ThaiMOOC
“เคยเรียนแล้ว และเมื่อมาเรียนอีก ก็ยิ่งรู้…ยิ่งเข้าใจ และยิ่งตระหนัก
ในความสำคัญของการเตรียมการ“
“รายวิชานี้จะเป็นเรื่องของการจัดการเรียนการสอน ในเรื่องของการผลิตสื่อวีดิทัศน์เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนออนไลน์บนระบบเปิด
ซึ่งเมื่อเรียนแล้วจะช่วยให้เข้าใจกระบวนการ ขั้นตอนการผลิตรายวิชาบนระบบ MOOC ได้ดียิ่งขึ้น
เหมาะสำหรับอาจารย์ ผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ที่สนใจการสร้างวีดิทัศน์บนสื่อออนไลน์ทุกคน ที่จะรู้และเข้าใจในกระบวนการและหน้าที่ของตัวเอง”
ต้องออกตัวก่อนว่า ผู้เขียนเคยเรียนรายวิชานี้เมื่อนานมาแล้ว เนื่องจากต้องมาเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างวีดิทัศน์สำหรับรายวิชาที่จะเปิดสอนบน ThaiMOOC ตอนนั้นยังเรียนเพราะความจำเป็น เรียนโดยไม่มีความรู้อะไรเกี่ยวกับ ThaiMOOC เลย
แต่วันนี้เมื่อเวลาผ่านมาหลายปี ได้มีโอกาสกลับมาทบทวนใหม่ก็พบว่า “ยิ่งเรียนยิ่งรู้ – ยิ่งอ่านยิ่งใช่” เอาเนื้อหามาจับกับประสบการณ์ที่เราต้องทำ ทำให้ตระหนักและเข้าใจการทำงานมากขึ้น ทั้งยังช่วยตอกย้ำว่า การเตรียม หรือการวางแผนก่อนที่จะผลิตวีดีทัศน์สักหนึ่งชิ้นนั้น…มีความสำคัญอย่างยิ่ง
หลักสูตรการสร้างวีดิทัศน์สำหรับรายวิชา MOOC (VidoeX-Thai) สอนโดยรศ.ดร. สุรพล บุญลือ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เนื้อหาจะไล่ลำดับตามขั้นตอนการผลิต ซึ่งแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน อันเป็นขั้นตอนพื้นฐานของการผลิตวีดิทัศน์โดยทั่วไป แต่ในส่วนของรายละเอียดนั้นจะจำเพาะเจาะลงไปในส่วนที่ผู้ผลิตรายวิชาบท MOOC ต้องรู้ ควรรู้ หรือทำตาม พร้อมแทรกเกร็ดความรู้ เทคนิคต่าง ๆ ที่มีประโยชน์สำหรับผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างมาก
ซึ่งจะนำส่วนที่คิดว่ามีประโยชน์มาฝาก และถือเป็นบันทึกย่อสำหรับตัวเองด้วย…
พื้นฐานของการผลิตวีดีโอมี 4 ขั้นตอน
- Pre-Production ขั้นตอนการวางแผน เตรียมงาน ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุด ต้องให้เวลาในการดำเนินการ
- Production ขั้นตอนการบันทึก/ถ่ายทำวีดีโอ
- Post-Production ขั้นตอนการตัดต่อวีดิทัศน์ ขั้นตอนนี้ใช้เวลามากที่สุด
- Derivery การจัดส่ง เป็นขั้นตอนอัปโหลดส่วนวิดีโอ เสียง และ subtitle ที่เสร็จสมบูรณ์แล้วไปยัง THAI-MOOC เพื่อเตรียมเปิดให้กับผู้สนใจมาลงเรียน
มาดูรายละเอียดกัน….
