30 ปีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จะตรงกับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2565 นับตั้งแต่วันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ถือเป็นกำเนิดมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
คำว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” เป็นชื่อที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชื่อว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ” อันเป็นสร้อยพระนามของพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็น มหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบ (Comprehensive University) จัดการเรียนการสอนครอบคลุมทั้งด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และนานาชาติ โดยจัดสภาพแวดล้อมให้เป็นเมืองมหาวิทยาลัยในรูปแบบ Residential University ที่มีระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบวงจร รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ
ขอชวนทุกท่านมารู้จักกับแง่มุมของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เนื่องในโอกาส 30 ปีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ : Then and Now มาอ่านเรื่องราว พัฒนาการในแต่ละแง่มุม ผ่านเว็บไซต์ชวนอ่าน หรือร่วมกันรับชมนิทรรศการ 30 ปีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ณ โถงกลาง ชั้น 1 อาคารบรรณสารและสื่อการศึกษา ระหว่างวันที่ 29 มีนาคม – 31 พฤษภาคม 2565

30 ปีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ : อดีตและปัจจุบัน
ตราสัญลักษณ์


ตราประจำมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เป็นตราสัญลักษณ์ที่อัญเชิญตราพระนามย่อ “จภ” ภายใต้จุลมงกุฎซึ่งเป็นตราพระนามในสมเด็จ พระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ประดิษฐานที่กึ่งกลาง อักษร “จ” เป็นสีแสด และอักขระ “ภ” เป็นสีขาว มีพื้นสีม่วง รองรับและมีแพรแถบพื้นสีขาว ขอบสีทอง รองรับอยู่เบื้องล่างพร้อมอักษรสีม่วง คำว่า “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” ประดับอยู่ภายในแพรแถบ โดยสีแสดเป็นสีประจำวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันประสูตรของสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี
ที่มาของสีมีความหมายดังนี้
- สีม่วง เป็นสีประจำจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสีประจำพระรัตนธัชมุนี (ม่วง รัตนธัชโช-เปรียญ) ผู้ก่อตั้งวงการศึกษาของจังหวัดนครศรีธรรมราช และเพิ่ม
- สีทองเป็นสีแห่งปัญญา แสงสว่างความคิดสร้างสรรค์
- สีขาว สีแห่งความสมบูรณ์ แสงสว่าง ความบริสุทธิ์ เป็นสีแห่งจุดเริ่มต้นในการประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมีการปรับตราสัญลักษณ์ จภ และตราสัญลักษณ์ทางเลือกให้เรียบง่ายขึ้น พร้อมกับออกแบบที่เหมาะสมกับแบรนด์มหาวิทยาลัย
จำนวนนักศึกษา


จำนวนนักศึกษาของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีการเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี 2541 เป็นปีแรกที่มหาวิทยาลัยเปิดรักนักศึกษา ในรุ่นแรกมีนักศึกษา จำนวน 769 คน และปีถัดมามีจำนวนเพิ่มไม่สูงมาก และตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา จำนวนนักศึกษามีการเพิ่มขึ้นสูงต่อเนื่องทุกปี ปัจจุบันในปี 2564 มีจำนวนนักศึกษาจำนวน 3,051 คน ด้านหลักสูตร
จากจำนวนนักศึกษาที่สมัครเข้ามาเรียนในมหาวิทยาลัยหลักสูตรการเรียนการสอนที่ได้รับความนิยมจะเป็นหลักสูตรด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น แพทยศาสตร์ พยาบาลศาสตร์ เภสัชศาสตร์ เทคนิคการแพทย์ และสาธารณสุขศาสตร์ ส่วนกลุ่มหลักสูตรทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ได้รับความนิยมมากเช่นกัน โดยมีจำนวนผู้สมัครและผ่านการคัดลือกสูงกว่าแผนการรับที่หลักสูตรตั้งไว้ทุกหลักสูตร ที่สำคัญหลักสูตรที่เป็นหลักสูตรนานาชาติ เช่น หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์นานาชาติ จำนวนนักศึกษาที่สนใจสมัครเข้ามาเรียนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเป็นผลมาจากการปฏิรูปการเรียนการสอนเพื่อมุ่งสู่มหาวิทยาลัยแห่งคุณภาพ
ผังมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์


ผังมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ มีการออกแบบอย่างเป็นระบบ เขตการศึกษา อยุ่ตรงกลางของพื้นที่ล้อมรอบด้วยถนน ภายในสี่เหลี่ยมจตุรัส วางตะแคงทำมุมประมาณ 45 องศากับถนนรอบนอกเขตการศึกษา เกิดเป็นภาพสี่เหลี่ยม 2 รูปวางซ้อนกัน มีลักษณะคล้ายคลึงกับผังวัดของไทยในพุทธศาสนา
- บริเวณใจกลางเขตการศึกษาเป็นลานกว้างเหมือนใจกลางมหาวิทยาลัย เป็นลานอเนกประสงค์สำหรับนักศึกษาใช้ประกอบกิจกรรมต่าง ๆ อาคารเขตศึกษา ประกอบด้วยอาคารบริหาร
- ทิศตะวันออก เป็นอาคารบริการการศึกษา ได้แก่ ศูนย์บรรณสารและสื่อการศึกษา ศูนย์คอมพิวเตอร์ (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น ศูนย์เทคโนโลยีดิจิทัล) สถาบันวิจัยและพัฒนา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น สถาบันวิจัยและนวัตกรรม)
- ทิศใต้ เป็นกลุ่มอาคารวิชาการ ชองสำนักวิชาต่าง ๆ
- ทิศเหนือ เป็นกลุ่มอาคารเรียนรวมและศูนย์บริการการศึกษา
- ทิศตะวันตก เป็นกลุ่มอาคารศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ถนนทางเข้ามหาวิทยาลัย


ภาพมุมสูงถนนทางเข้ามหาวิทยาลัยสายหลัก (ถนนมหาวิทยาลัย) อยู่บนเส้นทางที่แยกจากถนนเอเชีย (ทางหลวงหมายเลข 401 เลี่ยงเมืองท่าศาลา) ช่วงสุราษฎร์ธานีทางทิศเหนือ ประมาณ 110 กิโลเมตร และช่วงนครศรีธรรมราช ทางทิศใต้ ประมาณ 28 กิโลเมตรจากอำเภอเมือง เลี้ยวเข้าสู่มหาวิทยาลัยทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ก่อนหน้านี้จะไม่มีจุดเด่นที่มองเห็นชัดเจน เนื่องจากเป็นที่ดินของชาวบ้าน แต่ในปัจจุบันมีซุ้มประตูทางเข้ามองเห็นชัดเจน และสองข้างทางเต็มไปด้วยร้านค้า ที่พัก ร้านอาหารแน่นขนัด และที่สำคัญเลี้ยวเข้ามาจะมองเห็นทิวทัศน์เขาหลวงอย่างชัดเจนและสวยงาม
ประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย


ป้อมทางเข้าสู่มหาวิทยาลัย เรียกว่า ป้อมวลัยคม ในอดีตเป็นจุดปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานรักษาความปลอดภัยในการพิทักษ์ทรัพย์สินและรักษาความปลอดภัยและการจราจร และมีป้ายประชาสัมพันธ์กิจกรรมของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันเรียกว่า ซุ้มประตูวลัยคม นอกจากการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยแล้ว ยังเป็นสถานที่สำหรับตกแต่งเพื่อเทิดพระเกียรติ และมีป้ายชื่อ “มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์” และ “Walailak University” ทั้งสองด้าน และปณิธานของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ผลิตบัณฑิตให้เป็นทั้งคนดีและคนเก่ง”
สวนวลัยลักษณ์


สวนวลัยลักษณ์ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2560-2561 เป็นสวนสาธารณะที่เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของบุคลากรของมหาวิทยาลัย พี่น้องประชาชนชาวอำเภอท่าศาลา ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชจากในประเทศและต่างประเทศ โดยมีเนื้อที่ทั้งสิ้น 255 ไร่ แบ่งเป็นผืนน้ำ 130 ไร่และผืนดิน 125 ไร่ โดยภายในสวนวลัยลักษณ์จะมีจุดเด่นอยู่ที่ลานมโนราห์สีทอง มีระเบียงน้ำให้ผู้มาเยี่ยมเยียนได้นั่งพักผ่อน ให้อาหารปลา พร้อมนั่งชมพระอาทิตย์ตกดินผ่านภูเขาหลวงซึ่งเป็นทัศนียภาพที่งดงามยิ่งเป็นเบื้องหลัง
โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์


