
นครศรีธรรมราช (Nakhon Si Thammarat) เมืองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน ตราประจำจังหวัดในปัจจุบันเป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงความเป็นมหานครในอดีต ตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นวงกลม 2 ชั้น
- ชั้นในเป็นรูปพระบรมธาตุเจดีย์เปล่งรัศมีโดยรอบ หมายถึง พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ปูชนียสถานสำคัญ
- ชั้นนอกมี 12 นักษัตรล้อมรอบ หมายถึง เมืองบริวาร 12 เมือง ของอาณาจักรนครศรีธรรมราชในอดีต
ปีนักษัตร ที่หมายถึง กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 “นักษัตร [นักสัด] น. ชื่อรอบเวลา กำหนด 12 ปี เป็น 1 รอบ เรียกว่า 12 นักษัตร โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายในปีนั้น ๆ คือ ชวด-หนู ฉลู-วัว ขาล-เสือ เถาะ-กระต่าย มะโรง-งูใหญ่ มะเส็ง-งูเล็ก มะเมีย-ม้า มะแม-แพะ วอก-ลิง ระกา-ไก่ จอ-หมา กุน-หมู” พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ผู้ตั้งเมืองนครศรีธรรมราช พระนามเดิมว่า “อโศก” เป็นชาวอินเดียที่มีความเลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์ จึงทำให้ภาษาสันสกฤตซึ่งเป็นภาษาที่ใช้ในศาสนาพราหมณ์เป็นที่แพร่หลายในเมืองนครศรีธรรมราช พระองค์ทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของนครศรีธรรมราช เป็นผู้สร้างอาณาจักร ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราชขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 1098 โดยสร้างกำแพงป้อมปราการโดยรอบทั้งชั้นนอกชั้นใน ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นมหานครใหญ่และมีอำนาจมาก มีเมืองขึ้นสิบสองหัวเมืองเรียกว่าเมือง สิบสองนักษัตร ตั้งอยู่โดยรอบและกำหนดให้ใช้สัตว์ประจำปีเป็นตราประจำเมือง
พุทธศตวรรษที่ 18-19 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์แล้วเสร็จและศาสนจักรมั่นคงแล้ว ทางด้านอาณาจักรก็ต้องจัดการปกครองหัวเมืองให้เป็นปึกแผ่นมั่นคงแข็งแรงเช่นเดียวกัน ทรงวางรูปแบบการปกครองแบบ “เมือง สิบสองนักษัตร” คือ กำหนดให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลาง มีเมืองบริวารอยู่โดยรอบสิบสองเมือง แต่ละเมืองมีฐานะเป็นหัวเมืองหรือเมืองขึ้น และได้กำหนดตราสัญลักษณ์ประจำเมืองเป็นรูปประจำปีนักษัตร เพราะเมืองบริวารมีสิบสองเมืองเท่ากับปีนักษัตร จึงเป็นชื่อเรียกเมืองบริวารว่า “เมืองสิบสองนักษัตร” ทำให้นครศรีธรรมราชเป็นเมืองที่มีอำนาจอิทธิพลมากที่สุดบนคาบสมุทรเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
สิบสองนักษัตร

นครศรีธรรมราช กับสิบสองหัวเมือง
- เมืองสายบุรี หัวเมืองที่ 1 ถือตราหนู (ชวด) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นอำเภอในจังหวัดปัตตานี
- เมืองปัตตานี หัวเมืองที่ 2 ถือตราวัว (ฉลู) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดปัตตานี
- เมืองกลันตัน หัวเมืองที่ 3 ถือตราเสือ (ขาล) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
- เมืองปะหัง หัวเมืองที่ 4 ถือตรากระต่าย (เถาะ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งในประเทศมาเลเซีย
- เมืองไทรบุรี หัวเมืองที่ 5 ถือตรางูใหญ่ (มะโรง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งในประเทศมาเลเซีย ชื่อว่า “รัฐเคดาห์”
- เมืองพัทลุง หัวเมืองที่ 6 ถือตรางูเล็ก (มะเส็ง) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดพัทลุง
- เมืองตรัง หัวเมืองที่ 7 ถือตราม้า (มะเมีย) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดตรัง
- เมืองชุมพร หัวเมืองที่ 8 ถือตราแพะ (มะแม) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคือจังหวัดชุมพร
- เมืองบันทายสอ สันนิษฐานว่าเป็นเมืองไชยา หัวเมืองที่ 9 ถือตราลิง (วอก) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดสุราษฎร์ธานี
- เมืองสะอุเลา สันนิษฐานว่าเป็นเมืองท่าทองอุแทหรือกาญจนดิษฐ์ ซึ่งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มแม่น้ำท่าทอง และลุ่มคลองกะแดะ หัวเมืองที่ 10 ถือตราไก่ (ระกา) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
- เมืองตะกั่วป่า หัวเมืองที่ 11 ถือตราสุนัข (จอ) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันคืออำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา
- เมืองกระบุรี หัวเมืองที่ 12 ถือตราสุกร (กุน) เป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันมีฐานะเป็นอำเภอในจังหวัดระนอง (พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช, 2561) (ที่มา: https://www.nakhoncity.org/img/museum/10-1262.pdf)
ความเป็นมา
- พุทธศตวรรษที่ 17-19 นครศรีธรรมราชปกครองโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช มีความเจริญรุ่งเรืองสูงสุด
- เป็นสถานีการค้าสําคัญของคาบสมุทรไทย เป็นจุดพักถ่าย ซื้อสินค้าระหว่าง ตะวันออกกับตะวันตก
- เป็นศูนย์กลางของชุมชน เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธองค์ความศรัทธาและ ความเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นปัจจัยหลัก ทำให้ผู้คนจากทุกสารทิศในภาคใต้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในนครศรีธรรมราชอย่างหนาแน่น
- ราว พ.ศ. 1700 เศษ ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ก็สามารถจัดการปกครอง หัวเมืองรายรอบ ได้สําเร็จถึงสิบสองเมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร
สิบสองนักษัตร เป็นชั้นวงกลมชั้นนอกของตราประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช เมืองที่มีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นจุดศูนย์กลางของสิบสองเมืองบริวารที่ช่วยกันทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา แม้รูปแบบการปกครองเปลี่ยน แต่ศรัทธาที่มีต่อพระบรมธาตุเจดีย์ยังคงอยู่ ปัจจุบันจะเห็นนักษัตรทั้งสิบสอง อยู่บนหัวเสาไฟกลางถนนบ้าง ข้างถนนบ้าง ในเขตเทศบาลจังหวัดจังหวัดนครศรีธรรมราช และที่เสาไฟจะมีหัวนะโม อักษรปัลลวะ “นะ” ลอลิงกลับหลัง สัญลักษณ์ที่มีความหมายต่อนครศรีธรรมราชเช่นกัน
