สถานที่ตั้ง

ตั้งอยู่ระหว่างอาคารศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช กับ อาคารศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ถนนราชดำเนิน  ต.ในเมือง อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช

หอพระพุทธสิหิงค์อันเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธสิหิงค์เมืองนครนั้น เดิมเป็นหอพระประจำวังของเจ้าพระยานคร ตั้งอยู่ระหว่างศาลากลางจังหวัด และ ศาลจังหวัด สร้างใหม่แทนหอเดิมใน พ.ศ. 2457 เป็นวิหารก่ออิฐถือปูนหันหน้าไปทางทิศตะวันออก แบ่งออกเป็น สองตอน มีผนังก่ออิฐกั้น ตอนหน้า เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ และมีพระพุทธรูปยืนปางอุ้มบาตร บุด้วยทองคำ และเงิน อย่างละองค์ ส่วนด้านหลังเป็นที่เก็บอัฐิของตระกูล ณ นคร (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช, 2560)

ประวัติความเป็นมาของหอพระสิหิงค์หลังเก่าและหลังใหม่

หอพระสิหิงค์ เป็นหอพระที่ตั้งอยู่ในเขตจวนวัง ของเจ้าผู้ครองเมืองนครมาแต่เดิม เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธสิหิงค์ หน้าตัก 32 ซม. สูง 42 ซม. พระพุทธรูปขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัยซึ่งมีความสำคัญในตำนาน และพิธีกรรมต่าง ๆ ของเมืองนคร รวมถึงพระพุทธรูปสำคัญต่าง ๆ หลายองค์

หอพระสิหิงค์หลังเก่านั้น “ตำรา 12 เดือน” ฉบับขุนทิพย์มณเฑียร อันเป็นคู่มือสำหรับเจ้าผู้ครองเมืองนครใช้ในการบริหารและจัดการปกครองเมืองนคร ระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าพระยานคร (พัฒน์) ในปี พ.ศ. 2329 ขึ้นแทนหอพระสิหิงค์หลังเดิมสมัยอยุธยาที่ถูกเผาทำลายไปครั้งพม่าตีเมืองนคร โดยเกณฑ์เอาแรงงาน และวัสดุก่อสร้างจาก

“ที่ปราญ” (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ติดต่อระหว่างอาเภอท่าศาลา กับสิชล) และ

“ที่อลอง” (ปัจจุบันเป็นตำบลฉลอง อำเภอสิชล) อันเป็นชุมชนบริวารของเมืองนครมาทำการก่อสร้าง มีการทำนุบำรุงซ่อมแซมสืบมาแต่ไม่ปรากฏเอกสารท้องถิ่นกล่าวถึง

จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2427 เมื่อ สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้า ฯ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เสด็จตรวจราชการเมืองนคร ได้เสด็จยังหอพระสิหิงค์นี้ และบันทึกรายละเอียดทั้งรูปทรง และบรรดาพระพุทธรูปต่าง ๆ อันประดิษฐานอยู่ภายใน เนื้อหาว่าดังนี้

“…ถัดโรงพิธีไปข้างมุมบ้านตะวันตกเฉียงใต้มีหอพระสยิง เป็นตึกมุงกระเบื้อง หลังคามีช่อฟ้าใบระกา 3 ห้องเฉลียงรอบขื่อ 8 ศอก องค์พระสยิงนั้นประดิษฐานอยู่ในตู้ไม้เป็นพระทองประสมหน้าตัก 16 นิ้วขัดสมาธิ์เพ็ชร์ แลมีพระจำลองพระสยิงเล็ก ๆ 2 องค์ หน้าตักประมาณ 10 นิ้ว 12 นิ้ว

แลมีพระทองเหลืองโบราณนั่งขัดสมาธิ์เพ็ชร์อีก 2 องค์ หน้าตักประมาณ 12 นิ้ว 14 นิ้ว หลังตู้พระสยิงนั้นมีพระทรงเครื่องยืนห้ามสมุทรหุ้มทองคาประดับพลอย เครื่องทองลงยาเป็นพระเท่าตัวสาหรับเจ้าพระยานคร เฒ่า (เจ้าพระยานคร พัฒน์)

