ขนำ

ขนำ อ่านว่า ขะ-หนำ  ซึ่งเป็นสิ่งก่อสร้างของคนนครศรีธรรมราชอันมีลักษณะเฉพาะที่น่าสนใจยิ่งรูปแบบหนึ่ง ซึ่งนับวันได้เหลือน้อยเต็มทีแล้ว  การสร้างบ้านเรือน บ้านช่องห้องหอ หรือเพิง ที่พักอาศัยต่าง ๆ นั้นล้วนเป็นวัฒนธรรมที่มนุษย์ทั่วโลกถือปฏิบัติกันมาคู่กับประวัติศาสตร์ของมวลมนุษย์ชาติ เพราะเป็นปัจจัยพื้นฐานของการดำรงชีวิต ลักษณะรูปแบบการก่อสร้างที่อยู่อาศัยได้มีการวิวัฒนาการมาเป็นลำดับ ตามความคิดสร้างสรรค์ ความอุดมสมบูรณ์ของวัสดุก่อสร้างและความเชื่อของแต่ละยุคสมัย

ขะหนำ หรือหนำของเมืองนครศรีธรรมราช ที่อยู่อาศัยชั่วคราวที่มีความผูกพันอย่างลึกซึ้ง ในการใช้ชีวิตประจำวันทั้งของชาวนาและชาวสวน หนำในปัจจุบันที่เราเห็นมีเพิ่มเป็นที่พักสำหรับนักเดินทาง นักท่องเที่ยว ที่นิยมที่พักในแบบธรรมชาติ วัสดุที่ใช้ รูปแบบการสร้างมีความสวยงามคงทนถาวร มีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีการจัดสวนโดยรอบ ซึ่งบางที่อาจจะไม่ต้องจัดเลยก็ได้เพราะว่าอยู่ในสวนจริง ๆ เรียบร้อยแล้ว

ขนำ
หนำ

อ่านออกเสียงว่า /ขะหนำ/ ในภาษาถิ่นใต้ ให้แปลว่า กระท่อม เรียกสั้น ๆ ว่า หนำ บ้านหลังน้อยที่สามารถกันแดดกันฝนได้ สร้างไว้ตามสวน ตามนา เอาไว้พักเวลาไปทำสวนทำนา มีทั้งแบบ ปลูกติดดิน และยกสูง มีฝากั้นหรือไม่มีก็ได้ สร้างกันตามสะดวก เหมาะกับการใช้งานและสำคัญที่สุดคือง่าย ๆ

ขะหนำ ในคาบสมุทรภาคใต้  มาจากคำว่า ปอเนาะ ซึ่งเป็นคำที่เพี้ยนมาจากคำว่า ปอนด็อก (Pondok)  ในภาษามลายูและภาษาอาหรับ ที่แปลว่า กระท่อม

หนำ

วัฒนธรรมการสร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวในท้องถิ่นชนบทเมืองนครศรีธรรมราชนอกจากจะมี “ทับ” (กระท่อม) อันเป็นที่อยู่ขนาดย่อมพอกันแดดกันฝนได้ก็ยังมี ขะหนำ อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันมีแนวโน้มจะสูญหายไป ทั้งนี้เพราะความเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นประการสำคัญ (กองบรรณาธิการ, 2549)

ขนำ /ขะหนำ/ เป็นที่อยู่อาศัยครั้งคราว เช่น ช่วงทำนา ระยะปักดำ ช่วงเก็บเกี่ยวข้าวหรือเฝ้าระวังพืชผล เมื่อเสร็จภารกิจแต่ละช่วงแล้วก็จะกลับมาอยู่อาศัยในบ้านเรือนเดิมของตน ก่อสร้างเป็นเรือนผูกในลักษณะชั่วคราว คล้ายกระต๊อบในภาคกลางหรือห้างนาในภาคเหนือ และเถียงนาในภาคตะวันออกเฉียงเหนือท้องถิ่นชนบทของจังหวัดนครศรีธรรมราช ผู้คนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ได้แก่

