ชักพระ หรือ ลากพระ เป็นประเพณีที่ชาวไทยพุทธในภาคใต้ปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณกาลจนถึงปัจจุบัน คําว่า “ลากพระ” และ “ชักพระ” เป็นคําที่แต่ละท้องที่ใช้ต่างกันออกไป ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายของคําว่า ลาก และ ชัก ว่า คําว่า ลาก หมายถึง ดึงให้เคลื่อนที่ตามไปบนพื้น เช่น ลากเกวียน ม้าลากรถ กระโปรงยาวลากดิน ส่วนคําว่า ชัก หมายถึง ดึงสายเชือกเป็นต้นที่ผูกอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้สิ่งนั้นเคลื่อนไหวไปตามต้องการเช่น ชักธงขึ้นเสาทั้งนี้ คําว่าลากและชักมีความหมายที่คล้ายกันแต่มีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน อาจกล่าวได้ว่าการลากพระคือการลากไปตามถนนเรียบ ๆ แต่การชักพระคือการชักขึ้นเนินต้องใช้แรงเยอะกว่าเป็นต้น (ราชบัณฑิตยสถาน, 2554)
ที่มา
สันนิษฐานว่าประเพณีเกิดในประเทศอินเดียตามลัทธิศาสนาพราหมณ์ ที่นิยมนำเทวรูปมาแห่ ต่อมาชาวพุทธจึงนำเอามาดัดแปลงให้ตรงกับคัมภีร์ทางพุทธศาสนา ตามคัมภีร์ของพุทธศาสนากล่าวว่า เมื่อพระพุทธองค์ทรงกระทำยมกปาฏิหาริย์ปรามเดียถีย์ ณ ป่ามะม่วง กรุงสาวัตถี เมื่อสิ้นสุดก็เป็นฤดูเข้าพรรษาพอดี จึงทรงตัดสินพระทัยไปจำพรรษา ณ ดาวดึงส์ ด้วยมีพระประสงค์จะแสดงธรรมโปรดพระพุทธมารดา วันที่ 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันสุดท้ายของพรรษา พระพุทธองค์มีประสงค์กลับโลกมนุษย์ ได้เสด็จมาถึงประตูนครสังกัสสะเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 ตรงกับวันออกพรรษา ประชาชนเตรียมอาหารเพื่อถวายภัตตาหาร เพื่อเป็นการแสดงถึงความปิติยินดีที่พระพุทธองค์เสด็จกลับจากดาวดึงส์ ชาวเมืองจึงอัญเชิญพระพุทธองค์ขึ้นประทับบนบุษบกที่เตรียมไว้ แล้วแห่ไปยังที่ประทับของพระองค์ จึงถือเอาเหตุการณ์นั้นเป็นประเพณีลากพระ หรือ ชักพระ ในสมัยก่อนนับว่าเป็นประเพณีใหญ่ทั้งชาวบ้านและชาววัด คือ ชาวบ้านต้องเตรียมเนื้อเตรียมตัว เตรียมข้าวเหนียวทำต้ม เตรียมที่จะช่วยเหลือวัดตามที่ทางวัดต้องการ และทางวัดก็ต้องเตรียมจัดทำเรือพระสำหรับให้ชาวบ้านทำพิธีชักลาก เตรียมการโฆษณาให้ชาวบ้านทราบด้วยการตีโพนประโคมทั้งกลางวันและกลางคืน
กิจกรรมสำหรับการชักพระ

