นครศรีธรรมราช เมืองประวัติศาสตร์
นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดใหญ่ที่สำคัญจังหวัดหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทย ในอดีต นครศรีธรรมราชมีฐานะเปรียบดังเมืองหลวงของเมืองน้อยใหญ่ในคาบสมุทรมลายู เป็นเมืองประวัติศาสตร์และเมืองหลักทางวัฒนธรรมที่ส่งอิทธิพลด้านศาสนา ขนบธรรมเนียมประเพณีและศิลปกรรมที่ถ่ายทอดส่งผ่านและเผยแพร่ไปยังเมืองต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ นอกจากนี้ยังมีชื่อเสียงเป็นที่ รู้จักอย่างกว้างขวางมาแล้วไม่น้อยกว่า ๑,๘๐๐ ปี โดยหลักฐานทางโบราณคดีและหลักฐานทางเอกสารที่ปรากฏในปัจจุบันยืนยันได้ว่า นครศรีธรรมราชถือกําเนิดมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๗ แล้ว เป็นอย่างน้อย ความรุ่งเรืองของนครศรีธรรมราชกระจ่างชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ โดยปรากฏชื่อในฐานะเมืองท่าซึ่งเป็นที่รู้จักของบรรดาพ่อค้าและนักเดินเรือ ทั้งยังปรากฏชื่ออยู่ในเอกสารต่างประเทศ โดยมีการเรียกแตกต่างกันไปตามสำเนียงภาษาของแต่ละชนชาติ เอกสารางประเทศเหล่านี้เอง ที่ทำให้เรื่องราวต่าง ๆ ของนครศรีธรรมราชเผยโฉมออกมาในหน้าประวัติศาสตร์ (ปรีชา นุ่นสุข, ๒๕๔๐)
“ตมพลิงคอม”หรือ ตามพลิงคม”(Tambalingam) หรือ กมลี”หรือ ตมลี”หรือ กะมะลิง” หรือ ตะมะลิง”เป็นภาษาบาลีที่ปรากฏในคัมภีร์มหานิสเทส เขียนขึ้นเมื่อราวพุทธศตวรรษที่ ๗ ถึงพุทธศตวรรษที่ ๘ คัมภีร์นี้เป็นวรรณคดีอินเดียโบราณ กล่าวถึงการเดินทางของนักเผชิญโชค เพื่อแสวงหาโชคลาภและความร่ำรวย โดยได้เดินทางมายังเมืองในดินแดนอันห่างไกลจากอินเดีย คือบริเวณเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“มาทมาลิงคัม”(Madamalingam)เป็นภาษาทมิฬ ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกที่พระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ ในอินเดียตอนใต้ โดยพระเจ้าราเชนทรโจฬะที่ ๑ โปรดให้สลักขึ้นที่เมืองตันชอร์ (Tanjore) ระหว่างปี พ.ศ. ๑๕๗๓ ถึง พ.ศ.๑๕๗๔ ภายหลังจากที่พระองค์ได้ทรงส่งกองทัพเรืออันเกรียงไกรมาปราบเมืองต่าง ๆ บนคาบสมุทรมลายูจนได้รับชัยชนะหมดแล้ว โดยในบัญชีรายชื่อเมืองทั้งหมดนั้นมีเมืองท่าที่พระองค์ทรงตีได้และสลักไว้ในศิลาจารึกด้วยคือเมืองตามพรลิงค์ แต่ได้เรียกชื่อเพี้ยนไปเป็น “มาทมาลิงคัม”
“ตามพรลิงค์(Tambralinga) เป็นภาษาสันสกฤต เป็นชื่อที่ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งค้นพบที่วัดหัวเวียง (ปัจจุบันเรียกว่าวัดเวียง) ตำบลตลาด อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี สลักด้วยอักษรอินเดีย ภาษาสันสกฤต เมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ “ตมะลิงคม”(Tamalingam)หรือ“ตมะลิงโคมุ”(Tamalingomu) เป็นภาษาสิงหล ปรากฏอยู่ในคัมภีร์อักษรสิงหลชื่อ อีลู – อัตตัง – คลู –วงศ์ (Elu – Attanagalu – Vasma) ซึ่งเขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๙๒๕