อาชีพทำนา ในแถบอำเภอปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ ชะอวด 

อาชีพทำสวน ในแถบอำเภอ ลานสกา พรหมคีรี ท่าศาลา สิชล ขนอม

อาชีพทำสวนยางพารา ในแถบอำเภอทุ่งสง ทุ่งใหญ่ บางขัน นาบอน ฉวาง   

ชาวชนบทเหล่านี้จำเป็นต้องปลูกสร้างขะหนำเอาไว้ในพื้นที่เรือกสวนไร่นาของตน เพื่อความสะดวกแก่การพักผ่อนยามเที่ยงวัน พักงีบยามบ่าย หุงหาอาหารยามเย็น รวมทั้งพักค้างคืนในระหว่างเฝ้าพืชผลที่กำลังสุก หรือดูแลเป็นพิเศษ  (กองบรรณาธิการ, 2549)

ขนำ
ขนำ

ขะหนำ จัดเป็นเรือนเครื่องผูกขนาดย่อมที่ใช้อยู่อาศัยเป็นครั้งคราว ดังนั้นจึงนิยมสร้างให้เป็นขนาดเล็กเพียง 2-3 ช่วงเสา เพื่อเป็นที่นอนหรือที่พักผ่อนเป็นครั้งคราวหรือเป็นที่ปรุงอาหาร และเป็นระเบียงรับลมเย็น ๆ เท่านั้น ส่วนเครื่องมือใช้ในการประกอบอาชีพมักจะเก็บไว้ข้างเรือนหรือใต้ถุน ดังนั้นหลังหนึ่ง ๆ จึงมักจะมีเสาอยู่ 6 ต้น

รูปทรงหลังคาส่วนใหญ่เป็นทรงจั่ว แต่บางท้องถิ่นก็ทำเป็นทรงสุนัขแหงนนิยมมุ้งด้วย “จาก” พื้นที่แถบปากพนัง หัวไทร เชียรใหญนิยมใช้จากน้ำ ส่วนอำเภออื่นๆ นิยมใช้จากสาคู ซึ่งเป็นวัสดุที่หาได้ง่ายในท้องถิ่นนั้น ๆ ด้านหน้ามักทำเป็นพะไลยื่นออกมาเป็นเพิง เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับทำอาหาร

พื้นมักมีสองส่วน คือส่วนที่เป็นพื้นดินกับส่วนที่เป็นพื้นไม้ ส่วนที่เป็นพื้นดินนิยมยกหรือถมให้สูงขึ้นจากพื้นดินราว 30 เซนติเมตร สำหรับใช้เป็นที่ปฏิบัติงานเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เหลาหวาย ซ่อมเครื่องมือทำมาหากิน รวมทั้งเป็นที่รับประทานอาหารร่วมกันหลาย ๆ คน 

ขนำ

การทำฟากขะหนำนั้น ขั้นต้นต้อง “ริด” หรือ “เกลา” ตาหรือปล้องที่ผิวไม้ไผ่หรือไม้หมากเสียก่อน เพื่อมิให้เกิดรอยต่อบนผิวไม้ ขั้นต่อมาก็ผ่าไม้ไผ่ออกแล้วลากข้อภายในทิ้งเพื่อให้สะดวกแก่การปู และปูได้สม่ำเสมอ จากนั้นจึงกรองซี่ไม้ไผ่แต่ละซี่ด้วยหวาย เพื่อให้ไม้ฟากเหล่านั้นติดกันเป็นผืนเดียว การยึดโครงไม้ทั้งหมดของขนำจะไม่ใช้วัสดุยึดประเภทตะปูหรือน๊อตแต่จะใช้การยึดด้วยหวาย เถาวัลย์ ลูกสัก และเดีอยเท่านั้น หวายใช้ผูกรัดไม้โครงสร้างสำคัญ เช่น ตง ตอม่อ เสา โครงหลังคา และจากมุงหลังคา ส่วนกรณีที่เจาะเสาหรือโครงหลังคาเพื่อใส่ลูกลักหรือเดีอยต้องใช้เทคนิคการเจาะที่เหมาะสม

