แหล่งประติมากรรมภาพสลักบนหินทรายจังหวัดนครศรีธรรมราช “โบราณสถาน หนานรูป บ้านขนาน” สถานที่ตั้ง หมู่ที่ 4 ตำบลทุ่งใหญ่ อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช พบหนาน 3 แห่ง ที่อยู่ในบริเวณใกล้ๆ กัน คือ หนานใหญ่ หนานนุ้ย (หรือ หนานเล็ก ภายในวัดขนาน) และหนานรูป ที่พบประติมากรรมภาพแกะสลักบนหนาน ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 12 จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้เข้ามาสำรวจ ภาพสลักบนหน้าตัดของลานหินทรายแดงขนาดใหญ่ ลักษณะ ลาดเทจากด้านตะวันออกเฉียงใต้ไปทางด้านตะวันตกเฉียงเหนือ มีวัชพืชและต้นไม้ขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วไป ห่างจากภาพสลักไปทางด้านเหนือประมาณ 10 เมตร มีลำห้วยไหลล้อมสองด้านของลานหินมาบรรจบกันบริเวณด้านหน้าของภาพสลัก โอบล้อมพื้นที่ส่วนหนึ่งไว้ ภายในลำห้วยมีเศษหินทรายแตกหักอยู่ทั่วไป ถัดจากบริเวณลำห้วยออกไปเป็นสวนยางพารา ผู้คนในท้องถิ่นเรียกบริเวณพื้นที่แห่งนี้ว่า “ถ้ำรูป” หรือ “หนานรูป”
กรมศิลปากรเคยทำการสำรวจและจัดทำรายงานไว้เมื่อปี พ.ศ. 2538 เป็นภาพสลักบนผนังหินทราย พื้นที่ภาพยาวประมาณ 1.4 เมตร สูงประมาณ 80 เซนติเมตร จากการศึกษาเพิ่มเติมสันนิษฐานว่าเป็นแท่นฐานสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูป พบร่องรอยการตัดหินทรายให้เว้าลึกเข้าไปจากแนวเดิมยาว 12.6 เมตร โดยบริเวณกึ่งกลางของแนวหินที่ถูกสกัดออกไปนั้น มีภาพสลัก จำนวน 3 ภาพ ได้แก่ ภาพฐานพระพุทธรูป ภาพวานรจับนาค และภาพเศียรพญานาค


การดำเนินงานทางโบราณคดีและการอนุรักษ์
- พ.ศ. 2538 สำนักโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช ดำเนินการสำรวจ
- พ.ศ. 2544 สำนักโบราณคดี และพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 11 นครศรีธรรมราช ดำเนินการสำรวจ
- พ.ศ. 2560 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ดำเนินการสำรวจ ลงพื้นที่สำรวจร่วมกับนายอำเภอทุ่งใหญ่ในขณะนั้น (นายกฤษณะ ณ สงขลา) โดยมีพระครู ดร.พิศาล เขตคณารักษ์ เจ้าอาวาสวัดขนาน และประชาชนในพื้นที่ให้ความสนใจเป็นจำนวนมาก
- พ.ศ. 2561 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ดำเนินการสำรวจเพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
- พ.ศ. 2563 สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช ดำเนินการสำรวจทำผังเพิ่มเติมเพื่อขึ้นทะเบียนโบราณสถาน
หนานรูป ภาพสลักบนลานหินทราย



ภาพฐานพระพุทธรูป
ประติมากรรมนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นแต่ตั้งแต่สมัยปลายอยุธยาตอนปลาย หรือต้นสมัยรัตนโกสินทร์ โดยอดีตพื้นที่บริเวณนี้เป็นปากถ้ำ แต่ปัจจุบันถูกดินปิดทับไปแล้ว ด้านบนมีร่องรอยการแกะสลักบนหน้าตักลานหินทรายยาว 12 เมตร มีรูปฐานพระพุทธรูปลายกลีบบัว เต็มกลีบ จำนวน 11 กลีบ และสลักกลีบแทรก จำนวน 10 กลีบ กลีบกึ่งกลางของแถวสลักแบ่งเป็นกลีบเล็ก ๆ อีก 2 กลีบสันนิษฐานว่าช่างคงตั้งใจสลักอีก 10 