กระดุมทอง หรือ กระดุมทองเลื้อย เป็นไม้เลื้อย มีดอกเล็ก ๆ ลักษณะดอกคล้ายดอกเดซี่ มีสีเหลืองสด ทนต่อสภาพอากาศร้อนชื้น ดอกบานทนนาน ปลูกง่ายนิยมปลูกเป็นไม้ประดับ และปลูกคลุมดิน นอกจากนี้ยังมีประโยชน์และสรรพคุณเป็นยาสมุนไพรใช้ในการรักษาโรคได้อีกด้วย
ชื่อ กระดุมทองเลื้อย
วงศ์ ASTERACEAE
ชื่ออื่นๆ/ชื่อท้องถิ่น เบญจมาศเครือ (ทั่วไป)
ชื่อวิทยาศาสตร์ Wedelia trilobata (L.) Hitchc.
ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ Sphagneticola trilobata (L.) Pruski, Wedelia paludosa DC.
ชื่อสามัญ Creeping daisy, Climbing wedelia, Trailing daisy, Singapore daisy, Rabbits paw
กระดุมทองเลื้อย จัดเป็นพันธุ์พืชพื้นเมืองของทวีปอเมริกา (เขตร้อน) โดยมีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกา มักจะพบมากในแถบประเทศอบอุ่น และเขตร้อนชื้นทั่วโลกกระดุมทองเลื้อย เป็นพืชที่เติบโตเร็ว และขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็วจนถูกจัดให้เป็นวัชพืชชนิดหนึ่ง สำหรับในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วทุกภาคของประเทศตามสองข้างถนน ที่รกกร้างว่างเปล่า หรือ ถูกนำมาปลูกตามสวนหย่อม สวนสาธารณต่าง ๆ ซึ่งกระดุมทองเลื้อยมักจะเติบโตได้ดีในที่ชื้นแฉะทั่วไป

ประโยชน์และสรรพคุณกระดุมทองเลื้อย
1. ใช้รักษาโรคตับอักเสบ
2. รักษาโรคอาหารไม่ย่อย
3. รักษาโรคติดเชื้อ
4. ช่วยบรรเทาอาการไข้หวัด
5. ดอกใช้เป็นยาชาช่วยบรรเทาอาการปวดเหงือกและฟัน
6. ยอดอ่อนและใบช่วยบำรุงร่างกาย
7. รักษาอาการโรคไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่
8. รักษาการอักเสบ
9. มีฤทธิ์ป้องกันตับจากสารพิษ
10. ช่วยกระตุ้นการทำงานของตับ
11. ป้องกันโรคติดเชื้อในระบบทางเดินอาหาร
12. ช่วยบำรุงสายตาป้องกันสายตาเสื่อม
13. ช่วยเสริมสร้างภูมิต้านทาน
14. ช่วยลดอาการภูมิแพ้
15. ช่วยบำรุงผิวพรรณ
16. ช่วยป้องกันผิวจากรังสีดวงอาทิตย์

ในปัจจุบันกระดุมทองเลื้อย ถูกนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ดังนี้ มีการนำกระดุมทองเลื้อยมาปลูกเป็นไม้ประดับตามสวนหย่อม หรือ สวนสาธารณะต่าง ๆ รวมถึงตามอาคารสถานที่ต่าง ๆ เนื่องจากดอกมีสีเหลืองสดในตัดกับใบสีเขียวสดมองดูแล้วสวยงาม นอกจากนี้ยังมีการนำกระดุมทองเลื้อยมาใช้เป็นยาสมุนไพร โดยมีการนำทุกส่วนของกระดุมทองเลื้อยมา ใช้เป็นยาสมุนไพรพื้นบ้านเพื่อป้องกัน และรักษาโรคต่าง ๆ หลายชนิด
รูปแบบและขนาดวิธีใช้
1. ใช้ลดไข้ ช่วยย่อยอาหาร แก้ตับอักเสบ แก้ติดเชื้อ โดยนำทั้งต้นมาต้มกับน้ำดื่ม
2. ใช้แก้หวัด โดยนำใบมาตำพอกบริเวณ ศีรษะและขมับ
3. ใช้แก้ฟกช้ำ ใช้ห้ามเลือด โดยนำใบมาตำพอกบริเวณที่เป็น
4. ใช้บำรุงร่างกาย โดยนำยอดอ่อนของกระดุมทองเลื้อย มาต้มน้ำดื่ม หรือ ใช้ตากแห้งชงดื่ม
5. ใช้เป็นยาชาแก้ปวดเหงือก ปวดฟัน โดยนำดอกมาต้มกับน้ำใช้กลั้วปาก
6. รักษาโรคติดเชื้อ นำส่วนใบมาใช้เป็นยาพอกไว้
7. ดอกมีสารแคโรทีน (Carotene) และแซนโทฟิลล์ (Xanthophyll) ช่วยบำรุงสายตาป้องกันสายตาเสื่อม เสริมสร้างภูมิต้านทาน ลดอาการภูมิแพ้ บำรุงผิวพรรณ ป้องกันผิวจากรังสีดวงอาทิตย์