ก่อนถึงวันวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 คือวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ซึ่งเป็นวันลากพระ ชาวนครจะเตรียมทำต้ม และไปทำบุญออกพรรษาที่วัด จากนั้นก็จะทำความสะอาดพระลาก และมีพีธีสงฆ์เพื่อสมโภชพระลากในตอนค่ำ มีการเทศนาเกี่ยวกับการเสด็จสู่ดาวดึงส์กระทั่งเสด็จกลับมายังโลกมนุษย์ ส่วนทางวัดจะตีตะโพนทั้งกลางวันกลางคืนเพื่อประโคมก่อนถึงวันลากพระ 7-15 วัน เพื่อเตือนให้ชาวบ้านทราบ เรียกการประโคมนี้ว่า “การคุมพระ” พระสงฆ์ สามเณร จะช่วยกันทำบุษบกสำหรับประดิษฐานพระพุทธรูปปางอุ้มบาตรชาวนคร เรียกว่า “พระลาก” ก่อนหน้าวันลากพระ 2-3 วัน เรียกบุษบกนี้ว่า “นมพระ” (มากจากคำว่าพนมพระ) ยอดบุษบกเรียกว่า “ยอดนม” ต่างตกแต่งกันอย่างสวยงามเพราะมีการประกวด บางปีจะมีการประกวดกันที่สนามหน้าเมือง
จังหวัดนครศรีธรรมราช
สำหรับจังหวัดนครศรีธรรมราช ประเพณี ชักพระ มีทั้งการชักพระบก และชักพระน้ำ ซึ่งมีการเตรียมการคล้ายกัน คือมีการสร้างบุษบกสำหรับชักพระ ซึ่งนิยมสร้างบนร้านม้า มีไม้สี่เหลี่ยมขนาดใหญ่สองท่อนรองรับข้างล่างเพื่อให้ลากบุษบกไปได้อย่างสะดวก ไม้สองท่อนนี้สมมุติเป็นพญานาค หางด้านหัวและท้ายทำงอนคล้ายหัวและท้ายเรือ บางท้องถิ่นเรียก “เรือพระ” หรือ “เรือพระบก” ข้างหน้าอาจสลักเป็นรูปหัวเรือ หรือรูปนาค ข้างหลังทำเป็นรูปหางนาค อาจจะประดับด้วยตัวนาคด้วยกระจกสีต่าง ๆ เพื่อให้สวยงาม กลางลำตัวนาคทำเป็นร้านสูงราว 1.05 เมตร สำหรับวางบุษบกประดิษฐ์ฐานพระพุทธรูปรอบ ๆ นมพระมักประดับประดาด้วยธงสามเหลี่ยมขนาดใหญ่ด้านละ 3 ผืน และใช้ผ้าแพรสีประดับ ใช้กิ่งไม้ใบไม้สวย ๆ มาประดับ ส่วนด้านหลังบุษบกจะตั้งธรรมมาสน์หรือเก้าอี้สำหรับพระสงฆ์ผู้กำกับการแห่พระได้นั่ง ด้านหน้าพระลากจะตั้งบาตรสำหรับรับต้มจากผู้ทำบุญ รวมทั้งวางถาดและกะละมังไว้หลาย ๆ ใบด้วย (วิมล ดำศรี, 2535) ในปัจจุบันจะใช้รถหรือล้อเลื่อนประดิษฐ์ตกแต่งให้เป็นรูปเรือ
ประเพณีการชักพระบก วัดส่วนใหญ่ในนครศรีธรรมราชจะชักพระทางบก ไปตามถนนหนทางต่าง ๆ ทั่วเมืองนครศรีธรรมราช และจะพักเรือพระบริเวณหน้าอำเภอหรือสถานที่กำหนดในแต่ละท้องที่ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้ร่วมทำบุญ หลังจากนั้นจึงจะเคลื่อนขบวนกลับไปยังวัดของตนเอง






ส่วนการชักพระน้ำ คือการอัญเชิญพระพุทธรูปป่างอุ้มบาตรขึ้นประดิษฐานบนบุษบกบนเรือ แล้วแห่แหนโดยการลากไปทางน้ำ วัดส่วนใหญ่ที่อยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองมักจะมีการชักพระน้ำเป็นส่วนใหญ่ การเตรียมการสำหรับการชักพระในน้ำ คล้ายคลึงกับการชักพระบก คือ นำเอาเรือขนาดใหญ่ 2-3 ลำมาเรียงกัน โดยใช้ไม้วางตามขวางของเรือเพื่อให้เรือติดกันจากนั้นใช้ไม้กระดานวางเรียงให้เต็มก็จะได้พื้นที่ราบเสมอกัน ต่อจากนั้นอัญเชิญพระลากประดิษฐานบนบุษบกกลางลำเรือ เรียกว่า “เรือพระ” แล้วตกแต่งเรือพระและนมพระด้วยแพรพรรณ กระดาษสี ธงทิว และต้นไม้ ดนดรีและอุปกรณ์ในการรับต้มจากผู้ทำบุญก็ไม่ต่างจากลากพระบก และที่หัวเรือก็มีเชือกขนาดใหญ่ผู้ไว้สำหรับเรือของชาวบ้านมาช่วยกันลากเรือพระไป (วิมล ดำศรี, 2535) การชักพระทางน้ำเรียกว่า “เรือพระน้ำ” ในปัจจุบันใช้เรือเรื่องจริง ๆ มาลากจูงและใช้เพียงลำเดียวเพราะหาเรือยาก และจะประดิษฐ์ตกแต่งเรือพระน้ำจะใช้เรือสำปั้นหรือเรือสำหรับลากจูง ขนาดบรรทุกความจุประมาณ ๓-๕ เกวียน สมัยก่อนนิยมใช้เรือ 2-3 ลำ ผูกขนานกัน ปัจจุบันใช้เพียงลำเดียวเพราะหาเรือชักยาก และชักพระน้ำ มีเพียงหนึ่งเดียวในจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ วัดพัทธสีมา หมู่ที่ 5 ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช
วัดพัทธเสมา มีการจัดงานประเพณีชักพระทางน้ำ ซึ่งเป็นประเพณีโบราณที่สืบสานมาอย่างยาวนาน หรือเป็นประเพณีที่แปลกแตกต่างไปจากที่อื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็น “หนึ่งเดียวในโลก” ก็ว่าได้ พิธีชักพระทางน้ำเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมโบราณเอาไว้อย่างน่าสนใจ โดยมีการนำเรือพระของวัดพัทธเสมา ลากลงในลำห้วย ทำให้บรรยากาศของงานชักพระทางน้ำเป็นไปอย่างคึกคัก โดยมีชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจำนวนหลานพันคน มาร่วมชักพระโดยการลงแช่น้ำทำให้เปียกโชกไปทั้งตัว แต่เพื่อความเป็นสิริมงคลก็ยอม ทั้งนี้ประเพณีชักพระทางน้ำของวัดพัทธเสมาแห่งนี้ชาวบ้านสืบทอดกันมาเป็นเวลานาน โดยมี “พระลาก” ประดับอยู่บนเรือพระ ชาวบ้านเชื่อกันว่าพระองค์นี้มีเทวดามาช่วยหล่อ มีลักษณะคล้ายกับพระพุทธชินราช ปางอุ้มบาตรมีความสวยงามเป็นอย่างมาก จึงพากันเชื่อว่าเทวดาได้ลงมาจากสวรรค์มาช่วยหล่อให้แล้วเสร็จ ชาวบ้านเชื่อว่าพระลากวัดพัทธเสมาศักดิ์องค์นี้สิทธิ์มาก ใครบนบานมักจะสมความปรารถนา ซึ่งจะสมโภชทุกปี และนำไปประดิษฐานบนเรือพระเพื่อให้ชาวบ้านได้สักการะในวันชักพระช่วงออกพรรษา ที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือพิธี “ชักพระทางน้ำ” อันเป็นประเพณีที่สร้างความสามัคคีและความสนุกสนานให้กับชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ซึ่งทางวัดพัทธเสมาจัดมาอย่างต่อเนื่องจนเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมากเพราะมีแห่งเดียวในโลก
