การแทงต้ม หมายถึงการทำข้าวต้มใบกะพ้อในวัฒนธรรมของภาคใต้ เพราะวิถีชีวิตของคนไทยผูกพันธ์กับข้าว ข้าวจัดเป็นธัญพืชที่เป็นอาหารหลักของคนไทย เนื่องจากสามารถนำมาปรุงได้ทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน ทั้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียวเป็นอาหารหลักของคนไทยในแต่ละภาค
คนภาคใต้กินข้าวเจ้าเป็นอาหารหลัก และกินข้าวเหนียวเป็นอาหารว่าง ข้าวเหนียวในวัฒนธรรมของภาคใต้มักจะถูกนำมาปรุงในรูปของอาหารหวาน หรือทำเป็นอาหารว่าง
โดยเฉพาะ”ต้ม” หรือข้าวต้มใบกะพ้อ นิยมทำกันมากในภาคใต้ มักพบได้ในงานบุญ ทั้งงานบุญของชาวไทยพุทธ หรือชาวมุสลิม และสาเหตุที่เรียกว่า แทงต้ม เพราะต้องเอาก้านของใบกะพ้อแทงสอดเข้าไปในห่อต้ม และดึงให้แน่น เพื่อจบขั้นตอนสุดท้ายด้วยการผูกเงื่อนตรงปลายช่วยป้องกันไม่ให้ห่อต้มคลายออก
ในส่วนของชาวไทยพุทธ การแทงต้มจะทำเนื่องในโอกาสงานบุญที่สำคัญ เช่น งานลากพระ หรือชักพระ ในช่วงออกพรรษา วันทำบุญเดือนสิบ งานบวช ฯลฯ
ในส่วนของชาวมุสลิมจะแทงต้มเพื่อแจก และแลกเปลี่ยนกันในช่วงฮารีรายอ
สิ่งที่ต้องเตรียมในการแทงต้ม ประกอบด้วย ข้าวเหนียว กะทิ น้ำตาล ใบกะพ้อ และเกลือ
ขั้นตอนในการทำ ประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ
1.ขั้นตอนการเตรียมใบกะพ้อ โดยการไปตัดใบกะพ้อ เมื่อได้มาแล้วก็นำใบกะพ้อมาตากแดด และคลี่เพื่อเตรียมการห่อ ซึ่งในอดีตใบกะพ้อมีมาก หาได้ง่าย ไม่ต้องซื้อ
2.ขั้นตอนการผัดข้าวเหนียว คือการนำข้าวเหนียวไปแช่น้ำ และเอามาผสมกับกะทะ น้ำตาล และเกลือ นำขึ้นตั้งไฟเพื่อผัดให้กึ่งสุก บางครั้งก็มีการเพิ่มถั่วขาวหรือถั่วดำต้มสุกลงไปด้วย เพื่อเพิ่มความอร่อยมากยิ่งขึ้น ก่อนจะนำไปห่อใบกะพ้อ แล้วนำไปต้ม หรือนึ่งให้สุก

ในส่วนของรูปแบบในการห่อนั้น มีหลายรูปแบบ แต่รูปแบบที่เห็นกันทั่วไปคือ รูปสามเหลี่ยม

