ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งดอกราชพฤกษ์ มีความหมายว่า “ต้นไม้ของพระราชา” ส่วน นครศรีธรรมราช แปลความหมายได้ว่า “นครอันงามสง่า แห่งพระราชาผู้ทรงธรรม” ท้้งสองชนิดมีความสอดคล้องกัน จึงน่าจะเป็นที่มาของดอกไม้ประจำเมืองแห่งพระราชาผู็ทรงธรรม

“ดอกราชพฤกษ์” ดอกไม้สีเหลืองอร่าม ซึ่งสำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ดอกราชพฤกษ์ถือเป็นดอกไม้ประจำจังหวัด ซึ่งสีเหลืองเป็นหนึ่งในสีธงของจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นตราสัญลักษณ์ของเมืองพระและตราสิบสองนักษัตร อันเป็นตราประจำเมืองตรงกลางผืนธง

นอกจากนั้น ดอกราชพฤกษ์ ยังเป็นดอกไม้ประจำชาติไทย และดอกไม้ประจำเทศกาลสงกรานต์ เพราะในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ราชพฤกษ์จะออกดอกสะพรั่งเต็มต้น มีช่อดอกเป็นพวงห้อยระย้าอย่างสวยงามมีเหลืองอร่าม ซึ่งสีเหลืองเป็นสีที่ตรงกับวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสีเหลืองยังเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนาอีกด้วย และยังเป็นไม้มงคล ที่นำไปใช้ในการประกอบพิธีสำคัญ เช่น การนำเนื้อไม้ไปใช้เป็นเสาหลักเมือง ทำคฑาจอมพล ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร ถูกจำลองแบบประดับไว้บนอินทรธนูของข้าราชการพลเรือน ใช้ในการประกอบพิธีลงเสาเอกบ้านใหม่ นอกจากนั้นยังมีความเชื่อกันว่าหากนำต้นราชพฤกษ์ไปปปลูกทางทิศตะวันจกเฉียงใต้ ของบ้าน จะทำให้สมาชิกของบ้าน เจริญรุ่งเรื่องเป็นเท่าทวีคูณ ตามชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “คูน”

ดอกราชพฤกษ์ เป็นดอกไม้มงคลที่ใช้แทนสัญลักษณ์ :
ประเทศไทย : ดอกไม้ประจำชาติไทย
สัญลักษณ์ทางพระพุทธศาสนา : ดอกไม้ประจำเทศกาลสงกรานต์
นครศรีธรรมราช : ดอกไม้ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม : ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัย

เป็นไม้ยืนต้นที่มีถิ่นกำเนิดในแถบเอเชียใต้ ทางตอนใต้ของประเทศปากีสถาน อินเดีย พม่า ศรีลังกา และ กระจายทั่วไปตามป่าเบญจพรรณ หรือป่าเต็งรัง ส่วนในประเทศไทยพบได้ทั่วไป แต่จะพบมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
มีชื่อวิทยาศาสตร์ : cassia fistula l. | ชื่อวงศ์ : fabaceae / caesalpiniaceae | ชื่อสามัญ : golden shower, indian laburnum, pudding-pine tree | ชื่อพื้นเมือง : คูน ชัยพฤกษ์ (ภาคกลาง) ลมแล้ง (ภาคเหนือ) ลักเคยลักเกลือ (ภาคใต้) กุเพยะ(กะเหรี่ยงกาญจนบุรี) ปึยยะปูโย เปอโซ แมะหล่าหยู่ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน)
ราชพฤกษ์ : เป็นไม้ต้น มีความสูงประมาณ 5 – 15 เมตร เปลือกต้นเรียบ เกลี้ยง มีสีเทาอ่อน หรือสีเทาอมน้ำตาล สีเทาอมขาว หรือสีนวล
ลักษณะทั่วไปและลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ใบ : เป็นใบประกอบแบบขนนก ออกเรียงสลับ ลักษณะใบย่อยรูปไข่ ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ โคนใบมน แผ่นใบเรียบสีเขียวเป็นมัน มีใบย่อยประมาณ 4 – 12 คู่
ดอก : ออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ ลักษณะช่อห้อยระย้าออกตามกิ่งหรือออกตามซอกใบ ออกดอกแบบสมมาตรด้านข้าง มีกลีบดอก 5 กลีบ ปลายมน สีเหลืองสด โดยกลีบดอกบนสุดจะเรียงอยู่รอบในสุด ดอกมีกลิ่นหอมอ่อนอ่อน จะออกดอกสีเหลืองอร่ามบานสพรั่งในหน้าแล้ง คือราวเดือนมีนาคม-เมษายน ซึ่งเป็นดอกไม้บานท้าลมแล้ง จนมีชื่อเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “ดอกลมแล้ง”

ผล : เป็นฝักกลมทรงกระบอกยาว 30 – 60 เซนติเมตร ผิวเรียบ และมีเปลือกแข็ง ภายในมีผนังแบนสีน้ำตาล กั้นเป็นห้องและมีเมล็ดห้องละ 1 เมล็ด ผลอ่อนจะมีสีเขียว เมื่อแก่จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม หรือดำ
เมล็ด : มีเนื้อหุ้มนิ่ม สีน้ำตาลไหม้ หรือสีดำ ลักษณะกลมมนและแบน มีรสหวาน