กลีบที่เหลือให้เหมือนกับกลีบนี้ ถัดลงมาตรงกลางภาพ สลักเป็นกลีบบัวขนาดใหญ่ 2 กลีบ สลักเป็นเส้นหนาและลึก เว้นพื้นที่บางส่วนไว้ ไม่สลักให้เป็นเส้นเดียวกันไปตลอด คล้ายกับลายฉลุหนัง ระหว่างกลีบดอกบัวทั้งสอง สลักเป็นกรอบสี่เหลี่ยม คล้ายกรอบประตูโดยที่เชิงของเสากรอบประตูสองข้างประดับด้วยลายกระจัง หุ้มเชิงของเสากรอบประตูไว้จึงเห็นลายเพียงครึ่งเดียว เป็นรูปสามเหลี่ยมเล็ก ๆ ด้านบนของบานประตูทั้ง 2 บาน สลักเป็นวงโค้งมาจรดกันตรงกลาง ถัดลงมาส่วนล่างสุดสลักลายฐานสิงห์ บริเวณมุมด้านขวาของภาพสลักเป็นขาสิงห์ ตรงกลางสลักเป็นนมสิงห์ บริเวณมุมซ้ายแต่เดิมคงสลักเป็นขาสิงห์เช่นเดียวกัน สังเกตจากลายวงโค้งของน่องสิงห์ที่เหลืออยู่เพียงเล็กน้อย
ภาพวานรจับนาค
ถัดลงมาเป็นลายช่องกระจกรูปกลีบบัวขนาดใหญ่ 2 ช่อง และช่องรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า อาจตีความว่าเป็นช่องประตูหน้าต่างก็เป็นได้ ส่วนด้านล่างปรากฏลักษณะขาโต๊ะ และตรงกลางเป็นลายผ้าทิพย์ ถัดไปทางขวามือมีภาพสลักรูปบุคคลแต่งองค์ทรงเครื่องอย่างงดงาม อยู่ในอาการเคลื่อนไหว มือทั้ง 2 ข้างจับชูนาคไว้เหนือศีรษะ ภาพขนาด กว้าง 0.34 เมตร สูง 0.80 เมตร สลักเป็นรูปวานรจับนาค ลักษณะของวานร ทรงเครื่อง นุ่งโจงกระเบน ชายผ้าห้อยตกลงมาแยกออกไปเป็นสองชาย อยู่ในอาการเคลื่อนไหว ยกขาซ้ายขึ้น ขาขวาตั้งแต่ส่วนหัวเข่าลงมาขาดหายไป มือทั้งสองจับส่วนลำตัวค่อนไปทางหางของนาค ยกชูขึ้นเหนือบ่า ลักษณะของนาค สลักเป็นงูมีหงอน ส่วนหางอยู่เหนือศีรษะวานรส่วนลำตัวม้วนตกลงด้านล่าง และเป็นกรอบให้กับภาพ เศียรตวัดม้วนหันออกไปทางซ้าย อยู่ทางด้านซ้ายติดกับภาพฐานพระพุทธรูป ช่างตั้งใจสลักให้เป็นภาพเดียวกันกับภาพฐานพระ แต่สลักเสร็จเพียงด้านซ้ายดังที่ปรากฏในปัจจุบัน ส่วนด้านขวายังไม่สลัก
ภาพเศียรพญานาค
อยู่ถัดไปทางด้านซ้ายของภาพวานรจับนาค ประมาณ 1 เมตร สลักเป็นภาพร่าง ของเศียรพญานาคหันหน้าไปทางขวามือ ไม่แน่ชัดว่ามีความสัมพันธ์กับสองภาพหรือไม่ เนื่องจากยังสลักไม่เสร็จ
จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ปรากฏ แสดงให้เห็นว่าบริเวณโบราณสถานหนานรูปมีการเตรียมพื้นที่เพื่อสลักภาพลงบนหินทราย สันนิษฐานว่าน่าจะทำขึ้นในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลายหรือต้นรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้คงเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์หรือสถานที่สำคัญ สันนิษฐานได้ว่าพื้นที่ของหินหนาน (บริเวณวัดขนาน) คงมีการเข้ามาตั้งถิ่นฐานของผู้คนอย่างน้อยในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย โดยมีเส้นทางคมนาคมหลัก คือ คลองวัดขนาน ซึ่งเชื่อมต่อไปยังคลองเหรียง พื้นที่ของท่าเรือโบราณและออกสู่แม่น้ำตาปี
ผู้คนที่อาศัยอยู่คงมีความรู้ความสามารถด้านศิลปกรรมประเภทประติมากรรมบนแผ่นหิน และมีความศรัทธาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในพื้นที่มาแต่ดั้งแต่เดิม แต่ภาพสลักวานรยุดนาคนั้นยังคงไม่ชัดเจนมากนัก เพราะบางคนเชื่อว่าเป็นอสูรตามคติความเชื่อของพราหมณ์ และบางคนก็เชื่อว่าเป็นอาฬวกยักษ์ตามเรื่องราวพุทธประวัติ