- Pre-Production กระบวนการก่อนการผลิต คือ ขั้นตอนการวางแผน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ “สำคัญที่สุด” ในการสร้างและนำเสนอวิดีโออย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามแผนงาน ThaiMOOC จะเกี่ยวข้องกับการเตรียมเนื้อหาในทุกด้าน และเน้นที่การเตรียมผลิตวีดิทัศน์เตรียมเนื้อหาให้ชัดเจน มีการเขียนสคริปต์ หรือสตอรีบอร์ด การแบ่งเวลา การจัดทำงบประมาณ การเตรียมตัวของผู้สอน/ผู้บรรยาย และการค้นหาสถานที่-เตรียมอุปกรณ์ถ่ายทำ ซึ่งเนื้อหาวิดีโอจะต้องสัมพันธ์กับ Course Outline โครงสร้างเนื้อหา ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้งานเสร็จทันเป้าหมาย และคุ้มค่าที่สุด
- วิดีโอจะแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 1. วิดีโอแนะนำรายวิชา หรือ Introduce Video เป็นวิดีโอการตลาดสั้น ๆ สำหรับดึงดูดให้คนมาลงทะเบียนเรียนในหลักสูตรเรา และ 2. วิดีโอเนื้อหาหลักสูตร มีการเตรียมนอกจากจะต้องดูเนื้อหาที่จะเอาทำเป็นวิดีโอแล้ว ยังต้องคำนึงถึงกราฟิก ภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเสียงที่ได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องไม่ผิดลิขสิทธิ์
- การเตรียมความพร้อมก่อนการผลิต
- การเขียนบทและภาพ บอกเล่าถึงความสำคัญของบท รูปแบบ และประเภทของการเขียนบท บทโทรทัศน์มีหลายประเภทกัน
- บทเเบบที่ 1 ก็คือบทโทรทัศน์เเบบคร่าว ๆ หรือเราเรียกว่า Fact
- บทเเบบที่ 2 ก็จะเป็นบทเเบบการเเสดง
- บทเเบบที่ 3 จะเป็นเเบบกึ่งสมบูรณ์
- บทเเบบที่ 4 จะเป็นโทรทัศน์บทเเบบสมบูรณ์
- เเละบทเเบบที่ 5 จะเป็นเเผนภาพประกอบ หรือที่เราเรียกว่า Story board นั่นเอง
- การเขียนเนื้อหาย่อย และคุณภาพในการผลิตวีดิทัศน์
- การจัดการงบประมาณในการผลิตสื่อ
- การทำงานกับผู้สอน – การเตรียมตัวของผู้สอน การทำความเข้าใจในบท/เนื้อหาร่วมกันให้เห็นไปในทิศทางเดียวกัน การจัดเตรียมสถานที่ถ่ายทำ
- การเขียนบทและภาพ บอกเล่าถึงความสำคัญของบท รูปแบบ และประเภทของการเขียนบท บทโทรทัศน์มีหลายประเภทกัน
- Story board ก็เป็นโครงสร้างคร่าว ๆ ให้เราเห็นขอบเขตของเนื้อหา เเต่ Script จะเป็นตัวขยายตัวกำหนดเค้าโครง กำหนดของเขตของสิ่งที่เราจะนำเสนอ
- Production การถ่ายทำวีดิทัศน์ หลักสูตรจะแนะนำรูปแบบการบันทึกวีดิทัศน์ว่าทำได้อย่างไรบ้าง ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง, ข้อกำหนดมาตรฐานการบันทึก, เทคนิควิธีการถ่าย, การจัดแสง เป็นต้น ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้กับการผลิตงานชิ้นอื่น ๆ ได้ด้วย
- Post-Production ขั้นตอนการตัดต่อวีดิทัศน์ เป็นกระบวนการหลังการผลิตคือเมื่อบันทึกวีดีโอเสร็จแล้วจะถูกนำมาปรับแต่งตัดต่อรวมกับสื่ออื่น ไม่ว่าจะเสียง กราฟิก ภาพนิ่ง ภาพวิดีโอให้กลายเป็นวีดิทัศน์ที่ดี
- ขั้นตอนนี้ใช้เวลามากที่สุด การตัดต่อวีดิทัศน์ที่ดี การเลือกใช้กราฟิก อนิเมชัน และสื่ออื่น ๆ การจัดการสีและเสียง
- โดยเน้นย้ำให้ระมัดระวังเรื่องการละเมิดลิขสิทธิ์ หากนำสื่อของผู้อื่นมาใช้ ซึ่งวิธีที่ปลอดภัยคือ ขออนุญาตอย่างถูกต้อง, หาซื้อจากแหล่งที่ขาย, ดาวน์โหลดจากแหล่งที่มีสัญญาอนุญาต Creative Commons หรือหากจำเป็นต้องใช้สื่อจากแหล่งอื่นจริง ๆ ให้นำลิงค์เป็นสื่อเสริมท้ายบทเรียนแทน
