ห้องสมุดโรงเรียน : โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาวัง
ห้องสมุดโรงเรียน เป็นสถานที่หรือสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับโรงเรียนทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือใหญ่ ของรัฐหรือเอกชน เพราะ
1. ห้องสมุดเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และวิชาการต่าง ๆ ที่นักเรียนสามารถค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมได้ตลอดเวลา
2. ห้องสมุดเป็นแหล่งที่นักเรียนเลือกหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร ได้อย่างหลากหลาย ตามความสนใจและความต้องการของตนเอง
3. ห้องสมุดช่วยให้นักเรียนเป็นผู้ที่ทันสมัยทันต่อเหตุการณ์ เนื่องจากข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ และวิชาการต่าง ๆ เกิดขึ้นใหม่ตลอดเวลา
4. ห้องสมุดช่วยให้นักเรียนเกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ เกิดนิสัยรักการอ่าน และค้นคว้าด้วยตนเอง เกิดความรู้อันเป็นรากฐานในการค้นคว้าวิจัยสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ
ประวัติโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาวัง
โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาวัง จัดตั้งเมื่อเดือนกรกฎาคม 2539 จนปัจจุบัน หมู่ที่ ๒ บ้านเขาวัง ตำบลหินตก อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเริ่มต้นจากประชาชนบ้านเขาวังได้ทำหนังสือร้องขอให้กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ ๔๒ จัดตั้งโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เนื่องจากเยาวชนบ้านเขาวังต้องเดินทางไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนบ้านปลายราง สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอร่อนพิบูลย์ ซึ่งมีระยะทาง ๑๐ – ๑๔ กิโลเมตร โดยต้องเดินเท้าไปเรียน ซึ่งในช่วงฤดูฝนไม่สามารถไปเรียนได้ กองกำกับฯ จึงได้จัดเจ้าหน้าที่เข้าไปสำรวจข้อมูล และทราบว่าราษฎรเดือดร้อนจริง จึงได้ประสานงานกับส่วนราชการที่รับผิดชอบดำเนินการจัดตั้ง โดยโรงเรียนมีพื้นที่ทั้งหมด ๑๘ ไร่ (http://chaipat.au.edu/safe-life/nakhonsri/kaowang.html)
การเริ่มต้นจัดทำห้องสมุดโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาวัง เป็นการทำงานที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2550 ปี 2560 (มเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านเขาวัง อำเภอร่อนพิบูลย์ ในวันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม 2560 เวลาประมาณ 14.29 น) และปี 2565 และการดำเนินงานในครั้งนี้เริ่มต้นมาจากผู้บริหารโรงเรียนมาติดต่อขอให้ช่วยปรับปรุง ห้องสมุดโรงเรียน อีกรอบเพื่อเตรียมรับเสด็จ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยี่ยม โรงเรียน ตชด.บ้านเขาวัง ร่อนพิบูลย์ ครั้งที่ 6 ในวันที่ 17 มกราคม 2565
