รำลึกถึงหมู่บ้าน กะทูน ในอดีต
ชุมชนกะทูนจากอดีตสู่ปัจจุบัน
ชุมชนกะทูนในอดีตเป็นตำบลหนึ่ง ในอำเภอฉวาง โดยในปีพุทธศักราช 2515 ได้ยกฐานะเป็นตำบลพิปูนและแยกตัวออกจากอำเภอฉวาง มาเป็นตำบลหนึ่งในอำเภอพิปูน
ชุมชน กะทูน ในอดีตเป็นพื้นที่ทุรกันดาร ห่างไกลจากตัวเมืองนครศรีธรรมราชประมาณ 109 กิโลเมตร
ชุมชนกะทูน เป็นชุมชนกลางหุบเขาที่มีอายุยาวนานมากว่า 300 ปี วิถีชีวิตของชาวกะทูนในอดีต มีอาชีพหาของป่า ทำนา ทำไร่ เลี้ยงสัตว์ และปลูกข้าว ใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย เป็นสังคมแบบเกื้อกูลที่ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยมีพุทธศาสนาเป็นแหล่งยึดเหนี่ยวจิตใจ โดยมีวัดที่สําคัญคือวัดศรีมาราม หรือ วัดกะทูนเหนือ ตั้งอยู่ตรงใจกลางเมือง มีคลองกะทูนไหลผ่าน
ต่อมาในเดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช 2531 ได้เกิดอุทกภัยครั้งรุนแรง กระแสน้ำป่าอันเชี่ยวกราดได้พัดพาเอาบ้านเรือนของชาวบ้าน ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ทรัพย์สินและพื้นที่ทำมาหากินสูญเสียเกือบทั้งหมด ถือเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของชาวกะทูน ชาวกะทูนที่รอดชีวิตต้องอพยพไปอาศัยในที่ต่าง ๆ และ สร้างชุมชนใหม่ขึ้นมาที่บ้านห้วยช่อง ซึ่งรัฐบาลจัดสรรที่ดินสำหรับปลูกบ้านเรือนให้หลังละ 50 ตารางวา การสร้างบ้านนั้นทางรัฐบาลช่วยเหลือในส่วนของวัสดุสําหรับปลูกบ้าน หากครอบครัวไหนมีเงินก็จะสามารถสร้างบ้านได้ตามความชอบของตนเองได้ แต่ก็ยังมีบางครอบครัวที่ไม่ได้รับจัดสรรในหมู่บ้านห้วยช่องง ไปอยู่ที่ชุมชนอื่น ๆ ที่รัฐจัดสรรให้ เช่น ที่ตําบลกุแหระ อําเภอทุ่งใหญ่
ซึ่งจากจากเหตุการณ์ครั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 9) พระองค์ทรงมีพระราชดําริให้มีการสร้างอ่างเก็บน้ํา เพื่อการบรรเทาอุทกภัยและฟื้นฟูพื้นที่อ่างเก็บน้ําแห่งนี้ให้กลับมาใช้ประโยชน์ในการดำรงชีพของชาวชุมชนกะทูนซึ่งในปัจจุบันได้สร้างประโยชน์มากมาย ให้แก่ชาวชุมชนกะทูน ไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร การปศุสัตว์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่งดงามจนกระทั่งปัจจุบัน