พระลาก วัดพัทธเสมา เป็นพระพุทธรูปปางยืนอุ้มบาตร เนื้อทอง มีชื่อว่า พระอิศระชัย สร้างขึ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา ทั้งหมดมีอยู่ด้วยกัน 7 องค์ ซึ่งแยกอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ แต่ไม่รู้ที่มาแน่ชัด ปัจจุบันประดิษฐานอยู่ภายในวัดพัทธเสมา ซึ่งชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช และ จังหวัดใกล้เคียง ต่างทราบกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่มีความเก่าแก่ และศักดิ์สิทธิ์ ใครบนบานขอสิ่งใด มักประสงค์ดังใจหวัง โดยตำนานเล่าว่า เมื่อครั้งที่หล่อองค์พระ เกิดมืดฟ้ามัวดิน ฝูงชนชาวบ้านในพิธีเห็นเหตุการณ์ต่างก็วิ่งหนีกลับบ้าน เมื่อแสงสว่างมาก็พากันมาดู ก็ได้เห็นองค์พระหล่อเสร็จแล้ว และมีความสวยงามมาก จึงพากันเชื่อว่าเทวดาได้ลงทำการหล่อจนเสร็จ และปาฏิหาริย์ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อได้กลับคืนมา ด้วยความศรัทธาชาวบ้านในพื้นที่จะมีการจัดพิธีสมโภชพระลากเป็นพระเพณีทุก ปี คือ เดือนหก และเดือนสิบเอ็ด โดยการสรงน้ำพระ และจัดประเพณีชักพระทางบก และทางน้ำ (องค์การบริหารส่วนตำบลท่าดี, 2563)










พิธีกรรมสำคัญ - การแทงต้ม
การแทงต้ม — ประเพณีในสมัยก่อน ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และในวันแรม 1 เดือน 11 เป็นวันออกพรรษา และเริ่มลากพระเป็นวันแรก ประชาชนเตรียมตักบาตร ตอนเช้าก็นำอาหารไปใส่บาตรที่จัดเรียงกันตรงหน้าพระลาก ซึ่งชาวนครเรียกว่า ” ตักบาตรหน้าล้อ ” บางท้องที่เช่นอำเภอปากพนัง หัวไทร เชียรใหญ่ จะสร้างศาลาเล็ก ๆ เสาเดียวเพื่อตักบาตร เรียกศาลานี้ว่า ” หลาบาตร ” เมื่อพระฉันเช้าแล้วการชักพระเริ่มด้วยการนำต้มมาทำบุญ ต้ม คือขนมต้ม เป็นขนมประจำงานประเพณีชักพระ ที่ทำถวายแด่พระสงฆ์ และแจกจ่ายให้แก่คนลากพระและเพื่อนบ้าน ซึ่งนับเป็นการทำบุญและทำทานไปในคราวเดียวกัน ต้มในเรือพระจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเมื่อผ่านไปทางใด ประชาชนที่อยู่รอจะต้มมาทำบุญตลอดทาง ดังนั้นจึงมีต้มเป็นจำนวนมาก กินเท่าใดไม่หมด จึงเอาไปปาเล่นเสียงบ้าง ทำให้เกิดประเพณีที่เรียกว่า “ประเพณีซัดต้ม” แต่ในปัจจุบันอาจจะหาดูได้ยากแล้ว เนื่องจากปัจจุบันการทำขนมต้มในระดับครัวเรือนมีน้อยลง เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนไป ส่งผลให้แต่ละครัวเรือนไม่สะดวกจะทำขนมต้ม ที่มาของขนมต้มในปัจจุบันอาจมาจากซื้อจากตลาดมากกว่าทำเองในครัวเรือน



วัฒนธรรมอื่น ๆ ที่มาจากประเพณีชักพระ หรือลากพระ