แนวคิดในการปรับปรุง ห้องสมุดโรงเรียน ยังคงแนวคิด เป็นห้องสมุดสีเขียว จัดหนังสือให้เป็นหมวดหมู่กว้าง ๆ ไม่ซับซ้อน จัดทำแถบสีเพื่อให้ง่ายต่อบรรณารักษ์น้อย ในการจัดชั้นหนังสือก่อนและหลังให้บริการเพื่อน ๆ จัดทำบัตรห้องสมุด และแถมด้วยระบบห้องสมุดเล็ก ๆ ที่จะช่วยให้น้อง ๆ ค้นหนังสือได้ ค้นเป็น และยืมคืนได้ง่าย ๆ เพราะหากเราจัด ห้องสมุดโรงเรียน ให้ยาก เป็นไปตามมาตรฐานเป๊ะ ๆ ก็จะยากไปสำหรับน้อง ๆ ที่จะใช้งานได้
เมื่อสำรวจเห็นเลยว่าห้องสมุดไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก สถานที่ยังคงเป็นที่เดิม การจัดยังคงไว้ หนังสือบางส่วนได้มีการคัดออกไปด้วย และมีชั้นวางบางส่วนหายไป อาจารย์แจ้งให้ทราบว่าบางชั้นชำรุดไปตามสภาพเลยมีการนำจัดซื้อชั้นหนังสือเข้ามาใหม่ ลักษณะคล้ายชั้นวางของ เราจึงได้แนะนำอาจารย์ว่าควรจะนำชั้นวางออกไปบ้าง เพื่อให้ห้องสมุดโล่ง มีพื้นที่ในการอ่านมากขึ้น และเพื่อให้มีหนังสือที่เหมาะสำหรับเด็กระดับอนุบาลและประถมศึกษา จึงได้ขอรับบริจาคจากบุคลากรและบุคคลทั่วไป ผ่านช่องทางเพจชวนอ่าน และเพจ Walailak University Library และได้รับหนังสือ ของเล่นจำนวนมาก ต้องขอขอบพระคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย
การดำเนินการรอบนี้จึงเริ่มต้นด้วยการลงพื้นที่สำรวจห้องสมุดที่เคยปรับปรุงไว้ให้ครั้งล่าสุดเมื่อครั้งปี 2560 และหารือร่วมกันในการพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดใหม่
หลังจากนั้นได้ของบประมาณจากมหาวิทยาลัยในการดำเนินการ การจัดซื้ออุปกรณ์สำหรับการตกแต่งห้องสมุด และดำเนินการจัดระบบหนังสือลงระบบห้องสมุดอัตโนมัติขนาดเล็กด้วย การดำเนินการแยกได้ดังนี้
- จัดระบบหนังสือใหม่ทั้งหมด เริ่มจากการคัดเลือก จัดหมวดหมู่ง่าย ๆ ตามระบบดิวอี้ ติดแถบสี ติดใบกำหนดส่ง และจัดเรียงตามประเภทของหนังสือนวนิยาย วรรณกรรมสำหรับเยาวชน เรื่องสั้น หนังสือพระราชทาน หนังสือพระราชนิพนธ์
- จัดซื้อระบบไฟฟ้าโซลาร์เซลล์สำหรับการส่องสว่างในยามที่ไฟฟ้าดับ และเป็นการใช้พลังงานทดแทนตามหลักการของห้องสมุดสีเขียว
- จัดทำป้าย/โปสเตอร์ใหม่ทั้งหมด ได้แก่ ป้ายแนวคิดและความเป็นมาของห้องสมุดสีเขียว ป้ายหมวดหมู่และป้ายความรู้ต่าง ๆ
- จัดทำเรือแขวนใหม่ โดยใช้วัสดุที่เป็นหวาย
- เปลี่ยนป้ายห้องสมุดใหม่ให้มีขนาดใหญ่และชัดเจน
- ทาสีห้องสมุดทั้งภายในและภายนอก
- ประดับด้วยผ้าสีม่วง-ขาว
- จัดทำสติ๊กเกอร์บนโต๊ะและม้านั่ง โต๊ะญี่ปุ่น เพื่อให้สวยงามและน่าใช้งาน
- จัดทำบัตรห้องสมุด พร้อมทั้งการนับการเข้าใช้ห้องสมุด
- จัดทำตระกร้าความรู้สำหรับให้ยืมหนังสือไปอ่านนอกห้องสมุด หรือยืมกลับบ้านได้




















และกำลังสำคัญของมดงานครั้งนี้ นอกจากพี่ ๆ จากศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ แล้ว ยังมีน้อง ๆ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพจากมหาวิทยาลัยทักษิณ 4 คน คือ
นางสาวณิชชา ทองหนูรุ่ง | นางสาวราชาวดี เพ็ชรสงฆ์ |
นางสาวมยุรินทร์ เรืองศรี | นายอนุกูล สวนกูล |
และน้อง ๆ ฝึกสหกิจศึกษาจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี 2 คน คือ
นางสาวดาราวรรณ พันธุ์ขาว | นางสาวพิทยาภรณ์ ศรีสุขใส |
และสองสาวน้องหยกและกาแฟ จัดทำ content ของประสบการณ์ครั้งนี้ให้ได้ชมกันค่ะ
Facebook Comments
No related posts found