แม่นางพระยา ที่จะกล่าวถึงในที่นี้คือ แม่นางพระยา หรือ นางพระยา แห่งวัดนางพระยา ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลปากนคร อำเภอเมือง วัดนางพระยาแห่งนี้ มีประวัติความเป็นมายาวนานหลายร้อยปี ตัววัดตั้งอยู่ริมแม่น้ำปากนคร ที่ต่อเชื่อมระหว่างทะเลกับเมืองนครศรีธรรมราช เป็นแม่น้ำสายสำคัญทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม ของประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช (วัดในจังหวัดนครศรีธรรมราช, 2017)

ประวัติความเป็นมาวัดนางพระยา
เมืองนครศรีธรรมราช สมัยเจ้าพระยานครพัฒน์เป็นเจ้าเมืองได้ส่งเครื่องราชบรรณาการให้กรุงธนบุรี ด้วยตนเอง ณ กรุงธนบุรี พระเจ้ากรุงธนบุรีทรงทราบว่ามเหสีของเจ้าพระยานครพัฒน์สิ้นพระชนม์จึงพระราชทานพระมเหสีของพระองค์เองหนึ่งองค์ให้พระยานครพัฒน์ พระยานครพัฒน์มิได้คิดอาจเอื้อมขนาดนั้น แต่มิกล้าขัดพระทัยพระเจ้ากรุงธนบุรี จึงน้อมรับนำกลับเมืองนครด้วยดี ทราบภายหลังจากพระนางว่าทรงพระครรภ์อ่อน ๆ อยู่ก่อนแล้ว จึงมิได้ปฎิบัติเยี่ยงมเหสีของพระองค์ แต่ทรงปฎิบัติอย่างดีเยี่ยงมเหสีของพระเจ้ากรุงธนบุรีด้วยความจงรักภักดี จวบจบพระครรภ์ครบกำหนดทรงประสูติพระโอรส ต่อมาคือเจ้าพระยานครน้อยเจ้าเมืองนครผู้ปราดเปลื่องนั่นเอง
สมัยพระยานครพัฒน์ หัวเมืองมาลายูยกทัพมาตีเมืองนครเป็นระยะ ยกทัพเข้ามาทางปากนคร ผ่านวัดนางพระยาเข้าไปถึงตัวเมือง ปิดล้อม ยิงถล่มทหาร ทหารในเมืองตั้งรับเหนียวเเน่น เป็นบารมีของเมืองนคร ทุกครั้งข้าศึกจะหมดเสบียงและยกทัพกลับไปเอง ในการสู้รบหลายครั้งแม่ทัพคนสำคัญคือ พระยานครน้อย สิ้นสมัยของพระยานครพัฒน์ พระยานครน้อยขึ้นดำรงตำแหน่งเจ้าเมือง ทรงสำรวจยุทธภูมิเตรียมการศึก พบที่การตั้งวัดนางพระยาปัจจุบัน เป็นทำเลที่เหมาะสม ทรงจัดตั้งเป็นฐานทัพเรือ มีการต่อเรือรบออกลากตระเวน มีการซ้อมรบทางทะเล มีกองเรือตรวจการณ์ ปรากฎว่าที่ทัพหัวเมืองมลายูยกมา กองเรือลาดตระเวนตรวจพบจึงรายงานทัพเรือที่วัดนางพระยา และกองทัพในตัวเมืองออกมาสู้รบ อาศัยความชำนาญของกองทัพพระยานครน้อยที่มีการเตรียมตัวอย่างดีจึงเอาชนะได้ทุกครั้ง การรุกรานจากหัวเมืองดังกล่าวจึงเงียบหาย และพระยานครน้อย สามารถขยายอาณาเขตเมืองนครไปถึงมลายู
เมื่อบ้านเมืองสงบ พระยานครน้อยจึงคิดหันมาบำรุงพระพุทธศาสนา ประกอบกับมารดาเป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธา จึงขอร้องให้สร้างวัดโดยพระนางกำหนดเอาสถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งกองทัพเป็นจุดสร้างวัด ได้ประชุมข้าราชบริพารคิดตั้งชื่อ โหราจารย์ ผู้รู้เสนอให้เลือกสามชื่อ คือ วัดนางพระยาชื่อหนึ่ง หรือวัดแม่เจ้าเมือง หรือวัดแม่เมืองนคร พระนางทรงเลือกให้ใช้ชื่อ วัดนางพระยา จึงเรียกนามวัดนางพระยาแต่นั้นมา สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2310 และเป็นวัดที่พระนางเสด็จมาประทับบำเพ็ญพระราชกุศลทุกวันพระ สถานที่ประทับคือศาลเจ้าแม่นางพระยาปัจจุบัน ซึ่งตั้งอยู่ที่ปากนคร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
Navakitel Design Hotel (2022) ได้กล่าวถึงประวัติของแม่นางพระยาว่า เดิมชื่อพระนางจันทรา เป็นพระราชมารดา หรือที่เรียกตามภาษาโบราณว่า “แม่เจ้าอยู่หัว” “แม่เจ้าเมือง” หรือ “แม่นางพระยา” ของพระยานครน้อย เป็นผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา พระยานครน้อยจึงสร้างวัดเพื่อถวายเป็นพระราชอุทิศแด่พระราชมารดา ภายในศาลาแม่นางพระยาประดิษฐานรูปเคารพของ “แม่นางพระยา” ประทับนั่งท่าพับเพียบ ชาวบ้านหรือผู้ที่ศรัทธาจะมากราบไหว้ ขอพร เพื่อความเป็นสิริมงคล และบางท่านก็บนบานสานกล่าว เมื่อสำเร็จสมหวังดังปรารถนา จึงนำผ้าสไบผืนงามหลากสีมาแก้บน และแม่นางพระยาเป็นเทพชั้นสูงเปี่ยมด้วยมีคุณธรรมและความเมตตา ชาวบ้านเมื่อสัญจรไปมาผ่านวัดนางพญาต่างก็จะยกมือไหว้ทุกครั้ง

ธีรยุทธ บัวทอง (2020) กล่าวไว้ว่าภายในวัดนางพระยานอกจากมีศาลที่ประดิษฐานรูปเคารพของ “แม่นางพระยา” แล้วยังมี “เทพพระราหูทรงครุฑ” หนึ่งเดียวในภาคใต้ของประเทศไทย และ “เทพจตุคามรามเทพ” เป็นเทพคู่บ้านคู่เมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งประดิษฐานอยู่ในวิหารจตุคามรามเทพด้วย


หากท่านใดที่สนใจเรื่องด้านความเชื่อและความศรัทธาที่มีต่อ “แม่นางพระยา” จึงใคร่ขอแนะนำวัดนางพระยาแห่งนี้ ถึงแม้ว่าจะเป็นวัดเล็ก ๆ แต่เต็มไปด้วยความงดงาม และมีธรรมชาติริมสองฝั่งแม่น้ำปากนครอันสวยงามไม่แพ้ที่ใดเลย

กนกวัลย์ ไกรนุกูล เรียบเรียง/ภาพประกอบ
ข้อมูลอ้างอิง
ธีรยุทธ บัวทอง. (2020, 1 พฤษภาคม). เที่ยววัด(แม่)นางพระยา. trueid. https://travel.trueid.net/detail/gGJddMMrB6KZ
วัดในจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2017, 12 พฤษภาคม). วัดนางพระยา จ. นครศรีธรรมราช วัดนางพระยา ตั้งอยู่ที่ตำบลปากนคร… [Image attached]. Facebook. https://shorturl.at/vtk9a
Views: 63