ชวนอ่าน เพราะความรู้เกิดขึ้นง่ายจากการอ่าน
Content for Longlife Learning
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร นครศรีธรรมราช

ความเป็นมาประเพณีการแห่ผ้าขึ้นธาตุ

        ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ  เป็นงานประเพณีที่เก่าแก่และสำคัญของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช เท่านั้น ประเพณีนี้ไม่มีปฏิบัติกันที่ใดในประเทศไทย นอกจากเมืองนครเท่านั้น  เป็นประเพณีที่ชาวนครได้ร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินทองตามกำลังศรัทธา นำเงินที่ได้จากการบริจาคนั้นไปซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเข้าให้เป็นแถบยาวนับพันหลา แล้วพากันแห่งผ้าดังกล่าวไปยังวัดพระมหาธาตุวรวิหาร เพื่อนำแถบผ้านั้นไปพันโอบรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์ อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

        สมัยก่อนพุทธกาล ชาวอินเดียส่วนใหญ่มีความเชื่อในสิ่งลี้ลับอยู่มาก โดยเฉพาะในศาสนาพราหมณ์นั้นเชื่อเทพเจ้าทั้งหลายเป็นอย่างยิ่ง จึงเชื่อว่าทุกสิ่งที่อย่างเทพเจ้าเป็นผู้สร้างและผู้ทำลาย เทพเจ้าจึงมีความสำคัญแก่ชีวิตพรามณ์เป็นที่สุด การกระทำทุกอย่างของพราหมณ์จึงคำนึงถึงเทพเจ้าก่อนสิ่งอื่นใด เพราะเชื่อว่าหากการกระทำใดไม่ถูกอัธยาศัยของเทพเจ้าจะนำมาซึ่งวิบัติได้ ดังนั้นการกระทำที่ดีที่สุดเพื่อให้ถูกใจเทพเจ้า คือการเซ่นบวงสรวงกราบไหว้ การเซ่นบูชากราบไหว้จึงกลายเป็นวัตรที่ต้องปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ

         ครั้นถึงสมัยพุทธกาล คำสอนของพระพุทธองค์ที่มุ่งจะทำลายความเชื่ออันไม่เป็นสรณะ การทำลายการเซ่นสรวงเหล่านั้นไม่ได้โดยเด็ดขาดทันทีทันใด เพราะชาวพุทธส่วนใหญ่เป็นผู้นับถือศาสนาพราหมณ์มาก่อน ดังนั้นความเชื่อเก่า ๆ ที่ตนเคยปฏิบัติอยู่จึงยากแก่การสลัดทิ้งไป การเซ่นบวงสรวงที่ตนเคยปฏิบัติมาก่อนจึงยังคงปฏิบัติต่อไป อย่างการบูชาเทพเจ้าต้นไม้ (รุกขเทวดา) เพื่อให้ประทานโชคลาภ ความสงบสุข ประทานบุตร และพืชผลแก่ตน โดยการกราบไหว้และการหาผ้าแพรพรรณมาพันรอบต้นไม้ก็ยังปฏิบัติสืบต่อกันมา 

         จากการปฏิบัติของชาวพุทธที่เคยเป็นพราหมณ์มาก่อน เป็นผลสืบเนื่องมาถึงชาวพุทธสมัยหลัง ๆ ดังจะเห็นได้จากชาวพุทธสมัยหลัง ๆ นิยมปฏิบัติตามประเพณีและความเชื่อเดิม ชาวพุทธบางคนไม่อาจะแยกได้ว่าประเพณีใดเป็นของศาสนาพราหมณ์ ประเพณีใดเป็นของศาสนาพุทธ เป็นอันว่าประเพณีของศาสนาพราหมณ์ก็เข้ามาปะปนในศาสนาพุทธมากมาย

