ประเพณี สารทเดือนสิบ ที่นครศรีธรรมราช

สารทเดือนสิบ ประเพณีอันเก่าแก่และเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดนครศรีธรรมราช  เป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่และมีการสืบทอดกันมาตั้งโบราณกาลของจังหวัดนครศรีธรรมราช  และปัจจุบันก็ยังคงสืบสานประเพณีนีัอยู่อย่างต่อเนื่อง  สารทเดือนสิบ  ตรงกับวันแรม 14 ค่ำ และ 15 ค่ำ เดือนสิบ (ประมาณปลายเดือนกันยายนถึงต้นตุลาคม) มีเรื่องราวรายละเอียดอะไรบ้าง มาอ่านกันค่ะ

ประวัติความเป็นมา

ประเพณีสารทเดือนสิบ สันนิษฐานว่าเป็นประเพณีที่รับมาจากอินเดียเหมือนกับประเพณีอื่น ๆ อีกหลายประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราชรับมา ทั้งนี้เพราะว่าชาวนครศรีธรรมราชติดต่อกับอินเดียมานานก่อนดินแดนส่วนอื่น  ๆ ของประเทศไทย วัฒนธรรมและอารยธรรมของอินเดียส่วนใหญ่จึงถ่ายทอดมายังเมืองนครศรีธรรมราชเป็นแห่งแรก แล้วค่อย ๆ ถ่ายทอดไปยังเมืองอื่น ๆ และภูมิภาคอื่น ๆ ในประเทศไทย

ต้นกำเนิดของการทำบุญศราทธ์ ในเทศกาล “สารท” เดือนสิบก็คือการทำบุญให้ญาติ บรรพบุรุษผู้ล่วงลับไปแล้วในวันสิ้นเดือนสิบ คือแรม 15 ค่ำ มีต้นกำเนิดมาจากธรรมเนียมพราหมณ์ในอินเดีย ซึ่งมีมาก่อนพุทธกาล คือเมื่อมารดา บิดา หรือปู่ย่าตายายตายไปก็ตั้งพิธีทำบุญ “ศราทธ์” ให้ โดยเอาช่วงวันสิ้นเดือนสิบ ในพิธีจะมีพราหมณ์เข้ารับเลี้ยง รับแจกของไทยทาน เราได้รู้เรื่องนี้ดีจากพุทธประวัติครั้งมัชฌิมโพธิกาลกล่าวไว้ว่า พระเจ้าพิมพิสาร ราชาแห่งแคว้นมคธทรงทำพิธีนี้ตามธรรมเนียมพราหมณ์มาตลอด แต่เป็นการทำแบบเดิมเหมือนเซ่นไหว้ เซ่นผีบรรพบุรุษปู่ ย่า ตา ยาย ไม่มีการอุทิศ ไม่มีการอนุโมทนา เป็นเพียงทำทานกับพราหมณ์เฉย ๆ ต่อมาภายหลัง ได้หันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว ก็ยังทำพิธีแบบพราหมณ์ แต่นิมนต์พระพุทธเจ้าพร้อมภิกษุสงฆ์มารับภัตตาหาร ถวายไทยทานแทนการเชิญพราหมณ์ (สารนครศรีธรรมราช) 

ความหมายของสารทเดือนสิบ

ขอบคุณภาพจาก Chaiyun Damkaew

คำว่า สารท  เป็นภาษาบาลี มาจากคำว่า สรท  [สะระ-]  หมายถึง ฤดูใบไม้ร่วง, ฤดูสารท. (ป.; ส. ศรท). (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน, 2554, น. 59) ซึ่งตรงกับคำว่า ศรท ในภาษาสันสกฤต 