- Derivery การจัดส่ง คือ การบอกเล่าขั้นตอนการนำสื่อขึ้นระบบ ThaiMOOC โดยแต่ละขั้นก็จะบอกขั้นตอน และลำดับการทำงานไว้อย่างละเอียดเข้าใจง่าย ซึ่งจะมี 2 ส่วนหลัก ๆ คือ
- ขั้น 1. อัพโหลดวิดีโอเข้า Youtube และ
- ขั้น 2. นำสื่อขึ้นระบบ ThaiMOOC
10 Trick หรือ 10 เทคนิค จากการสร้างวีดิทัศน์สำหรับรายวิชา MOOC บน ThaiMOOC
- อย่าลืมหรืออย่าข้ามเรื่องของ 4 step
- ก่อนที่จะบันทึก ต้องรู้ก่อนว่าวิดีโอที่เรานั้น ควรจะมีการเตรียมอย่างไร ก่อนที่เริ่มบันทึกวิดีโอ
– จะต้องเตรียมเนื้อหาให้ชัดเจนก่อน อาจรวมถึงภาพประกอบ หากเราจะใช้สไลด์เป็นสื่อประกอบ
– เตรียมให้ชัดเจน และต้องรู้ว่าในแต่ละส่วนย่อยจะใช้เวลาเท่าไหร่ - ในการผลิตสื่อวีดิทัศน์ ควรจะถ่ายทำหลาย ๆ ครั้ง แล้วเลือกครั้งที่ดีที่สุด
เราอาจจะถ่ายได้หลาย ๆ เทคแล้วเลือกเทคที่ดีที่สุดมาใช้ - สื่อที่เราใช้ใน MOOC ไม่ควรต่ำกว่า 6-9 นาที มีงานวิจัยหลาย ๆ เรื่องที่ทำวิจัยเรื่องของความยาวของสื่อวีดิทัศน์บนระบบ MOOC พบว่าการใช้วิดีโอที่มีความยาว 6-9 นาทีเป็นวิดีโอที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ และเรียนรู้ได้ดีที่สุด
- ก่อนจะบันทึกควรจะตรวจสอบอุปกรณ์ และลองบันทึกสื่อ หรือลองบันทึกอุปกรณ์นั้น ๆ ก่อน
เพื่อจะได้ไม่เกิดข้อผิดพลาดระหว่างการบันทึก หรือการถ่ายทำ - ขณะบันทึก หรือเมื่อบันทึกเสร็จแล้ว ควรจะตรวจสอบระบบเสียงว่า มีเสียงเข้า มีระดับของเสียงเป็นไปตามที่เรากำหนดหรือไม่ อาจจะใช้หูฟัง หรือดูในมอนิเตอร์ระหว่างที่บันทึก
- เมื่อบันทึกเสร็จแล้ว ควรตรวจเช็กคุณภาพของภาพว่าเป็นไปตามที่เรากำหนด มีข้อผิดพลาดอย่างใดหรือไม่ ซึ่งหากมีข้อผิดพลาด เราก็ควรจะบันทึกใหม่
- หลังจากที่เราบันทึกแล้ว เราควรจะมีการสำรองไฟล์ หรือจัดเก็บไฟล์ให้ดีหากหายไปกู้คืนยาก หรือจะผลิตใหม่ นั่นหมายถึง ค่าใช้จ่ายทั้งเงิน และเวลาที่จะเพิ่มขึ้น
- เมื่อตัดต่อเสร็จ ควรตั้งชื่อไฟล์ หรือผลงานให้ตรงกับเรื่อง หรือตรงกับเนื้อหาที่ใช้ เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการผลิตสื่อ การตั้งชื่อไฟล์ควรจะเป็นภาษาอังกฤษ และตรงกับชื่อเรื่องที่เรากำลังบรรยายอยู่
- ก่อนนำข้อมูลขึ้นระบบ ควรจะตรวจสอบไฟล์ที่เราจะอัพเสียก่อน ไฟล์ที่เราจะใช้ในระบบไม่ควรจะมีไฟล์ที่มีขนาดใหญ่จนเกินไป ซึ่งจะลำบากในการอัพโหลด หรือการรับชม
ผู้สอนได้ฝากทิ้งท้ายไว้ว่า “…อย่างไรก็ตามผมก็ขออยากจะฝากเรื่องของการผลิตสื่อ หนึ่ง ก็คือ เรื่องของการวางแผนให้ชัดเจน มีการออกแบบสื่อให้มีความน่าสนใจ
มีการประสานงานกับทีมงาน หรือสถานที่ที่เราจะใช้ในการถ่ายทำ
ในระหว่างการถ่ายทำก็ควรจะมีการควบคุมคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของภาพ เสียง แสง หรือสิ่งรบกวนอื่น ๆ
หลังจากนั้นเมื่อเราถ่ายทำเสร็จแล้ว ควรจะมีการตรวจสอบคุณภาพของภาพ หรือผลงานที่ได้
การตัดต่อก็ควรจะมีเพื่อตัดส่วนที่ไม่ต้องการ หรือมีข้อผิดพลาดออก
ดังนั้น ทั้งหมดนี้เป็น 10 Trick หรือ 10 เทคนิค ในการที่จะทำให้งานมีประสิทธิภาพ”
– รศ.ดร. สุรพล บุญลือ อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี – ผู้สอน
อนึ่ง หลักสูตรนี้ได้เปิดให้เรียนมานานพอสมควรแล้ว อาจมีข้อกำหนดบางอย่างของ MOOC ที่ปรับไปจากในบทเรียนแต่โดยรวมแล้วหลักสูตรนี้ยังเป็นหลักสูตรที่มีประโยนช์ต่อการผลิตและพัฒนาหลักสูตรออนไลน์เป็นอย่างยิ่ง
เข้าชมข้อมูลหลักสูตรบน ThaiMOOC หลักสูตรการสร้างวีดิทัศน์สำหรับรายวิชา MOOC (VidoeX-Thai)
Hits: 27