         การแห่ผ้าขึ้นธาตุของชาวนครก็คงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลนี้เช่นกัน เพราะเมื่อชาวนครรับพุทธศาสนามาจากอินเดียก็รับเอาประเพณีต่าง ๆ ตามแบบของชาวพุทธในอินเดียเข้ามาด้วย และเราก็ยึดถึอกันว่าหากจะทำบุญหรือกราบไหว้บูชาให้ได้กุศลจริง ๆ ก็ต้องปฏิบัติเฉพาะพระพักตร์พระพุทธองค์เท่านั้น เมื่อพระพุทธองค์เสด็จสู่ปรินิพพานแล้วก็อาจยังมีตัวแทนอยู่ เช่น เจดีย์ และพระพุทธรูป เป็นต้น การกราบไหว้บูชาสิ่งเหล่านึ้ก็เท่ากับกราบไหว้บูชาพระพุทธองค์ด้วย การที่ชาวนครนำเอาผ้าไปบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ โดยการโอบรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ก็คือการบูชาที่สนิทแนบกับองค์พระพุทธองค์นั่นเอง (วิเชียร ณ นคร และคณะ, ๒๕๒๑)

        จุดเริ่มต้นของ ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ  สัณนิษฐานได้ว่าเป็นประเพณีที่มีมานานจนยากที่จะยืนยันได้แน่ชัดว่า จะทำกันมาตั้งแต่ครั้งใดนั้น ไม่มีหลักฐานแน่ชัด แต่ปรากฏว่าในรัชกาลสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนั้น ได้กระทำกันในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ อันเป็นวันวิสาขบูชาอยู่แล้วทุกปี และต่อมาในรัชกาลสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้กำหนดประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุเพิ่มเป็น ๒ วัน  คือนอกจากวันวิสาขบูชาแล้ว ยังทําเพิ่มในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ซึ่งเป็นวันมาฆบูชาอีกวันหนึ่ง และได้ถือปฏิบัติสืบมาจนทุกวันนี้ (นครศรีธรรมราช, ๒๕๓๗, น. ๑๕๕-๑๕๖)

          อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับประเพณีนี้ว่า ในสมัยโบราณประมาณปี พ.ศ. ๑๓๓๓ ขณะที่กษัตริย์สามพี่น้อง คือพระเจ้าศรีธรรมโศกราช พระเจ้าจันทรภานุ และพระเจ้าพงษาสุระ กำลังเตรียมประกอบพิธีวิสาขะสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์หลังจากที่พระองค์ได้บูรณะแล้วเสร็จ เมื่อปีพุทธศักราช ๑๗๗๓ ซึ่งไม่กี่วันก่อนจะเริ่มพิธีสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ ชาวปากพนัง ได้เก็บ ผ้า “พระบฏ” ที่มีคลื่นซัดมาเกยชายหาด ซึ่งมีลักษณะเป็นผ้าแถบเขียนลวดลายเขียนพุทธประวัติ ผ้ายาวประมาณ ๑,๐๐๐ หลา นำมาทูลเกล้าถวายพระเจ้าศรีธรรมโศกราช  เมื่อเจ้าพนักงานทำความสะอาดแล้วเสร็จปรากฏว่าลายเขียนนั้นก็ไม่เลือนหายไป ซักเสร็จจึงผึ่งไว้ในพระราชวัง และประกาศหาเจ้าของจนได้ความว่า พระบฏเป็นของพุทธศาสนิกชนคณะหนึ่งที่แล่นเรือมาจาก เมืองหงสาวดี  โดยมี “ผขาวอริพงษ์” เป็นหัวหน้าคณะนำพระบฏไปบูชาพระพุทธบาทที่ลังกา แต่ถูกมรสุมพัดจนเรือแตกเสียก่อน พุทธศาสนิกชนกลุ่มนั้นมีราว ๑๐๐ คน รอดเพียง ๑๐ คน ยินดีถวายผ้าพระบฏให้พระเจ้าศรีธรรมโศกราชจึงโปรดให้ชาวเมืองจัดเครื่องประโคมแห่แหนและนำขึ้นห่มโอบฐานพระบรมธาตุเจดีย์ ในคราวเดียวกับการสมโภชพระบรมธาตุเจดีย์ และได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาจวบจนถึงปัจจุบัน 

          ทุกปีของวันมาฆบูชา ซึ่งตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ และในปีอธิกมาสวันมาฆบูชาจะตรงกับวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๔ พุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้พร้อมในกันประกอบศาสนพิธีขึ้นในวันดังกล่าว โดยนำผ้าแถบสีต่าง ๆ เช่น สีขาว สีเหลือง สีแดง เป็นต้น อีกทั้ง ผ้าสีขาวที่ภาพวาดพุทธประวัติ ซึ่งเรียกว่าผ้าพระบฏ ขึ้นนำห่มองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นประจำทุกปี เรียกประเพณีนี้ว่า “ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ”

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก Akdnai Chaiyod
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก Akdnai Chaiyod
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก Akdnai Chaiyod
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก วี อาร์ เวิลด์ ทัวร์

       ในปัจจุบัน การแห่ผ้าขึ้นธาตุ เปลี่ยนแปลงรายละเอียดไปจากเดิมมาก แต่เดิมมานั้น พระบตมีช่างผู้ชำนาญเขียนภาพสีส่วนใหญ่เกี่ยวกับพุทธประวัติ ประดับด้วยลูกปัดสีต่าง ๆ แพรพรรณและดอกไม้ที่แถบขอบผ้าโดยตลอดทั้งผืน แต่ปัจจุบันอาจะเป็นเพราะสภาพสังคมสับสน หาเวลาว่างไม่ค่อยได้ หรืออาจจะเพราะไม่มีช่างผู้ชำนาญก็เป็นไปได้ จึงทำให้การประดับประดาและเขียนภาพที่พระบตสูญหายไป ผ้าที่นิยมใช้กันจึงเป็นผ้าสี่เหลี่ยม เช่น สีเหลือง  สีขาว สีแดง  ภัตตาหารและเครื่องบริโภคและอุปโภค ที่เคยจัดไปถวายพระในว้นแห่ผ้าขึ้นธาตุแต่เดิมไม่มีแล้ว เดิมการแห่ผ้าขึ้นธาตุกระทำกันโดยพร้อมเพรียงกันเป็นขบวนเอิกเกริกเพียงขบวนเดียว แต่ต่อมาอาจเป็นเพราะประชาขนมาจากหลายทิศทาง แต่ละคนต่างเตรียมผ้ามาเอง ทำให้การแห่ผ้าขึ้นธาตุไม่พร้อมเพรียงเป็นขบวนเดียว เป็นต้น  (วิเชียร ณ นคร และคณะ, ๒๕๒๑)  การจัดเตรียมผ้า ชาวบ้านอาจะจัดเตรียมมาเอง  หรือ สามารถมาทอนผ้าที่ทางวัดเตรียมไว้ โดยร่วมบริจาคค่าผ้าทำบุญตามกำลังศรัทธา แล้วนำผ้าเดินทักษิณาวรรตรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ๓ รอบ เมื่อครบนำผ้าเข้าสู่พระวิหารมหาภิเนษกรมณ์ หรือวิหารพระทรงม้า ทางขึ้นลานภายในกำแพงแก้วล้อมฐานพระบรมธาตุเจดีย์ อยู่ในวิหารนี้ เจ้าหน้าที่ของวัดจะยอมให้ผู้อาวุโสในขบวนเพียง ๒-๓ คน เท่านั้นสมทบกับคนงานนำผ้าไปพันโอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์  ที่ไม่สามารถขึ้นไปบนกำแพงแก้วได้หมดทั้งขบวนเพราะทางวัดได้กำหนดให้ลานภายในกำแพงแก้วเป็นเขตหวงห้าม ยกเว้นการนำผ้าพระบฏขึ้นบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ทั้งนี้เพราะเชื่อว่าใต้ลานกำแพงแก้วในฐานพระบรมธาตุเจดีย์มีพระบรมสาริกธาตุประดิษฐานอยู่ หากขึ้นไปเดินบนลานจะไม่เป็นการสมควร

       ซึ่งในแต่ละปีจะมีพุทธศาสนิกชนและนักท่องเที่ยวจากทั่วประเทศได้เดินทางมายังวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารตลอดทั้งวันตั้งแต่เช้ามืดถึงค่ำคืน  เพื่อร่วมสืบสานประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ 

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก เกียรติศักดิ์ แซ่ฉั่ว
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก เกียรติศักดิ์ แซ่ฉั่ว