ดังนั้น สารท จึงเป็นคำของอินเดีย ใช้เรียกฤดูใบไม้ร่วง หรือ Autumn ในภาษาอังกฤษ ฤดูสารทเป็นฤดูเก็บเกี่ยวพืชพันธุ์ธัญญาหารของชาติที่อยู่ในดินแดนถัดเขตร้อนขึ้นไป ส่วนของวันเทศกาลสารทของไทยไม่ใช่เป็นฤดูใบไม้ร่วง หรือเป็นฤดูพืชพันธุ์ธัญชาติและผลไม้สุกเพราะข้าวยังไม่สุก ผลไม้ก็มีลางชนิดเท่านั้นที่สุกในฤดูนี้  แต่ในประเทศที่อยู่ถัดจากเขตร้อนขึ้นไปแล้ว ฤดูสารทนี้เป็นที่ยินดีปรีดาในหมู่ประชาชนของเขา เพราะพืชพันธุ์ธัญชาติและต้นไม้ที่ปลูกไว้กำลังให้ผลเป็นครั้งแรก เขาจึงถือเป็นเทศกาลที่ควรรื่นเริงยินดี ทำพิธีตามคติความเชื่อถือและนำผลไม้ที่เก็บเกี่ยวได้ไปทำขนมเซ่นพลี บูชาผีปู่ย่าตายาย หรือเทพเจ้าที่ตนนับถือ เพื่อขอบคุณที่ดลบันดาลให้ตนเก็บเกี่ยวพืชผลได้ 

การเกิดประเพณีสารทเดือนสิบ

ความเชื่อเกี่ยวกับเรื่องเปรต มีกันนับถือกันอย่างแพร่หลายในอินเดียและมีมานานแล้ว ครั้งมีพระพุทธศาสนาแล้ว พุทธศาสนาจึงรับเอาเรื่องเก่าแก่สืบเนื่องกันมามาช้านานนี้มาปฏิบัติในศาสนาด้วย แต่แก้เป็นว่า ผู้ไปเกิดในดินแดนแห่งเปรต เป็นเพราะบาปกรรมที่ตนได้ก่อไว้ อาจจะผ่อนผลนั้นให้เบาลงได้ ถ้าหากว่าลูกหลานญาติมิตรทำบุญอุทิศข้าวปลาอาหารและปัจจัยอื่น ๆ ไปให้ ดังนั้นในการทำบุญเลี้ยงพระที่เรียกว่า ปุพพเปตพลี (คือพิธีเซ่นบรรพบุรุษที่ตายไปเป็นเปรต) หรือการทำบุญเป็นทุกษิณานุปทาน (คือทำบุญอุทิศไปให้) คงจะมีความคลี่คลายใจจากเรื่องพิธีศราทธ์ หรือพิธีเลี้ยงพราหมณ์ของชาวอินเดียดั้งเดิมนั่นเอง 

       ประเพณีสารทเดือนสิบของเมืองนครศรีธรรมราช คงจะเกิดขึ้นตามพระพุทธานุญาตของพระพุทธองค์  และด้วยเหตุผลในทำนองเดียวกันกับที่ชาวอินเดียมีประเพณีเปตพลี เพื่อเป็นการแสดงความกตัญญููต่อบุพการีนั่นเอง และเหตุผลสำคัญที่เทศกาลการทำบุญของชาวนครศรีธรรมราชมีหลายประการ (ปรีชา  นุ่นสุข, 2540)