“ถือเป็นภารกิจสำคัญของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่การให้มีโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เรื่องของการตั้งศูนย์การแพทย์ที่จริงความต้องการคือประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชและใกล้เคียง “ (คุณหญิงสุพัตรา มาศดิตถ์ กรรมการสภามหาวิทยาวลัยลักษณ์) ได้กล่าวไว้ และมหาวิทยาลัยได้เริ่มดำเนินการก่อสร้าง ด้วยงบประมาณ 2,128 ล้านบาท บนพื้นที่ 405 ไร่ และเปิดให้บริการเป็นทางการเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2564 ณ โรงพยาบาลนำร่อง ณ อาคารวิจัยและวิทยาการสุขภาพ เปิดให้บริการผู้ป่วยนอกในวันที่ 24 มกราคม 2565 ได้เปิดให้บริการผู้ป่วยนอก ณ อาคารสำนักงานใหญ่ ทั้งหมด 15 คลินิก เปิดบริการวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.00 – 20.00 น. ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ให้บริการเวลา 8.00 – 12.00 น.
ป้ายมหาวิทยาลัย


ป้ายมหาวิทยาลัยบริเวณวงเวียน เป็นป้ายบอกถึงการเดินทางเข้าสู่มหาวิทยาลัยอย่างเป็นทางการ เป็นเสมือนจุดเริ่มต้นเข้าสู่มหาวิทยาลัย อยู่บนถนนวงเแหวนรอบนอก มีป้ายแสดงวิสัยทัศน์ หากเลี้ยวซ้ายไปถนนวงแหวนรอบนอกจะมีทางแยกเข้าสู่ถนนวงในเป็นระยะ หากตรงไปจะผ่านอาคารที่พักอาศัยของบุคลากรและสิ้นสุดที่อุทยานพฤกษศาสตร์ หากเลี้ยวขวาไปถนนวงเวียนรอบนอก ผ่านทางเข้าสู่ถนนวงในเป็นอาคารเรียน และอาคารที่ทำการของหน่วยงานต่าง ๆ รวมถึงที่พักของนักศึกษา และไปสิ้นสุดที่จัดสรรให้ชาวบ้าน รวมถึงเป็นทางออกด้านวัดโคกเหล็ก และหากเลี้ยวไปตามวงเวียนจะมีสะพานคู่ที่เชื่อมไปยังอาคารบริการ และลานที่ตั้งของตรา จภ.
อาคารบริหาร


อาคารบริหารถือเป็นอาคารหลักด่านแรกของการเข้าสู่ที่ตั้งของมหาวิทยาลัย หันหน้าไปทางทิศตะวันออกตรงกับทางเข้าหลักเหมือนเป็นการต้อนรับผู้มาเยือน เป็นอาคารที่มีลักษณะเฉพาะ ยกพื้นพิเศษในลักษณะ Podium หรือที่เรียกกันติดว่า Ramp เพื่อให้รถยนต์สามารถวิ่งขึ้นไปได้ถึงด้านหน้าประตูทางเข้า ปัจจุบันมีตราสัญลักษณ์ จภ. ขนาดใหญ่ มองดูเด่นเป็นสง่า และมีการจัดสวนหย่อมให้สวยงามอีกด้วย อาคารหลังนี้ยังเป็นอาคารที่ทำการของสภามหาวิทยาลัย สำนักงานอธิการบดีและหน่วยงานในสังกัดอีกด้วย
กลุ่มอาคารเรียนรวม


อาคารเรียนรวม เป็นกลุ่มอาคารสำหรับรองรับการเรียนการสอน อยู่ในบริเวณที่เรียกว่า เขตการศึกษา อยู่ตรงกลางของพื้นที่ล้อมรอบด้วยถนน อาคารตั้งอยู่ในบริเวณถนนรูปทรงสี่เหลี่ยมจตุรัส ประกอบด้วยอาคารไทยบุรี ซึ่งเป็นอาคารเรียนและอาคารสำหรับจัดกิจกรรมสำคัญของมหาวิทยาลัย ตั้งแต่อาคารไทยบุรี ซึ่งมีความจุ 1,500 ที่นั่ง อาคารเรียนรวม 1 อาคารเรียนรวม 3 อาคารเรียนรวม 5 อาคารเรียนรวม 7 และอาคารเรียนรวมหลังใหม่ อาคารเรียนรวม 6 หรือเรียกกันว่า าคาร ST และทุกอาคารอยู่ถัดกันไป เชื่อมต่อกันทั้งหมดทุกอาคารด้วย Cover Walkway
อาคารบรรณสารและสื่อการศึกษา