ผ้าพระบฏเพื่อใช้ห่มบูชาพระบรมธาตุเจดีย์

        ผ้า “พระบฏ” ความหมายตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๕๔  เป็นคำนาม หมายถึง ผืนผ้าที่มีพระพุทธเจ้าเป็นต้นและแขวนไว้เพื่อบูชา   ผ้าพระบฏพระราชทาน  ถือเป็นความภาคภูมิใจของชาวนครเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผ้าผ้าพระบฏพระราชทานผืนแรก ได้รับพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี   เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี  ในปีพุทธศักราช ๒๕๓๐ ในงานแห่ผ้าขึ้นธาตุประจำปี ๒๕๓๐ ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เรือตรีสุกรี  รักษ์ศรีทอง และหัวหน้าส่วนราชการ ได้พร้อมใจกันจัดงานถวาย ชื่อ  “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ ถวายราชสักการ”  โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๑-๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๐  มีวัตถุประสงค์ในการจัดงานเพื่อรักษาและส่งเสริมประเพณีทางพุทธศาสนา เพื่อน้อมรำลึกถึงพระคุณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อเป็นการถวายราชสักการะเนื่องในวดรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๙ ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๖๐ พรรษา  และ เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวของจังหวัดนครศรีธรรมราชเนื่องในปีท่องเที่ยวไทย ผ้าพระบฏพระราชทานผืนแรก ทำจากผ้าขาวความยาว ๓๐ เมตร บนผืนผ้าปรากฎภาพจิตรกรรมไทยเกี่ยวพุทธประวัติตั้งแต่พระสิทธัตถะจุติจากสรวงสรรค์ชั้นดุสิตสู่พระครรภ์มารดา การสุบันนิมิต  การบำเพ็ญเพียรทุกรกิริยา การตรัสรู้ ปฐมเทศนา และปรินิพพาน รวมทั้งหมด ๓๐ ภาพ เขียนด้วยสีน้ำและสีโปสเตอร์ตามแนวนอนของผ้า ในปัจจุบันผ้าพระบฏพระราชทาน มีจำนวน ๕  ผืน เพื่อบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ตามประเพณี ประกอบด้วย

  1. พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๖
  2. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๕
  3. พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๖
  4. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐ และพระราชทานผ้าพระบฏผืนใหม่เมื่อพุทธศักราช ๒๕๔๙
  5. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี พระราชทานผ้าพระบฏเมื่อพุทธศักราช ๒๕๕๗

       ส่วนพุทธศาสนิกชนทั่วไปนิยมใช้ผ้าสีเหลือง ผ้าสีขาว และผ้าแดง พุทธศาสนิกชนสามารถเตรียมผ้าขนาดความยาวตามความต้องการของตน ซึ่งเป็นขนาดที่สามารถห่มพระบรมธาตุเจดีย์รอบองค์ได้ การตกแต่งผ้าห่มพระบรมธาตุเจดีย์  พุทธศาสนิกชนทั่วไปบางกลุ่ม หรือ บางคน อาจจะประดิษฐ์ตกแต่งชายขอบผ้าประดับด้วยริบบิ้น พู่ห้อย แพรพรรณ ลวดลายดอกไม้สวยงาม

     พระบฏ” ผ้าผืนพิเศษนั้น จะเขียนภาพพุทธประวัติทั้งผืนยาว โดยช่างผู้ชำนาญเขียนภาพ แสดงให้เห็นความถึงความตั้งใจ ความมานะ พยายาม ในการทำผ้าพระบฏขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์  เช่น ผ้าพระบฏวิทยาลัยช่างศิลปนครศรีธรรมราช  เป็นต้น

ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

การจัดขบวนแห่แหนผ้าพระบฏและการถวายผ้า

          การจัดขบวนแห่แหนผ้าพระบฏ นิยมจัดขบวนเป็นแถวตอนเรียงสองทุกขบวน ซึ่งขนวนแห่แหนจะมาทุกสารทิศของพุทธศาสนิกชนที่มีความศรัทธาเลื่อมใส ซึ่งขบวนแห่แหนจะดนตรีนำหน้า เช่น  คณะกลองยาวเป็นดนตรีนำขบวน  หรือวงดุริยางค์ของโรงเรียนต่าง ๆ ในจังหวัดนครศรีธรรมราช บรรเลงจังหวะที่ครึกครื้น ขบวนแห่ผ้าขึ้นธาตุจะเดินแถวเรียงเป็นริ้วขบวนยาวไปตามความยาวของผืนผ้า ทุกคนทูนชูผ้าพระบฏไว้เหนือศีรษะ ตามความเชื่อกันว่าผ้าพระบฏเป็นเครื่องสักการะพระพุทธเจ้าจึงควรแก่การบูชาจะถือไว้ในระดับต่ำกว่าศีรษะไม่ได้โดยเด็ดขาดวิธีการถวายผ้าพระบฏ

          ขบวนแห่แหนผ้าพระบฏ  สำหรับพุทธศาสนิกชนทั่วไป จะมาจากทุกสารทิศ ตลอดวันของการจัดงานเพื่อแห่ผ้าขึ้นธาตุ หากมากันเป็นหมู่คณะใหญ่ จะมีการแต่งกายที่งดงาม เรียบร้อยเป็นรูปแบบเดียวกัน นิยมใส่เสื้อผ้าสีขาว ผ้าถุงยาวซึ่งอาจจะเป็นผ้าปาเต๊ะ ผ้าบาติก หรือผ้าทอพื้นเมือง ส่วนผู้ชาย จะใส่เสื้อสีขาว และกางเกงขายาวขาวหรือดำ 

          สำหรับขบวนแห่แหนผ้าพระบฏพระราชทาน ในปีพุทธศักราช ๒๕๖๔  ข้อมูลจากสำนักงานวัฒนธรรม จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้บรรยายการการจัดริ้วขบวนอัญเชิญผ้าพระบฎ ไว้ว่า

“ กำหนดให้มีริ้วขบวนเพียง ๖ ริ้วขบวน เป็นริ้วขบวนอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน ๕ ผืน ประกอบด้วย

  • ผ้าพระบฏพระราชทานพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
  • ผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
  • ผ้าพระบฏพระราชทานพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
  • ผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
  • ผ้าพระบฏพระราชทานสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี

         และริ้วขบวนผ้าพระบฏของพุทธศาสนิกชน ที่ประกอบด้วยริ้วขบวนผ้าสีขาว สีเหลือง สีแดง และสีกรมท่า จำนวน 1 ริ้วขบวน ทั้งนี้เพื่อลดจำนวนผู้ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรม และเป็นไปตามแนวทางการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ โดยริ้วขบวนได้เคลื่อนจากด้านหน้าศาลาประดู่หก สนามหน้าเมืองไปตามถนนราชดำเนินเพื่อเข้าสู่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร และเมื่อถึงบริเวณลานโพธิ์ ภายในวัดพระมหาธาตุ วรมหาวิหารมีการรำบูชาพระบรมธาตุเจดีย์ของนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปนครศรีธรรมราช จากนั้นเป็นการประกอบพิธีทางศาสนาโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นประธานฝ่ายฆราวาส และพระพิศิษฎ์วินัยการ เจ้าคณะอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช (ธ) เป็นประธานฝ่ายสงฆ์ และมีพระราชวิสุทธิกวี เจ้าคณะจังหวัดนครศรีธรรมราช (ธ) พระผู้ใหญ่ ร่วมพิธี ผู้ว่าราชการจังหวัดนครศรีธรรมราชได้กล่าวนำถวายผ้าพระบฏพระราชทาน พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารท้องถิ่น จะได้อัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน ๕ ผืน บูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ เพื่อถวายเป็นพุทธบูชาแด่องค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ณ พระวิหารทรงม้า ก่อนจะมีการประกอบพิธีเวียนเทียน เนื่องในวันมาฆบูชาตามลำดับต่อไป”

         งานประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี ๒๕๖๕ ตามโครงการพระบรมธาตุ มรดกธรรม มรดกโลก เชื่อมเส้นทางศรีวิชัย เปิดประตูประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๑๒- ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ จัดริ้วขบวนแห่ผ้า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดต่อ โควิด-19 แต่ยังคงให้มีกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมรณรงค์การแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีขาวในสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา กิจกรรมสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน กิจกรรมสวดมนต์ กิจกรรมสวดด้าน กิจกรรมตักบาตร กิจกรรมถวายผ้าพระบฎพระราชทาน และกิจกรรมเวียนเทียน 

แห่ผ้าพระบฎ
แห่ผ้าพระบฎ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก Nakhon Si Thammarat นครศรีธรรมราช
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก Nakhon Si Thammarat นครศรีธรรมราช
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก Nakhon Si Thammarat นครศรีธรรมราช
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก Nakhon Si Thammarat นครศรีธรรมราช

           มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี ๒๕๖๗  ชื่อว่า “มาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุนานาชาติที่เมืองนคร ประจำปี ๒๕๖๗” จัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์  ๒๕๖๗ ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร  มีกิจกรรมสำคัญในปีนี้คือ กิจกรรมสมโภชผ้าพระบฏพระราชทาน พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา พิธีอัญเชิญและถวายผ้าพระบฏพระราชทาน กิจกรรมประดับตกแต่งเมืองด้วยผ้าพระบฎ กิจกรรมสวดพระด้าน กิจกรรมสวดมนต์เจริญจิตตภาวนา  กิจกรรมกวนข้าวยาคู และพิธีเวียนเทียนเนื่องในวันมาฆบูชา   

        โดยมีกำหนดการดังนี้

         ระหว่างวันที่ ๒๐-๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗  กิจกรรมสวดด้าน สวดมนต์ฟังธรรม ณ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร   

         ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗   กิจกรรมส่งมอบผ้าพระบฏ สมโภชผ้าพระบฏพระราขทาน ณ โรงเรียนปากพนัง และ กิจกรรมกวนข้าวยาคู ณ วัดพระธาตุรวมหาวิหาร   
         ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗  กิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เทิดพระเกียรติ การแสดงของนักเรียน ณ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาราชวิทยาลัย และ  กิจกรรมรับมอบและสมโภชน์ผ้าพระบฏพระราชทาน ณ วัดพระธาตุวรมหาวิหาร  
         ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๗   กิจกรรมทำบุญตักบาตร ถวายผ้าพระบฏ เวียนเทียน ณ วัดพระธาตุวรมหาวิหาร  และ กิจกรรมปล่อยริ้วขบวนผ้าพระบฎพระราชทาน ณ สนามหน้าเมือ  
มาฆบูชา 2567
ภาพจาก ททท.สำนักงานนครศรีธรรมราช
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ

         ส่วนปี ๒๕๖๖ ที่ผ่านมา มีกิจกรรมพิเศษที่จัดขึ้นเพื่อสมโภชประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ จัดโดย วิทยาลัยนาฎศิลปนครศรีธรรมราช  คือ ศิลปะการแสดงชั้นสูงของไทย คือ การแสดง “โขน” เรื่องรามเกียรติ์ ถวายเบื้องหน้าพระบรมธาตุเมืองนคร ในวันเสาร์ ๔ มีนาคม ๒๕๖๖ เวลา +๙๐๐ ณ ลานหน้าพระวิหารหลวง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง #นครศรีธรรมราช

     ภาพจาก ทุ่งสงวันวาน

         ถึงแม้ว่าธรรมเนียมที่ปฏิบัติสำหรับประเพณีนี้จะสืบทอดกันมายาวนานตั้งแต่พุทธศักราช ๑๗๗๓ ณ ปัจจุบัน ๗๙๒ ปีก็ตาม  ในปัจจุบันก็ยังคงถือเป็นประเพณีที่สำคัญของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเหมือนเดิม  เป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาของพุทธศาสนิกชนยังคงมีการทำบุญใส่บาตร มีความเลื่อมใสศรัทธาในการบูชาองค์พระบรมธาตุเจดีย์ซึ่งเป็นจุดศูนย์รวมจิตใจของพุทธศาสนิกชนทั่วทุกสารทิศ ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนิกชนจังหวัดนครศรีธรรมราช หรือจากจังหวัดต่าง ๆ ของประเทศไทย  รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติต่างมีความศรัทธาที่จะมาห่มผ้าองค์พระบรมธาตุเจดีย์อย่างพร้อมเพรียงเพื่อความเป็นสิริมงคลของชีวิต
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ
ภาพจาก Atjaphot Phetchoo