  • ประการแรก  ตามความเชื่อทางพุทธศาสนา เชื่อว่าในปลายเดือนสิบนั้น ปูย่าตายายและญาติพี่น้องซึ่งล่วงลับไปแล้ว โดยเฉพาะคนที่บาปมากจะตกนรกซึ่งเรียกว่า เปรต (คือ ผู้ตายล่วงหน้าไปก่อน) จะได้รับการปล่อยตัวจากพญายม เพื่อให้ขึ้นมาพบญาติพี่น้องและลูกหลานของตนในเมืองมนุษย์ในวันแรมค่ำหนึ่ง เดือนสิบ และให้กลับลงไปอยู่ในนรกดังเดิม ในวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ดังนั้น ในโอกาสที่ญาติพี่น้องที่ตกนรกได้ขึ้นมาเยี่ยมเยี่ยนนี่เอง ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่จึงพยายามที่จะหาอาหารต่าง ๆ ไปทำบุญตามวัดต่าง ๆ เพื่อเป็นการอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ที่ล่วงลับขึ้นมาจากนรก ทั้งนี้เพราะกลัวว่าญาติมิตรของตนที่ขึ้นมาจากนรกจะอดหยากหิวโหย โดยทำบุญในวันแรกที่ผู้ล่วงลับขึ้นมาจากนรก คือ วันแรมคำ่หนึ่ง เดือนสิบ ซึ่งชาวนครศรีธรรมราชบางท้องที่เรียกวันนี้ว่า วันหฺมฺรับเล็ก ครั้นถึงกำหนดวันที่ผู้ล่วงลับไปแล้วเหล่านั้นจะต้องกลับลงไปอยู่ในนรกดังเดิม (คือวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ) จะมีการจัดทำพิธีทำบุญอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลเป็นการส่งผู้ที่ล่วงลับไปแล้วอีกครั้งหนึ่ง ชาวนครศรีธรรมราชบางท้องถิ่นเรียกวันนี้ว่า วันหฺมฺรับใหญ่
  • ประการที่สอง ในปลายเดือนสิบอันเป็นเทศกาลสารทนั้น เป็นระยะที่พืชพันธุ์ต่าง ๆ กำลังให้ผล ดังนั้นชาวเมืองส่วนใหญ่ซึ่งมีอาชีพทางการเกษตร จะชื่นชมกับผลิตผลที่ตนสู้ลงทุนลงแรงมานานหลายเดือน  การแสดงออกซึ่งความชื่นชมที่นิยมกระทำกันคือ จัดทำบุญตามประเพณีที่เคยปฏิบัติกันมา ในงานบุญนี้ชาวบ้านจะนำพืชผลมาถวายพระสงฆ์
  • ประการที่สาม เพื่อเป็นการแสดงความสนุกสนานประจำปีร่วมกัน ซึ่งชาวนครศรีธรรมราชนิยมชมชอบการละเล่นพื้นบ้าน งานรื่นเริง และงานสนุกสนาน จึงถือโอกาสให้มีความรื่นเริงสนุกสนานไปด้วย                          
ขอบคุณภาพจาก Chaiyun Damkaew
ขนมพอง
ขนมพอง
ขนมลา
ขนมลา
ขนมบ้า
ขนมดีซำ
ขนมไข่ปลา (ขนมกง)
ลาลอยมัน
ขอบคุณภาพจาก FB: เที่ยวแบบกรู

การจัดหฺมฺรับ

      คำว่า หฺมฺรับ เป็นคำภาษาถิ่นใต้ มาจากคำว่า สำรับ ซึ่งสันนิษฐานว่า เป็นคำมาจากภาษาเขมร  ของหรือคนที่รวมกันเข้าได้ไม่ผิดหมู่ผิดพวกเป็นชุดเป็นวงเป็นต้น เช่น ไพ่ 2 สำรับ พระพิธีธรรม 1 สำรับ มี 4 รูป นักสวดคฤหัสถ์ 1 สำรับ มี 4 คน, ภาชนะเช่นถาดเป็นต้นใส่ถ้วยชามพร้อมบรรจุอาหารคาวหรือหวานเป็นชุด เช่น สำรับคาว สำรับหวาน (พจนานุกรมราชบัณฑิตยสถาน, 2554, น. 199)

    สิ่งอันเป็นหัวใจของ หฺมฺรับ คือ ขนม 5 อย่าง อันเป็นเอกลักษณ์สารทเดือนสิบของชาวนครศรีธรรมราชโดยเฉพาะ ได้แก่ ขนมพอง ซึ่งมีความฟ่องลอยมุ่งหมายจะอุทิศให้เป็นแพสำหรับบุรพชนใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพตามคติของพุทธศาสนา ขนมลา เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่ม ขนมกง (ขนมไข่ปลา) เป็นเครื่องประดับ ขนมดีซำ เป็นเงินเบี้ยสำหรับใช้สอย ขนมบ้า สำหรับบุรพชนได้ใช้เล่นสะบ้าต้อนรับสงกรานต์ (สมร  พูนพนัง, 2547, น. 6) และมีผู้เฒ่าบางคนกล่าวไว้ว่าขนมที่เป็นหัวใจของหฺมฺรับ นั้นมี 6 อย่าง โดยเพิ่ม ลาลอยมัน (ขนมรังนก) ซึ่งใช้ต่างฟูกหมอนเข้าไปหนึ่งอย่าง ถึงจะเป็นห้าหรือหกอย่าง เราจะเห็นว่าขนมที่เป็นหัวใจของหฺมฺรับนั้น เป็นขนมแห้งที่สามารถเก็บไว้ได้นาน ๆ โดยไม่บูดเน่าทั้งสิ้น 