อาคารบรรณสารและสื่อการศึกษา เป็นอาคารที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอในเรื่องของการดำเนินงาน และถือเป็นอาคารที่สำคัญอีกหนึ่งอาคารเพราะเป็นศูนย์กลางชองแหล่งสารสนเทศเพื่อการศึกษาและสื่อการเรียนการสอน และที่สำคัญเป็นอาคารที่มีการวางศิลาฤกษ์ของมหาวิทยาลัย (แผ่นศิลาฤกษ์จะประดิษฐานอยู่บริเวณเสาด้านหน้าอาคาร บริเวณทางขึ้นอาคารบรรณสารฯ) อาคารบรรณสารฯ มีพื้นที่ใช้สอยทั้งหมด 10,854 ตารางเมตร เป็นอาคารเอกเทศ 3 ชั้น มีสนามหญ้าหน้าอาคาร ก่อนหน้านี้ในวันพระราชทานปริญญาบัตรจะเป็นที่จอดเฮลิคอปเตอร์ และด้านหลังอาคารจะมีคลองสายเล็ก ๆ ไหลผ่าน มีสะพานเชื่อมต่อไปยังโรงอาหารและอาคารเรียนรวม 5 เพื่อเชื่อมต่อไปยังอาคารเรียนอื่น ๆ ด้วย
Walailak Square


Walailak Square เป็นลานกว้างใจกลางอาคารเรียน นักศึกษารุ่นแรก ๆ มักเรียกกันว่า “ลานหัวเรือไททานิค” ปัจจับุนปรับปรุงเป็น “ลานกิจกรรม Walailak Square” เพื่อเป็นพื้นที่รองรับการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เช่น วันรับปริญญา
อาคารเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี


กลุ่มอาคารเครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นห้องปฏิบัติการและห้องทดลองด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ จำนวน 8 หลัง เรียกกันติดปากว่า อาคาร B เริ่มตั้งแต่อาคาร B2, B3,B5, B6, B7, และ B8 และอาคารกายวิภาคศาสตร์ 1 และ 2 มีหน้าที่ให้บริการการใช้เครื่องมือ ครุภัณฑ์ อุปกรณ์ และทรัพยากรต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน การวิจัยของนักศึกษาและคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยทุกสาขาวิชา รวมทั้งให้บริการวิเคราะห์ทดสอบและบริการวิชาการแก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน
อาคารวิชาการ


กลุ่มอาคารวิชาการ เป็นที่ทำการของสำนักวิชาต่าง ๆ ปัจจุบันมีจำนวนอาคารทั้งหมด 9 หลัง ได้แก่ อาคาร 1 หลัง เป็นที่ทำการของ 2 สำนักวิชา เรียกกันทั่วไปว่า ตึก C ในปัจจุบันได้มีการปรับปรุงอาคารให้มีสีสันสดใสและเป็นเอกลักษณ์เพื่อให้จดจำง่าย และปรับโครงสร้างภายในให้ใช้งานอเนกประสงค์มากขึ้น เช่น มีห้องประชุมส่วนกลางเพื่อรองรับกิจกรรมนักศึกษา เป็นต้น
อาคารวิชาการแต่ละอาคารจะเป็นที่ทำการของแต่ละอาคารได้แก่ อาคารวิชาการ 1 (สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์) อาคารวิชาการ 2 (สำนักวิชาพยาบาลศาสตร์) อาคารวิชากร 3 (สำนักวิชาการจัดการและสารสนเทศศาสตร์) อาคารวิชาการ 5 (สำนักวิชารัฐศาสตร์และนิติศาสตร์ และสำนักวิชาพหุภาษาและการศึกษาทั่วไป) อาคารวิชาการ 6 (ห้องปฏิบัติการสารสนเทศศาสตร์และสำนักวิชาสถาปัตยกรรมและการออกแบบ) อาคารวิชาการ 7 (สำนักวิชาสหเวชศาสตร์) อาคารวิชาการ 8 (สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์) อาคารวิชาการ 9 (สำนักวิชาแพทยศาสตร์และเภสัชศาสตร์)
อุทยานพฤกษศาสตร์


