ลูกประ หรือ ลูกกระ คือ เมล็ดหรือผลของต้นประ ไม้ยืนต้นที่พบในได้ในป่าดงดิบของภาคใต้ โดยเฉพาะในเขตเทือกเขา ป่ากรุงชิง อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดตรัง และจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ในเขตเทือกเขาบรรทัด ยาวตลอดไปจนถึงมาเลเซีย คนนครศรีธรรมราชนิยมนำมาแปรรูปเป็นอาหารได้หลากหลายจาน ลูกที่แก่จัดต้มให้สุกแล้วนำไปดองในน้ำเกลือ เก็บไว้กินได้นาน จะกินเล่น หรือใส่ในแกงส้ม แกงพุงปลา ต้มกะทิ เป็นผักเหนาะข้าว หนมจีน นอกจากนี้แล้วยังนำมาคั่วให้แห้ง แกะเปลือกออกนำมาทำน้ำชุบ หอม อร่อย ทำให้แห้งเก็บใส่กระปุกไว้กินได้ เมื่อก่อนอาจะเป็นอาหารจานบ้าน ๆ แต่ในปัจจุบันมีขายตามท้องตลาด
- ในปัจจุบัน มีการนำมาเพิ่มมูลค่า ด้วยการทำ ลูกประทรงเครื่อง นำมาเป็นส่วนประกอบของช็อกโกแลตอีกด้วย
- ประ ความหมายตามพจนานุกรม ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เรียกว่า “ลูกกระ”
- “(ถิ่น-ปักษ์ใต้, มลายู) [ปฺระ] น. ลูกกระ” (https://dictionary.orst.go.th/)
- ลูกประ เป็นภาษาถิ่น ตามพจนานุกรมจะเรียกว่า ลูกกระ มีลักษณะคล้ายลูกยางพารา เวลาสุกก็จะแตกตกลงพื้นเช่นเดียวกันกับลูกยางพารา พบได้มากในภาคใต้



ลักษณะทั่วไป
ชื่อทั่วไป: ประ
ชื่อวิทยาศาสตร์: Elateriospermum tapos Blume
ชื่อท้องถิ่น: ภาคใต้ เรียก ประ/กระ ; มลายู-ยะลา เรียก ปีระ
ถิ่นกำเนิด: ภาคใต้ของประเทศไทย มาเลเซีย และแถบหมู่เกาะสุมาตรา
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ต้น: ไม้ต้นขนาดใหญ่ สูงถึง 20-40 เมตร
ใบ: ใบเดี่ยว ใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ใบเป็นรูปรี ฐานใบมน กิ่งแหลม ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย เมื่อแตกใบอ่อนจะมีสีชมพูแดงและค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีเขียว และเมื่อแก่มีสีน้ำตาล ก้านใบยาวสีเหลืองหรือเขียวอ่อน ใบรูปรีหรือขอบขนาน ปลายใบยาวคล้ายหาง โคนใบสอบเรียวหรือมน ขอบใบเรียบ ผิวใบเป็นมันวาว เส้นกลางใบชัดเจน เส้นแขนงใบ 15-20 คู่ เรียงตรงข้ามหรือสลับจากเส้นกลางใบ
ดอก: ดอกออกเป็นช่อกระจะที่ปลายกิ่ง ช่อสีขาวนวล ดอกแยกเพศ ดอกตัวผู้มีกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ มีเกสรตัวผู้จำนวนมาก ดอกตัวเมีย รังไข่มีสีชมพูอ่อน ช่อดอกยาว 19 เซนติเมตร ดอกมีสีขาวเกสรสีเหลือง มีกลิ่นหอมฉุน
ผล: ผลสดมีเปลือกหุ้มเป็นพู วงรี ผลอ่อนสีเขียวแก่จัดเป็นสีดำปนน้ำตาลมีเปลือกข็งหุ้มผิวมัน เนื้อข้างในเป็นสีขาวนวล กะเทาะเปลือกออกมาแล้วบางคนบอกคล้ายเม็ดขนุน


ลูกประกับตำรับอาหารพื้นถิ่นเมืองคอน
แกงส้ม ลูกประ
วิธีทำ:
- เตรียมปลา (ใช้ปลาน้ำจืด เช่น ปลาช่อน ปลานิล)
- เครื่องแกงส้มผสมกะปิเล็กน้อย
- แกะเปลือกประดอง ล้างน้ำทิ้ง 1 ครั้ง
- ใส่น้ำในหม้อตั้งไฟให้เดือด
- ใส่เครื่องแกงผสมให้เข้ากัน
- เติมเครื่องปรุง น้ำปลาหรือเกลือ น้ำตาลปึก น้ำมะนาวหรือใช้ส้มแขก
- รอจนน้ำแกงเดือดจึงใส่ปลาลงไป
- เมื่อปลาสุกใส่ลูกประที่เตรียมไว้ ชิมรสตามชอบ


