
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช
ความเป็นมาประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ เป็นงานประเพณีที่เก่าแก่และสำคัญของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เท่านั้น ประเพณีนี้ไม่มีปฏิบัติกันที่ใดในประเทศไทย นอกจากเมืองนครเท่านั้น เป็นประเพณีที่ชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินทองตามกำลังศรัทธา นำเงินที่ได้จากการบริจาคนั้นไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเข้าให้เป็นแถบยาวนับพันหลา แล้วพากันแห่งผ้าดังกล่าวไปยังวัดพระมหาธาตุวรวิหาร เพื่อนำแถบผ้านั้นไปพันโอบรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
สมัยก่อนพุทธกาล ชาวอินเดียส่วนใหญ่มีความเชื่อในสิ่งลี้ลับอยู่มาก โดยเฉพาะในศาสนาพราหมณ์นั้นเชื่อเทพเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง จึงเชื่อว่าทุกสิ่งที่อย่างเทพเจ้าเป็นผู้สร้างและผู้ทำลาย เทพเจ้าจึงมีความสำคัญแก่ชีวิตพรามณ์เป็นที่สุด การกระทำทุกอย่างของพราหมณ์จึงคำนึงถึงเทพเจ้าก่อนสิ่งอื่นใด เพราะเชื่อว่าหากการกระทำใดไม่ถูกอัธยาศัยของเทพเจ้าจะนำมาซึ่งวิบัติได้ ดังนั้นการกระทำที่ดีที่สุดเพื่อให้ถูกใจเทพเจ้า คือการเซ่นบวงสรวงกราบไหว้ การเซ่นบูชากราบไหว้จึงกลายเป็นวัตรที่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ
ครั้นถึงสมัยพุทธกาล คำสอนของพระพุทธองค์ที่มุ่งจะทำลายความเชื่ออันไม่เป็นสรณะ การทำลายการเซ่นสรวงเหล่านั้นไม่ได้โดยเด็ดขาดทันทีทันใด เพราะชาวพุทธส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน ดังนั้นความเชื่อเก่า ๆ ที่ตนเคยปฏิบัติอยู่จึงยากแก่การสลัดทิ้งไป การเซ่นบวงสรวงที่ตนเคยปฏิบัติมาก่อนจึงยังคงปฏิบัติต่อไป อย่างการบูชาเทพเจ้าต้นไม้ (รุกขเทวดา) เพื่อให้ประทานโชคลาภ ความสงบสุข ประทานบุตร และพืชผลแก่ตน โดยการกราบไหว้และการหาผ้าแพรพรรณมาพันรอบต้นไม้ก็ยังปฏิบัติสืบต่อกันมา
จากการปฏิบัติของชาวพุทธที่เคยเป็นพราหมณ์มาก่อน เป็นผลสืบเนื่องมาถึงชาวพุทธสมัยหลัง ๆ ดังจะเห็นได้จากชาวพุทธสมัยหลัง ๆ นิยมปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อเดิม ชาวพุทธบางคนไม่อาจะแยกได้ว่าประเพณีใดเป็นของศาสนาพราหมณ์ ประเพณีใดเป็นของศาสนาพุทธ เป็นอันว่าประเพณีของศาสนาพราหมณ์ก็เข้ามาปะปนในศาสนาพุทธมากมาย
ในการแห่ผ้าขึ้นธาตุของชาวนครก็คงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน เพราะเมื่อชาวนครรับพุทธศาสนามาจากอินเดียก็รับเอาประเพณีต่าง ๆ ตามแบบของชาวพุทธในอินเดียเข้ามาด้วย และเราก็ยึดถึอกันว่าหากจะทำบุญหรือกราบไหว้บูชาให้ได้กุศลจริง ๆ ก็ต้องปฏิบัติเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์เท่านั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จสู่ปรินิพพานแล้วก็อาจยังมีตัวแทนอยู่ เช่น เจดีย์ และพระพุทธรูป เป็นต้น การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านึ้ก็เท่ากับกราบไหว้บูชาพระพุทธองค์ด้วย การที่ชาวนครนำเอาผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ โดยการโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ก็คือการบูชาที่สนิทแนบกับองค์พระพุทธองค์นั่นเอง (วิเชียร ณ นคร และคณะ, ๒๕๒๑)
จุดเริ่มต้นของ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ สัณนิษฐานได้ว่าเป็นประเพณีที่มีมานานจนยากที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่า จะทำกันมาตั้งแต่ครั้งใดนั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ปรากฏว่าในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ได้กระทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ อันเป็นวันวิสาขบูชาอยู่แล้วทุกปี และต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเพิ่มเป็น ๒ วัน คือนอกจากวันวิสาขบูชาแล้ว ยังทําเพิ่มในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งเป็นวันมาฆบูชาอีกวันหนึ่ง และได้ถือปฏิบัติสืบมาจนทุกวันนี้ (นครศรีธรรมราช, ๒๕๓๗, น. ๑๕๕-๑๕๖)
อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเพณีนี้ว่า ในสมัยโบราณประมาณปี พ.ศ. ๑๓๓๓ ขณะที่กษัตริย์สามพี่น้อง คือพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภานุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังเตรียมประกอบพิธีวิสาขะสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์หลังจากที่พระองค์ได้บูรณะแล้วเสร็จ เมื่อปีพุทธศักราช ๑๗๗๓ ซึ่งไม่กี่วันก่อนจะเริ่มพิธีสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ ชาวปากพนัง ได้เก็บ ผ้า “พระบฏ” ที่มีคลื่นซัดมาเกยชายหาด ซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าแถบเขียนลวดลายเขียนพุทธประวัติ ผ้ายาวประมาณ ๑,๐๐๐ หลา นำมาทูลเกล้าถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เมื่อเจ้าพนักงานทำความสะอาดแล้วเสร็จปรากฏว่าลายเขียนนั้นก็ไม่เลือนหายไป ซักเสร็จจึงผึ่งไว้ในพระราชวัง และประกาศหาเจ้าของจนได้ความว่า พระบฏเป็นของพุทธศาสนิกชนคณะหนึ่งที่แล่นเรือมาจาก เมืองหงสาวดี โดยมี “ผขาวอริพงษ์” เป็นหัวหน้าคณะนำพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกมรสุมพัดจนเรือแตกเสียก่อน พุทธศาสนิกชนกลุ่มนั้นมีราว ๑๐๐ คน รอดเพียง ๑๐ คน ยินดีถวายผ้าพระบฏให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงโปรดให้ชาวเมืองจัดเครื่องประโคมแห่แหนและนำขึ้นห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ ในคราวเดียวกับการสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ และได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจวบจนถึงปัจจุบัน
การจัดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุนครศรีธรรมราชนั้น จึงเป็นประเพณีที่ปฏิบัติกันมายาวนาน จนกระทรวงวัฒนธรรมเห็นความสำคัญของประเพณีนี้จึงได้ประกาศให้เป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมชองชาติ ประจำปี ๒๕๕๗ ซึ่งเป็นการบ่งบอกว่าเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนประเพณีเป็นมรดกทางภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาตินั้นเพื่อปกป้องคุ้มครองเพื่อไม่ให้เสียอัตลักษณ์ และสูญเสียภูมิปัญญาที่เป็นองค์ความรู้ทางวัฒนธรรม ซึ่งเป็นข้อมูลที่สำคัญของชาติ อีกทั้งยังเป็นการประกาศความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม (กระทรวงวัฒนธรรม, 2559, 1 78-82)
ทุกปีของวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ และในปีอธิกมาสวันมาฆบูชาจะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ พุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พร้อมใจกันประกอบศาสนพิธีขึ้นในวันดังกล่าว โดยนำผ้าแถบสีต่าง ๆ เช่น สีขาว สีเหลือง สีแดง เป็นต้น อีกทั้งผ้าสีขาวที่ภาพวาดพุทธประวัติ ซึ่งเรียกว่าผ้าพระบฏ ขึ้นนำห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประจำทุกปี เรียกประเพณีนี้ว่า “ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ”



ในปัจจุบัน การแห่ผ้าขึ้นธาตุ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปจากเดิมมาก แต่เดิมมานั้น พระบตมีช่างผู้ชำนาญเขียนภาพสีส่วนใหญ่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ประดับด้วยลูกปัดสีต่าง ๆ แพรพรรณและดอกไม้ที่แถบขอบผ้าโดยตลอดทั้งผืน แต่ปัจจุบันอาจะเป็นเพราะสภาพสังคมสับสน หาเวลาว่างไม่ค่อยได้ หรืออาจจะเพราะไม่มีช่างผู้ชำนาญก็เป็นไปได้ จึงทำให้การประดับประดาและเขียนภาพที่พระบตสูญหายไป ผ้าที่นิยมใช้กันจึงเป็นผ้าสี่เหลี่ยม เช่น สีเหลือง สีขาว สีแดง ภัตตาหารและเครื่องบริโภคและอุปโภค ที่เคยจัดไปถวายพระในว้นแห่ผ้าขึ้นธาตุแต่เดิมไม่มีแล้ว เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำกันโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนเอิกเกริกเพียงขบวนเดียว แต่ต่อมาอาจเป็นเพราะประชาขนมาจากหลายทิศทาง แต่ละคนต่างเตรียมผ้ามาเอง ทำให้การแห่ผ้าขึ้นธาตุไม่พร้อมเพรียงเป็นขบวนเดียว เป็นต้น (วิเชียร ณ นคร และคณะ, ๒๕๒๑) การจัดเตรียมผ้า ชาวบ้านอาจะจัดเตรียมมาเอง หรือ สามารถมาทอนผ้าที่ทางวัดเตรียมไว้ โดยร่วมบริจาคค่าผ้าทำบุญตามกำลังศรัทธา แล้วนำผ้าเดินทักษิณาวรรตรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ เมื่อครบนำผ้าเข้าสู่พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์ หรือวิหารพระทรงม้า ทางขึ้นลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ อยู่ในวิหารนี้ เจ้าหน้าที่ของวัดจะยอมให้ผู้อาวุโสในขบวนเพียง ๒-๓ คน เท่านั้นสมทบกับคนงานนำผ้าไปพันโอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ที่ไม่สามารถขึ้นไปบนกำแพงแก้วได้หมดทั้งขบวนเพราะทางวัดได้กำหนดให้ลานภายในกำแพงแก้วเป็นเขตหวงห้าม ยกเว้นการนำผ้าพระบฏขึ้นบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าใต้ลานกำแพงแก้วในฐานพระบรมธาตุเจดีย์มีพระบรมสาริกธาตุประดิษฐานอยู่ หากขึ้นไปเดินบนลานจะไม่เป็นการสมควร
ซึ่งในแต่ละปีจะมีพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศได้เดินทางมายังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้ามืดถึงค่ำคืน เพื่อร่วมสืบสานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ










ผ้าพระบฏเพื่อใช้ห่มบูชาพระบรมธาตุเจดีย์






การจัดขบวนแห่แหนผ้าพระบฏและการถวายผ้า
ในการจัดขบวนแห่แหนผ้าพระบฏ นิยมจัดขบวนเป็นแถวตอนเรียงสองทุกขบวน ซึ่งขนวนแห่แหนจะมาทุกสารทิศของพุทธศาสนิกชนที่มีความศรัทธาเลื่อมใส ซึ่งขบวนแห่แหนจะดนตรีนำหน้า เช่น คณะกลองยาวเป็นดนตรีนำขบวน หรือวงดุริยางค์ของโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช บรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะเดินแถวเรียงเป็นริ้วขบวนยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนทูนชูผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ตามความเชื่อกันว่าผ้าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าจึงควรแก่การบูชาจะถือไว้ในระดับต่ำกว่าศีรษะไม่ได้โดยเด็ดขาดวิธีการถวายผ้าพระบฏ
ขบวนแห่แหนผ้าพระบฏ สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป จะมาจากทุกสารทิศ ตลอดวันของการจัดงานเพื่อแห่ผ้าขึ้นธาตุ หากมากันเป็นหมู่คณะใหญ่ จะมีการแต่งกายที่งดงาม เรียบร้อยเป็นรูปแบบเดียวกัน นิยมใส่เสื้อผ้าสีขาว ผ้าถุงยาวซึ่งอาจจะเป็นผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก หรือผ้าทอพื้นเมือง ส่วนผู้ชาย จะใส่เสื้อสีขาว และกางเกงขายาวขาวหรือดำ
ข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บรรยายการจัดริ้วขบวนแห่แหนผ้าพระบฏพระราชทาน ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๔ ได้บรรยายการจัดริ้วขบวนอัญเชิญผ้าพระบฎ ไว้ว่า
“ กำหนดให้มีริ้วขบวนเพียง ๖ ริ้วขบวน เป็นริ้วขบวนอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน ๕ ผืน ประกอบด้วย
- ผ้าพระบฏพระราชทานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
- ผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
- ผ้าพระบฏพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
- ผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
- ผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
และริ้วขบวนผ้าพระบฏของพุทธศาสนิกชน ที่ประกอบด้วยริ้วขบวนผ้าสีขาว สีเหลือง สีแดง และสีกรมท่า จำนวน ๑ ริ้วขบวน ทั้งนี้เพื่อลดจำนวนผู้ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรม และเป็นไปตามแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ โดยริ้วขบวนได้เคลื่อนจากด้านหน้าศาลาประดู่หก สนามหน้าเมืองไปตามถนนราชดำเนินเพื่อเข้าสู่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และเมื่อถึงบริเวณลานโพธิ์ ภายในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารมีการรำบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ของนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช จากนั้นเป็นการประกอบพิธีทางศาสนาโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระพิศิษฎ์วินัยการ เจ้าคณะอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช (ธ) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีพระราชวิสุทธิกวี เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช (ธ) พระผู้ใหญ่ ร่วมพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้กล่าวนำถวายผ้าพระบฏพระราชทาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น จะได้อัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน ๕ ผืน บูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระวิหารทรงม้า ก่อนจะมีการประกอบพิธีเวียนเทียน เนื่องในวันมาฆบูชาตามลำดับต่อไป”
งานประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี ๒๕๖๕ ตามโครงการพระบรมธาตุ มรดกธรรม มรดกโลก เชื่อมเส้นทางศรีวิชัย เปิดประตูประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒- ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ จัดริ้วขบวนแห่ผ้า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อ โควิด-๑๙ แต่ยังคงให้มีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมรณรงค์การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา กิจกรรมสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน กิจกรรมสวดมนต์ กิจกรรมสวดด้าน กิจกรรมตักบาตร กิจกรรมถวายผ้าพระบฎพระราชทาน และกิจกรรมเวียนเทียน











๒๕๖๘ : การแห่ผ้าขึ้นธาตุ
มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี ๒๕๖๘ จัดในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ โดยปกติที่ผ่านมา ใช้ชื่อว่า “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติที่เมืองนคร ประจำปี … ” สำหรับปีนี้เปลี่ยนชื่อเป็น “มหกรรมบูชาพระมหาธาตุ” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๖-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร มีกิจกรรมสำคัญในปีนี้มี ๘ กิจกรรมหลัก ประกอบด้วย
กิจกรรมหลักของนิทรรศการชุดหัวใจพุทธศาสนาในผ้าพระฎนานาชาติ หรือ กิจกรรมสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน ในปีนี้ไม่ได้จัด แต่มี บวรนคร ได้จัดกิจกรรมนี้ในวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ เวลา ๑๕.00 น. ที่ #บวรนคร โดยจะเปิด #นิทรรศการหัวใจพุทธศาสนาในผ้าพระบฏนานาชาติ ร่วมสวดมนต์สาธยายบท #ปฏิจจสมุปบาทที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ แล้วสนทนาแลกเปลี่ยนท่ามกลางผ้าพระบฏนานาชาติร่วม ๑๐๐ ผืน ท่านที่สนใจ สามารถเข้าร่วมกัจกรรมนี้ได้ที่ บวรนคร (Bunchar Pongpanich, ๒๕๖๘)






กำหนดการดังนี้
ระหว่างวันที่ ๖-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘ กิจกรรมสวดด้าน สวดมนต์ฟังธรรม ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
วันที่ ๑๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
พิธีสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน ณ บริเวณลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
พิธีถวายผ้าพระบฏพระราชทาน ณ บริเวณลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
วันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๘
พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา ณ บริเวณถนนราชดำเนิน ด้านหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
พิธีอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทานจากสนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช ถึงวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น
กิจกรรมสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน
การจัดขบวนแห่ผ้าพระบฏพระราชทานที่ยิ่งใหญ่
พิธีอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน
พิธีถวายผ้าพระบฏพระราชทาน
การกวนข้าวมธุปายาส (ยาคู) อ่านเพิ่มเติม ข้าวยาโค ข้าวแห่งพลังศรัทธาของพุทธศาสนิกชน
การแสดงพื้นบ้าน
กิจกรรมสวดด้าน อ่านเพิ่มเติม สวดด้าน : จากภูมิปัญญาสู่ประเพณี
กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา









๒๕๖๗ : การแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ปี ๒๕๖๗ การจัดงานสัปดาห์มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี ๒๕๖๗ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๐-๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗ จัด ๒ สถานที่ คือ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช และบริเวณลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหาร กิจกรรมภายในงาน จะประกอบด้วยกิจกรรมสมโภชผ้าพระบฏพระราชทานและผ้าพระบฏของส่วนราชการ หน่วยงานและองค์กรต่างๆ พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา พิธีอัญเชิญและถวายผ้าพระบฏพระราชทาน กิจกรรมรณรงค์แต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวและกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนาในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาเนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี ๒๕๖๗ กิจกรรมสวดด้าน กิจกรรมสวดมนต์ฟังธรรม เจริญจิตตภาวนาถวายเป็นพุทธบูชา กิจกรรมกวนข้าวยาคู และพิธีเวียนเทียนวันมาฆบูชา
และในปีนี้จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้รับผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน ๖ ผืน ประกอบด้วย
๑. ผ้าพระบฎพระทานของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก
๒. ผ้าพระบฏพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
๓. ผ้าพระบฏพระราชทานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
๔. ผ้าพระบฏพระราชทานของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทร มหาวชิราลงกรณ พระวชิราเกล้าเจาอยู่หัว
๕. ผ้าพระบฏพระราชทานของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และ
๖. ผ้าพระบฏพระราชทานของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ซึ่งนับเป็นพระกรุณาธิคุณและเป็นสิริมงคลแก่ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชอย่างหาที่สุดมิได้
วันที่ ๒๐-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เวลา ๐๙๐๐ น. กิจกรรมสวดด้าน ณ วิหารคด วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เวลา ๑๔๐๐ น. กิจกรรมสวดมนต์ฟังธรรม เจริญจิตตภาวนา ถวายเป็นพุทธบูชา ณ ศาลา ๑๐๐ ปี วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
วันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เวลา ๐๙.๓๐ น. กิจกรรมส่งมอบผ้าพระบฏพระราชทาน ผ้าพระบฏประทาน ณ โรงเรียนปากพนัง อำเภอปากพนัง
เวลา ๑๕.๐๐ น. กิจกรรมกวนข้าวยาคู ณ บริเวณลานหน้าพิพิธภัณฑ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
เวลา ๑๙.๐๐ น. กิจกรรมสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน ณ โรงเรียนปากพนัง อำเภอปากพนัง
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เวลา ๐๘.๓๐-๑๖.๓๐ น. กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลมาฆบูชา ประจำปี ๒๕๖๗ ณ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช
เวลา ๑๕.๐๐-๑๖.๓๐ น. กิจกรรมรับมอบและสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗
เวลา ๐๖.๓๐ น. กิจกรรมทำบุญตักบาตร ณ บริเวณถนนราชดำเนิน ด้านหน้าวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร
เวลา ๑๔.๐๐ น. กิจกรรมปล่อยริ้วขบวนผ้าพระบฏ ณ สนามหน้าเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
เวลา ๑๖.๐๐ น. กิจกรรมถวายผ้าพระบฏพระราชทาน ณ บริเวณลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช
เวลา ๑๘.๓๐ น. กิจกรรมเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชา ณ บริเวณลานโพธิ์ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช



๒๕๖๖ : การแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ส่วนปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา มีกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อสมโภชประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จัดโดย วิทยาลัยนาฎศิลปนครศรีธรรมราช คือ ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย คือ การแสดง “โขน” เรื่องรามเกียรติ์ ถวายเบื้องหน้าพระบรมธาตุเมืองนคร ในวันเสาร์ ๔ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา ๑๙.๐๐ น. ณ ลานหน้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง #นครศรีธรรมราช




ภาพจาก ทุ่งสงวันวาน