แลมีพระพุทธรูปยืนหุ้มทอง 1 องค์ หุ้มเงิน 1 องค์ อยู่สองข้าง พระทรงเครื่องนั้นเป็นของเจ้าพระยานครเฒ่าสร้างไว้ ที่หน้าตู้พระสยิงมีพระพุทธรูปยืนปิดทอง 2 องค์เป็นพระเท่าตัวพระยานคร (กลาง) กับภรรยา (ภรรยาเจ้าพระยานคร น้อยกลาง เป็นหม่อมราชวงศ์ในเจ้าฟ้ากรมหลวงนรินทรรณเรศร ชื่อหญิง)

แลมีพระยืนเท่าตัวของพี่น้องวงศ์ญาติอีก 5 องค์ แลมีพระเงินนั่งมีฉัตรเล็ก ๆ หน้าตักประมาณ 5 นิ้ว ตั้งอยู่บนม้า 4 เหลี่ยมอีก 40 องค์ ทำนองเหมือนพระชนม์พรรษา แต่ว่าถามไม่ได้ความ

ที่มุมโบสถ์หลังพระสยิงมีพระนั่งเป็นพระศิลาขาว 2 องค์ ใหญ่ 1 เล็ก 1 แลมีตู้ไม้ใส่เทวรูปนารายณ์ทองเหลือง รูปประมาณคืบเศษสำหรับเชิญไปทำพิธีไสยสาตรต่าง ๆ ที่เทวสถาน ข้างหลังหอพระสยิงมีเรือนมุงจากหลัง 1 สำหรับพวกข้าพระอีกหลัง 1 …”

(จอมพล สมเด็จพระปิตุลาบรมพงษาภิมุข เจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงษ์ กรมพระยาภานุพันธุวงศ์วรเดช, ชีวิวัฒน์ 2551, หน้า 94-95)

ถัดมาในปี พ.ศ. 2445 สมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ก็ได้เสด็จยังหอพระสิหิงค์ และพรรณาลักษณะต่าง ๆ ไว้โดยสังเขป

เมื่อพระยานคร (หนูพร้อม) ถูกเรียกตัวขึ้นไปกักไว้ในกรุงเทพ ฯ ครั้งนั้นบรรดาหอพระ จวนวัง ของเจ้าผู้ครองเมืองนครที่สร้างมาแต่ครั้งรัชกาลที่ 1 ขาดผู้ดูแลรักษา เป็นเหตุให้ทรุดโทรมลงเป็นอันมาก

ครั้นเมื่อพระยานคร (หนูพร้อม) ได้คืนกลับมายังเมืองนคร (ครั้งนั้นได้เป็น เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม)) ก็ได้ซ่อมแซมจวนวังขึ้นใหม่พอให้คงรูปได้ ส่วนหอพระสิหิงค์นั้น ได้ปรึกษากับสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ สร้างขึ้นใหม่เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน คือหอพระสิหิงค์หลังปัจจุบันนี้ ซึ่งตั้งอยู่ข้างศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช

เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จปักษ์ใต้ในปี พ.ศ. 2458 ทรงบันทึกว่ามีหอพระสิหิงค์สองหลัง คือหลังใหม่ตั้งเคียงกับหลังเก่า หอพระสิหิงค์หลังเก่าน่าจะถูกรื้อลงหลังจากปี พ.ศ. 2458 ไม่นาน เพราะในบันทึกของสมเด็จเจ้าฟ้า ฯ กรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ที่เสด็จเมืองนครอีกครั้งในปี พศ. 2476 ก็ปรากฏว่าไม่มีหอพระสิหิงค์หลังเก่าอยู่อีกต่อไปแล้ว (วัดศรีทวี จังหวัดนครศรีธรรมราช, 2564)