นอกจากนี้เอกสารโบราณของลังกา ยังเรียกแตกต่างกันออกไปอีกหลายชื่อ เช่น“ตมะลิงคมุ” (Tamalingamu) ซึ่งปรากฏอยู่ในคัมภีร์ปูชาวลี (Pujavali) “ตมพลิงคะ” (Tambalinga) ปรากฏในหนังสือเรื่อง วินยะ – สนยะ (Vinaya – Sanna) และในตำนานจุลวงศ์ (Culavamsa) ที่ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า “…พระเจ้าจันทรภานุบังอาจยกทัพจากตามลิงควิสัย (Tambalinga – Visaya) ไปตีลังกา…” เป็นต้น “กรุงศรีธรรมาโศก” ชื่อนี้ปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ ๓๕ หรือศิลาจารึกดงแม่นางเมืองซึ่งค้นพบที่แหล่งโบราณคดีดงแม่นางเมือง ตำบลบางตาหงาย อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ จารึกขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๑๐ โดยจารึกได้เรียกกษัตริย์ของเมืองนี้ว่า ศรีธรรมโศกราช”
Lorem ipsum dolor sit amet, consectetur adipiscing elit. Ut elit tellus, luctus nec ullamcorper mattis, pulvinar dapibus leo.


“ศรีธรรมราช” เป็นชื่อที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกหลักที่ ๒๔ ซึ่งค้นพบที่วัดหัวเวียง ปัจจุบันคือวัดเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี ศิลาจารึกภาษาสันสกฤตหลักนี้ สลักขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๑๗๗๓ และได้กล่าวไว้ว่า สลักขึ้นในรัชสมัยของเจ้าผู้ครองแผ่นดินที่ทรงมีพระอิสริยยศว่า “ศรีธรรมราช” ผู้เป็นเจ้าของแคว้นตามพรลิงค์ (ตามพรลิงเคศวร) ซึ่งต่อมาชื่อ “ศรีธรรมราช” นี้ นอกจากนั้นชื่อนี้ยังได้ปรากฏอีกในศิลาจารึกหลักที่ ๑ ของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย ซึ่งสลักด้วยอักษรไทยและภาษาไทยเมื่อ พ.ศ.๑๘๓๕ ดังความบางตอนว่า
“…เบื้องตะวันตกเมืองสุโขทัยนี้มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแหงกระทำโอยทานแก่มหาเถรสังฆราชปราชญ์เรียนจบปิฎกไตรย หลวกกว่าปู่ครูในเมืองนี้ ทุกคนลุกแต่เมืองศรีธรรมราชมา … มีเมืองกว้างช้างหลาย ปราบเบื้องตะวันออกรอดสระหลวง สองแคว ลุมบาจายสคา เท้าฝั่งของเถิง เวียงจันทน์เวียงคำเป็นที่แล้ว เบื้องหัวนอน รอดคนที พระบาง แพรก สุพรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว …”
“สิริธรรมนคร”หรือ สิริธัมมนคร”ปรากฏในหนังสือบาลีเรื่องจามเทวีวงศ์ ซึ่งพระโพธิรังสี พระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นในราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๑ นอกจากนี้ก็ยังปรากฏในหนังสือชินกาลมาลีปกรณ์ ซึ่งพระรัตนปัญญา พระเถระชาวเชียงใหม่เป็นผู้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๐ และมีผู้อื่นแต่งต่ออีกจนเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๐๗๑
