ่อยๆ ราคาค่าตัวนกกรงหัวจุกก็ยิ่งพุ่งแรงทะลุหลักแสน หลักล้าน นอกจากนี้อุปกรณ์ในการเลี้ยงนกกรงหัวจุกก็ได้รับผลดีตามไปด้วย ก่อให้เกิดธุรกิจมากมาย ทั้งการซื้อขายกรงนก การซื้อขายอุปกรณ์ในการเลี้ยงนก การซื้อขายอาหารนก ส่งผลให้มีการหมุนเวียนและทำให้เศรษฐกิจดีขึ้น

ยิ่งในยุคปัจจุบันเป็นยุคโซเชียลมีเดีย ทั้ง Facebook ทั้ง Youtube แพร่หลาย มีช่องทางหลากหลายมากขึ้น การรวมกลุ่มกันก็ยิ่งขยายวงกว้าง การเลี้ยงนกกรงหัวจุกก็ยิ่งได้รับความนิยม แพร่หลายไปทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในแต่ละภาคก็จะมีสนามแข่งขัน สนามใหญ่ๆ เงินรางวัลก็ยิ่งสูงขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งดึงดูดใจ ทำให้การเลี้ยงนกกรงหัวจุกเพื่อแข่งขันยิ่งได้รับความนิยมมากขึ้น
ที่มา :
นกปรอดหัวโขน. Retrieved 12 มีนาคม from https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%99%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%AB%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%82%E0%B8%82%E0%B8%99
มนต์ขลัง นกกรงหัวจุก. (2567). บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน). Retrieved 12 มีนาคม from https://www.technologychaoban.com/pet/article_87419
อารยะ. (2553). คู่มือเลี้ยงดูลักษณะและแยกเสียงขันนกกรงหัวจุก (2 ed.). ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006).
Views: 2982