และในจดหมายเหตุครั้งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสเมืองนครศรีธรรมราชใน พ.ศ. 2458 ได้กล่าวถึงหอพระสิหิงค์ตอนหนึ่ง ความว่า

“ศาลากลางนั้นอยู่ย่านกลางเมือง ฟากถนนตะวันตกเป็นตึกใหญ่สองชั้น หลังคามุงกระเบื้อง มีมุขด้านหน้า 3 มุข ข้างศาลากลางเป็นหอพระพุทธสิหิงค์ มีช่อฟ้าใบระกา หลังคากระเบื้องสี เป็นหอเก่าหลังหนึ่ง หอสร้างขึ้นใหม่อีกหลังหนึ่ง มีลานใหญ่เป็นสนามในบริเวณศาลากลางนี้เดิมเป็นบ้านเจ้านครเก่า” (สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช, 2566)

ประวัติการอนุรักษ์หอพระสิหิงค์

2457นำเงินจากมรดกกองกลางของเจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (หนูพร้อม ณ นคร) มาเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างหอพระสิหิงค์หลังใหม่
2514หน่วยศิลปากรที่ 8 ขอรับโอนหอพระสิหิงค์จากแผนกศึกษาธิการจังหวัดนครศรีธรรมราช
2522ซ่อมแซมเพดาน และนำพระสิหิงค์จำลองหน้าตัก 9 นิ้ว 1 องค์ มาตั้งสำหรับให้ประชาชนปิดทอง
2523ซ่อมกระเบื้องมุงหลังคา และบูรณะฝ้าเพดานโดยเงินบริจาคของคุณหญิงเสนีณรงค์ฤทธิ์ (โพยม สนิทวงศ์ ณ อยุธยา)
2524สร้างรั้วสูง 1.15 เมตร ทั้งสี่ด้าน งบประมาณขององค์การบริหารส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช
2525บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน
2528ซ่อมแซมและปรับปรุงประตูหอพระสิหิงค์ ด้วยเงินบริจาคของนายสุรินทร์ โตทับเที่ยง
2532บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน
2534ดำเนินการทำรั้วประตูเหล็ก และซ่อมแซมรั้วที่ชำรุด
2539บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน
2546บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยเงินบริจาคของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
2554บูรณะหอพระสิหิงค์ ด้วยงบประมาณแผ่นดิน

(สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช, 2566)

บริเวณด้านหลังของหอพระสิหิงค์นั้นใช้เป็นที่ไว้พระโกศและโกศของต้นตระกูล ณ นคร ต่อมาเกิดเหตุโจรกรรมขึ้นจึงได้นำพระโกศและโกศไปรักษาไว้ในหีบกำปั่นเซฟล่ามโซ่ใส่กุญแจ

ใน พ.ศ. 2500 พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) ได้มีหนังสือขออนุญาตผู้ว่าราชการจังหวัดและกรมศิลปากร เพื่อสร้างพระปรางค์ 3 องค์ ทำด้วยปูนซีเมนต์กับฝากั้น สำหรับบรรจุอัฐิของวงศ์ตระกูลขึ้นแทนที่จะบรรจุไว้ในโกศ โดยมีการบรรจุพระอัฐิและอัฐิดังนี้

พระปรางค์องค์กลาง บรรจุพระอัฐิดังนี้

  1. เจ้าจอมมารดานุ้ยใหญ่ในรัชกาลที่ 1
  2. สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาศักดิพลเสพย์
  3. เจ้าจอมมารดานุ้ยเล็กในกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท
  4. พระเจ้าราชวงศ์เธอพระองค์เจ้าหญิงปัทมราช
  5. เจ้าจอมมารดาน้อยใหญ่ในรัชกาลที่ 3
  6. พระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าเฉลิมวงศ์