สารทเดือนสิบ

การตั้งเปรด

การตั้งเปรตนิยมตั้งกัน 2 แห่ง คือ ตั้งเปรตนอกวัด กับตั้งเปรตในวัด  การตั้งเปรดนอกวัดนั้น นอกจากนั้นมักจะมีการนำอาหารและขนมเดือนสืบอีกส่วนหนึงหรือเงินไปวางไว้ในที่ต่าง ๆ เช่น ตรงทางเข้าวัด ริมกำแพงวัด และโคนต้นไม้ เป็นต้น เพื่อแผ่ส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วที่ปราศจากญาติหรือว่าวันนี้ญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญและจัดหฺมฺรับมาวัด 

       การตั้งเปรตในวัด นิยมทำยกพื้นสูงขึ้น  ชาวบ้านจะนำขนมต่าง ๆ ไปวาง และยังนำเอาข้าว แกง ปลาเค็ม หมาก พลู ไปตั้งรวม ๆ กัน บนที่ตั้งเปรต มักจะตั้งไว้ใกล้ครัวฉันของพระ เพื่อจะได้เกิดความสะดกตอนที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลแล้วพระจะสวดยะถาสัพพี (หมายถึง การอุทิศบุญให้คนตายและให้พรคนเป็น หรือพูดภาษาปากก็ว่า ยถา ให้ผี – สัพพี ให้คน) เพื่อให้ชาวบ้านได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้่ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ตั้งเปรตนั้นจะมีการชักสายสิญจน์โยงไปที่ตั้งของที่ตั้งไว้ ช่วงพระสวดบทยะถาสัพพีไปถึงตอนที่จะจบในวรรคที่ว่า “สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทาโสตฺถิพะวันตุเต” พระจะชักสายสิญจน์ขึ้นเป็นสัญญาณ ชาวบ้านจะกรูกันไปแย่งชิงสิ่งของต่าง ๆ ที่ตั้ไว้ทั้งหมด  บางคนหากระสอบ ถุงผ้ามาเตรียมไว้ก่อนแล้ว พอเห็นสัญญาณก็จะรีบขึ้นไปบนที่ตั้งเปรตไว้กวาดขนมต่าง ๆ ไว้ให้มากที่สุด แลัววิ่งหนีไปทันทีเพื่อไม่ให้ใครมาแย่งไปอีก การกระทำอย่างนี้ เรียกว่า “ชิงเปรต” คือไปชิงเอาของที่เขาตั้งให้เปรต ว่ากันว่าพวกเปรตทั้งหลายถ้าได้เห็นลูกหลานแย่งชิงของกันอย่างสนุกสนานแล้ว เปรตเหล่านั้นจะดีใจมาก จะกลับไปด้วยความสุข

      ในวันแรม 13 ค่ำ เดือนสิบ ชาวเมืองต้องรีบเสาะหาสิ่งต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัด หฺมฺรับ ซึ่งการจะหาของได้ง่ายที่สุด คือการไปหาซื้อที่ตลาด ดังนั้นตลาดจึงเนื่องแน่นไปด้วยขนมที่ใช้จัด หฺมฺรับ  วันนี้เองชาวนครศรีธรรมราชจะเรียกกันว่า วันจ่าย 

      การยกหฺมฺรับ จะยกไปวันแรม 15 ค่ำ เดือนสิบ ชาวเมืองจะชวนกันไปวัด โดยเลือดวัดที่อยู่ใกล้บ้านที่สุดหรือวัดที่บรรพบุรุษของตนนิยม การไปวัดในวันนี้เพื่อนำหฺมฺรับ ที่จัดไว้เรียบร้อยแล้วไปวัด หรือจะนำของไปจัดไว้ก่อนก็ได้ และการจัดหฺมฺรับจะจัดให้สวยงามหรือตกแต่งอย่างไรก็ได้ ขึ้นอยู่กับความพอใจของเจ้าของ นอกจากจะมีการยกหฺมฺรับแล้วยังนำอาหารไปถวายพระสงฆ์ด้วย