ลักษณะทั่วไปของกระดุมทองเลื้อย
กระดุมทองเลื้อย จัดเป็นไม้ล้มลุกใบเลี้ยงคู่ ลำต้นแตกแขนงทอดราบไปกับพื้นดิน ลำต้นมีขนแข็งขึ้นประปรายแตก กิ่งที่มีข้อเป็นที่แตกออกของใบ ส่วนยอดจะชูตั้งสูงอยู่ด้านบน หากอยู่ในพื้นที่กว้าง จะแผ่ราบขนานกับพื้น แต่หากอยู่ในพื้นที่แคบ ลำต้นจะยืดตัวสูงขึ้น
ใบกระดุมทองเลื้อย เป็นใบเดี่ยวออกเรียงตรงข้ามบริเวณข้อกิ่ง รูปรี หรือ รูปไข่กลับกว้างประมาณ 2.5 ซม. ยาวประมาณ 3-10.5 ซม. โคนใบสอบ ปลายใบแหลม ขอบใบจักเล็กน้อย แผ่นใบมีสีเขียวสด มีขนขึ้นปกคลุมและมีจักเป็นรูปสามเหลี่ยมกลางแผ่นใบทั้ง 2 ข้าง มีเส้นแขนงใบข้างละ 1 เส้น ก้านใบสั้น หรือ อาจไม่มี
ดอกกระดุมทองเลื้อย ออกเป็นช่อกระจุก โดยจะแทงออกบนซอกใบและจะออกมากบริเวณปลายยอด ช่อดอกกว้างประมาณ 2 ซม. มีก้านช่อดอกยาว 4-6 ซม. มีสีเหลือง เช่นเดียวกับกลีบดอก ซึ่งจะออกเรียงซ้อนสลับกัน 2 ชั้น ชั้นละ 4-5 ใบ แต่ละกลีบยาวประมาณ 1 ซม. ปลายกลีบดอกเว้าเป็น 3 แฉก ถัดไปจะเป็นส่วนดอกที่รวมกันเป็นกระจุก ประกอบด้วยดอก 2 ชั้น มีลักษณะเป็นหลอด ชั้นแรก เป็นดอกวงนอกของดอกเพศเมีย มีขนาด 1-1.5 ซม. มีประมาณ 8-10 ดอก ส่วนชั้นในเป็นดอกสมบูรณ์เพศ มีขนาด 4.5-5.5 มม. และมีจำนวนมาก
ผลกระดุมทองเลื้อย เป็นผลแห้งที่เกิดจากดอกวงนอกเป็นรูปไข่กลับ ส่วนโคนที่ติดกันกับฐานเรียวแหลมเป็นสามเหลี่ยม ปลายผลมีเยื่อสีขาว รูปถ้วยยาวประมาณ 5 มม. เมล็ดล่อน มีขนาดเล็กลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม สีดำ ยาวประมาณ 3-4 มม. ผิวมีตุ่ม แพปพัสคล้ายเกล็ด

การขยายพันธุ์กระดุมทองเลื้อย
กระดุมทองเลื้อย สามารถขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด และการปักชำกิ่ง แต่วิธีที่นิยมในปัจจุบัน คือ การปักชำกิ่ง เนื่องจากทำได้ง่ายและรวดเร็ว โดยใช้กิ่งยาวประมาณ 15-20 ซม. ปักเสียบบริเวณที่ต้องการปลูก เพียงไม่กี่วันรากก็จะงอก เติบโตเป็นต้นใหม่ได้ โดยในระยะแรกอาจต้องคอยกำจัดวัชพืช แต่หากปลูกติดแล้วกระดุมทองเลื้อย ก็สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้กระดุมทองเลื้อย เป็นพืชที่ชอบดินชุ่ม ชอบพื้นที่โล่งที่มีแสงแดดส่องถึงตลอดวัน แต่ไม่ชอบอากาศหนาวเย็น เติบโตได้ดีในทุกสภาพดิน และทนต่อสภาพแห้งแล้งได้ดี
ข้อแนะนำและข้อควรระวัง
ในการใช้กระดุมทองเลื้อย มาเป็นยาสมุนไพรนั้น ควรระมัดระวังในการใช้เช่นเดียวกันกับการใช้สมุนไพรชนิดอื่นๆ โดยควรใช้ในขนาดและปริมาณที่พอเหมาะที่ได้ระบุไว้ในตำรับตำรายาต่าง ๆ ไม่ควรใช้ในขนาดที่มากจนเกินไป หรือ ใช้ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนเกินไป เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาวได้
กนกวัลย์ ไกรนุกูล เรียบเรียง/ภาพประกอบ
ข้อมูลอ้างอิง
DISTHAI. (ม.ป.ป.). กระดุมทองเลื้อย ประโยชน์ดีๆ สรรพคุณเด่นๆและข้อมูลงานวิจัย. https://www.disthai.com/17412375/กระดุมทองเลื้อย
Views: 40