พระปรางค์ด้านทิศเหนือ บรรจุพระอัฐิและอัฐิดังนี้

  1. เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี จางวางเมืองนครศรีธรรมราช เป็นต้นสกุล ณ นคร
  2. คุณชี พี่สาวเจ้าพระยานครศรีธรรมราช (พัฒน์)
  3. เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช (น้อย)
  4. ท่านผู้หญิงอินศรีธรรมาโศกราช
  5. เจ้าพระยานครศรีธรรมราช (น้อยกลาง)
  6. ท่านผู้หญิงหม่อมราชวงศ์หญิง นครศรีธรรมราช

พระปรางค์ด้านทิศใต้ บรรจุพระอัฐิและอัฐิดังนี้

  1. เจ้าพระยามหาศิริธรรม (น้อยใหญ่) เป็นต้นสกุล โกมารกุล ณ นคร
  2. พระยาเสน่หามนตรี (น้อยเอียด) เป็นต้นสกุลจาตุรงคกุล
  3. เจ้าพระยาสุธรรมมนตรี (พร้อม)
  4. พระยาบริรักษ์ภูเบศร์ (เอี่ยม)
  5. พระศิริธรรมบริรักษ์ (ถัด)
  6. เจ้าจอมอิ่มรัชกาลที่ 4
  7. เจ้าจอมสว่างรัชกาลที่ 5
  8. ท่านกลาง ณ นคร

พื้นที่ระหว่างปรางค์ด้านทิศเหนือกับปรางค์องค์กลางบรรจุอัฐิดังนี้

  1. พลเอกเจ้าพระยาบดินทรเดชานุชิต (แย้ม ณ นคร) เสนาบดีกระทรวงกลาโหมในสมัยรัชกาลที่ 6 และรัชกาลที่ 7

พื้นที่ระหว่างปรางค์ด้านทิศใต้กับปรางค์องค์กลางบรรจุอัฐิดังนี้

  1. พระยานครกุลเชษฐ์มเหศวรภักดี (เอียด ณ นคร)

กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานหอพระสิหิงค์ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 53 หน้า 1530 วันที่ 27 กันยายน 2479

ผู้ดูแลรักษาในอดีต – ในทำเนียบข้าราชการเมืองนครศรีธรรมราชครั้งรัชกาลที่ 2 ระบุว่าให้มีตำแหน่งทางราชการสำหรับหอพระสิหิงค์ 1 ตำแหน่งถือศักดินา 400 คือ หมื่นพุทธบาล นายหมวดคุมข้าพระสิหิงค์

ผู้ดูแลรักษาในปัจจุบัน – ปัจจุบันสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช เป็นผู้ดูแลรักษาหอพระสิหิงค์ โดยจัดให้มีพนักงานประจำหอพระสิหิงค์ 1 ตำแหน่ง

(สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช, 2566)

หอพระสิหิงค์ เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เป็นที่ประดิษฐานพระสิหิงค์ อันเป็นพระคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดนครศรีธรรมราชมาช้านาน ทางราชการจึงเห็นว่า เพื่อให้ประชาชนได้มีเวลาเข้ากราบสักการะได้มากขึ้น จึงได้ขยายเวลาเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะบูชาทุกวัน เวลา 08.30-16.30 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

บรรณานุกรม

วัดศรีทวี จังหวัดนครศรีธรรมราช. (2564). หอพระสิหิงค์หลังเก่า – ความทรงจำที่หายไปของเมืองนครศรีธรรมราช. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567. จาก https://watsritawee.org/article-327/

สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2560). หอพระพุทธสิหิงค์. สืบค้นเมื่อวันที่ 21 เมษายน 2567. จาก https://www2.m-culture.go.th/nakhonsrithammarat/ewt_news.php?nid=138&filename=index

สำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช. (2566). หอพระสิหิงค์. ข้อมูลเผยแพร่จากเอกสารแผ่นพับของสำนักศิลปากรที่ 14 นครศรีธรรมราช กรมศิลปากร กระทรวงวัฒนธรรม

Views: 216

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.

You are currently viewing หอพระสิหิงค์ ศาลากลางจังหวัดนครศรีธรรมราช