น้ำชุบ ลูกประ
วิธีทำ
- ลูกประสดแกะเปลือกออก หั่นเป็นแว่นบาง ๆ คั่วจนเหลืองกรอบ
- ตำพอหยาบ ๆ
- เติมหอมซอย กะปิ พริกขี้หนูตำให้ละเอียด
- ปรุงรสด้วยน้ำตาลบึก น้ำมะนาวเล็กน้อย คลุกเคล้าให้เข้ากัน ชิมรสตามชอบ
ลูกประ ดอง
วิธีทำ
- ล้างให้สะอาด แช่น้ำราว 3 ชั่วโมงเพื่อคัดลูกเสียที่ลอยน้ำทิ้ง
- นำไปต้มในน้ำสะอาด ต้มด้วยไฟแรง ใส่เกลือ ต้มจนสุก
- เมื่อสุกแล้วตักใส่ภาชนะ พักไว้ให้เย็น
- นำลูกประมาดองด้วยน้ำเกลืออีกครั้ง ดองแล้วจะยังคงความมันไว้เหมือนเดิม แต่เพิ่มรสเปรี้ยว เค็ม อร่อยเหมือนเดิม
การใช้ประโยชน์จากป่าประ
- ใช้ประกอบอาหาร โดยนำมาดอง ต้ม คั่ว ทอด ฉาบ และประกอบอาหาร เช่น แกงส้ม น้ำชุบ ลูกประทรงเครื่อง ฯลฯ
- ใช้เป็นสีย้อมผ้า ใบของต้นประนำมาทำสีย้อมผ้า จะให้สีน้ำตาลอ่อน น้ำตาลเข้ม สีอิฐ และสีชมพูอมแดง
- ใช้ทำของเล่น โดยนำมาทำเป็น “ลูกหวือ” ของเล่นเด็ก ๆ ในสมัยก่อนเก่า
การรักษาป่าประ ตามความเชื่อและภูมิปัญญาชาวบ้าน
ชาวบ้านในชุมชนจะมีพิธีกรรมการเปิดป่าประ เพื่อบวงสรวงเจ้าที่หรือเทวาอารักษ์ที่ดูแลป่าประ โดยมี “ต้นประขวัญ” ซึ่งเป็น ต้นประในพิธีกรรม 1 ต้น เป็นตัวแทนแห่งความเป็นศิริมงคล ซึ่งการมีพิธีกรรมนี้ชี้ให้เห็นถึงคุณธรรม จริยธรรมในด้านความเคารพต่อผู้มีพระคุณที่ทำให้ได้มีลุกประกิน แม้จะไม่เห็นตัวตนแต่เป็นเรื่องของความเชื่อและจิตวิญญาณที่ทำแล้วให้เกิดความสุขและมั่นใจ ภูมิปัญญาของการอนุรักษ์ป่า
ลูกประ เป็นผลของต้นประซึ่งเป็นไม้ป่า ขึ้นในป่าดงดิบบนภูเขา มีปีละครั้งเท่านั้น เพราะฉะนั้นการจะได้มาเราต้องเข้าไปหาในป่า บนภูเขา ประเหมือนกับยางตรงที่ลูกแตกแล้วปลิวกระเด็นไม่หล่นใต้ต้น ประขึ้นเป็นป่าเรียกป่าประเวลาขึ้นไปหาต้องขึ้นไปเป็นหมู่คณะห้ามไปคนเดียวเพราะจะหาไปได้เรื่อยและหลงอยู่ในป่าได้ และด้วยภูมิปัญญาการถนอมอาหารของท้องถิ่นทำให้มีการดองเพื่อจะเก็บอาหารไว้ได้นาน ๆ ประดองกินเป็นผักเหนาะ ใช้ปรุงอาหาร แกงส้ม ต้มทิ หรือกินแกะกินเฉย ๆ ก็ได้
ประเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ไม่เหมาะและไม่นิยมที่จะปลูกบริเวณบ้าน ที่กรุงชิงฤดูกาลที่ประแตกยอด ทั้งเขาจะเป็นสีชมพูอมแดง สะท้อนแสงแดด ตัดกับสีเขียวของขุนเขา สีฟ้าของท้องฟ้าวันที่ฟ้าใส ใส สวยจนอยากให้มาดูด้วยกัน ป่าประไม้ประจำถิ่นที่เมืองนครศรีธรรมราช
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
- พิชญาดา เจริญจิต. (2564, 8 กุมภาพันธ์). ลูกประ อาหารพื้นเมืองคนใต้. เทคโนโลยีชาวบ้าน.
- จุติพร อัศวโสวรรณ, จรุงใจ มนต์เลี้ยง, จุฑามาศ ศุภพันธ์, สาวิมล รอดเจริญ, ธวัชชัย คงนุ่ม, สุชาดา จิตกล้า, พิมพ์ลภัส จิตต์ธรรม, พงศ์ธร บรรณโศภิษฐ์ และ สุดารัตน์ แก้วกับทอง. ภูมิปัญญานิเวศวิถีป่าประนบพิตำ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช. วารสารนาคบุตรปริทัศน์, 12 (2). https://so04.tci-thaijo.org/index.php/nakboot/article/view/241929
- เสาวลักษณ์ เชื้อคำ. (ม.ป.ป.). ลูกประดอง ของดองเคี้ยวเพลินจากแดนใต้. krua.co. https://krua.co/food_story/look-pra
- สุชาดา ลิมป์. (2022). Special Scene : ผล “ประ (โยชน์)” ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป. สารคดี, 4 ตุลาคม.
- ลูกประ พืชท้องถิ่นภาคใต้ ผลรสชาติจะคล้ายกับถั่วอัลมอนด์และเม็ดมะม่วงหิมพานต์ https://www.kasettambon.com/
ภาพประกอบเนื้อหาบางส่วนจาก
- แกงส้มลูกประ https://district.cdd.go.th/nopphitam/2019/02/05/อนุรักษ์อาหารพื้นถิ่น-บ
- Facebookบ้านยายราโฮมสเตย์ https://www.facebook.com/photo/?fbid=2171269119648371&set=a.1182438665198093 ลูกประดอง https://www.facebook.com/photo/?fbid=973499321460980&set=pcb.973500631460849
- ต้นประ ส่วนอุทยานแห่งชาติ สํานักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 5 นครศรีธรรมราช https://www.facebook.com/photo/?fbid=268369727895628&set=pcb.268379994561268
Views: 398