คำว่า “หนาน” ในภาษาพื้นถิ่นปักษ์ใต้เป็นคำนามหมายถึง ผาที่มีน้ำตก หรือพื้นที่ต่างระดับที่มีทางน้ำไหลผ่าน บริเวณโบราณสถานมีลักษณะเป็นลานหินทรายกว้างใหญ่ลาดเอียง แต่เดิมมีทางน้ำไหลผ่าน ทุกวันนี้ก็ยังมีน้ำซึมผ่านอยู่ตลอดเวลา และเนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีภาพสลักจึงเรียกว่า หนานรูป นอกจากนี้ในหมู่บ้าน ยังมีหนานที่สำคัญอีก 2 แห่งคือ หนานใหญ่ และหนานนุ้ย ซึ่งชาวบ้านนับถือเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ปัจจุบันชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมกันอนุรักษ์และพัฒนาพื้นที่หนานหรือลานหินทรายทั้ง 3 แห่ง เพื่อเชิดชูคุณค่า เป็นศูนย์รวมจิตใจ และส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ ผู้คนในพื้นที่ยังคงมีความเชื่อเรื่องเทวดาที่สถิตประจำอยู่บริเวณหนานทั้งสามซึ่งตั้งอยู่ไม่ไกลกัน หนานรูป หนานใหญ่ และหนานนุ้ย โดยมีการสร้างศาลที่ประทับของทวดหนาน หรือเทวดาขึ้นตามความเชื่อที่บริเวณหนานใหญ่ หรือหนานเทวดา แม้แต่ที่วัดขนาน(วัดหนาน) ก็เลือกทำเลที่ตั้งอยู่บริเวณที่หนานนุ้ย แสดงให้เห็นว่าบริเวณพื้นที่ ที่มีลักษณะเฉพาะที่เรียกขานกันว่าหนานนั้น เป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ ผูกพันกับความเชื่อ วิถีชีวิตของชุมชนมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
พระครู พิศาล เขตคณารักษ์ เจ้าอาวาสวัดขนาน อ.ทุ่งใหญ่ จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า ชุมชนมีความเชื่อศรัทธา และผูกผันกับหนานมาก ซึ่งปัจจุบันคนในชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาพื้นที่หนานให้เป็นรู้จักมากขึ้น หลายคนได้เผยแพร่ความพิเศษของหนานรูปในโลกออนไลน์ ทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และหากมีการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรแล้ว ก็จะทำให้หนานกลายเป็นแหล่งท่องเทียวที่สร้างรายได้ให้คนในชุมชนต่อไป
แหล่งที่มาของข้อมูลและภาพ
- สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ. “พจนานุกรมภาษาถิ่นใต้พุทธศักราช 2525.”
- สำนักโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ ๑๑ นครศรีธรรมราช. “รายงานสำรวจโบราณสถานถ้ำรูปบ้านขนาน.”
- สำนักศิลปากรที่ 12 นครศรีธรรมราช “โบราณสถานหนานรูปบ้านขนาน” https://www.facebook.com/nakonsrifad14/posts/
- หนานใหญ่ หนานนุ้ย หนานรูป เรื่องเล่าและเรื่องราวของชาวทุ่งใหญ่ Facebook ทุ่งใหญ่บ้านเรา
- ธีรยุทธ บัวทอง “จากพื้นที่รกร้างบนลานหินหนาน สู่เส้นทางประวัติศาสตร์ตำบลทุ่งใหญ่” สารนครศรีธรรมราช
- Thai PBS ศูนย์ข่าวภาคใต้ https://www.facebook.com/SouthernThaiPBS/posts/
- สำนักศิลปากรที่ 12 รุกสำรวจภาพสลักหินทราย ‘หนานรูป’ วัดขนาน เมืองคอน คาดทำขึ้นอยุธยาตอนปลาย https://www.matichon.co.th/local/education/news_661070
Views: 32