ถึงแม้ว่าธรรมเนียมที่ปฏิบัติสำหรับประเพณีนี้จะสืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่พุทธศักราช ๑๗๗๓ ณ ปัจจุบัน ๗๙๒ ปีก็ตาม ในปัจจุบันก็ยังคงถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเหมือนเดิม ยังคงเป็นประเพณีที่สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนที่ยังคงมีการทำบุญใส่บาตร มีความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนิกชนจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือจากจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างมีความศรัทธาที่จะมาห่มผ้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์อย่างพร้อมเพรียงเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต


บรรณานุกรม
- การศึกษาวิเคราะห์ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JMA/article/view/141787
- ฉัตรชัย ศุภกระกาญจน์. (ม.ป.ป.). ผ้าพระบฏนครศรีธรรมราช. http://dspace.nstru.ac.th:8080/dspace/bitstream/123456789/494/1/ผ้าพระบฎเมืองนคร.pdf
- เดชชาติ ตรีทรัพย์ และคณะ. (2561). การศึกษาวิเคราะ์ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช. วารสารมหาจุฬาวิชาการ, 4(1), 65-75. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JMA/article/view/141787
- นครศรีธรรมราช. (2537). นครศรีธรรมราช. สารคดี.
- “ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ” ตำนานเมืองนครฯ และเรื่องผ้าสีชมพูห่มพระมหาธาตุของรัชกาลที่ 5. www.silpa-mag.com/history/article_27637
- พิธีอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน และขบวนผ้าพระบฏของพุทธศาสนิกชน เนื่องในงานประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2564 ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด. https://www.m-culture.go.th/nakhonsrithammarat/ewt_news.php?nid=999&filename=index
- เมืองคอนจัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ 12-16 กุมภาพันธ์ 2565. https://www.facebook.com/NakhonSiThammaratToday/posts/333901681935474
- ราชบัณฑิตยสถาน. (2555). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๕๔. https://dictionary.orst.go.th/
- วิจิตร ศรีสุวรรณ. (2543). นครศรีธรรมราชท้องถิ่นของเรา. วุฒิสาส์น.
- วิเชียร ณ นคร, สมพุทธ ธุระเจน, ชวน เพชรแก้ว, ฉัตรชัย ศุภกระกาญจน์ และ ปรีชา นุ่นสุข, (2521). นครศรีธรรมราช. อักษรสัมพันธ์ฺ.
- สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2540. ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย (พิมพ์ครั้งที่ 3). สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
- สำนักงานจังหวัดพังงา. (2563). ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ. https://www.m-culture.go.th/phangnga/ewt_news.php?nid=980&filename=index
- สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2563). พิธีอัญเชิญและถวายผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน 5 ผืน เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุที่เมืองนคร ประจำปี 2563. https://www.m-culture.go.th/nakhonsrithammarat/ewt_news.php?nid=642&filename=index
- สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต. (2565). แห่ผ้าขึ้นธาตุ. https://www.sac.or.th/databases/rituals/rituals_pdf.php?id=33
- องค์การบริหารส่วนตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช. (2560). โครงการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมแห่ผ้าขึ้นธาตุประจำปี 2560. https://www.abtdusit.go.th/activity/user_select_photo.php?news_id=168
- Buncha Pongpanich. (2568, 18 มกราคม). ตกลงมาฆบูชาแห่งผ้าขึ้นธาตุเมืองนครเป็นไง?. [ภาพประกอบ].[Status Update]. Facabook. https://www.facebook.com/profile/100026553936607/search/?q=แห่ผ้าขึ้นธาตุ
- Muzika. (2565). งานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วันมาฆบูชา 2565 งานบุญใหญ่ นครศรีธรรมราช. https://travel.trueid.net/detail/XPdyB5xKDEAl
- Unseen ถิ่นไทย. (2561). นครศรีฯ ดี๊ดี “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ” งานบุญใหญ่ประจำปี 2561 จ.นครศรีธรรมราช. http://www.unseenthinthai.com/news/1079