เดิมเป็นอุทยานพฤกษศาสตร์และวนอุทยาน เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัย ได้มีการกำหนดพื้นที่มาตั้งแต่ต้น คือให้ใช้พื้นที่ประมาณ 1,100 ไร่ บริเวณทิศตะวันตก ถัดจากเขตขยายตัวของเขตการศึกษาไปจนถึงฟาร์มมหาวิทยาลัย โดยมีวัตถุประสงค์ 6 ประการ และต่อมามีการสานต่อแนวคิดเดิมและพัฒนาพื้นที่ของอุทยานฯให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตามธรรมชาติ แหล่งจัดกิจกรรมทางวิชาการ เรือนพักรับรองนักเรียนค่ายโอลิมปิกวิชาการกและแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชุมชน ขณะนี้อุทยานพฤกษศาสตร์มีการพัฒนาไปอย่างมาก และในปี 2561 มีการเปิดบริการอย่างเป็นทางสำหรับบริการลานกางเต็นท์ เป็นแหล่งท่องเที่ยว ศึกษาเรียนรู้และพักแรมท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติของป่าไม้และอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ภายในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
ปัจจุบันอุทยานพฤกษศาสตร์ มีวัตถุประสงค์ที่จะปรับปรุงให้เป็นอุทยานที่มีความสวยงามและมีบริการต่างๆมากขึ้น เช่น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่จัดแสดงและรวบรวมพันธ์ุไม้นานาชนิด ให้นักเรียน นักศึกษา และประชาชนที่สนใจเข้ามาชม โดมกระบองเพชร โดมจัดแสดงกล้วยไม้นานาชนิด สร้างเส้นทางเดินป่าให้เป็นทางเดินเท้ายกระดับลัดเลาะเข้าไปในพื้นที่ป่าของมหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาพันธ์ุไม้และสัตว์นานาชนิด และการก่อสร้างสะพานสูงเพื่อชมทัศนียภาพธรรมชาติโดยรอบจากมุมสูง เพื่อให้ได้สัมผัสกับบรรยากาศของธรรมชาติอย่างใกล้ชิด
ระบบการเรียนการสอน


ระบบการเรียนการสอน ของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์เริ่มเปิดการเรียนการสอนปีแรก ในปี 2541 ทั้งหมด 16 หลักสูตร 6 สำนักวิชา ส่วนระบบการเรียนการสอนเป็นการเรียนการสอนเชิงรุก หรือ Active Learning ซึ่งมีทั้งงแบบการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน (PBL) การเรียนการสอนแบบการเรียนรู้โดยใช้กรณีศึกษา (CBL) การเรียนการสอนแบบการเรียนรู้จากชุมชน (CMBL) การเรียนการสอนแบบการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการวิจัย (RBL) การเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ด้วยโครงงาน การเรียนการสอนแบบปฏิบัติการ การเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ด้วยปัญหาพิเศษ การเรียนการสอนแบบการเรียนรู้ด้วยโครงงาน การเรียนการสอนแบบภาคสนาม การจัดการเรียนการสอนแบบการศึกษาตามแนวแนะของผู้สอน และรวมถึงการจัดการเรียนการสอนแบบออนไลน์
และในปี 2560 มหาวิทยาลัยได้นำระบบการจัดการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐานสากลและเป็นที่นิยมใช้กันโดยทั่วไป คือมาตรฐานของ The United Kingdom Professional Standards Framework (UKPSF) ประเทศอังกฤษ มาใช้เป็นเครื่องมือพัฒนาอาจารย์ของมหาวิทยาลัยให้เป็นคณาจารย์มืออาชีพ The Higher Education Academy (HEA) หรือ Advance HE ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหน่วยงานอิสระระดับชาติในสหราชอาณาจักร ได้พัฒนากรอบมาตรฐานวิชาชีพระดับอุดมศึกษา UKPSF เพื่อประเมินและรับรองหลักสูตรการพัฒนาคุณภาพการสอนของอาจารย์ และได้ร่วมกับสถาบันอุดมศึกษาจัดฝึกอบรมและประเมินคุณภาพการสอนและกำหนดวิทยฐานะของผู้ผ่านการประเมิน (Descriptors) ซึ่งมี 4 ระดับ ได้แก่ Associate Fellow, Fellow, Senior Fellow และระดับสูงสุด Principal Fellow นอกจากนี้มหาวิทยาลัยได้ปรับห้องเรียนจากเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ เป็นห้องเรียนอัจฉริยะ หรือ Smart Classroom และห้องปฏิบัติการแบบ Smart Laboratory
หอพักนักศึกษา