ในภาคใต้นั้น การชักพระหรือลากพระเป็นประเพณีที่ได้ถ่ายทอดมานานแต่โบราณกาล และมีการนำไปปฏิบัติจนกลายเป็นประเพณีสืบมาจนถึงปัจจุบัน ชาวใต้มีความเชื่อว่าการลากพระ จะทำให้ฝนตกต้องตามฤดูกาลหรือเป็นการขอฝน เพราะผู้ประกอบพิธีส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม ประเพณีลากพระ ก่อให้เกิดวัฒนธรรมอื่น ๆ สืบเนื่องหลายอย่าง เช่น ประเพณีการแข่งขันเรือพาย การประชันโพนหรือแข่งโพน กีฬาซัดต้ม การทำต้มย่าง การเล่นเพลงเรือ เป็นต้น นอกจากนั้นประเพณีชักพระยังก่อให้เกิดการรวมกลุ่มกันทำคุณงามความดี ก่อให้เกิดความสามัคคีธรรมของหมู่คณะ นำความสุขสงบมาให้สังคม (ประเพณีลากเรือพระ)
แข่งขันเรือยาว เป็นประเพณีของชาวบ้านทั่วไป จัดขึ้นเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการละเล่นในช่วงเทศกาลทอดกฐิน ทอดผ้าป่า ซึ่งจะจัดขึ้นในช่วงเดือน 11-12 ซึ่งจะตรงกับฤดูน้ำหลากพอดี ชาวบ้านที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ริมน้ำซึ่งใช้เรือเป็นพาหนะอยู่แล้ว เมื่อถึงหน้ากฐิน ผ้าป่าสามัคคีก็มักจะนิยมนำเรือมาร่วมขบวนแห่ผ้ากฐิน องค์ผ้าป่าไปยังวัดอยู่แล้ว หลังพิธีการทางศาสนาจบลง จะมีการแข่งเรือกันขึ้นเพื่อความสนุกสนาน ปัจจุบันการแข่งขันเรือยาวพัฒนาจากการละเล่น กีฬาเชื่อมความสามัคคีของคนในชุมชนกลายเป็นเกมกีฬาระดับประเทศ และเป็นกีฬาทางน้ำที่ได้รับความนิยมแพร่หลายในหลายๆ สนามแข่งขันตามลุ่มน้ำสำคัญในประเทศ เสน่ห์ของเกมกีฬาประเภทนี้อีกอย่างก็คือ จังหวะ ความพร้อมเพรียงในการพาย การจ้วงพายให้เร็วขึ้นเมื่อเข้าใกล้เส้นชัย กระชับ รวดเร็วแต่พร้อมเพรียงกัน การแข่งขันที่ให้คนดูได้ลุ้นอยู่ตลอดเวลา และการพากย์เสียงของพิธีกรประจำสนามที่ต้องยอมรับว่าสร้างความตื่นเต้นเร้าใจให้กับการแข่งขันได้ไม่น้อยเลยทีเดียว

การแข่งขันโพน เป็นประเพณีหนึ่งของภาคใต้ เชื่อว่าเริ่มมีขึ้นพร้อมๆ กับประเพณีชักพระเนื่องจากนิยมปฏิบัติต่อเนื่องกันมา ก่อนที่จะมีการชักพระในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 คือ ในช่วงออกพรรษาประมาร ปลายเดือน 10 วัดต่าง ๆ จะเตรียมจัดประเพณีชักพระ โดยเริ่มตั้งแต่การทำบุษบก หุ้มโพนะและคุมโพน (ตีโพน) ก่อน เพื่อให้ชาวบ้านตามหมู่บ้านต่างๆ ได้ทราบว่าทางวัดจะจัดให้มีการชักพระตามประเพณีที่เคยปฏิบัติเป็นประจำทุกปี แต่ส่วนมากวัดจะอยู่ในละแวกเดียวกัน ทำให้ชาวบ้านไม่ทราบว่าเสียงโพนที่ตีเป็นของวัดใด ทำให้แต่ละวัดแข่งเสียงโพนกันว่าโพนะวัดใดจะเสียงดังกว่ากัน ในระยะแรกๆ นั้นจะตีแข่งกันเองภายในวัด ต่อมาจึงค่อยๆ นำโพนมาประชันกันตามกลางทุ่นนา หรือสถานที่ที่จัดเตรียมไว้

