ดอกประดู่  ดอกไม้แห่งความศักดิ์สิทธิ์และการเป็นหนึ่งเดียวกัน

ดอกประดู่ ดอกไม้แห่งความศักดิ์สิทธิ์ และการเป็นหนึ่งเดียวกัน

ดอกประดู่  ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  และเป็นคำที่นำมาใช้เรียกรุ่นของนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ว่า “ช่อประดู่”  เปรียบเหมือนดอกประดู่ที่แบ่งบาน เติบโตในดินแดนประดู่แห่งนี้ เช่น “ประดู่ช่อแรก”  หมายถึงนักศึกษารุ่นที่ 1  หรือ ประดู่ช่อที่ 9  หมายถึงนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นรุ่นที่ 9 เป็นต้น

ลักษณะโดยทั่วไปของดอกประดู่

       ประดู่  เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ลำต้นมีความสูงประมาณ 20-25 เมตร หรืออาจะสูงกว่านั้น เป็นไม้กลางแจ้งชอบแดดจัด ดอกประดู่เป็นดอกไม้ขนาดเล็กที่รวมกันเป็นช่อ มักออกดอกปลายกิ่ง ซึ่งจะมีการผลัดใบก่อนออกดอกพร้อมกันทั้งต้น จะออกดอกเป็นช่อแบบช่อกระจะ โดยจะออกบริเวณซอกใบหรือที่ปลายกิ่ง โคนก้านมีใบประดับ 1-2 อัน ลักษณะเป็นรูปรี กลีบเลี้ยงดอกมี 5 กลีบ ติดกันเป็นถ้วยสีเขียว ปลายแยกเป็นแฉก 2 แฉก แบ่งเป็นอันบน 2 กลีบติดกัน และอันล่าง 3 กลีบติดกัน ส่วนกลีบดอกมี 5 กลีบ สีเหลืองแกมแสด ลักษณะของกลีบเป็นรูปผีเสื้อ ดอกมีเกสรเพศผู้ 10 อัน ก้านชูอับเรณูติดกันเป็น 2-3 กลุ่ม ส่วนเกสรเพศเมียมี 1 อัน ดอกมีกลิ่นหอมแรง จะบานและร่วงพร้อมกันทั้งต้น โดยจะออกดอกในช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน ดอกมีสีเหลืองทองอร่าม เมื่อบานสะพรั่งพร้อม ๆ กันจะงดงามส่งกลิ่นหอมขจรไกล

     ประดู่  มีชื่อเรียกสามัญภาษาอังกฤษว่า “Burmese Rosewood”  จัดอยู่ในสกุล “Pterocarpus”  จำแนกอยู่ในวงศ์ PAPILIONACEAE  และมีชื่อเรียกทางพฤกษศาสตร์ว่า “Pterocarpus indicus Willd” 

      ชื่อเรียกที่แตกต่างกันแต่ละพื้นถิ่น

  • ประเทศไทย เรียก  ดอกประดู่  ประดู่บ้าน ประดู่ป่า ประดู่ลาย เป็นต้น 
  • ประเทศมาเลเซีย เรียก Padauk หรือ Angsana และ Sena 
  • ประเทศฟิลิปปินส์ เรียก Narra 
  • ประเทศอินโดนีเซีย เรียก Sonokembang 
  • ประเทศกัมพูชา เรียก Tnug
ดอกประดู่

  ใช้แทนสัญลักษณ์ของหน่วยงาน และประเทศต่าง ๆ

ดอกประดู่  เป็นดอกไม้ที่ใช้แทนสัญลักษณ์ของหน่วยงาน และประเทศต่าง ๆ ดังนี้

  • ดอกไม้ประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์  และเป็นคำที่นำมาใช้เรียกรุ่นของนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ ว่า "ช่อประดู่"  เปรียบเหมือนดอกประดู่ที่แบ่งบาน เติบโตในดินแดนประดู่แห่งนี้ เช่น "ประดู่ช่อแรก"  หมายถึงนักศึกษารุ่นที่ 1  หรือ ประดู่ช่อที่ 9  หมายถึงนักศึกษาที่เข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ เป็น รุ่น ที่ 9 เป็นต้น
  • ดอกไม้ ประจำกองทัพเรือไทย ซึ่งเปรียบเสมือนทหารเรือที่อยู่ในเรือรบกลางทะเล ต้องมีความอดทนแข็งแรง หากอยู่รอดก็รอดด้วยกัน หากเรือจมก็จะตายด้วยกันทั้งหมด เหมือนดอกประดู่ที่รวมช่อกันเป็นเหล่าเป็นกอที่ออกดอกบานสะพรั่งพร้อมกันทั้งต้นและร่วงหล่นไปพร้อมกันทั้งต้นเช่นกัน
  •  ดอกไม้ประจำจังหวัด ชลบุรี  ระยอง ร้อยเอ็ด และอุตรดิตถ์  ส่วนต้นประดู่บ้าน เป็นต้นไม้ประจำจังหวัดภูเก็ต