“โลแค็ก”หรือ โลกัก (Locac, Lochac) เป็นชื่อที่มาโคโปโลเรียกระหว่างเดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอนเมื่อ พ.ศ. ๑๘๓๕ โดยออกเดินทางจากเมืองท่าจินเจาของจีน แล่นเรือผ่านปลายแหลมญวณตัดตรงมายังตอนกลางของแหลมมลายูและได้พรรณณาถึงดินแดนแห่งหนึ่งชื่อ “โลแค็ก” ซึ่งเข้าใจว่าเป็นเมืองลิกอร์หรือนครศรีธรรมราช
“ปาฏลีบุตร (Pataliputra) เป็นชื่อที่ปรากฏในเอกสารโบราณชาวศรีลังกาซึ่งเป็นรายงานของข้าราชการเชื้อสายชาวสิงหลซึ่งเข้ามาในแผ่นดินศรีอยุธยารัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ได้กล่าวถึงเมืองนี้ไว้ในตอนเที่ยวกลับเพราะเรือเสียที่ตลิ่งหน้าเมืองนี้ โดยเรียกคู่กันในเอกสารชิ้นนี้ ว่า “เมืองปาฏลีบุตร” ในบางตอน และ “ เมืองละคอน” (Muan Lakon) ในบางตอน
นอกจากนี้ ในโคลงยอพระเกียรติสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีของนายสวนมหาดเล็กก็เรียกตามพรลิงค์ หรือนครศรีธรรมราชว่า “ปาตลีบุตร” เช่นกัน
“ลึงกอร์ เป็นชื่อที่ชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ใช้เรียกชื่อเมืองตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ชาวมาเลย์ในรัฐกลันตันและเมืองใกล้เคียงก็ใช้ชื่อนี้เรียกเมืองนครศรีธรรมราชเช่นเดียวกัน ปัจจุบันชาวไทยมุสลิมในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงเรียกนครศรีธรรมราชว่า “ลึงกอร์” อยู่
“ลิกอร์”เป็นชื่อที่พ่อค้าชาวโปรตุเกสซึ่งเข้ามาติดต่อค้าขายกับไทยในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น คือในรัชกาลของสมเด็จพระรามาธิบดีที่สอง หรือเมื่อ พ.ศ. ๒๐๖๑ ใช้เรียกเมืองนครศรีธรรมราช โดยนับเป็นชาวยุโรปชาติแรกที่เข้ามาติดต่อค้าขายกับสยาม ทั้งนี้นักปราชญ์สันนิษฐานว่า “ลิกอร์” นี้ ชาวโปรตุเกสคงจะเรียกเพี้ยนไปจากคำว่า “นคร” อันเป็นชื่อย่อของ “นครศรีธรรมราช” เนื่องจากชาวโปรตุเกสไม่ถนัดในการออกเสียงตัว “น” จึงเพี้ยนเป็น “ล” ในที่สุด ทั้งนี้ “ลิกอร์” เป็นชื่อที่ชาวตะวันตกรู้จักกันดี
“ละคร”หรือ ลคร”หรือ ละคอน” คงเป็นชื่อที่เพี้ยนไปจาก “นคร” อย่างไรก็ดีนักปราชญ์บางท่านได้ให้ความเห็นว่าเมืองนครเคยมีชื่อเสียงทางการละครมาแต่โบราณ แม้แต่ในสมัยกรุงธนบุรีเมื่อต้องการฟื้นฟูศิลปะการละครหลังจากที่ถูกทำลายลงในสมัยเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ก็ยังต้องนำแบบอย่างไปจากเมืองนครศรีธรรมราช ดังนั้นชื่อ “ละคร” หรือ “ลคร” หรือ “ละคอน” จึงน่าจะมีที่มาจากเหตุเรื่องนี้
“นครศรีธรรมราช” ชื่อดังกล่าวนี้เป็นชื่อที่อาจารย์ตรี อมาตยกุล และศาสตราจารย์ยอร์ช เซเดย์ นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศสมีความเห็นว่าคนไทยฝ่ายเหนือขนานนามราชธานีของกษัตริย์ “ศรีธรรมราช” ตามอิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ ซึ่งถือเป็นประเพณีสืบต่อกันมาทุกพระองค์จนเป็นที่รู้จักกันดีโดยทั่วไป ทั้งยังเป็นเหตุให้มีการขนานนามตามชื่ออิสริยยศของกษัตริย์ผู้ครองนครนี้ตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นอย่างน้อยจวบจนกระทั่งปัจจุบัน
Facebook Comments
No related posts found