ขนำ ที่พักนักเดินทาง

หนำในบริบทของสังคมปัจจุบัน เปลี่ยนไปด้วยกระแสการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ การพักท่ามกลางธรรมชาติ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รักษ์ป่า รักษ์โลก หนำเลยกลายเป็นที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว คนเดินทาง ไปโดยปริยาย วัสดุที่ใช้สร้างจากที่เคยใช้วัสดุที่มีในท้องถิ่น หรือวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น สร้างกันแบบง่าย ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปตามวัตถุประสงค์การใช้งาน รูปแบบการสร้างที่มีความสวยงามมากขึ้น มีความคงทนถาวร มีสิ่งอำนวยความสะดวก และมีการจัดสวน การจัดบริเวณโดยรอบ (หนำบางที่อาจไม่ต้องจัดสวนเพราะเป็นสวนธรรมชาติจริง ๆ อยู่แล้ว) มีความสวยงามเพิ่มเข้ามา รูปร่างและขนาดก็เปลี่ยนไปตามความต้องการที่ให้สอดคล้องกับการใช้งานมากยิ่งขึ้น จากที่เคยเห็น หนำในเล หนำกลางนา ในสวน วันนี้เราเห็นหนำในฐานะที่พักนักท่องเที่ยว พร้อมกับรูปลักษณ์ที่เปลี่ยนไปมาก ใครที่อยากลองพักขะหนำ ก็ให้สังเกตจากชื่อมักมีคำว่า หนำ หรือ ขนำ นำหน้า มีให้เห็นในทุกจังหวัดของภาคใต้ อยากพักท่ามกลางธรรมชาติ นอนในสวน ก็ลองหาแลให้ดีบางทีอาจได้นอนในสวนผลไม้ตื่นมาก็เด็ดกินจากต้นได้เลย (ที่ยกตัวอย่างแนะนำมามีทั้งหนำและขนำ) “ลองนอนหนำแลสักที”

ขนำ ที่พักนักเดินทาง

ในการใช้งานเปลี่ยนไปเป็นที่พักอาศัยสำหรับคนเดินทาง นักท่องเที่ยว ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเป็นประการสำคัญ “ขนำ” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2544 (2544)  หมายถึงกระท่อมชั่วคราวในทุ่งนา (ถิ่น-ปักต์ใต้)

  • ที่พัก
  • ขนำนายทั่ง ณ คีรีวง ลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ขนำชาวเล โฮมสเตย์ (หาดปากเมง) จังหวัดตรัง
  • ขนำลุงดำ Khanamlungdam อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
  • ขนำสองพี่น้อง ลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
  • ขนำริมเล จังหวัดพัทลุง
  • ขนำสเตย์กลางทะเล เกาะยอ จังหวัดสงขลา
  • ขนำลุงรงค์ จังหวัดพัทลุง
  • หนำไพรวัลย์ นบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช
หนำ

แหล่งที่มาข้อมูลและภาพ: 

แหล่งที่มาข้อมูลและภาพ: 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542

กองบรรณาธิการ. (2549). ขนำ. สารนครศรีธรรมราช, 26(5), 20-22. https://www.finearts.go.th/storage/contents/2023/05/file/
          q25gERc0mpjTRybo7kRjxgbbcL3w4Kv9kPByOFd9.pdf

ภาษาใต้วันละคำ.FACEBOOK. https://www.facebook.com/100063715141403/

https://th.wiktionary.org/wiki/ขนำ

Views: 98

Comments

comments

Leave a Reply

For security, use of Google's reCAPTCHA service is required which is subject to the Google Privacy Policy and Terms of Use.

ขนำ