เป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศเมียนมาร์ (พม่า)  ชาวพม่า เรียกว่า “บะเต้าปาน” ชาวพม่าเชื่อว่าดอกประดู่คือสัญลักษณ์ของความแข็งแรง ความทนทาน คงทน  นอกจากจะถือว่าเป็นดอกไม้ประจำชาติของประเทศพม่าแล้ว ยังเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ของเทศกาลสงกรานต์หรือเทศกาลปีใหม่ของพม่า ที่ชาวพม่าเรียกว่า “ตะจั้น” หรือ “ตะจ่าน” (Thingyan) ราวกลางเดือนเมษายนของทุกปี ซึ่งตรงกับช่วงเวลาที่ดอกประดู่จะบานสะพรั่ง เป็นสีเหลืองทองอร่ามไปทั่วประเทศพม่า จากป่าสู่หมู่บ้าน และไม่เว้นแม้แต่เมืองใหญ่อย่างย่างกุ้ง ที่จะพบดอกประดู่ที่ปลูกเป็นไม้เรียงรายต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดสองข้างทางเข้าออกสนามบินย่างกุ้ง ประดู่เป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ ทรงต้นแผ่ให้ร่มเงาได้เป็นอย่างดี ดอกประดู่มีขนาดเล็กที่เกิดขึ้นเป็นช่อรวมกัน มักออกบริเวณปลายกิ่ง ดอกประดู่เป็นสัญลักษณ์ของความซื่อสัตย์ที่กวี และนักประพันธ์บทเพลงได้เปรียบเทียบกับความจงรักภักดีต่อความรัก ซึ่งจะเกิดขึ้นเพียงแค่ครั้งเดียวในชีวิต เมื่อต้นประดู่เริ่มผลิดอกยามถึงเทศกาลสงกรานต์ชายหนุ่มจะปีนขึ้นไปเก็บดอกประดู่ นำมามอบให้กับหญิงสาวที่ตนเองชอบ เปรียบประหนึ่งเป็นของขวัญ เพื่อแสดงออกถึงความรัก ความซื่อสัตย์ และเป็นการขออนุญาตรดน้ำเธอ ส่วนหญิงสาวชาวพม่ามักไว้ผมยาวแล้วเกล้ามวยผมพร้อมประดับตกแต่งด้วยช่อดอกประดู่บนศีรษะ เช่นเดียวกับหญิงสาวทางเหนือของไทยที่ใช้ดอกเอื้องแซมผม นอกจากจะช่วยทำให้ผมมีกลิ่นหอมจากดอกไม้แล้ว ยังถือเป็นเครื่องประดับตกแต่งด้วยอีกทางหนึ่ง ชาวพม่าถือว่าดอกประดู่เป็นดอกไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์เพราะพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่มีพระนามส่า “ติสส” ตรัสรู้ใต้ต้นประดู่ จึงนิยมใช้ดอกประดู่ในงานมงคล ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา และถวายเป็นพุทธบูชา ประดับตกแต่งในกระถางหม้อดิน สลุงหรือขันน้ำสีเงิน ยวนยานพาหนะที่แล่นไปรอบๆ เมืองก็จะถูกประดับประดาตกแต่งด้วยพวงมาลัยดอกประดู่ที่ส่งกลิ่นหอมฟุ้งไปทั่ว บริเวณสถานที่ที่พวกเขาสาดน้ำนักท่องเที่ยวหรือตามอาคารบ้านเรือนต่างก็จะถูกตกแต่งด้วยดอกไม้สีเหลืองทองอย่างดอกประดู่เช่นกัน เป็นการก้าวเข้าสู่ปีใหม่ที่ชุ่มฉ่ำ และเหลืองทองอร่ามสดใสไปทั้งเมือง คราใดที่ดอกประดู่ชูช่อสีเหลืองทองอร่ามบานสะพรั่งอยู่ทุกหัวระแหง นั้นคือสัญลักษณ์บ่งบอกว่า เทศกาลสงกรานต์ได้มาถึงแล้ว เนื่องจากดอกประดู่จะบานเพียงปีละครั้ง และจะบานเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น จึงเป็นดอกไม้ประจำเดือนเมษายนของชาวพม่า และเป็นดอกไม้ประจำเทศกาลสงกรานต์ด้วยอีกนัยหนึ่ง 

       สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น ถึงแม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องกับดอกประดู่ แต่ก็มีสัญลักษณ์ที่บ่งบอกถึงที่มาโดยมีต้นประดู่ด้วย คือ มีสถานที่ซึ่งมีประวัติเรื่องราวที่มาน่าสนใจในเชิงคติชนวิทยาแห่งหนึ่งคือ ศาลาหน้าเมืองนครฯ ตั้งอยู่ตรงประตูเมืองด้านเหนือ สร้างไว้สำหรับให้ผู้คนที่ผ่านไปมาได้หยุดพักหลบเเดดฝน และบางครั้งก็เป็นที่พักแรมแก่ผู้เดินทางไกล มีลักษณะเช่นเดียวกับศาลาริมทางที่มีอยู่ทั่วไปในชนบท เนื่องจากศาลานี้มีต้นประดู่ขึ้นเรียงรายอยู่ 6 ต้น ผู้คนจึงเรียกตามสำเนียงชาวใต้ว่า “หลาโดหก” หลาก็คือศาลา โดหกคือประดู่ 6 ต้น ภายหลังคนต่างถิ่นฟังไม่เข้าใจเรียกเป็น ศาลาโกหก พร้อมกับอธิบายความหมายว่าเพราะเป็นสถานที่ผู้คนมานั่งจับกลุ่มพูดคุยอวดโอ้โกหกกัน 

       ในที่สุดได้ขยายความต่อไปกลายเป็นเรื่องชาวเมืองชอบพูดจาโกหกเชื่อถือไม่ได้ ชาวเมืองนครฯ รู้สึกว่าเป็นเรื่องเสียหายมาก ได้มีเพลงบอกเรื่องศาลาแห่งนี้เป็นหลักฐานอยู่  ปัจจุบันทางราชการสร้างศาลาไว้หลังหนึ่งพร้อมติดป้ายบอกชื่อเดิมตามโบราณไว้ว่า  “ศาลาประดู่หก”  (ศาลาโดหก หรือศาลาประดู่หก นครศรีธรรมราช, 2018)

       นอกจากนี้ดอกประดู่ยังแสดงถึงการปลูกที่มีมายาวนานในจังหวัดนครศรีธรรมราช  ที่วัดเขาพระทอง ต. เขาพระทอง อ. ชะอวด จ. นครศรีธรรมราช ในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีชาวบ้าน และนักท่องเที่ยว แห่ชม ถ่ายภาพดอกประดู่อายุกว่า 100 ปี ที่ร่วงจากต้นที่มีกว่า 10 ต้น ทั้งต้นเล็ก และต้นขนาดใหญ่ใหญ่ 5 คนโอบ ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกกว่า 100 ปี พร้อมใจร่วงโปรยลงพื้นลานวัด สร้างความตื่นตา ตื่นใจให้กับพุทธศาสนิกชนที่มากราบไหว้ขอพร แก้บน หลวงพ่อองค์ใหญ่อายุกว่า 800 ปี และองค์ท้าวเวสสุวรรณ ที่ประดิษฐานบริเวณหน้าผาเขาพระทอง  เพราะเชื่อว่าดอกประดู่ไม่ต่ำกว่า 1 ล้านดอกร่วงลงพื้นลานวัดพร้อมกันนั้นถือเป็นปรากฏการณ์ที่มหัศจรรย์  สิริมงคล เพราะพื้นลานวัดที่เต็มไปด้วยดอกประดู่สีเหลืองจนแปรสภาพพื้นลานวัดที่มีก้อนหินก้อนกรวดกลายเป็นพื้นลานวัดสีเหลืองทองอร่ามอย่างชัดเจน 

ขอบคุณภาพจาก : ยุทธนา แต่งวงศ์
ขอบคุณภาพจาก : ยุทธนา แต่งวงศ์

การใช้ประโยชน์จากต้นประดู่

  • ในประเทศพม่า นิยมนำมาทำเฟอร์นิเจอร์ ใช้ในงานก่อสร้างทั้งภายในและภายนอกอาคาร เพราะเป็นไม้เนื้อแข็ง มีความทนทานสูง เนื้อไม้มีสีสวยงาม สีแดงอมเหลืองถึงสีแดงอิฐเข้ม
  • ใช้ทำเครื่องประทินผิว ซึ่งไม้ประดู่มีกลิ่นหอมคล้ายกับ ทะนะคา ของพม่า
  • คนไทย นิยมนำมาปลูกตามอาคารบ้านเรือน วัดวาอาราม หรือ สถานที่สาธารณะ เพราะเป็นต้นไม้ที่ให้ร่มเงา ทรงพุ่มสวยงาม  นอกจากจากนั้นยังใช้กรองฝานกำจัดอากาศเสีย 

สรรพคุณทางยาของต้นประดู่

  • ใบอ่อน  ใช้พอกแผลช่วยให้แห้งเร็ว แก้ผื่นคัน ยางไม้ใช้แก้ท้องเสีย
  • เปลือก  มีรสฝาดจัด ช่วยสมานบาดแผล แก้ท้องเสีย บำรุงร่างกาย
  • แก่น   มีรสขมฝาดร้อน แก้คุดทะราด แก้เสมหะ เลือดกำเดาไหล แก้ไข้ บำรุงเลือด บำรุงกำลัง ขับปัสสาวะ แก้ผื่นคัน
  • ผล   แก้อาเจียน แก้ท้องร่วง 
ดอกประดู่
ดอกประดู่

แหล่งข้อมูลและภาพจาก : 

Visits: 8317

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.