หอพักนักศึกษา เป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยมุ่งเน้นจัดมวลประสบการณ์ เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาศักยภาพของนักศึกษา หอพักนักศึกษามหาวิทยลัยวลัยลักษณ์ จึงเป็นมากกว่าหอพัก ด้วยมุ่งหวังให้เป็นชุนชนแห่งการเรียนรู้ อยู่อาศัย และเอื้ออาทร (Living, Learning and Caring Center) เพื่อเสริมสร้างสภาพแวดล้อมของที่พักอาศัย ให้มีส่วนสนับสนุนการศึกษาเรียนรู้ ส่งเสริมให้นักศึกษามีความรับผิดชอบต่อตนเอง เคารพสิทธิของผู้อื่น รู้จักใช้ชีวิตร่วมกันเป็นหมู่คณะ มีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม และใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยได้อย่างมีความสุข
ในอดีตมีหอพักรองรับนักศึกษาจำนวนไม่มาก ขณะนี้มีจำนวนหอพักนักศึกษาพักได้ จำนวน 5,500 เตียง จำนวน 15 หอ แบ่งเป็นห้องธรรมดา (Superior) สำหรับ 4 คน แบ่งเป็น หอชาย ได้แก่ ลักษณานิเวศ 5 และ 7 หอหญิง ได้แก่ ลักษณานิเวศ 1, 2, 3,4, 10, 11, 13 และ 14 ห้องปรับอากาศ (Deluxe) สำหรับ 2 คน ได้แก่ หอชาย 1 หอ (ลักษณานิเวศ 17) หอหญิง 1 หอ (ลักษณานิเวศ 16) ห้องปรับอากาศ สำหรับหอหญิง 4 คน 1 หอ (ลักษณานิเวศ 18) และในปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้สร้างหอพักเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หอพัก Residence เป็นห้องพักปรับอากาศระดับพรีเมียร์ม สำหรับ 1-2 คน หอชาย 1 หอ (Residence 19) หอหญิง 1 หอ (Residence)
และในปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้สร้างหอพักเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับจำนวนนักศึกษาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ หอพัก Residence เป็นห้องพักปรับอากาศระดับพรีเมียร์ม สำหรับ 1-2 คน หอชาย 1 หอ (Residence 19) หอหญิง 1 หอ (Residence)
พาหนะการเดินทาง


พาหนะ เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางภายในมหาวิทยาลัยของนักศึกษา ในอดีตมหาวิทยาลัยได้จัดพาหนะสำหรับการเดินทางของนัศึกษารุ่นแรก คือ “จักรยานสีแสด” ด้วยแนวคิดที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ นักศึกษาทุกคนสามารถใช้ได้ เมื่อกาลเวลาผ่านไปจักรยานค่อย ๆ ชำรุดและหายไป เนื่องจากการไม่มีระเบียบวินัยในการใช้งาน และสภาพผุพังตามกาลเวลา หลังจากนั้นมีจักรยานสีม่วงรุ่น 2 ตามมา ในปีหลัง ๆ มีการเปลี่ยนนโยบายให้จับจองเป็นเจ้าของได้ เพื่อให้มีการดูแลรักษา พร้อม ๆ กับนักศึกษามีพาหนะเป็นของตนเอง ส่วนมากเป็นจักรยานยนต์ และรถยนต์
ในปี 2561 มหาวิทยาลัยมีนโยบายนำรถไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้สำหรับรองให้บริการนักศึกษาเดินทางภายในเขตมหาวิทยาลัยและห้ามนักศึกษานำพาหนะส่วนตัวมาใช้ เพื่อให้มีความปลอดภัยและลดอุบัติเหตุและเป็นการตอบสนองการเป็นมหาวิทยาลัยสีเขียวด้วย และมุ่งสู่การเป็น Smart& Green Uiniversity และปัจจุบันมีรถไฟฟ้าให้บริการภายในมหาวิทยาลัย จำนวน 6 สาย พร้อมเส้นทางเดินรถที่ชัดเจน
โรงอาหาร