การใช้ประโยชน์ "ต้นราชพฤกษ์"
เป็นไม้มงคลใช้ในการประกอบพิธี การลงเสาหลักเมือง การลงเสาเอกของบ้าน การทำคฑาจอมพล ยอดธงชัยเฉลิมพลของกองทหาร เป็นต้น หรือปลูกเป็นไม้ประดับตามบ้านเรือน ราชพฤกษ์นอกจากจะเป็นไม้มงคลแล้ว ยังเป็นไม้ที่ให้ร่มเงาและมีความสวยงาม เหมาะสำหรับการปลูกไว้ประดับตกแต่งบ้านเรือน ใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรค โดยนำส่วนต่าง ๆ มาใช้ในการรักษาโรค เช่น ใบอ่อน นำมาโขลกหรือคั้นเอาน้ำมา ทารักษาโรคกลาก เกลื้อน ; ใบแก่ รสเมา ใบสดหรือตากแห้ง ใช้เป็นยาถ่าย ฆ่าพยาธิผิวหนัง รักษาอัมพาตของกล้ามเนื้อบนใบหน้า พอกแก้ปวดข้อ หรือต้มน้ำดื่มแก้โรคเกี่ยวกับสมอง แก้เส้นเอ็นพิการ ; เปลือกต้น รสฝาดเมา เป็นยาช่วยเร่งการคลอด รักษาอาการท้องร่วง ; กระพี้ รสเมา แก้รำมะนาด ; แก่น รสเมา ขับพยาธิไส้เดือน รักษาอาการท้องร่วง และช่วยเร่งคลอด ; ดอก รสเปรี้ยวขม รักษาโรคกระเพาะอาหาร เป็นยาถ่าย ต้มดื่มแก้ไข้ แก้แผลเรื้อรัง ช่วยหล่อลื่นในลำไส้ ระบายท้อง ; เนื้อในฝัก รสหวานเอียน ถ่ายเสมหะ และแก้พรรดึก เป็นยาระบาย ช่วยบรรเทาอาการแน่นหน้าอก ฟอกหรือชำระน้ำดี แก้ลมเข้าข้อ และขัดข้อ ; เปลือกฝัก รสเฝื่อนเมา ทำให้แท้งลูก ขับรกที่ค้าง และทำให้อาเจียน ; เมล็ด ช่วยกระตุ้นให้อาเจียน เป็นยาถ่าย ; เปลือกราก รสฝาด ต้มดื่มแก้ไข้มาลาเรีย และระบายพิษไข้ใช้ร่วมกับเนื้อในฝักเป็นยาแก้ไข้มาลาเรีย และเป็นยาระบาย และ ราก รสเมา เป็นยาบำรุง รักษาโรคเกี่ยวกับหัวใจ โรคเกี่ยวกับถุงน้ำดี เป็นยาถ่ายอย่างแรง รักษาอาการไข้ ระบายพิษไข้ ถ่ายสิ่งโสโครกออกจากร่างกาย ฆ่าเชื้อคุดทะราด แก้กลากเกลื้อน
กัลปพฤกษ์ [กันละปะพฺรึก] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia bakeriana Craib ในวงศ์ Leguminosae มีมากทางภาคอีสานและภาคเหนือ ดอกสีชมพูอ่อนถึงขาว ออกเป็นช่อในระหว่างทิ้งใบหรือผลิใบใหม่ ฝักมีขนนุ่ม
กาฬพฤกษ์ น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia grandis L.f. ในวงศ์ Leguminosae ลําต้นดํา ใบอ่อนสีแดง ดอกเล็ก สีแดงคล้ำแล้วเปลี่ยนเป็นสีชมพูอมส้ม ฝักใหญ่อ้วนสั้น ผิวขรุขระ ด้านข้างมีสัน เป็นพรรณไม้ที่นําเข้ามาปลูก
ชัยพฤกษ์ [ไชยะพฺรึก] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia javanica L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีชมพูเข้ม เมื่อออกดอกไม่ทิ้งใบ ฝักเกลี้ยง ใช้ทํายาได้
ราชพฤกษ์ [ราดชะพฺรึก] น. ชื่อไม้ต้นชนิด Cassia fistula L. ในวงศ์ Leguminosae ดอกสีเหลือง ฝักสีดํา เกลี้ยง ใช้ทํายาได้ คูน หรือ ลมแล้ง ก็เรียก ซึ่งเป็น ดอกไม้ประจำชาติ ประจำเทศกาลสงกรานต์ และ ประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช


ดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้แห่งฤดูกาล เป็นดอกไม้แห่งฤดูร้อน เมื่อกาลเวลามาถึง จะออกดอกบานสะพรั่ง มีสีเหลืองเป็นช่อระย้าย้อยอร่ามพร้อมกันในช่วงฤดูร้อน
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ต้นราชพฤกษ์ ต้นไม้มงคล. ข้อมูลทั่วไปด้านการเกษตร. blog.arda.or.th/สมุนไพร/ต้นราชพฤกษ์-ต้นไม้มงคล/
Views: 28350