เงินนะโม เมืองนครศรีธรรมราช

เงินตราของอาณาจักรตามพรลิงค์ ในช่วงที่เจริญรุ่งเรืองสูงสุดทั้งด้านการปกครองและศาสนาบนคาบสมุทรมลายู ราวพุทธศตวรรณที่ 17-18 เงินนะโม เม็ดเล็กกลม ด้านหนึ่งมีอักษร นะ ซึ่งอาจจะเป็นที่มาของชื่อ นะโม
เงินนะโม ความเป็นมา
- ก่อนพุทธศตวรรษที่ 18 หัวนะโมเป็นเบี้ย ที่ไว้ใช้แทนเงินตราสำหรับแลกเปลี่ยน ของอาณาจักรตามพรลิงค์ ทำจากโลหะ ในรัชสมัยพระเจ้าศรีธรรมโศกราช
- เหตุที่ชื่อว่าหัวนะโมนั้น มาจากการจารึกอักษรปัลลวะหรืออักษรอินเดียโบราณ ที่เรียกว่า ตัว “นะ” ไว้บนเม็ดเงินที่มีลักษณะกลม
- สมัยของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช กษัตริย์แห่งอาณาจักรตามพรลิงค์ เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาด จึงได้มีการทำพิธีปลุกเสกหัวนะโม ด้วยพิธีกรรมแบบพราหมณ์โดยอัญเชิญเทพเจ้าสามพระองค์ซึ่งได้แก่ พระศิวะ พระวิษณุ และพระพรหม มาสถิตในหัวนะโม แล้ว นำไปหว่านยังจุดที่มีโรคระบาด และรอบเมืองปรากฏว่าโรคระบาดหายไปจากเมืองนครศรีธรรมราช
- โรงพิธีปลุกเสกหัวนะโม ทำในบริเวณวัดพระมหาธาตุด้านบูรพา (ทิศตะวันออก) ภิกษุสงฆ์และพราหมณ์เข้าพิธีปลุกเสกตามศาสนาของตน
- ในสมัยรัชกาลที่ 4 กรุงรัตนโกสินทร์ได้เกิดโรคห่าหรืออหิวาตกโรคระบาดในเมืองนครศรีธรรมราชอีกครั้ง จึงได้ทำพิธีปลุกเสกหัวนะโมเพื่อนำไปหว่านรอบเมือง และในครั้งนี้โรคระบาดก็หายไปเหมือนเดิม
วิธีการทำ
- เงินยวง (โลหะเงินไม่ผสมโลหะอื่น ที่มีความขาวและนิ่ม) มาตอกอักขระ “นะ” และขึ้นรูปเป็นเม็ดกลมเล็ก
- นวโลหะ (โลหะเก้าอย่าง) หรือสัตตโลหะ (โลหะเจ็ดอย่าง) มาตอกอักขระ “นะ” และขึ้นรูป
- ใส่แร่ปรอทเพื่อเพิ่มความศักดิ์สิทธิ์ เพราะเชื่อว่าปรอทเป็นธาตุศักดิ์สิทธิ์ แต่ก็มีการซัดว่านยาเพื่อเป็นการใช้สมุนไพรกำราบพิษจากปรอทควบคู่กันไปด้วย
- ขนาดไม่ใหญ่ ปรอทที่ถูกในภายในหัวนะโมมีขนาดประมาณเมล็ดถั่วเขียว
- มีความเชื่อว่า หัวนะโม ป้องกันอันตราย หรือป้องกันโรคภัยไข้เจ็บได้
- เปรียบได้กับเบี้ยแก้ โดยลักษณะการทำ ความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ คล้ายกัน
ความหมาย
- อักขระ “นะ” เป็นอักษรปัลลวะของอินเดียโบราณ ร่องบากของอักษร นะ มีลักษณะคล้ายร่องโยนิ เงินตรานะโมจึงน่าจะเป็นการนมัสการเทพของพราหมณ์ไศวนิกาย
- ตัว “นะ” ลอลิงหัวกลับ นะโม ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน เป็นอักษรตัวแรก แห่งพระคาถาในพระไตรปิฎก
- อาจมาจากคำว่า “นมะ” หรือ “นมัส” เป็นคำที่เปล่งออกมาเพื่อแสดงออกถึงความเคารพต่อพระผู้เป็นเจ้า สัญลักษณ์ของนะโมในตอนนั้นน่าจะมีความหมายเชื่อมโยงกับความเชื่อทางศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย
- นะโม อาจหมายถึงความนอบน้อมหรือหมายถึงหัวใจของคาถาพุทธศาสนา “นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมา สมฺพุทธสฺส”
วัตถุมงคลศักดิ์สิทธิ์คู่เมือง นครศรีธรรมราช เป็นวัตถุทรงกลมขนาดเล็กสร้างด้วยเนื้อโลหะผสม มีตัวอักษรขอมอยู่ตรงกลาง อ่านว่าตัว “นอ” หรือตัว “นะ” ด้านหลังจะมีตราสัญลักษณ์ต่าง ๆ แบบโบราณดั้งเดิมคือ
- หลังดอกจัน มีกลีบดอก 8 กลีบ เปรียบได้กับ ธรรมจักรมีกำ 8 ซี่ หมายถึง อริยมรรคมีองค์ 8 ในทางพระพุทธศาสนา และมีความเชื่อว่าป้องกันภัยได้ทั้งแปดทิศ
- หลังดอกพิกุล ตามคติแต่โบราณเชื่อกันว่าดอกพิกุล เป็นดอกไม้มงคลของต้นไม้ในสวนสวรรค์
หัวนะโม ยังคงสืบทอดและมีอยู่ในสังคมภาคใต้ เกิดจากศรัทธาและความเชื่อ สร้างขึ้นเพื่อป้องกันอันตรายจากโรคภัยไข้เจ็บ เป็นศรัทธา เป็นความเชื่อ ที่ผ่านประวัติศาสตร์มาเนิ่นนาน “หัวนะโม” ถือเป็นเครื่องรางของขลังหรือวัตถุมงคลชิ้นเอกของนครศรีธรรมราช เงินตราที่แสดงถึงศาสนจักรแห่งพราหมณ์และพุทธ ปัจจุบันปรับเปลี่ยนรูปแบบกลายเป็นเครื่องประดับเพื่อให้พกติดตัวได้ง่าย บางบ้านเวลาจะอวยพรคู่บ่าวสาว หรือให้พรลูกหลานจะเอาหัวนะโมที่ผ่านพิธีกรรมเรียบร้อยแล้ว นำมาใส่ขันทำน้ำมนต์รดให้เป็นสิริมงคล หัวนะโม หนึ่งในสัญลักษณ์อันทรงคุณค่าของนครศรีธรรมราช “คนคอนถ้าไม่โร้จักหัวนะโม ก่าเหมือนไม่โร้จักตัวเอง”
- นครศรี นครอันสง่า
- ธรรมราชา พระราชาผู้ทรงธรรม
- นักษัตร เมืองบริวารสิบสองเมืองของอาณาจักร
- นะโม เดิมอยู่ในฐานะเงินตราในอาณาจักรตามพรลิงค์
ทั้งนักษัตรและนะโม คือประวัติศาสตร์ของเมืองนครศรีธรรมราช มีมา มีอยู่ และมีตลอดไป
ข้อมูลอ้างอิง:
- https://www.finearts.go.th/storage/contents/file/vIQILJrzcORiS9cWp8LSMuVf9AMAQD6YXLct1wcj.pdf หน้า 181
- http://www.dla.go.th/work/province_logo.pdf หน้า 13
- ฉัตรชัย ศุกระกาญจน์. (2020). รัฐตามพรลิงค์ (หรือนครศรีธรรมราช). http://phramahathat-heritage.com/2020/07/01/รัฐตามพรลิงค์-หรือนครศรีธรรมราช/
- ตราประจำจังหวัด. (ม.ป.ป.). https://sites.google.com/site/rachnikrchumkaew/tra-praca-canghwad
- “หัวนะโม” ของขลังของดีแห่งนครศรีธรรมราช. (6 สิงหาคม 2562). ผู้จัดการออนไลน์. (https://mgronline.com/travel/detail/9620000074818
- GIT Information Center. (2021). หัวนะโมเมืองนครฯ จากความเชื่อสู่เครื่องประดับ. https://www.tpa.or.th/writer/read_this_book_topic.php?bookID=5366&read=true&count=true
- ศูนย์ข้อมูลอัญมณีและเครื่องประดับ. (ม.ป.ป.). หัวนะโมเมืองนครฯ จากความเชื่อสู่เครื่องประดับ. https://infocenter.git.or.th/storage/files/8VtLTXgcWhTRBAMMLJStc2Fbhb3Y7J0JYp2I0ifG.pdf
- สารนครศรีธรรมราช ปีที่ ๒ ฉบับที่ ๑๗ ประจำเดือนกรกฎาคม ๒๕๑๔
- ประวัติหัวนอโม ประวัติหัวนะโม. (ม.ป.ป.). http://พราหมณ์.com/ th-TH/พราหมณ์กับประเพณี/2-พราหมณ์พิธี/79-ประวัติหัวนอโม-ประวัติหัวนะโม.html
- พิพิธภัณฑ์เมืองนครศรีธรรมราช. (2561). https://www.nakhoncity.org/img/museum/10-1262.pdf
Views: 961