การแห่หฺมฺรับ

การตั้งเปรต

การชิงเปรด

หรือหากต้องการเพิ่มความสนุกสนานในการชิงเปรต บางแห่งจะสร้างหลาเปรตให้สูง โดยมีเสาไม้ไผ่หรือไม้เหลาชะโอน หรือไม้หมากเพียงเสาเดียวแทนที่จะเป็นสี่เสาตามปกติ เสานี้จะขูดผิวจนลื่นแล้วทาน้ำมัน พอถึงตอนชิงเปรต ผู้คนตจะแย่งกันปีนขึ้นไป ขณะปีนป่ายจึงมักตกลงมาเพราะเสาลื่น หรือไม่ก็ถูกคนอื่่นดึงพลัดตกลงมา กว่าจะมีผู้ปีนไปถึงหลาเปรตได้ต้องใช้ความพยายามอยู่นานเป็นการเพิ่มความสนุกสนานขึ้นเป็นพิเศษ

       การตั้งเปรตในวัด นิยมทำยกพื้นสูงขึ้น  ชาวบ้านจะนำขนมต่าง ๆ ไปวาง และยังนำเอาข้าว แกง ปลาเค็ม หมาก พลู ไปตั้งรวม ๆ กัน บนที่ตั้งเปรต มักจะตั้งไว้ใกล้ครัวฉันของพระ เพื่อจะได้เกิดความสะดกตอนที่พระสงฆ์ฉันภัตตาหารเพลแล้วพระจะสวดยะถาสัพพี (หมายถึง การอุทิศบุญให้คนตายและให้พรคนเป็น หรือพูดภาษาปากก็ว่า ยถา ให้ผี – สัพพี ให้คน) เพื่อให้ชาวบ้านได้กรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลไปให้ผู้่ที่ล่วงลับไปแล้ว ที่ตั้งเปรตนั้นจะมีการชักสายสิญจน์โยงไปที่ตั้งของที่ตั้งไว้ ช่วงพระสวดบทยะถาสัพพีไปถึงตอนที่จะจบในวรรคที่ว่า “สัพพะสังฆานุภาเวนะ สะทาโสตฺถิพะวันตุเต” พระจะชักสายสิญจน์ขึ้นเป็นสัญญาณ ชาวบ้านจะกรูกันไปแย่งชิงสิ่งของต่าง ๆ ที่ตั้ไว้ทั้งหมด  บางคนหากระสอบ ถุงผ้ามาเตรียมไว้ก่อนแล้ว พอเห็นสัญญาณก็จะรีบขั้นไปบนที่ตั้งเปรตไว้กวาดขนมต่าง ๆ ไว้ให้มากที่สุด แลัววิ่งหนีไปทันทีเพื่อไม่ให้ใครมาแย่งไปอีก การกระทำอย่างนี้ เรียกว่า “ชิงเปรต” คือไปชิงเอาของที่เขาตั้งให้เปรต ว่ากันว่าพวกเปรตทั้งหลายถ้าได้เห็นลูกหลานแย่งชิงของกันอย่างสนุกสนานแล้ว เปรตเหล่าานั้จะดีใจมาก จะกลับไปด้วยความสุข

ประเพณีสารทเดือนสิบ นับเป็นประเพณีที่แสดงให้เห็นถึงวัฒนธรรมทางด้านจิตใจของผู้ปฏิบัติที่มีความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพชนที่ล่วงลับไปแล้ว อันเป็นค่านิยมที่ดีงามยิ่งของชาวใต้และของคนไทยทั่วไป

เอกสารอ้างอิง

นครศรีธรรมราช. (2537). กรุงเทพฯ: สารคดี.
เทพ  เดชสุวรรณ. (2544). ชิงเปรต. วารสารลุ่มน้ำปากพนัง, 3(27), 21-22.
สมร พูนพนัง
. (2547). ประเพณีเดือนสืบเมืองนครศรีธรรมราช. สารหอสมุดแห่งชาตินครศรีธรรมราช, 9(3), 4-7.
ราชบัณฑิตยสถาน. (2559). จนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานกรุงเทพฯ: ราชบัณฑิตยสถาน.
สมัย สุทธิธรรม.(2539). นครศรีธรรมราช. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
ภาพประกอบจาก เพจ Nakhon Si Thammarat นครศรีธรรมราช

Hits: 20921

หากบทความนี้มีประโยชน์ ช่วยกดแชร์ด้วยนะคะ

Facebook Comments

facebook comments

Back To Top