ซัดต้ม เป็นกีฬาพื้นเมืองที่นิยมเล่นกันในเทศกาลออกพรรษา มีประวัติเกี่ยวเนื่องกับประเพณีชักพระ ซึ่งจัดในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เข้าใจว่ากีฬาซัดต้มนี้มีเฉพาะจังหวัดพัทลุงเท่านั้น และมีเพียงบางตำบล เช่น ตำบลตำนาน ชะรัด ท่าแค ร่มเมือง เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันหาดูได้ยากแล้ว และในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็เคยปรากฏว่าเจ้าบ้านผ่านเมืองได้คัดเลือกผู้มีฝีมือในการซัดต้มไปแสดงการซัดต้มถวายหน้าพระที่นั่งหลายครั้งหลายครา (สำน้กงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง, 2562)

ปัจจุบันถือแม้ว่าประเพณีชักพระได้ปรับเปลี่ยนแตกเติมต่างออกไปจากเดิมหลายอย่าง มีการตั้งหีบรับเงินอนุโมทนา มีเครื่องขยายเสียงเชิญชวน บางท้องถิ่นจัดงานบันเทิงอื่น ๆ ประกอบมีการประกวดนางงาม งานลากพระก็มีประชาชนที่อยู่ใกล้ตลาดนิยมซื้อต้มจากตลาดแทนการทำเองก็มีมากขึ้น ปรากฏการณ์ทำนองนี้พบมากขึ้นในประเพณีพื้นเมืองทุกอย่างและทุกท้องถิ่น แต่ถือว่าเป็นประเพณีที่สร้างความสนุกสนาน ความสามัคคีของชาวบ้าน และเป็นการสืบทอดประเพณีอันดีงามให้อยู่ตลอดไป
แหล่งอ้างอิง :
- บัณฑิตยสถาน. (2554). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน. กรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
- ประเพณีแข่งขันตีโพน. สืบค้นจาก https://traditionsofthailand.wordpress.com/2017/12/12/ประเพณีแข่งขันตีโพน/
- ประเพณีลากพระ. สืบค้นจาก https://www.tungsong.com/NakhonSri/Tradition_NakhonSri/ลากพระ/Index_02ลากพระ.htm
- ประเพณีลากเรือพระ. (ม.ป.ป.). สืบค้นจาก https://sites.google.com/site/tianchamaiz/ home/prapheni-lak-reux-phra?fbclid=IwAR2w6IEgRoZG7l-mSnJ5_nx_xMHZAA74AQwUSzHZ8KtG7tps36LBpoFFQRk
- วัฒนธรรมประเพณี. (ม.ป.ป.). ประเพณีแข่งขันเรือพาย. สืบค้นจาก https://sites.google.com/site/waththrrmprapheni/prapheni-khaengkhan-reux-yaw
- หาดใหญ่โฟกัส. (2560). ประเพณีชักพระ – ซัดต้ม – พระอี้จิง. สืบค้นจาก https://www.hatyaifocus.com/บทความ1/423-บอกเล่าเรื่องราว-ประเพณีชักพระ—ซัดต้ม—พระอี้จิง/
- สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดพัทลุง. (2562). ซัดต้ม หรือ “กีฬาซัดต้ม”. สืบค้นจาก https://www.m-culture.go.th/phatthalung/ewt_news.php?nid=1657&filename=King
- องค์การบริหารส่วนตำบลท่าดี. (2563). พระลากวัดพัทธเสมา. สืบค้นจาก https://www.thadee.go.th/datacenter/detail.php?news_id=1950
Facebook Comments
No related posts found