โรงอาหารนักศึกษาภายในมหาวิทยาลัยนั้นถือเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญมากอีกหนึ่งสถานที่ โรงอาหารของวลัยลักษณ์มีการเรียกขานกันหลายชื่อ ตั้งแต่ตลาดโคนท้อน ซึ่งมีที่มาจากมีโคนต้นกระท้อนอยู่ตลาด หรือเรียกโรงมืด โรงดึก ศูนย์อาหารกลางคืน เนื่องจากเป็นโรงอาหารที่ให้บริการจนดึกและบรรยากาศมืด ตั้งอยู่ด้านหลังหอพักนักศึกษา จุดเด่น คือเป็นลานกว้าง และมีม้าหินอ่อนให้นั่งกลางแจ้ง ปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้ปรับปรุงพื้นที่ และอาคารสถานที่ให้มีความสดใส สะอาด ถูกหลักอนามัย และมีอาหารหลากหลายชนิด และกำหนดชื่อ “โรงอาหารช่อประดู่” และนอกจากนี้ยังมีสิ่งอำนวยความสะดวกไว้ให้บริการนักศึกษาครบครันทั้งร้านซักผ้า ร้านยา ร้านสะดวกซื้อ ร้านของชำ เป็นต้น
บัตรนักศึกษา


บัตรนักศึกษา มีพัฒนาการไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ และให้นักศึกษาได้ใช้สำหรับความสะดวกในการเข้าถึงสถานที่และสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ มากมาย บัตรนักศึกษาในรุ่นแรกเป็นสีขาว ใช้สำหรับการบริการของห้องสมุด ในรุ่นแรกจะเป็นระบบที่ไม่เชื่อมต่อกับ e-mail ใช้ @praduu ต่อมาปรับเป็น @wu.ac.th แบบที่สองจะเป็นบัตร ATM VISA จะมีสัญลักษณ์ของธนาคารผู้กับบัญชีออมทรัพย์ของธนาคาร สามารถใช้ทำธุรกรรมทางการเงินได้ และใชับริการของห้องสมุดได้ ปัจจุบันได้ปรับเป็นระบบ Smart Card ใช้สัญญาณ RFID ในบัตร สามารถเข้าใช้บริการห้องสมุดแบบ RFID ได้ และใช้ร่วมกับ WU Application ของมหาวิทยาลัยได้อีกด้วย
สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ


สิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจของนักศึกษาในสถานศึกษานั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอีกประการที่ไม่ควรมองข้าม สำหรับมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ก่อนหน้าที่ก่อตั้งมหาวิทยาลัยเมื่อนักศึกษาต้องการกำลังใจหรือบนบานให้ตัวเองประสบผลสำเร็จเรื่องเรียน จะไม่มีสิ่งที่ให้สักการะ นอกจากโบราณสถานตุมปัง แต่เนื่องด้วยโบราณสถานตุมปัง มีตำนานที่เล่าสืบต่อกันมาในทำนองน่ากลัว จึงทำให้นักศึกษาไม่กล้าจะเข้าไปในบริเวณสถานที่นั้น และมีการจัดธูปบูชาและมีน้ำสีแดงบูชาแทน จึงเกิดมาเป็นตำนานน้ำแดง ที่ป้ายอาคารไทยบุรี ส่งผลให้มีจำนวนชวดน้ำแดงจำนวนมากขึ้นเรือย ๆ ดังนั้นเพื่อให้มหาวิทยาลัยจึงได้สร้างวิมานเทพและทวดตุมปังขึ้นมาบริเวณหน้าอาคารไทยบุรี เพื่อให้นักศึกษาได้บวงสรวงบูชาเทพอย่างเป็นระเบียบ เพื่อเป็นสิริมงคลและเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวจิตใจของนักศึกษาและบุคลากร

Hits: 291