การแทงต้ม หรือการทำข้าวต้มใบกะพ้อ สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาและวัฒนธรรมร่วมที่อยู่คู่กับคนใต้มาตั้งแต่โบราณ เพราะในการแทงต้มแต่ละครั้งต้องอาศัยความร่วมมือ และการร่วมแรงร่วมใจกันของคนในสังคม เมื่อมีการแทงต้มบรรดาญาติมิตรและเพื่อนบ้านก็จะมารวมตัวกัน แบ่งหน้าที่กันทำทั้งการไปตัดใบกะพ้อ เพื่อนำมาเตรียมในการแทงต้ม
ในส่วนของขั้นตอนในการแทงต้ม จะต้องฝึกและอาศัยความชำนาญ เพราะหากห่อต้มและแทงต้มไม่แน่น จะทำให้ห่อต้มคลายออก ข้าวเหนียวก็จะหลุดออกมา ทำให้ต้มที่ได้ไม่สวยงาม ดูไม่น่ารับประทาน การแทงต้มในแต่ละครั้งต้องใช้กำลังคนจำนวนมาก เพราะในอดีตการทำงานต่างๆ ไม่ได้มีเครื่องจักรช่วยทุ่นแรงเหมือนในยุคปัจจุบัน การทำอาหารในปริมาณมากๆ ต้องใช้วัตถุดิบและแรงงานในจำนวนมากเช่นกัน การแทงต้ม ต้องทำทีละลูก เป็นงานฝีมือที่ไม่สามารถใช้เครื่องจักรช่วยได้ การแทงต้มแต่ละครั้ง ต้องอาศัยแรงงานคนจำนวนมาก จึงจะสามารถทำได้ปริมาณที่มาก และเสร็จทันเวลา การแทงต้มแต่ละครั้ง ไม่สามารถทำล่วงหน้าได้ เพราะเป็นอาหารสด ใช้กะทิเป็นส่วนประกอบ การทำล่วงหน้าหลายๆ วัน มีความเสี่ยงที่ต้มจะบูด หรือเสียได้

การแทงต้มจะเป็นการสอนและส่งต่อความรู้ผ่านการลงมือทำ และจับมือทำ ผู้ที่แทงต้มชำนาญก็จะสอนให้กับเด็กๆ หรือคนรุ่นใหม่ และคอยช่วยดู ช่วยตรวจว่าแทงต้มได้แน่น และเรียบร้อยดีหรือไม่
การแทงต้มจึงเป็นการพบปะ พูดคุย และถ่ายทอดความรู้จากรุ่นสู่รุ่น ส่งต่อวิถีชีวิตแบบคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ ช่วยสืบทอดภูมิปัญญาไม่ให้หายไปกับกาลเวลา

ต้มกับประเพณีลากพระ
วันออกพรรษา ประเพณีลากพระ หรือชักเรือพระ ก็ใช้ขนมต้ม หรือที่เราเรียกว่า “ปัด” (สันนิษฐานว่ามาจากคำว่า เกอตูปัต) เป็นสัญลักษณ์ในการทำบุญตักบาตร แจกจ่ายเพื่อความเป็นสิริมงคล มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่าเมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ พุทธศาสนิกชนได้มารอรับเสด็จจำนวนมากไม่สามารถวายภัตตาหารได้จึงเอาภัตตาหารมาห่อใบไม้ส่งต่อ ๆ กันไป ส่วนที่อยู่ไกลมากก็ใช้วิธีห่อภัตตาหารด้วยใบไม้แล้วโยนใส่บาตร เป็นที่มาของ ข้าวต้มลูกโยน ปัจจุบันช่วงเทศกาลออกพรรษา วัด โรงเรียน มีการจัดให้มีกิจกรรมห่อต้มลากพระเพื่อเชิญปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้านมาเป็นวิทยาการสอนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพื่อเป็นการอนุรักษ์และสืบทอดประเพณีและคตินิยมของชาวนครศรีธรรมราชให้คงอยู่
ขั้นตอนและวิธีการทำก็อาจจะแตกต่างกันบ้าง แต่เป็นอาหารที่ต้องใช้เวลา ความตั้งใจและความปราณีตในการทำในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การเลือกสรรใบกะพ้อให้เหมาะสมกับการนำมาห่อข้าวเหนียว มะพร้าวมาคั้นกะทิ ข้าวเหนียวที่ใช้ทำ การผัดข้าวเหนียวก่อนที่จะนำมาห่อ และการห่อ ซึ่งนับวันจะมีคนที่มีทักษะและความชำนาญในการทำต้มลดน้อยลงเรื่อย ๆ การทำต้ม ตูปะนอกจากจะเป็นการอนุรักษ์ไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามของพี่น้องชาวพุทธ-มุสลิมแล้ว ยังเป็นการเชื่อมความรัก ความสมัครสมานสามัคคีระหว่างพี่น้องและคนในชุมชนด้วย
Views: 311