บรรณานุกรม

  • การศึกษาวิเคราะห์ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JMA/article/view/141787
  • ฉัตรชัย  ศุภกระกาญจน์. (ม.ป.ป.). ผ้าพระบฏนครศรีธรรมราช.  http://dspace.nstru.ac.th:8080/dspace/bitstream/123456789/494/1/ผ้าพระบฎเมืองนคร.pdf
  • เดชชาติ ตรีทรัพย์ และคณะ. (2561). การศึกษาวิเคราะ์ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จังหวัดนครศรีธรรมราช. วารสารมหาจุฬาวิชาการ, 4(1), 65-75. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/JMA/article/view/141787
  • นครศรีธรรมราช. (2537). นครศรีธรรมราช. สารคดี.
  • “ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ” ตำนานเมืองนครฯ และเรื่องผ้าสีชมพูห่มพระมหาธาตุของรัชกาลที่ 5. www.silpa-mag.com/history/article_27637
  • พิธีอัญเชิญผ้าพระบฏพระราชทาน และขบวนผ้าพระบฏของพุทธศาสนิกชน เนื่องในงานประเพณีมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประจำปี 2564 ภายใต้มาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเคร่งครัด. https://www.m-culture.go.th/nakhonsrithammarat/ewt_news.php?nid=999&filename=index
  • เมืองคอนจัดงานแห่ผ้าขึ้นธาตุ 12-16 กุมภาพันธ์ 2565https://www.facebook.com/NakhonSiThammaratToday/posts/333901681935474
  • ราชบัณฑิตยสถาน. (2555). พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ๒๕๕๔. https://dictionary.orst.go.th/
  • วิจิตร ศรีสุวรรณ. (2543).  นครศรีธรรมราชท้องถิ่นของเรา. วุฒิสาส์น.
  • วิเชียร ณ นคร, สมพุทธ ธุระเจน, ชวน เพชรแก้ว, ฉัตรชัย ศุภกระกาญจน์ และ ปรีชา นุ่นสุข, (2521). นครศรีธรรมราช, อักษรสัมพันธ์ฺ.
  • สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ. (2540.  ชีวิตไทยชุดสมบัติตายาย (พิมพ์ครั้งที่ 3). สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ.
  • สำนักงานจังหวัดพังงา. (2563). ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ.  https://www.m-culture.go.th/phangnga/ewt_news.php?nid=980&filename=index
  • สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดนครศรีธรรมราช. (2563). พิธีอัญเชิญและถวายผ้าพระบฏพระราชทาน จำนวน 5 ผืน เนื่องในเทศกาลวันมาฆบูชาแห่ผ้าขึ้นธาตุที่เมืองนคร ประจำปี 2563.  https://www.m-culture.go.th/nakhonsrithammarat/ewt_news.php?nid=642&filename=index
  • สุนีย์ ประสงค์บัณฑิต. (2565). แห่ผ้าขึ้นธาตุ. https://www.sac.or.th/databases/rituals/rituals_pdf.php?id=33
  • องค์การบริหารส่วนตำบลดุสิต อำเภอถ้ำพรรณรา จังหวัดนครศรีธรรมราช. (2560). โครงการสืบสานประเพณีวัฒนธรรมแห่ผ้าขึ้นธาตุประจำปี 2560https://www.abtdusit.go.th/activity/user_select_photo.php?news_id=168
  • Muzika. (2565). านประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร วันมาฆบูชา 2565 งานบุญใหญ่ นครศรีธรรมราช.   https://travel.trueid.net/detail/XPdyB5xKDEAl
  • Unseen ถิ่นไทย. (2561). นครศรีฯ ดี๊ดี “มาฆบูชา แห่ผ้าขึ้นธาตุ” งานบุญใหญ่ประจำปี 2561 จ.นครศรีธรรมราช.  http://www.unseenthinthai.com/news/1079

Visits: 13374

Facebook Comments

facebook comments